ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ตอนที่ 1 เมื่อความกังวลเรื่องเงินเข้าเกาะกุม

ตอนที่ 1 เมื่อความกังวลเรื่องเงินเข้าเกาะกุม

การ​เฟื่องฟู​และ​ตก​ต่ำ​ของ​โลก​แห่ง​การ​ค้า

ตอน​ที่ 1 เมื่อ​ความ​กังวล​เรื่อง​เงิน​เข้า​เกาะ​กุม

“แม้​ว่า​บิดา​มารดา​ให้​ชีวิต​แก่​เรา แต่​เงิน​เท่า​นั้น​ทำ​ให้​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป​ได้”—เดอะ แจแปนนีซ แฟมิลิ สโตร์เฮาส์ หรือ เดอะ มิลเลียนแนรีส์ กอสเพล โดย​อิฮารา ไซคากึ.

คุณ​เคย​ต้องการ​เงิน​แทบ​ใจ​จะ​ขาด​ไหม? หรือ​คุณ​เคย​ประสบ​กับ​การ​มี​เงิน​ไม่​พอ​ที่​จะ​ซื้อ​สิ่ง​จำ​เป็น​ไหม? หรือ​คุณ​เคย​เห็น​ครอบครัว​ของ​คุณ​ท้อง​กิ่ว​หรือ​แต่ง​ตัว​ด้วย​เสื้อ​ผ้า​ปอน ๆ ไหม? ผู้​คน​หลาย​ล้าน​ใน​ทุก​วัน​นี้​ตอบ​คำ​ถาม​เหล่า​นั้น​ได้​ว่า​เคย. พวก​เขา​รู้​รสชาติ​ว่า​ความ​กังวล​เรื่อง​เงิน​เป็น​อย่าง​ไร.

นึก​วาด​ภาพ​ความ​กังวล​ของ​พ่อ​บ้าน​ซึ่ง​ตก​งาน มี​ลูก​ที่​ต้อง​เลี้ยง​ดู​และ​ต้อง​ชำระ​ค่า​ใช้​จ่าย​ต่าง ๆ. คิด​ดู​ถึง​สภาพ​จิตใจ​ของ​ผู้​เป็น​แม่​ซึ่ง​ยืน​เข้า​แถว​อย่าง​เหนื่อย​หน่าย​เพื่อ​ซื้อ​ข้าวของ​ที่​มัก​ขาด​ตลาด​แล้ว​กลับ​พบ​ว่า​ของ​หมด​ร้าน หรือ​ไม่​ก็​ราคา​แพง​ลิ่ว. นึก​ถึง​ความ​เครียด​ของ​นัก​ธุรกิจ​ซึ่ง​บริษัท​ของ​เขา​กำ​ลัง​เผชิญ​กับ​ภาวะ​จวน​จะ​ล้ม​ละลาย หรือ​ความ​กดดัน​ที่​โถม​ทับ​รัฐบาล​ซึ่ง​ดิ้นรน​จะ​ปลด​ภาระ​หนี้สิน​หลาย​หมื่น​ล้าน​บาท.

ใน​โลก​ปัจจุบัน กระทั่ง​คำ​ศัพท์​บาง​คำ​กระตุ้น​ให้​เกิด​ความ​กังวล​ด้วย​ซ้ำ​ไป. ราย​ได้ (เงิน, สินค้า หรือ​บริการ​ที่​ได้​รับ​เพื่อ​แลก​กับ​แรงงาน​หรือ​การ​ใช้​ทรัพยากร​อื่น ๆ) ของ​เรา​อาจ​จะ​ต่ำ​มาก​จน​มาตรฐาน​การ​ครอง​ชีพ ของ​เรา (ระดับ​ทาง​เศรษฐกิจ​ที่​เรา​เคย​ชิน) ถูก​คุกคาม​อย่าง​รุนแรง. ทั้ง​นี้​อาจ​มี​สาเหตุ​มา​จาก​การ​ว่าง​งาน จาก เศรษฐกิจ​ถดถอย หรือ​ตก​ต่ำ (ช่วง​เวลา​ที่​ธุรกิจ​การ​ค้า​ลด​ลง คำ​แรก​ชี้​ถึง​สภาพ​ที่​ไม่​รุนแรง​เท่า​ไร คำ​หลัง​บ่ง​บอก​ภาวะ​ที่​หนัก​กว่า) หรือ​จาก​ภาวะ​เงิน​เฟ้อ (ราคา​สินค้า​สูง​เกิด​จาก​ความ​ต้องการ​สูง​กว่า​ปริมาณ​สินค้า​ใน​ตลาด​จน​เงิน​ของ​เรา​ซื้อ​ของ​ได้​น้อย​ลง หรือ​อุป​สงค์​มาก​กว่า​อุป​ทาน). เมื่อ​เงิน​ไม่​พอ​เรา​ก็​ไม่​สามารถ​ไล่​ทัน​กับ​ค่า​ครอง​ชีพ ได้ (ค่า​ใช้​จ่าย​ที่​จำ​เป็น​เพื่อ​ซื้อ​สินค้า​และ​บริการ​ประ​จำ​วัน).

พลัง​ของ​ความ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ

ผู้​เชี่ยวชาญ​ท่าน​หนึ่ง​บอก​ว่า ภาวะ​เศรษฐกิจ​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่​ใน​ทศวรรษ​แห่ง​ปี 1930 เป็น​โศกนาฏกรรม​ทาง​เศรษฐกิจ​ซึ่ง “กระทบ​ทุก​ประเทศ​และ​ทุก​ด้าน​ของ​ชีวิต, ทั้ง​ทาง​สังคม​และ​ทาง​การ​เมือง, ใน​ประเทศ​และ​ระหว่าง​ชาติ.” มัน​ได้​สร้าง​เสริม​อำ​นา​จ​ทาง​การ​เมือง​จน​สุด​โต่ง​ใน​เยอรมนี​และ​อิตาลี ซึ่ง​ได้​ช่วย​กระพือ​ไฟ​แห่ง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง นี้​แหละ​เป็น​การ​แสดง​ให้​เห็น​พลัง​แห่ง​ความ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ. ตรง​กับ​ที่​จอห์น เค. กัลไบร์ท​เขียน​ลง​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ เงิน​มา​จาก​ไหน แล้ว​ไป​ที่​ไหน (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “ใน​เยอรมนี​ต้น ๆ ปี 1933 อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์​ขึ้น​สู่​อำ​นา​จ. ความ​สำเร็จ​ของ​เขา​ส่วน​ใหญ่​สืบ​เนื่อง​มา​จาก​การ​ว่าง​งาน​ครั้ง​ใหญ่​และ​การ​ลด​ลง​อย่าง​แสน​จะ​ปวด​ร้าว​ของ​ค่า​จ้าง, เงิน​เดือน, ราคา​และ​มูลค่า​ทรัพย์​สิน.” กัลไบร์ท​ให้​ความ​เห็น​เรื่อง​เงิน​เฟ้อ​ของ​สหรัฐ​ใน​ยุค​นั้น​โดย​เสริม​ว่า “ถึง​เงิน​จะ​สำคัญ​แค่​ไหน​ก็​ตาม ไม่​มี​ใคร​อาจ​สงสัย​พิษสง​ของ​ความ​กลัว​อัน​เกิด​จาก​เงิน.”

การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​การ​เมือง​ซึ่ง​ครอบ​คลุม​ไป​ทั่ว​ยุโรป​ตะวัน​ออก​ใน​ปลาย​ทศวรรษ​แห่ง​ปี 1980 นั้น​ส่วน​ใหญ่​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ปัจจัย​ทาง​เศรษฐกิจ. ปัจจัย​เหล่า​นี้​มัก​จะ​เป็น​ข้อ​ชี้ขาด​ใน​การ​ออก​เสียง​เลือก​ตั้ง​ตาม​ระบอบ​ประชาธิปไตย​แบบ​ตะวัน​ตก พูด​กัน​มา​นาน​แล้ว​ว่า​ประชาชน​ที่​นั่น​ลง​คะแนน​เสียง​ด้วย​การ​โน้ม​นำ​จาก​ประเด็น​ซึ่ง​จะ​ก่อ​ผล​ดี​ต่อ​กระเป๋า​เงิน​ของ​เขา.

ความ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ​มัก​จะ​นำ​มา​ใช้​ใน​ความ​พยายาม​บีบ​บังคับ​ให้​รัฐบาล​เปลี่ยน​นโยบาย​ของ​ตน. ฉะนั้น บาง​ครั้ง​บาง​คราว การ​คว่ำ​บาตร​ทาง​เศรษฐกิจ​สมัย​ปัจจุบัน​ก็​มี​ค่า​เทียบเท่า​การ​ตั้ง​ค่าย​ปิด​ล้อม​ด้วย​กำ​ลัง​ทหาร​ใน​สมัย​ก่อน. เมื่อ​ปี 1986 ยุโรป ญี่ปุ่น และ​สหรัฐ​ใช้​การ​คว่ำ​บาตร​ทาง​เศรษฐกิจ​ต่อ​แอฟริกา​ใต้ เพื่อ​ประท้วง​นโยบาย​อา​ปา​ร์​เท​ธ (การ​เหยียด​ผิว) ดู​เหมือน​ว่า​ได้​ผล​อยู่​บ้าง. เมื่อ​ปี 1990 ประชาคม​โลก โดย​สหประชาชาติ​เป็น​ตัว​แทน ใช้​การ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ​ต่อ​อิรัก ปรากฏ​ชัด​ว่า​ได้​ผล​น้อย​กว่า.

กระนั้น แนว​โน้ม​ก็​ปรากฏ​แจ่ม​ชัด. แซค อัตตา​ลิ​นัก​เขียน​ชาว​ฝรั่งเศส​และ​ที่​ปรึกษา​ฝ่าย​ประธานาธิบดี​อ้าง​ว่า ‘พ่อค้า​เข้า​มา​แทน​ที่​นัก​รบ​ฐานะ​เป็น​ตัว​ชูโรง​บน​เวที​โลก.’ และ​วารสาร​ข่าว​ฉบับ​หนึ่ง​ให้​ความ​เห็น​ว่า “[ใน​หลาย​ประเทศ] ความ​แข็ง​แกร่ง​ทาง​เศรษฐกิจ​เข้า​มา​แทน​ที่​พลัง​ทาง​ทหาร​ใน​ฐานะ​มาตรการ​สำคัญ.”

การ​เกาะ​กุม​คลาย​ออก​ไหม?

พิบัติ​ภัย​ทาง​ธรรมชาติ โรค​ภัย และ​อาชญากรรม​ทำ​ความ​เสียหาย​หนัก​แก่​เศรษฐกิจ. หนี้สิน​และ​การ​ขาด​ดุล​มี​มาก​เหลือ​เกิน. หนังสือ​เดอะ คอลลินส์ แอ​ท​ลา​ส ออฟ เวิลด์ ฮิส​ทอ​รี บอก​ว่า “หนี้สิน​ระหว่าง​ชาติ [ใน​ประเทศ​ที่​กำ​ลัง​พัฒนา] มี​ปริมาณ​มาก​เสีย​จน​บาง​ครั้ง​บาง​คราว​โลก​ล่อแหลม​ต่อ​ภัย​พิบัติ​ทาง​เศรษฐกิจ​ใน​ขอบข่าย​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ที​เดียว และ​ความ​ยาก​จน​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​พร้อม​ด้วย​ความ​สิ้น​หวัง​ซึ่ง​ส่อ​ถึง​การ​คุกคาม​ต่อ​จุด​ระเบิด นับ​ว่า​น่า​ตกใจ​ยิ่ง.”

ขณะ​ที่​รัฐบาล​บาง​ประเทศ​กำ​ลัง​ประสบ​ความ​เดือดร้อน​จาก​เงิน​เฟ้อ​ที่​ควบคุม​ไม่​อยู่ ประเทศ​อื่น ๆ ก็​กำ​ลัง​ดิ้นรน​อย่าง​กล้า​หาญ​เพื่อ​ไม่​ตก​อยู่​ใน​ภาวะ​เงิน​เฟ้อ. ความ​ไม่​ปลอด​ภัย​ปรากฏ​ให้​เห็น​ใน​รูป​ของ​ตลาด​หุ้น​ที่​ขาด​เสถียรภาพ. การ​ป่วย​ลง​อย่าง​ฉับพลัน​ของ​ผู้​นำ​ทาง​การ​เมือง หรือ​กระทั่ง​ข่าว​ลือ​ที่​ไม่​มี​มูล อาจ​ทำ​ลาย​ค่า​ของ​ทรัพย์​สิน​อัน​มหาศาล​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​กี่​ชั่วโมง. ภาวะ​ตลาด​หุ้น​พัง​พินาศ​ของ​วอล​สตรี​ท​เมื่อ​เดือน​ตุลาคม 1987—ร้ายแรง​ยิ่ง​กว่า​เหตุ​การณ์​ทำ​นอง​เดียว​กัน​เมื่อ​ปี 1929—ถูก​เรียก​ว่า​เป็น​สัปดาห์​ที่​เลว​ร้าย​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ทาง​การ​เงิน​ที​เดียว. มูลค่า​ทรัพย์​สิน​เกือบ 9,625,000 ล้าน​บาท​สูญ​หมด​สิ้น. ตลาด​ฟื้น​ตัว แต่​ผู้​เชี่ยวชาญ​หลาย​คน​บอก​ว่า​ความ​พัง​พินาศ​ขนาน​แท้​ยัง​จะ​มี​มา. จอร์ช เจ. เชิร์ช​นัก​หนังสือ​พิมพ์​เขียน​ดัง​นี้ “โลก​ก็​ได้​แต่​หวัง​ไว้​ว่า​จะ​ไม่​ถึง​ขั้น​ประสบ​เข้า​จริง ๆ ว่า ความ​หายนะ​ทาง​การ​เงิน​อย่าง​สุด​ขีด​นั้น​เป็น​อย่าง​ไร.”

แทน​ที่​การ​ครอบ​งำ​จะ​คลาย​ลง ความ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ​และ​ความ​กังวล​อัน​เป็น​ผล​ที่​เกิด​ขึ้น ดู​เหมือน​จะ​บีบรัด​แน่น​เข้า. ฉะนั้น การ​พิจารณา​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่ว่าการ​สิ้น​สุด​ของ​ภาวะ​นั้น​อยู่​ไม่​ไกล ถือ​ว่า​สอดคล้อง​กับ​ความ​เป็น​จริง​ไหม?