ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การฆ่าตัวตาย—โรคระบาดแฝงเร้น

การฆ่าตัวตาย—โรคระบาดแฝงเร้น

การ​ฆ่า​ตัว​ตาย—โรค​ระบาด​แฝง​เร้น

จอห์น​กับ​แมรี * ใกล้​จะ​ย่าง​เข้า​วัย 60 ทั้ง​สอง​อาศัย​อยู่​ใน​บ้าน​เล็ก ๆ หลัง​หนึ่ง​ใน​แถบ​ชนบท​ของ​สหรัฐ. จอห์น​รอ​ความ​ตาย​ด้วย​โรค​ถุง​ลม​ปอด​โป่ง​พอง​และ​โรค​หัวใจ​ล้มเหลว. แมรี​นึก​ภาพ​ไม่​ออก​ว่า​ชีวิต​จะ​เป็น​อย่าง​ไร​ถ้า​ไม่​มี​จอห์น เธอ​ไม่​สามารถ​ทน​รับ​ความ​ปวด​ร้าว​ที่​เห็น​เขา​อ่อน​แรง​ลง​เรื่อย ๆ และ​หายใจ​หอบ​เป็น​พัก ๆ. แมรี​เอง​ก็​มี​ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ เธอ​ทน​ทุกข์​ด้วย​โรค​ซึมเศร้า​มา​หลาย​ปี. ใน​ระยะ​หลัง ๆ นี้ จอห์น​รู้สึก​กังวล​เพราะ​แมรี​พูด​ถึง​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย. ความ​คิด​ของ​เธอ​สับสน​ขึ้น​เรื่อย ๆ เนื่อง​จาก​ความ​ซึมเศร้า​และ​ยา​ต่าง ๆ ที่​เธอ​กิน. เธอ​บอก​ว่า เธอ​รับ​ไม่​ได้​กับ​ความ​คิด​เรื่อง​การ​อยู่​คน​เดียว.

ใน​บ้าน​เต็ม​ไป​ด้วย​ยา—ยา​รักษา​โรค​หัวใจ, ยา​ต้าน​การ​ซึมเศร้า, และ​ยา​กล่อม​ประสาท. เช้า​ตรู่​วัน​หนึ่ง แมรี​เข้า​ไป​ใน​ครัว และ​เริ่ม​กิน​ยา. เธอ​กิน​ไม่​หยุด​จน​กระทั่ง​จอห์น​มา​พบ​และ​แย่ง​ยา​ไป​จาก​เธอ. เขา​เรียก​หน่วย​กู้​ชีพ​ขณะ​ที่​เธอ​อ่อน​ปวกเปียก​ไม่​รู้สึก​ตัว. เขา​ภาวนา​ขอ​อย่า​ให้​สาย​เกิน​ไป.

สิ่ง​ที่​สถิติ​เผย​ให้​เห็น

ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ มี​รายงาน​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​จำนวน​ผู้​ฆ่า​ตัว​ตาย​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​ท่ามกลาง​คน​หนุ่ม​สาว—และ​ก็​เหมาะ​สม​ที่​มี​การ​รายงาน​อย่าง​นั้น เพราะ​จะ​มี​โศกนาฏกรรม​อะไร​ล่ะ​ที่​เลว​ร้าย​กว่า​การ​ตาย​ก่อน​เวลา​อัน​ควร​ของ​คน​หนุ่ม​สาว​ที่​เปี่ยม​ด้วย​พลัง​และ​อนาคต? แต่​สิ่ง​ที่​ไม่​ได้​อยู่​ใน​พาด​หัว​ข่าว​ก็​คือ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า อัตรา​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ใน​ประเทศ​ส่วน​ใหญ่​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ตาม​อายุ. เป็น​เช่น​นี้​ไม่​ว่า​อัตรา​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​โดย​รวม​ของ​ประเทศ​นั้น ๆ จะ​สูง​หรือ​ต่ำ ดัง​กรอบ​สี่​เหลี่ยม​ข้าง​ล่าง​นี้​แสดง​ให้​เห็น. การ​พิจารณา​สถิติ​ดัง​กล่าว​ยัง​เผย​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​โรค​ระบาด​แฝง​เร้น​นี้​แพร่​ไป​ทั่ว​โลก.

ใน​ปี 1996 ศูนย์​ควบคุม​โรค​ของ​สหรัฐ​รายงาน​ว่า จำนวน​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ใน​หมู่​ชาว​อเมริกัน​วัย 65 ปี​ขึ้น​ไป เพิ่ม​พรวด​ถึง 36 เปอร์เซ็นต์​ตั้ง​แต่​ปี 1980. บาง​ส่วน​ของ​การ​เพิ่ม​เช่น​นี้​เนื่อง​มา​จาก​จำนวน​ผู้​สูง​อายุ​ชาว​อเมริกัน​มี​มาก​ขึ้น—แต่​นี่​เป็น​เพียง​สาเหตุ​หนึ่ง​เท่า​นั้น. ใน​ปี 1996 อัตรา​แท้​จริง​ของ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ท่ามกลาง​ผู้​มี​อายุ​มาก​กว่า 65 ปี​ก็​เพิ่ม​ขึ้น​ด้วย โดย​เพิ่ม 9 เปอร์เซ็นต์ นับ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​รอบ 40 ปี. จาก​ความ​ตาย​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​บาดเจ็บ มี​เพียง​การ​หก​ล้ม​และ​การ​ถูก​รถ​ชน​เท่า​นั้น​ที่​คร่า​ชีวิต​ผู้​สูง​อายุ​ชาว​อเมริกัน​มาก​กว่า. จริง ๆ แล้ว ตัว​เลข​ที่​น่า​ตกใจ​เหล่า​นี้​อาจ​น้อย​ไป​ด้วย​ซ้ำ. คู่มือ​ศึกษา​วิจัย​กรณี​ฆ่า​ตัว​ตาย (ภาษา​อังกฤษ) ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เป็น​ที่​น่า​สงสัย​ว่า​มี​การ​พูด​เรื่อง​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​น้อย​กว่า​ความ​เป็น​จริง​อย่าง​มาก​ใน​สถิติ​ต่าง ๆ ที่​อาศัย​เอกสาร​ยืน​ยัน​สาเหตุ​การ​ตาย.” หนังสือ​นี้​เสริม​ว่า บาง​แหล่ง​กะ​ประมาณ​ว่า​ตัว​เลข​จริง​สูง​กว่า​ที่​รายงาน​ใน​สถิติ​ถึง​สอง​เท่า.

ผล​น่ะ​หรือ? สหรัฐ​กำลัง​ประสบ​กับ​โรค​ระบาด​แฝง​เร้น​ระดับ​โลก​ใน​เรื่อง​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ของ​ประชากร​สูง​อายุ เช่น​เดียว​กับ​ประเทศ​อื่น ๆ อีก​หลาย​แห่ง. นาย​แพทย์​เฮอร์เบิร์ต เฮนดิน ซึ่ง​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​นี้​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ทั้ง ๆ ที่​ข้อ​เท็จ​จริง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​อัตรา​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ใน​สหรัฐ​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ตาม​อายุ​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด แต่​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ใน​หมู่​ผู้​สูง​อายุ​กลับ​ได้​รับ​ความ​ใส่​ใจ​จาก​สาธารณชน​เพียง​น้อย​นิด.” เหตุ​ใด​จึง​เป็น​เช่น​นั้น? เขา​ชี้​ว่า ส่วน​หนึ่ง​ของ​ปัญหา​เป็น​เพราะ​อัตรา​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ของ​ผู้​สูง​อายุ​อยู่​ใน​ระดับ​สูง​มา​ตลอด “มัน​ไม่​ได้​ก่อ​ความ​ตระหนก​ฉับพลัน เหมือน​กับ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ของ​คน​หนุ่ม​สาว​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​น่า​ตกใจ.”

สำเร็จ​สม​ใจ

แม้​สถิติ​ดัง​กล่าว​จะ​น่า​ตกใจ แต่​ก็​เป็น​เพียง​ตัว​เลข. มัน​ไม่​อาจ​ถ่ายทอด​ความ​เดียว​ดาย​ของ​ชีวิต​ที่​ปราศจาก​คู่​ใจ, ความ​ข้องขัดใจ​ที่​จะ​ต้อง​พึ่ง​คน​อื่น, ความ​สิ้น​หวัง​เนื่อง​จาก​เป็น​โรค​ที่​รักษา​ไม่​หาย, ความ​หมด​อาลัย​ตาย​อยาก​เพราะ​อาการ​ซึมเศร้า​เรื้อรัง, ความ​หมด​หวัง​เนื่อง​จาก​ทราบ​ว่า​เป็น​โรค​ระยะ​สุด​ท้าย. ความ​จริง​อัน​น่า​เศร้า​ก็​คือ ขณะ​ที่​คน​หนุ่ม​สาว​อาจ​พยายาม​ฆ่า​ตัว​ตาย​เพราะ​ความ​หุนหันพลันแล่น​เนื่อง​จาก​ปัญหา​ชั่ว​ครู่​ชั่ว​ยาม แต่​ผู้​สูง​อายุ​มัก​จะ​เผชิญ​ปัญหา​ที่​ดู​เหมือน​จะ​ถาวร​และ​ไม่​มี​ทาง​แก้. ผล​ก็​คือ พวก​เขา​มัก​จะ​ลง​มือ​ฆ่า​ตัว​ตาย​แบบ​ตั้งใจ​แน่วแน่​กว่า​คน​หนุ่ม​สาว​และ​ทำ​ได้​สำเร็จ​สม​ใจ.

นาย​แพทย์​เฮนดิน ให้​ข้อ​สังเกต​ไว้​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ใน​อเมริกา (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ไม่​เพียง​แพร่​หลาย​อย่าง​ผิด​สังเกต​ใน​หมู่​ผู้​สูง​อายุ แต่​ปฏิบัติการ​ฆ่า​ตัว​ตาย​เอง​ก็​สะท้อน​ให้​เห็น​ความ​แตกต่าง​อย่าง​ชัดเจน​ระหว่าง​ผู้​สูง​อายุ​กับ​คน​หนุ่ม​สาว. เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง อัตรา​ส่วน​ของ​การ​พยายาม​ฆ่า​ตัว​ตาย​ต่อ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ได้​สำเร็จ​นั้น​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด​ที​เดียว​ใน​หมู่​ผู้​สูง​อายุ. ประมาณ​กัน​ว่า ใน​หมู่​ประชากร​โดย​รวม อัตรา​ส่วน​ของ​การ​พยายาม​ฆ่า​ตัว​ตาย​ต่อ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ได้​สำเร็จ​คือ 10 ต่อ 1; ใน​หมู่​คน​หนุ่ม​สาว (อายุ 15-24 ปี) 100 ต่อ 1; และ​ใน​หมู่​ผู้​มี​อายุ​มาก​กว่า 55 ปี อัตรา​ส่วน​อยู่​ที่ 1 ต่อ 1.”

เป็น​สถิติ​ที่​น่า​ตกใจ​จริง ๆ! เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​หดหู่​เพียง​ไร​ที่​ต้อง​แก่​ลง, กำลัง​กาย​ถดถอย, และ​ทน​ทุกข์​กับ​โรค​ภัย​ไข้​เจ็บ! ไม่​แปลก​ที่​มี​มาก​มาย​หลาย​คน​ฆ่า​ตัว​ตาย. กระนั้น มี​เหตุ​ผล​หนักแน่น​ที่​จะ​รักษา​ชีวิต​ไว้—แม้​อยู่​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก​มาก. ขอ​พิจารณา​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​กับ​แมรี ซึ่ง​เอ่ย​ถึง​ใน​ตอน​ต้น​ของ​บทความ​นี้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 นาม​สมมุติ.

[แผนภูมิ​หน้า 3]

อัตรา​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ต่อ 100,000 คน ตาม​อายุ​และ​เพศ

ชาย/หญิง อายุ 15 ถึง 24 ปี

8.0/2.5 อาร์เจนตินา

4.0/0.8 กรีซ

19.2/3.8 ฮังการี

10.1/4.4 ญี่ปุ่น

7.6/2.0 เม็กซิโก

53.7/9.8 รัสเซีย

23.4/3.7 สหรัฐ

ชาย/หญิง อายุ 75 ปี​ขึ้น​ไป

55.4/8.3 อาร์เจนตินา

17.4/1.6 กรีซ

168.9/60.0 ฮังการี

51.8/37.0 ญี่ปุ่น

18.8/1.0 เม็กซิโก

93.9/34.8 รัสเซีย

50.7/5.6 สหรัฐ