ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การ์ตูนที่รุนแรงทางทีวีมีอันตรายไหม?

การ์ตูนที่รุนแรงทางทีวีมีอันตรายไหม?

การ์ตูน​ที่​รุนแรง​ทาง​ทีวี​มี​อันตราย​ไหม?

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​บริเตน

“บั๊กส์บันนี่​ถูก​กล่าว​โทษ​สำหรับ​การ​ต่อ​สู้​ใน​โรง​เรียน” เป็น​พาด​หัว​ข่าว​ของ​หนังสือ​พิมพ์ เดอะ ไทม์ส​แห่ง​ลอนดอน. หนังสือ​พิมพ์​นี้​รายงาน​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ครู​บาง​คน​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ของ​เด็ก​วัยรุ่น​ผู้​ซึ่ง​มี​การ​อ้าง​ว่า เลียน​แบบ​ฉาก​รุนแรง​จาก​การ์ตูน​ทีวี.

“การ์ตูน​ส่วน​ใหญ่​มี​ความ​รุนแรง” ตาม​คำ​แถลง​ของ​รอง​อาจารย์​ใหญ่​คน​หนึ่ง​ของ​โรง​เรียน​ประถม “และ​ถึง​แม้​ว่า​คน​ดี​เป็น​ฝ่าย​ชนะ​ใน​ที่​สุด​ก็​ตาม วิธี​การ​ที่​เขา​ได้​ชัย​ชนะ​นั้น​ก็​ไม่​น่า​พึง​พอ​ใจ.” คุณ​รู้สึก​อย่าง​เดียว​กัน​ไหม​เกี่ยว​กับ​แนว​โน้ม​ของ​การ์ตูน​ทาง​ทีวี?

เมื่อ​เผชิญ​กับ​ความ​นิยม​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​ต่อ​ภาพยนตร์​การ์ตูน ซึ่ง​บัด​นี้​มี​ให้​หา​ดู​ได้​อย่าง​กว้างขวาง​ใน​วีดิทัศน์ บิดา​มารดา​หลาย​คน​รู้สึก​เป็น​ห่วง. บาง​คน​รู้สึก​กลัดกลุ้ม​เนื่อง​จาก​ลูก ๆ วัยรุ่น​ของ​ตน “คลั่ง​การ์ตูน” และ​กระทั่ง​กล่าวหา​ว่า​การ์ตูน​ส่ง​เสริม​ความ​รุนแรง, การ​โกหก​หลอก​ลวง, และ​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง.

แต่​การ​ดู​การ์ตูน​จะ​ก่อ​อันตราย​ใด ๆ ได้​ไหม ถึง​แม้​ว่า​การ์ตูน​เหล่า​นั้น​มี​ฉาก​รุนแรง​อยู่​บ้าง?

มี​อันตราย​ไหม?

ตาม​แนว​แนะ​ของ​บีบีซี (บริติช บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน) ผู้​ผลิต​รายการ​ทีวี​ต้อง​พิจารณา​อย่าง​รอบคอบ​ถึง​ผล​กระทบ​ของ​ความ​รุนแรง​ใด ๆ ที่​รายการ​ของ​เขา​นำ​เสนอ และ​นั่น​รวม​ถึง​การ์ตูน​ด้วย. ทัศนะ​อัน​เป็น​ทาง​การ​คือ: “การ​ปลุก​เร้า​ทาง​อารมณ์​อัน​เป็น​ผล​สืบ​เนื่อง​จาก​ความ​รุนแรง​เพิ่ม​ขึ้น​ควบ​คู่​ไป​กับ​ความ​สามารถ​ของ​ผู้​ชม​ใน​การ​มี​ความ​รู้สึก​ร่วม​ไป​กับ​เหตุ​การณ์​นั้น ๆ.”

โดย​เอกลักษณ์​เฉพาะ​ตัว การ์ตูน​เสนอ​สถานการณ์​ที่​จินตนาการ​ขึ้น​มา ดัง​นั้น อันตราย​มี​เพียง​น้อย​นิด​อย่าง​นั้น​หรือ? วัยรุ่น​ส่วน​ใหญ่​ซึ่ง​ดู​การ์ตูน​ทีวี​จน​ลืม​กิน​ลืม​นอน เห็น​ได้​ชัด​ว่า​พวก​เขา​ทำ​เช่น​นั้น​เพื่อ​ความ​สนุกสนาน. จริง​อยู่ การ์ตูน​สนุก. แต่​การ์ตูน​ทำ​อะไร​มาก​กว่า​นั้น​ไหม? ใช่ แน่นอน—เพราะ​การ์ตูน​ไม่​ว่า​เรื่อง​ใด​ก็​อาจ​ก่อ​ความ​ประทับใจ​ไป​นาน. ดร. เกรกอรี สโตร์ซ ประจำ​มหาวิทยาลัย​ออกซ์​ฟอร์ด​บอก​กับ​นิตยสาร​รายการ​โทรทัศน์​ชื่อ​ทีวี ไทม์ส​ว่า​การ์ตูน​ที่​เด็ก​ดู​กัน​นั้น​เป็น​ที่​มา​อย่าง​หนึ่ง​ของ​พวก “สัตว์​ประหลาด, ภูติ​ผี, หรือ​สัตว์​ร้าย” ซึ่ง​ปรากฏ​อย่าง​กว้างขวาง​ใน​ฝัน​ร้าย​ของ​เด็ก ๆ.

ทำนอง​คล้าย​กัน การ​ศึกษา​วิจัย​ความ​รุนแรง​บน​จอ​และ​การ​ตรวจ​สอบ​ภาพยนตร์​ของ​รัฐบาล​อังกฤษ​ยอม​รับ​ว่า​การ​ที่​เด็ก​ดู​ภาพยนตร์​ด้วย​กัน​กับ​ใคร​นั้น​มี​อิทธิพล​ต่อ​ผล​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​กับ​เขา. ดัง​นั้น อันตราย​ต่อ​เด็ก ๆ จึง​อาจ​แฝง​อยู่​ใน​การ​ดู​การ์ตูน​โดย​ไม่​มี​การ​ควบคุม​ดู​แล.

รายงาน​เดียว​กัน​นั้น​ยืน​ยัน​ว่า​เด็ก​ใน​วัย​ก่อน​เข้า​โรง​เรียน​พร้อม​จะ​เลียน​แบบ​การ​กระทำ​รุนแรง​ที่​พวก​เขา​ดู และ​ยืน​ยัน​อีก​ว่า​เนื่อง​ด้วย​มี “อารมณ์​บาง​ชนิด ‘กระตุ้น’” เด็ก​ที่​โต​กว่า​ซึ่ง​อยู่​ใน​วัย​ประมาณ​ห้า​หรือ​หก​ขวบ​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​การ​กระทำ​ที่​ก้าวร้าว​ซึ่ง​พวก​เขา​ได้​เรียน​รู้​มา.

ดัง​นั้น โฆษก​สถานี​แพร่​ภาพ​จึง​ยอม​รับ​ถึง​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​ว่า สัก​ช่วง​เวลา​หนึ่ง การ​ดู​ภาพ​ความ​รุนแรง​ใน​ทีวี​อาจ​มี “ผล​กระทบ​ทำ​ให้​ความ​รู้สึก​ด้าน​ไป​หรือ​มอง​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา โดย​เฉพาะ​ต่อ​พวก​เด็ก ๆ” ไม่​ว่า​จะ​อายุ​เท่า​ไร. สิ่ง​นี้​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​ค่อย​จะ​รู้สึก​อะไร​เมื่อ​ตัว​เอง​เข้า​ร่วม​ใน​ความ​รุนแรง หรือ​ไม่​ก็​ทำ​ให้​เขา​ไร้​ความ​รู้สึก​เห็น​ใจ​เมื่อ​ผู้​อื่น​ประสบ​ความ​รุนแรง.

คน​ที่​ติด​การ์ตูน “บั๊กส์บันนี่” หรือ “ทอม​กับ​เจอร์รี่” ซึ่ง​อาจ​เคย​ดู​ตัว​การ์ตูน​เหล่า​นั้น​ครั้ง​แรก​เมื่อ​หลาย​ปี​มา​แล้ว ปัจจุบัน​คง​เป็น​บิดา​มารดา​คน​หนึ่ง​และ​โดย​เพียง​กด​ปุ่ม​ก็​สามารถ​ปรับ​ช่อง​ทีวี​ไป​ยัง​เรื่อง​ตลก ๆ สมัย​ใหม่​ของ​พวก​เขา​ได้. แต่​มาตรฐาน​ได้​เปลี่ยน​ไป. ด้วย​คำนึง​ถึง​สวัสดิภาพ​ของ​ลูก ๆ บิดา​มารดา​พึง​ตรวจ​ดู​เนื้อหา​ใน​การ์ตูน​ซึ่ง​มี​การ​ฉาย​ใน​ทุก​วัน​นี้.

ลอง​พิจารณา​กรณี​ของ​การ์ตูน​เรื่อง “นินจา​เต่า.” ถือ​กัน​ว่า​ตัว​ละคร​ใน​ภาพยนตร์​อเมริกัน​เรื่อง​นี้​มี​ลักษณะ​รุนแรง​เกิน​ไป​สำหรับ​ผู้​ชม​ชาว​ยุโรป. ดัง​นั้น ก่อน​การ​ฉาย​เรื่อง​นี้​ใน​อังกฤษ​ซึ่ง​เป็น​การ์ตูน​ชุด​ที่​สร้าง​ซ้ำ​จาก​ภาพยนตร์​จอ​เงิน สถานี​บีบีซี​จึง​ตัด​บาง​ฉาก​ออก. สถานี​นี้​กระทั่ง​ตัด​คำ “นินจา” ออก​ด้วย เพราะ​คำ​นี้​หมาย​ถึง​พวก​นัก​รบ​ญี่ปุ่น. แล้ว​ก็​เรียก​ตัว​ละคร​เหล่า​นั้น​ว่า “วีรบุรุษ​เต่า” แทน.

แม้​จะ​เป็น​เช่น​นั้น บิดา​มารดา​หลาย​คน​ก็​ได้​แสดง​ออก​ถึง​ความ​ไม่​สบาย​ใจ​บ้าง. มารดา​คน​หนึ่ง​บอก​กับ​หนังสือ​พิมพ์​สก็อตส์แมน​ดัง​นี้: “เด็ก ๆ หลง​กล​ง่าย​มาก. ดิฉัน​มี​ลูก​อายุ​ห้า​ขวบ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​คลั่งไคล้​พวก​นินจา​เต่า​มาก. ตอน​ที่​ดิฉัน​ไป​รับ​เขา​จาก​โรง​เรียน พวก​เด็ก ๆ ทั้ง​หมด​ใน​สนาม​เด็ก​เล่น​กำลัง​พยายาม​เตะ​กัน​แบบ​นินจา​เต่า.”

โดย​ไม่​ได้​นึก​ฝัน เจ้าของ​ร้าน​ของ​เล่น​บาง​คน​มี​ความ​รู้สึก​เป็น​ห่วง​ร่วม​กับ​พวก​บิดา​มารดา​และ​ครู. ร้าน​แห่ง​หนึ่ง​ใน​อังกฤษ​ประกาศ​เลิก​ขาย​ของ​เล่น​นัก​รบ​เต่า​เนื่อง​จาก​เกรง​ว่า​พวก​เด็ก ๆ จะ “ใช้​การ​เตะ​แบบ​คาราเต้​เพื่อ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​กลัว​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​และ​เสี่ยง​ต่อ​ความ​ตาย​จาก​การ​ซ่อน​ตัว​ใน​ท่อ​ระบาย​น้ำ.” มี​อันตราย​อื่น ๆ อีก​ไหม?

อันตราย​แฝง​เร้น

“บาง​ที​เป็น​กลยุทธ์​เพื่อ​ทำ​ตลาด​ใน​กลุ่ม​เด็ก ๆ ชนิด​ที่​ประสบ​ผล​สำเร็จ​แบบ​เห็น​แก่​ตัว​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​มี​มา” นี่​เป็น​วิธี​ที่​หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​หนึ่ง​พรรณนา​ถึง​ความ​เกี่ยว​พัน​ระหว่าง​การ์ตูน “นินจา​เต่า” กับ​การ​ตลาด​ของ​ผลิตภัณฑ์​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย. ถึง​แม้​การ​ผูก​โยง​เช่น​นั้น​ไม่​ใช่​สิ่ง​ใหม่ “ที่​เป็น​สิ่ง​ใหม่​เกี่ยว​ด้วย​นิน​จา​เต่า​ก็​คือ​ขนาด​ที่​ใหญ่​มหึมา” ของ​ตลาด​นั่น​เอง.

ใน​กรณี​นี้ ผู้​มี​สิทธิ​บัตร​จึง​กระหาย​จะ​ขาย​ผลิตภัณฑ์​นินจา​เต่า ซึ่ง​โดย​ประมาณ​การ​แล้ว​มี​ถึง 400​รายการ​ให้​แก่​พวก​เด็ก​วัยรุ่น​ที่​ติด​ใจ​หลงใหล เช่น หนังสือ​การ์ตูน​และ​เสื้อ​ยืด​คอ​กลม​พิมพ์​รูปและ​คำ​ขวัญ​นินจา​เต่า. เอา​ละ ถ้า​การ​ดู​การ์ตูน​โน้ม​น้าว​เด็ก ๆ ให้​อยาก​ได้​สินค้า​เหล่า​นี้​ถึง​ขนาด​นั้น ฉาก​ต่าง ๆ ที่​พวก​เขา​ดู​ใน​การ์ตูน​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ต้อง​มี​ผล​กระทบ​อย่าง​แน่นอน​ไม่​มาก​ก็​น้อย! กระนั้น บาง​คน​อาจ​บอก​ว่า​ความ​นิยม​แบบ​ใหม่​นี้​คง​อยู่​ไม่​นาน​หรอก.

แม้​ว่า​ความ​นิยม​แบบ​นี้​คง​อยู่​ไม่​นาน ตัว​การ์ตูน​โปรด​เก่า ๆ ก็​ยัง​คง​รักษา​แรง​ดึงดูด​ใจ​ไว้. “นินจา​เต่า​อาจ​เป็น​ที่​นิยม​แล้ว​ไม่​นาน​ก็​เสื่อม​ความ​นิยม​ไป แต่​ทอม​กับ​เจอร์รี่​คง​อยู่​ตลอด​กาล” นี่​เป็น​คำ​กล่าว​อ้าง​ของ​เดอะ​ไทม์ส​แห่ง​ลอนดอน. ดัง​นั้น คุณ​อาจ​ต้อง​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​บาง​ข้อ. การ​ดู​การ์ตูน​เช่น​นั้น​ใน​บ้าน​ของ​คุณ​ส่อ​ให้​ลูก​คุณ​เห็น​ไหม​ว่า​คุณ​ยอม​รับ​ภาพ​การ​กระทำ​ทุก​อย่าง? แล้ว​ฉาก​ทารุณ​สัตว์​ล่ะ​จะ​ว่า​อย่าง​ไร? ถูก​ละ คุณ​อาจ​หา​เหตุ​ผล​ว่า​การ์ตูน​ไม่​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​ชีวิต​จริง. แต่​คุณ​ทราบ​ไหม​ว่า​ใน​ขณะ​นี้​เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​การ์ตูน? อะนิเมทรอนิกส์​อย่าง​ไร​ล่ะ!

“อะนิเมทรอนิกส์” คือ​ความ​อัจฉริยะ​ทาง​อิเล็กทรอนิกส์​ซึ่ง​ทำ​ให้​จินตนาการ​ด้าน​การ์ตูน​ดู​เหมือน​จริง เหมือน​จริง​มาก​จน​ผู้​ชม​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​แยกแยะ​ระหว่าง​การ์ตูน​และ​สิ่ง​ที่​เป็น​จริง. เดอะ ซันเดย์​ไทม์ส แมกกาซีน รายงาน​ว่า “วงการ​อะนิเมทรอนิกส์​สร้าง​ภาพ​ใน​ระยะ​ใกล้​ได้​อย่าง​แนบ​เนียน จน​แม้​กระทั่ง​ผู้​ชม​ที่​ชอบ​เยาะเย้ย​ถากถาง​ที่​สุด​ซึ่ง​คุ้น​เคย​กับ​เทคนิค​แปลก ๆ ของ​ภาพยนตร์ ก็​ยัง​ไม่​เอะ​ใจ​เพราะ​รู​ขุม​ขน​ปลอม​หรือ​รอย​ย่น​เทียม.” ฉาก​รุนแรง​ที่​เสนอ​ด้วย​วิธี​นี้​มี​ความ​เป็น​จริง​เป็น​จัง​อย่าง​น่า​ตกตะลึง.

โปรด​พิจารณา​เช่น​กัน​ถึง​มาตรฐาน​ความ​ประพฤติ​ที่​การ์ตูน​สมัย​ใหม่​เสนอ​ให้​คน​รุ่น​ต่อ​ไป. ตาม​รายงาน​ของ​เดอะ​ไทม์ส​แห่ง​ลอนดอน พวก​ตัว​ละคร​ที่​มี​การ​เน้น​ใน​การ์ตูน​เรื่อง​ใหม่​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​เรื่อง​หนึ่ง​เป็น “ครอบครัว​ที่​น่า​ขยะแขยง ประกอบ​ด้วย​คน​ปาก​มาก, คน​จรจัด​และ ‘คน​ที่​ทำ​อะไร ๆ ไม่​ได้​เรื่อง.’” พวก​เขา​ดึงดูด​ความ​สนใจ “ส่วน​หนึ่ง​ก็​เพราะ​พวก​เขา​ต่อ​ต้าน​ระบบ​อำนาจ​อย่าง​มาก​ที​เดียว.”

ใช่​แล้ว พวก​คุณ​ที่​เป็น​บิดา​มารดา​อาจ​มี​เหตุ​ผล​อัน​ดี​ที่​จะ​เป็น​ห่วง​เป็น​ใย​เมื่อ​คุณ​พิจารณา​การ​ดู​การ์ตูน​ของ​ลูก ๆ. ถ้า​เช่น​นั้น คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง?

จง​ขจัด ‘ความ​รุนแรง​เพื่อ​ความ​บันเทิง’

จง​ประเมิน​ประโยชน์​และ​โทษ​ของ​ความ​บันเทิง​แบบ​สำเร็จ​รูป. โดย​คำนึง​ถึง​สวัสดิภาพ​ของ​ครอบครัว บิดา​มารดา​บาง​คน​ได้​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​ไม่​มี​ทีวี​ใน​บ้าน. คน​อื่น ๆ ช่วย​ลูก​ของ​ตน​ให้​ประเมิน​ดู​ด้าน​ดี​และ​ไม่​ดี​ของ​รายการ​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​ดู. หนังสือ​พิมพ์​ดิ​อินดีเพ็นเด็นต์​แห่ง​ลอนดอน​ชี้​แจง​ว่า “ยิ่ง​เด็ก (หรือ​แม้​แต่​ผู้​ใหญ่) ได้​รับ​การ​เตรียม​ไว้​พร้อม​มาก​เท่า​ใด​ใน​การ​ดู​การ์ตูน, การ​โฆษณา, หรือ​การ​กระจาย​ข่าว​ทั้ง​ใน​แง่​วิจารณ์​และ​วิเคราะห์ เธอ​หรือ​เขา​ก็​ยิ่ง​จะ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​สื่อมวลชน​มาก​เท่า​นั้น.” บิดา​มารดา​อยู่​ใน​ฐานะ​ดี​ที่​สุด​อย่าง​แน่นอน​ที่​จะ​ช่วย​ลูก ๆ ของ​ตน​ให้​ทำ​เช่น​นี้.

การ​ศึกษา​ค้นคว้า​ราย​หนึ่ง​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ใน​เรื่อง​ความ​เกี่ยว​พัน​ของ​โทรทัศน์​ใน​ชีวิต​ครอบครัว ได้​มุ่ง​อยู่​ที่​วิธี​สอน​สอง​ประการ​ที่​ต่าง​กัน. ประการ​หนึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​หา​เหตุ​ผล​และ​การ​อธิบาย ควบ​คู่​ไป​กับ​การ​ใช้​ความ​สำนึก​ของ​เด็ก​ใน​เรื่อง​การ​บรรลุ​ความ​สำเร็จ. อีก​ประการ​หนึ่ง​นั้น​ใช้​การ​ลง​โทษ​และ​การ​ขู่​เป็น​หลัก. ผล​ที่​เกิด​ขึ้น​แสดง​ให้​เห็น​อะไร?

เด็ก ๆ ที่​บิดา​มารดา​ขู่​พวก​เขา​ด้วย​การ​ลง​โทษ​ได้​แสดง​ความ​ชอบ “เนื้อหา​ต่อ​ต้าน​สังคม​ที่​มี​อยู่​ใน​โทรทัศน์” ใน​ขณะ​ที่ “เด็ก ๆ ซึ่ง​มารดา​อบรม​ด้วย​การ​หา​เหตุ​ผล​และ​การ​อธิบาย​เป็น​ประการ​สำคัญ​นั้น​ได้​รับ​ผล​กระทบ​น้อย​ที่​สุด” จาก​ฉาก​เช่น​ว่า. ดัง​นั้น บิดา​มารดา​ที่​มี​ความ​เอา​ใจ​ใส่​ควร​อธิบาย​ให้​ลูก ๆ ของ​ตน​ทราบ​ว่า​ทำไม​จึง​ไม่​ฉลาด​ใน​การ​ดู​การ์ตูน​ที่​รุนแรง. แต่​พึง​จด​จำ​ไว้​ว่า เด็ก​วัยรุ่น​เกิด​มา​เป็น​ผู้​เลียน​แบบ และ​เรื่อง​นี้​วาง​ความ​รับผิดชอบ​อัน​หนัก​หน่วง​บน​บิดา​มารดา​ให้​หลีก​เลี่ยง​การ​ดู​ความ​รุนแรง​เพื่อ​ความ​บันเทิง. หาก​คุณ​ดู​ความ​บันเทิง​เช่น​นั้น ลูก ๆ ของ​คุณ​ก็​จะ​เห็น​ว่า​ไม่​ผิด​อะไร​ใน​การ​ที่​พวก​เขา​จะ​ดู​บ้าง.

คุณ​อาจ​ถาม​ว่า ‘ถ้า​อย่าง​นั้น ฉัน​จะ​คอย​ดู​แล​ลูก ๆ ให้​มี​สันทนาการ​ได้​อย่าง​ไร?’ ข้อ​แนะ​ประการ​หนึ่ง​คือ: ทำไม​ไม่​แสวง​หา​ความ​เพลิดเพลิน​ด้วย​การ​ดู​ท่า​ทาง​ตลก​ขบ​ขัน​ของ​สัตว์​ที่​มี​ชีวิต​จริง ๆ ล่ะ? คุณ​อยู่​ใกล้​เขต​อนุรักษ์​ธรรมชาติ​หรือ​สวน​สัตว์​ที่​คุณ​สามารถ​ไป​เยี่ยม​ชม​เป็น​ครอบครัว​ไหม? ถ้า​ไม่ คุณ​ก็​อาจ​เลือก​หา​วีดิทัศน์​เรื่อง​เหมาะ ๆ เกี่ยว​กับ​ชีวิต​สัตว์​ป่า​มา​ดู​ที่​บ้าน​ได้​เสมอ.

น่า​เสียดาย ใน​ปัจจุบัน​ไม่​มี​ใคร​หนี​พ้น​ความ​รุนแรง​ของ​โลก​ซึ่ง​เรา​อาศัย​อยู่​นี้​ได้. แต่​ไม่​ว่า​เรา​เป็น​วัยรุ่น​หรือ​คน​สูง​วัย เรา​ก็​สามารถ​เลือก​ได้​อย่าง​สุขุม ถ้า​เรา​ปรารถนา​เช่น​นั้น เพื่อ​จะ​หลีก​เลี่ยง​การ​ดู​สิ่ง​ใด ๆ ที่​เพาะ​เลี้ยง​ความ​รุนแรง.

[รูปภาพ​หน้า 12]

การ์ตูน​ส่ง​เสริม​ความ​รุนแรง​ไหม?