บทเรียนจากเอกภพ
บทเรียนจากเอกภพ
“ผมไม่แกล้งทำเป็นเข้าใจเอกภพ—มันยิ่งใหญ่กว่าผมมากนัก.”—โธมัส คาร์ไลล์ 1795-1881.
หนึ่งร้อยปีต่อมา เรารู้มากขึ้นว่าเอกภพยิ่งใหญ่กว่าเรามากเพียงไร. ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์เข้าใจมากกว่าที่เขาเคยเข้าใจ สถานการณ์ของพวกเขาก็ยังคงเป็นดังที่นักดาราศาสตร์ผู้หนึ่งเคยพรรณนาไว้ว่าเหมือนสถานการณ์ของ “นักพฤกษศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ที่ค้นพบดอกไม้พันธุ์ใหม่ ๆ มากมายในป่า.”
ทั้ง ๆ ที่ความรู้ของเราอยู่ในขอบเขตจำกัด ก็ย่อมลงความเห็นได้บางอย่าง. และการลงความเห็นเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับคำถามที่สำคัญที่สุดตลอดมาทุกยุคทุกสมัยคือ เอกภพดำเนินไปอย่างไร และแรกเริ่มทีเดียวเอกภพเกิดมาได้อย่างไร.
ความเป็นระเบียบแทนที่จะอลหม่าน
การศึกษาธรรมชาติของเอกภพมีชื่อเรียกว่าจักรวาลวิทยา (cosmology). คำศัพท์ภาษาอังกฤษได้มาจากคำภาษากรีกสองคำได้แก่ คอสมอส และลอกอส ระบุว่าเป็น ‘การศึกษาระเบียบหรือความประสานกลมกลืน.’ ชื่อนี้เหมาะเจาะทีเดียว เพราะว่าความเป็นระเบียบคือสิ่งที่นักดาราศาสตร์เผชิญไม่ว่าพวกเขาสำรวจดูการเคลื่อนที่ของเทห์ฟากฟ้าหรือสสารที่ประกอบกันเป็นเอกภพ.
ทุกสิ่งในเอกภพของเราเคลื่อนที่และการเคลื่อนที่นั้น หาใช่ว่าขาดความแน่นอน ทั้งมิใช่กะกำหนดไม่ได้. ดาวเคราะห์, ดาวฤกษ์, และกาแล็กซีเคลื่อนที่ไปในอวกาศตามกฎทางฟิสิกส์อันเที่ยงตรง กฎซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ปรากฏการณ์บางอย่างในเอกภพได้ด้วยความแม่นยำไม่พลาดเลย. และเหลือเชื่อทีเดียว พลังขับมูลฐานทั้งสี่ซึ่งควบคุมอะตอมที่มีขนาดเล็กที่สุด ก็ควบคุมกาแล็กซีซึ่งมีพลังยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกัน.
ความเป็นระเบียบสำแดงออกเช่นกันในสสารซึ่งประกอบกันเป็นเอกภพ. เดอะ เคมบริดจ์ แอตลาส ออฟ แอสโตรโนมี บอกว่า “สสาร . . . รวมตัวกันอย่างมีระเบียบในทุกขนาดจากเล็กมากจนถึงใหญ่มาก.” แทนที่จะเป็นการกระจายตัวแบบเดาสุ่ม สสารมีโครงสร้างอย่างเป็นระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีเชื่อมโยงของอิเล็กตรอนกับโปรตอนและนิวตรอนภายในนิวเคลียส
ของอะตอม หรือเป็นการดึงดูดซึ่งกันและกันที่ผูกผนึกกลุ่มวัตถุมหึมาของกาแล็กซีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน.เหตุใดเอกภพเผยให้เห็นความมีระเบียบและความประสานกลมกลืนกันเช่นนั้น? เหตุใดจึงมีกฎอันยอดเยี่ยมควบคุมไว้? เนื่องจากกฎเหล่านี้ต้องมีอยู่ก่อนกำเนิดเอกภพ—หาไม่แล้วกฎนั้น ๆ คงควบคุมเอกภพไม่ได้—คำถามที่มีเหตุผลคือ: กฎเหล่านั้นเกิดมาจากไหน?
ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้เลื่องชื่อลงความเห็นว่า “ระบบอันสวยงามอย่างยิ่งของดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดาวหางนี้เป็นขึ้นมาได้จากคำแนะนำและการครอบครองของผู้ทรงเชาวน์ปัญญาและทรงฤทธิ์อำนาจเท่านั้น.”
เฟรด ฮอยล์ นักฟิสิกส์กล่าวว่า “ต้นกำเนิดเอกภพเหมือนกับการแก้ปัญหาลูกบาศก์รูบิก ต้องอาศัยเชาวน์ปัญญา.” ข้อสรุปที่ว่าต้องมีผู้บัญญัติกฎที่อยู่เหนือธรรมชาติได้รับการยืนยันโดยความเข้าใจของเราในเรื่องต้นกำเนิดเอกภพ.
คำถามสุดท้าย: เอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญทางสมมุติฐานอธิบายว่า “เอกภพในตอนเริ่มแรกมีคำตอบให้กับคำถามสุดท้ายที่ว่า ทุกสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน รวมทั้งชีวิต เกิดขึ้นมาได้อย่างไร.” ความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันต่อเอกภพตอนเริ่มแรกคืออะไรจริง ๆ?
ในทศวรรษปี 1960 นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบการแผ่รังสีตกค้างอ่อน ๆ มาจากทุกส่วนของท้องฟ้า. การแผ่รังสีนี้กล่าวกันว่าเป็นการสะท้อนกลับจากการระเบิดในยุคโบราณกาล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่าการระเบิดใหญ่. การระเบิดครั้งนั้นมโหฬารจนถึงขนาดที่ว่ากันว่า เสียงสะท้อนยังยินกันได้ในเวลาหลายพันล้านปีต่อมา. *
แต่ถ้าเอกภพกำเนิดขึ้นด้วยแรงระเบิดอย่างฉับพลันระหว่าง 15 พันล้านถึง 20 พันล้านปีมาแล้ว ดังที่นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่เชื่อกันอยู่ขณะนี้ (แม้จะมีผู้อื่นที่แย้งเรื่องนี้อย่างแรง) คำถามสำคัญยิ่งอันหนึ่งก็จะเกิดขึ้น. พลังงานแรกเริ่มนั้นมาจากไหน? พูดอีกอย่างหนึ่ง มีอะไรก่อนที่จะมีการระเบิดใหญ่?
คำถามนี้แหละที่นักดาราศาสตร์หลายคนต้องการหลีกเลี่ยง. ผู้หนึ่งในพวกเขายอมรับว่า “วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าโลกเกิดขึ้นมาจากพลังซึ่งดูเหมือนเกินกว่าความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่จะให้คำอธิบายได้. ทั้งนี้เป็นความกังวลทางวิทยาศาสตร์ เพราะขัดกับศาสนาของวิทยาศาสตร์—ศาสนาแห่งเหตุและผล ความเชื่อที่ว่าทุก ๆ ผลต้องมีเหตุ. บัดนี้ เราพบว่าผลอันยิ่งใหญ่ที่สุด คือการกำเนิดเอกภพละเมิดหลักความเชื่อนี้.”
ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเขียนไว้ตรงจุดยิ่งขึ้นว่า “ต้นเหตุแรกของเอกภพปล่อยไว้ให้ผู้อ่านระบุชื่อเอาเองก็แล้วกัน. แต่ภาพของเราจะเว้าแหว่งถ้าไม่มีผู้นั้น.” อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลทำให้เรื่องนี้กระจ่าง เมื่อระบุ “ต้นเหตุแรก” โดยกล่าวว่า “เมื่อเดิมพระเจ้า ได้นฤมิตสร้างฟ้าและดิน.”—เยเนซิศ 1:1.
ความด้อยค่าของมนุษย์
บทเรียนง่ายที่สุดซึ่งเอกภพสอนเราเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด บทเรียนที่คนในยุคกลางผู้หยิ่งจองหองพยายามจะไม่สนใจใยดี แต่บทเรียนนั้นกวีผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลยอมรับกันมาหลายพันปีแล้ว—นั่นคือความด้อยค่าของมนุษย์.
การค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ได้เสริมน้ำหนักการประเมินค่าอย่างที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงโดยกษัตริย์ดาวิดที่ว่า “ครั้นข้าพเจ้าพิจารณาท้องฟ้า ที่เป็นพระหัตถกิจของพระองค์ คือดวงจันทร์กับดวงดาวซึ่งพระองค์ทรงประดิษฐานไว้ มนุษย์เป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา?”—บทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4.
ดาราศาสตร์ได้เปิดเผยความยิ่งใหญ่และความสง่างามของเอกภพ—ดวงดาวในสัดส่วนมหึมา, ระยะห่างจนสุดจะจินตนาการ, เวลายาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ซึ่งท้าทายความเข้าใจ, เตาหลอมของจักรวาลซึ่งให้ความร้อนนับล้าน ๆ องศา, การพ่นปะทุพลังงานจนทำให้ระเบิดนิวเคลียร์พันล้านลูกกลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย. กระนั้น สิ่งเหล่านี้ได้พรรณนาไว้อย่างดีในพระธรรมโยบที่ว่า “ดูเถิด กิจการเหล่านี้เป็นแต่เพียงผิวนอกแห่งราชกิจของพระองค์ เรารู้ถึงเรื่องของพระองค์จากเสียงกระซิบที่แผ่วเบาเท่านั้น ส่วนเดชานุภาพอันกึกก้องของพระองค์นั้น ใครจะเข้าใจได้?” (โยบ 26:14) ยิ่งเราเรียนรู้เรื่องเอกภพมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งรู้สึกว่าความรู้เราน้อยลงเท่านั้น และสถานะของเราในเอกภพยิ่งเล็กลงไปอีก. สำหรับผู้สังเกตดูอย่างปราศจากความลำเอียงแล้วเป็นบทเรียนซึ่งทำให้ได้สติ.
ไอแซก นิวตัน ยอมรับว่า “ดูเหมือนว่าบางครั้งข้าพเจ้าเป็นเพียงเด็กชายที่เล่นอยู่บนชายหาด แล้วสนุกสนานกับการพบก้อนหินที่เกลี้ยงเกลากว่า หรือเปลือกหอยที่สวยกว่าธรรมดา ขณะที่มหาสมุทรแห่งความจริงอันยิ่งใหญ่ที่ยังไม่ได้ค้นพบแผ่อยู่เบื้องหน้าผม.”
ความรู้สึกต่ำต้อยซึ่งถูกกระตุ้นโดยความเข้าใจเช่นนั้นน่าจะช่วยเราให้ยอมรับว่ามีผู้สร้างเอกภพ, ผู้ซึ่งตั้งกฎควบคุมเอกภพ, ผู้ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าและมีสติปัญญาล้ำเลิศกว่าเรา. ดังที่พระธรรมโยบให้ข้อเตือนใจว่า “ปัญญาและกำลังฤทธิ์อยู่กับพระเจ้าต่างหาก! พระองค์ทรงมีความดำริหารือ และความรู้ความเข้าใจ.” (โยบ 12:13) นี่แหละคือบทเรียนที่สำคัญกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น.
ขณะที่ความลับของเอกภพถูกไขมากขึ้น กระทั่งข้อลึกลับที่ยิ่งใหญ่กว่าก็คลี่คลายออก. บทความต่อ ๆ ไปจะพิจารณาการค้นพบล่าสุดบางเรื่องซึ่งกำลังสร้างความงุนงงแก่นักดาราศาสตร์ในขณะนี้และก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นซึ่งกระตุ้นการถกเถียงกันในกลุ่มนักจักรวาลวิทยา.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 เปรียบได้กับการโยนก้อนหินลงไปในสระน้ำ เกิดเป็นริ้วคลื่นบนผิวน้ำฉันใด ตามข้อสมมุติฐานของการระเบิดเริ่มแรกนี้เกิดเป็น “ริ้วคลื่น” แห่งการแผ่รังสีไมโครเวฟ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเขาตรวจได้ด้วยเสาอากาศวิทยุที่มีความไวสูง ริ้วคลื่นนี้มีนักเขียนผู้หนึ่งใช้ถ้อยคำพรรณนาว่าเป็น “เสียงสะท้อนฟู่ ๆ แห่งการทรงสร้าง.”
[รูปภาพหน้า 10]
อุปกรณ์สำหรับการตรวจพบรังสีตกค้างจากการระเบิดใหญ่ตามทฤษฎีที่ว่ากัน
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of the Royal Greenwich Observatory and the Canary Islands Institute of Astrophysics