ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การป่วยเรื้อรัง—ปัญหาของทั้งครอบครัว

การป่วยเรื้อรัง—ปัญหาของทั้งครอบครัว

การ​ป่วย​เรื้อรัง—ปัญหา​ของ​ทั้ง​ครอบครัว

การ​ป่วย​เรื้อรัง​คือ​อะไร? ตอบ​ง่าย ๆ ก็​คือ การ​เจ็บ​ป่วย​ที่​ยืดเยื้อ​ยาว​นาน. นอก​จาก​นี้ รอง​ศาสตราจารย์​คน​หนึ่ง​พรรณนา​การ​ป่วย​เรื้อรัง​ว่า​เป็น “สภาวะ​ทาง​สุขภาพ​ที่​เปลี่ยน​ไป ซึ่ง​จะ​รักษา​ไม่​ได้​ด้วย​วิธี​ศัลยกรรม​แบบ​ธรรมดา ๆ หรือ​การ​บำบัด​ทาง​การ​แพทย์​ระยะ​สั้น ๆ.” สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​การ​ป่วย​เรื้อรัง​หรือ​ผล​กระทบ​ของ​มัน​เป็น​เรื่อง​ท้า​ทาย​อย่าง​ยิ่ง ไม่​ได้​อยู่​ที่​ลักษณะ​ของ​โรค​และ​การ​รักษา​เท่า​นั้น แต่​ยัง​จะ​ต้อง​อด​ทน​เป็น​เวลา​นาน​ด้วย.

ยิ่ง​กว่า​นั้น ผล​กระทบ​จาก​การ​ป่วย​เรื้อรัง​มัก​จะ​ไม่​จำกัด​อยู่​แค่​ผู้​ป่วย. หนังสือ​โรค​เซลล์​ประสาท​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เคลื่อน​ไหวปัญหา​ของ​ทั้ง​ครอบครัว (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว และ​อาการ​ช็อก​รวม​ทั้ง​ความ​วิตก​กังวล​ที่​คุณ [ผู้​ป่วย] รู้สึก​นั้น ผู้​ที่​อยู่​ใกล้​คุณ​จะ​ร่วม​รับ​ไป​ด้วย.” เรื่อง​นี้​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​จาก​มารดา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ลูก​สาว​เป็น​มะเร็ง. เธอ​กล่าว​ว่า “ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ได้​รับ​ผล​กระทบ ไม่​ว่า​เขา​จะ​แสดง​ออก​หรือ​รู้​ตัว​หรือ​ไม่​ก็​ตาม.”

แน่​ละ ไม่​ใช่​ทุก​คน​จะ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​เดียว​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ถ้า​สมาชิก​ครอบครัว​เข้าใจ​ว่า​การ​ป่วย​เรื้อรัง​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​อย่าง​ไร พวก​เขา​ก็​คง​จะ​เตรียม​พร้อม​ได้​ดี​ขึ้น​เพื่อ​รับมือ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​พิเศษ​เฉพาะ​ที่​เกิด​จาก​สถานการณ์​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง. นอก​จาก​นี้ ถ้า​ผู้​ที่​อยู่​นอก​วง​ครอบครัว อย่าง​เช่น เพื่อน​ร่วม​งาน, เพื่อน​นัก​เรียน, เพื่อน​บ้าน, มิตร​สหาย เข้าใจ​ผล​กระทบ​ของ​การ​ป่วย​เรื้อรัง พวก​เขา​ก็​จะ​สามารถ​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​อย่าง​ที่​มี​ความหมาย​และ​ร่วม​ความ​รู้สึก​ได้​ดี​ขึ้น. โดย​คำนึง​ถึง​สิ่ง​นี้ ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​ว่า​ครอบครัว​ต่าง ๆ อาจ​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​การ​ป่วย​เรื้อรัง​ใน​ทาง​ใด​บ้าง.

การ​เดิน​ทาง​สู่​ดินแดน​ที่​ไม่​รู้​จัก

ประสบการณ์​ของ​ครอบครัว​ที่​มี​การ​ป่วย​เรื้อรัง​อาจ​เทียบ​ได้​กับ​การ​เดิน​ทาง​ไป​ต่าง​ประเทศ. แม้​จะ​มี​บาง​สิ่ง​ที่​เหมือน​กัน​มาก​กับ​ประเทศ​บ้าน​เกิด​ของ​ครอบครัว​นั้น แต่​บาง​สิ่ง​ก็​ดู​แปลก​ตา​หรือ​กระทั่ง​แตกต่าง​อย่าง​สิ้นเชิง. เมื่อ​สมาชิก​คน​หนึ่ง​ใน​ครอบครัว​ป่วย​เรื้อรัง รูป​แบบ​ชีวิต​ส่วน​ใหญ่​ของ​ครอบครัว​นั้น​จะ​ยัง​เหมือน​เดิม​ไม่​เปลี่ยน​แปลง​มาก​นัก. แต่​บาง​อย่าง​จะ​เปลี่ยน​ไป​มาก.

ประการ​แรก การ​เจ็บ​ป่วย​เอง​อาจ​กระทบ​กิจวัตร​ปกติ​ของ​ครอบครัว และ​ทำ​ให้​สมาชิก​แต่​ละ​คน​ใน​ครอบครัว​ต้อง​ทำ​การ​ปรับ​ตัว​เพื่อ​รับมือ. สิ่ง​นี้​ได้​รับ​การ​ยืน​ยัน​จาก​เฮเลน วัย 14 ปี ซึ่ง​คุณ​แม่​ของ​เธอ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​เรื้อรัง​รุนแรง. เธอ​กล่าว​ว่า “เรา​ปรับ​ตาราง​เวลา​ให้​เข้า​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​แม่​สามารถ​หรือ​ไม่​สามารถ​ทำ​ได้​ใน​แต่​ละ​วัน.”

แม้​แต่​การ​รักษา—ซึ่ง​มุ่ง​หมาย​เพื่อ​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ป่วย—ก็​อาจ​ทำ​ให้​กิจวัตร​ใหม่​ของ​ครอบครัว​เสีย​กระบวน​ต่อ​ไป​ได้. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ขอ​งบ​ราม​และ​แอนน์ ซึ่ง​เอ่ย​ถึง​ใน​บทความ​ก่อน​หน้า​นี้. บราม​บอก​ว่า “การ​บำบัด​รักษา​ลูก​ทำ​ให้​เรา​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​กิจวัตร​ประจำ​วัน​ขนาน​ใหญ่.” แอนน์​อธิบาย​ว่า “เรา​ต้อง​ไป ๆ มา ๆ โรง​พยาบาล​ทุก​วัน. และ​นอก​จาก​นั้น แพทย์​ยัง​ได้​แนะ​นำ​เรา​ให้​อาหาร​ลูก​มื้อ​เล็ก ๆ หก​มื้อ​ต่อ​วัน​เพื่อ​ชดเชย​การ​ได้​รับ​อาหาร​ไม่​พอ​เพียง​อัน​เนื่อง​มา​จาก​โรค​ของ​พวก​เขา. สำหรับ​ดิฉัน ถือ​เป็น​การ​เปลี่ยน​วิธี​ทำ​อาหาร​ใหม่​ทั้ง​หมด.” ที่​ท้าทาย​ยิ่ง​กว่า​นั้น​อีก​ก็​คือ การ​ช่วย​ลูก ๆ ออก​กำลัง​กาย​ตาม​แพทย์​สั่ง​เพื่อ​ให้​กล้ามเนื้อ​แข็งแรง. แอนน์​จำ​ได้​ว่า “นั่น​เป็น​เหมือน​การ​สู้​รบ​กับ​จิตใจ​ทุก​วัน.”

ขณะ​ที่​ผู้​ป่วย​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​ความ​ไม่​สะดวก​สบาย—และ​บาง​ครั้ง​ความ​เจ็บ​ปวด—จาก​การ​รักษา​ของ​แพทย์​และ​การ​ตรวจ​ของ​บุคลากร​ทาง​การ​แพทย์ เขา​ก็​ต้อง​พึ่ง​ครอบครัว​มาก​ขึ้น​เรื่อง​ความ​ช่วยเหลือ​และ​การ​เกื้อ​หนุน​ทาง​อารมณ์​ที่​ใช้​ได้​จริง. ผล​ก็​คือ ไม่​เพียง​สมาชิก​ครอบครัว​ต้อง​เรียน​รู้​ทักษะ​ใหม่ ๆ เพื่อ​นำ​ไป​ใช้​ดู​แล​ผู้​ป่วย​ด้าน​ร่าง​กาย แต่​ทุก​คน​ยัง​ถูก​บีบ​ให้​ปรับ​เจตคติ, อารมณ์, รูป​แบบ​ชีวิต, และ​กิจวัตร​ของ​ตน​อีก​ด้วย.

เป็น​ที่​เข้าใจ​ได้​ว่า ความ​ต้องการ​ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​ครอบครัว​ต้อง​อด​ทน​มาก​ขึ้น. มารดา​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ลูก​สาว​รักษา​ตัว​อยู่​ใน​โรง​พยาบาล​เพราะ​เป็น​โรค​มะเร็ง​ยืน​ยัน​ว่า สิ่ง​นี้​อาจ “ก่อ​ความ​เหนื่อย​ล้า​เกิน​กว่า​ใคร ๆ จะ​นึก​ภาพ​ได้.”

ความ​ไม่​แน่นอน​ดำเนิน​ต่อ​ไป

หนังสือ​วิธี​รับมือ​กับ​การ​ป่วย​เรื้อรัง—การ​เอา​ชนะ​การ​หมด​กำลังใจ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “อาการ​ขึ้น ๆ ลง ๆ ที่​ดำเนิน​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​เพราะ​การ​ป่วย​เรื้อรัง ก่อ​ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​ค่อย​ดี​เรื่อง​ความ​ไม่​แน่นอน.” ตอน​ที่​สมาชิก​ครอบครัว​กำลัง​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สภาพการณ์​หนึ่ง พวก​เขา​ก็​อาจ​จะ​เผชิญ​กับ​อีก​สภาพการณ์​หนึ่ง​ที่​ต่าง​ออก​ไป​และ​อาจ​ยุ่งยาก​กว่า. อาการ​ต่าง ๆ อาจ​เอา​แน่​ไม่​ได้ หรือ​บาง​ที​ก็​เลว​ลง​อย่าง​ฉับพลัน และ​การ​รักษา​อาจ​ไม่​ทำ​ให้​อาการ​ดี​ขึ้น​อย่าง​ที่​คาด​ไว้. วิธี​รักษา​อาจ​ต้อง​เปลี่ยน​เป็น​ระยะ ๆ หรือ​ไม่​ก็​ทำ​ให้​เกิด​โรค​แทรก​ซ้อน​ได้​โดย​ไม่​ทราบ​ล่วง​หน้า. ขณะ​ที่​ผู้​ป่วย​พึ่ง​พา​การ​เกื้อ​หนุน​มาก​ขึ้น​จาก​ครอบครัว​ที่​งุนงง​ทำ​อะไร​ไม่​ถูก อารมณ์​ที่​แต่​ก่อน​เคย​ควบคุม​ได้​ก็​อาจ​ระเบิด​ทันที.

ลักษณะ​ที่​ไม่​อาจ​ทำนาย​ได้​ของ​การ​เจ็บ​ป่วย​หลาย​อย่าง​พร้อม​ด้วย​การ​รักษา ก่อ​เกิด​คำ​ถาม​ที่​เลี่ยง​ไม่​ได้ เช่น สิ่ง​นี้​จะ​ดำเนิน​ต่อ​ไป​นาน​เท่า​ใด? การ​เจ็บ​ป่วย​นี้​จะ​เลว​ร้าย​ถึง​ขั้น​ไหน? เรา​จะ​ทน​รับ​สภาพ​นี้​ได้​อีก​สัก​แค่​ไหน? การ​ป่วย​ที่​ต้อง​เสีย​ชีวิต​ใน​ที่​สุด มัก​ก่อ​ความ​ไม่​แน่นอน​อย่าง​ยิ่ง—“จะ​เป็น​อย่าง​นี้​นาน​เท่า​ไร​ก่อน​เสีย​ชีวิต?”

ความ​เจ็บ​ป่วย, วิธี​การ​รักษา, ความ​เหนื่อย​ล้า, และ​การ​เอา​แน่​ไม่​ได้ ทั้ง​หมด​รวม​กัน​ก่อ​ผล​พวง​ที่​คาด​ไม่​ถึง​อีก​อย่าง​หนึ่ง.

กระทบ​ความ​สัมพันธ์​กับ​ผู้​คน

แคทลีน ซึ่ง​สามี​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​เรื้อรัง​อธิบาย​ว่า “ดิฉัน​ต้อง​เอา​ชนะ​ความ​รู้สึก​รุนแรง​เรื่อง​ความ​โดด​เดี่ยว​เดียว​ดาย​และ​จน​ตรอก.” เธอ​เล่า​ต่อ​ไป​ว่า “สถานการณ์​เลว​ร้าย​เข้า​ไป​อีก เพราะ​เรา​ไม่​มี​ทาง​จะ​รับ​คำ​เชิญ​หรือ​เชิญ​ใคร​มา​สังสรรค์​ได้​เลย. ใน​ที่​สุด เรา​แทบ​ไม่​ได้​พบ​ปะ​พูด​คุย​กับ​ใคร​เลย.” เช่น​เดียว​กับ​แคทลีน หลาย​คน​ลงเอย​ด้วย​การ​ที่​ต้อง​รับมือ​กับ​ความ​รู้สึก​ผิด​ที่​ไม่​มี​น้ำใจ​รับรอง​แขก​และ​ไม่​รับ​คำ​เชิญ. เหตุ​ใด​สิ่ง​นี้​จึง​เกิด​ขึ้น?

การ​เจ็บ​ป่วย​เอง​หรือ​ไม่​ก็​ผล​ข้าง​เคียง​ที่​เกิด​จาก​การ​รักษา​อาจ​ทำ​ให้​ยาก​หรือ​กระทั่ง​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​พบ​ปะ​สังสรรค์​กับ​คน​อื่น. ผู้​ป่วย​และ​ครอบครัว​ของ​เขา​อาจ​รู้สึก​ว่า​โรค​นั้น​จะ​ทำ​ให้​สังคม​รังเกียจ หรือ​ไม่​ก็​พวก​เขา​อาจ​กลัว​ว่า​มัน​จะ​ก่อ​ความ​อับอาย​ขายหน้า. ความ​ซึมเศร้า​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​รู้สึก​ไม่​คู่​ควร​กับ​มิตรภาพ​ที่​เคย​ได้​รับ หรือ​ครอบครัว​นั้น​อาจ​เพียง​แค่​ไม่​มี​แรง​ที่​จะ​พบ​ปะ​สังสรรค์​กับ​ผู้​คน. ด้วย​เหตุ​ผล​หลาก​หลาย การ​ป่วย​เรื้อรัง​อาจ​ก่อ​ความ​โดด​เดี่ยว​และ​ความ​ว้าเหว่​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย​ต่อ​ทั้ง​ครอบครัว.

นอก​จาก​นี้ ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​รู้​ว่า​ควร​จะ​พูด​อะไร​หรือ​แสดง​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​ต่อ​ผู้​ไร้​สมรรถภาพ. (ดู​กรอบ “วิธี​ที่​คุณ​อาจ​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​ได้” หน้า 11.) แอนน์​บอก​ว่า “เมื่อ​ลูก​ของ​คุณ​ต่าง​จาก​เด็ก​คน​อื่น ๆ ผู้​คน​ก็​มัก​จะ​พา​กัน​จ้อง​มอง​และ​พูด​อะไร​ที่​ไม่​คิด​ให้​รอบคอบ. ที่​จริง​คุณ​มี​แนว​โน้ม​จะ​ตำหนิ​ตัว​เอง​เรื่อง​การ​เจ็บ​ป่วย​นั้น​อยู่​แล้ว และ​คำ​พูด​ของ​พวก​เขา​ก็​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​คุณ​รู้สึก​ผิด​มาก​ยิ่ง​ขึ้น.” คำ​พูด​ของ​แอนน์​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​หลาย​ครอบครัว​คง​จะ​ประสบ.

อารมณ์​ต่าง ๆ ที่​ก่อ​ความ​สับสน

นัก​วิจัย​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ตอน​ที่​มี​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​อะไร ครอบครัว​ส่วน​ใหญ่​จะ​ตกใจ, ไม่​เชื่อ, และ​ปฏิเสธ. มัน​เป็น​เรื่อง​ที่​ยาก​เกิน​กว่า​จะ​รับ​ได้.” ใช่​แล้ว อาจ​ก่อ​ความ​ปวด​ร้าว​แสน​สาหัส​เมื่อ​รู้​ว่า​ผู้​ที่​ตน​รัก​ป่วย​เป็น​โรค​ที่​คุกคาม​ชีวิต​หรือ​โรค​ที่​ทำ​ให้​หมด​เรี่ยว​แรง. ครอบครัว​นั้น​อาจ​รู้สึก​ว่า​ความ​หวัง​และ​ความ​ฝัน​ของ​พวก​เขา​พัง​ทลาย​ป่นปี้ เหลือ​แต่​อนาคต​ที่​ไม่​แน่นอน​รวม​ทั้ง​ความ​รู้สึก​สูญ​เสีย​และ​เศร้า​ใจ​ลึก ๆ.

จริง​อยู่ หลาย​ครอบครัว​ที่​เห็น​สมาชิก​ครอบครัว​ไม่​สบาย​เรื้อรัง​โดย​ไม่​รู้​สาเหตุ อาจ​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​เมื่อ​มี​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​อะไร. แต่​บาง​ครอบครัว​อาจ​มี​ปฏิกิริยา​ต่าง​ออก​ไป​ต่อ​การ​วินิจฉัย​โรค. มารดา​คน​หนึ่ง​ใน​แอฟริกา​ใต้​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​ปวด​ร้าว​ใจ​มาก​ที่​ใน​ที่​สุด​รู้​ว่า​ลูก ๆ เป็น​โรค​อะไร บอก​ตาม​ตรง ไม่​รู้​ว่า​เป็น​โรค​อะไร​ยัง​จะ​ดี​เสีย​กว่า.”

หนังสือ​ลูก​ที่​ต่าง​จาก​คน​อื่น​ใน​ครอบครัว—การ​อยู่​กับ​ลูก​ที่​ป่วย​หรือ​ทุพพลภาพ (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า “เป็น​ธรรมดา​ที่​คุณ​จะ​รู้สึก​สับสน​ทาง​อารมณ์ . . . ขณะ​ที่​คุณ​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​ความ​เป็น​จริง​ใหม่​นี้. บาง​ครั้ง ความ​รู้สึก​ของ​คุณ​อาจ​รุนแรง​มาก​จน​คุณ​กลัว​ว่า​จะ​รับมือ​ไม่​ได้.” ไดอานา คิมป์ตัน ผู้​แต่ง​หนังสือ​เล่ม​นี้​ซึ่ง​มี​ลูก​ชาย​สอง​คน​เป็น​โรค​ซิสติก ไฟโบรซิส (โรค​ทาง​พันธุกรรม​ที่​เนื้อ​เยื่อ​ของ​ระบบ​ทาง​เดิน​อาหาร​และ​ระบบ​หายใจ​กลาย​เป็น​ถุง​น้ำ) เล่า​ว่า “ดิฉัน​กลัว​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง และ​ดิฉัน​ต้องการ​ทราบ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ปกติ​หรือ​ไม่​ที่​รู้สึก​แย่​ขนาด​นั้น.”

ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ​ที่​ครอบครัว​จะ​กลัว เช่น กลัว​การ​ไม่​รู้, กลัว​การ​เจ็บ​ป่วย, กลัว​การ​รักษา, กลัว​เจ็บ, และ​กลัว​การ​เสีย​ชีวิต. โดย​เฉพาะ​เด็ก ๆ อาจ​มี​ความ​กลัว​อยู่​ใน​ใจ​หลาย​อย่าง—เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​พวก​เขา​ไม่​ได้​รับ​คำ​อธิบาย​ที่​มี​เหตุ​ผล​ใน​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น.

ความ​โกรธ​ก็​เป็น​เรื่อง​ที่​พบ​เห็น​บ่อย​เช่น​กัน. วารสาร​ทีแอลซี ของ​แอฟริกา​ใต้​อธิบาย​ว่า “ผู้​ป่วย​มัก​จะ​ระบาย​ความ​โกรธ​ลง​ที่​สมาชิก​ครอบครัว.” ส่วน​สมาชิก​ครอบครัว​ก็​อาจ​จะ​โกรธ​ไป​ด้วย เช่น โกรธ​แพทย์​ที่​ไม่​พบ​ปัญหา​ให้​เร็ว​กว่า​นี้, โกรธ​ตัว​เอง​ที่​ถ่ายทอด​ความ​บกพร่อง​ให้​ลูก, โกรธ​ผู้​ป่วย​ที่​ไม่​ดู​แล​ตัว​เอง​อย่าง​ถูก​ต้อง, โกรธ​ซาตาน​พญา​มาร​ที่​เป็น​ต้น​เหตุ​ของ​ความ​ทุกข์​ที่​ได้​รับ, หรือ​โกรธ​แม้​กระทั่ง​พระเจ้า​โดย​โทษ​พระองค์​สำหรับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​นั้น. ความ​รู้สึก​ผิด​เป็น​ปฏิกิริยา​ปกติ​ธรรมดา​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ของ​การ​ป่วย​เรื้อรัง. หนังสือ​ลูก​เป็น​มะเร็ง—คู่มือ​อ้างอิง​อย่าง​ละเอียด​สำหรับ​บิดา​มารดา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “บิดา​หรือ​มารดา​หรือ​พี่ ๆ น้อง ๆ แทบ​ทุก​คน​ของ​เด็ก​ที่​ป่วย​เป็น​มะเร็ง​จะ​รู้สึก​ผิด.”

ห้วง​อารมณ์​แบบ​นี้​มัก​จะ​ยัง​ผล​เป็น​ความ​ซึมเศร้า​ทั้ง​ใน​ระดับ​มาก​และ​น้อย. นัก​วิจัย​คน​หนึ่ง​เขียน​ว่า “สิ่ง​นี้​อาจ​เป็น​ปฏิกิริยา​ที่​พบ​เห็น​มาก​ที่​สุด. ดิฉัน​มี​จดหมาย​เป็น​แฟ้ม​ที่​จะ​พิสูจน์​เรื่อง​นี้.”

ใช่​แล้ว ครอบครัว​รับมือ​ได้

ใน​ด้าน​ดี หลาย​ครอบครัว​พบ​ว่า​การ​รับมือ​กับ​สถานการณ์​เช่น​นี้​ไม่​ยาก​อย่าง​ที่​คิด​ใน​ตอน​แรก. ไดอานา คิมป์ตัน ยืน​ยัน​ว่า “ภาพ​ที่​คุณ​คิด​จะ​เลว​ร้าย​กว่า​ความ​เป็น​จริง​อย่าง​มาก.” จาก​ประสบการณ์​ส่วน​ตัว เธอ​พบ​ว่า “อนาคต​ไม่​ได้​มืด​สนิท​อย่าง​ที่​คุณ​คิด​ขณะ​ได้​รับ​แจ้ง​ตอน​แรก ๆ เรื่อง​การ​เจ็บ​ป่วย​นั้น.” จง​มั่น​ใจ​ว่า​ครอบครัว​อื่น ๆ รอด​ผ่าน​การ​เดิน​ทาง​สู่​ดินแดน​ที่​ไม่​รู้​จัก​แห่ง​การ​ป่วย​เรื้อรัง​มา​แล้ว และ​คุณ​ย่อม​ทำ​ได้​เช่น​กัน. สำหรับ​หลาย​คน แค่​รู้​ว่า​คน​อื่น ๆ รับมือ​ได้ ก็​ทำ​ให้​พวก​เขา​คลาย​ความ​กังวล​และ​มี​ความ​หวัง​แล้ว.

แต่​บาง​ครอบครัว​อาจ​จะ​สงสัย​อย่าง​มี​เหตุ​ผล​ว่า ‘เรา​จะ​รับมือ​ได้​อย่าง​ไร?’ บทความ​ถัด​ไป​จะ​พิจารณา​ว่า​ครอบครัว​ต่าง ๆ รับมือ​กับ​การ​ป่วย​เรื้อรัง​อย่าง​ไร​บ้าง.

[คำ​โปรย​หน้า 5]

ครอบครัว​จำ​ต้อง​ดู​แล​ผู้​ป่วย​และ​ปรับ​ทัศนคติ, อารมณ์, และ​รูป​แบบ​ชีวิต​ของ​ตน

[คำ​โปรย​หน้า 6]

ทั้ง​ผู้​ป่วย และ​ครอบครัว​จะ​ประสบ​ภาวะ​ตึงเครียด​ทาง​อารมณ์

[คำ​โปรย​หน้า 7]

อย่า​สิ้น​หวัง. ครอบครัว​อื่น​รับมือ​ได้ คุณ​ก็​ย่อม​ทำ​ได้​เช่น​กัน

[กรอบ​หน้า 7]

ข้อ​ท้าทาย​บาง​อย่าง​ของ​การ​ป่วย​เรื้อรัง

• การ​เรียน​รู้​จัก​โรค​และ​วิธี​รับมือ​กับ​โรค​นั้น

• การ​ปรับ​เปลี่ยน​รูป​แบบ​ชีวิต​และ​กิจวัตร​ประจำ​วัน

• การ​รับมือ​กับ​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​ผู้​คน​ซึ่ง​เปลี่ยน​ไป

• การ​รักษา​จิตใจ​ให้​ปกติ​และ​ควบคุม​ตัว​เอง

• การ​เสียใจ​เรื่อง​ความ​สูญ​เสีย​ที่​เกิด​จาก​โรค​นั้น

• การ​รับมือ​กับ​อารมณ์​ที่​ผันแปร

• การ​รักษา​เจตคติ​ใน​แง่​บวก