ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตชาวกรุงตามไหล่เขาแห่งนครคารากัส

ชีวิตชาวกรุงตามไหล่เขาแห่งนครคารากัส

ชีวิต​ชาว​กรุง​ตาม​ไหล่​เขา​แห่ง​นคร​คารากัส

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ประเทศ​เวเนซุเอลา

นคร​คารากัส ประเทศ​เวเนซุเอลา. อาคาร​สำนักงาน​สูง​ตระหง่าน​ทัน​สมัย​หลาย​หลัง​ตั้ง​ทะมึน​อยู่​เหนือ​เสียง​อึกทึก​ของ​ยวดยาน ร้าน​ค้า​ที่​จอแจ​และ​ภัตตาคาร​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ผู้​คน. นัก​ทัศนาจร สวม​กางเกง​ขา​สั้น​และ​หมวก​กัน​แดด สะพาย​กล้อง​ถ่าย​รูป เดิน​ท่อง​เที่ยว​ไป​ตาม​จัตุรัส​ต่าง ๆ. บาท​วิถี​คับคั่ง​ไป​ด้วย​ผู้​คน.

แต่​ยัง​มี​อีก​ด้าน​หนึ่ง​ของ​นคร​คารากัส. นอก​เหนือ​จาก​อาคาร​สมัย​ใหม่​ที่​ทำ​ด้วย​โครเมียม, เหล็ก, และ​กระจก​แล้ว ยัง​มี ลอส เซอร์รอส (เทือก​เขา) อัน​เป็น​ชุมชน​แปลก​ประหลาด​สร้าง​อยู่​ตาม​ไหล่​เขา. ชุมชน​เหล่า​นี้​ยึด​ติด​อยู่​กับ​เขา​อัน​สูง​ชัน​ซึ่ง​ราย​ล้อม​นคร​นั้น​ทั้ง​ด้าน​ตะวัน​ออก, ตะวัน​ตก, และ​ด้าน​ใต้. ประชาชน​เกือบ​สอง​ล้าน​คน​อาศัย ณ ที่​นั่น ใน​ย่าน​ต่าง ๆ นับ​ร้อย​แห่ง​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า บาร์ริโอ.

ชุมชน​เหล่า​นี้​เกิด​ขึ้น​มา​อย่าง​ไร? ใน​ปี 1958 รัฐบาล​ได้​จัด​โครงการ​ให้​เงิน​แก่​ชาว​กรุง​ที่​ไม่​มี​งาน​ทำ. ดัง​นั้น​ผู้​คน​จึง​หลั่งไหล​เข้า​สู่​เมือง​หลวง​เพื่อ​ฉวย​ประโยชน์​จาก​การ​จัด​เตรียม​นี้. หลาย​คน​ทิ้ง​ถิ่น​ฐาน​ใน​จังหวัด​ต่าง ๆ เพื่อ​เสาะ​หา​ผล​ประโยชน์​ที่​เมือง​หลวง​มี​ไว้​ให้ เช่น​โรง​พยาบาล, โรง​เรียน, มหาวิทยาลัย.

ความ​รุนแรง​ทาง​การ​เมือง​และ​ความ​ตก​ต่ำ​ทาง​เศรษฐกิจ​ของ​ประเทศ​เพื่อน​บ้าน​ก็​เป็น​สาเหตุ​อย่าง​หนึ่ง​ด้วย​ที่​ทำ​ให้​ผู้​คน​อพยพ​ย้าย​ถิ่น​เข้า​สู่​คารากัส​เพื่อ​หา​งาน​ทำ. ใน​ไม่​ช้า​พื้น​ที่​ราบ​ของ​หุบเขา​แห่ง​นคร​คารากัส​ก็​เต็ม จึง​เป็น​การ​ผลัก​ดัน​ให้​ผู้​คน​เคลื่อน​สูง​ขึ้น​ไป​เพื่อ​เสาะ​หา​ที่​อาศัย. โดย​วิธี​นี้​แหละ​ที่​ชุมชน​ไหล่​เขา​เกิด​ขึ้น​มา.

การ​เดิน​ทาง​ขึ้น​เขา

เรา​เริ่ม​ต้น​เดิน​ทาง​โดย​การ​ต่อ​แถว​ที่​มี​ผู้​คน​ยาว​เหยียด. พวก​เขา​ไม่​ได้​รอ​รถ​บัส​แต่​กำลัง​รอ​รถ​จี๊ป ซึ่ง​เหมาะ​สม​กว่า​สำหรับ​การ​ไต่​เขา​อัน​สูง​ชัน​ที่​อยู่​เบื้อง​หน้า. รถ​จี๊ป​ช่วง​ยาว​เคลื่อน​เข้า​มา​จอด และ​ผู้​โดยสาร​สิบ​กว่า​คน​แย่ง​กัน​ขึ้น​ไป​นั่ง. ห้า​คน​จะ​นั่ง​ด้วย​กัน​ที่​ม้า​ยาว​แต่​ละ​ตัว​ซึ่ง​วาง​ตาม​แนว​ยาว​ด้าน​หลัง​รถ อีก​สอง​คน​แบ่ง​กัน​นั่ง​ด้าน​หน้า​ซึ่ง​ใคร ๆ ก็​หมาย​ปอง. ใน​ไม่​ช้า​เรา​ก็​ต้อง​ก้ม​ตัวจน​สุด​เพื่อ​มุด​เข้า​ทาง​ประตู​หลัง. เรา​เบียด​ตัว​ลง​ตรง​ซอก​หนึ่ง​บน​ม้า​นั่ง ซุก​เข่า​อยู่​ใต้​คาง​และ​พยายาม​ไม่​เหยียบ​ถุง​ผัก​ของ​สตรี​ผู้​หนึ่ง.

เรา​เริ่ม​ไต่​ขึ้น​เขา​ที่​สูง​ชัน. ถนน​แคบ​และ​มัก​จะ​คดเคี้ยว​ไป​มา. บาง​ครั้ง​ดู​ราว​กับ​ถนน​ตั้ง​ตรง. คน​ขับ​รถ​เปิด​เทป​เพลง​โปรด​ของ​เขา​และ​ไม่​ช้า​ผู้​โดยสาร​ก็​เคาะ​เท้า​ตาม​จังหวะ​ลาติน. ทันใด​นั้น​ใคร​บาง​คน​ก็​ตะโกน​บอก​คน​ขับ​ว่า “¡​ดอนเด ปูเอดา!” (จอด​ได้​ก็​จอด!) อาจ​ดู​เป็น​วิธี​ขอ​แบบ​แปลก ๆ ให้​คน​ขับ​จอด​รถ. แต่​นับ​ว่า​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ไว้​ใจ​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เขา. ถ้า​รถ​จี๊ป​จอด​ตรง​ช่วง​ถนน​ที่​ชัน​มาก มัน​อาจ​ไม่​เคลื่อน​ที่​อีก​เลย—อย่าง​น้อย​ก็​ไม่​เคลื่อน​ไป​ข้าง​หน้า! ผู้​โดยสาร​สอง​สาม​คน​แต่ง​ตัว​ปอน ๆ สะเปะสะปะ​ออก​ทาง​ประตู​หลัง โดย​เหยียบ​ปลาย​เท้า​ของ​ผู้​อื่น​ระ​ไป​ตลอด​ทาง.

ไม่​นาน​นัก​รถ​เรา​ก็​จ่อ​อยู่​ข้าง​หลัง​รถ​คัน​หนึ่ง​ที่​ขับ​ช้า ๆ และ​มี​น้ำ​รั่ว​ออก​มา​ทุก​แนว​ตะเข็บ. นั่น​คือ​รถ​บรรทุก​น้ำ ขน​น้ำ​อัน​มี​ค่า​ไป​ยัง​บ้าน​ต่าง ๆ ที่​ซึ่ง​น้ำ​ประปา​ถือ​เป็น​สิ่ง​อำนวย​ความ​สะดวก​ที่​พวก​เขา​แทบ​ไม่​รู้​จัก. ผู้​คน​มัก​จะ​เก็บ​น้ำ​ไว้​ใน​แท็งก์​หรือ​ใน​ถัง​น้ำมัน​ที่​ใช้​แล้ว.

รถ​จี๊ป​หยุด​กึก​ลง​อีก​ครั้ง​หลัง​จาก​หยุด​ระ​ทาง​มา​ตลอด และ​เรา​นึก​ขึ้น​ได้​ว่า​ถึง​เวลา​ลง​จาก​รถ​แล้ว. พื้น​ดิน​แข็ง​ที่​เรา​เหยียบ​ลง​ไป​ให้​ความ​รู้สึก​แปลก ๆ และ​เรา​หยุด​ยืน​ชั่ว​ครู่​เพื่อ​คุ้น​เคย​กับ​ทิศ​ทาง​รอบ​ข้าง.

บ้าน​ตาม​ไหล่​เขา

บ้าน​แต่​ละ​หลัง​จะ​สร้าง​ที่​ใด​แบบ​ใด​ก็​ได้​ทั้ง​นั้น. ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​จะ​เพิ่ม​ห้อง​หรือ​กระทั่ง​เพิ่ม​ชั้น​ให้​มาก​ขึ้น​เมื่อ​ครอบครัว​ขยาย​ใหญ่. บ้าง​ก็​เป็น​บ้าน​หลัง​เล็ก ๆ แข็งแรง​ทำ​ด้วย​อิฐ. แต่​บ้าน​อื่น ๆ ทำ​ด้วย ไม้​กระดาน, ถัง​ที่​นำ​มา​ตี​ให้​แบน, หรือ​แม้​แต่​ลัง​ใส่​ของ​ซึ่ง​ยัง​คง​มอง​เห็น​ตรา​ประทับ “ตั้ง​ด้าน​นี้​ขึ้น.”

ดู​ค่อนข้าง​จะ​เงียบ​เมื่อ​รถ​จี๊ป​ที่​ส่ง​เสียง​คำราม​ลั่น​คัน​นี้​ลับ​ตา​ไป. ทิวทัศน์​น่า​ทึ่ง​จริง ๆ. ที่​นั่น​ไกล​ลง​ไป​ข้าง​ล่าง คือ​ใจ​กลาง​นคร​คารากัส. ทันใด​นั้น​ความ​เงียบ​ก็​มลาย​หาย​ไป​เพราะ​มี​เสียง​ตะโกน​แสบ​แก้ว​หู​ดัง​ออก​มา​จาก​ลำโพง: “เอ้า มี​หัว​หอม. มี​มันฝรั่ง, มัน​สำปะหลัง, และ​กล้วย”. เมื่อ​หัน​ไป​เรา​เห็น​รถ​บรรทุก​คัน​หนึ่ง​ซึ่ง​จอด​สงบ​นิ่ง​อยู่​ใกล้ ๆ กลับ​มี​ชีวิต​ชีวา​ขึ้น​มา​ใน​บัดดล. เด็ก​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​คอย​บริการ​ลูก​ค้า​จาก​ท้าย​รถ.

บาร์ริโอ มี​ประมาณ 500 แห่ง​ใน​นคร​คารากัส. บาง​แห่ง​ตั้ง​ชื่อ​ตาม​ชื่อ “นัก​บุญ” บาง​แห่ง​ตั้ง​ตาม​วัน​สำคัญ​ทาง​ประวัติศาสตร์​หรือ​ตาม​ชื่อ​นัก​การ​เมือง. ส่วน​ชื่อ​อื่น ๆ สะท้อน​ให้​เห็น​ความ​ทะเยอทะยาน​ของ​ผู้​อาศัย​มาก​กว่า​ความ​เป็น​จริง. ตัว​อย่าง​เช่น: เอล โป​ร​เก​ร​โซ (ความ​ก้าว​หน้า), นู​เอ​โว มุ​นโด (โลก​ใหม่), และ เอล เอ็น​กาน​โต (สุข​เกษม​เปรมปรีดิ์).

ชีวิต​ใน​บาร์​ริ​โอ

น้ำใจ​ของ​ชุมชน​ที่​นี่​เฟื่องฟู​มาก. บ่อย​ครั้ง มี​การ​ออก​ความ​พยายาม​ร่วม​กัน​เพื่อ​ขจัด​การ​ใช้​ยา​เสพย์ติด​หรือ​อาชญากรรม​ออก​ไป​จาก​บาร์​ริ​โอ. บาร์​ริ​โอ​ส่วน​ใหญ่​มี โบเดกาส—ร้าน​ขาย​ของชำ​หลาก​หลาย​ชนิด—รวม​ทั้ง​โรง​เรียน​และ​ร้าน​ขาย​ยา ที่​ซึ่ง​เภสัชกร​อยู่​พร้อม​เสมอ​ใน​การ​ช่วย​วินิจฉัย​โรค​และ​แนะ​นำ​วิธี​รักษา​ความ​เจ็บ​ไข้​เล็ก ๆ น้อย ๆ.

กระนั้น ชีวิต​ที่​นี่​ก็​ไม่​ง่าย. ดร. เอลิโอ โกเมช กริลโล นัก​อาชญา​วิทยา พรรณนา​ปัญหา​ต่าง ๆ ดัง​นี้: “ประชากร​สอง​ล้าน​คน​ใน​ปัจจุบัน​ที่​อาศัย​อยู่​ตาม​บริเวณ​ไหล่​เขา​รอบ​เมือง​นี้​แทบ​ไม่​สามารถ​สนอง​ความ​ต้องการ​พื้น​ฐาน​ของ​ชีวิต​ได้. อัตรา​ความ​เสเพล​กำลัง​ถีบ​ตัว​สูง​ขึ้น . . . การ​ฆ่า​ตัว​ตาย, การ​ทำ​ร้าย​เพื่อ​ชิง​ทรัพย์, การ​ปล้น​ธนาคาร, และ​การ​ปล้น​จี้​ด้วย​อาวุธ​ซึ่ง​ยัง​ผล​ให้​เกิด​การ​ฆ่า​คน​นั้น​เป็น​เรื่อง​น่า​หนัก​ใจ.” ไฟฟ้า​ดับ​และ​น้ำ​ขาด​แคลน​เกิด​ขึ้น​เป็น​กิจวัตร.

ใน​ฤดู​ฝน ลอส เซอร์รอส จะ​เปลี่ยน​จาก​หน้า​มือ​เป็น​หลัง​มือ. พื้น​ดิน​กลาย​เป็น​โคลน ขั้น​บัน​ใด​ตาม​ไหล่​เขา​กลาย​เป็น​น้ำ​ตก​เล็ก ๆ และ​ขยะ​ไหล​ลง​มา​ตาม​ร่อง​น้ำ​ซึ่ง​เอ่อ​ล้น​ท่อ​ระบาย​น้ำ​ข้าง​ถนน. เสียง​ฝน​ตก​กระทบ​หลังคา​สังกะสี​ดัง​สนั่น​หวั่นไหว การ​พูด​คุย​กัน​ภาย​ใน​บ้าน​ต้อง​ยุติ​ลง​เพราะ​แต่​ละ​คน​วุ่น​อยู่​กับ​การ​หา​กะละมัง​และ​ถังเพื่อ​รอง​น้ำ​ที่​รั่ว​ลง​มา. แต่​ใน​ไม่​ช้า​แดด​ก็​ออก​อีก​ครั้ง​และ​ทำ​ให้​น้ำ​ที่​ชุ่ม​หลังคา​และ​ถนน​เหือด​แห้ง​ไป. ทำนอง​เดียว​กัน น้ำใจ​ทรหด​ตาม​แบบ​ฉบับ​เวเนซุเอลา​ก็​ปรากฏ​ให้​เห็น​อีก. ชีวิต​เดิน​หน้า​ต่อ​ไป.

เดิน​เท้า​ต่อ​ไป​และ​ไต่​ขึ้น

การ​เดิน​ทาง​ยัง​ไม่​สิ้น​สุด. เรา​ยัง​ต้อง​ขึ้น​ไป​ให้​ถึง​บ้าน​เพื่อน​ของ​เรา. ระหว่าง​บ้าน​สอง​หลัง​จะ​มี​บัน​ใด​คอนกรีต​สูง​ชัน​และ​ขรุขระ​ทอด​ขึ้น​ไป​เรื่อย ๆ ตาม​แนว​ภูเขา. มี​ป้าย​หลาก​หลาย​แข่ง​กัน​ดึงดูด​ความ​สนใจ​ของ​เรา ติด​อยู่​ตาม​บ้าน​ที่​แออัด​ซึ่ง​ดู​เหมือน​พยายาม​แย่ง​ที่​กัน: เปโก ซีเยอร์เรส (รับ​ติด​ซิป); คอร์เทส เดอ เปโล (ตัด​ผม); เซ เวนเดน เอลาโดส (ขาย​ไอศกรีม). ผู้​อยู่​อาศัย​ที่​นี่​ทำ​ทุก​อย่าง​เพื่อ​หา​เลี้ยง​ชีพ. บาง​คน​รับ​พ่น​สี​รถยนต์, เปลี่ยน​น้ำมัน​เครื่อง, และ​ซ่อม​รถ—ทุก​อย่าง​ทำ​ตาม​ถนน.

เรา​พัก​หายใจ​ชั่ว​ครู่​เมื่อ​ขึ้น​ถึง​ยอด​บัน​ใด ถัด​จาก​นั้น​เรา​เลี้ยว​เข้า​ไป​ตาม​ทาง​ที่​วก​เวียน​และ​แคบ​ระหว่าง​บ้าน​หลัง​ต่าง ๆ. เมื่อ​เรา​โผล่​ออก​มา​จาก​ทาง​เดิน​วก​วน​นี้ ต้อง​หรี่​ตา​เนื่อง​จาก​แสง​แดด​สว่าง​จ้า. บ้าน​เพื่อน​ของ​เรา​อยู่​ตาม​ทาง​เดิน​ที่​เป็น​ดิน. ที่​นี่​ไม่​มี​เลข​บ้าน—อีก​ทั้ง​ไม่​มี​บริการ​ทาง​ไปรษณีย์. กลิ่น​กาแฟ​ชง​ใหม่ ๆ ลอย​มา​ตาม​สาย​ลม. ไม่​ต้อง​สงสัย เจ้าภาพ​ของ​เรา​คง​ต้อนรับ​เรา​ด้วย​กาแฟ​เสิร์ฟ​ใน​ถ้วย​เล็ก ๆ พร้อม​กับ​อาเรปา (ขนมปัง​เนื้อ​นุ่ม​ทำ​จาก​แป้ง​ข้าว​โพด​แต่ง​เติม​รสชาติ​ด้วย​ไส้​หลาย​หลาก).

ยินดี​ต้อนรับ

เป็น​ดัง​ที่​คาด​ไว้ ด้วย​ธรรมเนียม​รับ​แขก​ตาม​แบบ​ที่​ถือ​ปฏิบัติ​กัน ครอบครัว​นี้​ต้อนรับ​เรา​สู่​บ้าน​เล็ก ๆ แบบ​เรียบ​ง่าย​แต่​สะอาด​ซึ่ง​เรียก​ว่า รันซิโต. “เอสตัน เอน ซู กาซา” (ทำ​ตัว​ตาม​สบาย​นะ​ครับ) เป็น​หนึ่ง​ใน​สิ่ง​แรก​ที่​เขา​พูด.

เมื่อ​แดด​ต้อง​หลังคา​สังกะสี เรา​นึก​ขอบคุณ​ลม​เย็น​ซึ่ง​พัด​ผ่าน​หน้าต่าง​ที่​ไร้​กระจก. แต่​หน้าต่าง​ก็​มี​ลูก​กรง​กั้น​ไว้​เนื่อง​จาก​การ​ขโมย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที​เดียว. เจ้าบ้าน​สังเกต​เห็น​ว่า​เรา​ร้อน​จึง​นำ​พัด​ลม​ออก​มา​ซึ่ง เช่น​เดียว​กับ​ตู้​เย็น​และ​โทรทัศน์ ถือ​เป็น​อุปกรณ์​มาตรฐาน​ที่​นี่. พื้น​บ้าน​เป็น​ซีเมนต์. เพื่อน​บ้าน​หลาย​คน​มี​แค่​พื้น​ที่​เป็น​ดิน.

สามี ซึ่ง​เป็น​บิดา​ของ​ลูก​เล็ก ๆ ห้า​คน ย้าย​จาก​ชนบท​เข้า​มา​อยู่​ใน​คารากัส​ตั้ง​แต่​เป็น​วัยรุ่น​เพื่อ​เสาะ​หา​โอกาส​ที่​ดี​กว่า​ใน​เมือง​ใหญ่. เขา​ไป​อาศัย​อยู่​กับ​พี่​ชาย​ที่​แต่งงาน​แล้ว ผู้​ซึ่ง​เหมือน​กับ​คน​ส่วน​มาก​ที่​มา​ก่อน​เขา เข้า​จับ​จอง​ที่​ดิน​ซึ่ง​ยัง​ไม่​มี​ใคร​ครอบครอง ณ ที่​สูง​บน​ไหล่​เขา. เมื่อ​เพื่อน​ของ​เรา​พบ​ผู้​หญิง​ที่​ภาย​หลัง​เป็น​ภรรยา​ของ​เขา พี่​ชาย​เขา​พูด​อย่าง​ใจ​กว้าง​ว่า​พวก​เขา​สามารถ​ใช้​ที่​ดิน​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่​เล็ก​น้อย​ข้าง​บ้าน สร้าง​บ้าน​ชั่ว​คราว​ขึ้น​ได้. ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​เพื่อน​บ้าน​และ​ญาติ สามี​ภรรยา​คู่​นี้​จึง​สร้าง​บ้าน​ด้วย​อิฐ​ที​ละ​เล็ก​ละ​น้อย ณ จุด​นั้น​เอง.

ครอบครัว​นี้​รู้สึก​ว่า​ทำเล​ดัง​กล่าว​ไม่​ใช่​ที่ ๆ ดี​ที่​สุด​สำหรับ​พวก​เขา แต่​พวก​เขา​ก็​ยอม​รับ​สภาพ​ของ​ตน​เอง. พวก​เขา​พยายาม​ใช้​ประโยชน์​จาก​สิ่ง​ที่​มี​อยู่​มาก​เท่า​ที่​เป็น​ได้. ‘บาง​ที สัก​วัน​หนึ่ง​เรา​อาจ​ย้าย​ต่ำ​ลง​ไป​ข้าง​ล่าง​ได้’ พวก​เขา​กล่าว “ซี ดีออส คีเยเร” (ถ้า​เป็น​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระเจ้า).

ช่วง​บ่าย​ที่​น่า​เพลิดเพลิน​อย่าง​ยิ่ง​ผ่าน​ไป​ใน​การ​อยู่​กับ​ครอบครัว​ที่​ยาก​จน​แต่​มี​ใจ​กรุณา. บาง​ครั้ง การ​สนทนา​ถูก​ขัด​จังหวะ​ด้วย​เด็ก​เล็ก ๆ ซึ่ง​มา​ซื้อ​ลูก​กวาด​ที่​หน้าต่าง. นี้​เป็น​วิธี​ที่​ภรรยา​ช่วย​เสริม​ราย​ได้​ของ​สามี.

การ​ลง​เขา

เรา​อยาก​จะ​กลับ​ก่อน​มืด. วัน​นี้​เป็น​วัน​ศุกร์ และ​บาร์ริโอ ดู​คึกคัก​ขึ้น เพราะ​พวก​ผู้​ชาย​กลับ​บ้าน​พร้อม​กับ​ค่า​จ้าง​ของ​เขา. เบียร์​ใน​โบ​เด​กา​ส​ขาย​ดิบ​ขาย​ดี และ​เสียง​เพลง​ซัลซา อีก​ทั้ง​จังหวะ เม​อร์เรง​เก ช่วย​สร้าง​บรรยากาศ​ยาม​สุด​สัปดาห์​ที่​ผ่อน​คลาย.

เมื่อ​เรา​ลง​มา​ถึง​เชิง​เขา เรา​เดิน​ตรง​ไป​ยัง​สถานี​รถไฟ​ที่​ใกล้​ที่​สุด. ที่​นั่น​รถไฟ​ใต้​ดิน​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​จะ​พา​เรา​ไป​ยัง​ใจ​กลาง​เมือง. เรา​รู้สึก​สบาย​ใจ​ขึ้น​บ้าง​เมื่อ​กลับ​มา​สู่​ที่​ที่​คุ้น​เคย​มาก​กว่า. แต่​ขณะ​ที่​เรา​มอง​กลับ​ขึ้น​ไป​ยัง ลอส เซอร์รอส ซึ่ง​บัด​นี้​มี​แสง​ไฟ​มาก​มาย​ส่อง​ระยิบระยับ​ท่ามกลาง​ความ​มืด เรา​ดีใจ​ที่​มี​โอกาส​ได้​มา​รู้​จัก​ดี​ขึ้น ณ อีก​ด้าน​หนึ่ง​ของ​นคร​คารากัส.