ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการนมัสการ

ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการนมัสการ

ศาล​สูง​สุด​ของ​ฟิลิปปินส์​ยืน​ยัน​สิทธิ​เสรีภาพ​ใน​การ​นมัสการ

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ประเทศ​ฟิลิปปินส์

วัน​ที่ 7 มิถุนายน 1993 ขณะ​ที่​เด็ก​นัก​เรียน​ชาว​ฟิลิปปินส์​นับ​ล้าน​เดิน​เป็น​กลุ่ม ๆ กลับ​สู่​ห้อง​เรียน​ของ​ตน พยาน​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​อยู่​ท่ามกลาง​พวก​เขา​รู้สึก​มี​ความ​สุข​มาก​ยิ่ง. เพราะ​เหตุ​ใด? ก็​เพราะ​ว่า​ใน​วัน​ที่ 1 มีนาคม 1993 ก่อน​สิ้น​ปี​การ​ศึกษา​ที่​แล้ว ศาล​สูง​สุด​แห่ง​ฟิลิปปินส์​ได้​กลับ​คำ​ตัดสิน​ของ​ศาล​สูง​สุด​เมื่อ​ปี 1959 และ​ยืน​ยัน​สิทธิ​ของ​เด็ก ๆ ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​การ​ละ​เว้น​จาก​การ​เคารพ​ธง, การ​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​แสดง​ความ​จงรักภักดี​ต่อ​ชาติ, และ​การ​ร้อง​เพลง​ชาติ.

อะไร​ทำ​ให้​สภาพการณ์​เปลี่ยน​ไป​เช่น​นี้? และ​มี​ผล​อย่าง​ไร​ต่อ​ชน​ผู้​รัก​เสรีภาพ​ทั้ง​หลาย​ใน​ฟิลิปปินส์​อัน​เนื่อง​มา​จาก​การ​ตัดสิน​นี้?

เหตุ​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เคารพ​ธง

พยาน​พระ​ยะโฮวา​เชื่อ​ว่า การ​เคารพ​ธง, การ​ร้อง​เพลง​ชาติ, และ​การ​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​แสดง​ความ​จงรักภักดี​ต่อ​ชาติ ล้วน​เป็น​กิจ​ทาง​ศาสนา. สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​พวก​เขา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​อบรม​โดย​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​อนุญาต​ให้​เขา​เข้า​ส่วน​ใน​กิจ​แห่ง​การ​บูชา​นมัสการ​เช่น​นั้น. (มัดธาย 4:10; กิจการ 5:29) ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​อยู่​ใน​ประเทศ​ไหน นี่​คือ​จุด​ยืน​ของ​พวก​เขา​ใน​การ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​คริสต์​ผู้​ซึ่ง​ตรัส​ว่า เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​จะ “ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก เหมือน [พระองค์] ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก.”—โยฮัน 17:16, ล.ม.

ใน​ขณะ​เดียว​กัน พยาน​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​รัฐบาล​ต่าง ๆ ที่​พวก​เขา​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง และ​พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​รัฐบาล​เหล่า​นั้น​เป็น​วิธี​ดำเนิน​การ​อย่าง​หนึ่ง​ซึ่ง​พระเจ้า​ยอม​ให้​มี. ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​อยู่​ภาย​ใต้​พันธะ​จะ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​กฎหมาย​ของ​ประเทศ, เสีย​ภาษี, และ​ให้​เกียรติ​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง​อย่าง​เหมาะ​สม. พวก​เขา​จะ​ไม่​มี​วัน​เข้า​ส่วน​ใน​การ​กบฏ​ใด ๆ ต่อ​รัฐบาล​ใด ๆ. *

เหตุ​ผล​สำหรับ​การ​ตัดสิน​ของ​ศาล​สูง​สุด

ศาล​สูง​สุด​ได้​ให้​เหตุ​ผล​อะไร​สำหรับ​การ​กลับ​คำ​ตัดสิน​ปี 1959 ของ เกโรนา วี. รัฐมนตรี​กระทรวง​ศึกษาธิการ? คำ​ตัดสิน​ใน​ปี 1993 เขียน​โดย​ผู้​พิพากษา กรีนโย-อาคีโน มี​ข้อ​ความ​ดัง​นี้: “ความ​คิด​ที่​ว่า​คน​เรา​อาจ​ถูก​บังคับ​ให้​เคารพ​ธง, ร้อง​เพลง​ชาติ, และ​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​แสดง​ความ​รัก​ชาติ​ใน​ระหว่าง​พิธี​เคารพ​ธง มิ​ฉะนั้น​จะ​ถูก​ลง​โทษ​โดย​การ​ปลด​ออก​จาก​งาน​หรือ​ไล่​ออก​จาก​โรง​เรียน เป็น​เรื่อง​ที่​ฝืน​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ชาว​ฟิลิปปินส์​ใน​ชั่ว​อายุ​ปัจจุบัน ผู้​ซึ่ง​แนว​ความ​คิด​ตั้ง​แต่​วัย​เด็ก​ของ​พวก​เขา​ถูก​นวด​ปั้น​โดย​ปฏิญญา​ว่า​ด้วย​สิทธิ​พื้น​ฐาน​ของ​ประชาชน​ซึ่ง​รับรอง​สิทธิ​ของ​พวก​เขา​ที่​จะ​พูด​และ​ปฏิบัติ​อย่าง​เสรี​ใน​การ​แสดง​ความ​เชื่อ​ศรัทธา​และ​การ​นมัสการ​ทาง​ศาสนา.”

ศาล​สูง​สุด​สังเกต​ว่า​ขณะ​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา “ไม่​เข้า​ส่วน​ใน​พิธี​เคารพ​ธง​เชิง​บังคับ พวก​เขา​ก็​ไม่​เข้า​ร่วม​ใน ‘การ​แสดง​ออก’ หรือ​พฤติกรรม​อัน​ก่อ​ความ​ขุ่นเคือง​แก่​คน​ชาติ​เดียว​กัน​ซึ่ง​เชื่อ​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​ชาติ​ของ​ตน​ออก​มา​โดย​การ​ร่วม​พิธี​เคารพ​ธง.” ศาล​ให้​ข้อ​สังเกต​ต่อ​ไป​อีก​ว่า “พวก​เขา​ยืน​อย่าง​สงบ​ด้วย​ความ​นับถือ​ใน​ระหว่าง​พิธี​เคารพ​ธง​เพื่อ​แสดง​ว่า​พวก​เขา​เคารพ​สิทธิ​ของ​คน​ที่​เลือก​จะ​เข้า​ส่วน​ใน​ขั้น​ตอน​อัน​เป็น​พิธี​การ​นี้. . . . เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​เข้า​ร่วม​ใน​พฤติกรรม​ที่​ก่อกวน จึง​ไม่​มี​เหตุ​ผล​สม​ควร​สำหรับ​การ​ไล่​พวก​เขา​ออก.”

อนึ่ง ศาล​นี้​ยัง​ได้​จัด​การ​กับ​การ​คาด​การณ์​ล่วง​หน้า​ที่​มี​อยู่​ใน​คำ​ตัดสิน​ของ เกโรนา​ที่​ว่า หาก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​รับ​ยก​เว้น​จาก​ข้อ​บังคับ​เรื่อง​การ​เคารพ​ธง​ละ​ก็ “พิธี​เคารพ​ธง​ก็​จะ​กลาย​เป็น​เรื่อง​พ้น​สมัย​หรือ​อาจ​มี​ผู้​ร่วม​ปฏิบัติ​จำนวน​น้อย และ​ก็​จะ​ถึง​คราว​ที่​พวก​เรา​คง​จะ​มี​พลเมือง​ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​สอน​และ​การ​พร่ำ​อบรม​และ​ไม่​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จิตใจ​ให้​มี​ความ​เคารพ​ต่อ​ธง​และ​ความ​รัก​ต่อ​ประเทศ, ความ​นิยม​ยกย่อง​วีรชน​ของ​ชาติ, และ​ความ​รัก​ชาติ—นับ​เป็น​สถานการณ์​ที่​น่า​สังเวช ถึง​กับ​เป็น​โศกนาฏกรรม​ด้วย​ซ้ำ และ​ทั้ง​หมด​นี้​ก็​เพราะ​นัก​เรียน​ส่วน​น้อย​ยัดเยียด​เจตนารมณ์​ของ​เขา, เรียก​ร้อง และ​ได้​รับ​การ​ยก​เว้น.”

คำ​ตัดสิน​ของ​ศาล​ใน​ปี 1993 ตอบ​ข้อ​นี้​โดย​แถลง​ว่า “สถานการณ์​ที่​ศาล​คาด​ล่วง​หน้า​อย่าง​น่า​กลัว​ใน​คำ​ตัดสิน​ของ​เกโรนา . . . นั้น​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น. เรา​ไม่​ได้​ถูก​ชักจูง​ให้​เชื่อ​ว่า โดย​การ​ยก​เว้น​พวก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​จาก​การ​เคารพ​ธง, การ​ร้อง​เพลง​ชาติ​และ​การ​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​แสดง​ความ​รัก​ชาติ แล้ว​กลุ่ม​ศาสนา​นี้​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​กัน​ว่า​ประกอบ​ด้วย ‘นัก​เรียน​ส่วน​น้อย’ จะ​ก่อ​ความ​ยุ่งเหยิง​ใน​ซีก​โลก​ของ​เรา​นี้​และ​ทันใด​นั้น​ก็​ก่อ​ให้​เกิด​ชาติ ‘ที่​ไม่​ได้​รับ​การ​สอน​และ​การ​พร่ำ​อบรม​และ​ไม่​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จิตใจ​ให้​มี​ความ​เคารพ​ต่อ​ธง, มี​ความ​รัก​ชาติ, มี​ความ​รัก​ประเทศ​และ​นิยม​ยกย่อง​วีรชน​ของ​ชาติ.’”

สุด​ท้าย ศาล​นี้​ก็​ได้​อ้าง​ถึง​ข้อ​คิด​เห็น​ของ​ท่าน​ผู้​พิพากษา โรเบิร์ต แจ็กสัน แห่ง​ศาล​สูง​สุด​ของ​สหรัฐ​เมื่อ​ปี 1943 ใน​คดี​บาร์เน็ตต์​ซึ่ง​เขา​กล่าว​ว่า “การ​คิด​ว่า​ความ​รัก​ชาติ​จะ​ไม่​เฟื่องฟู​หาก​พิธี​การ​ต่าง ๆ ที่​แสดง​ความ​รัก​ชาติ​เป็น​ไป​ตาม​ความ​สมัคร​ใจ​และ​ปล่อย​ให้​เป็น​ไป​เอง​แทน​ที่​จะ​เป็น​กิจวัตร​เชิง​บังคับ​นั้น​เป็น​การ​ประเมิน​ผล​ที่​ไม่​เป็น​มงคล​นัก​ใน​เรื่อง​แรง​ดึงดูด​ใจ​ซึ่ง​สถาบัน​ต่าง ๆ ของ​เรา​มี​ต่อ​คน​จิตใจ​เสรี. . . . เสรีภาพ​ที่​จะ​แตกต่าง​นั้น​ไม่​จำกัด​แค่​สิ่ง​ซึ่ง​ไม่​สลัก​สำคัญ. นั่น​คง​เป็น​เพียง​ภาพ​อัน​เลือน​ลาง​ของ​เสรีภาพ​เท่า​นั้น. ลักษณะ​แท้​ของ​เสรีภาพ​พิสูจน์​ให้​เห็น​โดย​สิทธิ​ที่​จะ​แตกต่าง​กระทั่ง​เรื่อง​ซึ่ง​มี​ผล​กระทบ​ถึง​แก่น​ของ​สังคม​ที่​ดำรง​อยู่​นี้.”

หลัง​จาก​แถลง​จุด​สำคัญ ๆ ที่​ดี​เยี่ยม​ทาง​กฎหมาย​เหล่า​นี้​แล้ว การ​ตัดสิน​อย่าง​เป็น​เอกฉันท์​ของ​ศาล​ฟิลิปปินส์​คือ: “คำ​สั่ง​ให้​ไล่​ออก​ซึ่ง​ฝ่าย​โต้​แย้ง​อุทธรณ์​ได้​ยื่น​ต่อ​สู้​ฝ่าย​อุทธรณ์​ถูก​ยก​เลิก​และ​เพิกถอน​โดย​การ​ตัดสิน​นี้. คำ​สั่ง​ให้​ยับยั้ง​การ​ไล่​ออก​ชั่ว​คราว​ซึ่ง​ศาล​นี้​ได้​ยื่น [ต่อ​เจ้าหน้าที่​โรง​เรียน] จึง​เป็น​คำ​สั่ง​ยับยั้ง​ถาวร​โดย​คำ​แถลง​นี้.”

ผู้​พิพากษา​สมทบ อิซากานี ครูซ เพิ่ม​ข้อ​สังเกต​ใน​ความ​เห็น​สนับสนุน​ของ​เขา​ดัง​นี้: “ใน​ความ​เห็น​แบบ​อ่อนน้อม​ของ​ผม คำ​ตัดสิน​ของ​เกโรนา​อาศัย​การ​สันนิษฐาน​ที่​ผิด​พลาด. ศาล​ซึ่ง​ประกาศ​ใช้​คำ​ตัดสิน​นั้น​ดู​เหมือน​ตก​อยู่​ภาย​ใต้​ความ​เชื่อ​มั่น​บาง​อย่าง​ที่​ว่า​รัฐ​มี​สิทธิ​จะ​กำหนด​ว่า​อะไร​คือ​เรื่อง​ทาง​ศาสนา​และ​อะไร​ไม่​ใช่ และ​ออก​คำ​สั่ง​แก่​ปัจเจกบุคคล​ว่า​สิ่ง​ใด​ที่​นมัสการ​ได้​และ​สิ่ง​ใด​ที่​นมัสการ​ไม่​ได้. . . . ใน​การ​เรียก​ร้อง​ผู้​อุทธรณ์​ราย​นี้​ให้​เข้า​ส่วน​ใน​พิธี​เคารพ​ธง รัฐ​ได้​แถลง​โดย​ถือ​สิทธิ์​ของ​ผู้​มี​อำนาจ​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​ละเมิด​หลักการ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​การ​เคารพ​ธง. สำหรับ​ข้าพเจ้า​แล้ว เรื่อง​นี้​เป็น​การ​ล่วง​ล้ำ​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​พวก​เขา​โดย​พลการ ซึ่ง​ความ​เชื่อ​นั้น​บอก​พวก​เขา​ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม. รัฐ​ไม่​อาจ​ตี​ความ​หมาย​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​พวก​เขา​ได้. รัฐ​ไม่​สันทัด​ใน​เรื่อง​นี้.”

ความ​หมาย​สำหรับ​ชน​ผู้​รัก​เสรีภาพ

ชน​ผู้​รัก​เสรีภาพ​ทั้ง​หลาย​ชื่นชม​ยินดี​อย่าง​แน่นอน​ใน​การ​ตัดสิน​นี้​ที่​ยืน​ยัน​สิทธิ​แห่ง​การ​เลือก​โดย​อิสระ​ใน​เรื่อง​ศาสนา​และ​ใน​สิ่ง​ซึ่ง​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​คน​เรา​สั่ง​ให้​ทำ ขณะ​เดียว​กัน​ก็​อยู่​ใต้​อำนาจ​ใน​ขอบ​เขต​จำกัด​ของ​รัฐ. (โรม 13:1, 2) ใน​การ​ปก​ป้อง​สิทธิ​ของ​ปัจเจกบุคคล รัฐ​ไม่​เปิด​ทาง​สำหรับ​อนาธิปไตย แต่​ทำ​หน้า​ที่​ใน​บทบาท​ดัง​อัครสาวก​เปาโล​กล่าว​ไว้​ที่​โรม 13:5, 6 (ล.ม.) ว่า “มี​เหตุ​ผล​อัน​เหลือ​ที่​จะ​ขัด​ขืน​ได้​ใน​เรื่อง​ที่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​อยู่​ใต้​อำนาจ . . . เพราะ​เหตุ​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ท่าน. . . . เพราะ​เหตุ​นั้น ท่าน​จึง​เสีย​ภาษี​ด้วย; เพราะ​คน​เหล่า​นั้น​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า เพื่อ​สาธารณประโยชน์ รับใช้​เพื่อ​จุด​ประสงค์​นี้​เสมอ​ไป.”

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ฟิลิปปินส์​นับถือ​กระบวนการ​พิจารณา​คดี​ของ​ผู้​พิพากษา​แห่ง​ศาล​สูง​สุด และ​ตระหนัก​ว่า​เกียรติยศ​ขั้น​สุด​ท้าย​จะ​ต้อง​ถวาย​แด่​พระ​ยะโฮวา​พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 สำหรับ​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​เหตุ​ผล​ที่​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​เข้า​ส่วน​ใน​การ​เคารพ​ธง, การ​ร้อง​เพลง​ชาติ, และ​การ​กล่าว​คำ​ปฏิญาณ​แสดง​ความ​จงรักภักดี​ต่อ​ชาติ โปรด​ดู​จุลสาร​โรง​เรียน​และ​พยาน​พระ​ยะโฮวา จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก หน้า 12-16.