ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผมรู้สึกขอบพระคุณที่ได้รอดชีวิต

ผมรู้สึกขอบพระคุณที่ได้รอดชีวิต

ผม​รู้สึก​ขอบ​พระคุณที่​ได้​รอด​ชีวิต

หาก​คุณ​เคย​ชม​ภาพยนตร์​เรื่อง สะพาน​ข้าม​แม่น้ำ​แคว คุณ​คง​เข้าใจ​เรื่อง​ของ​ผม​ได้​ง่าย​ขึ้น. ผม​เป็น​เชลยศึก​ของ​ญี่ปุ่น​ใน​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ที่​สอง​และ​อยู่​ท่ามกลาง​เหล่า​คน​ที่​ถูก​บังคับ​ให้​สร้าง​ทาง​รถไฟ​เลียบ​ไป​ตาม​แม่น้ำ​แคว​น้อย.

กอง​ทหาร​ดัตช์​ของ​เรา​กับ​กอง​ทหาร​ของ​ประเทศ​ได้​ยอม​แพ้​ที่​บันดุง​บน​เกาะ​ชวา ใน​เดือน​มีนาคม 1942 หลัง​จาก​ที่​ล่า​ถอย​อยู่​หลาย​วัน เพราะ​กำลัง​ที่​เหนือ​กว่า​ของ​กอง​ทหาร​ญี่ปุ่น. เรา​ถูก​ขัง​ใน​เรือน​จำ​ท้องถิ่น​สอง​สาม​สัปดาห์ แล้ว​เช้า​ตรู่​วัน​หนึ่ง​เรา​ถูก​สั่ง​ให้​เตรียม​พร้อม​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไกล.

อย่างไร​ก็​ตาม ก่อน​อื่น​เรา​ถูก​นำ​ไป​โดย​รถไฟ​จาก​บันดุง​ถึง​ปัตตะเวีย (ปัจจุบัน​คือ​จาการ์ตา) เมือง​หลวง​ของ​ชวา. ที่​นั่น​เรา​ถูก​นำ​ขึ้น​เรือ​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไกล​สู่​สิงคโปร์. ใน​สิงคโปร์ เรา​ถูก​ต้อน​ขึ้น​รถไฟ​และ​ขนส่ง​ต่อ​ไป​เกือบ 1,600 กิโลเมตร เข้า​สู่​ประเทศ​สยาม ​(ปัจจุบัน​คือ​ประเทศ​ไทย). ก่อน​จะ​ถึง​เมือง​หลวง คือ​กรุงเทพ​ฯ รถไฟ​ที่​เรา​นั่ง​มา​ก็​เลี้ยว​สู่​ทาง​แยก​ทิศ​ตะวันตก​และ​ถึง​กาญจนบุรี ใกล้​ชายแดน​พม่า.

ทาง​รถไฟ​ที่​มี​แผน​จะ​สร้าง​นั้น​ได้​มี​การ​กำหนด​ไว้​แล้ว​ว่า​ให้​เลียบ​ไป​ตาม​แม่น้ำ​แคว เนื่อง​จาก​แม่น้ำ​นี้​จัด​ว่า​เป็น​แหล่ง​น้ำ​สำหรับ​ดื่ม​และ​อาบ. พวก​เรา​เชลยศึก​ผู้​หิว​โหย​จะ​ต้อง​สร้าง​ทาง​รถไฟ​สู่​พม่า. รถ​บรรทุก​นำ​พวก​เรา​ไป​จน​สุด​ถนน​ยาง​มะตอย​และ​ต่อ​จาก​นั้น​ก็​ไป​ตาม​ถนน​ลูกรัง​จน​ถึง​ค่าย​เชลยศึก​แห่ง​แรก. เช้า​วัน​รุ่ง​ขึ้น​พวก​เรา​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​ค่าย​เชลยศึก​แห่ง​ที่​สอง.

จาก​ค่าย​ที่​สอง การ​เดิน​ทาง​ไกล​ของ​เรา​ก็​ได้​เริ่ม​ต้น. แต่​ก่อน​จะ​สาธยาย​สิ่ง​ที่​ได้​เกิด​ขึ้น ขอ​ให้​ผม​เล่า​ถึง​ภูมิหลัง​ของ​ผม​สัก​หน่อย และ​เหตุ​ผล​ที่​ผม​ต้อง​กลาย​มา​เป็น​เชลยศึก​ของ​ญี่ปุ่น.

สงคราม​แผ่​มา​ถึง​เนเธอร์แลนด์​อินดีส

คุณ​แม่​ของ​ผม​เป็น​คน​เชื้อสาย​เยอรมัน​และ​คุณ​พ่อ​เป็น​ชาว​ดัตช์. เรา​อาศัย​อยู่​ที่​ฟาร์ม​เขียว​ชอุ่ม​มี​ทิว​ทัศน์​อัน​งดงาม​เชิง​ภูเขา​ไฟ​บูกิต เดา​น์ บน​เกาะ​ชวา เกาะ​ใหญ่​ที่​สุด​เป็น​อันดับ​สี่​ของ 13,600 กว่า​เกาะ​ซึ่ง​ประกอบ​กัน​ขึ้น​เป็น​เนเธอร์แลนด์ อินดีส (ปัจจุบัน​คือ​อินโดนีเซีย). คุณ​พ่อ​เป็น​ผู้​จัด​การ​สวน​ยาง และ​ผม​ไป​โรงเรียน​ใน​บันดุง ซึ่ง​เป็น​เมือง​ใหญ่. เมื่อ​สงคราม​โลก​ที่​สอง​ระเบิด​ขึ้น​ในปี 1939 พวก​เรา​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​ลาฮาต บน​เกาะ​สุมาตรา ซึ่ง​ไกล​ออกไป​ถึง 550 กิโลเมตร.

คุณ​แม่​เป็น​ชาว​โรมัน​คาทอลิก ดัง​นั้น ผม​กับ​น้อง​ชาย​สอง​คน​จึง​ถูก​ส่ง​เข้า​โรงเรียน​ประจำ​ของ​คาทอลิก. วัน​หนึ่ง​ใน​ระหว่าง​ชั่วโมง​เรียน ผม​ถาม​บาทหลวง​ว่า: “ทำไม​ฮิตเลอร์​ถึง​กดขี่​ข่มเหง​ชาวยิว​ล่ะ​ครับ​ใน​เมื่อ​พระ​เยซู​ก็​ทรง​เป็น​คน​ยิว?” เขา​ตอบ​ด้วย​ความ​ฉุนเฉียว​ว่า​พระ​เยซู​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว โดย​ยืนกราน​ว่า​พระองค์​เป็น​พระเจ้า เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ตรีเอกานุภาพ.

“ถ้า​อย่าง​นั้น นาง​มาเรีย มารดา​ของ​พระ​เยซู​ล่ะ เป็น​ชาว​ยิว​ไหม​ครับ?” ผม​ถาม.

บาทหลวง​คน​นั้น ด้วย​ความ​โมโห​หนัก​ขึ้น​ตอบ​ว่า: “ฉัน​จะ​บอก​เธอ​เมื่อ​เธอ​โต​ขึ้น. ตอนนี้​มัน​ยาก​เกิน​ไป​สำหรับ​เธอ​ที่​จะ​เข้าใจ!”

ใน​ยุโรป กองทัพ​เยอรมัน​บุก​เนเธอร์แลนด์​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1940. ตอน​นั้น​เนเธอร์แลนด์ อินดีส เป็น​อาณานิคม​ของ​ดัตช์. ก่อน​หน้า​นั้น คุณ​พ่อ​ได้​ร่วม​กับ​พรรค​เอ็นเอส​ยู (สหภาพ​สังคมนิยม​แห่ง​ชาติ) โดย​คิด​ว่า​พรรค​การเมือง​นี้​คง​จัด​ให้​มี​การ​ป้องกัน​ที่​ดี​กว่า​สำหรับ​อินดีส​ใน​ยาม​สงคราม. แต่​ภาย​หลัง​จาก​เนเธอร์แลนด์​ถูก​เยอรมนี​บุก พรรค​เอ็นเอส​ยู​ก็​เริ่ม​สนับสนุน​ฮิตเลอร์. คุณ​พ่อ​รีบ​ลา​ออก​จาก​พรรค​นี้​ทันที แต่​สาย​เกิน​ไป. สมาชิก​ทั้งหมด​ของ​พรรค​เอ็นเอส​ยู​ถูก​กวาด​จับ​โดย​กองทัพ​ดัตช์​ใน​อินดีส​และ​ส่ง​เข้า​ค่าย​กักกัน. คุณ​พ่อ​ก็​ถูก​คุม​ขัง​ด้วย.

เมื่อ​เรือ​รบ​บิสมาร์ก ของ​เยอรมัน​ถูก​จม​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1941 นักเรียน​หลาย​คน​ใน​โรงเรียน​ประจำ​ต่าง​ก็​ดีใจ. โดย​ทราบ​ว่า​คุณ​แม่​ผม​มี​เชื้อสาย​เยอรมัน พวก​เขา​ตะโกน​ว่า “คน​เยอรมัน​ที่​ดี​มี​แค่​พวก​ที่​ตาย​แล้ว!” ระหว่าง​ชั่วโมง​เรียน ผม​ถาม​บาทหลวง​ว่า: “ถ้า​อย่าง​นั้น​ก็​หมายความ​ว่า​บิชอพ​กับ​บาทหลวง​คาทอลิก​ทุก​คน​ใน​เยอรมนี​ควร​ตาย​หมด​ใช่​ไหม​ครับ?” เขา​ผลุนผลัน​ออก​จาก​ห้อง​ไป. เมื่อ​เขา​กลับ​มา​อีก​ประมาณ​หนึ่ง​ชั่วโมง​หลัง​จาก​นั้น เขา​ห้าม​ไม่​ให้​พวก​เรา​พูด​ถึง​เรื่อง​การเมือง​และ​สงคราม​อีก.

ด้วย​เหตุ​ที่​คุณ​พ่อ​ตก​เป็น​นักโทษ​การเมือง คุณ​แม่​จึง​รู้สึก​ว่า​ดำเนิน​กิจการ​ฟาร์ม​ลำบาก. ดัง​นั้น ผม​จึง​กลับ​มา​อยู่​บ้าน​เพื่อ​ช่วย​คุณ​แม่​ขณะ​ที่​น้อง​ชาย​ทั้ง​สอง​ยัง​คง​อยู่​ที่​โรงเรียน. ใน​จดหมาย​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​คุณ​พ่อ ท่าน​พูด​ถึง​เพื่อน​นักโทษ​คน​หนึ่ง ผู้​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เพราะ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ตน​ซึ่ง​เป็น​คน​ที่​สอน​ท่าน​ถึง​สิ่ง​ที่​น่า​สนใจ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล.

ประมาณ​ช่วง​นี้​เอง​ที่​พี่​ชาย​ของ​ผม​ถูก​เกณฑ์​เป็น​ทหาร และ​อีก​สาม​เดือน​ต่อ​มา​ผม​ก็​สมัคร​เป็น​ทหาร. ผม​ถูก​มอบ​หมาย​ให้​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน​พลเรือน​แห่ง​หนึ่ง แต่​เมื่อ​พวก​ญี่ปุ่น​โจมตี​เพิร์ลฮาร์เบอร์​ใน​เดือน​ธันวาคม 1941 ผม​ก็​ถูก​เกณฑ์​เข้า​ประจำ​การ​อย่าง​กะทันหัน​ใน​กองทัพ​ของ​เนเธอร์แลนด์ อินดีส และ​ได้​รับ​การ​ฝึก​ทำ​สงคราม​ใน​ป่า​ทึบ. เรา​เรียน​การ​ฝัง​วัตถุ​ระเบิด​ใน​ป่า และ​ทำ​เครื่องหมาย​ไว้​บน​แผน​ที่​ทหาร. ทั้ง​นี้​ก็​เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​พวก​เรา ด้วย​การ​ใช้​แผน​ที่​เช่น​นั้น​ช่วย จะ​เข้า​ถึง​แหล่ง​ฝัง​วัตถุ​ระเบิด​เพื่อ​นำ​มา​ใช้​สู้​รบ​ใน​ป่า​ทึบ.

ไม่​นาน กอง​กำลัง​ของ​ญี่ปุ่น​ก็​ขึ้น​บก​ที่​เกาะ​บิลลิตัน (ปัจจุบัน​คือ​เบลิตุง) และ​สุมาตรา. กอง​กำลัง​ฝ่าย​เรา​ซึ่ง​มี​จำนวน​น้อย​กว่า​ได้​ปะทะ​กับ​พวก​นั้น. ไม่​ช้า​พวก​ญี่ปุ่น​ก็​ยึด​ปาเล็มบัง​ซึ่ง​เป็น​เมือง​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​บน​เกาะ​สุมาตรา. เรา​ได้​รับ​คำสั่ง​ให้​ถอย​ข้าม​ช่องแคบ​ซุนดา​ไป​ที่​เมรัค​ซึ่ง​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวันตก​ของ​ชวา และ​จาก​ที่​นั่น​เรา​ถอย​ไป​ปัตตะเวีย. สุด​ท้าย ดัง​ที่​กล่าว​ไว้​ตอน​ต้น เรา​ยอม​แพ้​พวก​ญี่ปุ่น​ที่​บันดุง​และ​ตก​เป็น​เชลยศึก.

พบ​คุณ​พ่อ

เนื่องด้วย​สภาพการณ์​ที่​ไม่​ได้​คาดหมาย กอง​กำลัง​ญี่ปุ่น​ที่​ยึดครอง​อยู่​ได้​ปล่อย​คุณ​พ่อ​ของ​ผม​จาก​คุก​ที่​บันดุง พร้อม​กับ​นักโทษ​การเมือง​คน​อื่น ๆ ทุก​คน. แล้ว​ท่าน​ได้​ไป​พัก​อาศัย​ที่​บ้าน​คุณ​ป้า​ของ​ผม​ใน​บันดุง. ที่​นั่น ท่าน​ได้​ทราบ​ว่า​ผม​เป็น​เชลย​อยู่​ใกล้ ๆ นั้น​เอง และ​ท่าน​ได้​มา​เยี่ยม​ผม. ผม​จึง​สามารถ​บอก​ท่าน​ให้​ทราบ​ว่า​ตอนนี้​ครอบครัว​ของ​เรา​อยู่​ที่​ไหน​และ​บอก​ถึง​รายงาน​การ​สูญ​หาย​ของ​พี่​ชาย​ใน​การ​รบ.

ด้วย​ความ​ตื่นเต้น คุณ​พ่อ​เริ่ม​เล่า​ให้​ผม​ฟัง​ถึง​สิ่ง​ที่​ท่าน​ได้​เรียน​รู้​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​เพื่อน​นักโทษ​ด้วย​กัน. ท่าน​บอก​ผม​ว่า​พระนาม​ของ​พระเจ้า​ไม่​ใช่​เยซู​แต่​เป็น​พระนาม​ซึ่ง​ฟัง​ดู​แปลก​สำหรับ​ผม​ใน​ตอน​นั้น—ยะโฮวา. น่า​เสียด​าย​ที่​พวก​ญี่ปุ่น​ไม่​ยอม​ให้​คุณ​พ่อ​มา​เยี่ยม​ผม​อีก​เลย ผม​จึง​ไม่​ได้​พูด​คุย​กับ​ท่าน​อีก. คุณ​พ่อ​มี​อิสรภาพ​อยู่​เพียง​ไม่​นาน. ผม​ได้​มา​ทราบ​ภาย​หลัง​สงคราม​ว่า​ท่าน​ได้​เสีย​ชีวิต​ใน​ค่าย​กักกัน​ของ​ญี่ปุ่น​ใกล้​กับ​บันดุง​ใน​เดือน​ตุลาคม​ปี 1944.

การ​สร้าง​ทาง​รถ​ไฟ

ดัง​ที่​อธิบาย​ตอน​ต้น พวก​เรา​ซึ่ง​เป็น​เชลยศึก​ถูก​ส่ง​ไป​ชายแดน​พม่า. เรา​ถูก​แบ่ง​เป็น​กลุ่ม ๆ และ​แผน​งาน​คือ​ให้​แต่​ละ​กลุ่ม​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ยาว 20 กิโลเมตร. ทาง​รถไฟ​ช่วง​ต้น​จะ​เชื่อม​ต่อ​กับ​งาน​ของ​อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​เริ่ม​สร้าง​ที่ 20 กิโลเมตร​ข้าง​หน้า​ของ​กลุ่ม​แรก. ใน​ที่​สุด กลุ่ม​เชลยศึก​ที่​สร้าง​ทาง​รถไฟ​เสร็จ​ก็​จะ​บรรจบ​กับ​เชลยศึก​กลุ่ม​อื่น ๆ ที่​วาง​ราง​รถไฟ​จาก​ภาย​ใน​พม่า.

ด้วย​ความ​ร้อน​และ​ความ​ชื้น​ของ​เขต​ร้อน การ​สร้าง​ทาง​รถไฟ​ด้วย​มือ โดย​แทบ​ไม่​มี​เครื่องจักรกล​ใด ๆ เลย แม้​สำหรับ​ผู้​ชาย​ที่​มี​สุขภาพดี​ก็​ยัง​เหน็ดเหนื่อย​เมื่อย​ล้า​เหลือ​เกิน. แต่​ด้วย​สภาพ​ที่​อดอยาก​หิว​โซ​ของ​เรา​ด้วย​แล้ว แทบ​เป็น​เรื่อง​ที่​เหลือ​ความ​สามารถ​ของ​มนุษย์​จะ​ทน​ได้. ที่​ยิ่ง​เพิ่ม​ความ​ทุกข์​ลำบาก​แก่​เรา​อีก​ก็​คือ ไม่​ช้า​พวก​เรา​ก็​ต้อง​ทำงาน​ด้วย​เท้า​เปล่า​และ​เกือบ​จะ​เปลือย​กาย เพราะ​ภาย​ใน​ไม่​กี่​สัปดาห์ ฝน​ใน​ฤดู​มรสุม​ซึ่ง​ตก​ไม่​หยุด​หย่อน​ได้​ทำ​ให้​เสื้อผ้า​กับ​รองเท้า​ของ​เรา​เปื่อย.

ที่​ยิ่ง​เลว​ร้าย​กว่า​นั้น เรา​แทบ​ไม่​มี​ยา​หรือ​ผ้า​พัน​แผล​เลย. ด้วย​ความ​หมด​หน​ทาง เรา​ใช้​มุ้ง​ของ​เรา​สำหรับ​พัน​แผล. แต่​แล้ว เมื่อ​ไม่​มี​มุ้ง เรา​ก็​ถูก​ฝูง​แมลงวัน​โจมตี​ตอน​กลางวัน​และ​ฝูง​ยุง​โจม​ตี​ตอน​กลางคืน. ไม่​ช้า​โรค​ภัย​ก็​ลุก​ลาม​ไป​ทั่ว. มาลาเรีย, บิด, และ​ตับ​อักเสบ​ทำ​ให้​เชลยศึก​ที่​น่า​เวทนา​หลาย​คน​ล้ม​ป่วย.

จาก​นั้น โรค​แผล​เปื่อย​เรื้อรัง​ที่​มัก​พบ​ใน​เขต​ร้อน​ก็​เริ่ม​ระบาด แม้​กระทั่ง​ใน​หมู่​คน​ที่​ดู​แข็งแรง​กว่า. การ​ขาดแคลน​ยา​บีบ​บังคับ​พวก​แพทย์​ซึ่ง​มี​ไม่​กี่​คน​ใน​หมู่​พวก​เรา​ให้​รักษา​โรค​แผล​เปื่อย​ด้วย​ใบ​ชา, กาก​กาแฟ, และ​โคลน. ยา​เพียง​ชนิด​เดียว​ที่​พวก​ญี่ปุ่น​มี​ให้​เรา​ก็​คือ​ยา​เม็ด​ควินิน​เพื่อ​ช่วย​ป้องกัน​ไข้​มาลาเรีย. ภาย​ใต้​สภาพการณ์​เช่น​นี้ จึง​ไม่​น่า​ประหลาด​ใจที่​จำนวน​ผู้​ล้ม​ตาย​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวดเร็ว มาก​จน​ถึง​ขนาด​ที่​การ​มี​คน​ตาย​วัน​ละ​หก​คน​นั้น—ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ก็​เนื่อง​จาก​ไข้​มาลาเรีย​และ​โรค​แผล​เปื่อย​เขต​ร้อน—ถือ​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา. สิ่ง​ที่​น่า​ประหลาด​ก็​คือ ถึง​แม้​จะ​มี​การ​สูญ​เสีย​ขนาด​นี้​และ​การ​ทน​ทุกข์​แสน​สาหัส​ของ​คน​เรา ทาง​รถไฟ​เข้า​สู่​พม่า​ก็​สำเร็จ​ใน​ที่​สุด!

แต่​หลัง​จาก​นั้น​ฝ่าย​พันธมิตร​ก็​ได้​เริ่ม​การ​โจม​ตี​ทิ้ง​ระเบิด. ส่วน​ใหญ่​เป็น​การ​โจมตี​ตอน​กลาง​คืน. บ่อย​ครั้ง มี​การ​ทิ้ง​ระเบิด​เวลา แต่​เมื่อ​ถึง​เช้า​ตรู่​ของ​วัน​ถัด​ไป​ระเบิด​เวลา​ทั้ง​หมด​มัก​ระเบิด​เรียบร้อย​แล้ว. ดัง​นั้น พวก​เรา​ซึ่ง​เป็น​เชลยศึก​จึง​ต้อง​ทำงาน​ซ่อมแซม​ความ​เสีย​หาย​ใด ๆ ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​คืน​ก่อน. หลัง​จาก​ทาง​รถไฟ​ถูก​สร้าง​เสร็จ เรา​ก็​ได้​เจาะ​ปล่อง​ปืน​กล​เข้า​ไป​ใน​ฐาน​ของ​ด่าน​เจดีย์​สาม​องค์​ซึ่ง​อยู่​ตรง​ชายแดน​ระหว่าง​ไทย​พม่า. มี​สะพาน​ข้าม​แม่น้ำ​แคว​สอง​สะพาน​อยู่​ตรง​จุด​นี้. ผม​อยู่​ตรง​นั้น​เมื่อ​สงคราม​สิ้น​สุด​ลง.

เมื่อ​ถึง​ฤดู​ใบ​ไม้​ผลิ​ปี 1945 หลัง​จาก​ที่​ผม​ทำงาน​ตรากตรำ​เยี่ยง​ทาส​นาน​กว่า​สาม​ปี​ใน​ฐานะ​เป็น​เชลยศึก พวก​ญี่ปุ่น​ก็​ยอม​แพ้. ผม​ป่วย​หนัก​มาก ทน​ทรมาน​กับ​ไข้​มาลาเรีย, โรค​บิด​ชนิด​มี​ตัว, และ​ตับ​อักเสบ. น้ำหนัก​ของ​ผม​ลด​ลง​เหลือ​ไม่​ถึง 40 กิโลกรัม. แต่​ผม​ก็​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​รอด​ผ่าน​ปี​สยด​สยอง​เหล่า​นั้น​มา​ได้.

หลัง​สงคราม

ใน​ฤดู​ร้อน​ปี 1945 ผม​ถูก​นำ​ตัว​กลับ​ประเทศ​ไทย ที่​ซึ่ง​ผม​ได้​รับ​อาหาร​และ​ยา แต่​ก็​ใช้​เวลา​นาน​ประมาณ​สาม​เดือน​เพื่อ​ฟื้น​สุขภาพ​ถึง​ระดับ​หนึ่ง. หลัง​จาก​นั้น ผม​ก็​ปฏิบัติ​หน้าที่​ใน​กองทัพ​ต่อ ที​แรก​ก็​ใน​กรุงเทพ​ฯ จาก​นั้น​ก็​ที่​เกาะ​ซุมบาวา, บาหลี, และ​เซลีเบส (ปัจจุบัน​คือ​ซูลาเวสี)​ของ​เนเธอร์แลนด์ อินดีส.

ผม​พยายาม​ติดต่อ​กับ​คุณ​แม่​และ​น้อง​ชาย​ของ​ผม. เมื่อ​ผม​ติดต่อ​ได้ ผม​ก็​ขอ​ลา​พัก​พิเศษ เนื่อง​จาก​คุณ​แม่​กำลัง​จะ​ถูก​ส่ง​ไป​เนเธอร์แลนด์​เพราะ​ป่วย​หนัก. ผม​จึง​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ลา​สาม​สัปดาห์​และ​ดี​ใจ​มาก​ที่​ได้​พบ​เธอ​อีก​ที่​ปัตตะเ​วี​ย. ใน​เดือน​กุมภาพันธ์ ปี 1947 คุณ​แม่​ก็​จาก​อินดีส​ไป​เนเธอร์แลนด์ เธอ​อยู่​ที่​นั่น​จน​สิ้น​ชีวิต​ในปี 1966. ผม​ก็​เช่น​กัน ได้​ตัดสิน​ใจ​อพยพ​ไป​เนเธอร์แลนด์ และ​ผม​ถูก​ปลด​ประจำการ​ที่​เนเธอร์แลนด์​ใน​เดือน​ธันวาคม ปี 1947 หลัง​จาก​เป็น​ทหาร​นาน​ถึง​หก​ปี.

การ​ได้​งาน​ที่​ดี​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย. แต่​ใน​ที่​สุด หลัง​จาก​เรียน​ภาค​ค่ำ​อยู่​สาม​ปี ผม​ก็​สอบ​ผ่าน​และ​มี​คุณวุฒิ​เป็น​นาย​ช่าง​ประจำ​เรือ. ครอบครัว​ที่​ผม​อาศัย​อยู่​ด้วย​ถาม​ผม​ว่า​อยาก​ได้​อะไร​เป็น​ของขวัญ​ใน​โอกาส​นั้น. ผม​ขอ​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​หนึ่ง และ​พวก​เขา​ให้ “พระ​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่” แก่​ผม​เล่ม​หนึ่ง ซึ่ง​ผม​อ่าน​บ่อย ๆ ใน​ตอน​กลาง​คืน​เมื่อ​ออก​ทะเล ไม่​ว่า​งาน​จะ​นำ​ผม​ไป​ที่​ไหน ๆ ก็​ตาม.

ในปี 1958 ผม​ย้าย​ไป​ยัง​อัมสเตอร์ดัม โดย​วาง​แผน​ศึกษา​เพื่อ​ได้​วุฒิ​ที่​สูง​ขึ้น. แต่​ผม​ได้​พบ​ว่า​การ​เรียน​หนัก​นั้น​ทำ​ให้​สุขภาพ​ของ​ผม​รับ​ไม่​ไหว ซึ่ง​ผล​กระทบ​อัน​สืบ​เนื่อง​จาก​การ​ทน​ทุกข์​ใน​ยาม​สงคราม​เริ่ม​จะ​แสดง​ออก​มา​แล้ว. โดย​นึก​ถึง​เพื่อน​เชลย​ศึก​ชาว​ออสเตรเลีย​ที่​ผม​สนิทสนม​ตอน​สร้าง​ทาง​รถไฟ ผม​จึง​ตัดสิน​ใจ​จะ​ขอ​อพยพ​ไป​อยู่​ออสเตรเลีย.

ผม​เริ่ม​ได้​คำ​ตอบ

ก่อน​จาก​อัมส​เต​อร์ดัม​สู่​ออสเตรเลีย ผม​ไป​เยี่ยม​หลาย​คริสต์จักร หา​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​ต่าง ๆ. หลัง​การ​ประชุม​นมัสการ​ครั้ง​หนึ่ง ผม​ถาม​บาทหลวง​เจ้า​อธิการ​ว่า​เขา​รู้จัก​พระ​นาม​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า​ไหม. เขา​ตอบ​ว่า​พระ​นาม​นั้น​คือ​เยซู. ผม​ทราบ​ว่า​นั่น​ไม่​ถูก แต่​ผม​จำ​ไม่​ได้​ว่า​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ที่​คุณ​พ่อ​เคย​บอก​ผม​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน​นั้น​คือ​อะไร.

ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น สามี​ภรรยา​คู่​หนึ่ง​มา​เยี่ยม​ที่​บ้าน​ผม ชี้​แจง​ว่า​เขา​อยาก​จะ​ให้​ข่าว​ดี​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​แก่​ผม. ระหว่าง​การ​สนทนา พวก​เขา​ถาม​ว่า​ผม​รู้จัก​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ไหม. ผม​ตอบ​ว่า “พระ​เยซู.” เขา​อธิบาย​ว่า​นั่น​คือ​นาม​พระ​บุตร​พระเจ้า​และ​แล้ว​เขา​แสดง​ให้​ผม​เห็น​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​คือ​ยะโฮวา. (บทเพลง​สรรเสริญ 83:18) ใน​ทันที​นั้น​เอง​ผม​ก็​นึก​ได้​ว่า​พระ​นาม​นี้​แหละ​ที่​คุณ​พ่อ​เคย​บอก. เมื่อ​ผม​ถาม​ว่า​พวก​เขา​นับถือ​ศาสนา​อะไร พวก​เขา​ตอบ​ว่า “พยาน​พระ​ยะโฮวา.”

พยาน​ฯ ทั้ง​สอง​นั้น​มา​เยี่ยม​อีก แต่​ผม​ไม่​เชื่อ​ง่าย ๆ. ไม่​กี่​วัน​หลัง​จาก​นั้น ผม​ไป​พบ​เจ้า​อธิการ​คริสต์จักร​ดัตช์ รีฟอร์ม​และ​ถาม​เขา​ว่า​มี​ทัศนะ​อย่างไร​ต่อ​พวก​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เจ้า​อธิการ​ตอบ​ว่า​ไม่​ชอบ​พวก​พยาน​ฯ แต่​ก็​ชมเชย​พวก​เขา​ใน​จุด​หนึ่ง—พวก​เขา​ไม่​เข้า​ส่วน​ใน​การ​สงคราม. หลัง​จาก​ประสบ​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ขนพอง​สยอง​เกล้า​ด้วย​ตัว​เอง​ใน​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ที่​สอง ผม​จึง​ประทับ​ใจ​ใน​จุด​นี้.

ไม่​กี่​วัน​ต่อ​มา ในปี 1959 ผม​ได้​อพยพ​ไป​ออสเตรเลีย และ​พวก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​นั่น​ได้​ติดต่อ​ผม​อีก. ผม​ตัด​ความ​เกี่ยว​พัน​กับ​คริสต์จักร​คาทอลิก เนื่อง​ด้วย​มา​หยั่งรู้​ว่า ใน​บรรดา​เรื่อง​ต่าง ๆ แล้ว ก็​มี​เรื่อง​ไฟ​นรก​และ​ตรีเอกานุภาพ​ที่​คริสต์จักร​สอน​ไม่​ถูก. ความรู้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​ผม​ให้​เอา​ชนะ​ฝัน​ร้าย​และ​ความรู้สึก​ผิด​ที่​ทน​มา​หลาย​ปี​อัน​เป็น​ผล​เนื่อง​มา​จาก​ประสบการณ์​ระหว่าง​สงคราม. ความ​จริง​ที่​ได้​พบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ปลดปล่อย​ผม​เป็น​อิสระ.—โยฮัน 8:32.

ผม​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​รับ​บัพติสมา​ในปี 1963. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​ผม​ก็​ย้าย​ไป​ที่​ทาวน์ส​วิล บน​ฝั่ง​ด้าน​เหนือ​ของ​รัฐ​ควีนสแลนด์ ที่​ซึ่ง​ผม​ได้​เข้า​ส่วน​ใน​งาน​สอน​ศาสนา​เต็ม​เวลา. ที่​นั่น ผม​ได้​พบ​กับ​มิวเรียล เพื่อน​พยาน​ฯ ที่​ซื่อ​สัตย์​คน​หนึ่ง และ​เรา​สมรส​กัน​เมื่อ​ปี 1966. นับ​แต่​นั้น​มา เรา​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​กัน ซึ่ง​บ่อย​ครั้ง​เป็น​งาน​รับใช้​แบบ​เต็ม​เวลา.

เมื่อ​เรา​ได้​ยิน​ว่า​ใน​เขต​ทุรกันดาร​ของ​ออสเตรเลีย​มี​ความ​จำเป็น​มาก​กว่า​ใน​เรื่อง​ผู้​ประกาศ​ศาสนา เรา​ก็​ได้​สมัคร​ไป​รับใช้​ใน อลิซ สปริงส์ ซึ่ง​อยู่​ใจ​กลาง​ของ​ผืน​แผ่นดิน​อัน​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​นี้. เรา​มี​ความ​สุข​ที่​ได้​รับใช้​ด้วย​กัน​ที่​นี่​เป็น​เวลา​หลาย​ปี. ใน​ระหว่าง​ปี​เหล่า​นั้น ผม​กับ​ภรรยา​มี​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​ช่วย​คน​อื่น ๆ หลาย​คน​ให้​เข้า​มา​อยู่​บน​เส้น​ทาง​แห่ง​เสรีภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ชีวิต​นิรันดร์.—เล่า​โดย ทานเค​รด อี. แวน ฮอยทซ์.

[รูปภาพ​หน้า 23]

ทานเครด อี. แวน ฮอยทซ์ กับ​ภรรยา