แรงดลใจของแพทย์
แรงดลใจของแพทย์
ประมาณเจ็ดปีที่แล้ว ได ซูซูกิ เด็กชายวัยสิบปีได้สูญเสียชีวิตเนื่องด้วยอุบัติเหตุรถยนต์. สื่อมวลชนกล่าวหาบิดามารดาของไดว่าเป็นคนละเลยเพราะพวกเขาไม่ยอมให้มีการถ่ายเลือดกับลูกชายของตนเนื่องจากเชื่อฟังหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. บิดามารดาของไดเป็นพยานพระยะโฮวา. หลังจากตำรวจทำการสอบสวนก็ได้ลงความเห็นว่าไม่มีการละเลยในส่วนของบิดามารดา.
พยานพระยะโฮวาในญี่ปุ่นและที่อื่น ๆ หยั่งรู้ค่าความพยายามของแพทย์ในการช่วยชีวิตและยินดีให้ความร่วมมือกับบุคลากรทางแพทย์. พวกเขาใช้ประโยชน์จากยาสมัยใหม่และยอมรับการบำบัดรักษาสมัยใหม่เช่นกัน โดยมีข้อยกเว้นว่าจะไม่ถ่ายเลือด. แต่เมื่อการตัดสินทางแพทย์ไปกระทบความจงรักภักดีที่เขามีต่อหลักการของพระคัมภีร์ เขาเชื่อฟังพระเจ้า. (กิจการ 4:19) คัมภีร์ไบเบิลมีคำสั่งชัดเจนให้ “ละเว้นเสมอ . . . จากเลือด.”—กิจการ 15:29, ล.ม.
ดังนั้น แทนที่จะอะลุ้มอล่วยในเรื่องความเชื่อที่พวกเขามีต่อพระบัญชาของพระเจ้า พยานพระยะโฮวาเลือกวิธีรักษาที่ไม่พัวพันกับการถ่ายเลือด. จริงอยู่ ความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีรักษาอย่างอื่นแทน อาจท้าทายผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์. แต่มีแพทย์และผู้อำนวยการของโรงพยาบาลจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่หาทางทำตามความประสงค์ของพยานพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นฉบับหนึ่งชื่อไมนิชิ ชิมบุน ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ “โรงพยาบาลบางแห่งพยายามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อห้ามการไหลออกของเลือดและยินดีทำการผ่าตัดโดยปราศจากเลือด.”
บทความนั้นกล่าวว่า ณ โรงพยาบาล อาเกโอะ โกเซอิ การผ่าตัดพยานพระยะโฮวา 14 รายระหว่างปี 1989 จนถึงมกราคม 1992 ประสบผลสำเร็จโดยไม่มีการถ่ายเลือด. โรงพยาบาลนี้เน้นการยินยอมจากผู้ป่วยซึ่งรับรู้ถึงผลดีผลเสีย. นโยบายของโรงพยาบาลนี้คือการพิจารณากับคนไข้พยานพระยะโฮวาเรื่องปริมาณของเลือดที่คาดว่าจะสูญเสียและอันตรายของการผ่าตัดที่ไม่ใช้เลือด. เมื่อได้รับใบปลดเปลื้องแพทย์จากความรับผิดชอบที่คนไข้ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร แพทย์ก็จะลงมือทำการผ่าตัดโดยปราศจากการถ่ายเลือด.
อะไรที่กระตุ้นโรงพยาบาลนี้ให้ยอมรับคนไข้พยานฯ และแสดงความนับถือต่อสิ่งที่พวกเขาเลือกในเรื่องการรักษาแม้ว่าโรงพยาบาลอื่น ๆ ปฏิเสธพวกเขา? ตาม ไมนิชิ ชิมบุน โตชิฮิโกะ โอกาเน ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลอธิบายว่า “แรงดลใจของแพทย์ทำให้เขามีพันธะต้องแสดงความนับถือต่อสิทธิของคนไข้ในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย และทำสุดความสามารถเท่าที่เขามีความชำนาญในการรักษาโรคนั้น ๆ. การยินยอมจากผู้ป่วยซึ่งรับรู้ถึงผลดีผลเสียนับว่าสำคัญในกรณีนี้.”
หนังสือพิมพ์ดังกล่าวเสริมว่า “สำหรับส่วนของพยานพระยะโฮวา พวกเขาได้จัดคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาลใน 53 เมืองตลอดทั่วประเทศนี้เพื่อผู้เชื่อถือของตน. จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการเหล่านี้ก็เพื่อจะเจรจากับโรงพยาบาลเรื่องการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือด.” ผลก็คือ โรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยและสถาบันทางการแพทย์เป็นจำนวนมากพอสมควรบัดนี้ยินดีให้การรักษาพยานฯ ตามวิธีที่พวกเขาเลือก.
ปัจจุบันมีแพทย์มากกว่า 1,800 คนในญี่ปุ่นและมากกว่า 24,000 คนทั่วโลกเต็มใจร่วมมือกับพยานฯ โดยให้การรักษาด้วยวิธีอื่นแทนการถ่ายเลือด. คณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาลมากกว่า 800 คณะได้ติดต่อกับบรรดาแพทย์ผู้ซึ่งถือว่า “แรงดลใจของแพทย์” หมายถึงการให้ความเคารพต่อสิทธิของคนไข้ที่จะเลือกวิธีรักษา.