ทำไมเพื่อนทำให้ฉันเจ็บ?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ทำไมเพื่อนทำให้ฉันเจ็บ?
“หนูเคยมีเพื่อนอยู่สองสามคน . . . แล้วพวกเธอก็เริ่มเป็นเพื่อนกับเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งและถ้าหนูเดินเข้าไปหา พวกเธอก็จะหยุดคุย. . . . พวกเธอเริ่มกันหนูออกจากทุก ๆ สิ่ง. มันทำให้หนูเจ็บจริง ๆ.”—คาเรน. *
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้กับเพื่อนที่ดีที่สุด. วันนี้สองคนแยกกันไม่ได้; พอพรุ่งนี้สองคนไม่ยอมพูดกันด้วยซ้ำ. โนราวัย 17 ปีพูดว่า “เพื่อนน่าจะเป็นคนที่คุณไว้ใจและเชื่อใจได้ เป็นคนที่คุณจะหันไปพึ่งได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น.” แต่บางครั้งเพื่อนที่ดีที่สุดอาจเริ่มทำตัวเสมือนศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของคุณ.
มิตรภาพตกอยู่ในอันตราย
อะไรทำให้มิตรภาพที่หวานฉ่ำกลับกลายเป็นความขมขื่น? สำหรับแซนดรา ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อเมแกน เพื่อนของเธอ ขอยืมเสื้อตัวโปรดตัวหนึ่งของเธอ. แซนดราบอกว่า “พอเธอเอามาคืน มันสกปรกและมีรอยปริหน่อยหนึ่งที่แขน. เธอไม่พูดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เหมือนกับว่าหนูจะไม่สังเกตเห็น.” แซนดรารู้สึกอย่างไรกับเมแกนที่ขาดการคำนึงถึงความรู้สึกผู้อื่น? เธอบอกว่า “มันทำให้หนูโกรธมาก. เหมือนกับว่าเธอไม่มีความนับถือต่อของของหนู . . . หรือต่อความรู้สึกของหนูเลย.”
คุณอาจเจ็บปวดด้วยถ้าเพื่อนสนิททำอะไรหรือพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณขายหน้า. เรื่องนี้เกิดขึ้นกับซินดี เมื่อเธอบอกเพื่อนนักเรียนกลุ่มหนึ่งว่าเธอยังไม่ได้อ่านหนังสือที่จะใช้ทำรายงาน. ตอนนั้นเอง เคท เพื่อนของเธอก็เริ่มต่อว่าเธอ. ซินดีเล่าว่า “เธอทำให้หนูอับอายต่อหน้าเพื่อน ๆ ทั้งกลุ่ม. หนูโกรธเธอมากจริง ๆ. หลังจากนั้นสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.”
บางครั้ง สัมพันธภาพเกิดแตกร้าวเมื่อเพื่อนของเราเริ่มใช้เวลาไปกับเพื่อนใหม่. บอนนีวัย 13 ปีบอกว่า “หนูเคยมีเพื่อนรักคนหนึ่งซึ่งไปเข้าร่วมกับเด็กกลุ่มหนึ่ง. แล้วเธอก็เริ่มไม่สนใจหนู.” หรือคุณอาจเริ่มเห็นเจตนาแอบแฝงในมิตรภาพของเพื่อน. โจวัย 13 ปีบอกว่า “บ็อบบีกับผมเคยเป็นเพื่อนรักกัน. ผมเคยคิดว่าเขาคบผมเพราะตัวผมเอง แต่ผมมารู้ว่าเขาสนิทกับผมเพียงเพราะพ่อผมอยู่ในวงการโฆษณาและสามารถเอาตั๋วดี ๆ ชมการแข่งขันกีฬาและการแสดงคอนเสิร์ตเมื่อไรก็ได้.” ตอนนี้โจรู้สึกอย่างไร? เขาพูดว่า “ผมจะไม่มีวันไว้ใจบ็อบบีอีกแล้ว!”
ในบางกรณีเพื่อนอาจเผยเรื่องที่คุณอยากจะเก็บเป็นความลับให้คนอื่นฟัง. ตัวอย่างเช่น แอลลิสันคุยกับซารา
เพื่อนของเธอเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงาน. วันต่อมาซาราพูดถึงเรื่องนี้ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนนั้นเลยทีเดียว. แอลลิสันกล่าวว่า “ฉันไม่เคยคิดเลยว่าเธอจะเป็นคนปากสว่างขนาดนั้น! ฉันโมโหมาก.” เรเชลวัย 16 ปี มีประสบการณ์คล้าย ๆ กันเมื่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งแพร่งพรายสิ่งที่ทั้งสองคุยกันเป็นส่วนตัว. เรเชลบอกว่า “หนูรู้สึกอับอายและรู้สึกถูกหักหลัง. หนูคิดในใจว่า ‘ฉันจะไว้ใจเธออีกได้อย่างไร?’”มิตรภาพสามารถเป็นแหล่งแห่งความเกื้อหนุนทางอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อต่างก็รู้สึกถึงความเอื้ออาทร, ความไว้วางใจ, และความนับถือซึ่งมีต่อกัน. กระนั้น แม้แต่มิตรภาพที่แน่นแฟ้นก็ยังมีช่วงที่ตึงเครียดได้. คัมภีร์ไบเบิลให้ข้อสังเกตอย่างตรงไปตรงมาดังนี้: “มีเพื่อนที่พร้อมจะทำลายกันให้ย่อยยับ.” (สุภาษิต 18:24, ล.ม.) ไม่ว่าจะเกิดจากอะไร เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากเมื่อคุณรู้สึกว่าถูกเพื่อนหักหลัง. ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น?
เหตุที่มิตรภาพมีปัญหา
ไม่มีสัมพันธภาพใดเลยที่จะไร้ซึ่งปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนหนุ่มสาวหรือระหว่างผู้ใหญ่. ถ้าจะว่าไป นั่นก็เป็นอย่างที่สาวกยาโกโบ ผู้เป็นคริสเตียน เขียนไว้ที่ว่า “เราทุกคนต่างก็พลาดพลั้งกันหลายครั้ง. ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งในวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์ สามารถเหนี่ยวรั้งทั้งร่างกายของตนได้ด้วย.” (ยาโกโบ 3:2, ล.ม.; 1 โยฮัน 1:8) เนื่องจากทุกคนทำผิดพลาด จึงคาดหมายได้ว่าไม่ช้าก็เร็ว เพื่อนของคุณก็จะทำหรือพูดอะไรที่ทำให้คุณเจ็บ. คุณอาจถึงกับจำได้ว่าคุณเคยทำให้คนนั้นเจ็บเช่นเดียวกัน. (ท่านผู้ประกาศ 7:22) ลิซาวัย 20 ปีกล่าวว่า “เราทุกคนไม่สมบูรณ์ และเราจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธเป็นครั้งคราว.”
นอกจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นด้วยที่เกี่ยวข้อง. จงจำไว้ว่า เมื่อคุณโตและเป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่คุณสนใจ—และสิ่งที่เพื่อนของคุณสนใจ—มักจะเปลี่ยนไป. ด้วยเหตุนี้ คนสองคนที่เคยชอบอะไรเหมือน ๆ กันอาจพบว่าเขาค่อย ๆ ห่างกันมากขึ้นทุกที. วัยรุ่นคนหนึ่งโอดครวญเรื่องเพื่อนรักของเธอว่า “เราโทรศัพท์คุยกันไม่บ่อยนัก และพอเราคุยกัน เราก็แทบจะไม่เห็นพ้องกันในเรื่องใด ๆ อีก.”
แน่นอน การที่เพียงแต่ค่อย ๆ ห่างกันไปนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง. แต่ทำไมบางคนทำให้เพื่อนเจ็บ? บ่อยครั้งนั่นเกี่ยวข้องกับความอิจฉา. ตัวอย่างเช่น เพื่อนคนหนึ่งอาจเริ่มไม่พอใจคุณเนื่องจากความสามารถพิเศษหรือความสำเร็จของคุณ. (เทียบกับเยเนซิศ 37:4; 1 ซามูเอล 18:7-9.) ดังที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ “ความอิจฉาริษยาคือความเปื่อยเน่าของกะดูก.” (สุภาษิต 14:30) สิ่งนี้ทำให้เกิดความริษยาและการชิงดีกัน. ไม่ว่าเป็นเพราะอะไร คุณจะทำอะไรได้บ้างถ้าเพื่อนทำให้คุณเจ็บ?
การแก้ไข
เรเชลบอกว่า “ตอนแรก หนูจะสังเกตดูคนนั้นและพยายามตัดสินว่าเขาเจตนาทำอย่างนั้นไหม.” เมื่อคุณตกเป็นเหยื่อของคำพูดหรือการกระทำบางอย่างที่คุณรู้สึกว่าเป็นการลบหลู่ อย่าเพิ่งตอบโต้ด้วยอารมณ์ที่เกิดในช่วงนั้น. แทนที่จะทำอย่างนั้น จงอดกลั้นไว้และคิดเรื่องนั้นให้ถี่ถ้วน. (สุภาษิต 14:29) ถ้าคุณตอบโต้สิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นการลบหลู่ทันที นั่นจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไหม? หลังจากพิจารณาเรื่องต่าง ๆ แล้ว คุณอาจเลือกจะทำตามคำแนะนำที่บทเพลงสรรเสริญ 4:4 (ล.ม.) ที่ว่า “ขุ่นเคืองเถิด แต่อย่าทำบาป. พูดในใจ เมื่ออยู่บนเตียง และเงียบเสีย.” แล้วคุณอาจต้องการให้ “ความรักปกปิดความผิดไว้มากมาย.”—1 เปโตร 4:8, ล.ม.
แต่จะว่าอย่างไรถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถเลิกคิดถึงการกระทำที่ทำให้เจ็บปวดนั้นได้เลย? ในกรณีนั้น อาจดีที่สุดที่จะไปหาคนนั้น. แฟรงก์วัย 13 ปีกล่าวว่า “ไปพบกัน แค่คุณสองคน แล้วปรับความเข้าใจกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. ถ้าคุณไม่ทำอย่างนั้น คุณก็จะยังคงขุ่นเคืองต่อไป.” ซูซานวัย 16 ปีรู้สึกแบบเดียวกัน. เธอบอกว่า “สิ่งที่ดีที่สุดคือบอกเขาว่าคุณเคยไว้ใจเขาแต่เขาทำให้คุณผิดหวัง.” แจ็กเกอลินก็เช่นกัน ชอบวิธีจัดการเรื่องราวเป็นส่วนตัว. เธอบอกว่า “ฉันจะพยายามพูดเรื่องนั้น
ออกมา. ตามปกติคนนั้นก็จะพูดอย่างเปิดอกกับคุณและคุณจะแก้ปัญหาได้แทบจะทันที.”แน่ละ คุณควรระวังไม่ไปหาเพื่อนของคุณด้วยความโมโห. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คนโมโหร้ายเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน; แต่คนที่ยั้งโทสะไว้ได้ย่อมระงับการวิวาทกัน.” (สุภาษิต 15:18) ดังนั้น จงรอจนกระทั่งคุณสงบลงก่อนที่จะพยายามแก้ไขสถานการณ์. ลิซายอมรับว่า “ตอนแรกคุณจะโกรธ แต่ควรปล่อยให้อารมณ์ของคุณเย็นลง. รอจนกว่าคุณรู้สึกหายโกรธคนนั้น. แล้วค่อยไปหาเขา นั่งลงและพูดคุยกันด้วยสันติ.”
คำสำคัญคือ “สันติ.” จำไว้ว่า คุณไม่ได้ตั้งใจจะไปต่อว่าเพื่อนคุณ. แต่คุณไปเพื่อจัดการเรื่องราวโดยสันติวิธี และถ้าเป็นไปได้ ก็กลับเป็นเพื่อนกันอีก. (บทเพลงสรรเสริญ 34:14) ดังนั้น จงพูดจากหัวใจ. ลิซาแนะว่า “คุณอาจบอกว่า ‘ฉันเป็นเพื่อนเธอ และเธอก็เป็นเพื่อนฉัน; แต่ฉันเพียงอยากจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น.’ คุณจำต้องรู้เหตุผล ที่เขาทำอย่างนั้น. เมื่อคุณรู้แล้ว ก็มักไม่ยากเกินกว่าที่จะจัดการได้.”
ย่อมเป็นสิ่งผิดแน่ ๆ ที่จะหาทางแก้เผ็ด บางทีโดยนินทาคนนั้นและพยายามหาพวกพ้องเข้าข้างคุณ. อัครสาวกเปาโลผู้เป็นคริสเตียนเขียนไปหาพี่น้องในกรุงโรมว่า “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย.” (โรม 12:17) ที่จริง ไม่ว่าคุณจะเจ็บลึกแค่ไหน การแก้เผ็ดมีแต่จะทำให้เรื่องต่าง ๆ แย่ลงไปอีก. โนราบอกว่า “การแก้แค้นไม่คุ้มหรอก เพราะว่าคุณจะไม่มีทางเป็นเพื่อนกันได้อีกเลย.” เธอเสริมว่า ตรงกันข้าม การทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพ “จะทำให้คุณรู้สึกดี.”
แต่จะว่าอย่างไรถ้าเพื่อนของคุณไม่ตอบรับความพยายามของคุณที่จะคืนดีกัน? ในกรณีนั้น จำไว้ว่า มิตรภาพมีอยู่หลายระดับ. จูดิท แม็คคลีส ผู้ให้คำปรึกษาด้านครอบครัวกล่าวว่า “ไม่ใช่เพื่อนทุกคนเป็นเพื่อนสนิท. จงจำไว้ว่าคุณมีสัมพันธภาพได้หลายแบบ.” กระนั้น คุณสบายใจได้ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า คุณได้ทำส่วนของคุณแล้วที่จะทำให้มีสันติสุขคืนมา. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “หากเป็นได้ ตราบที่ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลาย จงอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.”—โรม 12:18, ล.ม.
พายุร้ายคงจะเกิดขึ้นแม้แต่กับมิตรภาพที่ดีที่สุด. ถ้าคุณฝ่าฟันพายุนั้นโดยไม่ยอมให้มันทำลายทัศนะที่คุณมีต่อคนอื่นหรือต่อตัวเองแล้ว คุณก็กำลังเติบโตสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่อาวุโส. แม้ว่าบางคนอาจ “พร้อมจะทำลายกันให้ย่อยยับ” แต่คัมภีร์ไบเบิลก็รับรองกับเราด้วยว่า “มีมิตรที่สนิทแน่นยิ่งกว่าพี่น้อง.”—สุภาษิต 18:24, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางชื่อในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
[ภาพหน้า 15]
คุณอาจกลับเป็นเพื่อนกันอีกโดยพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น