ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

นักวิทยาศาสตร์ตบตาประชาชน

นักวิทยาศาสตร์ตบตาประชาชน

นัก​วิทยาศาสตร์​ตบตา​ประชาชน

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ประเทศ​สเปน

โธมัส เซอร์ราโน ชาว​นา​สเปน​ผู้​สูง​อายุ​ซึ่ง​ผ่าน​ร้อน​ผ่าน​หนาว​มา​อย่าง​โชกโชน เชื่อ​มา​นาน​หลาย​ปี​แล้ว​ว่า​ที่​นา​ขนาด​ย่อม​ใน​แอนดาลูเซีย​ของ​ตน​ได้​ปิด​ซ่อน​สิ่ง​พิเศษ​บาง​อย่าง​ไว้. ผาล​ไถ​นา​ของ​เขา​ขุด​เอา​กระดูก​และ​ฟัน​แปลก ๆ ขึ้น​มา​บ่อย ๆ ซึ่ง​ไม่​ใช่​ของ​ฝูง​สัตว์​ท้องถิ่น​อย่าง​แน่นอน. แต่​เมื่อ​เขา​เล่า​เรื่อง​การ​ค้น​พบ​ให้​คน​ใน​หมู่​บ้าน​ฟัง กลับ​ไม่​มี​ใคร​สนใจ—อย่าง​น้อย​จน​กระทั่ง​ปี 1980.

ใน​ปี​นั้น ทีม​นัก​วิทยา​ว่า​ด้วย​มนุษย์​โบราณ​เดิน​ทาง​มา​ถึง​เพื่อ​สำรวจ​บริเวณ​ดัง​กล่าว. ไม่​นาน​พวก​เขา​ก็​ค้น​พบ​ขุม​ทรัพย์​อัน​แท้​จริง​ของ​ฟอสซิล: กระดูก​ของ​หมี, ช้าง, ฮิปโปโปเตมัส​และ​สัตว์​อื่น ๆ ต่าง​กอง​ทับ​ถม​กัน​อยู่​ใน​บริเวณ​เล็ก ๆ ซึ่ง​ดู​เหมือน​เป็น​หนอง​น้ำ​ที่​แห้ง​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ปี 1983 พื้น​ที่​อัน​อุดม​แห่ง​นี้​จึง​ได้​ปรากฏ​พรวด​ขึ้น​มา​ใน​พาด​หัว​ข่าว​ระดับ​นานา​ชาติ.

เศษ​กระโหลก​ศีรษะ​ขนาด​เล็ก กระนั้น​ไม่​เหมือน​ใคร​เพิ่ง​ถูก​ค้น​พบ​ได้​ไม่​นาน. มัน​ถูก​ป่าว​ประกาศ​ว่า​เป็น “ซาก​ชิ้น​ส่วน​มนุษย์​ที่​มี​อายุ​เก่า​แก่​ที่​สุด​ซึ่ง​ได้​ค้น​พบ​ใน​ยุโรป​และ​เอเชีย.” โดย​คำนวณ​ว่า​มี​อายุ​ระหว่าง 900,000 ถึง 1,600,000 ปี นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​คาด​ว่า​สิ่ง​นี้​จะ​นำ​ไป​สู่ “การ​ปฏิวัติ​ด้าน​การ​ศึกษา​เรื่อง​เผ่า​พันธุ์​มนุษย์.”

ฟอสซิล​ซึ่ง​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​สนใจ​อย่าง​แรง​กล้า​นี้​ได้​รับ​การ​ขนาน​นาม​ว่า “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ”—ตาม​ชื่อ​หมู่​บ้าน​ใน​จังหวัด​เกรนาดา ประเทศ​สเปน ที่​มัน​ถูก​ค้น​พบ.

“มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” เผชิญ​สื่อมวลชน

วัน​ที่ 11 มิถุนายน 1983 ฟอสซิล​ชิ้น​นั้น​ถูก​นำ​ออก​แสดง​ต่อ​สาธารณชน​ใน​สเปน. นัก​วิทยาศาสตร์​ชื่อ​ดัง​ชาว​สเปน, ฝรั่งเศส, และ​อังกฤษ​ต่าง​รับรอง​ว่า​ฟอสซิล​นั้น​เป็น​ของ​แท้ และ​การ​สนับสนุน​จาก​ฝ่าย​การ​เมือง​ก็​มี​มา​อย่าง​รวด​เร็ว. นิตยสาร​สเปน​ราย​เดือน​ฉบับ​หนึ่ง​รายงาน​อย่าง​กระตือรือร้น​ว่า “สเปน และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เกรนาดา บัด​นี้​อยู่​ใน​แถว​หน้า​สุด ด้าน [มนุษย์] โบราณ​ใน​ทวีป​อัน​กว้าง​ใหญ่​แห่ง​ยูเรเซีย.”

จริง ๆ แล้ว “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” เป็น​เช่น​ไร? นัก​วิทยาศาสตร์​พรรณนา​ว่า เขา​เป็น​ผู้​ซึ่ง​เพิ่ง​อพยพ​มา​จาก​แอฟริกา. กล่าว​กัน​ว่า ฟอสซิล​ชิ้น​นี้​เป็น​ของ​ชาย​หนุ่ม​อายุ​ราว 17 ปี และ​สูง 1.5 เมตร. คง​เป็น​นาย​พราน​และ​คน​เที่ยว​เก็บ​โน่น​เก็บ​นี่​ซึ่ง​อาจ​ยัง​ไม่​เคย​เรียน​วิธี​ใช้​ไฟ. ดู​ท่า​ว่า​เขา​ได้​พัฒนา​ภาษา​และ​ศาสนา​แบบ​พื้น​ฐาน​ขึ้น​มา​แล้ว. เขา​กิน​ผลไม้, ธัญพืช, ลูก​ไม้​เล็ก ๆ และ​แมลง บาง​ครั้ง​รวม​ทั้ง​ซาก​สัตว์​ซึ่ง​ถูก​หมา​ป่า​ฆ่า​ตาย.

ความ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​การ​ระบุ​ตัว

เมื่อ​วัน​ที่ 12 พฤษภาคม 1984 เพียง​สอง​สัปดาห์​ก่อน​การ​สัมมนา​ทาง​วิทยาศาสตร์​ระหว่าง​ชาติ​ใน​เรื่อง​นี้ ความ​สงสัย​อย่าง​รุนแรง​ได้​เกิด​ขึ้น​ใน​เรื่อง​แหล่ง​ที่​มา​ของ​เศษ​ชิ้น​ส่วน​นี้. หลัง​จาก​ขจัด​หินปูน​ที่​สะสม ณ ส่วน​ด้าน​ใน​ของ​กะโหลก​ออก​อย่าง​ระมัดระวัง นัก​วิทยา​ว่า​ด้วย​มนุษย์​โบราณ​ได้​พบ “สัน​นูน” ที่​ทำ​ให้​ลำบาก​ใจ. กะโหลก​ศีรษะ​มนุษย์​ไม่​มี​สัน​นูน​เช่น​นั้น. การ​สัมมนา​จึง​ถูก​เลื่อน​ออก​ไป.

หนังสือ​พิมพ์​ราย​วัน​ของ​แมดริด​ชื่อ เอล ไพส​พาด​หัว​ข่าว​ว่า “มี​การ​บ่ง​ชี้​หนักแน่น​ว่า​หัว​กะโหลก​ของ ‘มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ’ เป็น​ของ​ลา.” ใน​ที่​สุด​ข้อ​เขียน​ทาง​วิทยาศาสตร์​ปี 1987 โดย ฮอร์ดี เอากุสตี และ​ซัลวาเดอร์ โมยา สอง​นัก​วิทยา​ว่า​ด้วย​มนุษย์​โบราณ​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ค้น​พบ​ครั้ง​แรก ประกาศ​ว่า การ​วิเคราะห์​ด้วย​รังสี​เอ็กซ์​ยืน​ยัน​อย่าง​แน่นอน​ว่า​ฟอสซิล​นั้น​เป็น​ของ​ม้า​พันธุ์​หนึ่ง.

ทำไม​พวก​เขา​ถูก​ตบตา?

การ​พัง​พินาศ​นี้​เกิด​ขึ้น​ด้วย​เหตุ​ผล​หลาย​ประการ​และ​ไม่​มี​สัก​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ซึ่ง​พัวพัน​กับ​วิธี​ทาง​วิทยาศาสตร์. การค้น​พบ​ที่​น่า​ตื่นเต้น​เกี่ยว​กับ​บรรพบุรุษ​มนุษย์​ไม่​ใคร่​จะ​คง​อยู่​ได้​นาน​ใน​วงการ​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​โดย​เฉพาะ. บรรดา​นัก​การ​เมือง​ต่าง​กระโดด​เข้า​ไป​สนับสนุน​สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​จะ​ก่อ​ประโยชน์​ให้​แก่​เขา และ​ความ​รอบคอบ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ก็​ถูก​ความ​เร่าร้อน​ใน​เรื่อง​ชาติ​นิยม​บดบัง.

อธิบดี​กอง​วัฒนธรรม​ประจำ​แคว้น​คน​หนึ่ง​ประกาศ​ว่า นั่น​เป็น​ช่วง​แห่ง​ความ​ภาคภูมิ​ใจ​ของ​แอนดาลูเซีย “ที่​ได้​เป็น​แหล่ง​แห่ง​การ​ค้น​พบ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​เช่น​นี้.” เมื่อ​ความ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​การ​ค้น​พบ​แสดง​ออก​มา​ใน​บาง​วงการ สภา​ปกครอง​ท้องถิ่น​ของ​แอนดาลูเซีย​ก็​ยืนกราน​แข็งขัน​ว่า “ซาก​เหล่า​นั้น​เป็น​ของ​แท้.”

ฟอสซิล​ที่​ไม่​สลัก​สำคัญ​ชิ้น​นั้น (เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ประมาณ 8 เซนติเมตร) ได้​กลาย​มา​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​อย่าง​ใหญ่​หลวง​ส่วน​หนึ่ง​ก็​เพราะ​ความ​ขาด​แคลน​หลักฐาน​สนับสนุน​เรื่อง​วิวัฒนาการ​ของ​มนุษย์. ทั้ง ๆ ที่​ฟอสซิล​นี้​มี​ขนาด​เล็ก​มาก “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” ก็​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น “การ​ค้น​พบ​ทาง​วิชา​ว่า​ด้วย​มนุษย์​โบราณ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ปี​ที่​ผ่าน​มา อีก​ทั้ง​เป็น​ตัว​เชื่อม​ระหว่าง​มนุษย์​แอฟริกา​ตาม​แบบ​ฉบับ (โฮโม ฮาบิลิส) และ​มนุษย์​ที่​มี​อายุ​มาก​ที่​สุด​ของ​ทวีป​ยูเรเชีย (โฮโม อีเรกทุส).” พลัง​จินตนาการ​อัน​เหลือ​เฟือ​และ​การ​เดา​สุ่ม​ที่​ไม่​ใช่​วิทยาศาสตร์​ก็​เพียง​พอ​แล้ว​ที่​จะ​แต่ง​เติม​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​ลักษณะ​และ​วิถี​ชีวิต​ของ “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ”.

ประมาณ​หนึ่ง​ปี​ก่อน​การ​ค้น​พบ “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” ดร. โจเซฟ จีเบิร์ต หัวหน้า​คณะ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ได้​คาด​การณ์​ว่า​จะ​มี​การ​ค้น​พบ​สิ่ง​แปลก​ประหลาด​ใน​บริเวณ​นั้น​อย่าง​ไม่​ต้อง​สงสัย. เขา​ยืน​ยัน​ว่า “นั่น​เป็น​หนึ่ง​ใน​ที่​รวม​สำคัญ​ที่​สุด​แห่ง​ส่วน​ล่าง​ของ​ชั้น​ดิน​ยุค​ควาเตอร์นารี​ใน​ยุโรป.” และ​แม้​กระทั่ง​หลัง​จาก​ที่​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​ฟอสซิล​นั้น​ได้​รับ​การ​เปิด​เผย​ออก​มา​แล้ว​ก็​ตาม ดร. จีเบิร์ต ยัง​ยืนกราน​ว่า “ประชาคม​วิทยาศาสตร์​นานา​ชาติ​เชื่อ​อย่าง​มั่นคง​ว่า​ใน​บริเวณ กวาดิกซ์-บาซา [อัน​เป็น​แหล่ง​ที่​พบ​เศษ​ชิ้น​ส่วน​นั้น] ไม่​ช้า​ก็​เร็ว ฟอสซิล​มนุษย์​ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​ปี​จะ​ถูก​ค้น​พบ และ​นั่น​จะ​เป็น​การ​ค้น​พบ​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​อย่าง​แน่นอน.” ช่าง​เป็น​ความ​คิด​เพ้อ​ฝัน​อะไร​เช่น​นั้น!

“วิทยาศาสตร์​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ การ​ค้น​พบ​ความ​จริง”

ผู้​ร่วม​การ​ค้น​พบ “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” คน​หนึ่ง​ชื่อ ดร. ซัลวาเดอร์ โมยา ยอม​รับ​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​กับ​ตื่นเถิด! ว่า “ดร. ฮอร์ดิ เอา​กุ​สติ​และ​ผม​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ยอม​รับ​ว่า​นั้น​ไม่​ใช่​ฟอสซิล​ของ​มนุษย์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม วิทยาศาสตร์​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ค้น​พบ​ความ​จริง ถึง​จะ​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​เรา​ชอบ”.

ประเด็น​ขัด​แย้ง​ซึ่ง​รุม​ล้อม​กรอบ “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เป็น​งาน​ที่​ยาก​ลำบาก​สำหรับ วิชา​ว่า​ด้วย​มนุษย์​โบราณ​ใน​การ​ค้น​หา​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เรียก​ว่า​วิวัฒนาการ​ของ​มนุษย์. ทั้ง ๆ ที่​มี​การ​ขุด​ค้น​กัน​มา​นาน​หลาย​ทศวรรษ แต่​ก็​ไม่​เคย​พบ​ซาก​อัน​แท้​จริง​ของ​บรรพบุรุษ​คล้าย​ลิง​ของ​มนุษย์​ที่​ถูก​สมมุติ​ขึ้น​มา. แม้​จะ​ไม่​เป็น​ที่​สบ​อารมณ์​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน แต่​เป็น​ไป​ได้​ไหม การ​ขาด​แคลน​หลักฐาน​อัน​แน่น​หนา​ชี้​ถึง​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​มนุษย์​มิ​ใช่​ผล​ผลิต​ของ​วิวัฒนาการ​แต่​อย่าง​ใด?

ผู้​สังเกตการณ์​ที่​ไม่​เข้า​ข้าง​ใคร​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ว่า มนุษย์​วานร​ที่​มี​ชื่อเสียง​ตัว​อื่น​มี​หลักฐาน​พิสูจน์​ได้​มาก​กว่า “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ” หรือ​เปล่า?. * ดัง​ที่​ประวัติศาสตร์​ได้​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​เพียง​พอ​อยู่​แล้ว วิทยาศาสตร์​สามารถ​นำ​มนุษย์​ไป​สู่​ความ​จริง​ได้ แต่​นัก​วิทยาศาสตร์​จะ​ปราศจาก​ความ​ผิด​พลาด​ก็​หา​มิ​ได้. เป็น​เช่น​นี้​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เมื่อ​ความ​ลำเอียง​ทาง​การ​เมือง, ทาง​ปรัชญา และ​ความ​ลำเอียง​ส่วน​บุคคล​เข้า​มา​ทำ​ให้​ประเด็น​คลุมเครือ—และ​เมื่อ​หลักฐาน​เพียง​น้อย​นิด​ถูก​นำ​มา​ใช้​เพื่อ​พยายาม​อธิบาย​เรื่อง​ราว​มาก​มาย.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 21 สำหรับ​ราย​ละเอียด​การ​วิเคราะห์​มนุษย์​วานร​ตัว​อื่น ดู​ได้​จาก​บท​ที่ 9 ของ​หนังสือ ชีวิต—เกิด​ขึ้น​มา​ได้​อย่าง​ไร? โดย​วิวัฒนาการ​หรือ​มี​ผู้​สร้าง? พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.

[รูป​ภาพ​หน้า 22]

บน: แบบ​จำลอง​เศษ​ชิ้น​ส่วน​ขนาด​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง 7.5 เซนติเมตร​ของ​สิ่ง​ที่​เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น “มนุษย์​แห่ง​ออร์เซ”

ขวา: ภาพ​เขียน​มนุษย์​โบราณ​ที่​สมมุติ​ขึ้น​ตาม​จินตนาการ​ของ​นัก​วิวัฒนาการ