มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยมลภาวะ
มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยมลภาวะ
ในปีที่ถือเป็นเกณฑ์เฉลี่ย มนุษย์ทิ้งน้ำมัน 130 ล้านลิตรลงในมหาสมุทรของโลก. ตัวเลขนั้น ฟังดูก็น่าตกใจอยู่แล้ว แม้ยังไม่ได้รวมเอาน้ำมันจำนวนมหาศาลซึ่งรั่วจากเรือบรรทุกน้ำมันเป็นครั้งคราว เช่นภัยพิบัติในปี 1989 ที่เรือเอ็กซอน วอลเดซ ก่อขึ้นนอกชายฝั่งของอะแลสกา ประเทศสหรัฐ หรือความหายนะในอ่าวเปอร์เซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้น้ำมัน 160 ล้านลิตรต่อวันไหลลงทะเล!
แต่มนุษย์ทิ้งสิ่งอื่นมากกว่าน้ำมันลงในมหาสมุทร. ในทะเลเหนือนอกชายฝั่งประเทศเยอรมนี สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นถึงระดับที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นพิษ. จากชายฝั่งขยายไกลออกไปถึง 200 กิโลเมตร ส่วนผสมมรณะของสีที่ใช้ทาป้องกันลำเรือก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งที่นักสำรวจมหาสมุทรเรียกว่า ไมโครเลย์เออร์ (ชั้นของพื้นผิวน้ำที่หนา 1 มิลลิเมตรของมหาสมุทร). ชั้นของผิวน้ำที่สำคัญของมหาสมุทรนี้เป็นที่อนุบาลไข่ปลามากมายซึ่งลอยเป็นแพ และเป็นที่อยู่ของจุลชีพซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของสัตว์น้ำหลายชนิดในมหาสมุทร.
ทางใต้ของยุโรป นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ค้นพบว่าพื้นผิวน้ำของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเต็มไปด้วยสิ่งปนเปื้อนทางเคมี, น้ำมัน, น้ำเสีย. สัตว์ทะเล โดยเฉพาะที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ปลาวาฬ ได้รับอันตรายจากผิวน้ำที่ปนเปื้อน เนื่องจากพวกมันต้องโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำเป็นประจำเพื่อหายใจ. ด้วยเหตุนี้ สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม 6,000 ตัว ตายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทุกปี ส่วนใหญ่เพราะภาวะมลพิษ. ในช่วงหนึ่ง ปลาโลมาหลายร้อยตัวถูกซัดขึ้นฝั่งตามชายหาดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน—ถึง 50 ตัวในแต่ละสัปดาห์ ตามแนวชายฝั่งประเทศฝรั่งเศสเพียงแห่งเดียว. เชื้อไวรัสได้โจมตีสัตว์ที่ปราดเปรียวงดงามเหล่านี้. ภาวะมลพิษอาจมีส่วนช่วยให้เกิดโรคภัยโดยทำให้ความสามารถในการต้านทานเชื้อไวรัสของปลาโลมาลดลง. ฌอง-มิเชล คูสโท นักสำรวจมหาสมุทรได้เขียนเป็นลางสังหรณ์ว่า: “ถ้าภาวะมลพิษสามารถทำให้ปลาโลมาตายได้ก็ทำให้พวกเราตายได้เหมือนกัน.”
การทำนายเช่นนี้อาจฟังดูน่ากลัว. แต่ความจริงคือ ภาวะมลพิษได้ทำอันตรายแก่มนุษยชาติมากมายหลายทางอยู่แล้ว. ตัวอย่างเช่น หน่วยกู้ภัยนอกชายฝั่งของเกาะนิวฟันด์แลนด์ได้พบว่าภาวะมลพิษเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของพวกเขาในการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินตก. ในกรณีนี้เจ้าตัวร้ายกาจก็คือเศษขยะพลาสติก. มันกระจัดกระจายไปทั่วในมหาสมุทรจนหน่วยกู้ภัยไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขาเห็นชิ้นส่วนของซากเครื่องบินหรือชิ้นส่วนของเศษขยะ. พวกเขาไม่เคยพบผู้รอดชีวิตเลยแม้แต่รายเดียว.
เป็นเรื่องเศร้า ใช่ไหม? แต่ลองคิดดูซิ: ถ้าวิกฤติการณ์ทางภาวะมลพิษเป็นเรื่องหนักใจสำหรับมนุษย์ แล้วผู้ซึ่งได้ทรงสร้าง “ทะเลทั้งปวงกับสิ่งสารพัตรซึ่งอยู่ในทะเลนั้น” ล่ะจะรู้สึกอย่างไร? (นะเฮมยา 9:6) แน่นอน เวลาเข้ามาใกล้มากแล้วที่พระองค์จะ “ทรงทำลายคนทั้งหลายเหล่านั้นที่จะทำร้ายแก่แผ่นดินโลก.”—วิวรณ์ 11:18.
[ที่มาของภาพหน้า 32]
Mike Baytoff/Black Star