ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การมาเยือนประจำปีของเต่ามะเฟืองยักษ์

การมาเยือนประจำปีของเต่ามะเฟืองยักษ์

การ​มา​เยือน​ประจำ​ปี​ของ​เต่า​มะ​เฟือง​ยักษ์

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ประเทศ​มาเลเซีย

ตอน​นั้น​เป็น​เวลา​เกือบ​เที่ยง​คืน. ดวง​จันทร์​วันเพ็ญ​เหนือ​ศีรษะ​สาด​แสง​สี​ทอง​ต้อง​ท้อง​ทะเล​อัน​สงบ​ราบ​เรียบ. บน​ชาย​หาด รันเตา อะบัง มี​ผู้​คน​เป็น​กลุ่ม ๆ บ้าง​ก็​ยืน บ้าง​ก็​นั่ง​ยอง ๆ หรือ​นั่ง​บน​พื้น​ทราย​ที่​ละเอียด​และ​เย็น​สบาย. พวก​เขา​กำลัง​ทำ​อะไร​กัน​ที่​นี่​ใน​ยาม​วิกาล​เช่น​นี้? ด้วย​ความ​อด​ทน​พวก​เขา​กำลัง​รอ​คอย​การ​มา​เยือน​ของ​สัตว์​มี​กระดอง​และ​พร้อม​ด้วย​ครีบ​ขา​สี่​ข้าง ตัว​มหึมา—เต่า​หนัง​เหนียว​ขนาด​ยักษ์ หรือ​เต่า​มะ​เฟือง​นั่น​เอง.

ผู้​มา​เยือน​ครึ่ง​บก​ครึ่ง​น้ำ​น่า​พิศวง​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​ชาย​หาด​ดัง​กล่าว​ซึ่ง​ตาม​ปกติ​ไม่​มี​ใคร​สนใจ กลับ​มี​ชื่อ​เลื่อง​ลือ​ไป​ทั่ว​โลก. รันเตา อะบัง ตั้ง​อยู่​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ออก​ของ​คาบสมุทร​มลายู ขึ้น​ไป​ทาง​ทิศ​เหนือ​เล็ก​น้อย​จาก​ดุงกุน และ​อยู่​เหนือ​สิงคโปร์​ขึ้น​มา​ประมาณ 400 กิโลเมตร. นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​ไม่​กี่​แห่ง​ของ​โลก​ที่​เต่า​มะ​เฟือง​จะ​มา​เยือน​ทุก​ปี​เพื่อ​ปฏิบัติ​ภารกิจ​อัน​มี​เกียรติ​สูง​ส่ง.

ที่​นี่ ฤดู​วาง​ไข่​กิน​เวลา​ตั้ง​แต่​เดือน​พฤษภาคม​ไป​จน​ถึง​เดือน​กันยายน​โดย​ประมาณ. ช่วง​เดือน​มิถุนายน, กรกฎาคม, และ​สิงหาคม​ซึ่ง​มี​การ​วาง​ไข่​มาก​ที่​สุด จะ​สังเกต​เห็น​ขั้น​ตอน​การ​วาง​ไข่​ได้​ค่อนข้าง​ง่าย. ปกติ เต่า​จะ​เริ่ม​ขึ้น​บก​หลัง​พลบ​ค่ำ. ผู้​มา​เฝ้า​ดู​จาก​ทั่ว​มาเลเซีย, สิงคโปร์, และ​ซีก​โลก​ตะวัน​ตก จะ​เสีย​เวลา​คอย​ไป​เปล่า ๆ ไหม?

มัน​ขึ้น​มา​จาก​ทะเล​แล้ว!

ทันใด​นั้น ที่​เห็น​เป็น​เงา​ตะคุ่ม ๆ ตัด​กับ​พื้น​น้ำ​ที่​มี​แสง​ระยิบระยับ​ไม่​ไกล​จาก​ฝั่ง​มาก​นัก เป็น​อะไร​บาง​อย่าง​ที่​มอง​เห็น​ผลุบ ๆ โผล่ ๆ. ฝูง​ชน​รู้สึก​ตื่นเต้น! ขณะ​ที่​มัน​เข้า​มา​ใกล้​ฝั่ง​ยิ่ง​ขึ้น สิ่ง​ที่​มี​รูป​ร่าง​คล้าย​โดม​ก็​เริ่ม​โผล่​ขึ้น​จาก​น้ำ. เต่า​นั่น​เอง​ที่​มา​ขึ้น​ฝั่ง! มัคคุเทศก์​สอง​สาม​คน​ที่​อยู่​ตรง​นั้น​เตือน​ทุก​คน​ให้​เฝ้า​ดู​เงียบ ๆ เท่า​ที่​จะ​เป็น​ได้ เกรง​ว่า​เสียง​รบกวน​จะ​ทำ​ให้​มัน​ตื่น​ตกใจ​หนี​ไป.

ที่​ปรากฏ​ให้​เห็น​ก่อน​คือ​หัว จาก​นั้น​ก็​คอ ตาม​ด้วย​ส่วน​หน้า​ของ​กระดอง​และ​ครีบ​ขา​หน้า จน​กระทั่ง​ใน​ที่​สุด​ทั้ง​ตัว​ก็​ปรากฏ​ขึ้น​มา​บน​ฝั่ง. คลื่น​อ่อน ๆ ซัด​ชะ​หาง​และ​ครีบ​ขา​หลัง​ของ​มัน. ช่าง​มี​ขนาด​ตัว​ที่​มหึมา​จริง ๆ ประมาณ​สอง​เมตร​หรือ​กว่า​นั้น โดย​วัด​จาก​จมูก​ถึง​ปลาย​หาง! มัน​นอน​พังพาบ​อยู่​บน​หาด​ทราย​โดย​ไม่​ไหว​ติง.

แล้ว​ใน​ทันใด​นั้น มัน​ก็​ใช้​ครีบ​ขา​หน้า​ดัน​ตัว​ขึ้น​และ​เสือก​ตัว​ไป​ข้าง​หน้า แล้ว​กระแทก​พื้น​ดัง​ตุ้บ. มัน​นอน​นิ่งอยู่​สัก​ครู่ ราว​กับ​จะ​รวบ​รวม​ลม​หายใจ​และ​พละกำลัง​เพื่อ​ดัน​ตัว​ขึ้น​และ​เสือก​ตัว​ครั้ง​ต่อ​ไป. นี่​เป็น​วิธี​ที่​มัน​เคลื่อน​ตัว​บน​บก. ฝูง​ชน​ที่​อยู่​สอง​ข้าง​มัน​ต้อง​อยู่​ห่าง ๆ. มัคคุเทศก์​เข้มงวด​มาก​ใน​เรื่อง​นี้. แต่​ละ​ครั้ง​ที่​มัน​เคลื่อน​ตัว​ไป​ข้าง​หน้า ฝูง​ชน​ก็​เคลื่อน​ตาม—แต่​อย่าง​เงียบ​เชียบ.

ขณะ​ที่​เจ้า​เต่า​มะ​เฟือง​เดิน​งุ่มง่าม​ขึ้น​ฝั่ง มัน​รู้​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ของ​มัน​โดย​สัญชาตญาณ. ความ​รู้​ที่​ถูก​โปรแกรม​ไว้​ทำ​ให้​มัน​สามารถ​หา​จุด​เฉพาะ​ที่​ซึ่ง​ไข่​จะ​มี​โอกาส​มาก​ที่​สุด​ใน​การ​ฟัก​เป็น​ตัว. ที่​นั่น มัน​เริ่ม​ขุด​หลุม. ครีบ​ขา​หลัง​กลาย​เป็น​พลั่ว ขุด​เอา​ทราย​ขึ้น​มา.

หลัง​จาก​ดู​เหมือน​เป็น​เวลา​นาน มัคคุเทศก์​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ผู้​เก็บ​ไข่​เต่า​ที่​มี​ใบ​อนุญาต​ก็​ก้าว​ไป​ข้าง​หน้า​และ​ล้วง​ลง​ไป​ใน​หลุม ซึ่ง​ลึก​จน​ไม่​เห็น​ข้อ​ศอก. ขณะ​ที่​เขา​ชัก​แขน​ออก​จาก​หลุม ทุก​คน​อ้า​ปาก​ค้าง​ด้วย​ความ​ประหลาด​ใจ​และ​ตื่นเต้น. เขา​นำ​ไข่​ขึ้น​มา​ฟอง​หนึ่ง!

ไข่​ของ​เต่า​มะ​เฟือง​มี​สี​ขาว​ขุ่น. มี​ขนาด​ตั้ง​แต่​เท่า​ลูก​ปิงปอง​ไป​จน​ถึง​ลูก​เทนนิส. ไข่​ฟอง​ท้าย ๆ ที่​ออก​แต่​ละ​ครั้ง​มัก​มี​ขนาด​เล็ก​เท่า​ลูก​หิน. ต่าง​จาก​ไข่​ของ​สัตว์​ปีก ที่​แท้​เปลือก​เป็น​หนัง​เหนียว​มาก ซึ่ง​บุ๋ม​ได้​ง่าย​เวลา​ถูก​กด. แปลก​ที่​ไข่​ขาว​ของ​มัน​ยัง​คง​เหลว​เป็น​วุ้น​แม้​จะ​ทำ​ให้​สุก​แล้ว​ก็​ตาม. กล่าว​กัน​ว่า รสชาติ​ของ​มัน​ค่อนข้าง​ฉุน​และ​คาว​หน่อย ๆ. เต่า​ตัว​หนึ่ง​จะ​วาง​ไข่​โดย​เฉลี่ย​ครั้ง​ละ 85 ฟอง. แต่​ใน​ปี 1967 มี​รายงาน​ว่า​หลุม​หนึ่ง​มี​ถึง 140 ฟอง มาก​เป็น​ประวัติการณ์.

ตอน​นี้ ฝูง​ชน​สามารถ​เดิน​ไป​เดิน​มา​อย่าง​มี​อิสระ​มาก​ขึ้น. บาง​คน​ไป​จับ​และ​สำรวจ​เต่า​ตัว​นั้น​อย่าง​หวาด ๆ. คน​อื่น ๆ ปีน​ขึ้น​ไป​บน​หลัง​ของ​มัน หรือ​พิง​มัน​เพื่อ​เต๊ะ​ท่า​ถ่าย​รูป​ประดับ​อัลบั้ม​ของ​ครอบครัว. เมื่อ​มอง​ใกล้ ๆ จะ​เห็นเมือก​หนา​กึ่ง​โปร่ง​ใส​ไหล​หยด​จาก​ตา​ซึ่ง​มี​เม็ด​ทราย​เกาะ​อยู่. กล่าว​กัน​ว่า การ​เปลี่ยน​จาก​น้ำ​มา​สู่​อากาศ​ทำ​ให้​เป็น​เช่น​นี้. เป็น​ครั้ง​คราว มัน​จะ​อ้า​ปาก​หายใจ​ดัง​ฟืดฟาด​สัก​ที.

กลบ​ไข่

หลัง​จาก​นั้น​พัก​ใหญ่ เต่า​ก็​เริ่ม​ขยับ​ครีบ​ขา​หลัง​เพื่อ​เขี่ย​ทราย​เข้า​ไป​ใน​หลุม. ทันที​ที่​กลบ​หลุม​นั้น​จน​เต็ม ครีบ​ขา​หลัง​ของ​มัน​จะ​ปฏิบัติการ​ทรง​พลัง​เสมือน​ที่​ปัด​น้ำ​ฝน​หน้า​กระจก​รถยนต์. ทราย​จะ​กระจาย​ว่อน​ไป​ทั่ว​ทุก​ทิศ! ฝูง​ชน​ถอย​กรูด​อย่าง​รวด​เร็ว เพื่อ​ไม่​ให้​ทราย​ถูก​หน้า​ถูก​ตัว. ครีบ​ขา​ของ​มัน​ยัง​คง​เหวี่ยง​ไป​มา​เป็น​เวลา​นาน​พอ​ควร. ต้อง​ใช้​กำลัง​วังชา​และ​พลัง​สัก​เพียง​ใด! ใน​ที่​สุด​เมื่อ​ครีบ​ขา​ของ​มัน​หยุด​นิ่ง ฝูง​ชน​มอง​ไม่​เห็น​ร่องรอย​ของ​หลุม​ที่​เต่า​มะ​เฟือง​ขุด​เลย. ช่าง​เป็น​สติ​ปัญญา​ตาม​สัญชาตญาณ​จริง ๆ! แต่​สติ​ปัญญา​ของ​ผู้​ทรง​สร้าง​เต่า​ตัว​นี้​ล้ำ​เลิศ​กว่า​สัก​เพียง​ใด!

ก่อน​ที่​เต่า​มะ​เฟือง​จะ​กลับ​ลง​ทะเล ผู้​เก็บ​ไข่​เต่า​ที่​มี​ใบ​อนุญาต​คน​หนึ่ง​ก็​ติด​แถบ​ชื่อ​ที่​ครีบ​ขา​หน้า​ข้าง​หนึ่ง​ของ​มัน. ที่​ทำ​เช่น​นี้​ก็​เพื่อ​การ​มา​เยือน​คราว​ต่อ​ไป​และ​ความ​เคลื่อน​ไหว​ของ​มัน​ใน​ท้อง​ทะเล​สามารถ​เฝ้า​ติด​ตาม​ได้. แต่​ละ​ฤดู​วาง​ไข่ มัน​จะ​วาง​ไข่​หก​ถึง​เก้า​ครั้ง โดย​ห่าง​กัน​ครั้ง​ละ 9 ถึง 14 วัน.

ทันที​ทันใด เจ้า​เต่า​มะ​เฟือง​ก็​ดัน​ร่าง​ขึ้น​แล้ว​เสือก​ตัว​ไป​ข้าง​หน้า. มัน​หัน​และ​มุ่ง​หน้า​กลับ​ทะเล เดิน​งุ่มง่าม​ไป​ซึ่ง​เมื่อ​เทียบเคียง​แล้ว​เร็ว​กว่า​ขา​มา. เมื่อ​มัน​แตะ​ผิว​น้ำ หัว​จะ​มุด​ลง​ไป​ก่อน แล้ว​ตาม​ด้วย​กระดอง. ใน​ที่​สุด ก็​หาย​ลับ​ไป. เมื่อ​หัว​ของ​มัน​โผล่​ขึ้น​มา​อีก​ที มัน​ก็​ไป​ตั้ง​ไกล​แล้ว. มัน​ว่าย​น้ำ​ออก​ไป​ใน​ทะเล​กว้าง​ได้​อย่าง​รวด​เร็ว แสง​จันทร์​ส่อง​ต้อง​ปลาย​จมูก​ของ​มัน. มัน​ช่าง​คล่องแคล่ว​ว่องไว​อะไร​เช่น​นี้​เมื่อ​อยู่​ใน​น้ำ! ต่าง​กัน​ลิบลับ​กับ​ความ​อืดอาด​เชื่อง​ช้า​ขณะ​อยู่​บน​บก.

ความ​พยายาม​อนุรักษ์

เช่น​เดียว​กับ​สัตว์​อื่น ๆ หลาย​ชนิด​ยิ่ง​ขึ้น เต่า​มะ​เฟือง​ตก​อยู่​ใน​อันตราย​เนื่อง​จาก​ผล​เสียหาย​ของ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​เป็น​พิษ​และ​ความ​ละโมบ​ของ​มนุษย์. กลาง​ทศวรรษ​ปี 1970 ได้​พบ​เต่า​ที่​ยัง​ไม่​โต​เต็ม​ที่​นับ​ร้อย ๆ ตัว​ถูก​ซัด​ขึ้น​ฝั่ง​ใน​รัฐ​ปาหัง​ซึ่ง​อยู่​ใกล้ ๆ—เสีย​ชีวิต! และ​มี​การ​เก็บ​ไข่​เต่า​อย่าง​ไม่​ละอายใจ เพื่อ​สนอง​การ​อยาก​ลอง​ลิ้ม​ชิม​รส​ของ​คน​เรา.

น่า​ยินดี​สำหรับ​เต่า​เหล่า​นี้ ความ​ห่วงใย​อย่าง​ลึกซึ้ง​ใน​มาเลเซีย​ต่อ​จำนวน​เต่า​ที่​ลด​น้อย​ลง​ทำ​ให้​มี​การ​ออก​พระ​ราชบัญญัติ​คุ้มครอง​เต่า​ใน​ปี 1951. การ​ที่​เอกชน​เก็บ​ไข่​เต่า​นั้น​มี​การ​ประกาศ​ว่า​ผิด​กฎหมาย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปัจเจกบุคคล​ที่​เห็น​แก่​เงิน​ฝ่าฝืน​กฎหมาย​นี้ เนื่อง​จาก​ผล​กำไร​ล่อ​ใจ​มาก​กว่า. ถึง​กระนั้น ความ​พยายาม​ใน​การ​อนุรักษ์​ก็​ไม่​ได้​ไร้​ผล.

บน​ชาย​หาด​ที่ รันเตา อะบัง น่า​ชื่น​ใจ​ที่​เห็น​แผ่น​ป้าย​เล็ก ๆ ปัก​เป็น​แถว​ตาม​พื้น​ทราย. แต่​ละ​ป้าย​แสดง​สถาน​ที่​ฝัง​ไข่​เต่า​มะ​เฟือง​กอง​เล็ก ๆ หนึ่ง​กอง. ป้าย​นั้น​บอก​จำนวน​ของ​ไข่, วัน​ที่​ย้าย​ไข่, และ​เลข​รหัส​ที่​ระบุ​กอง​ไข่​เดิม. ประมาณ 45 วัน​หลัง​จาก​ย้าย​ไข่ มี​การ​วาง​ลวด​ตาข่าย​รอบ​แต่​ละ​ป้าย​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​ลูก​เต่า​ที่​ฟัก​ออก​มา​หนี​ไป. ระยะ​ฟัก​ตัว​อยู่​ระหว่าง 52 ถึง 61 วัน. ขณะ​ที่​ลูก​เต่า​ฟัก​ออก​มา ซึ่ง​มัก​เป็น​เวลา​เย็น​หลัง​จาก​ดวง​อาทิตย์​ตก​ดิน จะ​มี​การ​จด​บันทึก​จำนวน​เต่า​จาก​แต่​ละ​หลุม. จาก​นั้น ลูก​เต่า​เหล่า​นี้​จะ​ถูก​นำ​ใส่​ภาชนะ แล้ว​ภาย​หลัง​จึง​นำ​ไป​ปล่อย​ที่​ชาย​ทะเล.

โครงการ​อนุรักษ์​นี้​ได้​เลี้ยง​ลูก​เต่า​หลาย​พัน​ตัว​อย่าง​ประสบ​ผล​สำเร็จ และ​ปล่อย​มัน​กลับ​บ้าน​เกิด​ใน​ทะเล. แต่​อัตรา​การ​อยู่​รอด​ซึ่ง​มี​น้อย อีก​ทั้ง​จำนวน​ของ​เต่า​มะ​เฟือง​ที่​มา​ยัง รันเตา อะบัง ลด​น้อย​ลง ทำ​ให้​เรื่อง​นี้​ยัง​คง​น่า​เป็น​ห่วง.

[รูป​ภาพ​หน้า 28]

เต่า​มะ​เฟือง​ซึ่ง​มี​ความ​ยาว 1.8 เมตร นับ​จาก​หัว​จด​หาง วาง​ไข่ หลาย​สิบ​ฟอง. ราว ๆ แปด​สัปดาห์ ต่อ​จาก​นั้น​ลูก​เต่า​ก็​จะ​ฟัก​ออก​มา

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Leathery turtle. Lydekker

C. Allen Morgan/Peter Arnold

David Harvey/SUPERSTOCK

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 28]

C. Allen Morgan/Peter Arnold