จริง ๆ แล้วเราจำเป็นต้องมีปุโรหิตไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
จริง ๆ แล้วเราจำเป็นต้องมีปุโรหิตไหม?
“จงขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงโปรดให้มีระบบบาทหลวง” เป็นคำแถลงของ จอห์น ปอล ที่สองในจดหมายประจำปี 1992 ถึงบรรดาบาทหลวงในวาระ “วันพฤหัสบดีอันศักดิ์สิทธิ์.” ไม่เฉพาะชาวคาทอลิกเท่านั้น แต่กลุ่มอื่น ๆ เช่นกันได้ตระหนักอย่างปวดร้าวเกี่ยวด้วยความผิดของตัวเอง. พวกเขารู้สึกถึงความจำเป็นที่ต้องมีคนซึ่งพระเจ้าทรงรับรองไว้ เป็นผู้ที่จะถ่ายทอดพระประสงค์ของพระเจ้าแก่พวกตนเป็นผู้ถวายเครื่องบูชาแด่พระองค์ และช่วยทูลขอต่อพระเจ้าเพื่อพวกเขา. คนประเภทนี้แหละถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า priest (ปุโรหิต). จริง ๆ แล้วเราจำเป็นต้องมีปุโรหิตคอยช่วยเราให้ได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้าไหม?
ความคิดในเรื่องการตั้งปุโรหิตและการถวายเครื่องบูชานั้นไม่ได้กำเนิดมาจากมนุษย์ แต่มาจากพระเจ้า. หากไม่มีการทำบาปต่อพระเจ้า ก็คงไม่จำเป็นต้องมีปุโรหิต. ณ สวนเอเดน อาดามมนุษย์สมบูรณ์ไม่ต้องมีปุโรหิต. อาดามปราศจากบาปตอนถูกสร้างขึ้น.—เยเนซิศ 2:7,8; ท่านผู้ประกาศ 7:29.
ใครเป็นปุโรหิตพวกแรก?
พวกเราทุกคนเวลานี้ต่างก็สืบทอดบาปด้วยกันทั้งนั้น เพราะอาดามได้ทำบาปโดยเจตนาและพวกเราเป็นลูกหลานของเขา. (โรม 3:23) เฮเบล บุตรชายของอาดามมนุษย์คนแรกรับรู้เรื่องนี้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเขาดังนี้: “โดยความเชื่อเฮเบลนั้นจึงได้นำเครื่องบูชา . . . มาถวายแก่พระเจ้า.” (เฮ็บราย 11:4) ถึงแม้เฮเบลและบรรพชนคนอื่นที่มีความเชื่อ เช่น โนฮา, อับราฮาม, และโยบ ไม่ได้ถูกเรียกว่าปุโรหิต คนเหล่านั้นก็ได้ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเพื่อตนเองหรือเพื่อครอบครัวของเขา. ยกตัวอย่าง คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงโยบกับบุตรชายของท่านว่า “[โยบ] ได้ลุกขึ้นแต่เช้ามืดถวายจำนวนเครื่องบูชายัญเท่ากับจำนวนบุตรของท่าน; เพราะโยบได้กล่าวว่า, ‘ชะรอยบุตรของข้าพเจ้าคงจะได้ทำผิดมาแล้ว.’” (โยบ 1:5) แต่ โดยวิธีใดปุโรหิตและเครื่องบูชาได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นกันทั่วไปในวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ หลายชาติ?
ลองพิจารณาเหตุการณ์แวดล้อมโนฮาผู้เป็นปฐมบรรพบุรุษในสมัยโบราณ. โนฮาพร้อมด้วยครอบครัวเป็นชนกลุ่มเดียวที่รอดชีวิตคราวน้ำท่วมโลก. ทันทีที่ก้าวเหยียบแผ่นดินซึ่งถูกชำระแล้ว โนฮาก็ได้ก่อแท่นถวายเครื่องบูชาด้วยความรู้สึกหยั่งรู้ค่าพระเมตตาของพระยะโฮวาและที่พระองค์ทรงปกป้องคุ้มครอง. เนื่องจากชนทุกชาติเป็นเชื้อสายของโนฮา ไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาคงได้ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่าน และเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้พัฒนาประเพณีหลายหลากอันเกี่ยวโยงกับผู้ช่วยอ้อนวอนต่อพระเจ้าและการถวายเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาป.—เยเนซิศ 10:32.
ต่อมาอีกหนึ่งร้อยกว่าปี เกิดการกบฏต่อต้านพระเจ้าในเมืองบาเบล. พระเจ้าทรงบันดาลให้ภาษาของผู้คนสับสนและพวกเขาจึงต่างก็แยกย้ายจากกันไป. (เยเนซิศ 11:1-9) ปุโรหิตบางคน ตอนนี้ได้ส่งเสริมความเชื่อที่เบี่ยงเบนและต่ำทราม ก่อตั้งพิธีกรรมอันน่าครั่นคร้ามตามดินแดนต่าง ๆ ที่ผู้คนกระจัดกระจายไปอยู่กัน. กระนั้นก็ดี พระเจ้าทรงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะสอนเหล่าผู้นมัสการพระองค์ในเรื่องความจำเป็นของพวกเขาที่ต้องมีระบบปุโรหิตอย่างถูกต้อง อันประกอบด้วยปุโรหิตใหญ่, รองปุโรหิต, และเครื่องบูชาซึ่งพระเจ้ายอมรับได้.
เหตุผลที่พระเจ้าแต่งตั้งพวกปุโรหิต
เมื่อได้เวลาพระยะโฮวาโปรดให้ชาติยิศราเอลมีปุโรหิต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หลักสองประการ. ประการแรก ปุโรหิตเป็นตัวแทนพระเจ้าต่อปวงชนในฐานะผู้พิพากษาและผู้สั่งสอนกฎหมายของพระเจ้า. (พระบัญญัติ 17:8,9; มาลาคี 2:7) ประการที่สอง ปุโรหิตเป็นตัวแทนปวงชนในการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน. จดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูชี้แจงดังนี้: “มหาปุโรหิตทุกคนที่เลือกได้จากมนุษย์ก็แต่งตั้งไว้สำหรับมนุษย์ในบรรดาการซึ่งเกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อท่านจะได้นำทั้งเครื่องบรรณาการและเครื่องบูชามาถวายเพราะความบาป . . . . ตำแหน่งเป็นปุโรหิตนั้นไม่มีผู้ใดรับเอาเอง, เว้นแต่พระเจ้าทรงเรียก.”—เฮ็บราย 5:1,4.
เปาโลอธิบายสืบไปว่าระบบปุโรหิตแห่งชาติยิศราเอลใช่ว่าเป็นแนวทางสุดท้ายของพระเจ้าที่จะนำผู้คนกลับคืนดีกับพระองค์. หน้าที่ของปุโรหิตเป็นสัญลักษณ์ชี้ถึงสิ่งที่ดีกว่า “สิ่งฝ่ายสวรรค์.” (เฮ็บราย 8:5, ล.ม.) ครั้นสิ่งฝ่ายสวรรค์ได้มาถึงแล้ว สัญลักษณ์ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป. ยกตัวอย่าง: คุณอาจเก็บรายการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่คุณต้องการอย่างเต็มที่ไว้กับตัว แต่คุณจะทิ้งมันไปเมื่อคุณได้ผลิตภัณฑ์นั้นแล้วมิใช่หรือ?
นานก่อนชาติยิศราเอลถือกำเนิดมา พระเจ้าประสงค์จะให้มีระบบปุโรหิตซึ่งจะเป็นพระพรแก่มนุษยชาติ ไม่เฉพาะแต่ชาติยิศราเอลเท่านั้น. แรกทีเดียว ชาวยิศราเอลได้รับสิทธิพิเศษพร้อมด้วยโอกาสในการจัดหาบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกระบบปุโรหิตนั้น. ครั้นได้ตั้งเป็นชาติแล้ว พระยะโฮวาตรัสแก่ชาติยิศราเอลว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายจะฟังถ้อยคำของเราจริง ๆ. . . เจ้าทั้งหลายจะเป็นอาณาจักรแห่งปุโรหิต, และจะเป็นชนชาติอันบริสุทธิ์สำหรับเรา.” (เอ็กโซโด 19:5,6; เทียบเยเนซิศ 22:18) น่าเสียดาย ชนชาตินี้ไม่ใคร่จะเชื่อฟังถ้อยคำของพระเจ้า. ดังนั้น พระเยซูจึงบอกพวกปุโรหิตและฟาริซายดังนี้: “แผ่นดินของพระเจ้าจะต้องเอาไปจากท่าน, ยกให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใดซึ่งจะกระทำให้ผลเจริญสมกับแผ่นดินนั้น.” เดี๋ยวนี้ใครล่ะปฏิบัติหน้าที่ปุโรหิตเพื่อนำพระพรมาสู่มนุษยชาติ?—มัดธาย 21:43.
คริสเตียนจำเป็นต้องมีระบบปุโรหิตแบบไหน?
เนื่องจากพวกเราได้สืบทอดบาปจากอาดาม การรอดสู่ชีวิตนิรันดรเป็นไปได้ทางเดียวเท่านั้น คืออาศัยเครื่องบูชาสมบูรณ์พร้อมซึ่งจัดเตรียมโดยพระเยซู. (1โยฮัน 2:2) พระเยซูเป็นผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยพวกเราในฐานะเป็นมหาปุโรหิต อย่างที่ระบบปุโรหิตแห่งชาติยิศราเอลเป็นภาพเล็งถึง. เฮ็บราย 9:24 ว่าดังนี้: “พระคริสต์ไม่ได้เสด็จเข้าในที่บริสุทธิ์ซึ่งมือมนุษย์ได้กระทำไว้เป็นตัวจำลองจากแบบแท้นั้น, แต่ได้เสด็จเข้าไปในสวรรค์นั้นเอง และบัดนี้ทรงปรากฏจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.” ฉะนั้น การเป็นมหาปุโรหิตของพระคริสต์ซึ่งยอดเยี่ยมเหนือใครทั้งสิ้นจึงทำให้ความจำเป็นต้องมีปุโรหิตที่เป็นมนุษย์ฐานะผู้ช่วยอ้อนวอนเป็นอันว่าพ้นสมัยไปแล้ว. ทว่า งานรับใช้ต่าง ๆ ของรองปุโรหิตทั้งหลายยังมีความจำเป็นอยู่. ในทางใด?
บรรดาปุโรหิตต้อง “ถวายเครื่องบูชาฝ่ายวิญญาณอันเป็นที่พระเจ้ารับรองเอาได้โดยพระเยซูคริสต์.” (1เปโตร 2:5, ล.ม.) เกี่ยวเนื่องกับชนิดของเครื่องบูชาเหล่านี้ เปาโลเขียนว่า “โดยพระองค์นั้นจงให้เราถวายคำสรรเสริญแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเสมอ.” (เฮ็บราย 13:15) ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ที่ประกอบกันเป็นปุโรหิตหลวง ขณะที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลก จึงเป็นตัวแทนพระเจ้าต่อหน้ามนุษย์ในฐานะพยานของพระองค์ ไม่ใช่ในฐานะผู้ช่วยอ้อนวอนต่อพระเจ้า. ภายหลัง เมื่ออยู่ในสวรรค์ กับพระเยซูคริสต์ พวกเขาจะเป็นตัวแทนของมนุษย์จำเพาะพระพักตร์พระเจ้า ดำเนินงานอำนวยประโยชน์จากเครื่องบูชาของพระคริสต์และบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งสิ้น.—เทียบมาระโก 2:9-12.
ในขณะที่ผู้มีความเชื่อทั้งมวลพึงให้คำพยาน แต่มีจำนวนค่อนข้างน้อยที่จะทำหน้าที่ใน “อาณาจักรแห่งปุโรหิต” ทางภาคสวรรค์. พระเยซูตรัสว่า “ฝูงแกะเล็กน้อยเอ๋ย. อย่ากลัวเลย, เพราะว่าพระบิดาของท่านชอบพระทัยจะประทานแผ่นดิน [ราชอาณาจักร, ล.ม.] นั้นให้แก่ท่าน.” (ลูกา 12:32; วิวรณ์ 14:1) คนเหล่านี้จะได้รับการปลุกขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์ และจะ “เป็นปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์ และจะปกครองเป็นกษัตริย์กับพระองค์เป็นเวลาพันปี.”—วิวรณ์ 20:6, ล.ม.
พระเจ้าทรงจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้ปุโรหิตเหล่านี้ทางภาคสวรรค์ทำทั้งในแง่วิญญาณและทางกายภาพอย่างที่ไม่เคยมีปุโรหิตคนใดสามารถทำได้. ในไม่ช้า เมื่อปุโรหิตเหล่านี้นำผลประโยชน์แห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์ออกไปใช้ พวกเขาก็จะสามารถเข้าส่วนร่วมกอบกู้มนุษยชาติที่มีความเชื่อทั้งสิ้นให้บรรลุสภาพมนุษย์สมบูรณ์. ครั้นแล้ว คำสัญญาที่ยะซายา 33:24 จะสมจริงอย่างน่าอัศจรรย์. ที่ว่า “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’ เพราะเหตุว่าพลเมืองทั้งหมดจะได้รับการอภัยโทษแล้ว.”
[ที่มาของภาพหน้า 26]
“Benediction of the Wheat at Artois” 1857, by Jules Breton: France / Giraudon/Art Resource,N.Y.