ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉันจะกล้ามากกว่านี้ได้อย่างไร?

ฉันจะกล้ามากกว่านี้ได้อย่างไร?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า . . .

ฉัน​จะ​กล้า​มาก​กว่า​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

“ผม​พูด​ไม่​เก่ง​มา​ตั้ง​แต่​ไหน​แต่​ไร. ผม​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า ถ้า​ผม​พูด​อะไร​ออก​ไป คน​อื่น​จะ​พา​กัน​หนี​ไป​หมด. คุณ​แม่​ของ​ผม​ขี้อาย​มาก ๆ และ​ผม​คิด​ว่า​นี่​เป็น​สาเหตุ​ที่​ผม​ก็​เป็น​แบบ​เดียว​กัน.”—อาร์​ตี.

บาง​ครั้ง​คุณ​อยาก​จะ​ขี้อาย​น้อย​ลง​สัก​หน่อย—และ​ยิ้ม​แย้ม​เป็น​มิตร​และ​กล้า​พูด​มาก​ขึ้น​อีก​สัก​นิด​ไหม? ดัง​ที่​บทความ​ก่อน​หน้า​ใน​ชุด​นี้​แสดง​ให้​เห็น ความ​อาย​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา. * ดัง​นั้น คุณ​ไม่​ได้​ผิด​ปกติ​หรอก​ถ้า​คุณ​ค่อนข้าง​จะ​เป็น​คน​เงียบ ๆ, ขรึม, หรือ​ชอบ​เก็บ​ตัว. แต่​การ​เป็น​คน​ขี้อาย​มาก​เกิน​ไป อาจ​ก่อ​ปัญหา​ได้​จริง ๆ. อย่าง​น้อย​ที่​สุด การ​ขี้อาย​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​ไม่​มี​โอกาส​ได้​ชื่นชม​กับ​มิตรภาพ. และ​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​อึดอัด​หรือ​วาง​ตัว​ไม่​ถูก​เมื่อ​อยู่​ใน​หมู่​ผู้​คน.

แม้​แต่​ผู้​ใหญ่​ก็​มัก​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​อาย. แบร์รี *เป็น​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. แต่​เขา​มัก​จะ​เงียบ​เมื่อ​อยู่​ใน​กลุ่ม. เขา​ยอม​รับ​ว่า “ผม​รู้สึก​ว่า​ผม​ไม่​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​พูด​อะไร​ที่​มี​ความหมาย.” ได​แอน ภรรยา​ของ​เขา ก็​มี​ปัญหา​คล้าย ๆ กัน. เธอ​แก้​ปัญหา​อย่าง​ไร? เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​ชอบ​อยู่​กับ​คน​ที่​พูด​เก่ง​เพราะ​ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​เขา​จะ​พูด​อยู่​ฝ่าย​เดียว​ได้.” มี​วิธี​อะไร​บ้าง​ที่​จะ​ทำ​ให้​คุณ​กล้า​มาก​ขึ้น​ได้?

เลิก​ดูถูก​ตัว​เอง

ขั้น​แรก คุณ​อาจ​ต้อง​ประเมิน​ตัว​เอง​ใหม่. คุณ​ดูถูก​ตัว​เอง​อยู่​เรื่อย ๆ โดย​บอก​กับ​ตัว​เอง​ว่า​คน​อื่น​จะ​ไม่​ชอบ​คุณ​หรือ​ว่า​คุณ​ไม่​มี​อะไร​ดี ๆ ที่​จะ​พูด​ไหม? การ​มี​ความ​รู้สึก​ใน​แง่​ลบ​กับ​ตัว​เอง​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​คุณ​ขี้อาย​ต่อ​ไป. ถ้า​จะ​ว่า​ไป พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน รัก​ตน​เอง”—ไม่​ใช่​แทน​ที่​จะ รัก​ตัว​เอง! (มัดธาย 19:19) ดัง​นั้น นับ​ว่า​ดี​และ​ถูก​ต้อง​ที่​จะ​รัก​ตัว​เอง​บ้าง. นี่​สามารถ​ให้​ความ​มั่น​ใจ​กับ​คุณ ซึ่ง​คุณ​อาจ​ต้องการ​เพื่อ​จะ​เข้า​ไป​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น.

ถ้า​คุณ​ตรม​ทุกข์​เพราะ​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​เป็น​คน​ไร้​ค่า คุณ​อาจ​พบ​ว่า​มี​ประโยชน์​ที่​จะ​อ่าน​หนังสือ​คำ​ถาม​ที่​หนุ่ม​สาว​ถาม—คำ​ตอบ​ที่​ได้​ผล * ใน​บท 12 ซึ่ง​มี​ชื่อ​ว่า “ทำไม​ฉัน​ไม่​ชอบ​ตัว​เอง?” ความ​รู้​นั้น​อาจ​ช่วย​คุณ​ให้​เห็น​ว่า คุณ​ก็​เป็น​คน​ที่​มี​ค่า​มาก​ที​เดียว. คิด​ดู​สิ ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​คุณ​เป็น​คริสเตียน​ก็​แสดง​ว่า​พระเจ้า​ทรง​เห็น​อะไร​ที่​มี​ค่า​ใน​ตัว​คุณ! ว่า​กัน​ตาม​จริง​แล้ว พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ไม่​มี​ผู้​ใด​จะ​มา​ถึง​เรา​ได้, เว้น​ไว้​พระ​บิดา​ผู้​ทรง​ใช้​เรา​มา​จะ​ชัก​นำ​เขา.”—โยฮัน 6:44.

สนใจ​คน​อื่น

สุภาษิต 18:1 เตือน​ว่า “คน​ที่​ปลีก​ตัว​ออก​ไป​จาก​ผู้​อื่น​จงใจ​จะ​ทำ​ตาม​ตน​เอง.” ใช่​แล้ว ถ้า​คุณ​เก็บ​ตัว​อยู่​คน​เดียว คุณ​คง​จะ​หมกมุ่น​อยู่​กับ​ตัว​เอง​มาก​เกิน​ไป. ฟิลิปปอย 2:4 สนับสนุน​เรา​ว่า ‘อย่า​ให้​เรา​คิด​แต่​การ​งาน​ของ​เรา​ฝ่าย​เดียว, แต่​ให้​คิด​ถึง​การ​งาน​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย.’ เมื่อ​คุณ​มุ่ง​สนใจ​ใน​ผล​ประโยชน์​และ​ความ​ต้องการ​ของ​คน​อื่น คุณ​ก็​จะ​คิด​ถึง​ตัว​เอง​น้อย​ลง. และ​ยิ่ง​คุณ​สนใจ​คน​อื่น​มาก​ขึ้น​เท่า​ไร คุณ​คง​อยาก​จะ​ริเริ่ม​ทำ​ความ​รู้​จัก​พวก​เขา​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น.

ตัว​อย่าง​เช่น ลุเดีย สตรี​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​ใน​ฐานะ​สัญลักษณ์​ของ​ความ​เป็น​มิตร​และ​การ​มี​น้ำใจ​ต้อนรับ​แขก. คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​เรา​ว่า หลัง​จาก​นาง​ได้​ฟัง​คำ​ของ​อัครสาวก​เปาโล​และ​รับ​บัพติสมา​แล้ว นาง​วิงวอน​เปาโล​และ​เพื่อน​ของ​ท่าน​ว่า “ถ้า​ท่าน​เห็น​ว่า​ข้าพเจ้า​เป็น​คน​สัตย์​ซื่อ​ต่อ​พระเจ้า, เชิญ​เข้า​มา​พัก​อาศัย​ใน​ตึก​ของ​ข้าพเจ้า​เถิด.” (กิจการ 16:11-15) แม้​ว่า​เพิ่ง​เข้า​มา​เป็น​ผู้​เชื่อถือ ลุเดีย​ก็​ริเริ่ม​ที่​จะ​ทำ​ความ​คุ้น​เคย​กับ​พี่​น้อง​เหล่า​นั้น—และ​ไม่​ต้อง​สงสัย นาง​ได้​รับ​พระ​พร​หลาย​ประการ​เป็น​การ​ตอบ​แทน. หลัง​จาก​เปาโล​และ​ซีลา​ถูก​ปล่อย​ตัว​ออก​จาก​คุก พวก​เขา​ไป​ที่​ไหน? น่า​สนใจ พวก​เขา​กลับ​ไป​ที่​บ้าน​ของ​ลุเดีย!—กิจการ 16:35-40.

เช่น​เดียว​กัน คุณ​จะ​พบ​ว่า​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​จะ​ตอบ​สนอง​ความ​สนใจ​ที่​คุณ​มี​ต่อ​เขา. คุณ​จะ​เริ่ม​ทำ​เช่น​นี้​ได้​อย่าง​ไร? ต่อ​ไป​นี้​เป็น​คำ​แนะ​นำ​บาง​ข้อ​ที่​มี​ประโยชน์.

เริ่ม​จาก​จุด​เล็ก ๆ. การ​เป็น​คน​ชอบ​คบหา​สมาคม​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​ทำ​ตัว​โก้​หรู​หรือ​เด่น​ใน​สังคม. จง​พยายาม​คุย​กับ​ที​ละ​คน. คุณ​อาจ​ตั้ง​เป้า​ที่​จะ​เริ่ม​สนทนา​อย่าง​น้อย​กับ​ใคร​คน​หนึ่ง​ทุก​ครั้ง​ที่​คุณ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน. จง​พยายาม​ยิ้ม. ฝึก​สบ​ตา​คน​ที่​คุณ​คุย​ด้วย.

เริ่ม​การ​สนทนา. คุณ​อาจ​ถาม​ว่า ‘จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ล่ะ?’ ถ้า​คุณ​เป็น​คน​ที่​สนใจ​คน​อื่น​จริง ๆ ก็​ไม่​ใช่​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​หา​เรื่อง​คุย​กัน. วัยรุ่น​คน​หนึ่ง​ใน​ประเทศ​สเปน​ชื่อ ฮอร์เก บอก​ว่า “ผม​สังเกต​ว่า เพียง​แค่​ถาม​คน​อื่น​ว่า​เขา​เป็น​อย่าง​ไร​หรือ​ถาม​เกี่ยว​กับ​งาน​ของ​เขา​ก็​ช่วย​ให้​คุณ​รู้​จัก​เขา​ดี​ขึ้น.” วัยรุ่น​อีก​คน​หนึ่ง​ชื่อ เฟรด แนะ​ว่า “ถ้า​คุณ​ไม่​รู้​ว่า​จะ​พูด​อะไร ก็​ถาม​เขา​สิ.” แน่นอน คุณ​ไม่​อยาก​ให้​คน​อื่น​รู้สึก​ว่า​เขา​ถูก​สอบสวน. ถ้า​คน​นั้น​ดู​เหมือน​ไม่​เต็ม​ใจ​ตอบ​คำ​ถาม ก็​ลอง​เล่า​เรื่อง​ของ​คุณ​ให้​เขา​ฟัง.

แมรี ซึ่ง​เป็น​คุณ​แม่​ของ​ลูก​วัยรุ่น​คน​หนึ่ง กล่าว​ว่า “ดิฉัน​พบ​ว่า​วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ทำ​ให้​ผู้​คน​รู้สึก​สบาย​ใจ​ก็​คือ​การ​ให้​พวก​เขา​พูด​เรื่อง​ของ​ตัว​เอง.” เด็ก​สาว​ชื่อ เคท เสริม​ว่า “มัน​ช่วย​ได้​ที่​จะ​ชมเชย​ผู้​คน​เรื่อง​การ​แต่ง​กาย​หรือ​เรื่อง​อื่น ๆ. คุณ​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้สึก​ว่า​เขา​เป็น​ที่​ชื่น​ชอบ.” แน่​ละ ต้อง​จริง​ใจ และ​อย่า​พูด​ยกยอปอปั้น. (1 เธซะโลนิเก 2:5) โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว ผู้​คน​จะ​ตอบ​สนอง​คำ​พูด​ที่​จริง​ใจ​ซึ่ง​กรุณา​และ​อ่อน​หวาน.—สุภาษิต 16:24.

เป็น​ผู้​ฟัง​ที่​ดี. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “จง​ให้​ทุก​คน​ว่องไว​ใน​การ​ฟัง, ช้า​ใน​การ​พูด.” (ยาโกโบ 1:19) ถึง​อย่าง​ไร การ​สนทนา​ก็​เป็น​การ​แลก​เปลี่ยน—ไม่​ใช่​การ​บรรเลง​เดี่ยว. ดัง​นั้น ถ้า​คุณ​ค่อนข้าง​อาย​ที่​จะ​พูด นี่​ก็​อาจ​เป็น​ข้อ​ได้​เปรียบ​ของ​คุณ! คน​ทั่ว​ไป​ชอบ​ผู้​ฟัง​ที่​ดี.

ร่วม​สนทนา​เป็น​กลุ่ม. เมื่อ​ชำนาญ​ใน​การ​สนทนา​แบบ​ตัว​ต่อ​ตัว​แล้ว​ก็​เปลี่ยน​เป็น​การ​สนทนา​เป็น​กลุ่ม. อีก​ครั้ง​หนึ่ง การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​สถาน​ที่​ที่​เหมาะ​สม​เพื่อ​จะ​สร้าง​ทักษะ​นี้. บาง​ครั้ง​วิธี​ที่​ง่าย​ที่​สุด​ที่​จะ​เข้า​ส่วน​ใน​การ​สนทนา​ก็​คือ​การ​เข้า​ร่วม​กับ​กลุ่ม​ที่​กำลัง​สนทนา​กัน​อยู่. แน่นอน ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​และ​มารยาท​ที่​ดี​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ใน​ตอน​นี้. อย่า​ผลีผลาม​เข้า​ไป​สอด​แทรก​การ​สนทนา​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เป็น​เรื่อง​ส่วน​ตัว. แต่​เมื่อ​รู้​แน่ชัด​ว่า​กลุ่ม​นั้น​กำลัง​คุย​กัน​เรื่อง​สัพเพเหระ ก็​ลอง​เข้า​ไป​ร่วม​คุย​ด้วย​ดู​สิ. จง​ใช้​วิจารณญาณ; อย่า​ขัด​จังหวะ​และ​พยายาม​ควบคุม​การ​สนทนา. ลอง​ฟัง​สัก​ระยะ​หนึ่ง. แล้ว​เมื่อ​คุณ​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​ลง คุณ​อาจ​อยาก​จะ​ออก​ความ​เห็น​บ้าง.

อย่า​คาด​หมายความ​สมบูรณ์​จาก​ตัว​เอง. บาง​ครั้ง​คน​หนุ่ม​สาว​กังวล​เกิน​ไป​ว่า​จะ​พูด​อะไร​ผิด. เด็ก​สาว​คน​หนึ่ง​ใน​อิตาลี​ชื่อ เอลีซา เล่า​ว่า “ดิฉัน​เคย​กลัว​มา​ตลอด​ว่า​ถ้า​ดิฉัน​พูด​อะไร​ออก​ไป มัน​จะ​ออก​มา​ผิด​พลาด.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​เตือน​ว่า เรา​ทุก​คน​ไม่​สมบูรณ์ ดัง​นั้น จึง​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​เรา​จะ​พูด​ได้​อย่าง​สมบูรณ์. (โรม 3:23; เทียบ​กับ​ยาโกโบ 3:2.) เอลี​ซา​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​ได้​ตระหนัก​ว่า คน​เหล่า​นี้​เป็น​เพื่อน​ดิฉัน. ดัง​นั้น พวก​เขา​จะ​เข้าใจ​ถ้า​ดิฉัน​พูด​อะไร​ผิด​ไป.”

จง​มี​อารมณ์​ขัน​อยู่​เสมอ. จริง​อยู่ การ​พูด​อะไร​เปิ่น ๆ นั้น​น่า​อาย. แต่​ดัง​ที่​เฟรด​กล่าว “ถ้า​คุณ​ผ่อน​คลาย​และ​ขำ​กับ​ตัว​เอง ช่วง​เวลา​นั้น​จะ​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว. คุณ​ทำ​เรื่อง​เล็ก​ให้​เป็น​เรื่อง​ใหญ่​ถ้า​คุณ​ปล่อย​ให้​ตัว​เอง​ประหม่า, ข้องขัดใจ, หรือ​เป็น​กังวล.”

จง​อด​ทน. จง​ตระหนัก​ว่า​ไม่​ใช่​ทุก​คน​จะ​ตอบรับ​ทันที. ช่วง​เงียบ​ที่​น่า​อึดอัด​ระหว่าง​การ​สนทนา​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​คน​นั้น​ไม่​ชอบ​คุณ​หรือ​คุณ​ควร​เลิก​พยายาม​พูด​กับ​เขา. บาง​ครั้ง​ผู้​คน​ก็​เพียง​แต่​กำลัง​จดจ่อ​อยู่​กับ​เรื่อง​อื่น—หรือ​ไม่​ก็​ขี้อาย​เหมือน​กับ​คุณ. ใน​สถานการณ์​เช่น​นั้น อาจ​เป็น​การ​ดี​ที่​จะ​ให้​เวลา​คน​นั้น​อีก​นิด​เพื่อ​จะ​คุ้น​เคย​กับ​คุณ​มาก​ขึ้น.

จง​พยายาม​สนทนา​กับ​ผู้​ใหญ่. บาง​ครั้ง​ผู้​ใหญ่ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​คริสเตียน​ผู้​อาวุโส ค่อนข้าง​เห็น​อก​เห็น​ใจ​คน​หนุ่ม​สาว​ที่​กำลัง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​อาย. ดัง​นั้น อย่า​กลัว​ที่​จะ​ลอง​เริ่ม​พูด​คุย​กับ​คน​ที่​อายุ​มาก​กว่า. เคต​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​จะ​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​เมื่อ​อยู่​กับ​ผู้​ใหญ่ เพราะ​ดิฉัน​รู้​ว่า​ผู้​ใหญ่​จะ​ไม่​วิจารณ์​ดิฉัน, เยาะเย้ย​ดิฉัน, หรือ​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​ขายหน้า​เหมือน​เด็ก​ที่​อยู่​ใน​วัย​เดียว​กับ​ดิฉัน​อาจ​จะ​ทำ.”

ถูก​กระตุ้น​ด้วย​ความ​รัก

ถึง​แม้​คำ​แนะ​นำ​เหล่า​นี้​อาจ​ช่วย​ได้ แต่​ก็​ไม่​มี​สูตร​สำเร็จ​เพื่อ​การ​เอา​ชนะ​ความ​อาย. ใน​ระยะ​ยาว​แล้ว นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​ของ​การ​ใช้​เทคนิค​หรือ​วิธี​การ​ที่​หลักแหลม​บาง​อย่าง. แต่​เป็น​เรื่อง​ของ​การ “รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง.” (ยาโกโบ 2:8) ใช่​แล้ว จง​เรียน​รู้​ที่​จะ​ใส่​ใจ​คน​อื่น—โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​พี่​น้อง​คริสเตียน​ของ​คุณ. (ฆะลาเตีย 6:10) ถ้า​หัวใจ​ของ​คุณ​มี​ความ​รัก​แท้ คุณ​ก็​จะ​เอา​ชนะ​ความ​กลัว​และ​ความ​หวาด​หวั่น แล้ว​พยายาม​สร้าง​สัมพันธภาพ​กับ​คน​อื่น. ดัง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ไว้ “ใจ​เต็ม​บริบูรณ์​ด้วย​อะไร​ปาก​ก็​พูด​อย่าง​นั้น.”—มัดธาย 12:34.

แบร์รี ซึ่ง​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น กล่าว​ว่า “ยิ่ง​ผม​รู้​จัก​คน​อื่น​มาก​ขึ้น​เท่า​ไร ก็​ยิ่ง​ง่าย​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น​ที่​จะ​พูด​คุย​กับ​เขา.” พูด​ง่าย ๆ ก็​คือ ยิ่ง​คุณ​ฝึก​ที่​จะ​คบหา​กับ​คน​อื่น​มาก​ขึ้น ก็​ยิ่ง​เป็น​เรื่อง​ง่าย​สำหรับ​คุณ. และ​เมื่อ​คุณ​พบ​ว่า​ตัว​เอง​กำลัง​มี​เพื่อน​ใหม่​และ​รู้สึก​เป็น​ที่​ยอม​รับ​มาก​ขึ้น คุณ​ก็​ย่อม​จะ​รู้สึก​ว่า​ผล​ที่​ได้​นั้น​คุ้มค่า​กับ​ความ​พยายาม​จริง ๆ!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 ดู​บทความ “หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า . . . ทำไม​ฉัน​ถึง​ไม่​กล้า​มาก​กว่า​นี้?” ใน​วารสาร​ของ​เรา​ฉบับ 8 ธันวาคม 1999.

^ วรรค 5 ชื่อ​ของ​บาง​คน​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 8 จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​ว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่ง​นิวยอร์ก.

[ภาพ​หน้า 25]

จง​ริเริ่ม​และ​เข้า​ร่วม​ใน​การ​สนทนา!