วันหนึ่งในชีวิตของผีเสื้อ
วันหนึ่งในชีวิตของผีเสื้อ
ถ้างานประจำวันของคุณดูเหมือนเคร่งเครียดและยากลำบาก ลองคิดถึงผีเสื้อผู้ทำงานหนักดูซิ. ตอนแรก คุณอาจคิดว่าตารางการทำงานของผีเสื้อราวกับวันพักร้อนในฝัน. โผบินจากดอกไม้ดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง จิบน้ำหวานจากที่นี่นิดที่นั่นหน่อย อาบแดดตามใจปรารถนา ผีเสื้อดูเหมือนเป็นภาพย่อของรูปแบบชีวิตอันปราศจากความกังวล.
แต่ในโลกของแมลง หลายสิ่งมิได้เป็นดังที่ปรากฏภายนอกเสมอไป. ผีเสื้อเป็นสิ่งทรงสร้างที่มีงานยุ่ง ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อันจำเป็นต่อชีวิตโดยทำงานอย่างไม่ละลดแข่งกับเวลา. ให้เราตามไปดูงานประจำวันอันเป็นแบบฉบับของผีเสื้อกันเถอะ.
แสงอาทิตย์เป็นอาหารเช้า
คุณตื่นนอนตอนเช้าด้วยความรู้สึกสะลึมสะลือไหม? อาการเซื่องซึมยามเช้ามีเป็นประจำท่ามกลางผีเสื้อ. ตอนเช้าของบางวัน ผีเสื้อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้—อย่างแท้จริง. ปัญหาของพวกมันคืออุณหภูมิของร่างกายซึ่งขึ้นลงตามสภาพแวดล้อม. หลังจากเกาะอยู่บนใบไม้ตลอดคืนอันหนาวเย็น เลือดของผีเสื้อจะเย็นมากจนแทบเคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการบิน. ดังนั้น ผีเสื้อจึงต้องรอดวงอาทิตย์.
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ผีเสื้อจะกางปีกออกและทำมุมรับกับแสงอาทิตย์อันอบอุ่น. ปีกที่แผ่ออกไปทำหน้าที่เหมือนแผ่นโซลาร์ขนาดจิ๋ว ไม่นานก็กักเก็บความร้อนได้ตาม
ต้องการและผีเสื้อก็บินออกไป. แต่จะเป็นเช่นไรถ้าท้องฟ้ามืดครึ้ม? ในเขตอบอุ่น ผีเสื้อต้องอยู่กับที่—ไม่เคลื่อนไหวเกาะนิ่งตามกิ่งไม้หรือดอกไม้แล้วแต่สะดวก—จนกระทั่งแสงอาทิตย์สาดส่องมา. นี่ไม่ใช่ความขี้เกียจ. มันจำเป็นจริง ๆ.ถ้าวันไหนอากาศไม่ค่อยร้อน ผีเสื้อจะหยุดเป็นครั้งคราวเพื่อรับการรักษาต่อไปด้วยแสงอาทิตย์. เหมือนกับรถจอดเติมน้ำมันที่ปั้ม ผีเสื้อจำเป็นต้องเติมพลังงานจากแสงอาทิตย์. ในเขตร้อน ผีเสื้ออาจต้องการอาบแดดเพียงแค่ช่วงอรุณรุ่งหรือหลังจากฝนตกห่าหนึ่ง. กล่าวโดยทั่วไป อากาศยิ่งเย็นเท่าไร ผีเสื้อจะใช้เวลาอาบแดดมากขึ้นเท่านั้น. เมื่อพลังงานได้คืนสู่สภาพเดิม ผีเสื้อก็จะทำงานของตนต่อไป.
‘รักแรกดม’
งานเร่งด่วนที่สุดคือการหาคู่. ด้วยช่วงชีวิตตามที่คาดหวังนั้นสั้นมากซึ่งแทบจะไม่เกินสองสามสัปดาห์ จึงไม่อาจปล่อยเวลาให้เสียไปได้. และการหาคู่ที่เหมาะสมในโลกของผีเสื้อก็ไม่ใช่งานง่าย—ต้องมีความอดทนและการยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นและกล้าหาญ.
“รักแรกพบ” ไม่เป็นที่รู้จักท่ามกลางผีเสื้อ. ผีเสื้อมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องสายตาสั้น และบ่อยครั้งที่ผีเสื้อสำคัญผิดคิดว่าแมลงอื่นเป็นชนิดเดียวกันกับตนเอง. สิ่งนี้จะนำไปสู่การบินไล่อันไร้ผลเมื่อผีเสื้อที่หาคู่นั้นในที่สุดพบว่าถูกหลอกด้วยตาของตนเอง.
สิ่งที่ทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้นอีก ก็คือการที่ตัวเมียมักจะไม่ค่อยเปิดโอกาส. ตัวผู้ซึ่งเร่าร้อนจะบินวนเวียนรอบเธออย่างไม่ละลดเหมือนการเต้นวอลซ์ด้วยความเร็วสูงกลางเวหา โดยความหวังว่าในที่สุดเธอจะใจอ่อน. แต่การเต้นรำของผีเสื้ออันน่าชมเหล่านี้มักจะจบลงอย่างกะทันหันเมื่อตัวเมียบินหนีไป ทิ้งให้ตัวผู้ที่น่าสงสารแสวงหาคู่ต่อไป.
น่าประหลาดที่ว่า ตัวเมียไม่ได้ตื่นเต้นกับสีสันอันแปลกตาของคู่เธอเลย. แม้ว่าดาร์วินได้ทึกทักเอาว่า สีอันสดใสของผีเสื้อจัดให้มี ‘ความได้เปรียบทางวิวัฒนาการ’ บางอย่าง แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ พิสูจน์เรื่องนี้. ในการทดลองครั้งหนึ่ง ผีเสื้อตัวเมียพันธุ์อเมริกาเหนือ อนาร์เทีย อเมเธีย จับคู่อย่างมีความสุขทีเดียวกับผีเสื้อตัวผู้ซึ่งปีกสีแดงเข้มสลับกับสีดำของมันถูกทาเป็นสีดำสนิท. สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดดูเหมือนจะเป็นลักษณะการบินของตัวผู้ การยืนหยัดอย่างเหนียวแน่น และเหนือสิ่งอื่นใดคือ “แป้งเสน่ห์” ที่ไม่มีใครเหมือน.
แป้งเสน่ห์ประกอบด้วยฟีโรโมนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดใจอันทรงพลังที่สุดของตัวผู้. มันเป็นแป้งหอมที่ทำให้หลงใหล ทำขึ้นเฉพาะเพื่อดึงดูดตัวเมียพันธุ์เดียวกัน. ระหว่างการฝากรัก ตัวผู้พยายามโปรย “แป้งหอมวิเศษ” นี้ใส่ตัวเมีย. แม้ว่าแป้งเสน่ห์ไม่อาจประกันความสำเร็จ แต่มัน
ทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์เมื่อในที่สุดพบตัวเมียที่ยินยอม.ความปรารถนาน้ำหวาน
พลังงานทั้งหมดที่ใช้ไปในการหาคู่ต้องได้รับการเติมใหม่ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง. เนื่องจากเหตุนี้ผีเสื้อจึงใคร่จะดื่มน้ำหวาน. ดอกไม้โฆษณาอาหารที่ให้พลังงานสูงนี้ด้วยรูปร่างและสีที่น่าดึงดูดใจ เมื่อผีเสื้อลงเกาะบนดอกไม้ มันจะดูดน้ำหวานอย่างคล่องแคล่วด้วยปากยาวคล้ายหลอดซึ่งผีเสื้อจะแหย่เข้าไปในฐานของดอกไม้.
ขณะดูดน้ำหวานนั้น ละอองเกสรจะติดตามลำตัวที่มีขนของแมลงนี้ ด้วยวิธีนี้จะนำเกสรไปยังดอกไม้ดอกถัดไปที่มันเกาะ. ระหว่างวันทำงานอันเป็นแบบฉบับของผีเสื้อ ดอกไม้นับร้อย ๆ ดอกได้รับการผสมเกสร. อย่างไรก็ตาม ในป่าแถบร้อนดอกไม้มีอยู่ไม่มาก. ผีเสื้อเขตร้อนมักจะดื่มอะไร?
ผีเสื้อเขตร้อนไม่ชอบอะไรมากไปกว่าการกินผลไม้เน่าอย่างมูมมาม. ผลไม้ที่สุกเกินไปซึ่งตกอยู่ตามพื้นเป็นแหล่งพลังงานน้ำตาลอันอุดมสำหรับพวกมัน.
ผีเสื้อชอบเกลือด้วย. มักจะเห็นผีเสื้อดูดน้ำเค็มอยู่ตามพื้นที่เปียกเป็นหย่อม ๆ หรือบางครั้งก็ดูดเหงื่อบนมือของมนุษย์ที่กำลังชมมัน. ผีเสื้อ แฟลมบู ผู้กล้าหาญเคยดูดน้ำตาที่มีรสเค็มของจระเข้.
ขณะง่วนอยู่กับการหาคู่, ผสมเกสรดอกไม้, หาอาหาร เพื่อนยากผู้มีปีกของเราต้องระวังอันตรายจากศัตรูด้วย. เราอาจมองดูผีเสื้อว่าไม่มีอะไรป้องกันตัว แต่มันมีกลยุทธ์หลายอย่างที่ใช้หลีกเลี่ยงการถูกจับเป็นเหยื่อ.
หลบหลีกอันตราย
ผีเสื้อสีฉูดฉาดที่บินโฉบไปมาเหนือทุ่งหญ้าอาจถูกมองว่าเป็นเหยื่ออันโอชะยั่วยวนเหล่านกที่กินแมลงเป็นอาหาร. แต่การบินในลักษณะกึก ๆ กัก ๆ ไร้ทิศทางทำให้การจับผีเสื้อเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย. นกส่วนมากยอมแพ้หลังจากพยายามครั้งสองครั้ง. แม้ว่าเมื่อนกจับผีเสื้อได้แล้ว แมลงนี้อาจหนีได้สำเร็จโดยสลัดทิ้งปีกส่วนที่ติดอยู่ในจะงอยปากนก.
สายตาเป็นเครื่องป้องกันอีกชนิดหนึ่ง. แม้ว่าผีเสื้ออาจมีสายตาสั้น แต่ตาเชิงซ้อนของผีเสื้อมีประสิทธิภาพสูงในการตรวจจับความเคลื่อนไหว. ผีเสื้อจะพุ่งตัวหนีเมื่อมีสัญญาณอันตราย ดังที่ใคร ๆ ก็ตามซึ่งเคยพยายามถ่ายรูปผีเสื้อย่อมรู้ดี.
ผีเสื้อบินช้าบางชนิดมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายอีกแบบหนึ่ง—รสขม. ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการกินพืชที่มีพิษระหว่างเป็นตัวดักแด้. เมื่อนกจิกผีเสื้อชนิดนี้ มันมักจะไม่ทำอีกเป็นครั้งที่สอง. ผีเสื้อที่มีรสชาติไม่เอาไหนแบบนี้—เช่น ผีเสื้อดอกรัก—ส่วนมากจะมีสีสดใส อันเป็นป้ายสัญญาณซึ่งดูเหมือนจะเตือนนกให้อยู่ห่าง ๆ.
จุดจบแห่งการเดินทาง
เดอะ เวิลด์ บุ๊ก เอ็นไซโคลพีเดีย ระบุว่าผีเสื้อส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินสองหรือสามสัปดาห์ แต่บางชนิดอาจอยู่ได้ถึง 18 เดือน. บางชนิดจำศีลระหว่างฤดูหนาวหรือระหว่างฤดูแล้งอันยาวนานในเขตร้อน.
แต่ทั้ง ๆ ที่มีอายุสั้น ผีเสื้อก็สามารถทำหลายสิ่งอันน่าฉงนให้สัมฤทธิ์ผล. ศตวรรษที่แล้ว ผีเสื้อดอกรักบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยจำนวนมากพอที่จะตั้งถิ่นฐานในหมู่เกาะคานารี ใกล้ชายฝั่งแอฟริกา. นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่อีกพวกหนึ่งได้แก่ ผีเสื้อแดงยุโรป เดินทางเป็นประจำจากแอฟริกาเหนือไปยังตอนเหนือของยุโรปในช่วงฤดูร้อน.
ระหว่างช่วงอายุอันสั้นนี้ ผีเสื้อที่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยทำงานอันสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตโดยการผสมเกสรให้แก่ดอกไม้, พุ่มไม้, และไม้ผล. และมากยิ่งกว่านั้นอีก ความเป็นอยู่ของผีเสื้อช่วยเติมแต่งความงามและความสดใสให้กับชนบท. ทุ่งหญ้าจะไร้ชีวิตชีวาหากปราศจากผีเสื้อ.
[รูปภาพหน้า16]
ผึ่งแดดยามอรุณรุ่ง
[รูปภาพหน้า17]
ดูดน้ำหวาน จากดอกไม้
[รูปภาพหน้า18]
สูบซับความชื้นจากพื้นดิน
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of Buckfast Butterfly Farm