ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อนาคอนดา—มันคายความลับออกมาบ้างไหม?

อนาคอนดา—มันคายความลับออกมาบ้างไหม?

อนาคอนดา—มัน​คาย​ความ​ลับ​ออก​มา​บ้าง​ไหม?

โดย​ผู้​เขียน​ใน​ทีม​งาน ตื่นเถิด!

ผม​ไม่​ทราบ​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร แต่​งู​ตัว​ใหญ่ ๆ ทำ​ให้​ผม​ทึ่ง​อย่าง​เดียว​กับ​ที่​รู้สึก​เช่น​นั้น​กับ​สัตว์​อื่น​ไม่​กี่​ชนิด. และ​หาก​เรา​จะ​พูด​ถึง​งู​ใหญ่​กัน​แล้ว ก็​ต้อง​พูด​ถึง​อนาคอนดา ซึ่ง​อยู่​ใน​วงศ์ Boidae. แม้​ขนาด​ของ​มัน​ใหญ่​โต แต่​ว่า​คน​เรา​รู้​เกี่ยว​กับ​พฤติกรรม​ของ​มัน​น้อย​มาก—จน​กระทั่ง​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้.

ใน​ปี 1992 นัก​ชีววิทยา เคซูส เอ. รีบาส กับ​นัก​วิจัย​อีก​หลาย​คน​จาก​สมาคม​อนุรักษ์​ชีวิต​ป่า (WCS) ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ที่​นิวยอร์ก ได้​เริ่ม​ทำ​การ​ศึกษา​งู​ยักษ์​เหล่า​นี้​กัน​ใน​ป่า​เป็น​ครั้ง​แรก. * เมื่อ​ผม​อ่าน​พบ​ว่า​การ​ศึกษา​ภาค​สนาม​นี้ ซึ่ง​ใช้​เวลา​นาน​หก​ปี​และ​ทำ​กัน​ใน​ภูมิภาค​ที่​ลุ่ม​น้ำ​ขัง​ของ​เวเนซุเอลา เผย​ให้​ทราบ​ข้อ​เท็จ​จริง​ใหม่ ๆ บาง​อย่าง ผม​จึง​สงสัย​ว่า​ได้​มี​การ​เรียน​รู้​อะไร​บ้าง. วัน​นี้​ผม​จะ​พยายาม​หา​คำ​ตอบ​ใน​เรื่อง​นี้.

ว่า​กัน​ถึง​ชื่อ​และ​ชนิด

บ่าย​ที่​แดด​จัด​วัน​หนึ่ง ผม​ออก​จาก​สำนักงาน​ที่​บรุกลิน​มุ่ง​หน้า​ไป​ยัง​สำนักงาน​ใหญ่​ของ WCS ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ใน​สวน​สัตว์​นิวยอร์ก ซิตีส์ บรองซ์. ก่อน​หน้า​นี้​ผม​ได้​ค้นคว้า​มา​ไม่​น้อย​เพื่อ​จะ​ทราบ​ข้อ​เท็จ​จริง​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​อนาคอนดา.

ที่​น่า​แปลก​คือ ชื่อ​อนาคอนดา​อาจ​มี​ต้น​กำเนิด​มา​จาก​แถบ​ที่​ห่าง​ไกล​จาก​ถิ่น​ที่​อยู่​ของ​สัตว์​ชนิด​นี้​ใน​อเมริกา​ใต้. บาง​คน​บอก​ว่า​ชื่อ​นี้​มา​จาก​คำ​ภาษา​ทมิฬ ยาเน แปล​ว่า “ช้าง” และ กอลรา แปล​ว่า “นัก​ฆ่า.” แต่​บาง​คน​คิด​ว่า​ชื่อ​นี้​มา​จาก​คำ​ภาษา​สิงหล เฮนากันดายา (เฮนา แปล​ว่า “ฟ้า​แลบ” และ กันดา แปล​ว่า “ลำ​ต้น”). คำ​เรียก​ใน​ภาษา​สิงหล—แต่​เดิม​ใช้​เรียก​งู​หลาม​ใน​ศรีลังกา—คง​ถูก​นำ​ไป​จาก​เอเชีย​เอา​ไป​ใช้​ที่​อเมริกา​ใต้​โดย​พวก​พ่อค้า​ชาว​โปรตุเกส.

เมื่อ​พูด​ถึง​เรื่อง​ชื่อ​ที่​เรียก​กัน​ผิด ๆ แม้​แต่​ชื่อ​ของ​อนาคอนดา​ที่​เรียก​กัน​เป็น​ทาง​การ​คือ Eunectes murinus ก็​ไม่​ถูก​ต้อง​เสีย​ที​เดียว. Eunectes แปล​ว่า “นัก​ว่าย​น้ำ​ที่​ดี”—ซึ่ง​ก็​เป็น​อย่าง​นั้น​จริง. แต่​ว่า murinus แปล​ว่า “สี​เหมือน​หนู.” หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า สำหรับ​งู​ซึ่ง​มี​หนัง​สี​เขียว​มะกอก ชื่อ​ดัง​กล่าว “ฟัง​ดู​ไม่​สม​กับ​มัน​เลย​จริง ๆ.”

ยัง​มี​อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ควร​กล่าว​ถึง​เกี่ยว​กับ​ชื่อ​วิทยาศาสตร์​และ​หมวด​หมู่​ของ​สัตว์​ชนิด​นี้. หนังสือ​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​กับ​อนาคอนดา​มัก​บอก​ว่า​มี​อนาคอนดา​สอง​ชนิด. ชนิด​หนึ่ง​คือ​ชนิด​ที่​เรา​พิจารณา​กัน​ใน​บทความ​นี้ คือ​อนาคอนดา​เขียว หรือ​งู​เหลือม​น้ำ ซึ่ง​โดย​มาก​แล้ว​จะ​เลื้อย​อยู่​ตาม​ที่​ลุ่ม​น้ำ​ขัง​แถบ​ลุ่ม​น้ำ​แอมะซอน​และ​โอริโนโค รวม​ทั้ง​ใน​ภูมิภาค​เกีย​นา. ส่วน​อีก​ชนิด​หนึ่ง​คือ​อนาคอนดา​เหลือง​ซึ่ง​ตัว​เล็ก​กว่า (E. notaeus) มี​ถิ่น​ที่​อยู่​ใน​ปารากวัย, ภาค​ใต้​ของ​บราซิล, และ​ภาค​เหนือ​ของ​อาร์เจนตินา.

พบ​กับ​ผู้​เชี่ยวชาญ

ตอน​นี้​ผม​อยู่​ที่​สวน​สัตว์​บรองซ์. อุทยาน​สัตว์​ป่า​แห่ง​นี้ ซึ่ง​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ป่า​ไม้​ทั้ง​หมด 660 ไร่ เป็น​ที่​อาศัย​ของ​สัตว์​มาก​กว่า 4,000 ตัว รวม​ทั้ง​อนาคอนดา​ประมาณ 12 ตัว. วิลเลียม โฮล์มสตรอม ใน​ชุด​สี​กากี ซึ่ง​ทำ​งาน​อยู่​ใน​แผนก​สัตว์​เลื้อยคลาน​ของ WCS ได้​มา​พบ​ผม​ที่​ทาง​เข้า​สวน​สัตว์. คุณ​โฮล์มสตรอม—ชาว​นิวยอร์ก อายุ 51 ปี สวม​แว่นตา ไว้​หนวด และ​ยิ้ม​อยู่​เสมอ—เป็น​ผู้​จัด​การ​ใน​การ​รวบ​รวม​สัตว์​เลื้อยคลาน​ชนิด​ต่าง ๆ และ​ได้​เข้า​ร่วม​ใน​การ​ศึกษา​ภาค​สนาม​เพื่อ​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​อนาคอนดา​ใน​เวเนซุเอลา. ตาม​ที่​เขา​กล่าว ใน​เวลา​นี้​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ทราบ​กัน​แล้ว​ว่า​มี​อนาคอนดา​ชนิด​ที่​สาม (E. deschauenseei) ซึ่ง​มี​ถิ่น​ที่​อยู่​ใน​ภาค​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​บราซิล​และ​แถบ​ชายฝั่ง​ของ​เฟรนช์เกียนา. * บ่าย​นี้ คุณ​โฮล์มสตรอม​ซึ่ง​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​จะ​เป็น​คน​พา​ผม​เยี่ยม​ชม.

ใน​ชั่ว​เวลา​ไม่​นาน ผม​รู้สึก​ได้​เลย​ว่า​มัคคุเทศก์​ของ​ผม​คน​นี้​รัก​งู​แบบ​เดียว​กับ​ที่​คน​อื่น ๆ รัก​หมา​พูเดิล​หรือ​นก​แก้ว. เขา​บอก​ผม​ว่า ตอน​เขา​เป็น​เด็ก ที่​บ้าน​เลี้ยง​ซาลาแมนเดอร์, กบ, และ​สัตว์​อื่น​จำพวก​นี้. “พ่อ​ผม​ชอบ​สัตว์​พวก​นี้. แม่​ไม่​ชอบ​แต่​ก็​ทน​ได้.” ไม่​ต้อง​บอก​ก็​ได้​ว่า คุณ​โฮล์มสตรอม​เจริญ​รอย​ตาม​บิดา.

ขนาด​อัน​ตรึง​ใจ​และ​แตกต่าง​กัน​สุด​โต่ง

ภาย​ใน​เรือน​เลี้ยง​สัตว์​เลื้อยคลาน​หลัง​นี้​ซึ่ง​มี​อายุ​นับ​ร้อย​ปี เรา​สอง​คน​หยุด​ที่​หน้า​กรง​ซึ่ง​ขัง​อนาคอนดา​ไว้. แม้​ว่า​ผม​กำลัง​มอง​ดู​สัตว์​ที่​คาด​หมาย​อยู่​แล้ว​ว่า​จะ​ได้​เห็น กระนั้น​ก็​ยัง​ไม่​อาจ​ข่ม​ห้าม​ความ​พิศวง​ได้. ผม​ประหลาด​ใจ​ใน​ขนาด​อัน​ใหญ่​โต และ​สัดส่วน​อัน​ประหลาด​ผิด​ธรรมดา​ของ​มัน. หัว​ซึ่ง​มี​จมูก​ทู่ ๆ ของ​มัน​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​มือ​คน แต่​ดู​เล็ก​นิด​เดียว​เพราะ​ส่วน​ลำ​ตัว​ที่​ติด​กับ​หัว​นั้น​ใหญ่​มาก. มัคคุเทศก์​ของ​ผม​บอก​ว่า​สัตว์​เลื้อยคลาน​ที่​น่า​ประทับใจ​ตัว​นี้​เป็น​เพศ​เมีย ยาว 5 เมตร หนัก​ประมาณ 80 กิโลกรัม. แม้​ว่า​ลำ​ตัว​ของ​มัน​มี​ขนาด​เกือบ​จะ​พอ ๆ กับ​เสา​โทรศัพท์ แต่​ผม​ได้​รู้​มา​ว่า​มัน​จัด​อยู่​ใน “รุ่น​จิ๋ว” เท่า​นั้น​เอง​เมื่อ​เทียบ​กับ​ตัว​ที่​ครอง​สถิติ​โลก​อยู่—อนาคอนดา​เพศ​เมีย​ตัว​อ้วน​จ้ำม่ำ​ที่​จับ​ได้​เมื่อ​ปี 1960 ซึ่ง​ประมาณ​กัน​ว่า​หนัก​เกือบ 230 กิโลกรัม!

ไม่​มี​ทาง​ที่​อนาคอนดา​เพศ​ผู้​ตัว​ใด​จะ​มี​ขนาด​ที่​น่า​ประทับใจ​อย่าง​นั้น​ได้​เลย. แม้​ว่า​ผู้​เชี่ยวชาญ​เกี่ยว​กับ​สัตว์​เลื้อยคลาน​ทราบ​ว่า​อนาคอนดา​เพศ​ผู้​ตัว​เล็ก​กว่า​เพศ​เมีย แต่​จาก​การ​ศึกษา​ภาค​สนาม​พบ​ว่า​ตัว​ผู้​เล็ก​กว่า​มาก​จน​ดู​ราว​กับ​จับ​ตัว​เมีย​มา​ย่อ​ส่วน. ที่​จริง การ​ศึกษา​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​โดย​เฉลี่ย​แล้ว​ตัว​เมีย​ใหญ่​กว่า​ตัว​ผู้​เกือบ​ห้า​เท่า. ขนาด​ที่​ต่าง​กัน​อย่าง​สุด​โต่ง​ของ​ทั้ง​สอง​เพศ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​การ​เข้าใจ​ผิด​ได้ ดัง​ที่​นัก​ชีววิทยา เคซูส รีบาส ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง. เขา​เคย​เลี้ยง​ลูก​อนาคอนดา​ไว้​ดู​เล่น แต่​ก็​นึก​สงสัย​มา​ตลอด​ว่า​ทำไม​เจ้า​ตัว​เล็ก​ชอบ​กัด​เขา​อยู่​เรื่อย. ต่อ​เมื่อ​ได้​มา​ทำ​การ​ศึกษา​ภาค​สนาม​แล้ว​นั่น​แหละ​เขา​จึง​ได้​มา​เข้าใจ​แจ่ม​แจ้ง​ว่า​เจ้า​ตัว​ที่​เขา​เลี้ยง​ไว้​นั้น​ที่​แท้​แล้ว​เป็น​ตัว​ผู้​ที่​โต​เต็ม​วัย​ซึ่ง​ฉุนเฉียว​และ​หงุดหงิด!

ประกาศ​จับ!—มี​รางวัล​ให้

แม้​ว่า​ขนาด​ลำ​ตัว​อัน​ใหญ่​โต​เป็น​ลักษณะ​ที่​ทำ​ให้​อนาคอนดา​เป็น​ดาว​ดัง แต่​ความ​ยาว​ของ​มัน​ก็​น่า​ประทับใจ​ไม่​แพ้​กัน. จริง​อยู่ อนาคอนดา​ไม่​ได้​มี​ขนาด​ใหญ่​มหึมา​เหมือน​ที่​ฮอลลีวูด​เสนอ​ภาพ​ของ​พวก​มัน—ดาว​เด่น​ใน​ภาพยนตร์​เรื่อง​หนึ่ง​เป็น​อนาคอนดา​ที่​ยาว​ถึง 12 เมตร—แต่​แค่​คิด​ถึง​ความ​ยาว​สูง​สุด​ซึ่ง​ยาว​ราว ๆ 9 เมตร​ก็​น่า​ตื่น​ตระหนก​มาก​พอ​แล้ว.

อนาคอนดา​ที่​ใหญ่​ขนาด​นั้น​มี​ไม่​มาก​และ​นาน ๆ จึง​จะ​พบ​เข้า​สัก​ตัว​หนึ่ง. ตัว​เมีย​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ซึ่ง​จับ​ได้​ระหว่าง​การ​ศึกษา​หนัก 90 กิโลกรัม และ​วัด​ความ​ยาว​ได้ 5 เมตร. ที่​จริง อนาคอนดา​ที่​ใหญ่​กว่า​นี้​หา​ได้​ยาก​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​รางวัล 1,000 ดอลลาร์​ซึ่ง​ตั้ง​ไว้​เมื่อ​ประมาณ 90 ปี​ที่​แล้ว​โดย​สมาคม​สัตววิทยา​แห่ง​นิวยอร์ก (ซึ่ง​ตั้ง​ขึ้น​ก่อน​และ​นำ​ร่อง​ให้ WCS) ที่​จะ​มอบ​ให้​แก่​ผู้​สามารถ​จับ​เป็น​อนาคอนดา​ตัว​ที่​ยาว​กว่า 9.2 เมตร​ได้ จน​ถึง​บัด​นี้​ก็​ยัง​ไม่​มี​ใคร​ได้​ไป. คุณ​โฮล์มสตรอม​กล่าว​ว่า “เรา​ได้​รับ​โทรศัพท์​จาก​อเมริกา​ใต้​สอง​สาม​ครั้ง​ใน​แต่​ละ​ปี​เพื่อ​ขอ​รับ​รางวัล แต่​เมื่อ​เรา​ขอ​ให้​ส่ง​หลักฐาน​เกี่ยว​กับ​งู​ที่​เขา​จับ​ได้​เพื่อ​ให้​เรา​มี​เหตุ​ผล​สม​ควร​ที่​จะ​เดิน​ทาง​ไป​ตรวจ​สอบ ก็​ไม่​เคย​มี​หลักฐาน​ส่ง​มา​ถึง​เรา​เลย.” อ้อ เกือบ​ลืม​บอก​ไป​ว่า​รางวัล​สำหรับ​อนาคอนดา​ที่​ยาว​กว่า 9.2 เมตร ใน​ปัจจุบัน​ตั้ง​ไว้​ที่ 50,000 ดอลลาร์!

ดู​ใน​ระยะ​ใกล้

ผม​เดิน​ตาม​มัคคุเทศก์​ขึ้น​ไป​ชั้น​สอง​ของ​เรือน​เลี้ยง​สัตว์​เลื้อยคลาน ซึ่ง​ใช้​เป็น​ที่​ขัง​และ​เพาะ​พันธุ์. สถาน​ที่​แห่ง​นี้​ทั้ง​ร้อน​และ​ชื้น. เพื่อ​ให้​ผม​ได้​เห็น​สิ่ง​ที่​ผม​สนใจ​โดย​ไม่​มี​อะไร​มา​ขวาง​กั้น คุณ​โฮล์มสตรอม​เปิด​ประตู​กรง​ที่​ขัง​อนาคอนดา​เพศ​เมีย​ตัว​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​โต​อย่าง​น่า​ทึ่ง.

ตรง​จุด​นี้ มี​แต่​เพียง​ระยะ​ห่าง 2 เมตร—โดย​ไม่​มี​อะไร​อื่น​อีก—ที่​อยู่​ระหว่าง​เรา​กับ​เจ้า​สัตว์​ตัว​นี้. แล้ว​เจ้า​อนาคอนดา​ก็​ชู​หัว​ขึ้น​ช้า ๆ และ​ค่อย ๆ เคลื่อน​เข้า​มา​หา​เรา. ถึง​ตอน​นี้ เหลือ​ระยะ​ห่าง​เพียง​เมตร​เดียว​ระหว่าง​หัว​ของ​มัน​กับ​หัว​ของ​เรา.

“เรา​ถอย​กัน​ดี​กว่า” คุณ​โฮล์มสตรอม​กล่าว​เรียบ ๆ “มัน​อาจ​จะ​กำลัง​มอง​หา​อาหาร.” ผม​เห็น​ด้วย​ทันที. เขา​ปิด​ประตู และ​เจ้า​อนาคอนดา​ก็​ค่อย ๆ หด​หัว​กลับ​จน​กระทั่ง​ไป​วาง​แนบ​อยู่​แถว ๆ กลาง​ลำ​ตัว​ของ​มัน​ซึ่ง​ขด​อยู่.

หาก​คุณ​ไม่​ใส่​ใจ​กับ​การ​จ้อง​ของ​อนาคอนดา​ที่​ดู​จะ​ประสงค์​ร้าย แล้ว​ดู​ให้​ดี ๆ ตรง​หัว​ของ​มัน​ซึ่ง​มี​แถบ​สี​แดง คุณ​จะ​เห็น​ว่า​มัน​มี​ลักษณะ​พิเศษ​ที่​น่า​ทึ่ง. ยก​ตัว​อย่าง​เช่น ตา​และ​รู​จมูก​ของ​อนาคอนดา​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​สูง​ที่​สุด​บน​หัว​ของ​มัน. นี่​ทำ​ให้​งู​ชนิด​นี้​สามารถ​แช่​ตัว​และ​หัว​อยู่​ใต้​น้ำ​และ​เหลือ​เฉพาะ​ตา​กับ​รู​จมูก​โผล่​อยู่​เหนือ​ผิว​น้ำ—คล้าย​กัน​มาก​กับ​จระเข้. นั่น​คือ​วิธี​ที่​งู​นี้​พราง​ตัว​ขณะ​เข้า​จัด​การ​เหยื่อ.

ขด​ที่​รัด​แน่น​และ​ขากรรไกร​ที่​หลวม

อนาคอนดา​ไม่​มี​พิษ. มัน​ฆ่า​เหยื่อ​โดย​ขด​รอบ​เหยื่อ​แล้ว​รัด​แน่น. มัน​ไม่​ได้​บดขยี้​เหยื่อ​ให้​แหลก ทว่า​แต่​ละ​ครั้ง​ที่​เหยื่อ​หายใจ​ออก งู​นี้​จะ​รัด​แน่น​เข้า​จน​เหยื่อ​ที่​หมด​ทาง​สู้​หายใจ​เข้า​ไม่​ได้. สัตว์​แทบ​ทุก​ชนิด—ตั้ง​แต่​เป็ด​ไป​จน​ถึง​กวาง—นับ​เป็น​เป้า​โจมตี​ของ​มัน​ทั้ง​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​น้อย​ครั้ง​ที่​จะ​ได้​ยิน​รายงาน​ที่​เชื่อถือ​ได้​ว่า​อนาคอนดา​กิน​คน.

เนื่อง​จาก​งู​ไม่​สามารถ​เคี้ยว​หรือ​ฉีก​อาหาร อนาคอนดา​ไม่​มี​ทาง​เลือก​อื่น​นอก​จาก​จะ​กลืน​เหยื่อ​ที่​ตาย​แล้ว​ทั้ง​ตัว—แม้​ว่า​เหยื่อ​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​ตัว​มัน​เอง​มาก. ที่​จริง หาก​คุณ​สามารถ​กลืน​อาหาร​ได้​อย่าง​อนาคอนดา คุณ​ก็​จะ​สามารถ​อ้า​ปาก​เขมือบ​ลูก​มะพร้าว​กลืน​ลง​ไป​ทั้ง​ลูก​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย​ราว​กับ​กลืน​ถั่ว​เม็ด​หนึ่ง. อนาคอนดา​ทำ​อย่าง​นี้​ได้​อย่าง​ไร?

“มัน​ขยับ​หัว​ของ​มัน​เดิน​บน​ตัว​เหยื่อ” คุณ​โฮล์มสตรอม​กล่าว. เขา​อธิบาย​ว่า​ขากรรไกร​ของ​อนาคอนดา​ยึด​ติด​กับ​หัว​อย่าง​หลวม ๆ. ก่อน​ฝัง​เขี้ยว​ลง​บน​เหยื่อ​ตัว​ใหญ่ ๆ ขากรรไกร​ล่าง​ของ​มัน​จะ​หย่อน​ลง​และ​ยืด​ออก. จาก​นั้น อนาคอนดา​ก็​จะ​ดัน​ขากรรไกร​ล่าง​ซีก​หนึ่ง​ไป​ข้าง​หน้า ฝัง​เขี้ยว​ซึ่ง​เอน​ไป​ข้าง​หลัง​ลง​บน​เหยื่อ แล้ว​ดึง​ขากรรไกร​ข้าง​นั้น​พร้อม​กับ​เหยื่อ​กลับ​มา​เข้า​ปาก​ของ​มัน. ต่อ​จาก​นั้น มัน​ก็​จะ​ทำ​ขั้น​ตอน​อย่าง​เดียว​กัน​นี้​ด้วย​ขากรรไกร​ล่าง​อีก​ซีก​หนึ่ง. ขากรรไกร​บน​สามารถ​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน​นี้​ได้​ใน​ระดับ​หนึ่ง. ด้วย​การ​ขยับ​ขากรรไกร​ไป​ข้าง​หน้า​สลับ​กัน​ไป​มา​อย่าง​นี้ ขากรรไกร​ของ​เจ้า​สัตว์​ชนิด​นี้​ดู​เหมือน​กับ​กำลัง​เดิน​บน​ตัว​เหยื่อ​จริง ๆ. ครั้น​เหยื่อ​ถูก​กลืน​ลง​ไป​แล้ว ซึ่ง​อาจ​ใช้​เวลา​หลาย​ชั่วโมง งู​ก็​จะ​หาว​สอง​สาม​ที แล้ว​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​หัว​ที่​ยืดหยุ่น​ได้​ก็​คืน​กลับ​เข้า​ที่.

เหตุ​ใด​อนาคอนดา​ไม่​ขาด​อากาศ​หายใจ? เพราะ​มัน​มี​ท่อ​ลม​ซึ่ง​ยืด​ได้​อยู่​ที่​พื้น​ปาก. ขณะ​ที่​กำลัง​กลืน​อาหาร​ของ​มัน​เข้า​ไป อนาคอนดา​จะ​ดัน​ท่อ​ลม​ออก​มา​อยู่​ที่​ด้าน​หน้า​ปาก. ด้วย​วิธี​นั้น ท่อ​ลม​ซึ่ง​ดู​คล้าย​กับ​ท่อ​หายใจ​ของ​นัก​ดำ​น้ำ​จึง​ทำ​ให้​อนาคอนดา​ได้​อากาศ​หายใจ​ขณะ​ที่​มัน​กำลัง​กิน.

ตัว​ไหน​เป็น​ตัว​ไหน?

ตอน​นี้​มัคคุเทศก์​ของ​ผม​เปิด​ฝา​ตู้​เลี้ยง​งู และ​เรา​มอง​ลง​ไป​ที่​อนาคอนดา​รุ่น​เยาว์​สอง​ตัว. หน้า​ตา​ของ​พวก​มัน​ที่​เหมือน​กัน​ไม่​มี​ผิด​ทำ​ให้​ผม​สงสัย​ว่า​นัก​วิจัย​ใช้​วิธี​ใด​ใน​การ​แยก​ความ​แตกต่าง​ของ​อนาคอนดา​นับ​ร้อย ๆ ตัว​ที่​พวก​เขา​ศึกษา​ระหว่าง​ที่​ดำเนิน​โครงการ​เวเนซุเอลา​นี้.

คุณ​โฮล์มสตรอม​อธิบาย​ว่า​พวก​เขา​พยายาม​แก้​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​การ​ระบุ​ตัว​ด้วย​การ​ทำ​ตรา​เหล็ก​ขนาด​จิ๋ว​ด้วย​คลิป​หนีบ​กระดาษ. พวก​เขา​เผา “เหล็ก” นี้​ให้​ร้อน​แล้ว​นาบ​ตัว​เลข​ขนาด​เล็ก​บน​หัว​ของ​อนาคอนดา. วิธี​นี้​ใช้​ได้​ผล​ดี​จน​กระทั่ง​งู​มัน​ลอก​คราบ—และ​ลอก​หมาย​เลข​ของ​มัน​ออก​ไป​ด้วย! อย่าง​ไร​ก็​ตาม นัก​วิจัย​สังเกต​ว่า​อนาคอนดา​แต่​ละ​ตัว​มี​ลาย​เฉพาะ​ของ​มัน​เอง​อยู่​แล้ว. งู​แต่​ละ​ตัว​มี​ลาย​เป็น​จุด​ดำ ๆ ข้าง​ใต้​หาง​ซึ่ง​มี​สี​เหลือง—เป็น​ลวด​ลาย​เฉพาะ​ของ​แต่​ละ​ตัว​แบบ​เดียว​กับ​ลาย​นิ้ว​มือ​ของ​มนุษย์. “สิ่ง​ที่​เรา​ต้อง​ทำ​ก็​มี​แต่​เพียง​ทำ​แผน​ภาพ​ลวด​ลาย​ที่​พบ​บน​ผืน​หนัง​ของ​มัน​ใน​ช่วง​ความ​ยาว 15 เกล็ด แล้ว​เรา​ก็​จะ​มี​ลวด​ลาย​มาก​พอ​ที่​จะ​ใช้​แยก​ความ​แตกต่าง​ของ​งู​ทั้ง 800 ตัว​ที่​เรา​ศึกษา​ได้.”

ตัว​ที่​เร็ว​ที่​สุด สมบูรณ์​ที่​สุด หรือ​แข็งแรง​ที่​สุด​ไหม?

เมื่อ​เรา​ปิด​ท้าย​การ​สัมภาษณ์​ที่​ห้อง​ทำ​งาน​ของ​คุณ​โฮล์มสตรอม เขา​ชี้​ให้​ผม​ดู​ภาพ​หนึ่ง​ซึ่ง​เขา​ถ่าย​ใน​เวเนซุเอลา เป็น​ภาพ​อนาคอนดา​เพศ​ผู้​หลาย​ตัว ทั้ง​หมด​ต่าง​ก็​รัด​กัน​และ​กัน. มัน​เป็น​ภาพ​ที่​สะกด​ให้​จังงัง​เลย​ที​เดียว. เขา​อธิบาย​ว่า​เงื่อน​ปม​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​ลำ​ตัว​ของ​อนาคอนดา​ที่​พัน​กัน​อยู่​อย่าง​ยุ่งเหยิง​นี้​เรียก​กัน​ว่า กระจุก​ผสม​พันธุ์. (โปรด​ดู​ภาพ​ใน​หน้า 26.) “ณ ที่​ใด​ที่​หนึ่ง​ข้าง​ใน​กระจุก​นี้​จะ​มี​อนาคอนดา​ตัว​เมีย​อยู่​ตัว​หนึ่ง. มี​อยู่​ครั้ง​หนึ่ง เรา​พบ​ตัว​เมีย​ที่​มี​ตัว​ผู้ 13 ตัว​รัด​กัน​อยู่​รอบ ๆ ตัว​มัน—นับ​เป็น​สถิติ​สูง​สุด​เท่า​ที่​ได้​มี​การ​บันทึก​ไว้.”

ตัว​ผู้​พวก​นี้​กำลัง​ต่อ​สู้​กัน​อยู่​ใช่​ไหม? จะ​ว่า​ไป​แล้ว ดู​คล้าย​กับ​การ​แข่งขัน​มวย​ปล้ำ​แบบ​สโลว์โมชัน​มาก​กว่า. ตัว​ผู้​แต่​ละ​ตัว​ที่​ร่วม​แข่งขัน​พยายาม​เบียด​ตัว​อื่น​ออก​ไป​เพื่อ​ให้​ตัว​มัน​เอง​ได้​เข้า​ไป​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​จะ​ผสม​พันธุ์​กับ​ตัว​เมีย​ได้. การ​แข่งขัน​อาจ​กิน​เวลา​นาน​สอง​ถึง​สี่​สัปดาห์. ใคร​เป็น​ผู้​ชนะ? ตัว​ที่​เร็ว​ที่​สุด (ตัว​ผู้​ที่​พบ​ตัว​เมีย​ก่อน), ตัว​ที่​สมบูรณ์​ที่​สุด (ตัว​ผู้​ที่​ผลิต​น้ำ​เชื้อ​มาก​ที่​สุด), หรือ​ตัว​ที่​แข็งแรง​ที่​สุด (ตัว​ผู้​ที่​ปล้ำ​ชนะ​การ​แข่งขัน) ไหม? นัก​วิจัย​หวัง​ว่า​คง​จะ​ได้​คำ​ตอบ​ใน​เร็ว ๆ นี้.

เย็น​วัน​นั้น ผม​กล่าว​ขอบคุณ​มัคคุเทศก์​สำหรับ​การ​นำ​เที่ยว​ที่​น่า​ประทับใจ. ขณะ​ที่​ผม​เดิน​ทาง​กลับ​ที่​ทำ​งาน ผม​คิด​ใคร่ครวญ​ถึง​สิ่ง​ที่​ผม​ได้​เรียน​รู้. จริง​อยู่ ผม​ก็​ยัง​คง​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​นัก​ชีววิทยา เคซูส รีบาส ที่​ว่า “อนาคอนดา​ขี้​เล่น” แต่​ผม​ยอม​รับ​ว่า​อนาคอนดา​ทำ​ให้​ผม​สนใจ​เป็น​อย่าง​มาก​ที​เดียว. ขณะ​ที่​นัก​วิจัย​ตาม​รอย​อนาคอนดา​ใน​ป่า​กัน​ต่อ​ไป นับ​เป็น​เรื่อง​น่า​สนใจ​ไม่​น้อย​ที่​จะ​ได้​ทราบ​ว่า​งู​ยักษ์​พวก​นี้​จะ​คาย​ความ​ลับ​อัน​น่า​ทึ่ง​ออก​มา​มาก​กว่า​นี้​หรือ​ไม่.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 4 กรม​อนุรักษ์​ชีวิต​ป่า​แห่ง​เวเนซุเอลา​และ​ฝ่าย​ต่าง ๆ ที่​ลง​นาม​ใน​อนุ​สัญญา​ว่า​ด้วย​การ​ค้า​พืช​และ​สัตว์​ป่า​ที่​ใกล้​สูญ​พันธุ์​ระหว่าง​ประเทศ ก็​ได้​ช่วย​ด้วย​การ​ให้​ทุน​สนับสนุน​ใน​การ​ศึกษา​วิจัย​ดัง​กล่าว.

^ วรรค 11 วารสาร​สัตว์​เลื้อยคลาน (ภาษา​อังกฤษ) จัด​พิมพ์​โดย​สมาคม​เพื่อ​การ​ศึกษา​สัตว์​สะเทิน​น้ำ​สะเทิน​บก​และ​สัตว์​เลื้อยคลาน ฉบับ​ที่ 4, 1997 หน้า 607-609.

[ภาพ​หน้า 24]

การ​ศึกษา​อนาคอนดา​ภาค​สนาม​ใน​เวเนซุเอลา

[ภาพ​หน้า 25]

วิลเลียม โฮล์มสตรอม

[ภาพ​หน้า 26]

กระจุก​ผสม​พันธุ์​อนาคอนดา