คุณย่อยแล็กโทสได้ไหม?
คุณย่อยแล็กโทสได้ไหม?
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในเม็กซิโก
“ดิฉันกับสามีไปเยี่ยมเพื่อนในรัฐปวยบลา เม็กซิโก. เจ้าของบ้านเลี้ยงโค เขาจึงให้เราดื่มนมสดพร้อมกับอาหารเช้าและอาหารเย็น.
“คืนแรกเรารู้สึกไม่ค่อยดี แต่วันที่สองแย่มาก. ท้องของดิฉันบวมขึ้นจนเหมือนว่าดิฉันตั้งครรภ์ได้หลายเดือน. แล้วเราสองคนก็ท้องร่วงอย่างหนัก.
“จนหลายปีหลังจากนั้น เราถึงได้มารู้ว่า เราย่อยแล็กโทสไม่ได้!”—เบอร์ทา.
ประสบการณ์ของเบอร์ทาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากบางคนประมาณว่าประชากรผู้ใหญ่ในโลกถึง 75 เปอร์เซ็นต์อาจประสบกับอาการบางอย่างหรือทุกอย่างอันเนื่องมาจากการย่อยแล็กโทสไม่ได้. * ภาวะนี้เป็นเช่นไรกันแน่ และมีสาเหตุมาจากอะไร? และที่สำคัญที่สุด จะทำอะไรได้เพื่อจัดการกับปัญหานี้?
คำ “การย่อยแล็กโทสไม่ได้” หมายถึงการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่มีมากที่สุดในน้ำนม. เพื่อจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต แล็กโทสต้องถูกทำให้แตกตัวเป็นกลูโคสและกาแล็กโทส. เพื่อจะเป็นเช่นนี้ ต้องมีเอนไซม์ตัวหนึ่งชื่อ แล็กเทส. ปัญหาคือเมื่อพ้นวัยทารกแล้ว ร่างกายผลิตแล็กเทสน้อยลง. เนื่องจากขาดแล็กเทส ผู้ใหญ่หลายคนจึงย่อยแล็กโทสไม่ได้
เมื่อคนเรารับแล็กโทส—ในน้ำนมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม—มากกว่าที่จะย่อยได้ แบคทีเรียในลำไส้จะเปลี่ยนแล็กโทสให้เป็นกรดแล็กติกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์. ภายในแค่ 30 นาที ก็จะปรากฏอาการทั่วไป คือ คลื่นเหียน, เป็นตะคริว, ท้องขึ้น, และท้องร่วง. บางคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองย่อยแล็กโทสไม่ได้อาจพยายามบรรเทาอาการไม่สบายท้องด้วยการดื่มนมเข้าไปอีก และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปัญหาหนักขึ้น.
ความสามารถในการย่อยแล็กโทสมีแตกต่างกันไปในแต่ละคน. บางคนดื่มนมแก้วเล็ก ๆ ได้โดยไม่มีปฏิกิริยา. สำหรับบางคน แม้แต่ปริมาณ
เล็กน้อยก็มีอาการ. บางคนแนะนำว่าเพื่อจะรู้ว่าคุณรับแล็กโทสได้มากเท่าไร คุณควรเริ่มจากนมแก้วเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณที่คุณดื่มในคราวต่อ ๆ ไป. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอจำไว้ว่าขณะที่อาการย่อยแล็กโทสไม่ได้นั้นทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง แต่ก็แทบไม่เป็นอันตรายอะไร.อะไรรับประทานได้และไม่ได้
ถ้าคุณย่อยแล็กโทสไม่ได้ คุณต้องพิจารณาว่าอะไรที่คุณรับประทานได้ และอะไรที่รับประทานไม่ได้. ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระดับที่คุณรับแล็กโทสได้. อาหารที่ประกอบด้วยแล็กโทสมีทั้งนม, ไอศกรีม, โยเกิร์ต, เนย, และเนยแข็ง. อาหารสำเร็จรูปบางอย่างเช่น เค้ก, ซีเรียล, และน้ำสลัด อาจมีแล็กโทสด้วย. ดังนั้น คนที่ย่อยแล็กโทสไม่ได้ควรตรวจดูฉลากสารอาหารของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น.
แน่นอน นมเป็นแหล่งแคลเซียมหลัก และการรับแคลเซียมไม่พอเพียงอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน. ดังนั้น คนที่ย่อยแล็กโทสไม่ได้ควรอาศัยแคลเซียมจากแหล่งอื่น. ผักสดบางชนิดมีแคลเซียม อย่างเช่น บรอกโคลี, กะหล่ำปลี, และผักขม. เช่นเดียวกับเมล็ดอัลมอนด์, งา, และปลากระดูกอ่อน เช่น ปลาซาร์ดีนและปลาแซล์มอน.
แม้ว่าคุณย่อยแล็กโทสไม่ได้ คุณอาจไม่ถึงกับต้องเลิกดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมโดยสิ้นเชิง. แทนที่จะทำอย่างนั้น ให้ลองทดสอบดูว่าคุณรับแล็กโทสได้มากขนาดไหน แล้วอย่ารับมากกว่านั้น. เมื่อเป็นไปได้ ให้รับประทานอาหารอื่น ๆ พร้อมกับผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีแล็กโทส. จำไว้ด้วยว่า เนยแข็งที่บ่มนานมีแล็กโทสน้อยกว่า และอาจเป็นได้ที่มันจะไม่ก่อปัญหา. แล้วโยเกิร์ตล่ะ? โยเกิร์ตมีแล็กโทสเกือบมากพอ ๆ กับนม แต่บางคนที่ย่อยแล็กโทสไม่ได้ก็สามารถรับประทานโยเกิร์ตได้สบาย. เพราะเหตุใด? ก็เพราะโยเกิร์ตมีเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งสังเคราะห์แล็กเทส และมันช่วยในการย่อยแล็กโทส.
ดังนั้น ถ้าคุณย่อยแล็กโทสไม่ได้ อย่ากังวลไปเลย. ดังที่เราได้ทราบแล้ว ความรู้เกี่ยวกับความผิดปกติชนิดนี้ทำให้คุณควบคุมมันได้ง่าย ๆ. แต่จงจดจำสิ่งเหล่านี้ไว้:
(1) ดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณน้อย ๆ พร้อมกับอาหารอื่น ๆ เพื่อทดสอบว่าคุณรับแล็กโทสได้มากขนาดไหน.
(2) รับประทานโยเกิร์ตและเนยแข็งที่บ่มนาน ซึ่งมักจะย่อยได้ง่ายกว่านม.
(3) ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่หาได้ซึ่งไร้แล็กโทสหรือมีแล็กเทส.
โดยทำตามคำแนะนำเหล่านี้ คุณจะจัดการกับสภาวะที่ไม่สามารถย่อยแล็กโทสได้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 การย่อยแล็กโทสไม่ได้นั้น มักเป็นกับชาวเอเชียมากกว่าชนชาติอื่นใด. คนที่มีเชื้อสายมาจากชาวยุโรปเหนือเป็นน้อยที่สุด.
[กรอบ/ภาพหน้า 27]
การวินิจฉัยความสามารถในการย่อยแล็กโทส
มีหลายวิธีที่ใช้ตรวจสอบความสามารถในการย่อยแล็กโทส.
การทดสอบความสามารถในการย่อยแล็กโทส: หลังจากอดอาหาร คนไข้จะดื่มของเหลวที่มีแล็กโทส. มีการเจาะเอาตัวอย่างเลือดไปตรวจว่าคนไข้ย่อยแล็กโทสได้ดีเพียงไร.
การตรวจก๊าซไฮโดรเจนในลมหายใจ: แล็กโทสที่ไม่ได้ย่อยจะผลิตก๊าซชนิดต่าง ๆ รวมทั้งไฮโดรเจน. ก๊าซนี้จะผ่านจากลำไส้เข้ามาในกระแสเลือดแล้วเข้าสู่ปอด ซึ่งจะถูกระบายออกมากับลมหายใจ.
การตรวจกรดในอุจจาระ: แล็กโทสที่ย่อยไม่ได้ในลำไส้จะผลิตกรดซึ่งตรวจพบได้ในตัวอย่างอุจจาระ.
การทดสอบเหล่านี้มักจะทำกับผู้ป่วยนอก.