ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

โรคประสาทชักกระตุก—การเข้าใจเรื่องเศร้าสลดทางพันธุกรรม

โรคประสาทชักกระตุก—การเข้าใจเรื่องเศร้าสลดทางพันธุกรรม

โรค​ประสาท​ชัก​กระตุก—การ​เข้าใจ​เรื่อง​เศร้า​สลด​ทาง​พันธุกรรม

“เมื่อ​ดิฉัน​กับ​จอห์นนี​แต่งงาน​กัน ดิฉัน​มั่น​ใจ​จริง ๆ ว่า​เรา​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​อย่าง​มี​ความ​สุข​ตลอด​ไป. แต่​แล้ว​ชาย​ที่​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​และ​เอื้อ​อาทร​ก็​ค่อย ๆ เปลี่ยน​ไป​เป็น​คน​ละ​คน. เขา​ถึง​กับ​เริ่ม​ระเบิด​อารมณ์​อย่าง​รุนแรง​โดย​ไม่​มี​การ​ควบคุม. ต่อ​มา จอห์นนี​ถูก​ส่ง​เข้า​โรง​พยาบาล​โรค​จิต ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​เขา​ได้​เสีย​ชีวิต​ที่​นั่น. หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น เรา​ได้​ทราบ​ว่า​โรค​ลึกลับ​ที่​เขา​เป็น​นั้น​มี​ชื่อ​ว่า​โรค​ประสาท​ชัก​กระตุก.”—แจนิซ.

ผู้​คน​นับ​หมื่น​ทั่ว​โลก​เป็น​โรค​ประสาท​ชัก​กระตุก หรือ Huntington’s disease (เอชดี) ซึ่ง​เป็น​ความ​ผิด​ปกติ​ทาง​พันธุกรรม​ด้าน​ระบบ​ประสาท​ส่วน​กลาง. เนื่อง​จาก​โรค​เอชดี​ถ่ายทอด​ทาง​พันธุกรรม จึง​มัก​จะ​ทำ​ให้​สมาชิก​ครอบครัว​มาก​กว่า​หนึ่ง​คน​เป็น​โรค​นี้. แจนิซ​บอก​ว่า “นับ​จาก​การ​เสีย​ชีวิต​ของ​จอห์นนี ดิฉัน​ได้​สูญ​เสีย​ลูก​ชาย​สาม​คน​และ​ลูก​สาว​คน​หนึ่ง​ด้วย​โรค​ประสาท​ชัก​กระตุก และ​หลาน​สาม​คน​เป็น​โรค​นี้. ดู​เหมือน​ความ​โศก​เศร้า​จาก​การ​สูญ​เสีย​ลูก​คน​หนึ่ง​ยัง​ไม่​ทัน​จาง​หาย ลูก​คน​ถัด​ไป​ก็​มา​เสีย​ชีวิต​อีก.”

มี​การ​พรรณนา​โรค​เอชดี​อย่าง​มี​เหตุ​ผล​ว่า​เป็น “ฝัน​ร้าย​ที่​เป็น​จริง” ไม่​เฉพาะ​สำหรับ​ผู้​ป่วย​เอง แต่​สำหรับ​ผู้​ที่​ต้อง​ดู​แล​เขา​ด้วย. * เอชดี​คือ​อะไร​แน่? จะ​ช่วยเหลือ​ผู้​ที่​ป่วย​ด้วย​โรค​นี้​และ​ผู้​ที่​ต้อง​ปรนนิบัติ​ดู​แล​เขา​ได้​อย่าง​ไร?

อาการ

โรค​นี้​ได้​ชื่อ​ตาม​ชื่อ​ของ​นาย​แพทย์​จอร์จ ฮันติงตัน ซึ่ง​ได้​อธิบาย​อาการ​ของ​โรค​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1872. โรค​ฮันติงตัน​หรือ​ประสาท​ชัก​กระตุก​จะ​สังเกต​ได้​จาก​การ​เปลี่ยน​บุคลิกภาพ​และ​พฤติกรรม​ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย ซึ่ง​จะ​ชัด​ขึ้น​เมื่อ​เป็น​มาก​ขึ้น. การ​เปลี่ยน​แปลง​เช่น​นั้น​มี​ตั้ง​แต่​อารมณ์​ขึ้น ๆ ลง ๆ และ​หงุดหงิด​จน​ถึง​อาการ​ซึมเศร้า​และ​เกรี้ยวกราด​อย่าง​รุนแรง. นอก​จาก​นี้ ผู้​ป่วย​อาจ​มี​อาการ​กล้ามเนื้อ​กระตุก​โดย​ไม่​รู้​ตัว และ​มือ​เท้า​สั่น. ความ​สามารถ​ใน​การ​ประสาน​งาน​ของ​ร่าง​กาย​เสื่อม​ถอย​ลง และ​ผู้​ป่วย​กลาย​เป็น​คน​งุ่มง่าม​ขึ้น​เรื่อย ๆ. ออก​เสียง​คำ​พูด​ไม่​ชัด. การ​กลืน​ลำบาก, ความ​จำ​เสื่อม​และ​สมาธิ​สั้น. การ​เรียน​รู้, การ​จัด​ระเบียบ, และ​การ​แก้​ปัญหา—ซึ่ง​แต่​ก่อน​เคย​ทำ​ได้​ตาม​ปกติ—บัด​นี้​กลาย​เป็น​ภาระ​หนัก หาก​ไม่​ถึง​กับ​ทำ​ไม่​ได้. *

อาการ​ของ​เอชดี​จะ​ยืดเยื้อ และ​รุนแรง​ตลอด​ช่วง​ชีวิต​ที่​เหลือ​ของ​ผู้​ป่วย. * เขา​จะ​ต้อง​ออก​จาก​งาน​อย่าง​เลี่ยง​ไม่​ได้ และ​ไม่​สามารถ​ดู​แล​ตัว​เอง​ได้​อีก​ต่อ​ไป. นี่​มัก​จะ​เป็น​เหตุ​การณ์​เลว​ร้าย​ที่​สุด​ที่​ผู้​ป่วย​เอชดี​ได้​รับ. บิลล์ ซึ่ง​เป็น​ผู้​ป่วย​คน​หนึ่ง บอก​ว่า “ผม​เคย​สร้าง​บ้าน. เดี๋ยว​นี้​ผม​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​เลย. ผม​ข้องขัดใจ​มาก.”

ใช่​แล้ว คง​เป็น​ความ​ปวด​ร้าว​สำหรับ​ผู้​ป่วย​เอชดี​ที่​เห็น​กำลัง​ทาง​กาย​และ​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​เสื่อม​ถอย​ลง​เรื่อย ๆ. อีก​ทั้ง​เป็น​ความ​ทรมาน​ใจ​สำหรับ​ผู้​เป็น​ที่​รัก​ซึ่ง​เฝ้า​มอง​ผู้​ป่วย​ขณะ​ถูก​โรค​อัน​ร้ายกาจ​นี้​คร่า​ชีวิต. ดัง​นั้น อาจ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​เกื้อ​หนุน​ผู้​ป่วย​เอชดี?

การ​เกื้อ​หนุน​ผู้​ป่วย

แม้​จะ​ไม่​มี​วิธี​รักษา​โรค​เอชดี แต่​การ​ดู​แล​อย่าง​เหมาะ​สม​จาก​แพทย์​ได้​ช่วย​ให้​หลาย​คน​รับมือ​กับ​อาการ​ของ​ตน​ได้. ดร. แคทลีน แชนนอน บอก​ว่า “การ​ทำ​เช่น​นี้​ไม่​ได้​ยับยั้ง​การ​เสื่อม​ทรุด​ระยะ​ยาว​อัน​เป็น​ลักษณะ​ของ​โรค แต่​ก็​ปรับ​ปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ของ​ผู้​ป่วย​ได้​มาก​ที​เดียว.”

ยก​ตัว​อย่าง ผู้​ป่วย​โรค​เอชดี​บาง​คน​ได้​ประโยชน์​จาก​การ​ให้​ยา​ที่​ช่วย​ควบคุม​อาการ​กระตุก​และ​ลด​ความ​ซึมเศร้า. ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การ​กำหนด​อาหาร​ก็​อาจ​เป็น​ประโยชน์​ด้วย. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​น้ำหนัก​ที่​ลด​ลง​มัก​จะ​เป็น​ปัญหา​สำหรับ​ผู้​ป่วย​โรค​เอชดี และ​โดย​ปกติ​แล้ว​พวก​เขา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​อาหาร​ที่​มี​แคลอรี​สูง​เพื่อ​รักษา​น้ำหนัก​ตัว​ให้​คงที่.

โดย​คิด​ดัด​แปลง​เล็ก​น้อย บาง​ครอบครัว​ก็​สามารถ​ช่วย​ผู้​ป่วย​ให้​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​ขีด​จำกัด​ใหม่​ได้. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง โมนิกา​กล่าว​ว่า “เมื่อ​การ​พูด​ของ​คุณ​พ่อ​แย่​ลง เรา​ก็​หา​วิธี​ที่​จะ​รู้​ว่า คุณ​พ่อ​กำลัง​ขอ​อะไร.” โมนิกา​และ​ครอบครัว​ของ​เธอ​ทำ​สมุด​บันทึก​ด้วย​กระดาษ​แข็ง​แบบ​แยก​แผ่น​ขนาด​กะทัดรัด โดย​แต่​ละ​หน้า​จะ​มี​คำ ๆ หนึ่ง​หรือ​ภาพ ๆ หนึ่ง. โมนิกา​บอก​ว่า “เรา​ให้​คุณ​พ่อ​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​โครงการ​นี้​ด้วย. ท่าน​ช่วย​เลือก​รูป​ภาพ​และ​คำ​ต่าง ๆ.” ด้วย​เครื่อง​มือ​ใหม่​นี้ คุณ​พ่อ​ของ​โมนิกา​สามารถ​สื่อ​ความ​โดย​ชี้​ภาพ​หรือ​คำ​ที่​ท่าน​ไม่​สามารถ​พูด​ออก​มา​ได้.

ไม่​ว่า​ผู้​ป่วย​จะ​พัก​รักษา​ตัว​ใน​บ้าน​ของ​เขา​หรือ​ใน​สถาน​พยาบาล การ​ติด​ต่อ​กับ​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ นับ​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. แจนิซ​ยอม​รับ​ว่า “อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​เยี่ยม​ผู้​ป่วย​เอชดี​ซึ่ง​อยู่​ใน​ระยะ​ท้าย ๆ แต่​ลูก ๆ ของ​ดิฉัน​หยั่ง​รู้​ค่า​อย่าง​มาก​เมื่อ​เพื่อน ๆ แวะ​มา​เยี่ยม​ให้​กำลังใจ​พวก​เขา.” น่า​เศร้า บาง​ครั้ง​การ​เกื้อ​หนุน​แบบ​นี้​ถูก​ละเลย. เบียทริซ ซึ่ง​สามี​เป็น​โรค​เอชดี บอก​ว่า “บาง​ครั้ง​เรา​รู้สึก​โดด​เดี่ยว​เดียว​ดาย. หาก​เพื่อน ๆ จะ​เพียง​แค่​แวะ​มา​ทักทาย​สามี​ของ​ดิฉัน​บ้าง คง​จะ​มี​ความหมาย​สำหรับ​เขา​มาก!”

เท่า​ที่​กล่าว​มา​นี้ ผู้​ป่วย​เอชดี​ต้องการ​อะไร​มาก​ที่​สุด? บ็อบ​บี ผู้​ป่วย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​บอก​ว่า “ความ​เข้าใจ.” เขา​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ว่า “พี่​น้อง​คริสเตียน​ชาย​หญิง​ใน​ประชาคม​รู้​ว่า​ผม​จะ​ต้อง​ใช้​เวลา​มาก​ขึ้น​สัก​หนึ่ง​หรือ​สอง​นาที​เพื่อ​รวบ​รวม​ความ​คิด​ใน​การ​ออก​ความ​เห็น ณ การ​ประชุม. และ​พวก​เขา​ไม่​ถือ​สา​หา​ความ​อีก​ด้วย​เมื่อ​ผม​ข้องขัดใจ​หรือ​อารมณ์​เสีย เพราะ​นั่น​เป็น​เพียง​อาการ​ของ​โรค.”

ให้​การ​เกื้อ​หนุน​ผู้​ปรนนิบัติ​ดู​แล

แน่นอน ผู้​ปรนนิบัติ​ดู​แล​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​เกื้อ​หนุน​ด้วย เพราะ​มี​หลาย​ครั้ง​ที่​พวก​เขา​เผชิญ​กับ​ความ​วิตก​กังวล. แจนิซ​บอก​ว่า “เรา​จะ​กังวล​เรื่อง​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​ผู้​ป่วย​อยู่​ตลอด​เวลา. เมื่อ​อาการ​ของ​เขา​แย่​ลง เรา​ก็​รู้สึก​หมด​หน​ทาง.”

ประจักษ์​ชัด​ว่า ผู้​ปรนนิบัติ​ดู​แล​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​หนุน​กำลังใจ. เบียทริซ​อธิบาย​ถึง​วิธี​หนึ่ง​ที่​จะ​ให้​การ​หนุน​ใจ​ได้. เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​ไม่​อาจ​ทิ้ง​สามี​ให้​อยู่​คน​เดียว​ได้ และ​บาง​ครั้ง​บาง​คราว​เมื่อ​ดิฉัน​ได้​รับ​เชิญ​ให้​ไป​งาน​สังสรรค์ ดิฉัน​ต้อง​พูด​ว่า ‘ขอบคุณ​ค่ะ​สำหรับ​คำ​เชิญ แต่​ฉัน​ไป​ไม่​ได้.’ คง​ดี​สัก​เพียง​ไร​ถ้า​เพื่อน​จะ​พูด​ว่า ‘ลูก​ชาย​วัยรุ่น​หรือ​สามี​ของ​ฉัน​อาจ​อยู่​กับ​สามี​คุณ​สัก​ช่วง​หนึ่ง​ก็​ได้​นะ.’!” แน่นอน ผู้​ปรนนิบัติ​ดู​แล​จะ​หยั่ง​รู้​ค่า​การ​คำนึง​ถึง​ด้วย​ความ​ร่วม​รู้สึก​เช่น​นี้!—1 เปโตร 3:8.

เมื่อ​อาการ​ของ​โรค​เอชดี​มา​ถึง​ระยะ​ท้าย ๆ ผู้​ปรนนิบัติ​ดู​แล​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ตัดสิน​ใจ​ซึ่ง​บาง​ที​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ที่​ทำ​ให้​ปวด​ร้าว​ใจ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต. แจนิซ​กล่าว​ว่า “การ​ที่​จะ​ต้อง​พูด​ว่า ‘ฉัน​ไม่​สามารถ​ดู​แล​คุณ​ได้​อีก​ต่อ​ไป’ นั้น​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​สุด.”

การ​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​ย้าย​ผู้​ป่วย​ไป​ยัง​สถาน​พยาบาล​เป็น​สิ่ง​ที่​คริสเตียน​จะ​ต้อง​คิด​ให้​รอบคอบ​พร้อม​ด้วย​การ​อธิษฐาน. คัมภีร์​ไบเบิล​สั่ง​คริสเตียน​ให้ “เลี้ยง​ดู​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​เป็น​ของ​ตน​เอง” และ​สิ่ง​นี้​รวม​ถึง​การ​เลี้ยง​ดู​บิดา​มารดา​หรือ​ลูก ๆ ที่​เจ็บ​ป่วย​ด้วย. (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) ไม่​สม​ควร​ที่​เรา​จะ​สละ​ความ​รับผิดชอบ​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์​ข้อ​นี้​เพียง​เพราะ​เห็น​แก่​ความ​สะดวก​สบาย. ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง อาจ​จะ​มี​ปัจจัย​ต่าง ๆ—รวม​ทั้ง​ความ​ห่วงใย​เรื่อง​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​ผู้​ป่วย—ซึ่ง​ทำ​ให้​การ​ดู​แล​โดย​บุคลากร​ผู้​เชี่ยวชาญ​เป็น​แนว​ทาง​ที่​แสดง​ความ​รัก​และ​เหมาะ​สม​ที่​สุด. เรื่อง​นี้​เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ส่วน​ตัว​ภาย​ใน​ครอบครัว และ​คน​อื่น ๆ ควร​นับถือ​การ​ตัดสิน​ใจ​นี้.—โรม 14:4.

ความ​หวัง​ที่​แน่นอน

คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​การ​ปลอบ​ประโลม​ใจ​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​ผู้​ที่​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​โรค​เอชดี​และ​ความ​เจ็บ​ป่วย​อื่น ๆ ที่​ไม่​สามารถ​รักษา​ได้. พระ​คัมภีร์​ให้​ความ​หวัง​ที่​รับประกัน​ได้​ใน​เรื่อง​โลก​ใหม่​อัน​ชอบธรรม​ซึ่ง “ไม่​มี​ใคร​ที่​อาศัย​อยู่​ที่​นั่น​พูด​ว่า ‘ข้าพเจ้า​ป่วย​อยู่.’” นอก​จาก​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า “คน​ง่อย​จะ​ปีน​ขึ้น​เหมือน​กวาง​ตัว​ผู้ และ​ลิ้น​ของ​คน​ใบ้​จะ​ร้อง​ด้วย​ความ​ปีติ.”—ยะซายา 33:24; 35:6, ล.ม.

บ็อบ​บี ที่​เอ่ย​ถึง​ข้าง​ต้น ได้​รับ​การ​ปลอบ​ประโลม​ด้วย​ความ​หวัง​นี้. เขา​พูด​ว่า “นี่​เป็น​การ​เยียว​ยา​ที่​ผม​แสวง​หา. เป็น​อนาคต​ชนิด​ที่​จะ​ทำ​ให้​ความ​ทุกข์​ทรมาน​ทั้ง​หมด​นี้​ดู​เป็น​เพียง​ส่วน​หนึ่ง​ของ​อดีต​อัน​เลือน​ราง.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 โรค​เอชดี​มี​โอกาส​เป็น​ได้​ทั้ง​ผู้​หญิง​และ​ผู้​ชาย. แต่​เพื่อ​ความ​สะดวก เรา​จะ​กล่าว​ถึง​เฉพาะ​ผู้​ป่วย​ที่​เป็น​ชาย.

^ วรรค 6 อาการ​และ​อัตรา​การ​กำเริบ​ของ​ของ​โรค​เอชดี​อาจ​ต่าง​กัน​อย่าง​มาก​ใน​แต่​ละ​คน. ฉะนั้น อาการ​ต่าง ๆ ที่​พรรณนา​ไว้​ที่​นี่​เป็น​เพียง​ภาพ​โดย​รวม และ​ไม่​ได้​มุ่ง​หมาย​ให้​ใช้​เป็น​ข้อ​บ่ง​ชี้​ที่​ละเอียด​สำหรับ​การ​วินิจฉัย​โรค.

^ วรรค 7 ตาม​ที่​คาด​หวัง​ได้ ผู้​ป่วย​เอชดี​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป​ประมาณ 15 ถึง 20 ปี​หลัง​จาก​อาการ​ต่าง ๆ เริ่ม​ปรากฏ​ให้​เห็น แต่​บาง​คน​อยู่​นาน​กว่า​นี้​มาก. หลาย​ราย​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​ปอด​บวม​เพราะ​ผู้​ป่วย​ไม่​สามารถ​ขาก​ได้​แรง​พอ​ที่​จะ​ให้​เสมหะ​ที่​มี​เชื้อ​ใน​ทรวง​อก​หลุด​ออก​มา.

[กรอบ​หน้า 21]

การ​ติด​โรค​เอชดี​ทาง​พันธุกรรม—ห้า​สิบ​ห้า​สิบ

เด็ก​ที่​มี​บิดา​หรือ​มารดา​เป็น​โรค​เอชดี​มี​โอกาส 50 เปอร์เซ็นต์​ที่​จะ​ติด​โรค​นี้​ทาง​พันธุกรรม. เพราะ​เหตุ​ใด?

คุณ​มี​โครโมโซม 23 คู่​บรรจุ​อยู่​ใน​เซลล์​แต่​ละ​เซลล์​ของ​ร่าง​กาย. ข้าง​หนึ่ง​ของ​โครโมโซม​แต่​ละ​คู่​มา​จาก​พ่อ อีก​ข้าง​หนึ่ง​มา​จาก​แม่. เอา​ละ สมมุติ​ว่า​พ่อ​ของ​คุณ​เป็น​โรค​เอชดี. เนื่อง​จาก​พ่อ​จะ​ถ่ายทอด​โครโมโซม​ให้​เพียง​ข้าง​เดียว และ​เนื่อง​จาก​มี​โครโมโซม​เพียง​ข้าง​เดียว​ที่​เสียหาย ดัง​นั้น โอกาส​ที่​คุณ​จะ​ได้​รับ​เชื้อ​เอชดี​ผ่าน​ทาง​พันธุกรรม​จึง​มี​ห้า​สิบ​ห้า​สิบ.

เนื่อง​จาก​โดย​ปกติ​แล้ว​อาการ​ของ​โรค​เอชดี​จะ​ไม่​สำแดง​ออก​มา​จน​กว่า​บุคคล​นั้น​จะ​มี​อายุ​ราว ๆ 30 ถึง 50 ปี บาง​ครั้ง ผู้​ป่วย​โรค​เอชดี​จึง​มี​ลูก​ไป​แล้ว​ตอน​ที่​เขา​เอง​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​นี้.

[กรอบ​หน้า 22]

จะ​บอก​หรือ​ไม่​บอก​ดี

เมื่อ​ผล​ของ​การ​วินิจฉัย​ออก​มา​ว่า​เป็น​โรค​เอชดี สม​ควร​แค่​ไหน​ที่​จะ​แจ้ง​ให้​ผู้​ป่วย​ทราบ? สมาชิก​บาง​คน​ใน​ครอบครัว​กลัว​ว่า​ผู้​ป่วย​อาจ​รับ​ไม่​ได้​เมื่อ​ทราบ​ว่า​เขา​เป็น​โรค​ที่​ร่าง​กาย​จะ​เสื่อม​ทรุด​ลง​เรื่อย ๆ และ​ไม่​มี​ทาง​รักษา. อย่าง​ไร​ก็​ดี เป็น​การ​ไม่​สุขุม​ที่​เพียง​แต่​ทึกทัก​เอา​ว่า​เขา​คง​ไม่​อยาก​ทราบ. จุลสาร​เกี่ยว​กับ​โรค​เอชดี​เล่ม​หนึ่ง​เตือน​ว่า “ความ​กลัว​และ​ความ​ปวด​ร้าว​ใจ​ของ​เรา​เอง​อาจ​ทำ​ให้​เรา​เป็น​ห่วง​มาก​เกิน​ไป” และ​เสริม​ว่า “[ผู้​ป่วย​อาจ] รู้สึก​ผ่อน​คลาย​อย่าง​มาก​ที่​ใน​ที่​สุด​มี​คำ​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​ความ​ผิด​ปกติ​ทั้ง​หมด​ที่​เกิด​กับ​เขา.” นอก​จาก​นี้ เนื่อง​จาก​โรค​ดัง​กล่าว​ถ่ายทอด​ทาง​พันธุกรรม จึง​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ผู้​ป่วย​โรค​เอชดี​จะ​รับ​รู้​เรื่อง​ความ​เสี่ยง​ที่​โรค​นี้​จะ​ถ่ายทอด​สู่​ลูก​ซึ่ง​เขา​อาจ​มี​ใน​อนาคต.

[ภาพ​หน้า 21]

แจนิซ ซึ่ง​สูญ​เสีย​ลูก​สี่​คน​ไป​กับ​โรค​ประสาท​ชัก​กระตุก