มาร์ซูเพียลสัตว์น่าพิศวงแห่งออสเตรเลีย
มาร์ซูเพียลสัตว์น่าพิศวงแห่งออสเตรเลีย
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
มาร์ซูเพียลคืออะไรกันแน่ และสิ่งใดทำให้มันน่าพิศวง?
พูดง่าย ๆ มาร์ซูเพียลเป็นสัตว์เลือดอุ่นจำพวกหนึ่งซึ่งเลี้ยงลูกด้วยนม. อย่างไรก็ดี ไม่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ สัตว์จำพวกมาร์ซูเพียลตัวเมียจะไม่มีรกก่อตัวขึ้นในมดลูกขณะที่มันตั้งครรภ์. แต่มันจะคลอดลูกอ่อนตัวเล็กนิดเดียวที่มองไม่เห็น แล้วให้ลูกเล็ก ๆ ดูดนมและปกป้องมันไว้ในถุงท้องที่อยู่ด้านนอก. ดังนั้น ในขั้นมูลฐาน มาร์ซูเพียล (marsupial) คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยใช้ถุงท้อง เพราะคำภาษาลาติน มาร์ซูปิอุม หมายถึง “ถุง” หรือ “กระเป๋า.”
ตามจริงแล้ว จิงโจ้เป็นเพียงหนึ่งในสัตว์ประเภทมีถุงท้องซึ่งมีประมาณ 250 ชนิด. นอกจากออสเตรเลียแล้ว ประเทศอื่น ๆ ก็มีสัตว์นี้ด้วย—แต่ไม่มากนัก. ตัวอย่างเช่น หนูโอพอสซัมแห่งอเมริกาเหนือก็เป็นสัตว์มีถุงท้อง และชนิดอื่น ๆ พบในอเมริกาใต้. แต่ส่วนมากของสัตว์ประเภทมีถุงท้องในโลกจำกัดเขตอาศัยเฉพาะแถบทวีปออสเตรเลีย ที่นี่มีการจำแนกสัตว์ประเภทมีถุงท้องชนิดต่าง ๆ ได้ราว 175 ชนิด. ในออสเตรเลีย มีจิงโจ้รวมทั้งหมด 45 พันธุ์ แต่จิงโจ้ยักษ์สีแดงเป็นพันธุ์ที่ขึ้นชื่อ
ที่สุด. จิงโจ้พันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในสัตว์ประเภทมีถุงท้อง มีน้ำหนักถึง 90 กิโลกรัม และเมื่อมันยืนก็สูงกว่าคนส่วนมาก. อย่างไรก็ตาม ตัวเมียคู่ของมันจะเห็นได้ชัดว่ามีขนาดเล็กกว่าและมีสีเทาอมน้ำเงิน.จิงโจ้สามารถกระโดดได้ไกลถึง 11 เมตรด้วยก้าวกระโดดเดียว. มีการจับความเร็วของบางตัวได้ที่ 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกระโดดข้ามรั้วสูงมากกว่า 3 เมตร. เจ้ายักษ์แดงนี้และจิงโจ้สีเทาที่ขนาดเล็กกว่าจะพบเห็นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปออสเตรเลีย. สัตว์พวกนี้เป็นภาพที่เห็นกันทั่วไปและเป็นที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งขับรถผ่านเขตกึ่งป่าและแม้กระทั่งเขตทะเลทรายอันแห้งแล้งซึ่งอยู่ภาคกลางของออสเตรเลีย. จิงโจ้เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบแยกกันอยู่ และตามปกติอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งเรียกว่าม็อบ.
การเกิดอันน่าทึ่ง
บางทีลักษณะอันน่าทึ่งที่สุดประการหนึ่งของชีวิตสัตว์ประเภทมีถุงท้องก็คือการเกิดและการดูแลลูกอ่อน. จิงโจ้เป็นแบบฉบับของสัตว์ประเภทมีถุงท้องส่วนใหญ่. หลังจากการผสมพันธุ์เพียง 33 ถึง 38 วัน ลูกจิงโจ้น้อยก็คลอดออกมา. แต่ลูกที่เพิ่งคลอดเกือบพูดได้ว่าเป็นแค่ตัวอ่อน—ตัวจิ๋วรูปร่างคล้ายเม็ดถั่ว หนักประมาณ 0.75 กรัม เล็กกว่าปลายนิ้วก้อยของคุณ และมีลักษณะเกือบโปร่งใส.
ทันทีที่ลูกจิงโจ้เกิดมันจะ “ปีน” จากมดลูกไปยังขนนุ่มของแม่มัน. จากนั้น ด้วยการใช้ขาคู่หน้าขนาดเล็ก ๆ ที่มีเล็บ มันตะเกียกตะกายปีนขึ้นอีก 15 เซนติเมตรไปยังถุงท้องของแม่. ที่นั่นมันจะเกาะติดอยู่กับหัวนมอันหนึ่งในจำนวนสี่หัวซึ่งต่อมาหัวนมจะขยายตัวจนคับปากของมัน. โดยสายใยชีวิตนี้เองจิงโจ้น้อยจะได้รับสิ่งบำรุงเลี้ยงทุกอย่างที่จำเป็น และตลอดห้าเดือนข้างหน้า มันก็ยังอยู่ในสถานอนุบาลแห่งนี้ก่อนที่จะโผล่หัวออกมาเป็นครั้งแรก.
เมื่ออายุประมาณหกเดือน โจอี้น้อย (ชื่อเรียกจิงโจ้วัยอ่อน) คลานออกมาข้างนอกอย่างลังเลเป็นครั้งแรก แต่มันจะกลับเข้าไปในถุงท้องบ่อย ๆ เพื่อรับอาหารและเพื่อความปลอดภัย. อย่างไรก็ตาม ในที่สุดตัวแม่ก็ลงความเห็นว่าโจอี้ใหญ่เกินกว่าจะอยู่ในถุงท้องแล้ว และดังนั้นจึงกันไม่ให้มันกระโดดกลับเข้าไปอีกเลย. เมื่อโจอี้อายุได้ 18 เดือน จะพ้นจากอกแม่อย่างสิ้นเชิง.
ปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดอีกประการหนึ่งก็คือแม่จิงโจ้สามารถผลิตน้ำนมได้สองชนิดในเวลาเดียวกัน. ทันทีหลังจากคลอดโจอี้ออกมาตัวแรกมันก็ผสมพันธุ์อีก. ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิใหม่จะอยู่ในครรภ์โดยไม่เติบโตจนกระทั่งโจอี้ตัวแรกเริ่มออกไปเที่ยวนอกถุงท้องเป็นระยะเวลาสั้น ๆ. ต่อจากนั้นโจอี้ตัวที่สองก็คลอดออกมาในลักษณะเล็กจิ๋วและไปเกาะติดอยู่กับหัวนมอีกอันหนึ่งในถุงท้อง.
แต่โจอี้ตัวพี่ยังดูดนมจากหัวนมอันเดิมของแม่อยู่. สิ่งที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเพิ่มขึ้นก็คือ โจอี้อ่อนตัวใหม่นี้ต้องการนมซึ่งมีส่วนผสมต่างออกไป. อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เพราะจากหัวนมที่ตัวอ่อนเกิดใหม่ดูดอยู่ บัดนี้แม่สามารถให้น้ำนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง ขณะเดียวกัน ณ หัวนมเดิมของตัวพี่แม่ยังคงให้น้ำนมที่มีโปรตีนและไขมันสูงต่อไป!
แม้จะไม่ใช่สัตว์ที่ตามปกติแล้วชอบก้าวร้าว บางครั้งตัวผู้จะเข้าพันตูในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการต่อสู้ชกมวย. บ่อยครั้งจะเป็นแค่ตัวผู้รุ่น ๆ ที่ประลองกำลังกัน. แต่บางครั้งตัวผู้ที่โตเต็มวัยก็ชกต่อยกัน—ที่จริงชกกันเพราะแย่งตัวเมีย! การต่อสู้เหล่านี้อาจถึงขั้นรุนแรง
ทีเดียว ขณะที่คู่อริใช้ขาหน้าตะกุยกัน และเตะกันด้วยขาหลังอย่างดุเดือด.โคลาที่น่ารัก—สัตว์ประเภทมีถุงท้องอีกชนิดหนึ่งที่น่าทึ่ง
เกือบจะเป็นที่รู้จักกันดีเช่นเดียวกับจิงโจ้ และรูปลักษณ์ของมันมักจะปรากฏบ่อย ๆ ในจุลสารแนะนำนักท่องเที่ยวของออสเตรเลีย นั่นก็คือสัตว์ประเภทมีถุงท้องที่น่ารักที่สุด—โคลา. เจ้าสัตว์น้อยตัวเล็ก ๆ นี้อาศัยอยู่ที่ต้นไม้อย่างเดียวเท่านั้นและจะเคลื่อนไหวไปมาตอนกลางคืนเสียส่วนมาก. บ่อยครั้งมีการเข้าใจโคลาผิดคิดว่าเป็นหมีทั้งนี้เพราะรูปโฉมของมัน และดังนั้นบางครั้งมันจึงถูกเรียกผิด ๆ ว่าหมีโคลา. ทว่ามันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันใด ๆ กับตระกูลหมีเลย อีกทั้งไม่ได้เป็นชนิดเดียวกับหนูโอพอสซัมหรือพวกลิง. โคลาเป็นสัตว์ที่ไม่เหมือนใครทีเดียว. ใช่แล้ว โคลามีพันธุ์เดียวโดด ๆ และมีอยู่เฉพาะแต่รัฐด้านตะวันออกของออสเตรเลีย.
ความมีเสน่ห์น่ารักของโคลาสาธยายไม่จบสิ้น มีขนนุ่มปุกปุย, มีลักษณะน่ากอด, ตาเป็นดุจลูกกระดุมสดใส, จมูกนุ่มยืดหยุ่นเหมือนยาง และท่าทางที่มักแสดงถึงความฉงนสนเท่ห์อยู่เสมอ. มันไม่ใช่สัตว์ขนาดใหญ่ โคลาสูง 60 เซนติเมตรและหนักตั้งแต่ 8 ถึง 14 กิโลกรัม.
ลูกอ่อนของโคลาก็เกิดในลักษณะเดียวกับสัตว์ที่มีถุงท้องชนิดอื่น ๆ เว้นแต่ว่าตัวแม่โคลาจะมีถุงท้องที่เปิดไปทางด้านหลัง. ตัวที่เกิดใหม่จะอยู่ในถุงท้องประมาณหกเดือน และในที่สุดเมื่อมันออกมา มันจะเกาะติดอยู่บนหลังของตัวแม่ขณะที่แม่ปีนป่ายไปตามต้นไม้ต่าง ๆ เพื่อหาใบไม้ที่มีรสอร่อย.
ระบบย่อยที่ไม่เหมือนใคร
โคลาเป็นนักกินที่จู้จี้จุกจิก. มันจำกัดตัวเองกินแต่ใบยูคาลิปตัส. และไม่ใช่ใบยูคาลิปตัสชนิดใด ๆ ก็ได้. จากต้นยูคาลิปตัสพันธุ์ต่าง ๆ 600 ชนิด โคลาจะกินเพียง 50 หรือ 60 ชนิดเท่านั้น. ถ้าสัตว์ชนิดอื่นมากินใบไม้เหล่านี้ พวกมันต้องเสียชีวิตแน่นอนเนื่องจากน้ำมันและเคมีที่มีพิษในใบไม้. ระบบย่อยอาหารซึ่งซับซ้อนยิ่งช่วยพวกโคลาย่อยอาหารพิเศษนี้ แต่อาหารพิเศษที่มันเลือกกินนี้ดูเหมือนทำให้มันมีกลิ่นตัวที่ไม่ค่อยจะเหมือนใคร!
ผู้เชี่ยวชาญบางคนอ้างว่าโคลาไม่ดื่มน้ำเลย และคำ “โคลา” บ่งชี้ว่าเป็นคำของชาวอะบอริจินหมายถึง “ฉันไม่ดื่มน้ำ.” กระนั้นการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดพบว่าบางครั้งบางคราวโคลาก็ลงมาจากต้นไม้เพื่อดื่มน้ำ และในบางครั้งมันถึงกับกินดินเพื่อเสริมแร่ธาตุเข้าไปในการบริโภคของมัน.
แม้สามารถเห็นจิงโจ้จำนวนมากตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ตลอดทั่วโลก แต่นอกประเทศออสเตรเลียจะพบเห็นโคลาในสวนสัตว์ไม่กี่แห่ง. ไม่ว่าคุณจะมีโอกาสเห็นสัตว์เหล่านี้ด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม เราแน่ใจ คุณคงเห็นด้วยว่าพวกมันเป็นสัตว์ที่น่าพิศวงจริง ๆ—สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถุงท้องและไม่มีรก.
[รูปภาพหน้า 26]
แม่จิงโจ้พร้อมกับโจอี้ในถุงท้อง
[รูปภาพหน้า 27]
โคลากินใบต้นกัม
[ที่มาของภาพ]
Melbourne Zoo Education Service, Victoria, Australia