พระราชวังใต้ดินอันโอ่อ่าตระการตาของมอสโก
พระราชวังใต้ดินอันโอ่อ่าตระการตาของมอสโก
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในประเทศรัสเซีย
ไม่ยากที่จะเดาว่ารถไฟใต้ดิน หรือเมโทร ตั้งอยู่ตรงไหน. กระแสชนไม่ขาดสาย หลั่งไหลเข้าไปยังทางเข้าแห่งหนึ่งซึ่งนำลงไปใต้ดิน. เหนือทางเข้ามีอักษร M ส่องประกาย ด้วยแสงนีออนสีแดงจ้า. ประตูทางเข้าสวิงตัวเปิดออกข้างหน้าผม. ด้านใน ผมได้เผชิญ กับภาพอันประหลาดล้ำของผู้คนซึ่งวูบลงอย่างรวดเร็วและหายวับไปราวกับตกลงไปในเหว. ตอนแรกผมลังเลใจ. ครั้นแล้ว พอรวบรวมความมั่นใจ ขึ้นมาได้ ผมก็ตามไป.
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเข้ามายังระบบรถไฟใต้ดิน. ไม่ใช่แค่รถไฟใต้ดินธรรมดา ๆ—นี่เป็นเมโทรมอสโก! แต่ในโลกที่มนุษย์สามารถเดินทางไปในอวกาศ, แยกอะตอม, และถึงกับทำการผ่าตัดสมองอันซับซ้อนได้ แล้วจะมีอะไรพิเศษนักหรือเกี่ยวกับรถไฟใต้ดิน?
สิ่งหนึ่งคือ ผมได้รับการบอกเล่าว่าเมโทรมอสโกอาจเป็นรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดในโลก. เป็นดังที่สุภาษิตรัสเซียกล่าวไว้ “ได้เห็นด้วยตาคุณเองเพียงครั้งเดียวดีกว่าได้ฟังร้อยครั้ง.” ตอนที่ผมเข้าร่วมการประชุมนานาชาติครั้งแรกของพยานพระยะโฮวาในมอสโกเมื่อเดือนกรกฎาคม
ที่ผ่านมา ผมกระหายที่จะได้ขึ้นเมโทร.วิธีที่เมโทรเกิดขึ้น
ในปี 1902 นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรัสเซียคนหนึ่งชื่อโบลินสกีเสนอแนะให้สร้างระบบขนส่งทางภาคพื้นซึ่งจะวิ่งขนานกับกำแพงเครมลินและวนรอบใจกลางเมือง. แต่สภาประจำกรุงมอสโกปฏิเสธแผนการพัฒนาระบบนี้ในตอนนั้น. สิบปีต่อมาสภาดังกล่าวเริ่มพิจารณาความคิดนั้นอย่างจริงจัง—นั่นจะเป็นแห่งแรกของรถไฟชนิดนี้ในรัสเซีย—แต่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 ทำให้การพัฒนาต่อไปล่าช้า. ความคิดนี้ไม่ได้รับการรื้อฟื้นจนกระทั่งปี 1931. ตอนนั้นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตตัดสินว่า
รถไฟใต้ดินแห่งแรกของประเทศจะถูกสร้างขึ้นในมอสโก. ดังนั้น รัสเซียจึงกลายเป็นประเทศที่ 11 และมอสโกเป็นเมืองที่ 17 ที่ตกลงทำโครงการก่อสร้างขนาดมหึมาเช่นนี้.รถไฟใต้ดินมหานครของมอสโกเปิดบริการสายแรกด้วยเส้นทางที่ยาวประมาณ 11 กิโลเมตร เมื่อเวลาเจ็ดนาฬิกาในตอนเช้าของวันที่ 15 พฤษภาคม 1935 เพียงสามปีหลังจากเริ่มก่อสร้าง. รถไฟสี่ขบวนบริการรับส่งใน 13 สถานี และสามารถขนส่งผู้โดยสารประมาณ 200,000 คนต่อวัน. ชาวมอสโกและอาคันตุกะต่างชาติรู้สึกประทับใจ. มันเป็นสิ่งใหม่จริง ๆ และดูแปลกตามาก! ในตอนเย็น ผู้คนจะมาเข้าแถวรอเพื่อจะได้อยู่ในกลุ่มผู้โดยสารชุดแรก ๆ. มันเป็นสิ่งที่จะต้องชมให้ได้. และยังคงเป็นเช่นนั้น.
ตั้งแต่ปี 1935 ระบบขนส่งนี้ได้ถูกขยายเป็นเก้าสายซึ่งครอบคลุมระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 กิโลเมตร และมี 149 สถานี. ระบบขนส่งสาธารณะแบบอื่นเกือบทั้งหมดในมอสโก รวมทั้งสนามบินและการขนส่งทางน้ำ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจะเชื่อมเข้ากับการเดินทางด้วยเมโทร. ที่จริงแล้ว ชาวมอสโกไม่อาจจินตนาการถึงชีวิตได้โดยปราศจากรถไฟใต้ดินเมโทร. ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจได้ เนื่องจากรถไฟใต้ดินจะขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยแล้วเก้าล้านคนทุกวัน เกือบสองเท่าของจำนวนพลเมืองประเทศฟินแลนด์. เมื่อเทียบเคียงกัน รถไฟใต้ดินของลอนดอนและนครนิวยอร์กรวมกันแล้วขนส่งผู้โดยสารเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้น.
มาดูกันใกล้ ๆ
คุณอยากชมสิ่งที่อยู่ใต้ดินลึก 20 ชั้นไหม? บันใดเลื่อนตัวหนึ่งพาเราลงไปข้างล่างอย่างรวดเร็ว. มันเป็นเพียงหนึ่งใน 500 ตัวในระบบทั้งหมด ซึ่งถ้านำมาต่อกันจะยาวมากกว่า 50 กิโลเมตร. และเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นเพียงไร เมื่อลงไปตามที่เอียงลาด 30 องศา ด้วยความเร็วเกือบหนึ่งเมตรต่อวินาที—ความเร็วเกือบสองเท่าของบันใดเลื่อนในประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ!
เราเข้าไปยังสถานีมายาคอฟสกียา. สถาปัตยกรรมของสถานีแห่งนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในพระราชวังมากกว่าอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดิน. นับว่ายากมากสำหรับผมที่จะจินตนาการว่าเราอยู่ใต้ดินจริง ๆ. ผมไม่ค่อยได้เห็นสถาปัตยกรรมอันงดงามเช่นนั้นเหนือพื้นดิน ส่วนเรื่องใต้ดินแทบไม่ต้องพูดถึง. ไม่แปลกเลยที่นิทรรศการทางสถาปัตยกรรมนานาชาติซึ่งจัดขึ้นในระหว่างปี 1937 ถึง 1939 มีการให้รางวัลเกียรติยศแก่สถานีรถไฟใต้ดินเมโทรของมอสโกห้าแห่ง รวมทั้งสถานีนี้ด้วย. แน่ละ ไม่ใช่ทั้ง 149 สถานีจะเหมือนพระราชวังเช่นเดียวกับสถานีมายาคอฟสกียา สถานีใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ดูเรียบง่ายกว่า—กระนั้นก็ยังเป็นที่ประทับใจ—แต่ละแห่งโดดเด่นไม่เหมือนใครในสไตล์และรูปแบบ.
เกือบทุกสถานีจะมีบางสิ่งบางอย่างที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์รัสเซีย. หินอ่อน, เซรามิค, และแกรนิต ถูกนำมาจากที่ต่าง ๆ ถึง 20 แห่งในรัสเซียเพื่อใช้สำหรับการตกแต่ง. ด้วยเหตุนี้ แผ่นภาพบอกทางจึงเขียนว่า “ทั้งประเทศร่วมกันช่วยสร้างเมโทรมอสโก.” แกรนิตถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อตกแต่งพื้นเนื่องจากมีคุณสมบัติคงทน. นี่เป็นปัจจัยสำคัญเมื่อคำนึงถึงผู้คนมากมายที่เบียดเสียดเข้ามายังสถานีเหล่านี้ทุกวัน.
ขณะเพลิดเพลินกับความงามของพระราชวังใต้ดินนี้เราสังเกตรถไฟที่วิ่งผ่านไปผ่านมาด้วยความเร็วสูง. ประมาณ 90 วินาที หรือราว ๆ นั้นหลังจากที่ขบวนหนึ่งแล่นออกจากสถานี ก็จะเห็นแสงไฟของขบวนถัดไปที่กำลังจะเข้ามา. ขบวนรถไฟวิ่งไล่ติด ๆ กันเช่นนี้เสมอไหม? เป็นเช่นนั้นระหว่างช่วงเวลาเร่งด่วน. ถ้าไม่ใช่ช่วงดังกล่าวรถไฟจะวิ่งห่างกันประมาณสามนาที.
เราแทบไม่ทันได้นั่งในที่นั่งอันสะดวกสบายบนรถไฟ ก่อนที่จะประสบว่ารถไฟเร่งความเร็วถึงระดับสูงสุดได้ในเวลาสั้นจริง ๆ. รถไฟพุ่งไปตามอุโมงค์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงหกเมตร บางครั้งด้วยความเร็วถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. คิดดูซิ คนเราสามารถเดินทางตลอดความยาวของระบบเมโทรได้ภายในเวลาราว ๆ หกชั่วโมง! ชาวมอสโกชอบใช้รถไฟใต้ดินไม่เพียงเพราะเป็นการเดินทางที่เร็วที่สุดแต่เพราะถูกที่สุดและสะดวกสบายที่สุดด้วย. ระหว่างการประชุมนานาชาติของพยานพระยะโฮวาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว การนั่งเมโทรไปที่
ใด ๆ ก็ตามเสียค่าใช้จ่ายเพียงสิบรูเบิล ตอนนั้นเท่ากับ 25 สตางค์.ระยะห่างระหว่างรถไฟแต่ละขบวนสั้นมากจนคุณอาจสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรที่รถไฟจะวิ่งด้วยความเร็วสูงเช่นนั้น. คำอธิบายง่ายมาก. มีการออกแบบระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ. ระบบนี้จะคอยดูว่าระยะระหว่างรถไฟแต่ละขบวนจะไม่น้อยกว่าระยะที่รถไฟนั้นสามารถหยุดได้ที่ความเร็วในขณะนั้น. พูดอีกอย่างหนึ่งคือ รถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหากวิ่งเข้าไปใกล้รถไฟขบวนข้างหน้าเกินกว่าระยะปลอดภัยที่จะหยุดได้ ระบบอัตโนมัติจะสั่งให้ห้ามล้อทันที. นอกจากนั้น วิศวกรในรถไฟขบวนหน้าจะได้รับการเตือนด้วยสัญญาณแจ้งภัย. แน่นอน ระบบนี้เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้อย่างมากทีเดียว. เป็นไปได้ไหมว่านั้นเป็นสาเหตุที่ผู้เดินทางด้วยเมโทรชาวมอสโกดูเหมือนสงบและผ่อนคลาย? พวกเขาส่วนใหญ่นั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ มั่นใจเต็มที่ว่าจะถึงที่หมายอย่างปลอดภัย.
แสงสว่างและอากาศ
ทุกเช้าตรู่ เมื่อมอเตอร์ไฟฟ้านับพัน ๆ เริ่มส่งเสียงกระหึ่มและหลอดไฟนับแสน ๆ ดวงเริ่มส่องสว่าง ผู้คนนับล้าน ๆ เริ่มเข้า ๆ ออก ๆ ตามพระราชวังใต้ดินต่าง ๆ อันแออัดคับคั่งที่ซึ่งรถไฟใต้ดิน 3,200 ขบวนสลับกันเปิดและปิดประตูตลอดทั้งวัน. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยกระแสไฟฟ้าปริมาณมหาศาล.
กิจกรรมเหล่านี้ก่อเกิดความร้อนจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งถูกซึมซับไว้โดยพื้นดินที่อยู่ล้อมรอบ. แต่ความร้อนส่วนเกินที่อาจทำให้อุโมงค์และสถานีร้อนเกินขนาดล่ะจะว่าอย่างไร? ก็ดังที่เหมาะสมสำหรับพระราชวัง สถานีแต่ละแห่งจะได้รับบริการด้วยระบบถ่ายเทอากาศ ซึ่งจะเปลี่ยนอากาศใหม่ทั้งหมดสี่ครั้งต่อชั่วโมง. ไม่ว่าระบบเมโทรจะแน่นขนาดไหนก็จะมีอากาศบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา. ที่จริง ระบบถ่ายเทอากาศในเมโทรของมอสโก หลายคนถือว่าดีที่สุดในโลก.
อย่างไรก็ตาม ระหว่างฤดูหนาวความร้อนนี้มีประโยชน์. ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบทำความร้อน ยกเว้นอาคารและทางเข้าที่อยู่เหนือพื้นดิน. รถไฟ, ผู้คนจำนวนมากมาย, และตัวพื้นดินเองที่ได้กักเก็บความร้อนไว้ระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน คายความร้อนออกมาอย่างมากมาย เพียงพอที่จะทำให้พระราชวังใต้ดินอบอุ่นสบาย.
คำสรรเสริญจากทั่วทุกสารทิศ
ตามที่คาดหมายได้ จุลสารบอกเส้นทางประกอบภาพของเมโทรยกย่องชมเชยดังนี้: “เมโทรมอสโกได้รับการกล่าวขานอย่างถูกต้องว่าเป็นหนึ่งในรถไฟใต้ดินที่งดงามที่สุดของโลก ซึ่งมีสถานีโอ่อ่าตระการตาพร้อมกับเครือข่ายอันสลับซับซ้อนของราง, การเดินสายไฟ, ท่อและเคเบิล ส่อแสดงถึงความพยายามด้านศิลปะและความชำนาญด้านวิศวกรรมที่ดีที่สุดซึ่งผสมผสานน่าดึงดูดใจจริง ๆ. เป็นยิ่งกว่าสถานีรถไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นผลงานชิ้นเอกด้านสถาปัตยกรรมอันสละสลวยที่ไม่อาจเลียนแบบได้ และแต่งเติมเสน่ห์อย่างมีรสนิยมด้วยหินอ่อน, แกรนิต, เหล็กกล้าและกระเบื้อง ซึ่งปรากฏเด่นด้วยระบบแสงสว่างที่ออกแบบแปลกพิสดาร, รูปประติมากรรม, ลวดลายโมเสค, รูปหล่อ, ลายลูกฟักตามประตูหน้าต่าง, กระจกสี, และศิลปะตอกนูน. บรรดาสถาปนิกและจิตรกรฝีมือเยี่ยมที่สุดของประเทศ” รวมทั้งช่างแกะสลัก “มีส่วนช่วยเหลือในการวางรูปแบบและการตกแต่ง.”
เดี๋ยวนี้ หลังจากได้ไปเยี่ยมมอสโกและได้ชมเมโทรด้วยตัวเอง ผมเห็นพ้องด้วย. เพื่อนของผมหลายคนที่เข้าร่วมการประชุมต่างก็ประทับใจด้วยเช่นกัน. ชาวเยอรมันคนหนึ่งบอกผมว่า “ผมรู้สึกราวกับได้เข้าไปในห้องแสดงคอนเสิร์ตที่ประดับด้วยโคมไฟระย้างดงาม. ผมรู้สึกเคลิบเคลิ้มหลงใหล.” ผู้มาเยือนคนหนึ่งจากสหรัฐประทับใจในการตรงต่อเวลา, ความสะอาด, และประสิทธิภาพของเมโทร. และผู้ร่วมการประชุมคนหนึ่งจากไซบีเรียอันไกลโพ้นรู้สึกทึ่งกับความใหญ่โตมโหฬารและขนาดของโครงสร้างใต้ดิน.
ถ้าคุณจะไปมอสโกละก็ ผมขอสนับสนุนคุณให้ไปเยี่ยมชมพระราชวังใต้ดินอันโอ่อ่าตระการตาเหล่านี้. จำไว้ว่า “ได้เห็นด้วยตาคุณเองเพียงครั้งเดียวดีกว่าได้ฟังร้อยครั้ง.”
[ที่มาของภาพหน้า 9]
Sovfoto/Eastfoto
[รูปภาพหน้า 11]
สถานีรถไฟอันสวยงามบางแห่งของมอสโก
[ที่มาของภาพหน้า 10]
Photo credits (clockwise from top left): Laski/Sipa Press; Sovfoto/Eastfoto; Sovfoto/Eastfoto; Laski/Sipa Press; Laski/Sipa Press; Sovfoto/Eastfoto