แนวความคิดผิด ๆ โดยทั่วไป
แนวความคิดผิด ๆ โดยทั่วไป
แนวความคิดผิด: ผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็ก ปกติเป็นคนแปลกหน้า, วิกลจริต เข้ากับใครไม่ได้ ซึ่งลักพาเด็กไปและใช้กำลังทำร้ายทางเพศต่อเด็ก.
ในกรณีส่วนใหญ่—ตั้งแต่ 85 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ตามประมาณการของบางแหล่งข้อมูล—ผู้ทำร้ายเป็นบุคคลที่เด็กรู้จักและไว้ใจ. แทนที่จะใช้กำลัง ผู้ทำร้ายมักจะใช้อุบายให้เด็กเข้าสู่การปฏิบัติทางเพศทีละเล็กละน้อย ฉวยประโยชน์จากประสบการณ์จำกัดของเด็กและการด้อยความสามารถในการหาเหตุผล. (เทียบ 1โกรินโธ 13:11 และสุภาษิต 22:15.) ผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็กเหล่านี้มิใช่มีลักษณะที่ดูว้าเหว่ จิตไม่ปกติทุกกรณีเสมอไป. หลายคนเคร่งศาสนา, เป็นที่นับถือ และเป็นที่ชอบพอในชุมชน. สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา [เอฟบีไอ] บอกว่า: “การถือว่าใครคนหนึ่งมิใช่ผู้มีใจกำหนัดในผู้เยาว์เพียงเพราะเขาเป็นคนดี, ไปโบสถ์, ขยันงาน, กรุณาต่อสัตว์, และอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องชวนหัว.” การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า ผิดเช่นกันที่จะถือว่าผู้ทำร้ายทางเพศต่อเด็กทุกคนเป็นผู้ชายและผู้เสียหายล้วนเป็นผู้หญิง.
แนวความคิดผิด: เด็กเพ้อฝันหรือโกหกเรื่องถูกทำร้ายทางเพศ.
ภายใต้สภาพการณ์ปกติ เด็กขาดประสบการณ์หรืออ่อนต่อโลกในเรื่องเพศ ไม่แต่งเรื่องอย่างชัดแจ้งที่อ้างว่าตนถูกทำร้ายทางเพศหรอก แม้ว่าเด็กเล็กบางคนอาจเล่าสับสนเกี่ยวกับรายละเอียด. กระทั่งนักวิจัยกลุ่มที่เชื่ออะไรยากที่สุดก็เห็นพ้องว่า ข้ออ้างเรื่องการถูกทำร้ายทางเพศส่วนใหญ่มีมูล. ขอให้พิจารณาหนังสือชื่อ การแตกตื่นเรื่องการทำร้ายทางเพศ—คดีแม่มดซาเล็มหวนพิจารณาอีกครั้ง (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งมุ่งความสนใจไปที่ข้ออ้างเท็จเรื่องการทำร้ายทางเพศ. * หนังสือเล่มนี้ยอมรับว่า “การทำร้ายทางเพศอย่างแท้จริงต่อเด็ก มีแพร่หลายและข้อหาส่วนใหญ่เรื่องการทำร้ายทางเพศต่อเด็กนั้น . . . น่าจะจริงตามที่กล่าวหา (บางที 95% หรือกว่านั้น).” เด็ก ๆ รู้สึกว่ายากยิ่งที่จะรายงานการถูกทำร้ายทางเพศ. เมื่อพวกเขาจะโกหกเรื่องถูกทำร้ายทางเพศ บ่อยครั้งที่สุดเป็นการโกหกว่าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น แม้ว่าได้เกิดขึ้นจริง ๆ.
แนวความคิดผิด: เด็ก ๆ เป็นฝ่ายยั่วยวนล่อใจและบ่อยครั้งความประพฤติของตนเองเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายทางเพศ.
ความคิดเช่นนี้บิดเบือนอย่างยิ่ง เพราะจริง ๆ แล้วเป็นการตำหนิผู้เสียหายในเรื่องถูกทำร้ายทางเพศ. เด็กไม่มีแนวความคิดแท้จริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ทางเพศ. พวกเขาไม่รู้ว่ากิจกรรมนั้นมีความหมายเช่นไรหรือจะเปลี่ยนแปลงพวกเขาอย่างไร. เพราะฉะนั้น พวกเขาไม่อาจให้ท่าเป็นใจต่อสิ่งนั้นด้วยลักษณะใด ๆ ที่ส่อนัยหมายถึง. ผู้ทำร้ายทางเพศนั่นแหละ ตัวเขาคนเดียว เป็นผู้มีความผิดในเรื่องนี้.—เทียบลูกา 11:11,12.
แนวความคิดผิด: เมื่อเด็กเปิดเผยว่าถูกทำร้ายทางเพศ บิดามารดาควรสอนเขาไม่ให้พูดถึงเรื่องนั้นและให้ลืมเรื่องนั้นเสีย.
ใครได้ประโยชน์มากที่สุดถ้าเด็กเงียบเรื่องการถูกทำร้ายทางเพศ? ผู้ทำร้าย มิใช่หรือ? อันที่จริง การศึกษาวิจัยแสดงว่าการปฏิเสธพร้อมด้วยการระงับความรู้สึกอาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลน้อยที่สุดในการรับมือกับความชอกช้ำเพราะถูกทำร้าย. ในจำนวนเก้าวิธีที่ใช้รับมือกับเรื่องนี้โดยผู้ที่เคยประสบการร่วมประเวณีระหว่างญาติใกล้ชิดซึ่งมีการวิจัยในอังกฤษ ผู้ที่ปฏิเสธ, หลีกเลี่ยง, หรือเก็บกดประเด็นนี้ ประสบปัญหาการปรับเข้าที่ทางอารมณ์และมีความทุกข์เดือดร้อนในชีวิตผู้ใหญ่มากกว่า. ถ้าคุณถูกทำร้ายอย่างน่าสยองขวัญ คุณต้องการหรือเมื่อใคร ๆ บอกให้คุณปิดปากเกี่ยวกับเรื่องนี้? แล้วทำไมคุณจะบอกเด็กอย่างนั้นเล่า? การปล่อยให้เด็กแสดงปฏิกิริยาตามปกติต่อเหตุการณ์น่าขยะแขยงพรรค์นั้น เช่น ความโศกเศร้า, ความโกรธ, การคร่ำครวญ จะทำให้เขามีโอกาสฟื้นตัวจากเรื่องดังกล่าวในที่สุด.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ในคดีหย่าร้างหลายคดี ผู้ใหญ่ที่ต่อสู้คดีนั้นเป็นที่รู้กันว่าฝ่ายหนึ่งจะใช้กลยุทธ์กล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำร้ายทางเพศต่อเด็ก.