ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

โรค​เอดส์​ทั่ว​โลก

ตาม​รายงาน​ฉบับ​ใหม่​ของ​สหประชาชาติ ทั่ว​โลก “มี​มาก​กว่า 50 ล้าน​คน​ติด​เชื้อ​เอช​ไอ​วี-เอดส์ ซึ่ง​เป็น​จำนวน​พอ ๆ กับ​ประชากร​ของ​สหราชอาณาจักร และ​มี 16 ล้าน​คน​เสีย​ชีวิต​ไป​แล้ว” รายงาน​โดย​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ แห่ง​แคนาดา. “การ​วิจัย​ใน​ประเทศ​แถบ​แอฟริกา​เก้า​ประเทศ​เผย​ว่า​ตอน​นี้​มี​ผู้​หญิง​ติด​เชื้อ​มาก​กว่า​ผู้​ชาย​ถึง 20 เปอร์เซ็นต์” และ “สาว​รุ่น ๆ มี​โอกาส​ติด​เชื้อ​เอช​ไอ​วี-เอดส์​มาก​กว่า​เด็ก​หนุ่ม​ถึง​ห้า​เท่า.” ปีเตอร์ ไพออต ผู้​อำนวย​การ​บริหาร​แห่ง​โครงการ​ร่วม​ของ​สหประชาชาติ​ว่า​ด้วย​เอชไอวี-เอดส์ พรรณนา​สถานการณ์​ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก​ว่า “ลุก​ลาม​อย่าง​รวด​เร็ว.” รายงาน​ฉบับ​นี้​ชี้​ว่า “อัตรา​การ​ติด​เชื้อ​เอช​ไอ​วี​ใน​อดีต​สหภาพ​โซเวียต​เพิ่ม​ขึ้น​กว่า​สอง​เท่า​ใน​สอง​ปี​หลัง ซึ่ง​เป็น​การ​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​อัตรา​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​โลก.” ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า นี่​เป็น​การ​สะท้อน​ให้​เห็น​ว่า​มี​การ​ใช้​ยา​เสพย์ติด​แบบ​ฉีด​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​ภูมิภาค​นั้น. ตลอด​ทั่ว​โลก​กว่า​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​คน​ที่​ติด​เชื้อ​เอช​ไอ​วี-เอดส์ “ติด​เชื้อ​ก่อน​อายุ 25 ปี​และ​ส่วน​ใหญ่​เสีย​ชีวิต​ก่อน​วัน​เกิด​อายุ 35 ปี.”

การ​สื่อสาร​แบบ​เป่า​ปาก

เดอะ ไทมส์ แห่ง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า เด็ก​นัก​เรียน​ชาว​สเปน​ที่​เกาะ​โกเมรา ซึ่ง​อยู่​ใน​หมู่​เกาะ​คานารี ต้อง​เรียน​ภาษา​เป่า​ปาก​ซึ่ง​คน​เลี้ยง​แกะ​ใน​ท้องถิ่น​ใช้​มา​นาน​นับ​ศตวรรษ​แล้ว. วิธี​ซิลโบ ของ​ชาว​โกเมรา หรือ​การ​เป่า​ปาก เป็น​การ​เลียน​เสียง​พยางค์​คำ​พูด ซึ่ง​เดิม​ที​ถูก​คิด​ค้น​ขึ้น​เพื่อ​เป็น​ช่อง​ทาง​ใน​การ​ติด​ต่อ​ข้าม​หุบเขา​ใน​ภูมิ​ประเทศ​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ภูเขา. คน​เป่า​ปาก​จะ​ใส่​นิ้ว​เข้า​ไป​ใน​ปาก​เพื่อ​เปลี่ยน​ระดับ​เสียง และ​พวก​เขา​ใช้​มือ​ป้อง​ปาก​ของ​ตน​เพื่อ​ให้​เสียง​เดิน​ทาง​ไป​ได้​เป็น​ระยะ​ทาง​ไกล ๆ—อาจ​ถึง 3 กิโลเมตร. แม้​เกือบ​จะ​สูญ​หาย​ไป​ใน​ทศวรรษ 1960 แต่​วิธี​ซิลโบ กลับ​มา​เป็น​ที่​นิยม​กัน​อีก​ครั้ง และ​ปัจจุบัน​เกาะ​นี้​มี​วัน​เป่า​ปาก​ประจำ​ปี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​เป่า​ปาก​มี​ข้อ​จำกัด. ฮวน เอวาริสโต ผู้​อำนวย​การ​โรง​เรียน​แห่ง​หนึ่ง กล่าว​ว่า “คุณ​สามารถ​คุย​กัน​ได้ แต่​ก็​ไม่​สามารถ​คุย​กัน​ได้​มาก​เท่า​ไร.”

เด็ก ๆ กับ​การ​นอน​หลับ

วารสาร​บิดา​มารดา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “คุณ​พ่อ​คุณ​แม่​ไม่​เพียง​แต่​ต้อง​กำหนด​ว่า​ลูก​วัย​เรียน​จะ​อยู่​ได้​ดึก​แค่​ไหน แต่​ต้อง​กำหนด​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ทำ​ก่อน​เข้า​นอน​ด้วย. การ​ดู​โทรทัศน์, การ​เล่น​เกม​คอมพิวเตอร์​และ​วิดีโอ​เกม, และ​การ​ท่อง​อินเทอร์เน็ต​เป็น​กิจกรรม​ที่​กระตุ้น​จิตใจ​ของ​เด็ก​ให้​ทำ​งาน​ล่วง​เวลา. นอก​จาก​นั้น งาน​หลัง​เลิก​เรียน​ปริมาณ​มาก ๆ ทำ​ให้​พวก​เขา​ไม่​สามารถ​ทำ​การ​บ้าน​ให้​เสร็จ​ใน​เวลา​อัน​ควร.” การ​วิจัย​แสดง​ว่า​การ​อด​นอน​มัก​จะ​มี​ผล​กระทบ​ที่​ต่าง​ออก​ไป​ใน​เด็ก ๆ—เด็ก​เหล่า​นั้น​จะ​กลาย​เป็น​เด็ก​อยู่​ไม่​สุข​และ​ควบคุม​ยาก, ขณะ​ที่​ผู้​ใหญ่​จะ​ง่วง​เหงา​และ​ซึม​เซา. ผล​ก็​คือ เมื่อ​อยู่​ที่​โรง​เรียน เด็ก ๆ ที่​อด​นอน​จะ​ขาด​ความ​สามารถ​ใน​การ​จดจ่อ, การ​ตั้งใจ​ฟัง, การ​จด​จำ​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​เรียน, และ​การ​แก้​ปัญหา. ผู้​เชี่ยวชาญ​บอก​ว่า​บิดา​มารดา​ต้อง​กำหนด​เวลา​ที่​เด็ก​จะ​เข้า​นอน​และ​ให้​เป็น​เรื่อง​ที่​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​แรก​สุด—ไม่​ใช่​เป็น​ทาง​เลือก​สุด​ท้าย​หลัง​จาก​หมด​แรง​หรือ​ไม่​มี​อะไร​จะ​ทำ​แล้ว.

ดาว​เคราะห์​โลก​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร

ตาม​การ​รายงาน​ของ​พวก​นัก​ดาราศาสตร์ มี​การ​ค้น​พบ​ดาว​เคราะห์​ใหม่ ๆ เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ขณะ​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​วัด​การ​ส่าย​เล็ก​น้อย—ที่​เกิด​ขึ้น​จาก​แรง​โน้มถ่วง​ของ​ดาว​เคราะห์—ของ​ดาว​ฤกษ์​ที่​มี​ดาว​เคราะห์​เป็น​บริวาร​ซึ่ง​อยู่​ไกล​ออก​ไป. จน​ถึง​ปี 1999 มี​การ​อ้าง​ว่า​ค้น​พบ​ดาว​เคราะห์​นอก​ระบบ​สุริยะ​ของ​เรา 28 ดวง​แล้ว. กล่าว​กัน​ว่า ดาว​เคราะห์​ดวง​ใหม่ ๆ ที่​ถูก​ค้น​พบ​นี้​มี​ขนาด​พอ ๆ กับ​ดาว​พฤหัสบดี​หรือ​ใหญ่​กว่า. ดาว​พฤหัสบดี​มี​มวล​มาก​กว่า​โลก​ประมาณ 318 เท่า. เช่น​เดียว​กับ​ดาว​พฤหัสบดี มี​การ​สันนิษฐาน​ว่า​ดาว​เคราะห์​เหล่า​นี้​น่า​จะ​มี​องค์​ประกอบ​เป็น​ฮีเลียม​และ​ไฮโดรเจน. เนื่อง​จาก​รัศมี​วงโคจร​ที่​ห่าง​ของ​ดาว​เคราะห์​เหล่า​นั้น ว่า​กัน​ว่า​มี​ความ​เป็น​ไป​ได้​น้อย​มาก​ที่​ดาว​เคราะห์​ขนาด​ใกล้​เคียง​กับ​โลก​จะ​อยู่​ใน​หมู่​ดาว​เคราะห์​เหล่า​นั้น​ได้. ยิ่ง​กว่า​นั้น ไม่​เหมือน​วงโคจร​ซึ่ง​ค่อนข้าง​กลม​ของ​โลก​ที่​อยู่​ห่าง​จาก​ดวง​อาทิตย์ 150 ล้าน​กิโลเมตร ดาว​เคราะห์​เหล่า​นี้​โคจร​รอบ​ดาว​ฤกษ์​เป็น​รูป​วง​รี. ที่​จริง ดาว​เคราะห์​ดวง​หนึ่ง​มี​วงโคจร​ห่าง​จาก​ดาว​แม่​ตั้ง​แต่ 58 ล้าน​กิโลเมตร​ถึง 344 ล้าน​กิโลเมตร. นัก​ดาราศาสตร์​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “มัน​เริ่ม​ดู​เหมือน​ว่า​วงโคจร​ที่​ค่อนข้าง​กลม​ซึ่ง​ซ้อน​กัน​อย่าง​เป็น​ระเบียบ​อย่าง​ที่​เรา​เห็น​ใน​ระบบ​สุริยะ​ของ​เรา​นั้น​มี​น้อย​มาก.”

โลชัน​กัน​แดด​กับ​มะเร็ง

เดอะ ไทมส์ แห่ง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “การ​ทา​โลชัน​กัน​แดด​ที่​มี​ระดับ​การ​ปก​ป้อง​สูง ๆ หลอก​ผู้​คน​ให้​คิด​ว่า​ตัว​เอง​ปลอด​ภัย​และ​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​มะเร็ง​ผิวหนัง​เพิ่ม​ขึ้น. นี่​เป็น​เพราะ​พวก​เขา​อยู่​กลาง​แดด​นาน​ขึ้น​และ​ได้​รับ​รังสี​มาก​ขึ้น.” นัก​วิจัย​จาก​สถาบัน​วิทยา​เนื้อ​งอก​แห่ง​ยุโรป​ใน​เมือง​มิลาน ประเทศ​อิตาลี พบ​ว่า​คน​ที่​ใช้​โลชัน​กัน​แดด​ที่​มี​ระดับ​การ​ปก​ป้อง 30 จะ​ใช้​เวลา​อยู่​กลาง​แดด​นาน​กว่า​คน​ที่​ใช้​โลชัน​กัน​แดด​ที่​มี​ระดับ​การ​ปก​ป้อง 10 ถึง​ร้อย​ละ 25. ฟิลลิเป โอเทียร์ ผู้​เขียน​งาน​วิจัย​ฉบับ​นี้​กล่าว​ว่า “ยัง​ไม่​มี​การ​แสดง​ให้​เห็น​ประสิทธิภาพ​ของ​โลชัน​กัน​แดด​ใน​การ​ป้องกัน​มะเร็ง​ผิวหนัง​ใน​ท่ามกลาง​ประชากร​ทั่ว​ไป โดย​เฉพาะ​มะเร็ง​ชนิด​เมลาโนมา แต่​มี​ข้อมูล​ที่​น่า​เชื่อถือ​ซึ่ง​แสดง​ให้​เห็น​ความ​เกี่ยว​พัน​กัน​อย่าง​ใกล้​ชิด​ระหว่าง​การ​ตาก​แดด​นาน ๆ กับ​การ​เป็น​มะเร็ง​ผิวหนัง.” ตอน​นี้​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​สุขภาพ​กำลัง​เตือน​เรื่อง​การ​อยู่​กลาง​แดด​เป็น​เวลา​นาน ๆ ไม่​ว่า​โลชัน​กัน​แดด​จะ​มี​ระดับ​การ​ปก​ป้อง​สูง​ขนาด​ไหน. คริสโตเฟอร์ นิว ผู้​อำนวย​การ​โครงการ​รณรงค์​ป้องกัน​มะเร็ง​ของ​องค์การ​สุข​ศึกษา​แห่ง​อังกฤษ​แนะ​นำ​ว่า “อย่า​เลิก​ใช้​โลชัน​กัน​แดด แต่​จำ​ไว้​ว่า​คุณ​ไม่​ควร​ใช้​มัน​เพื่อ​จะ​อาบ​แดด​ได้​นาน​ขึ้น.”

วิธี​เดิน​ทาง​ที่​ดี​เยี่ยม​หรือ?

รถ​เพดดิแคบ ซึ่ง​เรียก​อีก​ชื่อ​ว่า​รถ​สาม​ล้อ​ถีบ ใช้​กัน​ใน​อินเดีย​มา​หลาย​ทศวรรษ​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม นิตยสาร​เอาท์ลุก กล่าว​ว่า รถ​สาม​ล้อ​นี้​ยัง​ไม่​มี​อะไร​เปลี่ยน​ไป​เลย คือ​มี “โครง​สร้าง​เป็น​ไม้​หนา ๆ, โครง​รถ​เป็น​เหล็ก​หล่อ​ขนาด​ใหญ่, ที่​นั่ง​เอียง​กระเท่เร่​และ​ไม่​มี​เกียร์.” ใน​ปี​หลัง ๆ นี้ มี​การ​ต่อ​ต้าน​การ​ใช้​รถ​แบบ​นี้​กัน​มาก​เนื่อง​จาก​เป็น​การ​ทรมาน​คน​ขี่ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ผู้​ชาย​แก่ ๆ ที่​ไม่​ได้​รับ​สาร​อาหาร​อย่าง​พอ​เพียง. ตอน​นี้ เมื่อ​มลพิษ​ใน​อินเดีย​สูง​ขึ้น​จน​ถึง​ระดับ​อันตราย รถ​สาม​ล้อ​ถีบ​ก็​ถูก​ปลุก​ขึ้น​มา​ใหม่. บริษัท​ซึ่ง​มี​ฐาน​อยู่​ใน​นคร​เดลี​ได้​คิด​ค้น​รถ​แบบ​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​โครง​สร้าง​เบา​ขึ้น​และ​เพรียว​ลม, ระบบ​เกียร์​ซึ่ง​ช่วย​ผ่อน​แรง​ลง​มาก, เบาะ​นั่ง​ซึ่ง​ถูก​ต้อง​ตาม​หลัก​การยศาสตร์, มือ​จับ​ที่​ลด​อาการ​ปวด​เมื่อย​ข้อ​มือ, และ​ที่​นั่ง​ผู้​โดยสาร​ที่​กว้าง​และ​สบาย​ขึ้น. ตาม​คำ​กล่าว​ของ ที. วินิต หัวหน้า​โครงการ​นี้ “รถ​สาม​ล้อ​รุ่น​นี้​เข้า​กัน​ได้​เหมาะเจาะ​กับ​แนว​โน้ม​ทาง​การ​เมือง​หรือ​ทาง​สังคม​ใน​สมัย​นี้​ซึ่ง​เรื่อง​สิทธิ​มนุษยชน​และ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ปลอด​มลพิษ​เป็น​สิ่ง​ที่​กำลัง​ได้​รับ​ความ​สนใจ​มาก.” วารสาร​เอาท์ลุก กล่าว​ว่า “รถ​สาม​ล้อ​อัน​ต่ำ​ต้อย​อาจ​เป็น​วิธี​เดิน​ทาง​ที่​ดี​เยี่ยม​ของ​ศตวรรษ​ที่ 21.”

ไปรษณีย์​ที่​ไม่​มี​อะไร​มา​แทน​ได้

หนังสือ​พิมพ์​เลอ ฟิกาโร กล่าว​ว่า จน​ถึง​เดี๋ยว​นี้ “เทคโนโลยี​ยัง​ไม่​อาจ​แทน​ที่​พลัง​ของ​จดหมาย​ได้.” ใน​ปี 1999 กรม​ไปรษณีย์​ของ​ฝรั่งเศส​บริการ​ส่ง​จดหมาย​มาก​เป็น​ประวัติการณ์​ถึง​สอง​หมื่น​ห้า​พัน​ล้าน​ฉบับ. ใน​จดหมาย​เหล่า​นี้ 90 เปอร์เซ็นต์​เป็น​จดหมาย​ทาง​ธุรกิจ และ​มี​เพียง 10 เปอร์เซ็นต์​เท่า​นั้น​เป็น​จดหมาย​ส่วน​ตัว. เกือบ​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​จดหมาย​ทุก​ประเภท​มี​โฆษณา​ไม่​แบบ​ใด​ก็​แบบ​หนึ่ง ซึ่ง​คน​ที่​ถูก​สัมภาษณ์ 98 เปอร์เซ็นต์​บอก​ว่า​ได้​อ่าน​อย่าง​ถี่ถ้วน. แต่​ละ​วัน ผู้​นำ​ส่ง​จดหมาย​ใน​ฝรั่งเศส​จำนวน 90,000 คน ซึ่ง​เป็น​ผู้​หญิง 40 เปอร์เซ็นต์ ออก​ไป​ส่ง​จดหมาย​กว่า 72,000 เที่ยว​เพื่อ​ส่ง​จดหมาย 60 ล้าน​ฉบับ​ทุก​วัน.

บริษัท​ประกันภัย​ที่​วิตก​กังวล

หนังสือ​พิมพ์​เลอ มงด์ ของ​ฝรั่งเศส​รายงาน​ว่า ปี 1999 “เป็น​ปี​อาถรรพ์​สำหรับ​การ​ประกันภัย​ต่อ.” ภัย​พิบัติ​ทาง​ธรรมชาติ​ใน​ปี 1998 ก่อ​ความ​เสียหาย​กว่า​เก้า​หมื่น​ล้าน​ดอลลาร์ ซึ่ง​บริษัท​ประกันภัย​ต้อง​จ่าย​ค่า​สิน​ไหม​ทดแทน​ถึง​หนึ่ง​หมื่น​ห้า​พัน​ล้าน​ดอลลาร์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปี 1999 ซึ่ง​มี​แผ่นดิน​ไหว​ใน​ตุรกี​และ​ไต้หวัน, พายุ​ไต้ฝุ่น​ที่​ญี่ปุ่น, น้ำ​ท่วม​ใน​อินเดีย​และ​เวียดนาม, และ​ภัย​พิบัติ​อื่น ๆ อาจ​ทำ​ให้​บริษัท​ประกันภัย​ต้อง​จ่าย​มาก​กว่า​นั้น​อีก. บริษัท​ประกันภัย​เป็น​ห่วง​เรื่อง​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​มี​สูง​ขึ้น​ว่า​จะ​เกิด​ความ​หายนะ​รุนแรง​ใน​เขต​ที่​มี​ประชากร​อยู่​หนา​แน่น. บริษัท​ประกันภัย​ชั้น​นำ​ของ​โลก​เตือน​เรื่อง “ผล​กระทบ​อัน​ร้ายกาจ” ของ​การ​ที่​โลก​ร้อน​ขึ้น​และ “ผล​พวง​ของ​กิจกรรม​ที่​มนุษย์​ก่อ​ขึ้น​ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​สภาพ​ภูมิ​อากาศ.”

ภูเขา​เอเวอเรสต์​ยิ่ง​สูง​ขึ้น​ใน​ตอน​นี้

สำนัก​ข่าว​รอยเตอร์​รายงาน​ว่า “ภูเขา​เอเวอเรสต์ ภูเขา​ที่​สูง​ที่​สุด​ใน​โลก สูง​กว่า​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​เคย​คิด​กัน​เสีย​อีก และ​ยัง​กำลัง​สูง​ขึ้น​เรื่อย ๆ. โดย​ใช้​ระบบ​ดาว​เทียม​ที่​สลับ​ซับซ้อน, นัก​ปีน​เขา​วัด​ความ​สูง​ของ​ภูเขา​เอเวอเรสต์​ได้ 8,850 เมตร หรือ​เกือบ 9 กิโลเมตร . . . ตัว​เลข​นี้​สูง​กว่า 8,848 เมตร​ซึ่ง​เป็น​ระดับ​ความ​สูง​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ที่​วัด​ใน​ปี 1954 ถึง​สอง​เมตร.” ความ​สูง​ที่​วัด​ได้​ใหม่​นี้​เป็น​ความ​สูง​ของ​ยอด​ที่​ปก​คลุม​ด้วย​หิมะ. ความ​สูง​ที่​แท้​จริง​ของ​ยอด​หิน​ซึ่ง​อยู่​ใต้​หิมะ​นั้น​ยัง​ไม่​มี​ใคร​วัด​ได้. สมาคม​แนชันแนล จีโอกราฟิก จะ​ใช้​ตัว​เลข​ใหม่​นี้​ใน​แผนที่​ของ​สมาคม. นอก​จาก​เคลื่อน​ตัว​สูง​ขึ้น​แล้ว ภูเขา​นี้—ที่​จริง​ทั้ง​เทือก​เขา​หิมาลัย—กำลัง​เคลื่อน​ตัว​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ ไป​ทาง​ประเทศ​จีน ประมาณ 1.5 ถึง 6 มิลลิเมตร​ใน​แต่​ละ​ปี.