เราจะป้องกันเด็กของเราได้อย่างไร?
เราจะป้องกันเด็กของเราได้อย่างไร?
“อย่าบอกเป็นอันขาด. มันจะเป็นความลับของเรา.”
“ไม่มีใครเชื่อเธอหรอก.”
“ถ้าเธอบอก พ่อแม่จะเกลียดเธอ. พวกเขาจะรู้ว่าเป็นความผิด ของเธอ.”
“เธอไม่อยากเป็นเพื่อนพิเศษของฉันต่อไปแล้วหรือ?”
“เธอไม่อยากให้ฉันติดคุกใช่ไหม?”
“ฉันจะฆ่าพ่อแม่เธอ ถ้าเธอ บอกเขา.”
หลังจากใช้เด็กสนองตัณหาวิตถารของตนแล้ว, หลังจากฉกชิงเอาความปลอดภัยและความรู้สึกไร้เดียงสาของเด็กไปแล้ว ผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็กยังต้องการอะไรอื่นอีกจากเหยื่อของตน—ความเงียบ. เพื่อจะได้มาซึ่งความเงียบ พวกเขาใช้ความอับอาย, การปิดปาก, กระทั่งขู่บังคับอย่างโจ่งแจ้ง. ฉะนั้น เด็กจึงถูกปล้นเอาอาวุธที่ดีที่สุดของตนซึ่งใช้ป้องกันการทำร้ายทางเพศ คือ พลังใจที่จะบอกเล่า ที่จะพูดออกมาและขอการคุ้มครองจากผู้ใหญ่.
น่าเศร้า สังคมผู้ใหญ่มักจะให้ความร่วมมือโดยไม่รู้ตัวต่อผู้ทำร้ายเด็กทางเพศ. โดยวิธีใด? โดยปฏิเสธไม่รับรู้ถึงอันตรายนี้, โดยส่งเสริมทัศนะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ, โดยมีความเชื่อในเรื่องนิทานที่กรุขึ้นซึ่งเล่ากันซ้ำซาก. ความไม่รู้, ข้อมูลผิด ๆ, และความเงียบนั้นปกป้องผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็ก ๆ ไม่ใช่ปกป้องผู้เสียหาย.
ตัวอย่างเช่น การประชุมหารือของบิชอปคาทอลิกประเทศแคนาดาได้ลงความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า “การรวมหัวกันทั่วไปเพื่อปกปิดเรื่อง” ทำให้การทำร้ายทางเพศอย่างโจ่งแจ้งในกลุ่มนักบวชคาทอลิกยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ. วารสาร ไทม์ ซึ่งรายงานถึงพิบัติภัยของการร่วมประเวณีระหว่างญาติใกล้ชิดที่แพร่หลายได้อ้างถึง “การรวมหัวกันปกปิดเรื่อง” เช่นกันว่าเป็นปัจจัยซึ่ง “มีแต่จะช่วยทำให้โศกนาฏกรรม [ในครอบครัว] ดำรงสืบไป.”
อย่างไรก็ดี ไทม์ ให้ความเห็นว่าในที่สุดการรวมหัวกันนี้กำลังทลายลง. เพราะเหตุใด? สรุปง่าย ๆ ก็คือ การศึกษานั่นเอง. เป็นดังที่วารสาร เอเชียวีก บอกไว้ว่า “ผู้
เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นพ้องกันว่าการป้องกันที่ดีที่สุดต่อการทำร้ายเด็กทางเพศคือ การตื่นตัวของสาธารณชน.” เพื่อป้องกันเด็ก บิดามารดาต้องเข้าใจความเป็นจริงแห่งภัยคุกคามนี้. อย่าเป็นคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยเชื่อนิทานที่กรุขึ้นเพื่อปกป้องผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็กแทนที่จะป้องกันเด็ก.—ดูกรอบข้างล่าง.ให้ความรู้แก่บุตรของคุณ!
กษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาดบอกโอรสของท่านว่า ความรู้, สติปัญญา, และความสามารถในการคิดย่อมป้องกันเขา “จากทางของคนชั่ว, เพื่อให้พ้นจากคนที่พูดดึงดันไปในทางหลงผิด.” (สุภาษิต 2:10-12) นั่นคือสิ่งที่เด็กต้องการมิใช่หรือ? จุลสารของเอฟบีไอชื่อ ผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็ก—การวิเคราะห์พฤติกรรม พูดภายใต้หัวข้อ“เหยื่อตรงเป้า” ดังนี้: “สำหรับเด็กส่วนมาก เพศคือเรื่องต้องห้าม ซึ่งพวกเขาแทบจะไม่ได้ความรู้อันถ่องแท้เลย โดยเฉพาะจากบิดามารดา.” อย่าปล่อยให้ลูกของคุณเป็น “เหยื่อตรงเป้า.” จงให้ความรู้เรื่องเพศแก่เขา. * ตัวอย่างเช่น อย่าปล่อยให้เด็กเข้าสู่วัยแรกรุ่นโดยไม่รู้ว่าร่าง กายจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงเวลานั้น. ความไม่รู้จะทำให้พวกเขาสับสน, ละอาย—และง่ายต่อการโจมตี.
ผู้หญิงคนหนึ่งมีนามสมมุติว่าแจเน็ต ถูกทำร้ายทางเพศในวัยเด็ก และหลายปีต่อมา ลูกสองคนของเธอก็ถูกทำร้ายทางเพศ. เธอหวนคิดขึ้นได้ว่า “วิธีที่เราได้รับการเลี้ยงดูมา เราไม่เคยพูดถึงเรื่องเพศ. ฉะนั้น ดิฉันเติบโตขึ้นด้วยความขวยเขินในเรื่องนี้. เป็นเรื่องน่าอาย. และเมื่อดิฉันมีลูก ก็เป็นเช่นเดียวกัน. ดิฉันพูดกับลูกของคนอื่นในเรื่องนี้ได้ แต่ทำไม่ได้กับลูกของตัวเอง. ดิฉันคิดว่าการทำเช่นนี้เป็นอันตราย เพราะว่าเด็ก ๆ ง่ายต่อการโจมตีถ้าคุณไม่พูดกับพวกเขาในเรื่องนี้.”
การป้องกันไม่ให้ถูกทำร้ายทางเพศสอนกันแต่เนิ่น ๆ ได้. เมื่อคุณสอนเด็กให้รู้จักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ช่องคลอด, เต้านม, ช่องทวารหนัก, องคชาต บอกเขาว่าส่วนเหล่านี้เป็นของดี เป็นส่วนพิเศษ—แต่เป็นของสงวน. “ไม่อนุญาตให้คนอื่นมาแตะต้อง—ไม่แม้กระทั่งแม่หรือพ่อ—และกระทั่งหมอ เว้นแต่แม่หรือพ่ออยู่ด้วยหรือบอกว่าทำได้.” * เหมาะสมที่สุด ถ้าคำพูดนั้นมาจาก ทั้งบิดามารดาหรือผู้ใหญ่แต่ละคนที่คอยดูแล.
ใน หนังสือเด็กปลอดภัย (ภาษาอังกฤษ) เชอร์ริลล์ เครเซอร์ให้ข้อสังเกตว่าขณะที่เด็ก ๆ ควรรู้สึกเป็นอิสระในการบอกปัด, กรีดร้อง, หรือวิ่งหนีจากผู้ทำร้าย เด็กหลายคนซึ่งถูกทำร้ายอธิบายภายหลังว่าพวกเขาไม่ต้องการจะทำให้ดูเหมือนขาดมารยาท. ฉะนั้น เด็กต้องรู้ว่าผู้ใหญ่บางคนทำสิ่งไม่ดี และถึงเป็นเด็กก็ไม่ต้องไปเชื่อฟัง ใคร ๆ ก็ตาม ซึ่งบอกเขาหรือเธอให้ทำอะไรที่ผิด. ในสถานการณ์นั้น ๆ เด็กมีสิทธิเต็มที่ที่จะบอกว่าไม่ เช่นเดียวกับดานิเอลและสหายพูดกับผู้ใหญ่ชาวบาบูโลนซึ่งต้องการให้พวกเขากินอาหารที่ไม่สะอาด.—ดานิเอล 1:4,8; 3:16-18.
วิธีการสอนซึ่งแนะให้ใช้กันอย่างกว้างขวางคือเกมส์ที่เรียกว่า “จะว่าอย่างไรถ้า . . .?” ยกตัวอย่าง คุณอาจถามว่า “จะว่าอย่างไรถ้าครูบอกให้เธอตีเด็กอื่น? เธอจะทำอย่างไร?” หรือ “จะว่าอย่างไรถ้า (แม่, พ่อ, นักเทศน์นักบวช, ตำรวจ) บอกให้เธอกระโดดจากตึกสูง ๆ?” คำตอบของเด็กอาจจะไม่กระจ่างหรือตอบผิด ๆ แต่อย่าแก้ข้อผิดด้วยความเกรี้ยวกราด. เกมส์นี้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีที่ทำให้ตกตะลึงหรือทำให้กลัว แท้จริง ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า เล่นเกมส์นี้อย่างนิ่มนวล, ด้วยความรัก, กระทั่งทำในเชิงหยอกล้อสนุกสนาน.
จากนั้น สอนเด็กให้ปฏิเสธการแสดงความรักชอบซึ่งไม่เหมาะสมหรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจ. ตัวอย่างเช่น ถามว่า “จะว่าอย่างไรถ้าเพื่อนของแม่และพ่อต้องการจะจูบเธอในลักษณะที่ทำให้เธอรู้สึกแปลก ๆ?” * มักเป็นสิ่งดีที่จะสนับสนุนเด็กให้แสดงออกว่าเขาจะทำอะไร ทำให้เป็นเกมส์ “การเล่นสมมุติ.”
ในลักษณะเดียวกัน เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้วิธีต่อต้านกลยุทธ์อื่น ๆ ของผู้ทำร้ายทางเพศได้. ยกตัวอย่าง คุณอาจถามว่า “จะว่าอย่างไรถ้าบางคนบอกว่า ‘รู้ไหมเธอเป็นคนโปรดของฉัน. เธอไม่อยากเป็นเพื่อนฉันหรือ?’” เมื่อเด็กรู้วิธีต่อต้านลูกไม้นั้น ก็พิจารณาคำถามอื่น ๆ ต่อไป. คุณอาจถามว่า “ถ้ามีใครพูดว่า ‘เธอไม่อยากทำให้ฉันเสียใจใช่ไหม?’ ลูกจะพูดอย่างไร?” จงแสดงให้เด็กเห็นวิธีปฏิเสธโดยใช้คำพูด และท่าทางที่หนักแน่นชัดเจน. จำไว้ว่า ผู้ทำร้ายมักทดสอบเด็กว่าจะสนองตอบการเข้าหาอัน
แยบยลของเขาอย่างไร. ฉะนั้น ต้องสอนเด็กให้ต้านทานอย่างแข็งแรงและพูดว่า “หนูจะฟ้องเรื่องที่คุณทำ.”ฝึกอบรมอย่างถี่ถ้วน
อย่าทำการฝึกอบรมแค่พูดหนเดียว. เด็ก ๆ จำต้องได้รับการฝึกซ้ำหลายครั้ง. ใช้ดุลยพินิจของคุณเพื่อกำหนดว่าการฝึกควรชัดแจ้งแค่ไหน. แต่ทำอย่างถี่ถ้วน.
ยกตัวอย่าง จงแน่ใจว่าได้ป้องกันความพยายามใด ๆ ของผู้ทำร้ายที่จะทำสัญญาลับ. เด็ก ๆ ควรรู้ว่า ไม่ถูกต้องเลย ที่ผู้ใหญ่จะขอให้ตนเก็บเรื่องไว้ไม่บอกพ่อแม่. ให้ความมั่นใจแก่เขาว่า นับว่าถูกต้อง เสมอ ที่เขาจะบอกพ่อแม่—แม้เมื่อเขาได้สัญญาว่าจะไม่บอก. (เทียบอาฤธโม 30:12,16.) ผู้ทำร้ายบางคนขู่จะแฉความผิดเด็กเมื่อเขารู้ว่าเด็กฝ่าฝืนกฎบางอย่างของครอบครัว. เรื่องจะเป็นไปว่า “ฉันจะไม่ฟ้องเรื่องเธอ ถ้าเธอไม่ฟ้องเรื่องฉัน.” ฉะนั้น เด็กควรรู้ว่าเขาจะไม่ถูกลงโทษอะไรเลยถ้าบอกเรื่องราว—แม้กระทั่งภายใต้สภาพการณ์เหล่านั้น. ปลอดภัยที่จะบอก.
การฝึกอบรมของคุณควรเตรียมเขาไว้รับมือกับการขู่ด้วย. ผู้ทำร้ายบางคนได้สังหารสัตว์เล็ก ๆ ต่อหน้าเด็กและขู่ว่าจะทำเช่นเดียวกันนี้กับพ่อแม่. คนอื่น ๆ ได้พูดกับผู้เสียหายว่าเขาจะทำร้ายน้อง ๆ. ฉะนั้น สอนเด็กว่าเขาควรจะเผยตัวผู้ทำร้าย เสมอ ไม่ว่าคำขู่เข็ญจะน่ากลัวสักเพียงไรก็ตาม.
ในเรื่องนี้ คัมภีร์ไบเบิลย่อมเป็นเครื่องมือสอนที่เกิดประโยชน์. เพราะเน้นชัดเจนถึงฤทธิ์อำนาจของพระยะโฮวา อันจะทำให้คำขู่ของผู้ทำร้ายลดความน่ากลัวลงได้. เด็ก ๆ ต้องรู้ว่าไม่ว่าการขู่นั้นจะเป็นอย่างไร พระยะโฮวาสามารถช่วยเหลือไพร่พลของพระองค์. (ดานิเอล 3:8-30) แม้เมื่อคนไม่ดีทำร้ายผู้ซึ่งพระยะโฮวารัก พระองค์ก็จะแก้ไขความเสียหายนั้น ๆ ได้เสมอและทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นอีก. (โยบบท 1,2; 42:10-17; ยะซายา 65:17) ทำให้พวกเขาแน่ใจว่าพระยะโฮวาเห็นทุกสิ่ง รวมทั้งผู้กระทำไม่ดีและคนดีซึ่งทำอย่างดีที่สุดเพื่อต่อต้านพวกเขา.—เทียบเฮ็บราย 4:13.
ระวังระไวเหมือนงู
แทบไม่มีผู้ที่มีใจกำหนัดในผู้เยาว์รายใดใช้กำลังในการทำร้ายทางเพศต่อเด็ก. โดยทั่วไป พวกเขาชอบผูกมิตรกับเด็ก ๆ ก่อน. คำแนะนำของพระเยซูที่ให้ “ระวังระไวเหมือนงู” จึงเหมาะสม. (มัดธาย 10:16) การดูแลอย่างใกล้ชิดจากบิดามารดาซึ่งเปี่ยมด้วยความรักเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งต่อต้านการทำร้ายนั้น. ผู้ทำร้ายเด็กทางเพศบางรายมองหาเด็กที่อยู่ลำพังตามที่สาธารณะและเปิดฉากสนทนาเพื่อเร้าความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก. (“เธอชอบรถมอเตอร์ไซค์ไหม?” “มาดูลูกสุนัขในรถบรรทุกของฉันซิ.”) จริงอยู่ คุณไม่อาจจะอยู่กับบุตรได้ตลอดเวลา. และผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลเด็กก็ยอมรับว่าเด็กต้องการเสรีภาพบ้างเพื่อทำอะไร ๆ โดยไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย. แต่บิดามารดาผู้สุขุมย่อมระมัดระวังที่จะให้เสรีภาพมากเกินไปแก่เด็กที่ยังอยู่ในวัยเยาว์.
ผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่าบุตร ซึ่งใกล้ชิดกับบุตรของคุณนั้น จงแน่ใจว่าคุณรู้จักพวกเขาดี ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการเลือกว่าใครควรดูแลบุตรของคุณเมื่อคุณไม่อยู่. พึงระวังพี่เลี้ยงเด็กซึ่งทำให้ลูกของคุณรู้สึกแปลก ๆ หรือไม่สบายใจ. ทำนองเดียวกัน คอยระวังเด็กวัยรุ่น ซึ่งดูเหมือนจะแสดงความสนใจมากเกินไปในเด็กวัยเยาว์ และไม่มีเพื่อนในวัยเดียวกัน. จงตรวจสอบสถานเลี้ยงดูเด็กกลางวันและโรงเรียนอย่างละเอียด. จงเข้าเยี่ยมชมสถานที่ทั้งหมดและสัมภาษณ์ผู้ทำงาน สังเกตอย่างรอบคอบว่าพวกเขากับเด็กมีปฏิกิริยาระหว่างกันอย่างไร. ถามว่าเขาจะขัดข้องไหมถ้าคุณจะแวะมาดูบุตรในเวลาที่มิได้นัดหมายไว้ก่อน ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็หาสถานที่ใหม่ให้บุตร.—ดู อะเวก! ฉบับ 8 ธันวาคม 1987 หน้า 3-11.
อย่างไรก็ดี ความจริงอันน่าเศร้าคือ แม้กระทั่งบิดามารดาที่รอบคอบที่สุดก็ไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งที่จะเกิดกับลูกของตนได้.—ท่านผู้ประกาศ 9:11.
ถ้าบิดามารดาร่วมมือกัน มีอยู่อย่างหนึ่งที่เขา สามารถ ควบคุมได้ นั่นคือ สภาพแวดล้อมภายในบ้าน. และเนื่องจากบ้านคือสถานที่ ๆ การทำร้ายทางเพศต่อเด็กเกิดขึ้นมากที่สุด บทความถัดไปจะเพ่งเล็งเรื่องนี้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 ดู อะเวก! ฉบับ 22 กุมภาพันธ์ 1992 หน้า 3-11 และฉบับ 8 กรกฎาคม 1992 หน้า30.
^ วรรค 15 แน่นอน บิดามารดาต้องอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าบุตรที่ยังเล็กมาก และในช่วงนั้นเขาล้างของสงวนให้. แต่จงสอนบุตรของคุณให้อาบน้ำเองตั้งแต่ยังเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านดูแลเด็กแนะว่าสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้ที่จะล้างของสงวนของตัวเองเป็นเมื่ออายุสามขวบถ้าเป็นได้.
^ วรรค 18 ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า ถ้าคุณบังคับลูกให้จูบหรือกอดทุกคนซึ่งขอให้แสดงความรักชอบเช่นนั้น คุณอาจทำให้การฝึกไม่ค่อยได้ผล. ฉะนั้น พ่อแม่บางคนสอนเด็กให้ขอตัวอย่างสุภาพหรือปฏิเสธด้วยวิธีอื่น ๆ แทนเมื่อมีการเรียกร้องสิ่งที่เขาไม่ปรารถนาจะทำ.
[กรอบหน้า 7]
เขาร้องขอความช่วยเหลือ
“การร้องถึงพระยะโฮวา หยุดนักบ้ากามไม่ให้ทำร้ายทางเพศต่อเด็กหนุ่ม” เป็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์สหรัฐ ดิ แอริโซนา รีพับลิก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1993. ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายทางเพศได้ใช้ปืนจี้เด็กวัย 13 ปีไปยังห้องชุดของตน. เมื่อเด็กหนุ่มร้องขึ้นว่า “พระยะโฮวา ช่วยผมด้วย!” ผู้ทำร้ายตกใจและปล่อยเด็กเป็นอิสระ. ต่อมาตำรวจจับชายผู้นั้นได้.
ขณะที่การร้องถึงพระนามพระยะโฮวานับว่าเหมาะสมภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น ก็มิได้หมายความว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าจะพ้นจากการโจมตีใน “สมัยสุดท้าย” อันวิกฤตนี้. (2ติโมเธียว 3:1-5,13, ล.ม.) เพราะฉะนั้น บิดามารดาคริสเตียนต้องฝึกอบรมเด็กให้ระวังคนแปลกหน้าทุกคน ไม่ว่าดูเหมือนจะมีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ก็ตาม.
[รูปภาพหน้า 8]
สอนเด็กให้ใช้คำพูดและท่าทางที่หนักแน่นชัดเจน เพื่อต้านทานการตีสนิทที่ไม่เหมาะไม่ควร