งานแสดงเรือใบอันงดงามตระการตา
งานแสดงเรือใบอันงดงามตระการตา
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในฝรั่งเศส
ในเดือนกรกฎาคม 1999 เรือใบที่งามที่สุดในโลกหลายลำมาชุมนุมกันที่เมืองรูออง ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส เพื่อร่วมในเทศกาลอันโอ่อ่าที่เรียกว่า งานขบวนเรือแห่งศตวรรษ. เรือใบขนาดใหญ่สามสิบลำจอดเทียบตามแนวยาว 7 กิโลเมตรของท่าเทียบเรือซึ่งเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสนี้.
เหตุการณ์นี้ได้รับการโฆษณาว่า “งานแสดงทางทะเลอันงดงามตระการตาแห่งสหัสวรรษ.” งานนี้มีคอนเสิร์ต, ดอกไม้ไฟ, การแสดงเรือ, รวมทั้งนิทรรศการภาพวาดและภาพถ่ายเกี่ยวกับการเดินเรือ.
เรือใบหลายลำเดินทางมาถึงอย่างสง่างามในวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม. ตลอดสิบวันหลังจากนั้น ผู้เยี่ยมชมนับล้านจากฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ในยุโรปหลั่งไหลมายังท่าเทียบเรือแห่งนี้.
เรือบางลำ—เช่น เรือดาร์ มัวเชซีย์ (โปแลนด์), เรือเคอร์ซอเนส (ยูเครน), เรือสตาตสโรด เลห์มคุห์ล (นอร์เวย์), และเรือลิเบอร์ทาด (อาร์เจนตินา)—เป็นเรือเดินทะเลขนาดยักษ์มีความยาวถึง 100 เมตร มีเสากระโดงเรือที่สูงที่สุดถึง 50 เมตรจากระดับน้ำ.
เรือสูงเหล่านี้มาจาก 16 ประเทศรวมทั้งเบลเยียม, โปรตุเกส, เยอรมนี, รัสเซีย, เวเนซุเอลา, อุรุกวัย, และไอร์แลนด์. ประเทศที่ส่งเรือมามากที่สุดคือเนเธอร์แลนด์ คือส่งถึงหกลำ. เรือเหล่านี้รวมไปถึงเรือใบสามเสาอันสวยงามชื่อ ออยโรปา และเรือเก่าที่ชื่อ โอสเตอร์สเกลเด ซึ่งเป็นเรือใบสามเสาที่มีใบยอด ถูกปล่อยลงน้ำในปี 1918 โดยใช้บรรทุกไม้, ปลาเค็มเฮร์ริง, ดินเหนียว, ข้าว, หญ้าแห้ง, และผลไม้ระหว่างแอฟริกา, ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, และยุโรปเหนือ.
งานแสดงเรือนี้ให้โอกาสพิเศษแก่ผู้เยี่ยมชมที่จะได้สนองความกระหายใคร่รู้ของตน. มีสะพานวางพาดกับเรือ และทุกคนก็ขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือได้ง่าย ๆ โดยไม่เสียเงิน.
เรือบางลำเคยปรากฏในภาพยนตร์ เช่น เรือจากนอร์เวย์ชื่อ คริสเตียน ราดิค เคยมีบทเด่นในภาพยนตร์ปี 1958 เรื่องวินด์แจมเมอร์. เรือไม้ลำเก่าชื่อ คาสเคลอต (“ปลาวาฬสเปิร์ม” ในภาษาเดนมาร์ก) เคยปรากฏในภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง โบมาร์เช แลงโซลอง และเรื่อง เกาะมหาสมบัติ ที่ถูกนำกลับมาสร้างใหม่.
เรือใบสามเสาของโปแลนด์ชื่อ อิสกรา โดดเด่นไม่เหมือนใครเพราะเสาทั้งสามมีรูปแบบการติดตั้งเสาและใบเรือต่างกันไปคนละแบบ. เสาหน้าเรือมีใบเป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส, เสากระโดงหลักมีใบเป็นแบบมีไม้ขวางร้อยที่ตีนใบเรือ (รูปสี่เหลี่ยมคางหมู), และเสาท้ายเรือมีใบเป็นแบบเบอร์มิวดา (รูปสามเหลี่ยม).
เรือเก่าบางลำที่มายังเมืองรูอองถูกกู้ขึ้นมาจากสุสานใต้ทะเล. ตัวอย่างเช่น ผู้คลั่งไคล้ที่มีความตั้งใจจริงได้กู้เรือสัญชาติอุรุกวัยชื่อ คาปิทาน มิรันดา โดยฟื้นฟูเรืออันน่าทึ่งนี้ให้ใช้ได้อีกครั้ง. เรือเอทวาล โมเลน ซึ่งอับปางเมื่อต้นทศวรรษ 1980 ในท่าเรือดัวร์เนเนซ์ แคว้นบริตตานี ลอยได้อีกครั้งหนึ่งและใช้การได้ใหม่เนื่องด้วยการเอาใจใส่ด้วยความรัก.
ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นในท้องถิ่นตัดสินใจว่าระหว่างงาน พวกเขาจะทำการติดต่อทางวิทยุระหว่างเรือมีร์ และสถานีอวกาศมีร์ ของรัสเซียที่โคจรอยู่ในอวกาศ. ในที่สุด เมื่อเวลา 22:27 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม มีการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างเรือใบสามเสาและ “ยานน้อง” ในอวกาศ. กัปตันโซโรคอฟสามารถพูดคุยกับผู้บัญชาการอะฟานาสซีฟ ซึ่งอยู่ในสถานีอวกาศสูงขึ้นไปประมาณ 350 กิโลเมตร.
งานแสดงเรือนี้มาถึงจุดสุดยอดในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม ด้วยขบวนเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำแซนจากเมืองรูอองถึงทะเลเปิด. ผู้คนเป็นแสนเฝ้าดูจากสองฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร โบกมือให้แก่ลูกเรือขณะเรือล่องผ่านหมู่บ้าน, วิหาร, และคฤหาสน์เก่าแก่ของชาวนอร์มัง.
หลังจากนี้ เรือใบอันตระการตาหลายลำเดินทางต่อไปยังการแข่งเรือ, การถ่ายทำภาพยนตร์, หรืองานแสดงอื่น ๆ ในท่าเรือที่ห่างไกลออกไป. ท่าเทียบเรือก็กลับสู่ภาวะปกติ. แต่เมืองรูอองจะจดจำไว้ว่า อย่างน้อยเป็นเวลาสิบวันที่เมืองนี้ได้เป็นที่ซึ่งเรือใบจากทั่วโลกเดินทางมาชุมนุมกัน.
[แผนที่หน้า 10]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
องเฟลอร์
แม่น้ำแซน
รูออง
[ที่มาของภาพ]
Maps on pages 10, 17, and 31: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 10]
เรือใบสามเสาของเม็กซิโกชื่อ “คัวเตมอก”
[ภาพหน้า 10]
เรือ “เอทวาล โมเลน” อันงดงามถูกกู้ขึ้นมาจากสุสานใต้ทะเล
[ที่มาของภาพ]
© GAUTHIER MARINES/Photo Jo Gauthier
[ภาพหน้า 10]
ภาพวาดท่าเรือเมืองรูอองจากปี 1855 เมื่อเรือใบล่องตามแม่น้ำแซน
[ที่มาของภาพ]
Charles-Louis Mozin, Port de Rouen, vue générale © Rouen, Musée des Beaux-Arts
[ภาพหน้า 11]
รูออง “เมืองแห่งหอคอยร้อยแห่ง” กลายเป็นป่าเสากระโดง
[ที่มาของภาพ]
© GAUTHIER MARINES/ Photo Jo Gauthier