เพตรา—เมืองที่สกัดจากหิน
เพตรา—เมืองที่สกัดจากหิน
เมืองในสมัยโบราณหลายเมืองตั้งอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ซึ่งมีน้ำมากมายหล่อเลี้ยงและป้องกันเมืองเหล่านั้น. แต่เคยมีอยู่เมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลทรายอาหรับ เมืองนี้โดดเด่นขึ้นมาเนื่องจากการขาดน้ำ. เมืองนี้ชื่อเพตรา.
ในดินแดนทะเลทรายที่อยู่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น มีเส้นทางคาราวานเชื่อมโยงระหว่างเมืองต่าง ๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลกันคล้ายกับทางหลวงข้ามทวีปในสมัยปัจจุบัน. และเช่นเดียวกับรถยนต์ที่ต้องมีปั๊มน้ำมัน ฝูงอูฐที่แม้ว่าจะลือชื่อว่าทรหดอดทนมาก ก็ต้องมีที่หยุดพักเพื่อกินน้ำด้วย. สองพันปีที่แล้ว เพตราเป็นที่หยุดพักเพื่อรับน้ำซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง.
เพตราตั้งอยู่บนทางที่ตัดกันของเส้นทางการค้าสำคัญสองสาย. สายหนึ่งเชื่อมทะเลแดงกับกรุงดามัสกัส อีกสายหนึ่งเชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับกาซา บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. ขบวนคาราวานจากอ่าวเปอร์เซียซึ่งบรรทุกเครื่องเทศอันล้ำค่ามามากมาย ต้องบุกฝ่าทะเลทรายอาหรับอันโหดร้ายเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนที่จะถึงหุบผาชันและแคบซึ่งมีอากาศเย็นสบาย—เรียกว่าซิก—อันเป็นประตูต้อนรับสู่เพตรา. เมื่อมาถึงเมืองเพตราก็หมายความว่าจะได้อาหาร, ที่พัก, และเหนือสิ่งอื่นใด คือน้ำที่เย็นชื่นใจ.
แน่ละ ชาวเมืองเพตราไม่ได้ให้ความสะดวกสบายเหล่านี้ฟรี ๆ. พลีนี นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันรายงานว่า ต้องมีการให้ของกำนัลแก่ยาม, คนเฝ้าประตู, ปุโรหิต, และพวกมหาดเล็ก—นอกเหนือจากค่าอาหารสัตว์และที่พัก. แต่เครื่องเทศและน้ำมันหอมที่สามารถทำเงินได้มากมายในเมืองอันมั่งคั่งของยุโรปก็ทำให้ขบวนคาราวานมาที่เมืองนี้และบำรุงเมืองเพตราให้มั่งคั่ง.
เก็บกักน้ำและพิชิตหิน
ปริมาณน้ำฝนที่ตกที่เมืองเพตราในแต่ละปีนั้นมีแค่ประมาณ 15 เซนติเมตร และแทบจะไม่มีลำธารใด ๆ เลยในเมืองนี้. ชาวเมืองเพตราได้น้ำอันล้ำค่ามาจากไหนเพื่อจะค้ำจุนเมือง? พวกเขาขุดเจาะหิน ทำรางน้ำ และบ่อเก็บน้ำ. ต่อมา กล่าวได้ว่าน้ำฝนแทบทุกหยดที่ตกในบริเวณเมืองเพตราถูกเก็บกักไว้. ความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการกับน้ำทำให้ชาวเมืองเพตราสามารถปลูกพืช, เลี้ยงอูฐ, และสร้างศูนย์กลางการค้าซึ่งมีพวกพ่อค้าที่ร่ำรวยขึ้นจากการค้าขายกำยานและยางไม้หอม. แม้แต่ในปัจจุบัน รางน้ำอันคดเคี้ยวที่ทำจากหินก็ส่งน้ำไหลผ่านตลอดความยาวของซิก.
ถ้าชาวเมืองเพตรารู้วิธีจัดการเรื่องน้ำ พวกเขาก็เชี่ยวชาญเรื่องการก่อสร้างด้วย. ชื่อเพตราเอง ซึ่งหมายความว่า “หน้าผาใหญ่” ทำให้คิดถึงหิน. และเพตราก็เป็นเมืองหินอย่างแท้จริง—ไม่เหมือนเมืองอื่น ๆ ในจักรวรรดิโรมัน. ชาวนาบาเทียซึ่งเป็นผู้สร้างเมือง ได้สกัดบ้าน, อุโมงค์ฝังศพ, และวิหารจากหินแข็ง. ภูเขาหินทรายสีแดงที่เมืองเพตราตั้งอยู่นั้นเหมาะมาก และพอถึงศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช เมืองนี้ก็ผงาดขึ้นกลางทะเลทราย.
จากการค้า มาเป็นการท่องเที่ยว
สองพันปีที่แล้ว การค้าทำให้เพตราเจริญมั่งคั่ง. แต่เมื่อชาวโรมันพบทางเดินเรือไปยังดินแดนทางตะวันออก การค้าเครื่องเทศทางบกก็ล้มเลิกไป และเพตราก็ค่อย ๆ เริศร้างกลายเป็นทะเลทราย. แต่ผลงานของช่างก่อสร้างแถบทะเลทรายไม่ได้สูญหายไป. ในปัจจุบัน ทุกปีมีนักท่องเที่ยวประมาณห้าแสนคนไปเยือนประเทศจอร์แดนเพื่อชมเมืองกุหลาบแดงแห่งเพตรา ซึ่งอาคารต่าง ๆ ยังบ่งบอกถึงอดีตอันรุ่งโรจน์.
หลังจากผู้เยี่ยมชมเดินผ่านซิก ซึ่งมีอากาศเย็นสบายตลอดทางยาวหนึ่งกิโลเมตรแล้ว ทันใดนั้นผนังของหุบผาก็เผยให้เห็นคลังสมบัติ เป็นสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นซึ่งเกิดจากการสกัดเจาะหน้าผาขนาดมหึมา. น้อยคนจะลืมแวบแรกที่เห็นสิ่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งในสมัยศตวรรษแรกที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีที่สุด. อาคารนี้ถูกตั้งชื่อตามภาชนะหินขนาดใหญ่ที่อยู่บนยอดอาคาร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เก็บทองคำและอัญมณี.
เมื่อหุบผากว้างขึ้น นักท่องเที่ยวเข้าสู่อัฒจันทร์ธรรมชาติที่มีผนังหินทรายและมีถ้ำมากมาย. แต่อุโมงค์ฝังศพเป็นสิ่งที่จับความสนใจของนักท่องเที่ยว—อุโมงค์ฝังศพที่เจาะเข้าไปในหน้าผา อุโมงค์นี้สูงถึงขนาดที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมที่เดินฝ่าเข้าไปในอุโมงค์ที่มืดมิดนั้นกลายเป็นคนแคระ. เสาหินและโรงละครบ่งชี้ว่ามีพวกโรมันอยู่ในเมืองนี้ระหว่างศตวรรษที่หนึ่งและที่สอง.
ชาวเบดูอินสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวนาบาเทีย มีอูฐให้นักท่องเที่ยวที่มีกำลังน้อยขี่, ขายของที่ระลึก, หรือตักน้ำให้ฝูงแพะของตนที่บ่อน้ำพุแห่งเพตรา ซึ่งดับกระหายให้ทั้งคนและสัตว์. ถนนปูผิวสายเก่าแก่ของเพตรายังคงสงวนไว้เฉพาะสำหรับอูฐ, ม้า, และลา. ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันเมืองเพตราก็สะท้อนเสียงซึ่งดังมาตั้งแต่อดีตกาล เมื่ออูฐและเมืองเพตราเป็นเจ้าครองทะเลทราย.
ขณะที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สีแดงที่หน้าอาคารขนาดมหึมาก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น ผู้เยี่ยมชมที่ช่างคิดอาจใคร่ครวญถึงบทเรียนที่เพตราสอนเรา. เมืองนี้เป็นหลักฐานอย่างไม่ต้องสงสัยถึงความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ในการเก็บรักษาทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่ทารุณเช่นนั้น. แต่เมืองนี้ก็ยังเป็นเครื่องเตือนใจเช่นกันว่าความมั่งคั่งทางวัตถุอาจ “บินหายไปในท้องฟ้า” ได้อย่างรวดเร็ว.—สุภาษิต 23:4, 5.
[ที่มาของภาพหน้า 18]
Inset: Garo Nalbandian