ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เอลนินโญคืออะไร?

เอลนินโญคืออะไร?

เอลนินโญ​คือ​อะไร?

เมื่อ​แม่น้ำ​อาปูริ​มัก​ใกล้ ๆ เมือง​ลิ​มา ประเทศ​เปรู ซึ่ง​ตาม​ปกติ​แห้ง​ขอด ได้​พัด​พา​ทรัพย์​สิน​ของ​คาร์เมน​ไป​เกือบ​หมด​สิ้น เธอ​โอด​ครวญ​ว่า “มี​หลาย​คน​ที่​โดน​อย่าง​นี้ ไม่​ใช่​ฉัน​ราย​เดียว.” ไกล​ขึ้น​ไป​ทาง​เหนือ ฝน​ที่​เท​ลง​มา​อย่าง​หนัก​ได้​เปลี่ยน​พื้น​ที่​ของ​ทะเล​ทราย​เซชูรา​ส่วน​ที่​อยู่​ใกล้​ฝั่ง​ทะเล​ให้​กลาย​เป็น​ทะเลสาบ​ใหญ่​เป็น​อันดับ​สอง​ของ​เปรู​ไป​ชั่ว​คราว โดย​ท่วม​พื้น​ที่​ทั้ง​หมด​ประมาณ 5,000 ตาราง​กิโลเมตร. ใน​ที่​อื่น ๆ ทั่ว​โลก น้ำ​ท่วม​ใหญ่​เป็น​ประวัติการณ์, พายุ​ไซโคลน​ที่​รุนแรง, และ​ความ​แห้ง​แล้ง​อย่าง​หนัก ได้​ทำ​ให้​เกิด​การ​ขาด​แคลน​อาหาร, โรค​ระบาด, ไฟ​ป่า, และ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ต่อ​พืช​ผล, ทรัพย์​สิน, และ​สิ่ง​แวด​ล้อม. อะไร​เป็น​สาเหตุ​ของ​เรื่อง​ร้าย ๆ ทั้ง​หมด​นี้? หลาย​คน​ชี้​ไป​ที่​เอลนินโญ ซึ่ง​ก่อ​ตัว​ขึ้น​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​เขต​ร้อน​หรือ​แถบ​เส้น​ศูนย์​สูตร​เมื่อ​ปลาย​ปี 1997 และ​คง​สภาพ​อยู่​นาน​ประมาณ​แปด​เดือน.

เอลนินโญ​คือ​อะไร​กัน​แน่? มัน​ก่อ​ตัว​ขึ้น​อย่าง​ไร? เหตุ​ใด​ผล​กระทบ​ของ​มัน​จึง​กว้าง​ไกล​มาก? จะ​พยากรณ์​การ​เกิด​ปรากฏการณ์​นี้​ใน​ครั้ง​ต่อ​ไป​อย่าง​แม่นยำ​ได้​ไหม ซึ่ง​อาจ​ช่วย​ลด​ความ​หายนะ​ที่​มี​ต่อ​ชีวิต​และ​ทรัพย์​สิน?

มัน​เริ่ม​กับ​น้ำ​ที่​อุ่น​ขึ้น

“หาก​จะ​กล่าว​ตรง ๆ เอลนินโญ​เป็น​เพียง​กระแส​น้ำ​อุ่น​ที่​ปรากฏ​นอก​ชายฝั่ง​ทะเล​ของ​เปรู​ทุก ๆ สอง​ถึง​เจ็ด​ปี” วารสาร​นิวส์วีก กล่าว. เป็น​เวลา​มาก​กว่า​หนึ่ง​ร้อย​ปี​ที่​นัก​เดิน​เรือ​ตาม​ชายฝั่ง​ของ​เปรู​สังเกต​เห็น​น้ำ​ที่​อุ่น​ขึ้น​เช่น​นั้น. เนื่อง​จาก​กระแส​น้ำ​อุ่น​ดัง​กล่าว​นี้​มัก​มา​ถึง​ใน​ช่วง​คริสต์มาส มัน​จึง​ถูก​ขนาน​นาม​ว่า​เอลนินโญ ซึ่ง​เป็น​คำ​ภาษา​สเปน​หมาย​ถึง​พระ​กุมาร​เยซู.

การ​ที่​น้ำ​ทะเล​ใกล้ ๆ แนว​ชายฝั่ง​ของ​เปรู​อุ่น​ขึ้น​ยัง​ผล​ให้​มี​ฝน​ตก​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​ประเทศ​นี้. ฝน​ทำ​ให้​พืช​ทะเล​ทราย​เบ่ง​บาน​และ​ปศุสัตว์​เติบโต. เมื่อ​ฝน​ตก​หนัก​เข้า น้ำ​ก็​ท่วม​ภูมิภาค​นั้น. ยิ่ง​กว่า​นั้น ชั้น​บน​ของ​น้ำ​ทะเล​ที่​อุ่น​กว่า​ทำ​ให้​น้ำ​ข้าง​ล่าง​ที่​เย็น​กว่า​ซึ่ง​อุดม​ด้วย​สาร​อาหาร​ขึ้น​มา​ที่​ผิว​บน​ไม่​ได้. ด้วย​เหตุ​นั้น สัตว์​ทะเล​หลาย​ชนิด​ตลอด​จน​นก​บาง​ชนิด​จึง​ต้อง​อพยพ​ไป​หา​อาหาร​ที่​อื่น. ผล​กระทบ​ของ​เอลนินโญ​จึง​ลาม​ไป​ถึง​ที่​อื่น ๆ ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป​จาก​ชายฝั่ง​ของ​เปรู. *

เกิด​จาก​ลม​และ​น้ำ

อะไร​ทำ​ให้​อุณหภูมิ​ใน​มหาสมุทร​ใกล้ ๆ แนว​ชายฝั่ง​ของ​เปรู​สูง​ขึ้น​อย่าง​ผิด​ปกติ? เพื่อ​จะ​เข้าใจ​เรื่อง​นี้ ก่อน​อื่น​ขอ​ให้​พิจารณา​วงจร​ยักษ์​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​นาม วอล์กเกอร์ เซอร์​คิวเลชัน ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​ใน​บรรยากาศ​ระหว่าง​มหาสมุทร​แปซิฟิก​เขต​ร้อน​ทาง​ตะวัน​ออก​กับ​ทาง​ตะวัน​ตก. * ขณะ​ที่​ดวง​อาทิตย์​ทำ​ให้​ชั้น​บน​ของ​น้ำ​ทาง​ตะวัน​ตก​บริเวณ​ใกล้ ๆ อินโดนีเซีย​และ​ออสเตรเลีย​ร้อน​ขึ้น อากาศ​ที่​ร้อน​ชื้น​ก็​จะ​ลอย​สูง​ขึ้น​ไป​ใน​บรรยากาศ ก่อ​ให้​เกิด​ระบบ​ความ​กด​อากาศ​ต่ำ​ใกล้​กับ​ผิว​น้ำ. อากาศ​ที่​ลอย​สูง​ขึ้น​ไป​เย็น​ตัว​ลง​และ​คาย​ความ​ชื้น​ออก​มา ทำ​ให้​ฝน​ตก​ใน​พื้น​ที่​นั้น. อากาศ​แห้ง​ถูก​ลม​ใน​ชั้น​บรรยากาศ​ที่​สูง​กว่า​พัด​พา​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก. ขณะ​ที่​มัน​เคลื่อน​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก อากาศ​ดัง​กล่าว​จะ​เย็น​ลง​และ​หนัก​ขึ้น แล้ว​ก็​เริ่ม​เคลื่อน​ตัว​ลง​ต่ำ​เมื่อ​ถึง​เปรู​และ​เอกวาดอร์. ทั้ง​นี้​ทำ​ให้​เกิด​ระบบ​ความ​กด​อากาศ​สูง​ใกล้​กับ​ผิว​มหาสมุทร. และ​ใน​ระดับ​ความ​สูง​ไม่​มาก​นัก กระแส​ลม​ที่​เรียก​กัน​ว่า ลม​สินค้า จะ​พัด​ย้อน​กลับ​ไป​ทาง​ตะวัน​ตก​มุ่ง​สู่​อินโดนีเซีย ซึ่ง​ก็​จะ​ครบ​วงจร​พอ​ดี.

ลม​สินค้า​ก่อ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร​ต่อ​อุณหภูมิ​พื้น​ผิว​ของ​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ใน​เขต​ร้อน? วารสาร​นิวส์วีก กล่าว​ว่า “ตาม​ปกติ ลม​นี้​มี​ลักษณะ​เหมือน​ลม​เฉื่อย​ใน​สระ​เล็ก ๆ พัด​พา​น้ำ​อุ่น​ไป​รวม​ตัว​กัน​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ทาง​ตะวัน​ตก จน​ทำ​ให้​ระดับ​ผิว​น้ำ​ทะเล​ที่​นั่น​สูง​กว่า 60 เซนติเมตร​และ​อุณหภูมิ​สูง​กว่า 8 องศา​เซลเซียส​เมื่อ​เทียบ​กับ​ที่​อื่น ๆ อย่าง​เช่น เอกวาดอร์.” ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ทาง​ตะวัน​ออก น้ำ​ข้าง​ล่าง​ที่​เย็น​กว่า​ซึ่ง​อุดม​ด้วย​สาร​อาหาร​จะ​ขึ้น​มา​ที่​ผิว​น้ำ ทำ​ให้​สิ่ง​มี​ชีวิต​ใน​มหาสมุทร​เจริญ​เติบโต​ได้​ดี. ด้วย​เหตุ​นั้น ใน​ช่วง​ปี​ปกติ​หรือ​ปี​ที่​ไม่​มี​เอลนินโญ ผิว​น้ำ​ทะเล​ใน​บริเวณ​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ตะวัน​ออก​จะ​มี​อุณหภูมิ​ต่ำ​กว่า​ทาง​ตะวัน​ตก.

การ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​ใน​บรรยากาศ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ? วารสาร​แนชันแนล จีโอกราฟิก บอก​ว่า “เนื่อง​ด้วย​สาเหตุ​บาง​อย่าง​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​ยัง​ไม่​เข้าใจ ทุก ๆ สอง​สาม​ปี​ลม​สินค้า​จะ​อ่อน​กำลัง​ลง​หรือ​หาย​ไป​เลย.” เมื่อ​ลม​นี้​อ่อน​กำลัง​ลง​ไป น้ำ​อุ่น​ซึ่ง​สะสม​อยู่​ใกล้ ๆ อินโดนีเซีย​จะ​ไหล​กลับ​มา​ทาง​ตะวัน​ออก ทำ​ให้​อุณหภูมิ​ผิว​น้ำ​ทะเล​ใน​เปรู​และ​ที่​อื่น ๆ ทาง​ตะวัน​ออก​สูง​ขึ้น. การ​เปลี่ยน​แปลง​นี้​ส่ง​ผล​ถึง​ระบบ​บรรยากาศ. หนังสือ​เล่ม​หนึ่ง​บอก​ว่า “การ​ที่​มหาสมุทร​แปซิฟิก​เขต​ร้อน​ทาง​ตะวัน​ออก​มี​อุณหภูมิ​สูง​ขึ้น​ทำ​ให้​วอล์กเกอร์ เซอร์​คิวเลชัน​อ่อน​ลง​และ​ยัง​ผล​ให้​บริเวณ​ที่​ฝน​ตก​หนัก​ย้าย​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก จาก​มหาสมุทร​แปซิฟิก​เขต​ร้อน​ทาง​ตะวัน​ตก​เข้า​สู่​ส่วน​กลาง​แล้ว​เคลื่อน​ต่อ​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก.” ด้วย​เหตุ​นั้น รูป​แบบ​ของ​ลม​ฟ้า​อากาศ​ตลอด​แนว​เส้น​ศูนย์​สูตร​ของ​มหาสมุทร​แปซิฟิก​จึง​ได้​รับ​ผล​กระทบ.

เหมือน​หิน​ใหญ่​กลาง​กระแส​น้ำ

เอลนินโญ​อาจ​เปลี่ยน​รูป​แบบ​ของ​ภูมิ​อากาศ​ใน​ภูมิภาค​ที่​อยู่​ห่าง​ไกล​จาก​กระแส​น้ำ​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​เขต​ร้อน​ด้วย. โดย​วิธี​ใด? โดย​มี​ระบบ​การ​ไหล​เวียน​ของ​บรรยากาศ​เป็น​ตัว​กระทำ. ความ​ปั่นป่วน​ใน​การ​หมุน​เวียน​ของ​บรรยากาศ​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ระดับ​ภูมิภาค​ก่อ​ผล​กระทบ​อัน​กว้าง​ไกล​คล้าย​กัน​กับ​การ​ที่​หิน​ใหญ่​กลาง​สาย​น้ำ​ก่อ​ให้​เกิด​ระลอก​คลื่น​ไป​ทั่ว​ทั้ง​สาย. เมฆ​ฝน​อัน​หนา​ทึบ​ซึ่ง​ลอย​อยู่​เหนือ​น้ำ​อุ่น​ใน​มหาสมุทร​เขต​ร้อน​ก่อ​ตัว​ขึ้น​เป็น​เหมือน​หิน​ใหญ่​ที่​ขวาง​อยู่​ใน​ชั้น​บรรยากาศ ก่อ​ผล​กระทบ​ต่อ​รูป​แบบ​ของ​ภูมิ​อากาศ​ใน​ที่​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ออก​ไป​หลาย​พัน​กิโลเมตร.

ใน​บริเวณ​ละติจูด​ที่​สูง​ขึ้น​ไป เอลนินโญ​มี​กำลัง​แรง​ขึ้น​และ​เข้า​แทน​ที่​กระแส​ลม​ซึ่ง​เคลื่อน​ตัว​อย่าง​รวด​เร็ว​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า ลม​กรด. ลม​กรด​ควบคุม​การ​ไหล​ของ​ระบบ​พายุ​ส่วน​ใหญ่​ที่​เกิด​ใน​บริเวณ​ละติจูด​ดัง​กล่าว. การ​ที่​ลม​กรด​แรง​ขึ้น​และ​เปลี่ยน​ทิศ​ทาง​ยัง​อาจ​ทำ​ให้​สภาพ​อากาศ​ตาม​ฤดู​กาล​รุนแรง​ขึ้น​หรือ​อ่อน​ลง​ได้​ด้วย. ตัว​อย่าง​เช่น ฤดู​หนาว​ใน​รัฐ​ต่าง ๆ ทาง​เหนือ​ของ​สหรัฐ​ใน​ปี​ที่​มี​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​มัก​จะ​ไม่​หนาว​มาก​เหมือน​ใน​ปี​ปกติ ใน​ขณะ​ที่​ฤดู​หนาว​ใน​รัฐ​ที่​อยู่​ทาง​ใต้​ใน​ปี​ที่​มี​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​อากาศ​จะ​ชื้น​กว่า​และ​หนาว​เย็น​กว่า​ใน​ปี​ปกติ.

พยากรณ์​ได้​เพียง​ไร?

ผล​กระทบ​ของ​พายุ​แต่​ละ​ลูก​อาจ​พยากรณ์​ได้​อย่าง​เร็ว​ก็​เพียง​ไม่​กี่​วัน​ล่วง​หน้า. เป็น​จริง​เช่น​นั้น​ไหม​ใน​การ​พยายาม​พยากรณ์​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ? ไม่. แทน​ที่​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สภาวะ​อากาศ​ใน​ช่วง​สั้น ๆ การ​พยากรณ์​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​สภาวะ​อากาศ​ที่​ผิด​ปกติ​ทั่ว​ภูมิภาค​ขนาด​ใหญ่​เป็น​เวลา​หลาย​เดือน​ใน​แต่​ละ​ครั้ง. และ​นัก​วิจัย​ด้าน​ภูมิ​อากาศ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ระดับ​หนึ่ง​ใน​การ​พยากรณ์​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ.

ยก​ตัว​อย่าง​เช่น ได้​มี​การ​พยากรณ์​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ปี 1997-1998 ใน​เดือน​พฤษภาคม 1997 คือ​ประมาณ​หก​เดือน​ก่อน​ที่​เอลนินโญ​จะ​เกิด​ขึ้น. ใน​เวลา​นี้ มี​ทุ่น​ลอย 70 ทุ่น​กระจาย​อยู่​ทั่ว​มหาสมุทร​แปซิฟิก​เขต​ร้อน​ซึ่ง​ใช้​วัด​สภาพ​ลม​ที่​ผิว​มหาสมุทร​และ​อุณหภูมิ​มหาสมุทร​ที่​ระดับ​ความ​ลึก​ถึง 500 เมตร. เมื่อ​ป้อน​ข้อมูล​เข้า​ไป​ใน​แบบ​จำลอง​ภูมิ​อากาศ คอมพิวเตอร์​ก็​จะ​ประมวล​ผล​จาก​ข้อมูล​เหล่า​นี้​ออก​มา​เป็น​คำ​พยากรณ์​สภาพ​อากาศ.

คำ​เตือน​แต่​เนิ่น ๆ ว่า​จะ​เกิด​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​สามารถ​ช่วย​ประชาชน​ได้​จริง ๆ ให้​เตรียม​รับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​คาด​ว่า​จะ​เกิด​ขึ้น. ตัว​อย่าง​เช่น นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1983 การ​พยากรณ์​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ใน​เปรู​ได้​กระตุ้น​เกษตรกร​หลาย​คน​ให้​เลี้ยง​ปศุสัตว์​และ​ปลูก​พืช​ผล​ที่​เหมาะ​กับ​สภาพ​ที่​เปียก​ชื้น​กว่า​เดิม ใน​ขณะ​ที่​ชาว​ประมง​ได้​เปลี่ยน​จาก​การ​จับ​ปลา​มา​จับ​กุ้ง​ซึ่ง​มา​กับ​น้ำ​ที่​อุ่น​ขึ้น. ถูก​แล้ว การ​พยากรณ์​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ควบ​คู่​ไป​กับ​การ​เตรียม​การ​ล่วง​หน้า​สามารถ​ช่วย​ลด​ความ​เสียหาย​ที่​มี​ต่อ​มนุษย์​และ​เศรษฐกิจ​อัน​เนื่อง​มา​จาก​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ.

การ​วิจัย​ทาง​วิทยาศาสตร์​เกี่ยว​กับ​กระบวนการ​ต่าง ๆ ที่​ควบคุม​ภูมิ​อากาศ​ของ​โลก​เป็น​หลักฐาน​ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ถ้อย​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ซึ่ง​บันทึก​ไว้​โดย​กษัตริย์​ซะโลโม​แห่ง​ยิศราเอล​โบราณ​เมื่อ​ประมาณ 3,000 ปี​ที่​แล้ว. ท่าน​เขียน​ว่า “ลม​พัด​ไป​ทาง​ใต้​แล้ว​เวียน​กลับ​ไป​ทาง​เหนือ​ลม​พัด​เวียน​ไป​เวียน​มา​แล้ว​ลม​พัด​กลับ​ตาม​ทาง​เวียน​ของ​มัน.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ [ปัญญาจารย์] 1:6, ฉบับ​แปล​ใหม่) มนุษย์​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ได้​เรียน​รู้​มาก​มาย​เกี่ยว​กับ​รูป​แบบ​ของ​ลม​ฟ้า​อากาศ​จาก​การ​ศึกษา​กระแส​ลม​และ​กระแส​น้ำ​ใน​มหาสมุทร. ขอ​ให้​เรา​รับ​ประโยชน์​จาก​ความ​รู้​นั้น​โดย​เอา​ใจ​ใส่​ต่อ​คำ​เตือน​เกี่ยว​กับ​กรณี​ต่าง ๆ อย่าง​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 ใน​ทาง​ตรง​ข้าม ลานินญา (คำ​ภาษา​สเปน​ซึ่ง​หมาย​ถึง “เด็ก​หญิง​เล็ก ๆ”) เป็น​การ​เย็น​ลง ของ​อุณหภูมิ​น้ำ​นอก​ชายฝั่ง​ทะเล​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​ทวีป​อเมริกา​ใต้​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​เป็น​ระยะ ๆ. เช่น​เดียว​กัน ลานินญา​ก่อ​ผล​กระทบ​อัน​กว้าง​ไกล​ต่อ​สภาพ​อากาศ.

^ วรรค 8 วงจร​ดัง​กล่าว​นี้​ตั้ง​ชื่อ​ตาม เซอร์​กิลเบิร์ต วอล์กเกอร์ นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​อังกฤษ​ซึ่ง​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​กระบวนการ​นี้​ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1920.

[กรอบ​หน้า 27]

ร่องรอย​การ​ทำลาย​ของ​เอลนินโญ

1525: บันทึก​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ใน​เปรู.

1789-1793: ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​เป็น​ต้น​เหตุ​ที่​ทำ​ให้​ประชาชน​มาก​กว่า 600,000 คน​เสีย​ชีวิต​ใน​อินเดีย และ​เป็น​สาเหตุ​ของ​การ​กันดาร​อาหาร​อย่าง​รุนแรง​ใน​แอฟริกา​ตอน​ใต้.

1982-1983: ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​เป็น​สาเหตุ​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ผู้​คน​กว่า 2,000 คน​และ​ทำ​ให้​ทรัพย์​สิน​เสียหาย​มาก​กว่า 13,000 ล้าน​ดอลลาร์ ส่วน​ใหญ่​ใน​ภูมิภาค​เขต​ร้อน.

1990-1995: ปรากฏการณ์​เอลนินโญ​ที่​เกิด​ติด​ต่อ​กัน​สาม​ครั้ง​รวม​กัน​เป็น​เอลนินโญ​ที่​ยาว​นาน​ที่​สุด​เป็น​ประวัติการณ์.

1997-1998: แม้​จะ​ประสบ​ผล​สำเร็จ​อย่าง​มาก​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​การ​พยากรณ์​ว่า​จะ​เกิด​น้ำ​ท่วม​และ​ความ​แห้ง​แล้ง​ใน​ภูมิภาค​ต่าง ๆ อัน​เนื่อง​มา​จาก​ปรากฏการณ์​เอลนินโญ แต่​ก็​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ประมาณ 2,100 คน และ​มี​ความ​เสียหาย​เกิด​ขึ้น​ทั่ว​โลก​ซึ่ง​ประเมิน​มูลค่า​ความ​เสียหาย​ได้​ถึง 33,000 ล้าน​ดอลลาร์.

[แผนภูมิ/แผนที่​หน้า 24, 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

ปกติ

รูป​แบบ​ของ​วอล์กเกอร์ เซอร์​คิวเลชัน

ลม​สินค้า​กำลัง​แรง

น้ำ​อุ่น​ใน​มหาสมุทร

น้ำ​เย็น​ใน​มหาสมุทร

เอลนินโญ

ลม​กรด​เปลี่ยน​เส้น​ทาง

ลม​สินค้า​กำลัง​อ่อน

น้ำ​อุ่น​เคลื่อน​ตัว​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก

อุ่น​กว่า​หรือ​แห้ง​กว่า​ปกติ

หนาว​เย็น​กว่า​หรือ​เปียก​ชื้น​กว่า​ปกติ

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 26]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

เอลนินโญ

สี​แดง​บน​ลูก​โลก​ข้าง​บน​แสดง​ถึง​อุณหภูมิ​น้ำ​ที่​อุ่น​กว่า​ปกติ​มาก

ปกติ

น้ำ​อุ่น​ถูก​พัด​พา​ไป​สะสม​อยู่​ใน​มหาสมุทร​แปซิฟิก​ทาง​ตะวัน​ตก ทำ​ให้​น้ำ​ที่​เย็น​กว่า​ใน​มหาสมุทร​ทาง​ตะวัน​ออก​ซึ่ง​อุดม​ด้วย​สาร​อาหาร​ขึ้น​มา​ที่​ผิว​น้ำ

เอลนินโญ

ลม​สินค้า​กำลัง​อ่อน​ทำ​ให้​น้ำ​อุ่น​เคลื่อน​ตัว​กลับ​มา​ทาง​ตะวัน​ออก ขวาง​กั้น​น้ำ​ที่​เย็น​กว่า​ไม่​ให้​ขึ้น​มา​ที่​ผิว

[ภาพ​หน้า 24, 25]

เปรู

ทะเล​ทราย​เซชูรา​ที่​ถูก​น้ำ​ท่วม

เม็กซิโก

พายุ​เฮอร์ริเคน ลินดา

แคลิฟอร์เนีย

ดิน​ถล่ม

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Pages 24-5 left to right: Fotografía por Beatrice Velarde; Image produced by Laboratory for Atmospheres, NASA Goddard Space Flight Center; FEMA photo by Dave Gatley