เอดส์ในแอฟริกาเลวร้ายขนาดไหน?
เอดส์ในแอฟริกาเลวร้ายขนาดไหน?
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด ในแอฟริกา
คุณคงเคยได้ยินคำทำนายเกี่ยวกับเรื่องนี้. คำทำนายที่ฟังแล้วเสียวสยอง. ผู้คนเป็นล้าน ๆ ในทวีปแอฟริกาจะติดโรคเอดส์. ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะล้มเหลว คือการป้องกันโดยธรรมชาติในร่างกายไม่ทำงาน เปิดทางให้โรคอันน่ากลัวบุกรุกเข้ามา. ความตายและความหายนะในขอบเขตที่ไม่มีอะไรเทียบเท่าจะตามมาดังที่เกิดขึ้นเมื่อกาฬโรคระบาดยุโรปในศตวรรษที่ 14.
ต่อมาก็มีช่วงลมสงบ. สื่อต่าง ๆ ประโคมข่าวจนอิ่มตัวแล้ว และผู้คนทั่วไปก็พากันเหนื่อยหน่ายกับคำทำนายเรื่องวันมหาวิบัติซึ่งเร้าให้ตื่นเต้น. เรื่องจะเลวร้ายถึงขั้นนั้นจริง ๆ หรือ? ว่ากันอย่างแน่ชัดแล้ว อะไรคือขอบเขตที่แท้จริงของโรคเอดส์ที่ระบาดในแอฟริกา?
ดร. อันเดร สเปียร์นักวิจัยโรคเอดส์บอกว่า “ไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร.” แต่เขาก็มิได้มองในแง่ดี. “จะต้องมีจำนวนมากทีเดียวและเป็นความหายนะมหาศาลแก่สังคมทั้งสิ้น.” ในทำนองคล้ายคลึงกัน ณ การประชุมหารือนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนเมื่อปี 1988 ดร. ลาร์ส คัลลิงซ์ ได้ทำนายไว้ว่า “อีกแค่ปีสองปี ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะทำให้หวาดผวา.”
มากกว่า “ปีสองปี” แล้วที่ได้ผ่านเลยมาตั้งแต่คำทำนายครั้งนั้น. บัดนี้คำทำนายหลาย ๆ อย่างส่อแววไปในทางดังว่า. สถิติซึ่งเคยเป็นแค่ตัวเลขบัดนี้กลายเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจริง ๆ. และสิ่งเลวร้ายที่สุดยังจะตามมาอีก.
คนตายและกำลังจะตาย
เคียวแห่งความตายและความหายนะได้ตวัดเกี่ยวเก็บพาดผ่านหลายดินแดนในเขตใต้ซะฮาราของแอฟริกา. รายงานเมื่อไม่นานมานี้ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อ เนเจอร์ บอกว่า “ในเขตใจกลางเมืองบางเขต โรคเอดส์กลายเป็นสาเหตุหลักของความตายในกลุ่มผู้ใหญ่และเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทารกเสียชีวิตในขณะนี้.” นครใหญ่แห่งหนึ่งในแอฟริกา นักเทศน์รับมือกับการประกอบพิธีศพของผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์แทบไม่หวาดไม่ไหว.
เมื่อเดือนตุลาคมปี 1991 เหล่าผู้นำรัฐบาลของประเทศในเครือจักรภพที่ปกครองตนเองซึ่งพบปะกันที่เมืองฮาราเร ประเทศซิมบับเว ได้รับการยื่นบันทึกแสดงเค้าอันตรายของโรคเอดส์ในแอฟริกา. บันทึกนั้นเปิดเผยว่า ในโรงพยาบาลบางประเทศของแอฟริกาเตียงราว ๆ 50 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเตียงผู้ป่วยโรคเอดส์. ส่วนประเทศยูกันดาซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักนั้น ดร. สแตน ฮิวสตัน ผู้ชำนัญพิเศษโรคเอดส์เผยว่า โรคเอดส์ได้คร่าชีวิตผู้คนในยูกันดามากยิ่งกว่าจำนวนที่ถูกสังหารตลอดช่วง 15 ปีที่แล้วของสงครามกลางเมืองในประเทศนั้น.
ที่ทำให้เกิดความหวั่นวิตกไม่แพ้กันก็คือ การตรวจพบของบรรดาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในอาบิดจัน ประเทศโกตดิวัวร์. ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนมีการชันสูตรศพทั้งหมดในห้องเก็บศพที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งของเมือง. ผลเป็นอย่างไร? วารสารไซเยนซ์ ซึ่งลงรายงานนี้ ได้เปิดเผยว่าโรคเอดส์เป็น “สาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิต” ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นชายในเมืองอาบิดจัน. วารสารนี้ยังเสริมอีกว่า ตัวเลขที่ยกมานั้น “อาจจะประเมินอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจาก HIV [Human Immunodeficiency Virus—ไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันในมนุษย์บกพร่อง] ต่ำกว่าความเป็นจริง.”
แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกซึ่งสังเกตดูการระบาดทั่วโลกของโรคนี้ก็เห็นพ้องว่า ที่ปรากฏนี้ถือเป็นกระผีกเล็กน้อยของส่วนมหึมาที่ยังซ่อนตัวอยู่. ตามวารสารนิวไซเยนตีสต์ องค์การอนามัยโลก “มั่นใจว่า หลายประเทศในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกากลางได้รายงานกรณีโรคเอดส์เพียงราว ๆ หนึ่งในสิบเท่านั้น . . . การรายงานทำไม่ครบถ้วนและจำนวนก็ไม่ถูกต้องแน่นอนเพราะการสำรวจทำในขั้นต้นเท่านั้น.”
การติดเชื้อที่แฝงตัว
สิ่งหนึ่งที่น่าหวาดหวั่นในเรื่องโรคเอดส์ก็คือเชื้อที่รับมานั้นฝังตัวเป็นเวลายาวนานกว่าจะแสดงอาการของโรคเอดส์เต็มขั้นออกมา. เพราะนานถึงสิบปี ที่ผู้ได้รับเชื้ออาจเลี้ยงไวรัส HIV มรณะนั้นไว้ในร่างกายของเขา. เขาอาจรู้สึกสบายดีและดูท่าทางมีพลานามัย. หากผู้ที่มีเชื้อไม่รับการตรวจสอบ เขาจะไม่มีทางรู้เลยว่าตนกำลังเผชิญกับโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิตเข้าแล้ว—จนกระทั่งอาการของโรคสำแดงออกมา! กลุ่มประชาชนที่ดูภายนอกมีพลานามัยแต่มีเชื้อแฝงอยู่นี้แหละที่แพร่โรคเอดส์โดยไม่รู้ตัว.
การทดสอบระดับของการติดเชื้อ HIV นั้น เผยให้เห็นว่า โรคระบาดถึงตายนี้กำลังอาละวาดขนาดไหนในแอฟริกาปัจจุบัน. ยกตัวอย่าง วารสาร แอฟริกัน แอฟแฟรส์ แสดงให้เห็นว่า “ย่านที่มีประชากรหนาแน่นแถบชายทะเลสาบวิกตอเรีย . . . รายงานการแพร่ [HIV] ในอัตราสูง . . . , ระดับตั้งแต่ 10 ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ในพวกผู้ใหญ่ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราเสี่ยงต่ำหรืออยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยจนถึง 67 เปอร์เซ็นต์ในพวกที่มีคู่นอนจำนวนมาก.” ในทำนองคล้ายคลึงกันวารสารเนเจอร์ กะประมาณว่า “ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่โดยทั่วไปการติดเชื้อได้ระบาดอย่างไม่ละลดตั้งแต่ปี 1984, พุ่งถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ในย่านกลางเมืองที่ซึ่งการระบาดรุนแรงที่สุด.” นึกดูซิ—ประชากรผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในสามถูกขีดเส้นตายให้อยู่ได้ไม่เกินสิบปี!
รัฐบาลและผู้นำประเทศซึ่งที่แล้ว ๆ มาไม่สู้เต็มใจจะเปิดเผยขอบข่ายของโรคเอดส์ บัดนี้ตื่นตัวต่อความสยดสยองสุดขีดของโรคระบาดนี้. อดีตประธานาธิบดีคนหนึ่งในทวีปแอฟริกาให้การสนับสนุนต่อต้านโรคเอดส์—หลังจากบุตรชายเสียชีวิตเพราะโรคนี้. เมื่อไม่นานมานี้ผู้นำรัฐบาลอีกคนหนึ่งได้เตือนว่ามีคนติดเชื้อ HIV 500,000 คนอยู่ในประเทศของเขา. คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตและกำลังแพร่โรคนั้นโดยพฤติกรรมสำส่อนทางเพศของตน.
“บอกพวกเขาซิว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่”
ขณะที่ผู้คนซึ่งติดเชื้อ HIV มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างไม่ยั้ง จำนวนผู้ป่วยซึ่งในที่สุดอาการถึงขั้นเพียบหนักและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าสะเทือนใจ. ผลพวงของมันจะก่อความสลดใจและความทุกข์ระทมสุดจะประมาณได้. ณ ชายแดนยูกันดา-แทนซาเนีย ที่ซึ่งพิบัติภัยเอดส์ระบาด เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นกับแคมลัววัย 59 ปี. ตั้งแต่ปี 1987 เขาได้ฝังศพลูกและหลาน 11 คน—ล้วนแต่เป็นเหยื่อโรคเอดส์ทั้งสิ้น. เขาคร่ำครวญอย่างชอกช้ำเพราะความหายนะนั้นว่า “โปรดบอกกล่าวคำร้องทุกข์ของผมให้โลกรับรู้. บอกพวกเขาซิว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่.”
เนื่องด้วยวิธีระบาดของโรคเอดส์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับแคมลัวในแอฟริกาจึงคุกคามที่จะเกิดขึ้นในส่วนอื่น ๆ อีกหลายส่วนของโลก. คุณอาจถามว่า ‘แต่ทำไมแอฟริกากำลังแบกรับผลอันหนักหน่วงที่สุดแห่งความทุกข์ระทม และความน่าสังเวชแสนสาหัสของมนุษย์นี้?’
[จุดเด่นหน้า 3]
ในบางประเทศที่กำลังพัฒนา “เมื่อถึงปี 1993 เอดส์จะเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดสาเหตุเดียวสำหรับความตาย.”—เดอะ เวิลด์ ทูเดย์, ประเทศอังกฤษ