มีความหวังที่สดใสแม้จะทุพพลภาพ
มีความหวังที่สดใสแม้จะทุพพลภาพ
เล่าโดยคอนสแตนติน โมรอซอฟ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1936 ตอนที่ผมลืมตาดูโลก ไม่มีกระดูกแข็งสักชิ้นในร่างกายของผม นอกจากกะโหลกศีรษะและกระดูกสันหลัง. โครงกระดูกทั้งหมดของผมเป็นกระดูกอ่อนซึ่งแข็งพอ ๆ กับกระดูกอ่อนที่ใบหูของผู้ใหญ่. ผมหนักไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม. สิ่งที่แสดงว่ามีชีวิตมีเพียงหัวใจที่เต้นอ่อน ๆ, ลมหายใจแผ่ว ๆ, และการกระดุกกระดิกเล็กน้อย.
ผมเป็นลูกคนที่เจ็ดในบรรดาพี่น้องเก้าคนในครอบครัวซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านซารา ในอูลยานอฟสค์ ออบลาสต์ ที่ใจกลางประเทศรัสเซีย. เมื่อผมอายุสามสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่พาผมไปโบสถ์เพื่อรับบัพติสมา. บาทหลวงรีบพรมน้ำให้ผมแล้วบอกพวกท่านให้พาผมกลับบ้านเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเขาบอกว่าผมกำลังจะตายในอีกไม่กี่ชั่วโมง.
ในเดือนมกราคม 1937 คุณพ่อคุณแม่พาผมไปกรุงคาซาน นครหลวงของสาธารณรัฐโซเวียตตาตาร์สถาน เพื่อไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางคน. ตอนนั้น ผมพูดคำว่า “มามา,” “ปาปา,” และ“บาบูชกา” (คุณยาย) ได้แล้ว และผมรู้จักชื่อพวกพี่น้องของผมด้วย. หลังจากที่หมอตรวจแล้ว พวกเขาก็บอกคุณพ่อคุณแม่ผมว่าผมจะตายภายในหนึ่งปี. พวกเขาแนะนำให้ฆ่าผมและเก็บผมไว้ในโถแก้วให้นักศึกษาแพทย์ดู. ผมรู้สึกขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่รักของผมสักเพียงไรที่ปฏิเสธเด็ดขาด!
วัยเด็กที่ทนทุกข์ทรมาน
เท่าที่ผมจำความได้ ร่างกายของผมทรมานด้วยความเจ็บปวดอยู่เสมอ. ถึงกระนั้น แม้ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมก็จะพยายามมองโลกในแง่ดี หัวเราะบ่อย ๆ และเพลิดเพลินกับชีวิต. นี่เป็นอุปนิสัยที่ผมรักษาไว้อยู่เสมอ. โครงกระดูกของผมค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น และผมสามารถนั่งและคลานได้เล็กน้อย. ผมไม่ได้โตขึ้นเหมือนเด็กปกติและมีร่างกายที่ผิดรูปไปมาก. แต่ผมเป็นนักเรียนที่มีความสามารถ และเมื่ออายุได้ห้าขวบ ผมก็สามารถอ่านและเขียนได้.
ในเดือนพฤษภาคม 1941 คุณแม่พาผมไปโบสถ์เป็นครั้งที่สอง. มีหลายคนอยู่ที่นั่น และทุกคนกำลังคุกเข่าอธิษฐาน. ผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ต้อนรับในโบสถ์มาหาคุณแม่ถามว่าทำไมจึงไม่คุกเข่า. เมื่อคุณแม่ให้เธอดูผม เธอไปพูดกับบาทหลวง. เมื่อกลับมา เจ้าหน้าที่คนนั้นพาเราไปที่ทางออกและบอกให้คุณแม่วางผมไว้นอกประตูและกลับเข้ามาคนเดียว. เธออ้างว่าเนื่องจากบาปของคุณพ่อคุณแม่ผม ผมจึงถูกมอบให้ท่านโดย “ผู้เป็นมลทิน.” คุณแม่กลับบ้านด้วยน้ำตาคลอเบ้า. ผมคิดเรื่องนี้เป็นเวลานาน. ผมสงสัยว่า ‘ใครคือ “ผู้เป็นมลทิน” คนนี้?’
ในปี 1948 เมื่อผมอายุ 12 ขวบ คุณแม่พาผมไปหมู่บ้านเมเรงกี ในสาธารณรัฐชูวัช ประมาณ 80 กิโลเมตรจากบ้านของเรา. ที่นั่นมีบ่อน้ำแร่รักษาโรค และคุณแม่หวังว่าน้ำนั้นอาจรักษาผมได้. เงื่อนไขอย่างหนึ่งที่บาทหลวงตั้งไว้เพื่อผมจะหายโรคคือ ผมต้องอดอาหารเป็นเวลาสามวัน. แล้วไปรับศีลมหาสนิทในโบสถ์อีกด้วย. แม้ผมไม่ได้เชื่อใจโบสถ์มากนัก แต่ผมก็ยอมรับเงื่อนไขนั้น. สำหรับผมแล้ว การเดินทางนั้นยาวไกลและยากลำบาก แต่ผมก็อดทน และพยายามชื่นชมกับความงดงามของทิวทัศน์.
โบสถ์เต็มไปด้วยผู้คน. ขณะที่คุณแม่กำลังอุ้มผมฝ่าฝูงชน หญิงชรายื่นลูกกวาดให้ผมเม็ดหนึ่ง. ผมรับมาและใส่กระเป๋าไว้. เมื่อถึงคราวที่ผมจะรับศีลมหาสนิท หญิงชราคนนั้นร้องว่า “คุณพ่อคะ อย่าให้เขารับศีลมหาสนิท! เขาเพิ่งกินลูกกวาดไปเม็ดหนึ่ง!” ผมอธิบายว่าลูกกวาดนั้นยังอยู่ในกระเป๋าของผม แต่บาทหลวงตะโกนว่า “เจ้าตัวประหลาดโอหัง! แกต้องโกหกด้วยหรือ? เอามันออกไปจากโบสถ์!” อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมา บาทหลวงอีกคนหนึ่งประกอบพิธีศีลมหาสนิทและชำระตัวผมด้วยน้ำ “อัศจรรย์.” แต่ไม่มีการอัศจรรย์. ความทุพพลภาพของผมยังคงมีอยู่ต่อไป.
ความสำเร็จทางภูมิปัญญา
แม้ว่าผมมีข้อจำกัดมากทางกายภาพ แต่ในช่วงวัยรุ่น ผมมีเป้าหมายหลายอย่างทางการศึกษาและการเสริมภูมิปัญญา. ในปี 1956 ผมเข้าร่วมกับคอมโซมอล (สันนิบาตยุวคอมมิวนิสต์) และต่อมาได้สอนประวัติของคอมโซมอล แก่ผู้ที่เด็กกว่า. ผมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการวัฒนธรรมและเคหสถานในสถานสงเคราะห์คนพิการ และผมทำหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุและโฆษกของที่นั่นด้วย.
นอกจากนั้น ผมเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดเคลื่อนที่ซึ่งมีเทปที่บันทึกหนังสือต่าง ๆ สำหรับคนตาบอด และผมได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการผู้พิพากษาว่าด้วยการต่อต้านการใช้แอลกอฮอล์อย่างผิด ๆ. ผมยังเข้าร่วมในชมรมศิลปินสมัครเล่น, ร้องเพลง, และเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิด.
ที่สถานสงเคราะห์คนพิการ
ในปี 1957 เมื่อผมอายุ 21 ปี ความทุพพลภาพทำให้ผมต้องเข้าสถานสงเคราะห์คนพิการ. กระนั้น ผมไม่ยอมแพ้. ในเดือนตุลาคมปี 1963 ผมเดินทางไปสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านอวัยวะเทียมแห่งกรุงมอสโก. ที่นั่น ผมเข้ารับการผ่าตัดทั้งหมด 18 ครั้งเพื่อให้ขาของผมเหยียดได้ตรง.
ตอนแรก ผมถูกยืดขา. แล้วเมื่อผ่านไปแปดวัน ก็มีการผ่าตัด. หลังจากผ่าตัด เขาใส่เฝือกที่ขาของผมเพื่อยึดมันไว้กับที่จนกว่าจะถึงการผ่าตัดครั้งต่อไป. นางพยาบาลร้องไห้เมื่อเธอเห็นว่าผมทรมานมากขนาดไหน.
ระหว่างสี่เดือนถัดมา ผมฝึกเดินด้วยไม้ยันรักแร้ ซึ่งทำให้ผมสามารถยืนขึ้นได้สูงถึง 110 เซนติเมตร. ผมหนักประมาณ 25 กิโลกรัม. เมื่อผมเดินด้วยไม้ยันรักแร้จนชำนาญแล้ว ผมก็กลับไปสถานสงเคราะห์คนพิการในปี 1964. น่าเสียดาย กระดูกขาที่อ่อนแอของผมไม่อาจทานน้ำหนักตัวของผมได้ และไม่ช้าผมก็ต้องคลานไปมาหรือไม่ก็ใช้เก้าอี้ล้ออีกครั้งหนึ่ง. เก้าอี้ล้อเป็นพาหนะหลักที่ผมจะไปไหนมาไหนจนกระทั่งทุกวันนี้.
ผมไม่เคยไปโบสถ์อีกเลย. คำอ้างที่ว่าผมเกิดมาจาก “ผู้เป็นมลทิน” ยังคงทำให้ผมทุกข์ใจ. ผมรักคุณพ่อคุณแม่มาก และผมไม่อาจยอมรับได้ที่ว่าพวกท่านและพระเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาพของผม. ผมพยายามรักษาความหวังที่สดใสเอาไว้แม้จะประสบความยากลำบาก. ผมต้องการทำดีต่อคนอื่น และที่สำคัญที่สุด ต้องการจะพิสูจน์ตัวว่าแม้แต่ผมก็ทำเช่นนั้นได้.
พึ่งตัวเอง
ในปี 1970 ผมแต่งงานกับลิเดีย ซึ่งเป็นอัมพาตบางส่วนตั้งแต่เด็ก. เราซื้อบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง และอยู่ที่นั่น 15 ปี. ระหว่างเวลานั้น เราทั้งสองทำงานหาเลี้ยงตัวเอง. ผมหัดซ่อมนาฬิกาและอุปกรณ์ขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ต้องปรับตั้งอย่างละเอียด.
ช่วงหนึ่งผมใช้สุนัขที่ได้รับการฝึกเพื่อช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์บางอย่าง. ที่จริง ผมกับผู้ฝึกสุนัขคนหนึ่งได้ประดิษฐ์บังเหียนบังคับสุนัขที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ. ผมมีสุนัขสองตัว—ตัวหนึ่งชื่อวุลคาน อีกตัวชื่อพาลมา. พาลมาเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์เป็นเวลาหลายปี. ที่ร้านค้า มันจะหยิบข้าวของให้ผม. สิ่งเดียวที่มันไม่ชอบคือรอคิวชำระเงิน. มันจะคาบกระเป๋าเงินของผมไป และที่ปลอกคอของมันจะมีตะขอเล็ก ๆ สำหรับแขวนถุงใส่ของของผม.
ในปี 1973 คุณแม่ของผมป่วยหนัก. เนื่องจากผมอยู่บ้านตลอดเวลา ผมกับภรรยาจึงตัดสินใจพาท่านมาอยู่กับเรา. ตอนนั้น คุณพ่อและพี่ชายของผมห้าคนเสียชีวิตไปแล้ว และพี่น้องของผมอีกสามคนก็อยู่ในส่วนอื่น ๆ ของรัสเซีย. ขณะที่คุณแม่อยู่กับเรา ผมพยายามทำสิ่งที่ผมทำได้เพื่อท่าน. ในที่สุดท่านก็เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 85 ปี.
ในปี 1978 ผมตัดสินใจสร้างรถของตัวเอง. หลังจากทดลองสร้างรถหลายคัน ผมก็มีรถคันที่เหมาะ. กองตรวจยวดยานแห่งรัฐในท้องถิ่นยอมให้ผมสอบใบขับขี่และจดทะเบียนรถของผม. ผมตั้งชื่อมันว่า โอซา (ตัวต่อ). ผมกับภรรยาทำรถพ่วงเล็ก ๆ ซึ่งบรรทุกของได้ถึง 300 กิโลกรัม. เราสองคนสามารถไปไหนมาไหนและบรรทุกของต่าง ๆ ไปด้วยในรถคันนั้น. เราใช้รถยนต์คันนี้จนถึงปี 1985.
ประมาณช่วงนี้ตาข้างซ้ายของผมบอด และสายตาข้างขวาเริ่มเสื่อมลง. แล้วลิเดียก็เริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจ. ในเดือนพฤษภาคมปี 1985 เนื่องจากข้อจำกัดของเรา เราจึงต้องย้ายไปสถานสงเคราะห์คนพิการในเมืองดิมิโทรฟกราด.
เหตุที่ชีวิตของผม มีความสุขมากในตอนนี้
ในฤดูร้อนปี 1990 พยานพระยะโฮวามาเยี่ยมเราที่สถานสงเคราะห์คนพิการ. ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาสอนน่าสนใจมาก. พวกเขาให้ผมดูบันทึกเรื่องราวในกิตติคุณของโยฮันเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เกิดมาตาบอด. พระเยซูตรัสถึงเขาว่า “มิใช่ชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขาได้ทำบาป.” (โยฮัน 9:1-3, ล.ม.) พวกเขาอธิบายให้ผมเข้าใจว่า เราได้รับบาปและความเจ็บป่วยตกทอดมาจากอาดาม บรรพบุรุษของเรา.—โรม 5:12.
แต่ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ผมประทับใจกับข้อเท็จจริงที่ว่าในที่สุดพระเจ้าจะทรงรักษาทุกคนที่เจ็บป่วยซึ่งมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองโดยราชอาณาจักรแห่งพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ เมื่ออุทยานจะได้รับการฟื้นฟูบนแผ่นดินโลก. (บทเพลงสรรเสริญ 37:11, 29; ลูกา 23:43; วิวรณ์ 21:3, 4) น้ำตาแห่งความยินดีไหลจากตาของผม และผมพูดพึมพำว่า “ความจริง ความจริง ผมพบความจริงแล้ว!” ผมศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1991 ผมรับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า.
แม้ว่าผมมีความปรารถนาอย่างแรงกล้ามากขึ้นที่จะรับใช้พระยะโฮวาและประกาศเกี่ยวกับพระประสงค์
อันยอดเยี่ยมของพระองค์ ผมก็เผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง. ก่อนหน้านี้ ผมไม่จำเป็นต้องเดินทางมากนัก แต่ตอนนี้ผมต้องออกไปแบ่งปันความเชื่อของผมแก่คนอื่น. เขตประกาศแรกของผมคือสถานสงเคราะห์คนพิการ ซึ่งมีมากกว่า 300 คน. เพื่อผมจะได้พบปะผู้คนมากเท่าที่จะมากได้ ผมจึงของานมอบหมายที่ทำในห้องธุรการ.ทุก ๆ เช้า ผมจะนั่งในที่ทำงาน และเอาใจใส่งานมอบหมาย. ระหว่างที่ทำงาน ผมได้มารู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ หลายคนซึ่งผมได้สนทนากับเขาอย่างเพลิดเพลินเกี่ยวกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล. หลายคนรับหนังสือและวารสารซึ่งช่วยพวกเขาให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิล. ผู้มาเยี่ยมคุ้นเคยกับการที่ผมอ่านให้เขาฟังจากคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. ตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน บ่อยครั้งมีหลายคนมาที่ห้องของเราซึ่งบางเวลาคนอื่นเข้าไม่ได้.
พี่น้องคริสเตียนชายหญิงจากประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาช่วยผมมากในงานประกาศ. พวกเขานำสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลมาให้ผมและใช้เวลากับเราทั้งสอง. พวกเขายังช่วยพาผมไปหอประชุมเพื่อการประชุมประชาคมด้วย. พยานฯ คนหนึ่งซื้อมอเตอร์ไซค์พ่วงเพื่อจะพาผมไปไหนมาไหนได้. คนอื่น ๆ ซึ่งมีรถยนต์ก็ยินดีมารับผมในฤดูหนาวอันเยือกเย็น.
เนื่องจากการเอาใจใส่ด้วยความรักเช่นนี้ ผมจึงสามารถเข้าร่วมการประชุมใหญ่ หรือการสัมมนาที่ให้ความรู้ของพยานพระยะโฮวา ในหลายสิบแห่งได้. การประชุมแห่งแรกสำหรับผมคือการประชุมนานาชาติขนาดใหญ่ในกรุงมอสโกเดือนกรกฎาคม 1993 ซึ่งมียอดผู้เข้าร่วมประชุม 23,743 คนจาก 30 กว่าประเทศ. สำหรับผม ที่จะเข้าร่วมการประชุมนั้นหมายถึงการเดินทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร. นับแต่นั้นมาผมไม่เคยขาดการประชุมใหญ่ของไพร่พลพระยะโฮวาเลย.
ฝ่ายบริหารของสถานสงเคราะห์คนพิการนับถือผมมาก ซึ่งผมก็รู้สึกขอบคุณมาก. ลิเดีย ภรรยาของผมซึ่งอยู่ด้วยกันมา 30 ปีแล้วได้เกื้อหนุนและช่วยเหลือผมเช่นกัน แม้ว่าเธอไม่ได้มีทัศนะเรื่องศาสนาแบบเดียวกับผม. แต่เหนืออื่นใด พระยะโฮวาทรงพยุงผมไว้ด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์ และทรงประทานพระพรอันยอดเยี่ยมให้แก่ผม. ไม่นานมานี้ ในวันที่ 1 กันยายน 1997 ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นไพโอเนียร์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้รับใช้เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา.
มีหลายคราในชีวิตที่หัวใจของผมเกือบจะหยุดเต้น และผมคงเสียชีวิต. ตอนนี้ผมมีความสุขจริง ๆ ที่ผมยังมีชีวิตอยู่และได้มารู้จักและรักพระยะโฮวาพระเจ้า บ่อเกิดแห่งชีวิต! ผมต้องการจะรับใช้พระองค์ต่อ ๆ ไปร่วมกับพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณของผมตลอดทั่วโลก ตราบเท่าที่หัวใจของผมยังเต้นอยู่.
[ภาพหน้า 20]
กับลิเดีย ภรรยาของผม
[ภาพหน้า 21]
การสอนนักศึกษาในสถานสงเคราะห์คนพิการ