ลาปิส ลาซูลี อัญมณีสีน้ำเงินแห่งเทือกเขาแอนดีส
ลาปิส ลาซูลี อัญมณีสีน้ำเงินแห่งเทือกเขาแอนดีส
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด ในชิลี
เพชร, มรกต, ทับทิม, พลอย—อัญมณีที่งามเด่นเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับทุกคน. แต่คุณเคยได้ยินชื่อลาปิส ลาซูลีไหม? แม้ว่าชื่อออกจะแปลกหูสักหน่อย แต่ก็หมายถึงหิน (ลาปิส ในภาษาลาติน) สีน้ำเงิน (ลาซูลี ในภาษาอาระบิค) นั่นเอง. เนื่องจากเป็นสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งบ่อยครั้งมีจุดเล็ก ๆ ที่ส่องประกายแวววาวจากสารแร่สีทอง จึงเคยเปรียบเทียบลาปิส ลาซูลีกับท้องฟ้ายามราตรีที่ดารดาษไปด้วยดวงดาวทอแสงระยิบระยับ.
ประวัติอันยาวนาน
มีการรายงานเรื่องความงดงามของ ลาปิส ลาซูลี สู่โลกตะวันตกเป็นครั้งแรกโดย มาร์โค โปโล ในปีส.ศ. 1271. แต่มีการใช้อัญมณีนี้ในเมโสโปเตเมียและอียิปต์โบราณนานก่อนหน้านั้น. อย่างเช่น สร้อยคอของชาวซูเมเรียซึ่งทำจากหินแร่นี้ถูกขุดพบอยู่กับซากปรักหักพังของเมืองอูระ. บนหน้ากากทองคำของศพฟาโรตูตันคาเมน ตาและคิ้วทำด้วยลาปิส ลาซูลี. นอกจากนั้นพวกอียิปต์โบราณยังบดหินแร่นี้เป็นผงและใช้เป็นแม่สีในการวาดภาพและใช้ทาเปลือกตา. ตราราชวงศ์ของจีน และงานแกะสลักหลายชนิดทำจากหินแร่ชนิดนี้.
แต่ก่อนมีการทำเหมืองแร่ลาปิส ลาซูลีในอัฟกานิสถานและในไซบีเรียใกล้ ๆ กับทะเลสาบไบคาล. อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ชิลีกลายเป็นแหล่งสำคัญในการจัดจำหน่ายหินอันสวยงามนี้. ถ้าคุณได้ไปเยือนชิลี คุณจะเห็นชื่อนี้ในร้านขายของที่ระลึกและในร้านขายเพชรพลอยที่หรูหราหลายแห่ง. แต่ให้เราไปดูกันว่าหินชนิดนี้ส่วนมากมาจากที่ใด?
ไปยังเหมืองในเทือกเขาแอนดีส
หนึ่งในจำพวกเหมืองสำคัญ ๆ สามารถเข้าไปถึงได้โดยอาศัยล่อเท่านั้นซึ่งจะเดินไปตามทางแคบ ๆ แฝงด้วยอันตรายไต่ขึ้นไปยังที่รกร้างและแห้งแล้งอันเป็นที่พำนักของฝูงแร้งแอนดิส สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,600 เมตร.
ณ ระดับความสูงเช่นนี้ ผู้มาใหม่อาจใจคอไม่ดีเนื่องจากปวดหรือเวียนศีรษะ. พื้นดินปกคลุมไปด้วยหิมะปีหนึ่งนานราวเจ็ดเดือน. ดังนั้น ระหว่างฤดูร้อนช่วงสั้น ๆ จึงต้องเร่งรีบที่จะได้วัตถุดิบออกมาจากเหมืองเปิดนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้. วันทำงานดูยาวนาน และสภาพการทำงานก็ทารุณ. เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้กันอยู่ตามมาตรฐานปัจจุบันก็เป็นแบบโบราณ—ใช้จอบ, พลั่ว, รถเข็นลำเลียง และสว่านเจาะเพื่อวางระเบิดไดนาไมท์. ที่จะทำงานหนักอึ้งนี้ได้จำเป็นต้องมีความอดทนและร่างกายแข็งแกร่ง.
ขณะที่ตะวันกำลังลับฟ้า เสียงระเบิดและเสียงดังแกล็ง ๆ ของจอบและพลั่วก็สิ้นสุดลง. กลางคืนมีแต่ความ
เงียบสงัด. จะได้ยินก็เฉพาะเสียงหวีดหวิวของลมในหุบเขาและเสียงพังครืนของหินที่อยู่ไกลออกไป. แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายสักเท่าไรสำหรับคนงานที่เหนื่อยล้า. พวกเขางีบหลับอย่างง่ายดายภายใต้ฟ้าที่ดารดาษไปด้วยดวงดาว.เนื่องจากไม่มียานพาหนะที่ทันสมัย คนขี่ล่อจึงมีบทบาทสำคัญ. ด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับทางที่ขรุขระและคดเคี้ยวของเทือกเขา พวกเขานำพาสัตว์ซึ่งมีก้าวเท้าที่มั่นคง และบรรทุกกระสอบหินพลอยที่คัดเลือกแล้ว ลงไปยังหุบเขาเบื้องล่าง. จากที่นั่นจะส่งหินพลอยไปที่ซานติอาโกหรือไม่ก็ส่งไปขายยังต่างประเทศ. หินพลอยประมาณ 20 ตันต่อปีถูกขุดด้วยวิธีนี้และส่งให้ช่างฝีมือและช่างเจียระไนตลอดทั่วโลก.
เยี่ยมชมช่างฝีมือ
ช่างฝีมือในชิลีแปรสภาพหินพลอย ร้อยละ 30-40 ที่ได้จากเหมืองให้เป็นตุ้มหู, สร้อยคอ, กำไล และแหวนที่สวยงาม. หินพลอยที่มีคุณภาพดีที่สุดจะได้รับการเลี่ยมด้วยทองและส่งไปขายยังต่างประเทศ. ชิ้นที่คุณภาพรองลงมาจะเลี่ยมด้วยเงินทำเป็นชุดเครื่องประดับ และชิ้นที่มีคุณภาพต่ำกว่านี้จะนำไปทำเป็นรูปแกะสลักเล็ก ๆ ตามแต่จะจินตนาการ เช่น ช้าง, สิงโต, หรือเต่า หรือนำไปทำเป็นด้ามสำหรับที่เปิดจดหมาย และกระทั่งนำไปปูเป็นพื้นสำหรับโต๊ะเล็ก ๆ.
ดอน โฮเซ เป็นช่างที่มีความชำนาญสูง. แม้ว่าเรามาขัดจังหวะการนอนพักเที่ยงของเขา แต่เขาก็ต้อนรับเราอย่างอบอุ่นและพาเราไปดูทายาร์ (ที่ทำงาน) ของเขา ซึ่งอยู่ตรงลานบ้าน.
“จะสาธิตให้เราชมหน่อยได้ไหมคุณดอน โฮเซ?” เราถามขึ้น.
“เปอร์เฟคโต!” (“ผมยินดีจะแสดงให้ดู.”)
ตอนแรกจะต้องตัดพลอยขนาดใหญ่ซึ่งหนัก 2-3 กิโลกรัมด้วยลูกกลิ้งกากเพชรหรือเลื่อย. เขาอธิบายว่าเอล อาร์เตซาโน (ช่างฝีมือ) ต้องรู้จักพลอยของเขาและมีความสามารถในการวินิจฉัยเพื่อจะตัดพลอยได้อย่างถูกต้องโดยตัดเส้นลายสีขาวทิ้งไปขณะเดียวกันก็รักษาส่วนของพลอยที่มีคุณภาพดีไว้ให้มากที่สุด.
สตรีผู้หนึ่งถามว่า “ทำไมคุณทำให้พลอยเปียก?”
“เพื่อจะได้เห็นความแตกต่างชัดขึ้นระหว่างเส้นลายสีขาวและส่วนที่เป็นลาปิสซึ่งต้องการเก็บไว้” ช่างผู้มีไมตรีจิตตอบขณะที่กำลังตัดซอยพลอยเป็นชิ้นที่เล็กลงจำนวนหนึ่ง.
ครั้นแล้วเขาก็แสดงขั้นตอนต่อไป. เขาใช้ลูกกลิ้งขนาดเล็กกว่าตัดแต่งพลอยชิ้นเล็ก ๆ เป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่เขาต้องการ. ด้วยความชำนาญและคล่องแคล่วเขาตัดแต่งอย่างรวดเร็วเป็นลูกปัดเล็ก ๆ, รูปจันทร์ครึ่งเสี้ยวสำหรับตุ้มหู และเป็นเม็ดกลมนูน.
ขั้นต่อไปเขาล้างและขัดพลอยชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้ด้วยแปรงซึ่งเป็นใยไหมสังเคราะห์รูปทรงกลม. จากนั้นทาแป้งเปียกบาง ๆ แล้วขัดพลอยจนเป็นเงาแวววาว. ตอนนี้พลอยพร้อมที่จะฝังลงบนแหวนหรือจัดเรียงเป็นสร้อยคอ. ขั้นสุดท้ายเพื่อทำให้พลอยงดงามขึ้นคือใช้แชมพูพร้อมกับแปรงสีฟันขัดพลอยแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น. ที่จริงแล้วดอน โฮเซ แนะนำขั้นตอนสุดท้ายนี้ก็เพื่อคงความสวยงามของลาปิส ลาซูลีไว้.
ถูกแล้ว ด้วยฝีมือของช่างผู้มีความชำนาญสูงอย่างดอน โฮเซ ทรัพย์มีค่าใต้ดินสามารถแปรเปลี่ยนเป็นงานศิลปซึ่งนำความพึงพอใจและความยินดีสู่บรรดาผู้ที่ได้ชมและใช้พลอยเหล่านี้. ลาปิส ลาซูลี หินงามสีน้ำเงินซึ่งพบได้ตามพื้นที่สูงของเทือกเขาแอนดีสเป็นหนึ่งในบรรดาของมีค่าหลายชนิดซึ่งพระผู้สร้างองค์เปี่ยมด้วยความรักทรงจัดไว้ให้พวกเราเพื่อความเพลิดเพลินและชื่นชมยินดี.