ยักษ์ใหญ่ที่น่าทึ่งทางตอนเหนือของแคนาดา
ยักษ์ใหญ่ที่น่าทึ่งทางตอนเหนือของแคนาดา
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในประเทศแคนาดา
“ราชาแห่งขั้วโลกเหนือ,” และ “เจ้าแห่งอาร์กติก” นี้เป็นบรรดาศักดิ์ที่โดดเด่นของหมีขั้วโลกประมาณ 30,000 ตัวซึ่งท่องเที่ยวไปทั่วบริเวณขั้วโลกเหนือ.
ประชากรหมีขั้วโลกมีหลายชนิดแตกต่างกัน. กลุ่มหนึ่งได้เลือกเอาชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวฮัดสัน นับจากเกาะอะคิมมิสกีในอ่าวเจมส์ไปจนถึงปากทางน้ำเข้าเชสเตอร์ฟิลด์ทางทิศเหนือ เป็นอาณาจักรของตน. ด้วยเหตุนี้ เมืองเชอร์ชิลล์ในรัฐมานิโตบา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบริเวณดังกล่าวจึงได้รับสมญานามว่า “เมืองหลวงหมีขั้วโลกแห่งพิภพ.”
หมีขั้วโลกตัวผู้ท่องไปในอาณาจักรของตนด้วยความอยากรู้อยากเห็นและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย. สิ่งนี้ทำให้มันได้รับฉายาเชิงกวีในภาษาอินูอิตว่า พีโฮคาฮีแอก ซึ่งหมายความว่า “ผู้พเนจรตลอดเวลา.”
หมีขั้วโลกเป็นที่สนใจของนักสำรวจขั้วโลกเหนือรุ่นแรก ๆ. จอห์น มิวร์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง พรรณนาหมีขั้วโลกว่าเป็น ‘สัตว์ที่สง่างามและมีพลังมหาศาล ใช้ชีวิตอย่างองอาจและอบอุ่นท่ามกลางน้ำแข็งที่ไม่มีวันละลาย.’
แม้จะหนักตั้งแต่ 450 ถึง 640 กิโลกรัม แต่หมีขั้วโลกก็มีความปราดเปรียวเกือบจะเท่ากับแมว. ดังที่นักชีววิทยาคนหนึ่งกล่าวว่า “พวกมันเหมือนแมวตัวใหญ่. แทบไม่น่าเชื่อว่ามันจะว่องไวปานนั้น—ช่างปราดเปรียวเหลือเกิน.”
ผสมพันธุ์และจำศีล
หมีตัวผู้ไม่มี ‘ชีวิตครอบครัว.’ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว มันจะปล่อยตัวเมียไว้ตามลำพัง พร้อมด้วยความรับผิดชอบในการเลี้ยงลูกเองทั้งหมด. ไข่ที่ผสมพันธุ์แล้วภายในท้องแม่จะแบ่งตัวระยะหนึ่ง จากนั้นก็สงบนิ่งเป็นเวลาสี่หรือห้าเดือน.
เมื่อตัวอ่อนเกาะที่ผนังมดลูกและเริ่มเจริญเติบโต ตัวเมียจะขุดโพรงในกองหิมะที่หนาที่สุดเท่าที่มันจะหาได้ หรือขุดโพรงใต้ดินตามชายฝั่งของทะเลสาบ. ที่นั่น มันอยู่โดยไม่มีอาหาร, ไม่มีการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ จนถึงปลายเดือนมีนาคม.
โพรงได้รับการออกแบบอย่างดี. ช่องอุโมงค์จากทางเข้าจะค่อย ๆ สูงขึ้นไปเป็นระยะสองเมตร จนเป็นที่พักซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่. ที่นี่ ความร้อนของร่างกายจะถูกกักไว้ ยังผลให้โพรงมักมีอุณหภูมิอุ่นกว่าภายนอกถึง 20 องศาเซลเซียส. ช่องเล็ก ๆ ที่หลังคาช่วยให้อากาศอับภายในระบายออกไปได้. อาจปูพื้นใหม่ตามความจำเป็น โดยย่ำหิมะที่ขูดลงมาจากหลังคาให้แน่น.
คุณคงคิดว่า หมีตัวใหญ่จะให้กำเนิดลูกตัวใหญ่. แต่ลูกหมีเกิดใหม่มีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมเท่านั้น! ปกติ ลูกหมีมักเกิดในช่วงเดือนธันวาคมหรือต้นเดือนมกราคม.
ลูกหมีจะเกิดมาโดยตายังปิดอยู่และหูยังไม่ได้ยิน มีขนปุกปุยยกเว้นที่อุ้งเท้าและจมูก. ด้วยกรงเล็บอันโง้ง มันคลานไปตามขนของแม่ เพื่อจะได้ดูดน้ำนมที่ข้น, มัน, และมีรสคล้ายน้ำมันตับปลา.
ตามปกติ หมีตัวเมียในบริเวณส่วนใหญ่ของขั้วโลกเหนือมีลูกแฝดทุกสามปี. อย่างไรก็ตาม หมีในแถบอ่าวฮัดสันมีลูกดกกว่า บางครั้งอาจมีแฝดสาม และเป็นครั้งเป็นคราวมีแฝดสี่ ปีเว้นปี. ลูกหมีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว. พออายุได้ราว ๆ 26 วัน ลูกหมีก็เริ่มได้ยินเสียง. ต่อมาอีกเจ็ดวัน ก็จะลืมตา. ขนอ่อน ๆ เมื่อแรกเกิดจะเปลี่ยนเป็นขนจริง ซึ่งดกกว่ามาก.
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ครอบครัวหมีก็จะออกจากโพรงมาสู่แสงแดดของฤดูใบไม้ผลิแถบขั้วโลกเหนือ. เนื่องจากมีหิมะมากมายรายรอบ ลูกหมีจึงวิ่งเล่นและกลิ้งตัวไปมา. เมื่อพบเนินเขาชัน ลูกหมีจะไถลลงมาด้วยพุงใบน้อย ๆ เหยียดเท้าหน้าและเท้าหลัง สู่วงแขนของแม่ที่กำลังรอรับอยู่เบื้องล่าง.
บางครั้ง ลูกหมีรู้สึกยากที่จะเดินตามรอยเท้าแม่ในหิมะที่หนา. วิธีแก้ปัญหาน่ะหรือ? ก็ขี่หลังไงล่ะ! คราวหนึ่ง ช่างภาพเห็นพวกหมีตัวเมียซึ่งถูกเฮลิคอปเตอร์รบกวน วิ่งหนีโดยมีลูกขี่อยู่บนหลัง “เหมือนจ็อกกี้น้อยที่ตื่นตระหนก.”
ด้วยความเอาใจใส่ แม่หมีฝึกลูก ๆ ประมาณสองปีครึ่ง. แล้วก็ปล่อยลูกหมีไป. ตอนนี้ ลูกหมีเป็นตัวของตัวเอง.
คุณลักษณะอื่น ๆ
จากบทความในนิตยสารไลฟ์ “หมีขั้วโลกเป็นสัตว์สี่เท้าที่เป็นนักว่ายน้ำทรงพลังที่สุดของโลก.” มันว่ายน้ำฝ่าแพน้ำแข็งข้ามอ่าวกว้าง ๆ ได้. เนื่องจากน้ำหรือเกร็ดน้ำแข็งไม่ติดขนที่เป็นมัน การสะบัดตัวแรง ๆ จึงทำให้เห็นรัศมีทรงกลดของละอองน้ำเล็ก ๆ. การกลิ้งตัวในหิมะ
แห้งเป็นการซับเอาความชื้นที่ยังเหลืออยู่ออกไป และไม่กี่นาที ขนของมันก็แห้ง.เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ถึงข้อลึกลับอันน่ามหัศจรรย์ของขนหมี. วิธีที่แสงถูกดูดกลืนและถูกสะท้อนออกจากขนไม่เพียงแค่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แต่ยังทำให้ขนของมันดูขาวเป็นประกายอีกด้วย. *
แต่ มันหาทิศทางได้อย่างไรในมหาสมุทรอาร์กติกซึ่งมีภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และจุดสังเกตตายตัวซึ่งอาจช่วยมันหาทิศทางถ้าจะมีก็เพียงไม่กี่แห่ง? ตามหนังสือ อาร์กติก ดรีมส์ หมี “คงต้องมีแผนที่อยู่ในหัว . . . ความจำไม่ช่วยอะไร. หมีสร้างและใช้แผนที่นั้นอย่างไรเป็นคำถามที่น่าสนใจที่สุดคำถามหนึ่งจากทั้งหมดที่เกี่ยวกับหมี.” มันพเนจรไปเป็นสัปดาห์ ๆ ได้โดยไม่หลงทาง.
แม้ว่าหมีขั้วโลกไม่ค่อยจู่โจมมนุษย์ แต่ผู้ที่ไปเยี่ยมชมจำต้องคำนึงถึงกำลังมหาศาลและความว่องไวของมัน. หนังสือเล่มเดียวกันนี้กล่าวว่า “หมีขั้วโลกค่อนข้างขี้อายและไม่ก้าวร้าว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับหมีสีน้ำตาล.” กระนั้น มันอาจเข้ามาถึงคุณโดยคุณไม่รู้ตัว เพราะเท้าซึ่งมีขนหนาแน่นทำให้เสียงฝีเท้าของมันแทบไม่ได้ยิน.
เยี่ยมชมหมีขั้วโลก
แล้วเราจะไปดูสัตว์ที่น่าสนใจเหล่านี้ได้อย่างไร? นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งหอคอยเหล็กกล้าสูง 14 เมตรตามแนวชายฝั่งของอ่าวฮัดสัน ซึ่งเป็นที่ที่จะเฝ้าสังเกตหมีขั้วโลกได้.
รถบักกี้ทุนดรามีพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวในเมืองเชอร์ชิลล์. รถนี้เป็นพาหนะขนาดใหญ่หุ้มด้วยโลหะ จุผู้โดยสารได้หลายคนเพื่อพาไปทัศนาจร. บางครั้งอาจได้เห็นอย่างใกล้ชิดเมื่อหมีมายืนพิงหรือทุบตัวถังรถ เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือขออาหาร.
เราหวังว่า คุณคงได้รับความเพลิดเพลินในการเยี่ยมชมหมียักษ์แห่งขั้วโลกเหนือครั้งนี้ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในสิบของสัตว์ที่ผู้คนในโลก “นิยมมากที่สุด.” ที่จริง หมีเหล่านี้เป็นสิ่งทรงสร้างที่งดงาม เป็นผลงานของพระผู้สร้างองค์สัพพัญญู ผู้ประสาทความสามารถให้มันปรับตัวเข้ากับแดนน้ำแข็งอันเวิ้งว้างบริเวณขั้วโลกเหนือ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 20 ดูเรื่อง “ความปรีชาสามารถในการออกแบบหมีขั้วโลก” ในอะเวก! ฉบับ 22 พฤษภาคม 1991.
[รูปภาพหน้า 24]
แม่หมีฝึกลูก ๆ ประมาณสองปีครึ่ง
[รูปภาพหน้า 25]
หมีหนุ่มชอบประลองกำลังกัน แล้วคลายร้อนในหิมะ
[ที่มาของภาพ]
All photos: Mike Beedell/Adventure Canada