ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กับระเบิด—การชั่งความเสียหาย

กับระเบิด—การชั่งความเสียหาย

กับระเบิด—การ​ชั่ง​ความ​เสียหาย

วัน​ที่ 26 ธันวาคม 1993 เอากุสตู วัย​หก​ขวบ​กำลัง​เดิน​เล่น​ใน​ทุ่ง​โล่ง​แห่ง​หนึ่ง​ใกล้​กรุง​ลู​อัน​ดา เมือง​หลวง​ของ​แองโกลา. ทันใด​นั้น​เอง เขา​สังเกต​เห็น​วัตถุ​มัน​เลื่อม​อัน​หนึ่ง​บน​พื้น. ด้วย​ความ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น เขา​ตัดสิน​ใจ​หยิบ​มัน​ขึ้น​มา. จาก​นั้น เมื่อ​เขา​ขยับ​ตัว กับระเบิด​นั้น​ก็​ระเบิด​ขึ้น.

ผล​ของ​แรง​ระเบิด​ทำ​ให้​เอากุสตู​ต้อง​ถูก​ตัด​เท้า​ข้าง​ขวา. ตอน​นี้​เขา​อายุ​ได้ 12 ปี ต้อง​อยู่​บน​เก้าอี้​ล้อ​เสีย​เป็น​ส่วน​ใหญ่ และ​ตา​ก็​บอด.

เอากุสตู​พิการ​เพราะ​กับระเบิด​สังหาร ซึ่ง​ได้​ชื่อ​อย่าง​นั้น​เพราะ​เป้าหมาย​หลัก​ของ​มัน​คือ​คน ไม่​ใช่​รถ​ถัง​หรือ​ยวดยาน​ทาง​ทหาร​อื่น ๆ. ประมาณ​กัน​ว่า จน​ถึง​เวลา​นี้​มี​การ​ผลิต​กับระเบิด​สังหาร​บุคคล​มาก​กว่า 350 ชนิด​อย่าง​น้อย​ใน 50 ประเทศ. หลาย​ชนิด​ออก​แบบ​เพื่อ​ทำ​ให้​บาดเจ็บ แต่​ไม่​ทำ​ให้​เสีย​ชีวิต. ทำไม? เพราะ​ทหาร​ที่​บาดเจ็บ​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ และ​ทหาร​ที่​เสีย​แขน​ขา​เพราะ​กับระเบิด​จะ​ทำ​ให้​ปฏิบัติการ​ทาง​ทหาร​เชื่อง​ช้า​ลง ซึ่ง​นั่น​แหละ​คือ​สิ่ง​ที่​ศัตรู​ต้องการ. ยิ่ง​กว่า​นั้น เสียง​ร้อง​ครวญ​คราง​อย่าง​สิ้น​หวัง​ของ​นัก​รบ​ที่​บาดเจ็บ​ยัง​ทำ​ให้​เพื่อน​ทหาร​ด้วย​กัน​ขวัญ​กระเจิง. ดัง​นั้น ตาม​ปกติ​แล้ว​จะ​ถือ​ว่า​กับระเบิด​มี​ประสิทธิภาพ​สูง​สุด​เมื่อ​ผู้​ตก​เป็น​เหยื่อ​รอด​ชีวิต—แต่​ก็​อย่าง​หวุดหวิด.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ได้​กล่าว​ไป​แล้ว​ใน​บทความ​ก่อน เหยื่อ​ของ​กับระเบิด​ส่วน​ใหญ่​เป็น​พลเรือน ไม่​ใช่​ทหาร. นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​บังเอิญ​เสมอ​ไป. ตาม​ที่​กล่าว​ใน​หนังสือ​กับระเบิด—มรดก​มรณะ (ภาษา​อังกฤษ) กับระเบิด​บาง​ชนิด “จงใจ​มุ่ง​เป้า​ไป​ที่​พลเรือน​เพื่อ​กวาด​ล้าง​พื้น​ที่, ทำลาย​แหล่ง​อาหาร, ทำ​ให้​เกิด​การ​ทะลัก​ของ​ผู้​ลี้​ภัย, หรือ​เพียง​เพื่อ​แพร่​ความ​หวาด​กลัว.”

ยก​ตัว​อย่าง​เช่น ใน​สงคราม​ที่​กัมพูชา กับระเบิด​ถูก​วาง​ไว้​ตาม​บริเวณ​รอบ​นอก​หมู่​บ้าน​ข้าศึก จาก​นั้น​หมู่​บ้าน​เหล่า​นี้​ก็​ถูก​ถล่ม​ด้วย​ปืน​ใหญ่. เมื่อ​พยายาม​หลบ​หนี พลเรือน​เหล่า​นี้​ก็​หนี​ออก​ไป​สู่​สนาม​กับระเบิด. ใน​ขณะ​เดียว​กัน ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​บีบ​ให้​รัฐบาล​เปิด​โต๊ะ​เจรจา​ด้วย สมาชิก​ฝ่าย​เขมร​แดง​ได้​วาง​กับระเบิด​ไว้​ตาม​นา​ข้าว ทำ​ให้​ชาว​นา​กลัว​จน​จับ​จิต​และ​แทบ​จะ​เลิก​ทำ​นา​กัน​หมด.

สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ที่​โซมาเลีย​ใน​ปี 1988 อาจ​ชั่ว​ร้าย​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก. เมื่อ​เมือง​ฮาร์เกย์ซา​ถูก​ถล่ม​ด้วย​ระเบิด ชาว​เมือง​ถูก​บีบ​ให้​หนี​ออก​ไป. แล้ว​พวก​ทหาร​ก็​วาง​กับระเบิด​ใน​บ้าน​ที่​ถูก​ทิ้ง​ไว้. เมื่อ​การ​สู้​รบ​ยุติ​ลง ผู้​อพยพ​กลับ​มา แต่​แล้ว​ก็​ต้อง​พิการ​หรือ​เสีย​ชีวิต​จาก​ระเบิด​ที่​ซ่อน​อยู่​ที่​นั่น.

ทว่า นอก​จาก​จะ​เป็น​ภัย​ต่อ​ชีวิต​และ​แขน​ขา​แล้ว กับระเบิด​ยัง​มี​อันตราย​ด้าน​อื่น​ด้วย. ขอ​ให้​พิจารณา​ผล​กระทบ​อื่น ๆ บาง​อย่าง​ของ​อาวุธ​ที่​ชั่ว​ร้าย​นี้.

ความ​เสียหาย​ทาง​เศรษฐกิจ​และ​สังคม

โคฟี อันนัน เลขาธิการ​ใหญ่​สหประชาชาติ ให้​ข้อ​สังเกต​ดัง​นี้: “การ​มี—หรือ​แม้​แต่​การ​กลัว​ว่า​อาจ​มี—กับระเบิด​เพียง​ชุด​เดียว​อาจ​ทำ​ให้​ไม่​มี​การ​เพาะ​ปลูก​ใน​ที่​นา​ทั้ง​ผืน, ทำลาย​ความ​มี​ชีวิต​ชีวา​ของ​ทั้ง​หมู่​บ้าน, ทำ​ให้​มี​อุปสรรค​เพิ่ม​ขึ้น​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​บูรณะ​และ​พัฒนา​ประเทศ.” ด้วย​เหตุ​นี้​เอง ใน​อัฟกานิสถาน​และ​กัมพูชา ยัง​มี​ที่​ดิน​อีก​ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์​ที่​จะ​เพาะ​ปลูก​ได้​หาก​ชาว​ไร่​ชาว​นา​ไม่​กลัว​ที่​จะ​เหยียบ​ย่าง​ไป​บน​ที่​ดิน​เหล่า​นั้น. บาง​คน​เสี่ยง​ทำ​อย่าง​นั้น. ชาว​นา​กัมพูชา​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ผม​กลัว​กับระเบิด. แต่​ถ้า​ผม​ไม่​ออก​ไป​ฟัน​หญ้า​ตัด​ไม้​ไผ่ เรา​ก็​ไม่​รอด.”

บ่อย​ครั้ง ผู้​รอด​ชีวิต​จาก​กับระเบิด​เผชิญ​กับ​ภาระ​หนัก​ทาง​การ​เงิน. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา เด็ก​ที่​เสีย​ขา​ไป​ข้าง​หนึ่ง​ตอน​อายุ​ได้ 10 ขวบ​อาจ​ต้อง​ใช้​ขา​เทียม​ทั้ง​หมด 15 อัน​ตลอด​ช่วง​ชีวิต​ของ​เขา โดย​ที่​ขา​เทียม​แต่​ละ​อัน​มี​ราคา​โดย​เฉลี่ย 5,000 บาท. จริง​อยู่ สำหรับ​บาง​คน​นั่น​อาจ​ดู​เหมือน​ไม่​แพง​นัก. แต่​สำหรับ​ประชากร​ส่วน​ใหญ่​ใน​แองโกลา 5,000 บาท​เป็น​จำนวน​เงิน​ที่​มาก​กว่า​ค่า​จ้าง​แรงงาน​สาม​เดือน!

ขอ​ให้​พิจารณา​ถึง​ความ​เสียหาย​ทาง​สังคม​อัน​แสน​จะ​เจ็บ​ปวด​ด้วย. ยก​ตัว​อย่าง​เช่น พลเมือง​ใน​ประเทศ​หนึ่ง​ของ​เอเชีย​หลีก​เลี่ยง​การ​คบหา​สมาคม​กับ​คน​ที่​ถูก​ตัด​ขา​เพราะ​กลัว​จะ​ติด “โชค​ร้าย.” การ​สมรส​อาจ​เป็น​เพียง​ความ​ฝัน​อัน​เลื่อน​ลอย​สำหรับ​ผู้​ถูก​ตัด​ขา. หนุ่ม​ชาว​แองโกลา​ซึ่ง​ถูก​ตัด​ขา​ไป​ข้าง​หนึ่ง​หลัง​จาก​ที่​ได้​รับ​บาดเจ็บ​เพราะ​กับระเบิด​โอด​ครวญ​ว่า “ผม​ไม่​กล้า​คิด​ถึง​เรื่อง​แต่งงาน. ผู้​หญิง​เขา​อยาก​ได้​ผู้​ชาย​ที่​ทำ​งาน​ได้​กัน​ทั้ง​นั้น​แหละ.”

เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า ผู้​ตก​เป็น​เหยื่อ​หลาย​คน​รู้สึก​ว่า​ตัว​เอง​ไร้​ค่า. หนุ่ม​ชาว​กัมพูชา​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ผม​ไม่​สามารถ​หา​เลี้ยง​ครอบครัว​ได้​อีก​ต่อ​ไป และ​นั่น​ทำ​ให้​ผม​รู้สึก​ละอายใจ.” บาง​ครั้ง​ความ​รู้สึก​เช่น​นั้น​อาจ​ทำ​ให้​อ่อน​เปลี้ย​หมด​แรง​ยิ่ง​กว่า​การ​เสีย​ขา​เสีย​อีก. “ผม​เชื่อ​ว่า​ความ​เสียหาย​อย่าง​มหันต์​ที่​ผม​ได้​รับ​คือ​ความ​เสียหาย​ทาง​อารมณ์” อาร์เทอร์ ผู้​เคราะห์​ร้าย​คน​หนึ่ง​ใน​โมซัมบิก​กล่าว. “หลาย​ครั้ง​ผม​รู้สึก​หงุดหงิด​เพียง​เพราะ​มี​คน​มอง​มา​ทาง​ผม. ผม​คิด​ว่า​ไม่​มี​ใคร​นับถือ​ผม​อีก​ต่อ​ไป และ​ผม​ไม่​มี​วัน​จะ​มี​ชีวิต​แบบ​ปกติ​ได้​อีก​แล้ว.” *

จะ​ว่า​อย่าง​ไร​สำหรับ​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด?

ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ ได้​มี​การ​พยายาม​กัน​อย่าง​มาก​เพื่อ​สนับสนุน​ให้​ชาติ​ต่าง ๆ สั่ง​ห้าม​การ​ใช้​กับระเบิด. นอก​จาก​นั้น บาง​รัฐบาล​ได้​เริ่ม​ทำ​งาน​ที่​เสี่ยง​อันตราย​ด้วย​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ที่​ถูก​วาง​ไว้​แล้ว. แต่​มี​อุปสรรค​หลาย​อย่าง​ที่​ขวาง​กั้น. อุปสรรค​อย่าง​หนึ่ง​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เวลา. การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ทำ​ได้​เชื่อง​ช้า​อย่าง​ยิ่ง. ที่​จริง นัก​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ประมาณ​ว่า โดย​เฉลี่ย​แล้ว ต้อง​ใช้​เวลา​ใน​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​นาน​กว่า​การ​วาง​กับระเบิด​เป็น​ร้อย​เท่า. อุปสรรค​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ​ค่า​ใช้​จ่าย. ราคา​กับระเบิด​ชุด​หนึ่ง​อยู่​ระหว่าง 120 ถึง 600 บาท แต่​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ชุด​หนึ่ง​อาจ​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ถึง 40,000 บาท.

ดัง​นั้น การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ให้​หมด​ดู​เหมือน​แทบ​จะ​เป็น​ไป​ไม่​ได้​เลย. ยก​ตัว​อย่าง​เช่น เพื่อ​จะ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ทั้ง​หมด​ใน​กัมพูชา ทุก​คน​ใน​ประเทศ​จะ​ต้อง​สละ​ราย​ได้​ทั้ง​หมด​ของ​ตน​เพื่อ​การ​นี้​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​หลัง​จาก​นั้น. มี​การ​ประมาณ​กัน​ว่า แม้​แต่​หาก​มี​ทุน​พอ​ที่​จะ​ดำเนิน​การ การ​ขจัด​กับระเบิด​ให้​หมด​ไป​จาก​ที่​นั่น​คง​ต้อง​ใช้​เวลา​นับ​ศตวรรษ. เมื่อ​ดู​สถานการณ์​ของ​ทั้ง​โลก​ก็​ยิ่ง​มืดมน​เข้า​ไป​อีก. ประมาณ​กัน​ว่า โดย​ใช้​เทคโนโลยี​ใน​ปัจจุบัน การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​บน​ดาว​เคราะห์​ดวง​นี้​คง​ต้อง​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​ถึง 33,000 ล้าน​ดอลลาร์​และ​ใช้​เวลา​กว่า​หนึ่ง​พัน​ปี!

จริง​อยู่ ได้​มี​การ​เสนอ​เทคนิค​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​แบบ​ใหม่ ๆ—นับ​ตั้ง​แต่​การ​ใช้​แมลงวัน​ทอง​ที่​ได้​ตัด​แต่ง​ยีน​แล้ว​เพื่อ​ใช้​ตรวจ​หา​ระเบิด ไป​จน​ถึง​ยาน​พาหนะ​ขนาด​ยักษ์​ที่​ควบคุม​โดย​วิทยุ​ซึ่ง​กู้​ระเบิด​ใน​พื้น​ที่ 12.5 ไร่​ได้​ภาย​ใน​หนึ่ง​ชั่วโมง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อาจ​ต้อง​รอ​อีก​สัก​ระยะ​หนึ่ง​จึง​จะ​สามารถ​นำ​เทคนิค​ดัง​กล่าว​มา​ใช้​ได้​อย่าง​กว้างขวาง และ​ก็​คง​จะ​ใช้​ได้​เฉพาะ​ประเทศ​ที่​รวย​มาก ๆ เท่า​นั้น.

ด้วย​เหตุ​นั้น การ​กู้​ระเบิด​ใน​ที่​ต่าง ๆ ส่วน​ใหญ่​ทำ​กัน​ด้วย​วิธี​โบราณ. นัก​กู้​กับระเบิด​จะ​นอน​ราบ​กับ​พื้น​แล้ว​ค่อย ๆ ขยับ​ไป​ที​ละ​นิ้ว พร้อม​กับ​ใช้​ไม้​แทง​เข้า​ไป​ใน​ดิน​ที่​อยู่​เบื้อง​หน้า คน​หนึ่ง​เคลียร์​พื้น​ที่​ได้ 20 ถึง 50 ตาราง​เมตร​ต่อ​วัน. อันตราย​ไหม? แน่นอน! ใน​จำนวน​กับระเบิด​ที่​กู้​ได้​ทุก ๆ 5,000 ชุด จะ​มี​นัก​กู้​กับระเบิด​หนึ่ง​คน​เสีย​ชีวิต​และ​อีก​สอง​คน​ได้​รับ​บาดเจ็บ.

ร่วม​ใจ​กัน​ต้าน​กับระเบิด

เดือน​ธันวาคม 1997 ตัว​แทน​จาก​หลาย​ประเทศ​ลง​นาม​ใน​ข้อ​ตก​ลง​ว่า​ด้วย​การ​ห้าม​ใช้, เก็บ​สะสม, ผลิต​และ​ขน​ย้าย​กับระเบิด​สังหาร​และ​การ​ทำลาย​กับระเบิด​เหล่า​นี้ ซึ่ง​รู้​จัก​กัน​ใน​นาม​สนธิสัญญา​ออตตาวา. ชาง เครเตียง นายก​รัฐมนตรี​แคนาดา​กล่าว​ว่า “นี่​นับ​เป็น​ความ​สำเร็จ​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​มี​มา​ก่อน​หรือ​ไม่​มี​อะไร​อาจ​เทียบ​ได้ ไม่​ว่า​จะ​ใน​ด้าน​การ​ลด​กำลัง​รบ​ของ​นานา​ชาติ​หรือ​ด้าน​กฎหมาย​เพื่อ​มนุษยธรรม.” * แต่​กระนั้น มี​เกือบ 60 ประเทศ—รวม​ทั้ง​ประเทศ​ผู้​ผลิต​กับระเบิด​ราย​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก​บาง​ประเทศ—ยัง​ไม่​ได้​ลง​นาม​ใน​สนธิสัญญา​นี้.

สนธิสัญญา​ออตตาวา​จะ​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​การ​ขจัด​ความ​หายนะ​อัน​เนื่อง​มา​จาก​กับระเบิด​ไหม? อาจ​ทำ​ได้​ใน​ระดับ​หนึ่ง. แต่​หลาย​คน​ยัง​สงสัย. โคลด ซีมอโน ผู้​อำนวย​การ​สมาคม​คน​พิการ​นานา​ชาติ ใน​ฝรั่งเศส​กล่าว​ว่า “แม้​ว่า​ทุก​ประเทศ​ใน​โลก​จะ​ยึด​มั่น​กับ​สนธิสัญญา​ออตตาวา แต่​นั่น​คง​เป็น​เพียง​ก้าว​หนึ่ง​ใน​การ​ควบคุม​เพื่อ​ปลด​ปล่อย​ดาว​เคราะห์​ดวง​นี้​จาก​อันตราย​ทั้ง​มวล​ของ​กับระเบิด.” เพราะ​เหตุ​ใด? ซีมอโน​กล่าว​ว่า “กับระเบิด​หลาย​ล้าน​ชุด​ยัง​คง​ฝัง​อยู่​ใน​ดิน รอ​คอย​เหยื่อ​ผู้​เคราะห์​ร้าย​ใน​อนาคต​อย่าง​อด​ทน.”

จอห์น คีแกน นัก​ประวัติศาสตร์​ทาง​ทหาร​หยิบ​ยก​ปัจจัย​อีก​ประการ​หนึ่ง​ขึ้น​มา​พิจารณา. เขา​กล่าว​ว่า สงคราม “ได้​เข้า​ไป​ถึง​ส่วน​ลับ​ลึก​ที่​สุด​ใน​หัวใจ​มนุษย์ . . . ที่​ซึ่ง​ความ​หยิ่ง​ทะนง​มี​อำนาจ​ครอบ​งำ, มี​อารมณ์​เป็น​ใหญ่, มี​สัญชาตญาณ​เป็น​ราชัน.” สนธิสัญญา​ต่าง ๆ ไม่​อาจ​พลิก​ผัน​ลักษณะ​นิสัย​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​เช่น​นั้น​ของ​มนุษย์ อย่าง​เช่น​ความ​เกลียด​ชัง​และ​ความ​โลภ. แต่​นี่​หมาย​ความ​ว่า​มนุษย์​จะ​ต้อง​กลาย​เป็น​เหยื่อ​ของ​กับระเบิด​ตลอด​ไป​อย่าง​ช่วย​อะไร​ไม่​ได้​ไหม?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 สำหรับ​ข้อมูล​ใน​เรื่อง​การ​รับมือ​กับ​การ​สูญ​เสีย​แขน​ขา โปรด​ดู​บทความ​เด่น​ของ ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 8 มิถุนายน 1999 หน้า 3-10 เรื่อง “ความ​หวัง​สำหรับ​ผู้​ทุพพลภาพ.”

^ วรรค 20 สนธิสัญญา​นี้​มี​ผล​บังคับ​ใช้​ใน​วัน​ที่ 1 มีนาคม 1999. นับ​ตั้ง​แต่​วัน​ที่ 6 มกราคม 2000 มี 137 ประเทศ​ที่​ได้​ลง​นาม​แล้ว และ​ใน​จำนวน​นี้​มี 90 ประเทศ​ให้​สัตยาบัน​ต่อ​สนธิสัญญา​นี้.

[กรอบ​หน้า 6]

ทำ​กำไร​สอง​ต่อ​หรือ?

หลัก​พื้น​ฐาน​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ธุรกิจ​คือ​บริษัท​ต้อง​รับผิดชอบ​เมื่อ​ผลิตภัณฑ์​ของ​ตน​ก่อ​ผล​เสียหาย. ด้วย​เหตุ​นั้น ลู แมกกรัท แห่ง​องค์กร​พัฒนา​เอกชน​ที่​สนับสนุน​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด จึง​ให้​เหตุ​ผล​ว่า​บริษัท​ทั้ง​หลาย​ที่​ได้​ผล​กำไร​จาก​การ​ผลิต​กับระเบิด​ควร​ต้อง​เป็น​ผู้​ชด​ใช้​ค่า​เสียหาย. แต่​น่า​ขัน หลาย​บริษัท​ที่​ผลิต​กับระเบิด​กลับ​เป็น​ผู้​ได้​ผล​กำไร​จาก​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด. ตัว​อย่าง​เช่น มี​รายงาน​ว่า​อดีต​บริษัท​ผู้​ผลิต​กับระเบิด​ราย​หนึ่ง​จาก​เยอรมนี​ได้​สัญญา​มูลค่า 100 ล้าน​ดอลลาร์​สำหรับ​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ใน​คูเวต. และ​ที่​โมซัมบิก สัญญา​มูลค่า 7.5 ล้าน​ดอลลาร์​สำหรับ​การ​จัด​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ตาม​ถนน​สาย​หลัก ๆ ตก​เป็น​ของ​สาม​บริษัท​ที่​รวม​ตัว​กัน—สอง​บริษัท​เป็น​ผู้​พัฒนา​กับระเบิด.

บาง​คน​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ผิด​ทำนอง​คลอง​ธรรม​อย่าง​ยิ่ง​ที่​บริษัท​ซึ่ง​เป็น​ผู้​ผลิต​กับระเบิด​จะ​เป็น​ผู้​ทำ​กำไร​จาก​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด. พวก​เขา​อ้าง​ว่า ใน​แง่​หนึ่ง ผู้​พัฒนา​กับระเบิด​กำลัง​ทำ​กำไร​สอง​ต่อ. ไม่​ว่า​จะ​อย่าง​ไร​ก็​ตาม ทั้ง​การ​ผลิต​และ​การ​กู้​เก็บ​และ​ทำลาย​กับระเบิด​ยัง​คง​เป็น​ธุรกิจ​ที่​รุ่งเรือง​เฟื่องฟู​ต่อ​ไป.

[แผนภูมิ​หน้า 5]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

จำนวน​กับระเบิด​โดย​เฉลี่ย​ต่อ​พื้น​ที่​หนึ่ง​ตาราง​ไมล์​ใน​เก้า​ประเทศ​ซึ่ง​มี​กับระเบิด​หนา​แน่น​ที่​สุด

บอสเนีย​และ​เฮอร์เซโกวีนา 152

กัมพูชา 143

โครเอเชีย 137

อียิปต์ 60

อิรัก 59

อัฟกานิสถาน 40

แองโกลา 31

อิหร่าน 25

รวันดา 25

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Source: United Nations Department of Humanitarian Affairs, 1996

[ภาพ​หน้า 7]

ใน​กัมพูชา ภาพ​โปสเตอร์​และ​ป้าย​ซึ่ง​เตือน​ไว้​ชัดเจน​ให้​ระวัง​กับระเบิด

ใน​จำนวน​กับระเบิด​ทุก ๆ 5,000 ชุด​ที่​กู้​ได้ จะ​มี​นัก​กู้​กับระเบิด​เสีย​ชีวิต​หนึ่ง​คน​และ​ได้​รับ​บาดเจ็บ​สอง​คน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Background: © ICRC/Paul Grabhorn

© ICRC/Till Mayer

© ICRC/Philippe Dutoit