ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

การ​ออก​กำลัง​กาย​และ​อายุ

เคย​มี​คำ​ว่า​สาย​เกิน​ไป​ไหม​ที่​จะ​เริ่ม​ออก​กำลัง​กาย? ไม่​เลย ตาม​การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​หนึ่ง​ที่​ทำ​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน​ภาค​ตะวัน​ออก​ของ​สหรัฐ​ชี้​ว่า​ไม่​เป็น​เช่น​นั้น. การ​สำรวจ​ผู้​ชาย​มาก​กว่า 10,000 คน​พบ​ว่า​ช่วง​ชีวิต​โดย​เฉลี่ย​ของ​พวก​เขา​เพิ่ม​ขึ้น​ไม่​ว่า​อายุ​เท่า​ไร​ก็​ตาม​เมื่อ​เริ่ม​ออก​กำลัง​กาย​อย่าง “กระฉับกระเฉง​พอ​ควร.” คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​อยู่​ใน​วัย​ระหว่าง 45 ถึง 54 ปี​เมื่อ​เริ่ม​ออก​กำลัง​กาย เป็น​กลุ่ม​ที่​ได้​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด โดย​จะ​ยืด​อายุ​ของ​ตน​ออก​ไป​ประมาณ​สิบ​เดือน. กลุ่ม 65 ถึง 74 ปี​มี​อายุ​เพิ่ม​ขึ้น​หก​เดือน และ​ผู้​ที่​อายุ 75 ถึง 84 ปี​เพิ่ม​ขึ้น​สอง​เดือน. ดร. ราล์ฟ เอส. พัฟเฟ​นบ​าร์​เก​อร์ ผู้​อำนวย​การ​งาน​วิจัย​นั้น ย้ำ​ว่า​นี้​คือ​ตัว​เลข​โดย​เฉลี่ย ดัง​นั้น บาง​คน​ได้​ประโยชน์​จาก​การ​ออก​กำลัง​กาย​มาก​กว่า​คน​อื่น. ดู​เหมือน​ว่า​ประโยชน์​หลัก​อยู่​ที่​การ​ป้องกัน​หัวใจ​วาย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​ที่​ออก​กำลัง​กาย​ยัง​มี​โอกาส​น้อย​ลง​ที่​จะ​เสีย​ชีวิต​ด้วย​สาเหตุ​อื่น​อีก​ด้วย.

ดื่ม​เหล้า​องุ่น​เล็ก​น้อย​เพื่อ​หัวใจ​ของ​คุณ

การ​บริโภค​เหล้า​องุ่น​แดง​อย่าง​พอ​ประมาณ​อาจ​ลด​ความ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​หัวใจ​วาย​ได้. เป็น​เวลา​นาน​แล้ว​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​ข้อง​ใจ​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​มี​การ​เรียก​กัน​ว่า “ข้อ​สรุป​แย้ง​ของ​ชาว​ฝรั่งเศส.” แม้​ว่า​อาหาร​ของ​ชาว​ฝรั่งเศส​โดย​ทั่ว​ไป​ใช่​ว่า​จะ​มี​ระดับ​ต่ำ​ใน​เรื่อง​ไขมัน​ประเภท​อิ่ม​ตัว ซึ่ง​ไขมัน​ประเภท​นี้​เอื้อ​ต่อ​การ​เกิด​ปัญหา​หลอด​เลือด​หัวใจ กระนั้น ชาว​ฝรั่งเศส​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา​ชาติ​ซึ่ง​มี​อัตรา​การ​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​หลอด​เลือด​หัวใจ​ต่ำ​ที่​สุด​ใน​แถบ​ประเทศ​อุตสาหกรรม​ทาง​ตะวัน​ตก. ตาม​คำ​กล่าว​ของ​หนังสือ​พิมพ์​ใน​ปารีส เลอ ฟิกาโร ซึ่ง​อ้าง​ถึง​รายงาน​ใน​วารสาร​ทาง​การ​แพทย์​ของ​อังกฤษ เดอะ แล​นเซ็ต นัก​วิทยาศาสตร์​เชื่อ​กัน​ว่า​เรื่อง​นี้​คง​จะ​มี​อะไร​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เหล้า​องุ่น​แดง​ซึ่ง​ชาว​ฝรั่งเศส​มัก​ดื่ม​เมื่อ​รับประทาน​อาหาร. ส่วน​ผสม​ที่​เป็น​กรด​ใน​เหล้า​องุ่น​แดง ซึ่ง​เรียก​ว่า​ฟีนอล มี​การ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ไป​ยับยั้ง​สิ่ง​ซึ่ง​เรียก​ว่า คอเลสเตอรอล​ที่​ไม่​ดี (LDL) ไม่​ให้​อุดตัน​หลอด​เลือด​เพราะ​ไขมัน​จับ​ตัว​เป็น​ก้อน อัน​เป็น​สาเหตุ​ของ​หัวใจ​วาย. เลอ ฟิกาโร เสริม​ว่า​ฟีนอล​เหล่า​นี้​เป็น​ส่วน​ผสม​ของ​เหล้า​องุ่น​ที่​ไม่​ใช่​แอลกอฮอล์ และ​การ​ดื่ม​มาก​กว่า 480 ซี​ซี​ต่อ​วัน แอลกอฮอล์​จะ​ก่อ​ความ​เสียหาย​มาก​กว่า​ประโยชน์.

กระดูก​เสือ

ความ​ต้องการ​กระดูก​เสือ​เพื่อ​นำ​มา​ประกอบ​ยา​แผน​โบราณ​ของ​ชาว​ตะวัน​ออก​เป็น​อันตราย​ต่อ​ประชากร​เสือ​ของ​โลก​ที่​กำลัง​ลด​น้อย​ลง เป็น​คำ​กล่าว​จาก​วารสาร​ทาง​การ​แพทย์​ของ​อังกฤษ​ชื่อ เดอะ แล​นเซ็ต. แม้​จะ​มี​ความ​พยายาม​ระหว่าง​นานา​ชาติ​เพื่อ​ควบคุม​การ​ค้า​ผลิตภัณฑ์​จาก​เสือ แต่​กระดูก​เสือ​ก็​มี​เกลื่อน​ตลาด​ใน​ยา​ดอง​เหล้า, ยา, และ​ยา​เม็ด​ลูก​กลอน. เฉพาะ​ใน​ปี 1991 กล่าว​กัน​ว่า​ประเทศ​หนึ่ง​ใน​เอเชีย​ส่ง​ออก​ยา​เม็ด 15,079 กล่อง, ยา​ลูก​กลอน 6,260 กิโลกรัม และ​ยา​ดอง​เหล้า 31,500 ขวด​ซึ่ง​มี​กระดูก​เสือ​เป็น​ส่วน​ผสม. จำนวน​เสือ​ที่​ยัง​คง​เหลือ​อยู่​ทั่ว​โลก​ประมาณ​กัน​ว่า​มี​ราว ๆ 6,000 ตัว.

แอฟริกา​ใต้​ให้​การ​เอา​ใจ​ใส่​ต่อ​วิกฤตการณ์​ทำ​ร้าย​ทาง​เพศ

ใน​เวลา​เพียง​ห้า​ปี จำนวน​เด็ก​ที่​ถูก​ข่มขืน​ใน​แอฟริกา​ใต้​เพิ่ม​มาก​กว่า​สอง​เท่า​ตัว ตาม​รายงาน​ใน เดอะ สตาร์ หนังสือ​พิมพ์​ใน​โจฮันเนสเบิร์ก. หนังสือ​พิมพ์​นั้น​บอก​ว่า​มี​การ​รายงาน​การ​ข่มขืน 1,707 ราย​ใน​ปี 1988 พอ​ถึง​ปี 1992 จำนวน​นั้น​ได้​พุ่ง​สูง​ขึ้น​ถึง 3,639 ราย. รัฐมนตรี​ว่า​การ​กระทรวง​ยุติธรรม กอ​บี กอ​ต​ซี ได้​ยก​ตัว​เลข​เหล่า​นี้​ขึ้น​มา​อ้าง​เมื่อ​ทำ​การ​เปิด​ศาล​แห่ง​แรก​ของ​ประเทศ​ที่​จัด​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​พิจารณา​คดี​ข่มขืน​โดย​เฉพาะ ศาล​นี้​ตั้ง​อยู่ ณ เมือง​วิน​เบิร์ก เคปทาวน์. เขา​แสดง​ความ​หวัง​ออก​มา​ว่า​ศาล​นี้​จะ​จัด​การ​กับ​คดี​ดัง​กล่าว​อย่าง​รวด​เร็ว​และ​ด้วย​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​มาก​กว่า​ก่อน. ผู้​ช่วย​อธิบดี​กรม​อัยการ นาตาลี ไฟ​ล​แช​ค กล่าว​ว่า​ความ​ริเริ่ม​ใหม่​นี้​จะ​กำจัด​ความ​อัปยศ​อดสู​และ​การ​ขายหน้า​ไป​บ้าง ซึ่ง​ผู้​ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​การ​ข่มขืน​มัก​จะ​ประสบ​ระหว่าง​การ​ดำเนิน​คดี​และ​จะ​เร่ง​การ “หาย​ปกติ​ทาง​จิตใจ” ของ​พวก​เขา​อีก​ด้วย.

เพศ​ที่​เสีย​เปรียบ

“บ่อย​ครั้ง​ใน​โลก​ที่​สาม ชีวิต​ของ​เพศ​หญิง​แทบ​ไม่​คุ้ม​ที่​จะ​ดำรง​อยู่” เป็น​คำนำ​ของ​ชุด​รายงาน​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน เดอะ วอชิงตัน โพสต์. นัก​ข่าว​ของ โพสต์ หลัง​จาก​สัมภาษณ์​ผู้​หญิง​หลาย​สิบ​คน​ใน​พื้น​ที่​ยาก​จน​แห่ง​แอฟริกา, เอเชีย และ​อเมริกา​ใต้ พบ​ว่า “วัฒนธรรม, ศาสนา​และ​กฎหมาย​บ่อย​ครั้ง​ทำ​ให้​ผู้​หญิง​ถูก​ริด​รอน​สิทธิ​มนุษยชน​ขั้น​พื้น​ฐาน และ​บาง​ครั้ง​เหยียด​พวก​เขา​ลง​ต่ำ​กว่า​มนุษย์.” ตัว​อย่าง​เช่น ใน​หมู่​บ้าน​หนึ่ง​แถบ​เทือก​เขา​หิมาลัย พวก​ผู้​หญิง​ทำ​งาน​ร้อย​ละ 59 ของ​งาน​ทั้ง​หมด, ตรากตรำ​ถึง 14 ชั่วโมง​ต่อ​วัน​และ​บ่อย​ครั้ง​แบก​สัมภาระ​หนัก 1.5 เท่า​ของ​น้ำหนัก​ตัว. การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​หนึ่ง​พบ​ว่า “หลัง​จาก​ตั้ง​ครรภ์ . . . สอง​หรือ​สาม​ครั้ง กำลัง​วังชา​ของ​พวก​เธอ​ก็​เหือด​หาย อ่อนแอ​ลง และ​เมื่อ​ย่าง​เข้า​สู่​วัย​สี่​สิบ พวก​เธอ​ก็​หมด​แรง แก่​และ​เหนื่อย​อ่อน แล้ว​ก็​เสีย​ชีวิต​ใน​ไม่​ช้า.” เด็ก​ผู้​หญิง​มัก​ได้​รับ​อาหาร​น้อย​กว่า ให้​ออก​โรง​เรียน​และ​เข้า​ทำ​งาน​เร็ว​กว่า และ​ได้​รับ​การ​ดู​แล​ทาง​แพทย์​น้อย​กว่า​เมื่อ​เทียบ​กับ​เด็ก​ผู้​ชาย. มารดา​หลาย​คน​ฆ่า​ทารก​เพศ​หญิง​โดย​มอง​พวก​เขา​ว่า​เป็น​ภาระ​ที่​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง. นัก​ข่าว​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า​ใน​ชนบท​ภาค​ใต้​ของ​อินเดีย วิธี​สังหาร​ทารก​ที่​ทำ​กัน​ทั่ว​ไป​คือ​การ​กรอก​ซุป​ไก่​ที่​กำลัง​เดือด​ลง​ใน​คอ​เด็ก. เมื่อ​ถาม​เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ว่า​อาชญากรรม​ดัง​กล่าว​ถูก​ลง​โทษ​ไหม เขา​ตอบ​ว่า “มี​หลาย​เรื่อง​ที่​สำคัญ​กว่า​นี้. มี​ไม่​กี่​ราย​ที่​เข้า​มา​ถึง​หู​เรา. น้อย​คน​ที่​ใส่​ใจ.”

ปี​แห่ง​ความ​เกลียด​ชัง

วารสาร นิวส์วีก ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ปี 1992 ทำ​ให้​ปัญหา​เก่า​แก่​เกี่ยว​กับ​ธรรมชาติของ​มนุษย์​ปรากฏ​เด่น​ขึ้น​มา​อีก. การ​แบ่ง​แยก—ระหว่าง​เพื่อน​บ้าน​กับ​เพื่อน​บ้าน, เผ่า​พันธุ์​กับ​เผ่า​พันธุ์, สัญชาติ​กับ​สัญชาติ—เป็น​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​เรา​มี​แนว​โน้ม​จะ​ทำ​เสมอ และ​เหตุ​การณ์​ของ​ปี​นี้​ก่อ​ให้​เกิด​ข้อ​สงสัย​ว่า​เรา​กำลัง​ประสาน​ช่อง​ว่าง​ต่าง ๆ ได้​ดี​ขึ้น​หรือ​ไม่.” วารสาร​นั้น​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ดู​เหมือน​ว่า ‘จง​เกลียด​เพื่อน​บ้าน​ของ​เจ้า’ จะ​เป็น​คำ​ขวัญ​ประจำ​ปี.” เหตุ​ใด “ความ​น่า​รังเกียจ​ของ​มนุษย์” จึง​เด่น​เป็น​พิเศษ​ใน​ปี 1992? วารสาร นิวส์วีก แถลง​ว่า “อนาธิปไตย​สุด​ขีด​เป็น​สาเหตุ​ส่วน​ใหญ่​ของ​ความ​รุนแรง​ใน​ปี​ที่​ผ่าน​ไป​นี้” รวม​ทั้ง “การ​ขาด​เสถียรภาพ​ทาง​เศรษฐกิจ​อย่าง​ฉับพลัน” ซึ่ง​ติด​ตาม​มา​ภาย​หลัง​การ​ล่ม​สลาย​ของ​ลัทธิ​คอมมิวนิสต์​ใน​โซเวียต. นอก​เหนือ​จาก​นี้​ก็​คือ​ความ​เกลียด​ชัง​ระหว่าง​ชุมชน​ที่​เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​ปลุกปั่น​ให้​มี​ขึ้น. กอง​ทหาร​รักษา​สันติภาพ​เป็น​หน​ทาง​แก้​ปัญหา​นี้​ไหม? วารสาร นิวส์วีก ตอบ​ว่า “กอง​ทหาร​ของ​สหประชาชาติ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​ไซปรัส​โดย​แยก​ชุมชน​ชาว​กรีก​และ​ชาว​ตุรกี​ออก​จาก​กัน​เกือบ 20 ปี​แล้ว. เนื่อง​ด้วย​มี​ความ​ปลอด​ภัย​ที่​อยู่​เบื้อง​หลัง​แนว​ป้องกัน​ของ​สหประชาชาติ แต่​ละ​ฝ่าย​จึง​ไม่​มี​เหตุ​กระตุ้น​ใจ​เพื่อ​จะ​ประนีประนอม​กับ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง​เลย​แม้​แต่​น้อย.”

ประเด็น​โต้​แย้ง​เรื่อง​ธง​และ​เพลง​ชาติ​ใน​ญี่ปุ่น

บันทึก​ที่​เปิด​เผย​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน​ยา​มา​โต ประเทศ​ญี่ปุ่น​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ครู​ใหญ่​ของ​โรง​เรียน​ได้ “บังคับ​ให้​เป็น​ไป​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ใน​เรื่อง​การ​ชัก​ธง​ชาติ​และ​ร้อง​เพลง​ชาติ. . . . แม้​ว่า​จะ​มี​การ​ต่อ​ต้าน​อย่าง​รุนแรง​จาก​บรรดา​ครู​น้อย” ตาม​การ​แถลง​ของ​หนังสือ​พิมพ์ ไมนิชิ เดลี นิวส์. “ประเด็น​เรื่อง​การ​รวม​ฮิโนม​า​รุ [ธง​ชาติ] และ​คิ​มิ​กาโย [เพลง​ชาติ] ใน​พิธี​การ​ของ​โรง​เรียน​นั้น​ได้​ก่อ​ความ​ขัด​แย้ง​ขึ้น​ทั่ว​ประเทศ เนื่อง​จาก​เข้า​ไป​พัวพัน​กับ​ลัทธิ​คลั่งไคล้​ชาติ​และ​ลัทธิ​จักรวรรดิ​นิยม​ใน​ช่วง​สงคราม​ของ​ญี่ปุ่น.” ตาม​รายงาน​ข่าว​ของ​หนังสือ​พิมพ์ อาซาฮี อีฟ​นิง นิวส์ ผู้​ต่อ​ต้าน​คัดค้าน​เชื่อม​โยง​ธง​และ​เพลง​ชาติ​เข้า​กับ​การ​บูชา​จักรพรรดิ​และ​กล่าว​ว่า​การ​บังคับ​เด็ก​ให้​ร้อง​เพลง​ชาติ “จะ​เป็น​การ​ตั้ง​ลัทธิ​ศาสนา​โดย​เฉพาะ​ให้​กับ​พวก​เด็ก.” พวก​เขา​กล่าว​ว่า เป็น​การ​ละเมิด​สิทธิ​ตาม​รัฐธรรมนูญ​ว่า​ด้วย​เสรีภาพ​ทาง​ศาสนา​และ​มโนธรรม.

ความ​พยายาม​ของ​สหประชาชาติ​เพื่อ​ให้​มี​สันติภาพ​เกิด​สั่น​คลอน​เพราะ​ขาด​เงิน

เป็น​ที่​คาด​กัน​ว่า ค่า​ใช้​จ่าย​ใน​การ​รักษา​สันติภาพ​ของ​สหประชาชาติ​จะ​พุ่ง​ถึง 92.5 พัน​ล้าน​บาท​ใน​ปี​นี้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม “การ​ที่​ประเทศ​สมาชิก​ไม่​จ่าย​ใน​ส่วน​ของ​ตน​กำลัง​ก่อ​ให้​เกิด​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​ความ​สามารถ​ของ​องค์การ​ใน​การ​จัด​หา​เงิน​อย่าง​เพียง​พอ​เพื่อ​ปฏิบัติ​งาน​ใน​อนาคต หรือ​ใน​การ​สนับสนุน​ความ​พยายาม​เพื่อ​สันติภาพ​ซึ่ง​กำลัง​ดำเนิน​การ​อยู่​เวลา​นี้” เป็น​คำ​แถลง​จาก​หนังสือ​พิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์​ส. สหประชาชาติ​ควร​จ่าย​ชดเชย​ให้​ประเทศ​ที่​ช่วย​ด้าน​ปฏิบัติการ​ทาง​ทหาร​เพื่อ​รักษา​สันติภาพ​ประมาณ​เดือน​ละ 25,000 บาท​ต่อ​ทหาร​หนึ่ง​คน​ที่​ส่ง​ไป. แต่​หลาย​เดือน​ได้​ผ่าน​ไป​โดย​ไม่​มี​การ​จ่าย​เงิน​ชดเชย​ให้​แก่​ประเทศ​ที่​ส่ง​กอง​ทหาร​ไป​ปฏิบัติการ​ใน​อดีต​ยูโกสลาเวีย​และ​ใน​กัมพูชา. พอ​ถึง​ปลาย​เดือน​เมษายน ค่า​โสหุ้ย​ใน​การ​รักษา​สันติภาพ​ที่​ยัง​ไม่​จ่าย​มี​ถึง 37.5 พัน​ล้าน​บาท โดย​ยัง​มี​อีก 24,250 ล้าน​บาท​ที่​ยัง​ไม่​ได้​จ่าย​สำหรับ​งบประมาณ​ปกติ. เมื่อ​ไม่​ได้​จ่าย​เงิน​ชดเชย รัฐบาล​ของ​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​บาง​ประเทศ​ได้​ถอน​กอง​กำลัง​ออก​ไป​แล้ว หรือ​ได้​ปฏิเสธ​ที่​จะ​เข้า​ร่วม​ปฏิบัติการ​ทาง​ทหาร​ที่​จะ​มี​ขึ้น.

อัตรา​การ​เกิด​ลด​ลง​ใน​จีน

สถิติ​สำหรับ​ปี 1992 แสดง​ระดับ​อัตรา​การ​เกิด​ต่ำ​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา​ใน​ประเทศ​จีน—คือ​มี​เด็ก​เกิด 18.2 คน​ต่อ 1,000 คน ลด​ลง​จาก 23.33 ใน​ปี 1987 ตาม​รายงาน​ของ​เดอะ นิวยอร์ก ไทม์​ส. แม้​ไม่​ได้​คาด​หมาย​ว่า​จะ​บรรลุ​เป้า​นั้น​จน​กว่า​จะ​ถึง​ปี 2010 แต่​ก็​ได้​บรรลุ​แล้ว “เนื่อง​จาก​พรรค​การ​เมือง​และ​เจ้าหน้าที่​รัฐบาล​ทุก​ระดับ​ให้​ความ​สนใจ​มาก​ขึ้น​ต่อ​การ​วาง​แผน​ครอบครัว และ​นำ​มาตรการ​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​ขึ้น​มา​ใช้” ตาม​คำ​กล่าว​ของ​นาย​เป็ง เป่ย​หยัน หัวหน้า​คณะ​กรรมาธิการ​การ​วาง​แผน​ครอบครัว​แห่ง​ชาติ. ภาย​ใต้​โครงการ​นี้ เจ้าหน้าที่​ท้องถิ่น​ต้อง​รับผิดชอบ​เป็น​ส่วน​ตัว​ใน​การ​ลด​จำนวน​เด็ก​ที่​เกิด​ใน​เขต​ปกครอง​ของ​ตน และ​อาจ​ถูก​ลง​โทษ​หาก​ทำ​ไม่​สำเร็จ. ใน​หลาย​สภาพการณ์ สิ่ง​นี้​นำ​ไป​สู่​การ​บังคับ​ให้​สตรี​ทำ​หมัน​เมื่อ​มี​บุตร​แล้ว​หนึ่ง​คน และ​ตั้ง​ค่า​ปรับ​สูง​มาก​สำหรับ​ผู้​ที่​ให้​กำเนิด​บุตร​โดย​ไม่​ได้​รับ​การ​อนุมัติ. เมื่อ​ชาว​บ้าน​ไม่​สามารถ​จ่าย​ค่า​ปรับ ทรัพย์​สมบัติ​ของ​พวก​เขา​จะ​ถูก​ริบ​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​ทำลาย และ​บ้าน​ของ​พวก​เขา​มัก​จะ​ถูก​รื้อ. ประชากร 1.17 พัน​ล้าน​คน​ของ​ประเทศ​จีน​คิด​เป็น 22​เปอร์เซ็นต์​ของ​ประชากร​โลก.

ความ​หายนะ​จาก​นิวเคลียร์​ถูก​แพร่งพราย

ข้อมูล​ใหม่​เกี่ยว​กับ​ตำแหน่ง​ที่​เกิด​อุบัติเหตุ​ทาง​นิวเคลียร์​หนึ่ง​ใน​ครั้ง​ร้ายแรง​ที่​สุด​ของ​โลก​นั้น​ถูก​แพร่งพราย​หลัง​จาก​ปก​ปิด​ไว้​เป็น​เวลา​หลาย​ปี ตาม​รายงาน​ของ​หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​ใน​กรุง​ปารีส​ชื่อ อินเตอร์​แนชันแนล เฮรัลด์ ทรีบูน. ใน​การ​แข่งขัน​เพื่อ​พัฒนา​อาวุธ​นิวเคลียร์ รัฐบาล​ของ​อดีต​โซเวียต​ได้​สร้าง​โรง​งาน​พลูโต​เนียม​ใน​เทือก​เขา​อูราล. นับ​จาก​ที่​เริ่ม​ก่อ​สร้าง​ใน​ปี 1948 ถึง 1951 มี​การ​ทิ้ง​กาก​กัมมันตรังสี​ลง​ไป​ใน​แม่น้ำ​ท้องถิ่น​สาย​ต่าง ๆ ซึ่ง​มี​การ​นำ​น้ำ​จาก​แม่น้ำ​นั้น​ไป​ใช้​ใน​การ​เกษตร​และ​ใช้​เป็น​น้ำ​ดื่ม​ด้วย. ต่อ​มา​ใน​ปี 1957 กาก​นิวเคลียร์​ที่​นั่น​บาง​ส่วน​เกิด​ระเบิด ปล่อย​ธาตุ​กัมมันตรังสี​จำนวน​มหาศาล​เข้า​สู่​บรรยากาศ​ของ​โลก. อีก​เหตุ​การณ์​หนึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี 1967 เมื่อ​ทะเลสาบ​ที่​อยู่​ใกล้​เคียง​ซึ่ง​ถูก​ใช้​เป็น​ที่​ทิ้ง​กาก​นิวเคลียร์​เกิด​แห้ง​ลง. ลม​จึง​พัด​พา​เอา​กาก​กัมมันตรังสี​ลอย​กระจาย​เหนือ​บริเวณ​อัน​กว้าง​ใหญ่. นัก​วิทยาศาสตร์​เชื่อ​ว่า​การ​ปน​เปื้อน​ทาง​กัมมันตรังสี​จาก​เหตุ​การณ์​ทั้ง​สาม​นี้​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ผู้​คน​ประมาณ 450,000 คน.