ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กาฬโรค—ภัยพิบัติแห่งยุโรปยุคกลาง

กาฬโรค—ภัยพิบัติแห่งยุโรปยุคกลาง

กาฬโรค—ภัย​พิบัติ​แห่ง​ยุโรป​ยุค​กลาง

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ฝรั่งเศส

ปี​นั้น​คือ​ปี 1347. กาฬโรค​ล้าง​ผลาญ​ตะวัน​ออก​ไกล​ไป​แล้ว. ตอน​นี้​มัน​ระบาด​มา​ถึง​พรม​แดน​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​ยุโรป.

ชาว​มองโกล​กำลัง​ล้อม​เมือง​คาฟฟา​ที่​เป็น​เมือง​ศูนย์กลาง​ทาง​การ​ค้า​ที่​แข็ง​แกร่ง​ของ​ชาว​เจนัว ซึ่ง​ใน​ตอน​นี้​เรียก​ว่า​เมือง​ฟีโอโดซีอา ใน​แหลม​ไครเมีย. เนื่อง​จาก​ชาว​มองโกล​เอง​ถูก​โรค​ลึกลับ​คร่า​ชีวิต​ไป​มาก​มาย พวก​เขา​จึง​เลิก​การ​โจมตี. แต่​ก่อน​ที่​จะ​ถอน​กำลัง​กลับ พวก​เขา​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​ร้ายกาจ​มหันต์. โดย​ใช้​เครื่อง​ยิง​ขนาด​ยักษ์ พวก​เขา​เหวี่ยง​ร่าง​ของ​ผู้​เป็น​เหยื่อ​กาฬโรค​ที่​เพิ่ง​เสีย​ชีวิต​ข้าม​กำแพง​เมือง​เข้า​ไป. ต่อ​มา​เมื่อ​ชาว​เจนัว​ผู้​ป้องกัน​เมือง​ไม่​กี่​คน​ลง​เรือ​ของ​ตน​เพื่อ​หนี​จาก​เมือง​ซึ่ง​ตอน​นี้​ถูก​ล้าง​ผลาญ​ด้วย​กาฬโรค พวก​เขา​ก็​แพร่​โรค​นี้​ไป​ยัง​ท่า​เรือ​ทุก​แห่ง​ที่​พวก​เขา​ไป​ถึง.

ภาย​ใน​ไม่​กี่​เดือน ความ​ตาย​ก็​ได้​แผ่​กระจาย​ไป​ทั่ว​ยุโรป. มัน​ระบาด​อย่าง​รวด​เร็ว​ไป​ยัง​แอฟริกา​เหนือ, อิตาลี, สเปน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ออสเตรีย, ฮังการี, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี, สแกนดิเนเวีย, และ​แถบ​ทะเล​บอลติก. ใน​เวลา​สอง​ปี​กว่า ประชากร​ของ​ยุโรป​มาก​กว่า​หนึ่ง​ใน​สี่ คือ​ประมาณ 25 ล้าน​คน ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​สิ่ง​ที่​เรียก​กัน​ว่า “ความ​หายนะ​ทาง​ประชากร​ที่​ร้ายกาจ​ที่​สุด​เท่า​ที่​มนุษยชาติ​เคย​ประสบ”—กาฬโรค. *

เตรียม​การ​สำหรับ​ภัย​พิบัติ

โศกนาฏกรรม​จาก​กาฬโรค​ไม่​ได้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ตัว​โรค​เอง​เท่า​นั้น. มี​ปัจจัย​หลาย​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​ภัย​พิบัติ​ครั้ง​นั้น​รุนแรง​มาก ปัจจัย​หนึ่ง​คือ​ความ​บ้า​คลั่ง​ทาง​ศาสนา. หลัก​คำ​สอน​เรื่อง​ไฟ​ชำระ​เป็น​ตัว​อย่าง​หนึ่ง. ชัค เลอ โกฟ นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ฝรั่งเศส​กล่าว​ว่า “พอ​ถึง​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 13 ความ​เชื่อ​เรื่อง​ไฟ​ชำระ​ก็​มี​อยู่​ทุก​แห่ง. ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 14 ดันเต​สร้าง​งาน​ที่​ทรง​อิทธิพล​ของ​เขา​ชื่อ​เดอะ ดิไวน์ คอมเมดี พร้อม​ด้วย​คำ​พรรณนา​ที่​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​นรก​และ​ไฟ​ชำระ. โดย​วิธี​นี้ จึง​เกิด​มี​การ​พัฒนา​บรรยากาศ​ทาง​ศาสนา​ใน​ที่​ซึ่ง​ผู้​คน​มี​แนว​โน้ม​จะ​เผชิญ​กับ​กาฬโรค​ด้วย​ความ​ไม่​แยแส​และ​การ​ยอม​จำนน​อย่าง​น่า​ประหลาด โดย​มอง​ว่า​นั่น​เป็น​การ​ลง​โทษ​จาก​พระเจ้า​เอง. ดัง​ที่​เรา​จะ​ได้​เห็น จริง ๆ แล้ว​ทัศนะ​ที่​มอง​ใน​แง่​ร้าย​เช่น​นี้​กระตุ้น​ให้​โรค​นี้​แพร่​ระบาด​มาก​ขึ้น. หนังสือ​กาฬโรค (ภาษา​อังกฤษ) โดย​ฟีลิป ซิกเลอร์ กล่าว​ว่า “ไม่​มี​อะไร​จะ​ทำ​ให้​มี​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ดี​ไป​กว่า​นี้​ใน​การ​ทำ​ให้​กาฬโรค​แพร่​ระบาด.”

อีก​อย่าง​หนึ่ง ยัง​มี​ปัญหา​ความ​ล้มเหลว​ทาง​การ​เกษตร​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ใน​ยุโรป​อีก​ด้วย. ผล​ก็​คือ ประชากร​รุ่น​ใหม่​ของ​ทวีป​ขาด​สาร​อาหาร—ไม่​พร้อม​จะ​ต้านทาน​โรค.

กาฬ​โรค​ระบาด

ตาม​บันทึก​ของ​กี เดอ โชลิแอก นาย​แพทย์​ประจำ​ตัว​ของ​โปป​คลีเมนต์​ที่ 6 กล่าว​ว่า มี​กาฬโรค​สอง​ชนิด​ที่​แพร่​ระบาด​ใน​ยุโรป นั่น​คือ ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ปอด​อักเสบ​และ​ชนิด​ที่​ทำ​ให้​ต่อม​น้ำ​เหลือ​บวม. เขา​พรรณนา​ภาพ​อาการ​ของ​โรค​ทั้ง​สอง​ชนิด​ว่า “ชนิด​แรก​กิน​เวลา​สอง​เดือน มี​ไข้​อยู่​ตลอด​และ​อาเจียน​เป็น​เลือด และ​โดย​ชนิด​นี้​คน​จะ​ตาย​ภาย​ใน​สาม​วัน. ชนิด​ที่​สอง​จะ​เป็น​ใน​ช่วง​ที่​มี​การ​ระบาด​อยู่ มี​ไข้​ตลอด​เช่น​กัน แต่​จะ​มี​ฝี​และ​ฝี​ฝัก​บัว​ปรากฏ​ขึ้น​ตาม​ส่วน​ต่าง ๆ ส่วน​ใหญ่​จะ​ขึ้น​ใต้​รักแร้​และ​บริเวณ​ขา​หนีบ. โดย​ชนิด​นี้​คน​จะ​ตาย​ใน​ห้า​วัน.” แพทย์​ทั้ง​หลาย​ต่าง​ก็​หมด​หน​ทาง​ที่​จะ​หยุด​ยั้ง​การ​ระบาด​ของ​กาฬโรค.

หลาย​คน​หนี​เพราะ​ความ​กลัว—ทิ้ง​ผู้​ติด​เชื้อ​หลาย​พัน​คน​ไว้​เบื้อง​หลัง. ที่​จริง ใน​หมู่​คน​ที่​หนี​เป็น​พวก​แรก​คือ​คน​ชั้น​สูง​และ​ผู้​มี​ความ​รู้​ความ​สามารถ​ที่​มั่งคั่ง​ทั้ง​หลาย. แม้​ว่า​นัก​บวช​บาง​คน​ก็​หนี​ด้วย แต่​ชน​ชั้น​ทาง​ศาสนา​หลาย​คน​ซ่อน​อยู่​ใน​โบสถ์​วิหาร​ของ​ตน โดย​หวัง​ว่า​จะ​รอด​พ้น​จาก​การ​ติด​โรค.

ท่ามกลาง​ความ​ตื่น​ตระหนก โปป​ประกาศ​ให้​ปี 1350 เป็น​ปี​ศักดิ์สิทธิ์. นัก​แสวง​บุญ​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​กรุง​โรม​จะ​สามารถ​ไป​ถึง​อุทยาน​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ผ่าน​ไฟ​ชำระ! นัก​แสวง​บุญ​หลาย​แสน​คน​ฟัง​เสียง​ร้อง​เรียก—และ​แพร่​เชื้อ​กาฬโรค​ขณะ​ที่​เขา​เดิน​ทาง​ไป.

ความ​พยายาม​ที่​ไร้​ผล

ความ​พยายาม​ที่​จะ​ควบคุม​กาฬโรค​ไร้​ผล​เพราะ​ไม่​มี​ใคร​รู้​จริง ๆ ว่า​โรค​นี้​ติด​ต่อ​อย่าง​ไร. คน​ส่วน​ใหญ่​ตระหนัก​ว่า​การ​สัมผัส​ผู้​ติด​โรค—หรือ​แม้​แต่​เสื้อ​ผ้า​ของ​เขา—ก็​เป็น​อันตราย. บาง​คน​ถึง​กับ​ไม่​กล้า​สบ​ตา​ผู้​ติด​เชื้อ! อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​อาศัย​ใน​เมือง​ฟลอเรนซ์ อิตาลี เชื่อ​ว่า​ต้น​เหตุ​ของ​กาฬโรค​คือ​แมว​และ​สุนัข​ของ​ตน. พวก​เขา​ฆ่า​สัตว์​เหล่า​นั้น โดย​ไม่​รู้​ว่า​ใน​การ​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​ยิ่ง​เปิด​โอกาส​ให้​แก่​สัตว์​ซึ่ง​จริง ๆ แล้ว​เป็น​พาหะ​นำ​โรค นั่น​คือ​หนู.

ขณะ​ที่​มี​คน​ตาย​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ บาง​คน​หัน​ไป​ทูล​ขอ​พระเจ้า​ให้​ช่วย. ชาย​และ​หญิง​บริจาค​ทุก​สิ่ง​ที่​เขา​มี​ให้​แก่​โบสถ์​โดย​หวัง​ว่า​พระเจ้า​จะ​ปก​ป้อง​พวก​เขา​จาก​โรค​ร้าย—หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​ให้​บำเหน็จ​เป็น​ชีวิต​ใน​สวรรค์​ถ้า​พวก​เขา​ตาย​ไป. นี่​ทำ​ให้​คริสตจักร​มั่งคั่ง​ขึ้น​มา​อย่าง​มหาศาล. เครื่องราง, รูป​พระ​คริสต์, และ​ของ​ขลัง​ก็​เป็น​เครื่อง​ป้องกัน​ที่​นิยม​กัน​ด้วย. คน​อื่น​หัน​ไป​หา​การ​เชื่อ​โชค​ลาง, เวทมนตร์, และ​ยาป​ลอม​เพื่อ​รักษา​โรค. ว่า​กัน​ว่า​น้ำหอม, น้ำ​ส้ม​สาย​ชู, และ​ส่วน​ผสม​ขนาน​พิเศษ​เป็น​เครื่อง​ป้องกัน​โรค. การ​เจาะ​เลือด​ออก​มา​ก็​เป็น​วิธี​รักษา​ที่​นิยม​กัน​อีก​วิธี​หนึ่ง. ผู้​มี​ความ​รู้​ทาง​การ​แพทย์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ปารีส​ถึง​กับ​อธิบาย​ว่า กาฬโรค​มี​สาเหตุ​มา​จาก​การ​ที่​ดาว​เคราะห์​โคจร​มา​อยู่​ใน​แนว​เดียว​กัน! แต่​คำ​อธิบาย​และ “วิธี​รักษา” แบบ​จอม​ปลอม​ไม่​ได้​ทำ​ให้​การ​แพร่​ระบาด​ของ​กาฬโรค​จอม​เพชฌฆาต​นี้​หยุด​ลง​เลย.

ผล​กระทบ​ที่​ยาว​นาน

ภาย​ใน​ห้า​ปี ใน​ที่​สุด​กาฬโรค​ก็​ดู​เหมือน​จะ​ถึง​จุด​จบ. แต่​ก่อน​จะ​สิ้น​ศตวรรษ​นั้น มัน​ระบาด​อีก​สี่​ครั้ง. ผล​กระทบ​ที่​ตาม​มา​หลัง​จาก​กาฬโรค​จึง​เทียบ​ได้​กับ​ผล​กระทบ​หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1. หนังสือ​กาฬโรค​ใน​อังกฤษ (ภาษา​อังกฤษ) ออก​ใน​ปี 1996 กล่าว​ว่า “แทบ​จะ​ไม่​มี​การ​โต้​แย้ง​เลย​ใน​ท่ามกลาง​นัก​ประวัติศาสตร์​สมัย​ใหม่​ที่​ว่า​ช่วง​เวลา​ที่​กาฬ​โรค​ระบาด​นั้น​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ทั้ง​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​หลัง​ปี 1348.” กาฬโรค​กวาด​ล้าง​ประชากร​ไป​จำนวน​มาก และ​หลาย​ศตวรรษ​ผ่าน​ไป​ก่อน​ที่​บาง​แห่ง​จะ​ฟื้น​ตัว. เนื่อง​จาก​แรงงาน​ลด​จำนวน​ลง ค่า​แรง​จึง​สูง​ขึ้น​เป็น​ธรรมดา. เจ้าของ​ที่​ดิน​ซึ่ง​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​ร่ำรวย​ก็​ล้ม​ละลาย และ​ระบบ​ศักดินา—ซึ่ง​เป็น​เอกลักษณ์​ของ​ยุค​กลาง—ก็​ล่ม​สลาย​ลง.

ดัง​นั้น กาฬโรค​จึง​เป็น​แรง​ผลัก​ดัน​สำหรับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​การ​เมือง, ศาสนา, และ​สังคม. ก่อน​ที่​กาฬโรค​จะ​ระบาด ภาษา​ฝรั่งเศส​เป็น​ภาษา​ที่​พูด​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​หมู่​ผู้​มี​การ​ศึกษา​ใน​อังกฤษ. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมื่อ​ครู​สอน​ภาษา​ฝรั่งเศส​เสีย​ชีวิต​ไป​เป็น​จำนวน​มาก นั่น​ก็​ช่วย​ให้​ภาษา​อังกฤษ​แพร่​หลาย​มาก​กว่า​ภาษา​ฝรั่งเศส​ใน​บริเตน. ใน​แวดวง​ศาสนา​ก็​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ด้วย. ดัง​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ ชักกลีน โบรสโซเลต กล่าว​ไว้ เนื่อง​จาก​ขาด​ผู้​สมัคร​เป็น​บาทหลวง “คริสตจักร​มัก​รับ​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​รู้​และ​เย็นชา​มา​เป็น​บาทหลวง.” โบรสโซเลต​ยืน​ยัน​ว่า “ความ​ตก​ต่ำ​ของ [คริสตจักร] ศูนย์กลาง​แห่ง​ความ​รู้​และ​ความ​เชื่อ​เป็น​สาเหตุ​หนึ่ง​ของ​การ​ปฏิรูป​ทาง​ศาสนา.”

แน่นอน กาฬโรค​ทิ้ง​ร่องรอย​ไว้​ใน​ศิลปะ ความ​ตาย​กลาย​เป็น​อรรถบท​ทาง​ศิลปะ​ที่​แพร่​หลาย. ดางซ์ มาคาเบรอ การ​เต้น​รำ​ที่​มี​ชื่อเสียง ซึ่ง​โดย​ทั่ว​ไป​จะ​มี​การ​สวม​ใส่​เสื้อ​ผ้า​ที่​แสดง​ภาพ​โครง​กระดูก​และ​ซาก​ศพ กลาย​เป็น​สัญลักษณ์​ซึ่ง​เป็น​ที่​นิยม​กัน​เกี่ยว​กับ​พลัง​ของ​ความ​ตาย. โดย​ไม่​แน่​ใจ​ใน​อนาคต ผู้​รอด​ชีวิต​จาก​กาฬโรค​หลาย​คน​ละ​ทิ้ง​ข้อ​บังคับ​ทาง​ศีลธรรม​ทั้ง​หมด. ศีลธรรม​จึง​ตก​ต่ำ​ลง​อย่าง​น่า​ใจ​หาย. สำหรับ​คริสตจักร​แล้ว เนื่อง​จาก​ไม่​สามารถ​ป้องกัน​กาฬโรค​ได้ “คน​ใน​ยุค​กลาง​หลาย​คน​รู้สึก​ว่า​คริสตจักร​ทำ​ให้​เขา​ผิด​หวัง.” (กาฬโรค) นัก​ประวัติศาสตร์​บาง​คน​กล่าว​ว่า การ​เปลี่ยน​แปลง​ทาง​สังคม​ซึ่ง​ตาม​มา​หลัง​จาก​กาฬ​โรค​ระบาด​นั้น​ได้​เพาะ​บ่ม​ลัทธิ​ปัจเจก​นิยม​และ​ธุรกิจ​การ​ค้า​และ​เพิ่ม​ความ​คล่องตัว​ทาง​สังคม​และ​เศรษฐกิจ—ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​บอก​เหตุ​ถึง​ระบอบ​ทุน​นิยม.

กาฬโรค​ยัง​ได้​กระตุ้น​รัฐบาล​ให้​ตั้ง​ระบบ​ควบคุม​ด้าน​สุขาภิบาล​อีก​ด้วย. หลัง​จาก​กาฬโรค​หยุด​ระบาด เมือง​เวนิซ​ได้​ออก​มาตรการ​เพื่อ​จะ​ทำ​ความ​สะอาด​ถนน​ใน​เมือง. กษัตริย์​จอห์น​ที่ 2 แห่ง​ฝรั่งเศส ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า ผู้​ประเสริฐ ออก​คำ​สั่ง​คล้าย ๆ กัน ให้​ทำ​ความ​สะอาด​ถนน​เพื่อ​จะ​ลด​ภัย​จาก​โรค​ระบาด. กษัตริย์​ได้​ดำเนิน​ขั้น​ตอน​นี้​หลัง​จาก​ได้​ทราบ​เกี่ยว​กับ​นาย​แพทย์​ชาว​กรีก​โบราณ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​ช่วย​กรุง​เอเธนส์​ให้​รอด​จาก​กาฬโรค​โดย​ทำ​ความ​สะอาด​และ​ล้าง​ถนน. ถนน​ใน​ยุค​กลาง​หลาย​สาย​ซึ่ง​เคย​เป็น​เหมือน​ร่อง​ระบาย​น้ำ ใน​ที่​สุด​ก็​ได้​รับ​การ​ชำระ​ล้าง​ให้​สะอาด.

เรื่อง​ราว​ใน​อดีต​เช่น​นั้น​หรือ?

กระนั้น ต่อ​เมื่อ​ถึง​ปี 1894 นัก​วิทยา​แบคทีเรีย​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ อะเล็กซองเดร แยร์แซง ระบุ​ตัว​เชื้อ​บาซิลลัส​ซึ่ง​เป็น​ตัวการ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​กาฬโรค. เชื้อ​บาซิลลัส​ชนิด​นี้​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​เยร์ซินเนีย เปสติส ตาม​ชื่อ​ของ​เขา. สี่​ปี​ต่อ​มา ชาว​ฝรั่งเศส​อีก​คน​หนึ่ง​ชื่อ ปอล-ลุย ซีมองด์ ค้น​พบ​บทบาท​ของ​ตัว​หมัด (ที่​อยู่​ตาม​ตัว​สัตว์​ฟัน​แทะ) ใน​การ​นำ​โรค. ไม่​นาน​ก็​มี​การ​พัฒนา​วัคซีน​ขึ้น ซึ่ง​ไม่​ค่อย​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​นัก.

กาฬโรค​เป็น​เพียง​เรื่อง​ราว​ใน​อดีต​ไหม? ไม่​เลย. ใน​ฤดู​หนาว​ปี 1910 คน​ประมาณ 50,000 คน​เสีย​ชีวิต​จาก​กาฬโรค​ใน​แคว้น​แมนจูเรีย. และ​แต่​ละ​ปี องค์การ​อนามัย​โลก​ได้​บันทึก​ราย​ใหม่ ๆ หลาย​พัน​ราย—ซึ่ง​จำนวน​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ. มี​การ​ค้น​พบ​โรค​สาย​พันธุ์​ใหม่ ๆ ด้วย—สาย​พันธุ์​ที่​ดื้อ​ต่อ​การ​รักษา. ใช่​แล้ว นอก​จาก​จะ​มี​การ​ปฏิบัติ​ตาม​มาตรฐาน​สุขอนามัย​ขั้น​พื้น​ฐาน กาฬโรค​ก็​ยัง​คง​เป็น​ภัย​คุกคาม​มนุษยชาติ​ต่อ​ไป. หนังสือ​ทำไม​มี​กาฬโรค? หนู, หมัด, และ​ต่อม​น้ำ​เหลือง (ภาษา​ฝรั่งเศส) แต่ง​โดย ชักกลีน โบรสโซเลต และ อองรี โมลลาเรต จึง​สรุป​ว่า “มัน​ไม่​ใช่​โรค​ของ​ยุโรป​เก่า​ใน​ยุค​กลาง​เท่า​นั้น . . . น่า​เศร้า กาฬโรค​อาจ​เป็น​โรค​แห่ง​อนาคต.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 คน​ใน​สมัย​นั้น​เรียก​การ​ระบาด​ครั้ง​นั้น​ว่า โรค​ระบาด​ใหญ่​หรือ​โรค​ห่า.

[คำ​โปรย​หน้า 23]

ชาย​และ​หญิง​บริจาค​ทุก​สิ่ง​ที่​เขา​มี​ให้​แก่​โบสถ์ โดย​หวัง​ว่า​พระเจ้า​จะ​ปก​ป้อง​พวก​เขา​จาก​โรค​ร้าย

[กรอบ/ภาพ​หน้า 24]

นิกาย​ทรมาน​ตัว​เอง

โดย​มอง​ว่า​กาฬโรค​เป็น​การ​ลง​โทษ​จาก​พระเจ้า บาง​คน​แสวง​หา​การ​บรรเทา​ความ​พิโรธ​จาก​พระเจ้า​โดย​การ​เฆี่ยน​ตี​เพื่อ​เป็น​การ​ทำ​โทษ​ตัว​เอง. เดอะ บราเดอร์​ฮูด ออฟ เดอะ ฟลาเจลแลนต์ ซึ่ง​เป็น​ขบวนการ​ที่​กล่าว​กัน​ว่า​มี​จำนวน​ถึง 800,000 คน ได้​รับ​ความ​นิยม​สูง​สุด​ระหว่าง​ที่​กาฬ​โรค​ระบาด. กฎ​ของ​นิกาย​นี้​ห้าม​ไม่​ให้​พูด​กับ​ผู้​หญิง, ซัก​ล้าง, หรือ​เปลี่ยน​เสื้อ​ผ้า. มี​การ​เฆี่ยน​ตัว​เอง​ต่อ​สาธารณชน​วัน​ละ​สอง​ครั้ง.

หนังสือ​นิกาย​นอก​รีต​ยุค​กลาง (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “การ​เฆี่ยน​ตัว​เอง​เป็น​เพียง​ทาง​ออก​หนึ่ง​ใน​ไม่​กี่​ทาง​ที่​มี​อยู่​สำหรับ​ประชากร​ที่​ตกใจ​กลัว.” พวก​ฟลาเจลแลนต์​ยัง​โดด​เด่น​ใน​การ​กล่าว​คัดค้าน​อำนาจ​บริหาร​ของ​คริสตจักร​และ​ใน​การ​บ่อน​ทำลาย​กิจ​ปฏิบัติ​ที่​ให้​มี​การ​ล้าง​บาป​ซึ่ง​สร้าง​ความ​มั่งคั่ง​แก่​คริสตจักร. ดัง​นั้น ไม่​แปลก​ที่​ใน​ปี 1349 โปป​ประณาม​นิกาย​นี้. แต่​สุด​ท้าย ขบวนการ​นี้​ก็​สูญ​สลาย​ไป​เอง​หลัง​จาก​กาฬโรค​ผ่าน​พ้น​ไป​แล้ว.

[รูปภาพ]

พวก​ฟลาเจลแลนต์​พยายาม​บรรเทา​ความ​พิโรธ​ของ​พระเจ้า

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Bibliothèque Royale de Belgique, Bruxelles

[ภาพ​หน้า 25]

กาฬโรค​ใน​เมือง​มาร์เซลส์ ฝรั่งเศส

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Cliché Bibliothèque Nationale de France, Paris

[ภาพ​หน้า 25]

อะเล็กซองเดร แยร์แซง​ระบุ​ตัว​เชื้อ​บาซิลลัส​ที่​เป็น​ตัวการ​ของ​กาฬโรค

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Culver Pictures