เวชกรรมและศัลยกรรมโดยไม่ใช้เลือดเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ
เวชกรรมและศัลยกรรมโดยไม่ใช้เลือดเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเลือดและดูแลคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด จะต้องคำนึงถึงการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือด.”—นายแพทย์โยอาคิม โบลท์ ศาสตราจารย์ทางวิสัญญีวิทยาแห่งลุดวิกส์ฮาเฟน เยอรมนี.
โศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากเอดส์ทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการบางอย่างเพื่อให้ห้องผ่าตัดเป็นสถานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น. ประจักษ์ชัดว่า สิ่งนี้หมายถึงการตรวจวิเคราะห์เลือดอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น. แต่พวกผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า ถึงจะใช้มาตรการเหล่านี้ก็ใช่จะรับรองได้ว่าการถ่ายเลือดปราศจากความเสี่ยงใด ๆ. วารสารทรานส์ฟิวชัน กล่าวดังนี้: “แม้เราจะเสียค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาลเพื่อจัดหาเลือดที่ปลอดภัยกว่าแต่ก่อน แต่เราก็เชื่อว่า คนไข้จะยังคงพยายามหลีกเลี่ยงการรับเลือดคนอื่น [ผู้บริจาค] เพราะสาเหตุเดียวเท่านั้นคือ เลือดที่จัดหามาไม่มีทางจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์.”
ไม่แปลกที่แพทย์หลายคนระมัดระวังยิ่งขึ้นในเรื่องการถ่ายเลือด. นายแพทย์อเลกซ์ ซาโปลานสกี จากซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย บอกว่า “โดยพื้นฐานแล้วการถ่ายเลือดไม่ดี และพวกเราพยายามอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงการถ่ายเลือดให้กับทุกคน.”
สาธารณชนก็ตื่นตัวต่ออันตรายของการถ่ายเลือดเช่นกัน. ที่จริง การสำรวจความเห็นในปี 1996 เผยว่า 89 เปอร์เซ็นต์ของชาวแคนาดาชอบวิธีอื่นมากกว่าการรับเลือดบริจาค. วารสารศัลยกรรมระบบเส้นเลือด (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ไม่ใช่คนไข้ทุกรายจะปฏิเสธการรับเลือดคนอื่นดังที่พยานพระยะโฮวาทำ. กระนั้น ความเสี่ยงเรื่องการติดโรคและความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันก็ให้หลักฐานชัดแจ้งว่า เราจะต้องหาทางเลือกอื่นให้กับคนไข้ทั้งหมดของเรา.”
วิธีที่ดีกว่า
น่าดีใจ มีทางเลือกหนึ่ง นั่นคือ เวชกรรมและศัลยกรรมโดยไม่ใช้เลือด. คนไข้หลายรายไม่ได้มองว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่มองว่าเป็นวิธีรักษาที่ดีกว่า และมีเหตุมีผล. สตีเฟน เจฟฟรีย์ พอลลาร์ด ชาวบริเตนซึ่งเป็นศัลยแพทย์ผู้ให้คำปรึกษา ให้ข้อสังเกตว่า อัตราเกิดโรคและอัตราเสียชีวิตในกลุ่มคนที่รับการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดนั้น “อย่างน้อยก็พอ ๆ กับคนไข้ที่รับเลือด และในหลายกรณี คนที่ไม่รับเลือดจะรอดพ้นจากการติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากเลือด.”
การรักษาโดยไม่ใช้เลือดเกิดขึ้นมาอย่างไร? ในแง่หนึ่งคำถามนี้ค่อนข้างแปลก เพราะที่จริงเวชกรรมโดยไม่ใช้เลือดมีมานานก่อนการใช้เลือด. จริง ๆ แล้ว เพียงแค่ในตอนต้น ๆ ของศตวรรษที่ 20 นี้เองที่เทคโนโลยีด้านการถ่ายเลือดได้ก้าวหน้าถึงจุดที่นำมาใช้กันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ. ถึงกระนั้น ในทศวรรษหลัง ๆ นี้ บางคนหันมานิยมการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือด. ยกตัวอย่าง ในทศวรรษ 1960 ศัลยแพทย์เดนตัน คูลีย์ ผู้มีชื่อเสียง ได้ทำการผ่าตัดเปิดหัวใจรายแรก ๆ บางรายโดยไม่ใช้เลือด.
เนื่องจากโรคตับอักเสบเพิ่มสูงขึ้นในหมู่คนที่รับการ
ถ่ายเลือดช่วงทศวรรษ 1970 แพทย์หลายคนจึงเริ่มมองหาวิธีอื่นแทนการถ่ายเลือด. พอถึงทศวรรษ 1980 ทีมแพทย์ขนาดใหญ่หลายทีมได้ทำการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือด. ต่อมา เมื่อเอดส์แพร่ระบาด ทีมแพทย์เหล่านี้ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับทีมแพทย์อื่น ๆ หลายครั้ง ซึ่งต้องการนำเทคนิคเดียวกันนี้มาใช้. ระหว่างทศวรรษ 1990 โรงพยาบาลหลายแห่งมีโปรแกรมการรักษาที่ให้โอกาสคนไข้ของตนเลือกที่จะไม่รับเลือด.ปัจจุบัน พวกแพทย์ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยเลือด ระหว่างการผ่าตัดและในขั้นตอนฉุกเฉินอื่น ๆ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วจะต้องถ่ายเลือด. ดี. เอช. ดับเบิลยู. หว่อง ให้ข้อสังเกตไว้ในวารสารแคนาเดียน เจอร์นัล ออฟ อะเนสทีเซีย ว่า “การผ่าตัดใหญ่หัวใจ, ระบบเส้นเลือด, ระบบสืบพันธุ์ของสตรีและสูติกรรม, การผ่าตัดกระดูก, และระบบปัสสาวะ สามารถทำได้อย่างประสบผลสำเร็จโดยไม่ต้องใช้เลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือด.”
ประโยชน์อย่างหนึ่งของการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดคือ การผ่าตัดแบบนี้กระตุ้นให้มีการเอาใจใส่ที่มีคุณภาพมากขึ้น. ดร. เบนจามิน เจ. ไรช์สไตน์ ผู้อำนวยการด้านศัลยกรรมในคลิฟแลนด์ โอไฮโอ บอกว่า “ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการป้องกันการเสียเลือด.” วารสารทางกฎหมายของแอฟริกาใต้ฉบับหนึ่งบอกว่า ในบางกรณีการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดทำได้ “เร็วกว่า, สะอาดกว่า, และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า.” วารสารนี้เพิ่มเติมว่า “ประจักษ์ชัดว่า การรักษาหลังผ่าตัดในหลายรายปรากฏว่าถูกกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า.” ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเหตุผลไม่กี่ประการเท่านั้นที่ว่าทำไมในปัจจุบันนี้จึงมีโรงพยาบาลมากกว่า 180 แห่งทั่วโลกมีโปรแกรมพิเศษสำหรับเวชกรรมและศัลยกรรมโดยไม่ใช้เลือด.
เลือดและพยานพระยะโฮวา
เนื่องด้วยเหตุผลตามหลักคัมภีร์ไบเบิล * พยานพระ ยะโฮวาปฏิเสธการถ่ายเลือด. แต่พวกเขายอมรับ—และปฏิบัติตามอย่างเต็มที่—ในวิธีรักษาแบบอื่นที่ไม่ใช้เลือด. ดร. ริชาร์ด เค. สเปนซ์ กล่าวตอนที่เป็นผู้อำนวยการด้านศัลยกรรมประจำโรงพยาบาลนิวยอร์กว่า “พยานพระยะโฮวาพยายามหาวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพยาบาล. ในฐานะกลุ่มชน พวกเขาเป็นผู้รับบริการที่มีความรู้ดีที่สุดเท่าที่ศัลยแพทย์เคยพบเห็นมา.”
พวกแพทย์ได้ปรับปรุงเทคนิคหลายอย่างด้านการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดเพื่อรักษาพยานพระยะโฮวา. ขอพิจารณาประสบการณ์ด้านการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดของศัลยแพทย์เดนตัน คูลีย์. ตลอดช่วงเวลา 27 ปี ทีมงานของเขาได้ทำการผ่าตัดเปิดหัวใจโดยไม่ใช้เลือดให้กับพยานพระยะโฮวาถึง 663 คน. ผลที่เกิดขึ้นแสดงอย่างชัดเจนว่า การผ่าตัดหัวใจสามารถทำได้สำเร็จโดยไม่ต้องใช้เลือด.
จริงอยู่ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์พยานพระยะโฮวาที่ปฏิเสธเลือด. แต่คู่มือเล่มหนึ่งที่จัดพิมพ์โดยสมาคมวิสัญญีแพทย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เรียกจุดยืนของพยานฯ ว่า “สัญลักษณ์แห่งความนับถือชีวิต.” ในความเป็นจริงแล้ว จุดยืนอันแน่วแน่ของพยานฯ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการรักษาที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นซึ่งต่อมาทุกคนสามารถรับประโยชน์ได้. ศาสตราจารย์สเตน เอ. อีเวนเซน แห่งโรงพยาบาลประจำชาติของนอร์เวย์เขียนว่า “พยานพระยะโฮวาที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดได้แสดงให้เห็นแนวทางและผลักดันให้มีการปรับปรุงในด้านที่สำคัญแห่งวงการสาธารณสุขของนอร์เวย์.”
เพื่อช่วยแพทย์ให้การรักษาโดยไม่ใช้เลือด พยานพระยะโฮวาได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานที่นับว่าเป็นประโยชน์มาก. ปัจจุบัน คณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาลมากกว่า 1,400 คณะทั่วโลกอยู่พร้อมที่จะให้หนังสือด้านการแพทย์กับพวกแพทย์และนักวิจัยซึ่งอาศัยข้อมูลจากบทความต่าง ๆ มากกว่า 3,000 เรื่องเกี่ยวด้วยเวชกรรมและศัลยกรรมที่ไม่ใช้เลือด. ดร. ชาลส์ บารอน ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ของบอสตัน คอลเลจ ให้ข้อสังเกตว่า “ปัจจุบัน ไม่เพียงพยานพระยะโฮวาเท่านั้น แต่คนไข้โดยทั่วไปก็มีโอกาสน้อยลงที่จะได้รับการถ่ายเลือดซึ่งไม่จำเป็น เนื่องจากผลงานของคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาลที่พวกพยานฯ จัดตั้งขึ้น.” *
ข้อมูลเกี่ยวด้วยเวชกรรมและศัลยกรรมโดยไม่ใช้เลือดที่พยานพระยะโฮวารวบรวมขึ้นนั้นเป็นประโยชน์ต่อหลายคนในวงการแพทย์. ยกตัวอย่าง ในการเตรียมข้อมูลสำหรับหนังสือชื่อการถ่ายเลือดของตัวเองให้กับตัวเอง: หลักการรักษาโรคและแนวโน้ม (ภาษาอังกฤษ) ผู้เขียนได้ขอให้พยานพระยะโฮวาให้ข้อมูลกับพวกเขาเกี่ยวกับทางเลือกอื่นที่ใช้แทนการถ่ายเลือด. พวกพยานฯ ยินดีทำตามคำขอของเขา. ต่อมาผู้เขียนได้กล่าวด้วยความขอบคุณว่า “จากการอ่านเรื่องทั้งหมดที่ได้มา เราไม่เคยเห็นรายละเอียดที่ครบถ้วนชัดเจนเช่นนี้มาก่อนเลยเกี่ยวด้วยยุทธวิธีหลีกเลี่ยงการรับเลือดของผู้อื่น.”
ความก้าวหน้าในวงการแพทย์ทำให้หลายคนหันมาพิจารณาการรักษาโดยไม่ใช้เลือด. ในอนาคตเราจะก้าวไปถึงจุดไหน? ศาสตราจารย์ลุค มงตานแยร์ ผู้ค้นพบไวรัสเอดส์ กล่าวว่า “พัฒนาการด้านความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่งชี้ว่า สักวันการถ่ายเลือดจะต้องหายไปจากวงการ.” ในระหว่างนี้ ทางเลือกที่ไม่ใช้เลือดกำลังช่วยชีวิตหลายคนอยู่แล้ว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 13 โปรดดู เลวีติโก 7:26, 27; 17:10-14; พระบัญญัติ 12:23-25; 15:23; กิจการ 15:20, 28, 29; 21:25.
^ วรรค 16 เมื่อได้รับคำเชิญ คณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาลจะนำเสนอข้อมูลแก่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลด้วย. อนึ่ง ถ้ามีการขอความช่วยเหลือเป็นพิเศษ พวกเขาก็จะช่วยคนไข้แต่เนิ่น ๆ ให้ได้ติดต่อพูดคุยอย่างเปิดอกและต่อเนื่องกับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
คำพูดจากแพทย์บางคน
‘การผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดไม่ได้มีไว้สำหรับพยานพระยะโฮวาเท่านั้น แต่สำหรับคนไข้ทุกรายด้วย. ผมคิดว่า แพทย์ทุกคนน่าจะใช้วิธีนี้.’—นายแพทย์โยอาคิม โบลท์ ศาสตราจารย์ทางวิสัญญีวิทยาแห่งลุดวิกส์ฮาเฟน เยอรมนี.
“แม้การถ่ายเลือดในปัจจุบันจะปลอดภัยกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีโอกาสเสี่ยง ซึ่งก็รวมทั้งปฏิกิริยาด้านภูมิคุ้มกัน และการติดเชื้อตับอักเสบ หรือไม่ก็โรคติดต่อทางเพศ.”—นายแพทย์เทอร์เรนซ์ ซักคี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชกรรม
“แพทย์ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการถ่ายเลือดทันทีและสั่งให้เลือดตามใจชอบโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ. ผมไม่ทำเช่นนั้น.”—นายแพทย์อเลกซ์ ซาโปลานสกี ผู้อำนวยการด้านการผ่าตัดหัวใจประจำสถาบันหัวใจซานฟรานซิสโก.
“ผมไม่เห็นว่าในคนไข้ปกติที่เข้ารับการผ่าตัดช่องท้องทั่วไปจะต้องมีการถ่ายเลือดตามธรรมเนียมปฏิบัติ.”—นายแพทย์โยฮันเนส เชเล ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมในเยนา เยอรมนี.
[รูปภาพ]
นายแพทย์โยอาคิม โบลท์
นายแพทย์เทอร์เรนซ์ เจ. ซักคี
[กรอบ/ภาพหน้า 8, 9]
เวชกรรมและศัลยกรรม
โดยไม่ใช้เลือดบางวิธี
ของเหลว: มีการใช้สารละลายริงเกอร์ แลคเตท, เดกซ์แทรน, แป้งไฮดรอกซิเอททิล, และอื่น ๆ ในการรักษาปริมาณเลือดเพื่อป้องกันอาการช็อกเนื่องจากภาวะขาดเลือด. ปัจจุบันกำลังทำการทดสอบของเหลวบางอย่างที่สามารถนำพาออกซิเจนได้.
ยา: โปรตีนที่ผ่านกระบวนการพันธุวิศวกรรมสามารถกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง (อิริโทรพอยเอติน), เกล็ดเลือด (อินเทอร์ลูกิน-11), และเซลล์เม็ดเลือดขาวหลายชนิด (จีเอ็ม-ซีเอสเอฟ, จี-ซีเอสเอฟ). เวชบำบัดอย่างอื่น ๆ ก็ลดการสูญเสียเลือดระหว่างผ่าตัดได้มาก (อะโพรตินิน, แอนติไฟบริโนไลติค) หรือช่วยลดอาการเลือดออกอย่างรุนแรงได้ (เดสโมเพรสซิน).
อุปกรณ์ชีวภาพสำหรับห้ามเลือด: มีการใช้แผ่นใยคอลลาเจนและเซลลูโลสห้ามเลือดโดยนำมาปิดที่แผลได้ทันที. กาวและสารอุดไฟบรินสามารถอุดแผลเลือดไหล หรือทาทับบริเวณกว้างตรงเนื้อเยื่อที่มีเลือดออก.
การเก็บรักษาเลือดที่ไหลออก: เครื่องเก็บรักษาเลือดช่วยนำเลือดที่สูญเสียระหว่างการผ่าตัดหรือเลือดที่ออกจากบาดแผลกลับมาใช้อีก. เลือดจะถูกกรองให้สะอาดและสามารถนำกลับสู่คนไข้ด้วยวงจรแบบปิด. ในรายที่ร้ายแรง สามารถนำเลือดหลายลิตรกลับมาใช้อีกโดยระบบดังกล่าว.
เทคนิคการผ่าตัด: การวางแผนผ่าตัดอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งการปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ช่วยให้ทีมผ่าตัดหลีกเลี่ยงปัญหายุ่งยากได้. การห้ามเลือดทันทีเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง หากรีรอชักช้านานกว่า 24 ชั่วโมงอาจทำให้คนไข้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก. การแบ่งการผ่าตัดใหญ่ออกเป็นส่วนเล็ก ๆ หลายส่วนช่วยลดการสูญเสียเลือดโดยรวม.
เครื่องมือผ่าตัด: อุปกรณ์บางชนิดผ่าและอุดหลอดเลือดในเวลาเดียวกัน. บางชนิดก็สามารถห้ามเลือดที่ไหลจากเนื้อเยื่อบริเวณกว้าง. เครื่องมือตรวจส่องผนังช่องท้องและอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดจิ๋วทำให้การผ่าตัดเป็นไปโดยปราศจากการสูญเสียเลือด ซึ่งเลือดจะออกมากถ้าอุปกรณ์ผ่าตัดมีขนาดใหญ่.
[กรอบ/กรอบหน้า 10]
เวชกรรมโดยไม่ใช้เลือด “มาตรฐานการรักษา” แบบใหม่หรือ?
ตื่นเถิด! ได้สนทนาเรื่องประโยชน์ของเวชกรรมและศัลยกรรมโดยไม่ใช้เลือดกับผู้เชี่ยวชาญสี่ท่านในวงการนี้.
นอกจากคนไข้ที่ปฏิเสธการถ่ายเลือดเนื่องด้วยเหตุผลทางศาสนาแล้ว มีใครอีกไหมที่สนใจการรักษาแบบไม่ใช้เลือด?
ดร. ชปัน: ในศูนย์ของเรา คนที่ขอรับการรักษาแบบไม่ใช้เลือดปกติแล้วจะเป็นคนไข้ที่ได้รับการชี้แจงอย่างละเอียด.
ดร. ชันเดอร์: ในปี 1998 จำนวนคนไข้ที่ปฏิเสธเลือดเนื่องด้วยเหตุผลส่วนตัวมีมากกว่าคนไข้ที่ปฏิเสธเลือดด้วยเหตุผลทางศาสนา.
ดร. บอยด์: ก็มีอย่างเช่น คนไข้โรคมะเร็ง. มีให้เห็นหลายรายแล้วว่าถ้าพวกเขาไม่รับเลือด เขาจะหายเร็วกว่า และโอกาสที่จะกลับเป็นโรคนั้นอีกก็มีไม่มากนัก.
ดร. ชปัน: เรามักจะรักษาพวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและครอบครัวของเขาโดยไม่ใช้เลือด. แม้แต่ศัลยแพทย์เองก็ขอให้เราเลี่ยงการถ่ายเลือด! ยกตัวอย่าง มีศัลยแพทย์คนหนึ่งมาหาเราเรื่องภรรยาของเขาซึ่งจำต้องเข้ารับการผ่าตัด. เขาบอกว่า “อย่าลืมอย่างหนึ่งนะ—เธอไม่รับการถ่ายเลือด!”
ดร. ชันเดอร์: สมาชิกแผนกวิสัญญีของผมบอกว่า ‘คนไข้ที่ไม่รับเลือดเหล่านี้ฟื้นตัวได้ดีพอ ๆ กัน และอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ. ทำไมเราจะต้องมีมาตรฐานสองอย่างในการรักษา? ถ้าการรักษาแบบนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เราน่าจะนำไปใช้กับทุกคน.’ ดังนั้น ขณะนี้เราจึงหวังว่าสักวันการรักษาโดยไม่ใช้เลือดจะกลายมาเป็นมาตรฐานการรักษา.
มิสเตอร์เอิร์นชอว์: จริงอยู่ การผ่าตัดโดยไม่ใช้เลือดเหมาะสำหรับพยานพระยะโฮวาโดยเฉพาะ. แต่เราก็อยากจะรักษาทุกคนด้วยวิธีนี้.
การไม่ใช้เลือดเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าหรือน้อยกว่า?
มิสเตอร์เอิร์นชอว์: วิธีนี้ประหยัดค่าใช้จ่าย.
ดร. ชันเดอร์: การรักษาโดยไม่ใช้เลือดลดค่าใช้จ่ายไป 25 เปอร์เซ็นต์.
ดร. บอยด์: แค่เหตุผลนี้เหตุผลเดียว ก็น่าจะทำให้เราเลือกวิธีนี้ได้แล้ว.
เราก้าวหน้าไปมากแค่ไหนเรื่องการรักษาโดยไม่ใช้เลือด?
ดร. บอยด์: ผมคิดว่าก้าวหน้ามาก แต่ก็ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ. เรามักจะพบเหตุผลใหม่ ๆ ที่ดีซึ่งชี้ว่าไม่ควรใช้เลือด.
[รูปภาพ]
ดร. โดนาต อาร์. ชปัน ศาสตราจารย์ด้านวิสัญญีวิทยา ซูริก สวิตเซอร์แลนด์
ดร. อารีเอห์ ชันเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิสัญญีวิทยา สหรัฐ
มิสเตอร์ปีเตอร์ เอิร์นชอว์, เอฟอาร์ซีเอส, ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาด้านกระดูก ลอนดอน อังกฤษ
ดร. มาร์ก อี. บอยด์ ศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา แคนาดา
[กรอบภาพหน้า 11]
บทบาทของคนไข้
▪ คุยกับแพทย์ประจำตัวของคุณเกี่ยวกับทางเลือกอื่นที่ไม่ใช้เลือดก่อน เกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา. สิ่งนี้สำคัญโดยเฉพาะสำหรับสตรีมีครรภ์, บิดามารดาที่ลูกยังเล็ก, และผู้สูงอายุ.
▪ เขียนความประสงค์ของคุณเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเอกสารทางกฎหมายให้ใช้เพื่อจุดประสงค์นี้.
▪ ถ้าแพทย์ไม่เต็มใจรักษาคุณโดยไม่ใช้เลือด ให้หาแพทย์คนอื่นที่ยินยอมตามความประสงค์ของคุณ.
▪ เนื่องจากวิธีรักษาบางอย่างที่ไม่ใช้เลือดนั้นต้องใช้เวลาเพื่อจะได้ผลดี ดังนั้น อย่าเลื่อนการเสาะหาวิธีรักษาถ้าคุณรู้ว่าจำเป็นต้องรับการผ่าตัด.