ฆาตกรยังลอยนวล
ฆาตกรยังลอยนวล
มาร์กาเร็ตดิ้นรนสุดชีวิต เพื่อหาทางเยียวยารักษาติโตบุตรชายที่ติดเชื้อมาลาเรีย. ยาสามขนาน รวมทั้งโคลโรควินยาที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ถูกนำมาใช้. กระนั้น ติโตก็เสียชีวิต—ในวัยเพียงเก้าเดือนเท่านั้น.
ในเคนยา อันเป็นถิ่นที่อยู่ของมาร์กาเร็ต โศกนาฏกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว. วารสาร “นิวส์วีก” รายงานว่า “‘อะโนฟิลิส แกมเบีย’ ราชินีแห่งยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อมาลาเรีย เฟื่องฟูในส่วนนี้ของโลก. แต่จำนวนเด็ก ๆ กลับตรงข้าม. ร้อยละห้าของเด็กเหล่านั้นเสียชีวิตเพราะมาลาเรียก่อนถึงวัยเรียน.”
เมื่อปี 1991 วัณโรคคร่าชีวิตนักโทษ 12 คนและผู้คุมหนึ่งคนในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา. นายแพทย์จอร์จ ดีเฟอร์ดินานโด จูเนียร์ กล่าวว่า “เราจะควบคุมโรคนี้ในเรือนจำ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ เราจะควบคุมโรคนี้ได้อย่างไรในเมื่อมันฝังรากแน่นในชุมชนแล้ว?”
องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า ประชากรหนึ่งพันเจ็ดร้อยล้านคน—เกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก—มีเชื้อวัณโรค. ทุกปี แปดล้านคนในจำนวนนี้ล้มป่วยเป็นวัณโรค และสามล้านคนเสียชีวิต.
ณ โรงพยาบาลในนครนิวยอร์ก ทารกเพศหญิงรายหนึ่งคลอดก่อนกำหนด 11 สัปดาห์ แต่ปัญหาไม่จบแค่นั้น. ผิวหนังตามฝ่ามือของเธอหลุดลอก, มีแผลเปื่อยตามฝ่าเท้า, ตับและม้ามโต ทั้งหมดนี้ให้หลักฐานชัดเจนว่า ทารกติดเชื้อซิฟิลิสระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา.
หนังสือพิมพ์ “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” รายงานว่า “ทารกบางคนถูกโรคนี้ทำร้ายอย่างเหี้ยมโหดขณะอยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดตาย. บางคนเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน บางคนมีรอยโรคบนผิวหนังอย่างรุนแรง ซึ่งแตกออกระหว่างคลอด.”
มาลาเรีย, วัณโรค, และซิฟิลิส—ทั้งสามโรคนี้คิดกันว่าควบคุมได้แล้ว และจวนจะถูกขจัดให้หมดสิ้นไปเมื่อสองสามทศวรรษที่แล้ว. ทำไมโรคดังกล่าวจึงกลับมาก่อความหายนะอีก?