ตอนที่ 4 การปฏิวัติอุตสาหกรรม—นำไปสู่อะไร?
การเฟื่องฟูและตกต่ำของโลกแห่งการค้า
ตอนที่ 4 การปฏิวัติอุตสาหกรรม—นำไปสู่อะไร?
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18 และได้เปลี่ยนโลกดังที่ไม่กี่สิ่งได้ทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว. ความรู้ด้านเทคนิค, ทุนที่เพียงพอ, วัตถุดิบที่มีให้ใช้ได้, ความเป็นไปได้ของการขนส่งสิ่งเหล่านั้นรวมทั้งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปโดยเสียค่าโสหุ้ยน้อย—สิ่งดังกล่าวนี้และปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมนั้นบัดนี้รวมอยู่ที่ประเทศอังกฤษ. สิ่งนี้ก่อให้เกิดการเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างไม่เคยมีมาก่อนเลยในด้านการผลิตสินค้า.
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ปูทางไว้. ถ่านหิน ซึ่งหาได้ง่ายในอังกฤษ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง. นอกจากนั้น ขณะที่ผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปยุโรปกำลังถูกแบ่งแยกด้วยสงครามศาสนา เมื่อเทียบแล้วอังกฤษก็ชื่นชมกับสันติภาพ. ประเทศนี้มีระบบการธนาคารที่เหนือกว่า. แม้แต่การตัดขาดจากคริสต์จักรโรมันคาทอลิกก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่านิกายโปรเตสแตนต์เน้นหนักในการมีฐานะที่ดีทางเศรษฐกิจแบบเห็นทันตา โดยพยายามจะสร้างสิ่งที่อาจถือว่าเป็นสวรรค์บนแผ่นดินโลก.
เริ่มต้นในทศวรรษปี 1740 ประชากรของอังกฤษได้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว. การอุตสาหกรรมจำต้องหาวิธีการใหม่เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น. แนวโน้มสำหรับอนาคตคือการใช้เครื่องจักรมากขึ้นและดีขึ้น. ขณะที่ระบบธนาคารได้จัดให้มีเงินทุนสำหรับการก่อตั้งธุรกิจใหม่ ฝูงคนงานต่างหลั่งไหลเข้าสู่โรงงานต่าง ๆ ที่มีแต่เครื่องจักร. สหภาพแรงงานซึ่งเคยถูกห้าม ก็ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย. คนงานชาวอังกฤษ ซึ่งถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของสมาคมพ่อค้าน้อยกว่าคนงานในยุโรปแผ่นดินใหญ่ ได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้น. สิ่งนี้จึงเพิ่มแรงกระตุ้นให้พวกเขาหาวิธีที่ดีกว่าในการผลิตสินค้าให้ได้เร็วขึ้น.
นอกจากนั้น อังกฤษยังมีคนงานที่ได้รับการฝึกอย่างดี. ศาสตราจารย์ เชเพิร์ด บี. คลัฟ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยกลาสโกว์และเอดินบะระไม่มีที่ใดจะเทียบได้ในเรื่องการค้นคว้าและการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ในตอนปลายศตวรรษที่สิบแปด.” ด้วยเหตุนั้น โดยการนำของอังกฤษ การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา. ในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนา ยังคงมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่จนทุกวันนี้.
ด้านมืด
เนื่องจากการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ หนังสือประวัติศาสตร์โลกโคลัมเบีย (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ความเจริญมั่งคั่งอย่างเด่นชัดได้เข้ามาสู่เมืองต่าง ๆ ของอังกฤษ ก่อผลเป็นการปรับปรุงมาตรฐานแห่งชีวิต, วัฒนธรรมแห่งท้องถิ่นที่เจริญรุ่งเรือง, และความภาคภูมิใจและมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้น.” อังกฤษกระทั่ง “ได้บรรลุฐานะผู้ทรงอิทธิพลทางการทหารด้วยโดยเฉพาะทางนาวี ซึ่งต่อมาได้ทำให้ประเทศนี้มีอำนาจมากทาง ‘การทูต.’” ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกระบวนการด้านอุตสาหกรรมบางอย่างทำให้ประเทศนี้มีอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือประเทศคู่แข่ง. ความลับทางอุตสาหกรรมของประเทศนี้มีค่ามากยิ่งจนได้มีการออกพระราชบัญญัติเพื่อป้องกันความลับเหล่านั้นไว้ไม่ให้สามัญชนมีความรู้.
ยกตัวอย่าง เมื่อแซมมูเอล สเลเตอร์ ไปจากอังกฤษ
ในปี 1789 เขาซ่อนฐานะของตัวเองเพราะคนงานด้านสิ่งทอไม่อนุญาตให้อพยพออกนอกประเทศ. เขาเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามการส่งออกแปลนโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยการจดจำแผนผังทั้งหมดของโรงงานแห่งหนึ่งของอังกฤษ. ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาสามารถสร้างโรงงานปั่นฝ้ายขึ้นเป็นแห่งแรกเท่าที่มีการสร้างกันในสหรัฐ.นโยบายป้องกันความลับทางการค้ายังคงมีอยู่. นิตยสารไทม์ ให้ความเห็นว่า “บริษัทและประเทศต่าง ๆ เสาะหาความลับต่าง ๆ ของบรรษัทราวกับปลาฉลามที่ยื้อแย่งกันในเวลาให้อาหาร.” การขโมยความรู้ของใครสักคนสามารถประหยัดเวลาค้นคว้าหลายปีและค่าใช้จ่ายมหาศาล. ดังนั้น “ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะเป็นยาหรือขนมมัฟฟิน บริษัทต่าง ๆ ก็มุ่งมั่นในการหาหนทางป้องกันความลับทางการค้าของเขายิ่งกว่าแต่ก่อน.” เจ้าหน้าที่รับคนงานคนหนึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยอมรับว่า “ที่ตลาดมีแต่ความละโมบ. ถ้าคุณสามารถเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าจังหวะแล้วละก็ คุณจะเป็นเศรษฐีในทันที.”
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงด้านมืดของกระบวนการทางเศรษฐกิจ. เมื่อวิธีการทอแบบใหม่ทำให้การผลิตสินค้าที่ทำจากฝ้ายโดยใช้เครื่องจักรเป็นไปได้ ความต้องการฝ้ายดิบก็เพิ่มขึ้น. แต่การทำฝ้ายด้วยมือต้องใช้เวลามากซึ่งสนองความต้องการไม่ทัน. ครั้นแล้ว ในปี 1793 อีไล วิทนีย์ ได้ประดิษฐ์เครื่องบดฝ้ายขึ้นมา. ภายใน 20 ปี ผลเก็บเกี่ยวฝ้ายของสหรัฐได้เพิ่มขึ้นถึง 57 เท่าของที่เคยมี! แต่ดังที่ศาสตราจารย์ คลัฟ ชี้ให้เห็น สิ่งประดิษฐ์ของวิทนีย์ยังจะต้องรับผิดชอบเช่นกัน “ต่อการขยายตัวของระบบการเพาะปลูกและการที่ชาวนิโกรตกเป็นทาส.” ฉะนั้น ถึงแม้จะมีประโยชน์ คลัฟอธิบายว่า เครื่องบดฝ้ายมีส่วนเสริมมากต่อ “ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่สงครามระหว่างรัฐต่าง ๆ.”
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ช่วยก่อระบบโรงงานขนาดใหญ่ในมือของคนมั่งมี. เฉพาะแต่คนมั่งมีเท่านั้นที่สามารถซื้อเครื่องจักรราคาแพงได้ ซึ่งขนาดและน้ำหนักของเครื่องจักรเหล่านั้นทำให้ต้องติดตั้งในอาคารถาวรที่มีการก่อสร้างอย่างดี. สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในที่ซึ่งมีพลังงานไว้พร้อมจะใช้อยู่แล้ว และที่ซึ่งสามารถจัดส่งวัตถุดิบได้ในราคาต่ำ. ดังนั้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงมีแนวโน้มที่จะมุ่งสู่ศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมขนาดมหึมา.
การใช้พลังงานอย่างประหยัด—เริ่มแรกเป็นพลังน้ำและต่อมาก็พลังไอน้ำ—ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเดินเครื่องจักรนั้นต้องเดินเครื่องหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน. ดังนั้น โรงงานต่าง ๆ จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น. และยิ่งโรงงานมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งไม่ใช่ลักษณะบุคคล. พวกลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้แก่บุคคลอีกต่อไป พวกเขาทำงานให้แก่บริษัท.
ธุรกิจยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใด ปัญหาเรื่องการจัดหาเงิน
ทุนก็ยิ่งมากเท่านั้น. ห้างหุ้นส่วนต่าง ๆ ก็เพิ่มมากขึ้น และพวกบริษัทจำกัด ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 ก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคอันรุ่งเรืองของตน. (ดูที่กรอบ) แต่สิ่งเหล่านี้ช่วยในการรวมอำนาจให้อยู่ในมือของคนไม่กี่คน เนื่องจากพวกผู้ลงทุน หรือผู้ถือหุ้น มีส่วนควบคุมฝ่ายจัดการน้อยมาก. นักธุรกิจซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของบริษัทหรือธนาคารหลายแห่งในเวลาเดียวกันก็มีอำนาจมากมาย. คลัฟกล่าวถึง “การเป็นกรรมการของหลายบริษัท” ซึ่งโดยวิธีนี้ “กลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งสามารถกำหนดแนวทางสินเชื่อที่ธุรกิจต่าง ๆ จะรับได้, สามารถปฏิเสธการให้สินเชื่อแก่คู่แข่ง, และสามารถได้มาซึ่งอำนาจล้นฟ้าจนกลุ่มนั้นสามารถกำหนดนโยบายของรัฐบาลและกระทั่งล้มล้างการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์กับตนได้.”—ตัวเอนเป็นของเรา.ด้วยเหตุนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงให้อำนาจมากขึ้นอีกแก่โลกการค้า. อำนาจนั้นจะถูกใช้อย่างมีความรับผิดชอบไหม?
การประกอบการโดยเสรีหรือเศรษฐกิจที่ถูกควบคุม
ลัทธินายทุนรุ่งเรืองเต็มที่ในอังกฤษ. เป็นที่รู้จักเช่นกันในฐานะเป็นระบบประกอบการโดยเสรีหรือในฐานะเศรษฐกิจการตลาดด้วย ลัทธินายทุนได้ผลิตเศรษฐี
ขึ้นมากเกินกว่าสัดส่วนที่น่าจะผลิตขึ้นมา รวมทั้งทำให้มีมาตรฐานการครองชีพที่สูงสุดในประวัติศาสตร์.กระนั้น แม้แต่ผู้สนับสนุนที่แข็งขันที่สุดของลัทธินายทุนก็ยังยอมรับว่าลัทธินายทุนมีจุดอ่อน. ตัวอย่างเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ลัทธินายทุนเป็นสิ่งที่วางใจไม่ได้. การขาดซึ่งเสถียรภาพของลัทธินายทุนเป็นเหตุให้สภาพเศรษฐกิจขึ้น ๆ ลง ๆ, ธุรกิจเฟื่องฟูและธุรกิจตกต่ำ. การขึ้นลงเช่นนั้นซึ่งในสมัยก่อนเกิดขึ้นโดยแรงกดดันจากภายนอกเช่น สงครามหรือดินฟ้าอากาศ มาบัดนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยตัวของระบบเศรษฐกิจเอง.
จุดอ่อนประการที่สองคือขณะผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดีขึ้นมา ลัทธินายทุนมักก่อผลข้างเคียงที่ไม่ดีด้วย—เช่น ควัน, ของเสียที่เป็นพิษ, หรือภาวะการทำงานที่ไม่ถูกสุขอนามัย. การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏชัดเหลือเกิน โดยทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าภาวะเรือนกระจกพร้อมด้วยผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนา. *
ข้อบกพร่องประการที่สามคือ ลัทธินายทุนไม่รับประกันการแบ่งปันทรัพย์หรือสินค้าอย่างยุติธรรม. ให้เราดูสหรัฐเป็นตัวอย่าง. ในปี 1986 หนึ่งในห้าของครอบครัวที่มีฐานะต่ำสุดของประเทศนี้มีรายได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของรายได้รวมของประเทศ ในขณะที่หนึ่งในห้าของผู้มีอันจะกินได้รับเกือบร้อยละ 45.
เมื่อลัทธินายทุนเติบโตเต็มที่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ข้อบกพร่องต่าง ๆ ก็ไม่พ้นสายตาไปได้. ผู้คนเช่นคาร์ล มาร์กซ์ ตำหนิลัทธินี้ โดยเรียกร้องให้แทนที่ด้วยระบบเศรษฐกิจที่มีการควบคุมหรือมีการวางแผนโดยส่วนกลาง. พวกเขาสนับสนุนให้รัฐบาลเป็นผู้ตั้งเป้าการผลิต, กำหนดราคา, และจัดการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่โดยกีดกันปัจเจกบุคคล. กระนั้นในปัจจุบัน หลังจากหลายทศวรรษแห่งการทดลองระบบนี้ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ระบบนี้ก็ไม่เป็นที่สนใจอีก. การวางแผนโดยส่วนกลางได้ผลที่สุดเมื่อจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรีบเร่ง เช่นในการทำสงครามหรือในการพัฒนาโครงการอวกาศ. ในตลาดการทำมาหากินประจำวัน ระบบนี้ขาดตกบกพร่องอย่างร้ายแรง.
อย่างไรก็ตาม พวกผู้สนับสนุนลัทธินายทุนคงจะยอมรับเช่นเดียวกับอดัม สมิท ซึ่งลัทธินายทุนอาศัยคำสอนของเขาเป็นพื้นฐาน ว่าการที่รัฐบาลมีความเกี่ยวพันในทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. หากจะจัดการกับปัญหาอย่างเช่น เงินเฟ้อและการว่างงานอย่างสำเร็จผลพอสมควรละก็ ต้องจัดการในระดับรัฐบาล. ดังนั้น ชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่มีระบบการประกอบการโดยเสรีจึงได้เปลี่ยนจากลัทธินายทุนล้วน ๆ ไปเป็นแบบผสมหรือระบบที่ได้ปรับปรุงพัฒนา.
เกี่ยวกับแนวโน้มเช่นนี้ หนังสือบริแทนนิกาประจำปี 1990 (ภาษาอังกฤษ) พยากรณ์ว่า: “ดูเหมือนจะเป็นไปได้ . . . [ว่า] ระบบต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจอาจสูญเสียข้อแตกต่างอันแจ่มชัดบางอย่างซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของตนในอดีตและกลายมาเป็นองค์เอกภาพต่อเนื่องแทน ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของทั้งการตลาดและการวางแผนต่างอยู่ร่วมกันในสัดส่วนที่ต่างกัน. สังคมต่าง ๆ ที่มีองค์เอกภาพเช่นนั้นอาจระบุตนเองเป็นนักทุนนิยมและนักสังคมนิยม แต่พวกเขาอาจจะเผยให้เห็นแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกันในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้มากพอ ๆ กับที่พวกเขาอาจยังคงแสดงให้เห็นความแตกต่างอันสำคัญ.”
สร้างปัญหา
ในปี 1914 สงครามโลกที่หนึ่งเริ่มขึ้น. และเมื่อเริ่ม การค้าที่ละโมบก็อยู่พร้อมจะจัดหา ปืน, รถถัง, และเครื่องบินซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่ทำสงครามต้องการ และซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ทำให้เป็นไปได้.
หนังสือประวัติศาสตร์โลกโคลัมเบีย ให้ข้อสังเกตว่า ขณะที่ “การส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์หลายอย่างทางวัตถุ” อุตสาหกรรมก็ยัง “เพิ่มปัญหาสังคมซึ่งทั้งรุนแรงและสลับซับซ้อน.”
ปัจจุบัน 78 ปีภายหลังปี 1914 เรามีเหตุผลที่จะเห็นด้วยกับถ้อยคำเหล่านั้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน. อย่างเหมาะเจาะทีเดียว เรื่องที่จะลงต่อไปในบทความชุดนี้คือ “ธุรกิจขนาดยักษ์บีบรัดแน่นยิ่งขึ้น.”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 19 ดูอะเวค! 8 กันยายน 1989.
[กรอบหน้า 28]
ตลาดหุ้น—จากเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุด
เมื่อถึงศตวรรษที่ 17 เป็นกิจปฏิบัติโดยทั่วไปที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่โดยการรวมทุนจากผู้ลงทุนหลาย ๆ คน. มีการเสนอขายหุ้นในราคาที่ได้กำหนดไว้. การจัดการรวมหุ้นเช่นนี้มีการเรียกกันว่าเป็นหนึ่งในการคิดค้นอันสำคัญยิ่งที่เคยทำกันในการจัดระบบธุรกิจ. ชาวอังกฤษได้พยายามตั้งธุรกิจการค้าแบบนี้หลายครั้งในช่วงกลางทศวรรษปี 1500 แต่ได้มีการแพร่หลายตั้งแต่การตั้งบริษัท อิงลิช อีสต์ อินเดียในปี 1600.
ขณะที่บริษัทร่วมหุ้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ความจำเป็นต้องมีพวกนายหน้าหุ้นก็มีมากขึ้นตามตัว. ในตอนแรก พวกเขาพบกับลูกค้าในที่ต่าง ๆ กันหลายแห่ง บางครั้งในร้านกาแฟ. ต่อมา มีการตั้งตลาดหุ้นขึ้นเพื่อให้มีสถานที่สำหรับดำเนินการในเรื่องหุ้น. ตลาดหุ้นลอนดอนถูกตั้งขึ้นในปี 1773. แต่ตลาดหุ้นที่เก่าที่สุดของโลกอาจเป็นตลาดหุ้นในอัมสเตอร์ดัมซึ่งบางคนบอกว่าได้เปิดในปี 1642 หรืออาจจะเป็นตลาดหุ้นในแอนทเวิร์ป ซึ่งมีผู้อ้างว่าวันเปิดดำเนินการย้อนไปถึงปี 1531.
บริษัทค้าหุ้นมีส่วนดีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้: จัดให้มีทุนมากเพียงพอเพื่อดำเนินการประกอบการขนาดใหญ่; ทำให้สาธารณชนมีโอกาสใช้ทุนเพียงเล็กน้อยเพื่อหาผลประโยชน์; ลดปริมาณการสูญเสียแก่ผู้ลงทุนคนใด ๆ ในกรณีที่ล้มเหลว; เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินสดทันทีโดยการขายหุ้นของตนทั้งหมดหรือบางส่วน; และยอมให้มีการโอนหุ้นได้ในฐานะเป็นมรดก.
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้คาดหมายในราคาหุ้นอาจหมายถึงความหายนะได้. นอกจากนั้น ดังที่เรื่องฉาวโฉ่ที่วอลล์สตรีทแสดงให้เห็น ตลาดหุ้นอาจถูกควบคุมอย่างผิดกฎหมาย อาจเป็นได้ด้วยการใช้วิธีซื้อขายโดยบุคคลที่อยู่วงใน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ. ปัจเจกบุคคลใช้หรือขายข้อมูลสำคัญล่วงหน้า—อาจเป็นข่าวเรื่องการรวมตัวของสองบริษัทซึ่งอยู่ในระหว่างเจรจากัน—โดยวิธีนั้น จึงได้กำไรโดยความเคลื่อนไหวจากหุ้นของบริษัทเหล่านั้น. เพื่อนของชายคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้ในปี 1989 ได้ตำหนิการกระทำดังกล่าวว่าเป็นความโลภ. ถึงแม้มีการเคลื่อนไหวในหลายประเทศเพื่อห้ามการซื้อขายกันภายในเช่นนั้น นิตยสารไทม์ ให้ข้อคิดเห็นว่า: “แค่กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอจะแก้ปัญหานี้ได้หรอก.”
ในวันแห่งการพิพากษาของพระยะโฮวาที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้จะถูกแก้ไขตลอดกาล. เงินและทองจะไม่มีค่า อีกทั้งหุ้นและพันธบัตรก็จะไม่มีค่าไปกว่ากระดาษที่ใช้ในการพิมพ์สิ่งเหล่านั้น. พระธรรมยะเอศเคล 7:19 กล่าวว่า: “เขาจะทิ้งเงินของเขาที่ถนนทั้งหลาย และทองคำของเขาจะเป็นดุจของโสโครก.” ซะฟันยา 1:18 กล่าวเสริมว่า: “เงินหรือทองของเขาทั้งหลายจะไม่มีกำลังช่วยไถ่เขาไว้ในวันพิโรธแห่งพระยะโฮวา.”
[รูปภาพหน้า 27]
การประดิษฐ์เครื่องบดฝ้ายนำไปสู่การใช้คนงานทาสมากขึ้น
[ที่มาของภาพ]
The Old Print Shop/Kenneth M. Newman