คุณสามารถพูดต่อหน้าผู้ฟังได้!
คุณสามารถพูดต่อหน้าผู้ฟังได้!
แมรี่นึกขันกับความพยายามครั้งแรกของเธอในการพูดต่อหน้าคนกลุ่มใหญ่. “เมื่อฉันพูดไปได้ไม่นาน” เธอเล่า “ฉันก็เป็นลมล้มพับไป!”
แม้จะรุนแรง แต่ประสบการณ์ของแมรี่ชี้ให้เห็นว่าหลายคนไม่ชอบพูดต่อหน้าสาธารณชน. บางคนมองดูสิ่งนี้เสมือนการเผชิญวิบัติที่เลวร้ายยิ่งกว่าความตายเสียอีก! เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยในการสำรวจความคิดเห็นด้วยคำถามที่ว่า “คุณกลัวอะไรมากที่สุด?” เป็นดังที่คาดไว้ “ความสูง”, “ปัญหาด้านการเงิน”, “การนั่งเครื่องบิน”, “ความเจ็บป่วยร้ายแรง”, และ “ความตาย” อยู่อันดับต้น ๆ ในรายการ. แต่ที่อยู่เหนืออันดับเหล่านี้ทั้งหมด—ความกลัวหมายเลขหนึ่ง—คือ “การพูดต่อหน้ากลุ่มชน”!
แม้แต่บุรุษผู้มีชื่อเสียงในคัมภีร์ไบเบิลก็ยังแสดงออกถึงความกลัวในตอนแรกที่จะต้องพูดต่อหน้าสาธารณชน. ยิระมะยากล่าวว่า “ข้าพเจ้าพูดไม่ได้ ข้าพเจ้าเป็นเด็กอยู่.” (ยิระมะยา 1:6) ปฏิกิริยาของโมเซที่มีต่อหน้าที่มอบหมายของท่านคือ: ‘ข้าพเจ้าเป็นคนพูดไม่คล่อง ขอโปรดใช้ผู้อื่นไปเถิด.’ (เอ็กโซโด 4:10, 13) ถึงกระนั้น ทั้งยิระมะยาและโมเซได้กลายเป็นนักพูดที่โดดเด่น พูดต่อหน้าผู้นำที่มีชื่อเสียงและชนกลุ่มใหญ่.
เรื่องทำนองเดียวกันนี้อาจเป็นจริงกับคุณก็ได้. การพูดต่อหน้าสาธารณชนเป็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายในซึ่งใคร ๆ ก็สามารถพัฒนาขึ้นมาได้. คุณจะเอาชนะความกลัวอันเกิดจากการพูดต่อหน้าสาธารณชนได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ต่อไปนี้:
1. อย่าตราหน้าตัวเอง
“ฉันขี้อายเกินไป.” “ฉันเด็กเกินไป.” “ฉันแก่เกินไป.” “ฉันประหม่าเกินไป.” เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการตราหน้าตัวเอง. สิ่งเหล่านี้จะกีดกันคุณจากการบรรลุเป้าหมายซึ่งที่จริงคุณสามารถทำได้.
การตราหน้าต่าง ๆ บ่อยครั้งทำให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นจริง ๆ. ตัวอย่างเช่น คนที่ตราหน้าตัวเองว่า “ขี้อาย” จะเฝ้าปิดประตูไม่ให้มีโอกาสต่าง ๆ ซึ่งท้าทายความอาย. ผลที่ตามมาก็คือพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้เขาเชื่อว่าเขาขี้อายจริง ๆ. ดังนั้น จึงเกิดเป็นวัฏจักรหนึ่งโดยสิ่งซึ่งตัวเขาแสดงออกมาและเป็นการเสริมตราหน้าซึ่งตัวเขาเองก่อขึ้น. นักจิตวิทยาคนหนึ่งระบุว่า: “ถ้าคุณเชื่อว่าคุณไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ . . . คุณจะปฏิบัติออกมาตามวิถีทางนั้นและกระทั่งเป็นเช่นนั้นเสียด้วยซ้ำ.”
ดร. ลิน เคลลี่ ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ด (สหรัฐอเมริกา) อ้างว่าความอายอาจเป็นอาการสนองตอบต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้มา. อะไรก็ตามที่เราเรียนรู้มา เราก็สามารถลบสิ่งที่เรียนรู้มานั้นได้. เรื่องเดียวกันอาจเป็นจริงกับความประหม่า, การตื่นเวที และอุปสรรคอื่น ๆ ในการพูดต่อสาธารณชน.
2. ทำให้ความประหม่าเป็นผลดีต่อคุณ
นางเอกที่แสดงมานานหลายปีคนหนึ่งถูกถามว่าหลังจากที่มีประสบการณ์นานหลายปีเธอยังรู้สึกประหม่าก่อนการแสดงไหม? “แน่นอน” เธอกล่าว. “ฉันยังรู้สึกกังวลก่อนการแสดงทุก ๆ ครั้ง. แต่ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านไปฉันเรียนรู้ที่จะควบคุมความกังวลนั้น.”
ดังนั้น สิ่งที่เพ่งเล็งคือควบคุมความประหม่าไม่ใช่กำจัดมันออกไปทั้งหมด. ทำไม? ไม่ใช่ความประหม่าทุกชนิดเป็นสิ่งไม่ดี. ความประหม่ามีอยู่สองแบบ. แบบหนึ่งเกิดจากการขาดการเตรียมตัว. แต่อีกแบบหนึ่งเป็นความรู้สึกประหม่าในแง่บวกมากกว่า. ความรู้สึกประหม่าแบบนี้ดี สำหรับคุณเพราะจะกระตุ้นคุณให้ทำดีที่สุด. ความรู้สึกประหม่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณเอาใจใส่. เพื่อลดความรู้สึกประหม่าลงให้น้อยที่สุด ลองติดตามคำแนะนำต่อไปนี้:
คิดถึงการพูดของคุณว่าเป็นการสนทนาแทนที่จะเป็นคำบรรยาย. “เป็นเพียงการพูดคุยธรรมดา ๆ” ชาร์ลส์ ออสกู๊ด ผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ “และคุณก็พูดคุยกันตลอดทั้งวันอยู่แล้ว.” โดยส่วนรวม ผู้ฟังก็คือคนที่คุณสนทนาด้วย. เป็นการเหมาะสมที่จะผ่อนคลายและยิ้มในบางครั้ง. ยิ่งการพูดของคุณเป็นแบบสนทนามากเท่าไร คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายมากเท่านั้น. อย่างไรก็ดี มีบางครั้งที่เนื้อเรื่องและโอกาสอาจเรียกร้องน้ำเสียงแบบทางการ, จริงจัง, และกระทั่งมีพลัง.
จำไว้ว่าผู้ฟังอยู่ข้างคุณ! แม้ว่าคุณจะแสดงความประหม่าออกมา แต่ผู้ฟังส่วนมากก็เข้าใจความรู้สึกของคุณ. ดังนั้น จงมองผู้ฟังเป็นเสมือนเพื่อน. พวกเขาต้องการให้คุณประสบความสำเร็จ! คิดเสียว่าพวกเขาเป็นแขกของคุณและตัวคุณเองเป็นเจ้าภาพ. แทนที่จะคิดว่าผู้ฟังควรทำให้คุณสบายใจ จงบอกตัวเองว่าในฐานะเจ้าภาพคุณต้องทำให้พวกเขาสบายใจ. การเปลี่ยนวิธีคิดเช่นนี้จะช่วยบรรเทาความรู้สึกประหม่าของคุณได้.
เพ่งเล็งที่ข่าวสาร ไม่ใช่ที่ตัวคุณเอง. จงคิดว่าตัวคุณเป็นผู้ส่งข่าวซึ่งกำลังส่งโทรเลข. คนส่งข่าวได้รับความสนใจเพียงน้อยนิด โทรเลขต่างหากที่ผู้รับต้องการ. เป็นความจริงเช่นเดียวกันเมื่อคุณกำลังส่งข่าวสารให้กับผู้ฟัง. ส่วนใหญ่แล้วผู้ฟังเพ่งเล็งที่ข่าวสารไม่ใช่ที่ตัวคุณ. ยิ่งคุณกระตือรือร้นกับข่าวสารมากเท่าไร ความกังวลเกี่ยวกับตัวเองก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น.
อย่ารับประทานมากเกินไปก่อนพูด. นักพูดอาชีพคนหนึ่งจำได้เมื่อรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนให้คำบรรยายความยาวสองชั่วโมง. เกี่ยวกับคำบรรยายนั้นเขาจำได้ว่า “เลือดซึ่งควรจะไปเลี้ยงสมองกลับลงไปปล้ำสู้อยู่กับสเต็กและมันฝรั่งในกระเพาะอาหารของผม.” อาหารมื้อใหญ่อาจเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุดเมื่อคุณต้องไปอยู่ต่อหน้าผู้ฟัง. ควรเอาใจใส่ในสิ่งที่คุณดื่มด้วยเช่นเดียวกัน. กาเฟอีนอาจทำให้คุณประสาทไวเกินไป. ส่วนแอลกอฮอล์จะทำให้ประสาทตื้อ.
คุณอาจประสบกับคลื่นแห่งความประหม่าอยู่เสมอเมื่อคุณเริ่มพูดต่อหน้าผู้ฟัง แต่โดยประสบการณ์คุณจะพบว่าความประหม่าที่เกิดขึ้นในตอนแรกนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า—ความประหม่าแรกเริ่มซึ่งจะสูญหายไปไม่นานหลังจากคุณเริ่มพูด.
3. จงเตรียมตัว!
“การพูดเป็นการเดินทางที่มีจุดมุ่งหมาย และต้องมีการกำหนดเส้นทาง” เดล คาร์เนกี กล่าวไว้. “คนที่เริ่มบรรยายโดยไร้จุดมุ่งหมายตามปกติจะไม่บรรลุซึ่งสิ่งใด ๆ.” เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย คุณต้องมีการเตรียมตัวที่ดี. พรสวรรค์ในการพูดได้อย่างคล่องแคล่วไม่ใช่ว่าจะเป็นพรสำหรับผู้ฟังของคุณ. ดังนั้น คุณจะเตรียมตัวอย่างไร?
ค้นคว้าและเลือกเฟ้น. อย่าทำการค้นคว้าอย่างลวก ๆ. จอห์น วอลฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารกล่าวว่า “วิธีเดียวที่จะรู้สึกสบายเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ฟังคือรู้ว่าคุณกำลังพูดอะไรอยู่.” ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวเรื่องของคุณ. สะสมข้อมูลให้มากกว่าที่คุณสามารถนำไปใช้ได้. แล้วลงมือเลือกเฟ้นเนื้อหาของคุณ แยก “แกลบ” ออกจาก “ข้าว.” กระนั้น “แกลบ” จะไม่เสียเปล่า—มันจะทำให้คุณมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในข้อมูลที่คุณเลือกใช้.
คิด. ไตร่ตรองหัวเรื่องของคุณใน ‘ยามกิน, ยามนอน, และหายใจ.’ คิดถึงเรื่องนั้นในใจของคุณทุกโอกาสในแต่ละวัน. “คิดถึงมันตลอดเจ็ดวัน ฝันถึงมันตลอดเจ็ดคืน” เดล คาร์เนกี กล่าว. อัครสาวกเปาโลเตือนติโมเธียวดังนี้: “จงระวังตัวและคำสอนของท่านให้ดี.” แต่ก่อน ที่จะกล่าวเช่นนี้ เปาโลแนะนำว่า “เอาใจใส่ในข้อความเหล่านี้ ฝังตัวท่านไว้ในการนี้ทีเดียว.” ใช่แล้ว นักพูดที่ดีต้องเป็นนักไตร่ตรองที่ดีก่อน.—1 ติโมเธียว 4:15, 16.
คิดไตร่ตรองจนกระทั่งความสำคัญและความเร่งด่วนแห่งข่าวสารเอาชนะความรู้สึกประหม่าของคุณไปได้. ยิระมะยาสามารถพูดเกี่ยวกับข่าวสารของท่านได้ดังนี้: “คำของพระองค์อยู่ในใจข้าพเจ้าเหมือนอย่างไฟปิดไว้ในกระดูกทั้งปวงของตัวข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจึงเหน็ดเหนื่อยด้วยการนิ่งอยู่และข้าพเจ้าจะนิ่งต่อไปมิได้.” (ยิระมายา 20:9) และคำพูดนี้มาจากคนเดียวกันซึ่งก่อนหน้านี้พูดถึงหน้าที่มอบหมายของท่านว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบจะพูดอย่างไร?
คำนึงถึงผู้ฟังของคุณ. ใส่เสื้อผ้าที่เรียบร้อยที่สุด. อนึ่ง เรื่องที่คุณค้นคว้ามาต้องทำให้เหมาะกับผู้ฟังของคุณ. ดังนั้น จงพิจารณาความคิดของพวกเขา: พวกเขาเชื่อในเรื่องอะไรบ้าง? พวกเขารู้อะไรบ้างแล้วเกี่ยวกับหัวข้อของคุณ? เนื้อหาของคุณเหมาะกับชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไร? ยิ่งคุณใส่ใจคำถามเหล่านี้มากเท่าใด ผู้ฟังก็ยิ่งจะฟังคุณอย่างตั้งใจมากเท่านั้น มองดูข้อมูลของคุณเสมือนสิ่งที่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับความต้องการเฉพาะของพวกเขา.
พยายามให้ดีที่สุด
โลกปัจจุบันประกอบด้วยเครื่องมือติดต่อสื่อสารแบบรวดเร็วทันใจทุกอย่างเท่าที่นึกคิดได้. ถึงกระนั้น “ในสถานการณ์ส่วนใหญ่” หนังสือ เก็ต ทู เดอะ พอยท์ ระบุว่า “เครื่องมืออันบังเกิดผลมากที่สุด ในการติดต่อสื่อสารคือมนุษย์ต่อมนุษย์.” คำแนะนำข้างต้นจะช่วยคุณให้ช่ำชองในการติดต่อสื่อสารเช่นนั้น. แทนที่จะปักใจอยู่กับความกลัวโดยไม่จำเป็น คุณจะพบว่าตนสามารถ พูดต่อหน้าผู้ฟังได้!
[กรอบหน้า 20]
การออกกำลังเพื่อสงบสติอารมณ์
เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย การออกกำลังกาย ดังต่อไปนี้สามารถลดความตึงเครียดก่อนการเผชิญ หน้ากับผู้ฟัง.
• ดีดนิ้วมือ, สั่นข้อมือและแขน, ยกไหล่ทั้งสองขึ้นแล้วปล่อยลง. ทำซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง.
• ก้มศีรษะแล้วหันไปหันมา.
• ขยับขากรรไกรให้ส่ายไปมา. อ้าปากให้กว้าง.
• ฮัมเบา ๆ สลับกันระหว่างเสียงสูงและเสียงต่ำ.
• หายใจช้า ๆ ลึก ๆ หลาย ๆ ครั้ง.
[กรอบหน้า 21]
การปรับปรุงวิธีเสนอเรื่อง
ปรับให้เหมาะกับขนาดของหมู่ผู้ฟัง: คุณต้องเพิ่มการแสดงออกเมื่อพูดต่อผู้ฟังกลุ่มใหญ่. การออกท่าทางควรจะกว้างขึ้นและน้ำเสียงมีพลังมากขึ้น.
ใส่ชีวิตเข้าไปในน้ำเสียงของคุณ. ลองนึกภาพการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งซึ่งมีโน้ตเพียงตัวเดียว! คุณจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อ.
เอาใจใส่การทรงตัวของคุณ. การยืนตัวไม่ตรงชวนให้นึกถึงความไม่เอาใจใส่. อาการเกร็งเผยให้เห็นความกังวล. พยายามให้สมดุล—ผ่อนคลายและตื่นตัว แต่ไม่ใช่แบบไม่เอาใจใส่หรือเครียด.
การออกท่าทาง. การออกท่าทางไม่ใช่เพียงเพื่อเน้นเท่านั้น. การออกท่าทางช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและปรับปรุงการหายใจ ทำให้เสียงและประสาทสงบ.
แต่งตัวแบบเรียบ ๆ ไม่สะดุดตา. คุณกำลังเสนอข่าวสาร ไม่ใช่เสนอชุดแต่งกายของคุณ. ความคิดของผู้ฟังเกี่ยวกับการปรากฏตัวของคุณสำคัญมากเท่า ๆ กับความคิดของคุณเองหรือมากกว่านั้นอีก.
รักษาการติดต่อด้วยสายตา. เมื่อคุณปาลูกบอลออกไปในการเล่นขว้างบอล คุณจะมองดูว่าลูกบอลถูกรับได้หรือไม่. ความคิดแต่ละอย่างในการพูดของคุณเป็นเหมือน “การขว้าง” ไปยังผู้ฟัง. “การรับได้” แสดงให้เห็นด้วยอาการตอบรับของพวกเขา—การพยักหน้า, รอยยิ้ม, การมองด้วยความตั้งใจ. จงรักษาการติดต่อด้วยสายตาให้ดี ทำให้แน่ใจว่าความคิดของคุณถูก “รับ” ได้.