ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การถ่ายเลือด—ประวัติอันยาวนานซึ่งเต็มไปด้วยการโต้แย้ง

การถ่ายเลือด—ประวัติอันยาวนานซึ่งเต็มไปด้วยการโต้แย้ง

การ​ถ่าย​เลือด—ประวัติ​อัน​ยาว​นาน​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​การ​โต้​แย้ง

“ถ้า​เซลล์​เม็ด​เลือด​แดง​คือ​ยา​ขนาน​ใหม่​ใน​ปัจจุบัน ก็​คง​เป็น​เรื่อง​ยาก​ยิ่ง​ที่​จะ​ได้​รับ​ใบ​อนุญาต.”—นาย​แพทย์​เจฟฟรีย์ แมกคัลโล.

ใน​ฤดู​หนาว​ปี 1667 ชาย​ที่​มี​อาการ​คลุ้มคลั่ง​รุนแรง​คน​หนึ่ง​ชื่อ อังตวน โมรัว ถูก​นำ​ไป​พบ​กับ​ฌอง-บัพติสต์ เดนี แพทย์​ส่วน​พระองค์​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ของ​พระเจ้า​หลุยส์​ที่ 14 แห่ง​ฝรั่งเศส. เดนี​เกิด​ความ​คิด​ที่​จะ “รักษา” อาการ​บ้า​ของ​โมรัว​โดย​เอา​เลือด​วัว​มา​ถ่าย​ให้​เขา ซึ่ง​เดนี​คิด​ว่า​คง​จะ​ทำ​ให้​คนไข้​ราย​นี้​สงบ​ลง​ได้. แต่​สำหรับ​โมรัว​แล้ว​ไม่​ราบรื่น​อย่าง​ที่​คิด. จริง​อยู่ หลัง​จาก​การ​ถ่าย​เลือด​ครั้ง​ที่​สอง อาการ​ของ​เขา​ดี​ขึ้น. แต่​สัก​พัก​หนึ่ง ชาย​ชาว​ฝรั่งเศส​คน​นี้​ก็​คลุ้มคลั่ง​อีก และ​ไม่​นาน​เขา​ก็​ถึง​แก่​ความ​ตาย.

แม้​ใน​เวลา​ต่อ​มา​มี​การ​ลง​ความ​เห็น​ว่า จริง ๆ แล้ว โมรัว​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​พิษ​ของ​สาร​หนู แต่​การ​ทดลอง​ของ​เดนี​โดย​เอา​เลือด​สัตว์​มา​ถ่าย​ให้​นั้น​ก่อ​ให้​เกิด​การ​โต้​แย้ง​อย่าง​รุนแรง​ใน​ฝรั่งเศส. สุด​ท้าย วิธี​การ​นี้​ถูก​สั่ง​ห้าม​ใน​ปี 1670. ต่อ​มา รัฐสภา​อังกฤษ​และ​กระทั่ง​โปป​ก็​ห้าม​ไม่​ให้​ใช้​วิธี​นี้​ด้วย. หลัง​จาก​นั้น การ​ถ่าย​เลือด​ได้​เงียบ​หาย​ไป 150 ปี.

อันตราย​ใน​ช่วง​แรก ๆ

ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 การ​ถ่าย​เลือด​ได้​หวน​กลับ​มา​อีก. ผู้​รื้อ​ฟื้น​วิธี​การ​นี้​คือ สูติแพทย์​ชาว​อังกฤษ​ชื่อ เจมส์ บรันเดลล์. ด้วย​เทคนิค​ที่​ปรับ​ปรุง​ดี​ขึ้น​และ​เครื่อง​ไม้​เครื่อง​มือ​ที่​พัฒนา​มาก​ขึ้น อีก​ทั้ง​การ​ยืนกราน​ของ​เขา​ที่​ว่า​ต้อง​ใช้​เฉพาะ​เลือด​มนุษย์ เท่า​นั้น บรันเดลล์​ได้​นำ​การ​ถ่าย​เลือด​กลับ​มา​สู่​ความ​นิยม​อีก​ครั้ง.

แต่​ใน​ปี 1873 เอฟ. เกเซลลีอุส แพทย์​ชาว​โปแลนด์ ทำ​ให้​กระแส​การ​กลับ​มา​ของ​การ​ถ่าย​เลือด​ชะลอ​ตัว​ลง​ด้วย​การ​ค้น​พบ​ที่​น่า​ตกใจ นั่น​คือ มาก​กว่า​ครึ่ง​ของ​การ​ถ่าย​เลือด​จบ​ลง​ด้วย​การ​เสีย​ชีวิต. เมื่อ​ทราบ​เรื่อง​นี้ บรรดา​แพทย์​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ก็​เริ่ม​ประณาม​วิธี​การ​ดัง​กล่าว. ความ​นิยม​การ​ถ่าย​เลือด​กลับ​เสื่อม​ถอย​อีก​ครั้ง.

ครั้น​แล้ว ใน​ปี 1878 ชอร์ช อาเยม แพทย์​ชาว​ฝรั่งเศส​ก็​ผลิต​น้ำ​เกลือ​ได้​สำเร็จ ซึ่ง​เขา​อ้าง​ว่า​สามารถ​ใช้​แทน​เลือด​ได้. ต่าง​จาก​เลือด น้ำ​เกลือ​ไม่​ก่อ​ผล​ข้าง​เคียง, ไม่​จับ​ตัว​เป็น​ลิ่ม, และ​ง่าย​ต่อ​การ​ขน​ส่ง. จึง​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า​ทำไม​มี​การ​ใช้​น้ำ​เกลือ​ของ​อาเยม​อย่าง​กว้างขวาง. แต่​น่า​แปลก ไม่​นาน​ก็​เห็น​ชอบ​กับ​การ​ใช้​เลือด​อีก. เพราะ​เหตุ​ใด?

ใน​ปี 1900 คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ นัก​พยาธิ​วิทยา​ชาว​ออสเตรีย ได้​ค้น​พบ​ว่า​เลือด​มี​หลาย​กรุ๊ป และ​เขา​พบ​ว่า​เลือด​กรุ๊ป​หนึ่ง​ไม่​ใช่​จะ​เข้า​กัน​ได้​เสมอ​ไป​กับ​อีก​กรุ๊ป​หนึ่ง. ไม่​แปลก​ที่​การ​ถ่าย​เลือด​หลาย​ต่อ​หลาย​ราย​ใน​อดีต​จบ​ลง​ด้วย​เรื่อง​น่า​เศร้า! ปัจจุบัน อาจ​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น หาก​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​กรุ๊ป​เลือด​ของ​ผู้​บริจาค​เข้า​กัน​ได้​กับ​ของ​ผู้​รับ. ด้วย​ความ​รู้​นี้ แพทย์​กลับ​มั่น​ใจ​ใน​การ​ถ่าย​เลือด​อีก​ครั้ง—ทัน​เวลา​พอ​ดี​กับ​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1.

การ​ถ่าย​เลือด​และ​สงคราม

ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 มี​การ​ถ่าย​เลือด​อย่าง​กว้างขวาง​ให้​ทหาร​ที่​บาดเจ็บ. แน่​ละ เลือด​จับ​ตัว​เป็น​ลิ่ม​อย่าง​รวด​เร็ว และ​ก่อน​หน้า​นี้​แทบ​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​ส่ง​เลือด​ถึง​สมรภูมิ. แต่​ใน​ช่วง​ต้น ๆ ศตวรรษ​ที่ 20 นาย​แพทย์​ริชาร์ด ลูวิซอน แห่ง​โรง​พยาบาล​เมาต์ ไซนาย ใน​นคร​นิวยอร์ก ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ​ทดลอง​ใช้​สาร​ที่​เรียก​ว่า​โซเดียม​ซิเตรต​เพื่อ​ไม่​ให้​เลือด​จับ​ตัว​เป็น​ลิ่ม. แพทย์​บาง​คน​ถือ​ว่า​ความ​สำเร็จ​อัน​น่า​ตื่นเต้น​นี้​เป็น​สิ่ง​มหัศจรรย์. “แทบ​จะ​เหมือน​เหตุ​การณ์​ที่​ดวง​อาทิตย์​ถูก​ทำ​ให้​หยุด​นิ่ง.” ดร. เบอร์แทรม เอ็ม. เบิร์นไฮม์ แพทย์​ผู้​มี​ชื่อเสียง​คน​หนึ่ง​ใน​สมัย​ของ​เขา​ได้​เขียน​ไว้.

สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ทำ​ให้​เลือด​เป็น​ที่​ต้องการ​มาก​ยิ่ง​ขึ้น. มี​การ​ติด​โปสเตอร์​เต็ม​ไป​หมด​โดย​มี​ข้อ​ความ​อย่าง​เช่น “บริจาค​เลือด​กัน​เถอะ,” “เลือด​ของ​คุณ​ช่วย​ชีวิต​เขา​ได้,” และ “เขา​สละ​เลือด​ของ​เขา. คุณ​จะ​สละ​เลือด​ของ​คุณ​ไหม?” เสียง​เรียก​ร้อง​ให้​บริจาค​เลือด​ได้​รับ​การ​ตอบรับ​ล้น​หลาม. ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 มี​การ​บริจาค​เลือด​ประมาณ 13,000,000 ยูนิต ใน​สหรัฐ. กะ​ประมาณ​ว่า เลือด​ที่​ได้​รับ​บริจาค​และ​แจก​จ่าย​ออก​ไป​ใน​ลอนดอน​มี​มาก​กว่า 68,500 แกล​ลอน. แน่​ละ การ​ถ่าย​เลือด​ก่อ​ความ​เสี่ยง​ต่อ​สุขภาพ​หลาย​อย่าง ดัง​ที่​ประจักษ์​ชัด​ใน​เวลา​ต่อ​มา.

โรค​ที่​มา​กับ​เลือด

หลัง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ความ​ก้าว​หน้า​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​มาก​ใน​วงการ​แพทย์​ทำ​ให้​การ​ผ่าตัด​บาง​อย่าง​เป็น​ไป​ได้ ซึ่ง​แต่​ก่อน​ไม่​ต้อง​พูด​ถึง. ผล​ก็​คือ อุตสาหกรรม​จัด​หา​เลือด​สำหรับ​การ​ถ่าย​เลือด​ที่​ทำ​ราย​ได้​หลาย​พัน​ล้าน​ดอลลาร์​ต่อ​ปี​ก็​ผุด​ขึ้น​ทั่ว​โลก ซึ่ง​พวก​แพทย์​เริ่ม​มอง​ว่า​นี่​เป็น​ขั้น​ตอน​มาตรฐาน​สำหรับ​การ​ผ่าตัด.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​นาน​นัก​ความ​วิตก​กังวล​เรื่อง​โรค​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ถ่าย​เลือด​ก็​ปรากฏ​ขึ้น. ยก​ตัว​อย่าง ระหว่าง​สงคราม​เกาหลี เกือบ 22 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​รับ​การ​ถ่าย​พลาสมา​เป็น​โรค​ตับ​อักเสบ—เกือบ​สาม​เท่า​ของ​อัตรา​ที่​เป็น​ใน​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2. พอ​ถึง​ทศวรรษ 1970 ศูนย์​ควบคุม​โรค​แห่ง​สหรัฐ​กะ​ประมาณ​ว่า จำนวน​ผู้​เสีย​ชีวิต​จาก​โรค​ตับ​อักเสบ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ถ่าย​เลือด​มี​ราว ๆ 3,500 ราย​ต่อ​ปี. แหล่ง​อื่น​ให้​ตัว​เลข​สูง​กว่า​ถึง​สิบ​เท่า.

เนื่อง​จาก​การ​ตรวจ​วิเคราะห์​ที่​ละเอียด​ขึ้น​และ​การ​คัด​ผู้​บริจาค​อย่าง​รอบคอบ​ยิ่ง​ขึ้น ยัง​ผล​ให้​จำนวน​ผู้​ติด​เชื้อ​ไวรัส​ตับ​อักเสบ​บี​ลด​ลง. แต่​หลัง​จาก​นั้น ไวรัส​ตัว​ใหม่​ซึ่ง​บาง​ครั้ง​เป็น​อันตราย​ถึง​ชีวิต—ตับ​อักเสบ​ซี—ได้​ก่อ​ความ​เสียหาย​มหันต์. มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า ชาว​อเมริกัน​สี่​ล้าน​คน​ติด​ไวรัส​ชนิด​นี้ หลาย​แสน​ราย​ติด​โดย​การ​ถ่าย​เลือด. จริง​อยู่ การ​ตรวจ​สอบ​อย่าง​เข้มงวด ใน​ที่​สุด​ได้​ลด​การ​แพร่​ระบาด​ของ​ตับ​อักเสบ​ซี. กระนั้น บาง​คน​ก็​ยัง​กลัว​ว่า​อันตราย​แบบ​ใหม่​จะ​ปรากฏ​ขึ้น​อีก และ​กว่า​จะ​รู้​ตัว​ก็​คง​สาย​เกิน​ไป.

เรื่อง​น่า​อัปยศ​อีก​อย่าง​หนึ่ง—เลือด​ปน​เปื้อน​เอชไอวี

ใน​ทศวรรษ 1980 มี​การ​ค้น​พบ​ว่า​เชื้อ​เอชไอวี ซึ่ง​เป็น​ไวรัส​ที่​ทำ​ให้​เกิด​โรค​เอดส์​สามารถ​ปน​เปื้อน​มา​กับ​เลือด​ได้. ตอน​แรก ธนาคาร​เลือด​ไม่​ยอม​รับ​ว่า​เลือด​ที่​ตน​เก็บ​ไว้​อาจ​มี​การ​ปน​เปื้อน. ตอน​แรก ๆ พวก​เขา​หลาย​คน​ไม่​ค่อย​เชื่อ​เรื่อง​การ​คุกคาม​ของ​เอชไอวี​เท่า​ไร​นัก. ดัง​ที่ นาย​แพทย์​บรูซ เอฟวัตต์ กล่าว​ว่า “เหมือน​กับ​ใคร​สัก​คน​ที่​เดิน​มา​จาก​ทะเล​ทราย​และ​พูด​ว่า ‘ผม​เห็น​มนุษย์​ต่าง​ดาว.’ พวก​เขา​ฟัง แต่​ไม่​เชื่อ.”

กระนั้น ประเทศ​แล้ว​ประเทศ​เล่า​ได้​เห็น​ความ​อัปยศ​เกิด​ขึ้น​เรื่อง​การ​รับ​เลือด​ที่​ปน​เปื้อน​เอชไอวี. มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า​การ​ถ่าย​เลือด​ใน​ฝรั่งเศส​ที่​ทำ​ระหว่าง​ปี 1982 ถึง 1985 เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​คน​ราว ๆ 6,000 ถึง 8,000 คน ติด​เชื้อ​เอชไอวี. 10 เปอร์เซ็นต์​ของ​การ​ติด​เชื้อ​เอชไอวี​ใน​แอฟริกา และ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​ป่วย​เอดส์​ใน​ปากีสถาน มี​ต้น​เหตุ​มา​จาก​การ​ถ่าย​เลือด. เนื่อง​จาก​การ​ตรวจ​วิเคราะห์​ที่​ปรับ​ปรุง​ดี​ขึ้น​ใน​ปัจจุบัน การ​ติด​เชื้อ​เอชไอวี​โดย​การ​ถ่าย​เลือด​จึง​แทบ​ไม่​ปรากฏ​ใน​ประเทศ​ที่​พัฒนา​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ติด​เชื้อ​ดัง​กล่าว​ยัง​คง​เป็น​ปัญหา​สำหรับ​ประเทศ​ที่​กำลัง​พัฒนา​ซึ่ง​ขาด​กรรมวิธี​ตรวจ​วิเคราะห์.

จึง​เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า​ใน​ปี​หลัง ๆ นี้​ผู้​คน​ให้​ความ​สนใจ​มาก​ขึ้น​เกี่ยว​ด้วย​เวชกรรม​และ​ศัลยกรรม​ที่​ไม่​ใช้​เลือด. แต่​นี่​เป็น​ทาง​เลือก​ที่​ปลอด​ภัย​ไหม?

[กรอบ​หน้า 6]

การ​ถ่าย​เลือด—ไม่​มี​มาตรฐาน​ทาง​การ​แพทย์

ใน​แต่​ละ​ปี เฉพาะ​ใน​สหรัฐ​แห่ง​เดียว​มี​การ​ถ่าย​เลือด​มาก​กว่า 11,000,000 ยูนิต​ให้​กับ​ผู้​ป่วย 3,000,000 ราย. เมื่อ​คิด​ถึง​จำนวน​ที่​มาก​มาย​เช่น​นี้ เรา​อาจ​สันนิษฐาน​ว่า​พวก​แพทย์​คง​มี​มาตรฐาน​ที่​เข้มงวด​เรื่อง​การ​ถ่าย​เลือด. กระนั้น วารสาร​เดอะ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซิน ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า มี​ข้อมูล​น้อย​นิด​จน​น่า​ตกใจ​เพื่อ “ชี้​นำ​การ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​การ​ถ่าย​เลือด.” ที่​จริง มี​การ​ปฏิบัติ​หลาก​หลาย​มาก ไม่​เฉพาะ​ใน​เรื่อง​ของ​สิ่ง​ที่​จะ​มี​การ​ถ่าย​ให้​และ​จะ​ให้​ใน​ปริมาณ​เท่า​ไร แต่​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​ควร​จะ​มี​การ​ถ่าย​เลือด​หรือ​ไม่​ด้วย. วารสาร​ทาง​การ​แพทย์​ชื่อ​อักตา อะเนสเทซิโอโลกิคา เบลกีคา บอก​ว่า “การ​ถ่าย​เลือด​ขึ้น​อยู่​กับ​หมอ ไม่​ใช่​คนไข้.” เมื่อ​พิจารณา​จาก​ที่​กล่าว​มา​นี้ จึง​แทบ​ไม่​แปลก​ใจ​ที่​การ​ศึกษา​วิจัย​ราย​หนึ่ง​ซึ่ง​ตี​พิมพ์​ใน​วารสาร​เดอะ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซิน พบ​ว่า “มี​การ​ถ่าย​เลือด​ประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์​ที่​ทำ​ไป​อย่าง​ไม่​สม​ควร​จะ​ทำ.”

[ภาพ​หน้า 5]

สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ทำ​ให้​เลือด​เป็น​ที่​ต้องการ​มาก​ยิ่ง​ขึ้น

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Imperial War Museum, London

U.S. National Archives photos