ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ลามู—เกาะที่ไร้กาลเวลา

ลามู—เกาะที่ไร้กาลเวลา

ลามู—เกาะ​ที่​ไร้​กาล​เวลา

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​เคนยา

สาย​ลม​ที่​โชย​กลิ่น​น้ำ​เค็ม​ตี​ใบ​เรือ​จน​แอ่น ส่ง​เรือ​ไม้​ขนาด​เล็ก​ให้​แล่น​ฉิว​ไป​ข้าง​หน้า. สูง​ขึ้น​ไป​เหนือ​ดาดฟ้า​เรือ ลูกเรือ​ที่​เกาะ​กอด​เสา​กระโดง​เรือ​ไว้​แน่น​กวาด​สายตา​ไป​ที่​ขอบ​ฟ้า​มอง​หา​แผ่นดิน เพ่ง​ตา​สู้​แสง​จ้า​ของ​มหาสมุทร​อินเดีย. เวลา​นั้น​คือ​ศตวรรษ​ที่ 15 และ​นัก​เดิน​เรือ​เหล่า​นี้​กำลัง​สำรวจ​หา​เกาะ​ลามู.

ทอง, งา​ช้าง, เครื่องเทศ, และ​ทาส—แอฟริกา​มี​สิ่ง​ทั้ง​หมด​นี้​ให้​พวก​เขา. โดย​ถูก​ดึงดูด​ด้วย​ทรัพย์​สมบัติ​และ​แรง​กระตุ้น​ที่​จะ​สำรวจ ชาย​ผู้​กล้า​แกร่ง​แล่น​เรือ​จาก​แดน​ไกล​มา​ยัง​ชายฝั่ง​ของ​แอฟริกา​ตะวัน​ออก. นัก​เดิน​เรือ​ฝ่า​ฟัน​ทะเล​ที่​ปั่นป่วน​และ​ลม​ที่​กระโชก​แรง​เพื่อ​แสวง​หา​ทรัพย์. โดย​เบียด​เสียด​ยัดเยียด​กัน​อยู่​ใน​เรือใบ​ซึ่ง​ทำ​ด้วย​ไม้ พวก​เขา​เริ่ม​ออก​เดิน​ทาง​ไกล.

ขึ้น​ไป​สัก​ครึ่ง​ทาง​ของ​ชายฝั่ง​แอฟริกา​ตะวัน​ออก กลุ่ม​เกาะ​เล็ก ๆ ที่​ชื่อ​ว่า​หมู่​เกาะ​ลามู เป็น​ท่า​จอด​เรือ​ที่​ลึก​และ​ปลอด​ภัย​สำหรับ​นัก​เดิน​ทาง​เหล่า​นี้​และ​เรือ​อัน​บอบบาง​ของ​พวก​เขา เนื่อง​จาก​มี​แนว​ปะการัง​ปก​ป้อง​อยู่. นัก​เดิน​เรือ​สามารถ​หา​เสบียง​อาหาร​และ​น้ำ​จืด​เพิ่ม​เติม​ได้​ที่​นี่.

เมื่อ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 15 เกาะ​ลามู​ก็​ได้​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​ค้า​และ​เสบียง​ที่​รุ่งเรือง​เฟื่องฟู. นัก​เดิน​เรือ​ชาว​โปรตุเกส​ที่​เดิน​ทาง​มา​ถึง​ที่​นั่น​ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 พบ​ว่า​พวก​พ่อค้า​ที่​ร่ำรวย​โพก​ศีรษะ​ด้วย​ผ้า​ไหม​และ​สวม​ชุด​ยาว​กรอม​เท้า. ส่วน​สตรี​นั้น​ก็​มี​การ​ใช้​น้ำหอม​และ​ใช้​กำไล​ทองคำ​เป็น​เครื่อง​ประดับ​แขน​และ​ข้อ​เท้า ขณะ​ที่​พวก​เธอ​เดิน​ไป​ตาม​ถนน​แคบ ๆ. ตลอด​แนว​ท่า​เรือ เรือ​ซึ่ง​ม้วน​เก็บ​ใบ​เรือ​รูป​สาม​เหลี่ยม​จอด​เพียบ​อยู่​ใน​น้ำ บรรทุก​สินค้า​ที่​จะ​นำ​ไป​ต่าง​แดน​จน​เต็ม​ความ​จุ. ทาส​ซึ่ง​ถูก​มัด​โยง​ไว้​ด้วย​กัน​และ​เบียด​เสียด​ยัดเยียด​อยู่​เป็น​กลุ่ม ๆ คอย​เวลา​ถูก​ต้อน​ไป​ลง​เรือ​เดาว์ (เรือ​เดิน​ทะเล​ของ​ชาว​อาหรับ).

นัก​สำรวจ​ชาว​ยุโรป​รุ่น​แรก ๆ เหล่า​นี้​ต่าง​แปลก​ใจ​ที่​พบ​ว่า​การ​จัด​การ​ด้าน​สุขาภิบาล​และ​การ​ออก​แบบ​ทาง​สถาปัตยกรรม​ใน​เกาะ​ลามู​อยู่​ใน​ระดับ​สูง. บ้าน​ซึ่ง​หัน​หน้า​สู่​ทะเล​สร้าง​ด้วย​แท่ง​หิน​ปะการัง​ซึ่ง​สกัด​ด้วย​มือ​จาก​เหมือง​หิน​ใน​ท้องถิ่น และ​ประตู​ไม้​หนา​หนัก​ซึ่ง​สลัก​อย่าง​วิจิตร​บรรจง​พิทักษ์​อยู่​ที่​ทาง​เข้า. บ้าน​ตั้ง​เรียง​เป็น​แถว​เป็น​แนว ออก​แบบ​ไว้​ให้​ลม​เย็น​จาก​ทะเล​พัด​ผ่าน​ถนน​แคบ ๆ เพื่อ​ช่วย​ระบาย​ความ​ร้อน​อบอ้าว​ของ​อากาศ.

บ้าน​ของ​ประชากร​ที่​มั่งมี​นั้น​ใหญ่​โต​และ​กว้างขวาง. ห้อง​น้ำ​มี​น้ำ​จืด​ใช้​ด้วย​ระบบ​ประปา​ยุค​แรก​เริ่ม. การ​ขจัด​น้ำ​ทิ้ง​ก็​น่า​ประทับใจ​ไม่​แพ้​กัน และ​ก้าว​หน้า​กว่า​หลาย​ประเทศ​ทาง​ยุโรป​ใน​ยุค​เดียว​กัน. มี​การ​วาง​ท่อ​ขนาด​ใหญ่​ซึ่ง​สกัด​จาก​หิน​ลาด​ลง​ไป​ทาง​ทะเล​เพื่อ​ระบาย​น้ำ​ทิ้ง​ลง​หลุม​ซึ่ง​ขุด​ลึก​ลง​ไป​ใน​ทราย​ห่าง​จาก​แหล่ง​น้ำ​จืด. ที่​เก็บ​น้ำ​สร้าง​ด้วย​หิน​ซึ่ง​จ่าย​น้ำ​จืด​ไป​ตาม​บ้าน​ต่าง ๆ มี​ปลา​ตัว​เล็ก ๆ เลี้ยง​ไว้​ใน​นั้น​ให้​กิน​ลูก​น้ำ​เป็น​อาหาร เพื่อ​ช่วย​ลด​ปริมาณ​ยุง.

พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 19 เกาะ​ลามู​ก็​มี​สินค้า​จำพวก​งา​ช้าง, น้ำมัน, เมล็ด​พันธุ์​พืช, หนัง​สัตว์, กระดอง​กระ, ฟัน​ฮิปโป, และ​ทาส​จำนวน​มาก​ป้อน​ให้​แก่​เรือ​เดาว์​เดิน​ทะเล. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​เวลา​ต่อ​มา​ความ​รุ่งเรือง​ของ​เกาะ​ลามู​เริ่ม​ถดถอย. โรค​ระบาด, การ​โจมตี​จาก​เผ่า​ที่​เป็น​ศัตรู, และ​ข้อ​จำกัด​ใน​การ​ค้า​ทาส​ได้​ทำ​ให้​ความ​สำคัญ​ทาง​เศรษฐกิจ​ของ​เกาะ​ลามู​ลด​น้อย​ลง​ไป.

ก้าว​กลับ​ไป​สู่​อดีต

การ​แล่น​เรือ​เข้า​ไป​ที่​ท่า​เรือ​บน​เกาะ​ลามู​ใน​วัน​นี้​ดู​คล้าย​กับ​การ​ก้าว​ย้อน​กลับ​ไป​ใน​ประวัติศาสตร์. ลม​พัด​อย่าง​สม่ำเสมอ​จาก​ผืน​น้ำ​สี​น้ำเงิน​อัน​กว้าง​ใหญ่​ของ​มหาสมุทร​อินเดีย. ระลอก​คลื่น​สี​ฟ้า​อม​เขียว​ซัด​หาด​ทราย​ขาว​เบา ๆ. เรือ​เดาว์​ไม้​แบบ​โบราณ​แล่น​ฉิว​อยู่​ตาม​ชายฝั่ง ใบ​เรือ​ทรง​สาม​เหลี่ยม​สี​ขาว​ดู​คล้าย​กับ​ผีเสื้อ​กำลัง​กาง​ปีก​บิน. เรือ​เหล่า​นี้​เพียบ​ไป​ด้วย​ปลา, ผลไม้, มะพร้าว, วัว, ไก่, และ​ผู้​โดยสาร บ่าย​หน้า​ไป​ยัง​ท่า​เรือ​เกาะ​ลามู.

ที่​ท่า​เรือ ลม​ร้อน​พัด​ทาง​ปาล์ม​ดัง​กรอบแกรบ ซึ่ง​แทบ​จะ​ไม่​ได้​ให้​ร่ม​เงา​แก่​พวก​ผู้​ชาย​ที่​กำลัง​ขน​ของ​ลง​จาก​เรือ​ไม้. ตลาด​จ้อกแจ้ก​จอแจ​ไป​ด้วย​เสียง​ผู้​คน​ที่​แลก​เปลี่ยน​ซื้อ​ขาย​สินค้า​กัน. สิ่ง​ที่​พ่อค้า​เหล่า​นี้​แสวง​หา​นั้น​ไม่​ใช่​ทองคำ, งา​ช้าง, หรือ​ทาส หาก​แต่​เป็น​กล้วย, มะพร้าว, ปลา, และ​ตะกร้า.

ใต้​ร่ม​เงา​มะม่วง​ต้น​มหึมา ผู้​ชาย​หลาย​คน​ฟั่น​เชือก​จาก​ป่าน​ศรนารายณ์​และ​ปะ​ชุน​ใบ​เรือ​ซึ่ง​เป็น​ส่วน​ที่​ใช้​ขับ​เคลื่อน​เรือ​เดาว์​ของ​พวก​เขา. ถนน​หน​ทาง​แคบ​และ​มี​ผู้​คน​ไป​มา​ขวักไขว่. พ่อค้า​ใน​ชุด​ยาว​สี​ขาว​ส่ง​เสียง​ร้อง​เรียก​จาก​ร้าน​รวง​ที่​กอง​ของ​ไว้​ระเกะระกะ กวัก​มือ​เรียก​ลูก​ค้า​ให้​เข้า​มา​ชม​สินค้า​ใน​ร้าน. ลา​ตัว​หนึ่ง​กำลัง​ออก​แรง​อย่าง​หนัก​ลาก​เกวียน​ที่​เต็ม​ด้วย​กระสอบ​ข้าว​หนัก​อึ้ง แทรก​ผ่าน​คลื่น​มนุษย์​ไป. ผู้​คน​บน​เกาะ​ลามู​เดิน​ทาง​จาก​ที่​หนึ่ง​ไป​อีก​ที่​หนึ่ง​ด้วย​เท้า เพราะ​ไม่​มี​รถยนต์​เป็น​พาหนะ​บน​เกาะ. ทาง​เดียว​ที่​จะ​ไป​ถึง​เกาะ​คือ​ทาง​เรือ.

เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​อยู่​เหนือ​ศีรษะ​พอ​ดี​ตอน​เที่ยง​วัน เวลา​ดู​ราว​กับ​จะ​หยุด​นิ่ง. ใน​ความ​ร้อน​อบอ้าว​อย่าง​นี้​แทบ​ไม่​มี​ใคร​ออก​ไป​ไหน และ​แม้​แต่​ลา​ก็​ยืน​นิ่ง​ไม่​ไหว​ติง ตา​ปิด​สนิท คอย​ให้​ความ​ร้อน​บรรเทา​เบา​บาง​ลง​ไป​บ้าง.

ขณะ​ที่​ตะวัน​เริ่ม​คล้อย​และ​อุณหภูมิ​ลด​ลง เกาะ​ที่​ง่วง​เหงา​ซึม​เซา​ก็​มี​ชีวิต​ชีวา​ขึ้น​มา. พวก​พ่อค้า​ผลัก​บาน​ประตู​แกะ​สลัก​ที่​หนัก​อึ้ง​ให้​เปิด​ออก​เพื่อ​ทำ​ธุรกิจ​กัน​ต่อ​ไป และ​พวก​เขา​จะ​จุด​ตะเกียง​ค้า​ขาย​กัน​ไป​เรื่อย ๆ จน​กระทั่ง​ดึก. พวก​ผู้​หญิง​อาบ​น้ำ​และ​ขัด​สี​ฉวี​วรรณ​ให้​ลูก​น้อย​ด้วย​น้ำมัน​มะพร้าว​จน​ผิว​ขึ้น​เงา. ขณะ​นั่ง​อยู่​บน​เสื่อ​ซึ่ง​สาน​จาก​ทาง​มะพร้าว ผู้​หญิง​เหล่า​นี้​ก็​จะ​เริ่ม​เตรียม​อาหาร​ไป​ด้วย. ที่​นี่​ยัง​คง​ก่อ​ไฟ​ทำ​อาหาร​กัน​กับ​พื้น ประกอบ​อาหาร​รสชาติ​อร่อย​จาก​ปลา​ปรุง​รส​ด้วย​เครื่องเทศ​หอม​และ​หุง​ข้าว​ด้วย​น้ำ​มะพร้าว. ผู้​คน​เป็น​มิตร, เอื้อ​อารี, และ​ใช้​ชีวิต​ง่าย ๆ สบาย ๆ.

แม้​ว่า​เกาะ​ลามู​สูญ​เสีย​ความ​สง่า​งาม​ใน​อดีต​ไป​แล้ว แต่​วัฒนธรรม​แอฟริกา​ดั้งเดิม​สมัย​ก่อน​ศตวรรษ​ที่ 20 ยัง​คง​เฟื่องฟู​อยู่​ใน​ที่​แห่ง​นี้. ภาย​ใต้​ความ​ร้อน​ของ​แสง​อาทิตย์​ใน​เขต​ร้อน ชีวิต​ยัง​คง​ดำเนิน​ไป​อย่าง​ที่​เคย​เป็น​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ. เรา​สามารถ​เยือน​อดีต​ที่​เคียง​คู่​อยู่​กับ​ปัจจุบัน​ได้​ที่​นี่. ที่​จริง เกาะ​ลามู​เป็น​อดีต​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​ซึ่ง​ไม่​มี​ที่​ใด​เหมือน เป็น​เกาะ​ที่​ไร้​กาล​เวลา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 16, 17]

การ​ไป​เยือน​เกาะ​ลามู

เมื่อ​ไม่​นาน​นี้​เอง กลุ่ม​ของ​เรา​ได้​ไป​เยือน​เกาะ​ลามู แต่​ไม่​ใช่​ด้วย​จุด​ประสงค์​ใน​การ​ซื้อ​หา​หรือ​ขาย​สินค้า. เรา​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​เยี่ยม​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​คริสเตียน​ที่​เป็น​เพื่อน​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​กัน. เครื่องบิน​ขนาด​เล็ก​ของ​เรา​บิน​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ​ตาม​แนว​ชายฝั่ง​ที่​ขรุขระ​ของ​เคนยา. มอง​ลง​ไป​เบื้อง​ล่าง คลื่น​ลูก​เล็ก ๆ ม้วน​ตัว​เข้า​หา​แนว​ชายฝั่ง​ซึ่ง​เป็น​ป่า​เขต​ร้อน​ที่​อุดม​สมบูรณ์​และ​เขียว​ชอุ่ม มี​หาด​ทราย​ขาว​เป็น​ขอบ​ราว​กับ​แถบ​ริบบิ้น. ต่อ​จาก​นั้น โดย​ไม่​ทัน​รู้​เนื้อ​รู้​ตัว หมู่​เกาะ​ลามู​ก็​ปรากฏ​ขึ้น​เป็น​ประกาย​แวว​วับ​ดุจ​อัญมณี​ใน​ทะเล​สี​ฟ้า​อม​เขียว. ดุจ​ดัง​อินทรี​ยักษ์​แห่ง​แอฟริกา เรา​บิน​วน​เหนือ​เกาะ​แล้ว​ก็​ลด​ระดับ​จาก​ฟ้า ลง​จอด​บน​ลาน​บิน​เล็ก ๆ สำหรับ​เครื่องบิน​บน​ผืน​แผ่นดิน​ใหญ่​ฝั่ง​ตรง​ข้าม​กับ​เกาะ. เรา​ลง​จาก​เครื่องบิน เดิน​ไป​ที่​ริม​น้ำ และ​ลง​เรือ​เดาว์​ไม้​เพื่อ​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​เกาะ​ลามู.

วัน​นั้น​เป็น​วัน​ที่​อากาศ​แจ่ม​ใส และ​ลม​ทะเล​ก็​สดชื่น. ขณะ​ที่​เรา​ใกล้​จะ​ถึง​เกาะ เรา​สังเกต​ว่า​ที่​สะพาน​เทียบ​เรือ​มี​ผู้​คน​ไป​มา​วุ่นวาย​ไป​หมด. พวก​ผู้​ชาย​ที่​แข็งแรง​แบก​ขน​ของ​หนัก​จาก​เรือ และ​พวก​ผู้​หญิง​เทิน​ของ​ไว้​บน​ศีรษะ​อย่าง​ที่​ได้​สมดุล​พอ​ดิบ​พอ​ดี. เรา​หอบ​หิ้ว​กระเป๋า​ฝ่า​ฝูง​ชน​ไป​ยืน​อยู่​ใต้​ร่ม​เงา​ต้น​ปาล์ม. แค่​ไม่​กี่​นาที​พี่​น้อง​คริสเตียน​ก็​เห็น​เรา และ​เข้า​มา​ต้อนรับ​เรา​อย่าง​อบอุ่น​สู่​เกาะ​อัน​เป็น​บ้าน​เกิด​ของ​เขา.

เรา​ตื่น​แต่​เช้า​ก่อน​อาทิตย์​ขึ้น​เพื่อ​ไป​พบ​กับ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ที่​ชาย​ทะเล. การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​ประชาคม​ต้อง​เดิน​ทาง​ไกล​และ​ใช้​เวลา​หลาย​ชั่วโมง. เรา​เตรียม​ตัว​ไว้​พร้อม​โดย​นำ​น้ำ​ดื่ม, หมวก​ปีก​กว้าง, และ​รอง​เท้า​อย่าง​ดี​ซึ่ง​เหมาะ​สำหรับ​การ​เดิน​ติด​ตัว​มา​ด้วย. โดย​มี​แสง​อาทิตย์​ยาม​เช้า​ตรู่​ส่อง​อยู่​ข้าง​หลัง เรา​นั่ง​เรือ​ไป​ผืน​แผ่นดิน​ใหญ่ ซึ่ง​มี​การ​ประชุม​กัน​ที่​นั่น.

พี่​น้อง​ฉวย​โอกาส​ให้​คำ​พยาน​แก่​คน​บน​เรือ และ​เมื่อ​เรา​ไป​ถึง​ท่า​เรือ เรา​ได้​สนทนา​กับ​บาง​คน​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​จำหน่าย​วารสาร​ได้​หลาย​ฉบับ. ถนน​ไร้​ผู้​คน​ที่​ปรากฏ​ต่อ​สายตา​เรา​ร้อน​ระอุ​และ​เต็ม​ด้วย​ฝุ่น. ขณะ​เดิน​ผ่าน​ป่า​ไม้​พุ่ม​ที่​ไร้​ผู้​คน​อยู่​อาศัย เรา​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​ระวัง​สัตว์​ป่า ซึ่ง​ก็​รวม​ไป​ถึง​ช้าง​ที่​เดิน​ข้าม​ถนน​นั้น​ใน​บาง​ครั้ง. พวก​พี่​น้อง​ร่าเริง และ​มี​ความ​สุข​ดี​ขณะ​ที่​เรา​เดิน​ช้า ๆ ไป​ยัง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ของ​เรา.

ไม่​ช้า เรา​ก็​มา​ถึง​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ที่​เรา​ได้​พบ​กับ​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม​ที่​ได้​เดิน​มา​จาก​ท้อง​ที่​ต่าง ๆ ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป. เนื่อง​จาก​พี่​น้อง​ต้อง​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ทาง​ไกล การ​ประชุม​ประชาคม​สี่​รายการ​จึง​จัด​ใน​วัน​นี้​วัน​เดียว.

พี่​น้อง​ประชุม​กัน​ใน​โรง​เรียน​เล็ก ๆ ซึ่ง​สร้าง​ด้วย​หิน​หยาบ ๆ ประตู​หน้าต่าง​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​สร้าง​ไม่​เสร็จ​สมบูรณ์. ใน​ห้อง​เรียน​ห้อง​หนึ่ง พวก​เรา 15 คน​นั่ง​กัน​บน​ม้า​ยาว​แคบ ๆ ทำ​ด้วย​ไม้ และ​รับ​ประโยชน์​จาก​ระเบียบ​วาระ​ที่​อาศัย​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก ซึ่ง​ให้​การ​หนุน​ใจ​และ​การ​สั่ง​สอน. ดู​เหมือน​ว่า​ไม่​มี​ใคร​ใส่​ใจ​กับ​ความ​ร้อน​อบอ้าว​ที่​แผ่​ลง​มา​จาก​หลังคา​สังกะสี​เหนือ​ศีรษะ​เรา. ทุก​คน​มี​แต่​ความ​สุข​ที่​ได้​อยู่​ร่วม​กัน. หลัง​จาก​การ​ประชุม​สี่​ชั่วโมง เรา​กล่าว​คำ​อำลา​และ​ทุก​คน​ก็​แยก​ย้าย​กัน​ไป​คน​ละ​ทาง. กว่า​เรา​จะ​กลับ​มา​ถึง​เกาะ​ลามู อาทิตย์​สี​ทอง​ก็​เกือบ​ลา​ลับ​ขอบ​ฟ้า.

คืน​นั้น ใน​ความ​เย็น​ยะเยือก​ยาม​ค่ำ​คืน เรา​รับประทาน​อาหาร​ง่าย ๆ กับ​ครอบครัว​พยาน​ฯ ที่​อยู่​บน​เกาะ​ลามู. วัน​ต่อ ๆ มา เรา​เดิน​ไป​ตาม​ถนน​แคบ ๆ และ​คดเคี้ยว​ประกาศ​ข่าว​ดี​ด้วย​กัน​กับ​พวก​เขา เสาะ​หา​ผู้​คน​ที่​หิว​กระหาย​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ใจ​อัน​แรง​กล้า​และ​ความ​กล้า​หาญ​ของ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ไม่​กี่​คน​ที่​นี่​ให้​กำลังใจ​แก่​เรา.

ใน​ที่​สุด​ก็​มา​ถึง​วัน​ที่​เรา​ต้อง​จาก​ไป. พวก​พี่​น้อง​พา​เรา​ไป​ที่​ริม​ทะเล​ใกล้ ๆ ท่า​เรือ และ​เรา​กล่าว​คำ​อำลา​ด้วย​ความ​อาลัย. พวก​เขา​บอก​เรา​ว่า​การ​มา​เยือน​ของ​เรา​ให้​การ​หนุน​ใจ​แก่​พวก​เขา. เรา​นึก​สงสัย​อยู่​ว่า​พวก​เขา​ทราบ​หรือ​ไม่​ว่า​พวก​เขา​ได้​ให้​การ​หนุน​ใจ​แก่​เรา​มาก​เพียง​ไร! เมื่อ​กลับ​ถึง​ผืน​แผ่นดิน​ใหญ่ ไม่​นาน​นัก​เรา​ก็​ขึ้น​เครื่องบิน​ลำ​เล็ก​ของ​เรา. ขณะ​ที่​เรา​ไต่​ระดับ​สูง​ขึ้น​ไป​บน​ท้องฟ้า เรา​มอง​ลง​มา​ที่​เกาะ​ลามู​อัน​สวย​งาม. เรา​คิด​รำพึง​ถึง​ความ​เชื่อ​อัน​เข้มแข็ง​ของ​พวก​พี่​น้อง​ที่​อยู่​ที่​นั่น, ระยะ​ทาง​อัน​ยาว​ไกล​ที่​พวก​เขา​เดิน​ทาง​ไป​ร่วม​ประชุม, ตลอด​จน​ใจ​แรง​กล้า​และ​ความ​รัก​ที่​พวก​เขา​มี​ต่อ​ความ​จริง. นาน​มา​แล้ว คำ​พยากรณ์​นี้​ได้​รับ​การ​บันทึก​ไว้​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ 97:1 ว่า “พระ​ยะโฮวา​ทรง​ครอบครอง​อยู่; ให้​แผ่นดิน​โลก​ชื่นชม; และ​ให้​หมู่​เกาะ​มาก​หลาย​มี​ความ​ยินดี.” จริง​ที​เดียว แม้​ว่า​อยู่​บน​เกาะ​ลามู​ที่​ห่าง​ไกล ผู้​คน​ที่​นั่น​กำลัง​ได้​รับ​โอกาส​ที่​จะ​ชื่นชม​กับ​ความ​หวัง​อัน​ยอด​เยี่ยม​เกี่ยว​กับ​อุทยาน​ใน​อนาคต​ภาย​ใต้​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[แผนที่​หน้า 15]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

แอฟริกา

เคนยา

ลามู

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 15]

© Alice Garrard

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 16]

© Alice Garrard