การโฆษณาชวนเชื่ออาจร้ายแรงถึงตาย
การโฆษณาชวนเชื่ออาจร้ายแรงถึงตาย
“คำโกหกเดินทางไปได้ครึ่งโลกแล้ว แต่ความจริงยังใส่รองเท้าอยู่.”—เชื่อกันว่าเป็นคำพูดของมาร์ก ทเวน.
“แก เจ้ายิวทุเรศ!” ครูตะคอกใส่เด็กนักเรียนวัยเจ็ดขวบขณะตบหน้าเขา. แล้วเธอก็ชวนนักเรียนทั้งชั้นเดินเรียงแถวเข้ามาถ่มน้ำลายรดหน้าเด็กคนนี้.
ทั้งครูและนักเรียนคนนั้น—ซึ่งเป็นหลานห่าง ๆ ของเธอเอง—รู้ดีว่าเขาและพ่อแม่ไม่ใช่ยิวโดยสายเลือด อีกทั้งไม่ใช่ยิวโดยความเชื่อทางศาสนา แต่พวกเขาเป็นพยานพระยะโฮวา. โดยฉวยประโยชน์จากความเดียดฉันท์ที่มีอย่างแพร่หลายต่อคนยิว ครูกำลังปลุกเร้าให้เกลียดชังเด็กชายคนนั้น. ครูและนักเรียนในชั้นได้รับการบอกเล่าจากบาทหลวงของพวกเขาเป็นเวลาหลายปีว่า พยานพระยะโฮวาเลวทรามต่ำช้า. พ่อแม่ของเด็กคนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และสายลับซีไอเอ. ดังนั้น เพื่อนร่วมชั้นของเขาจึงเรียงแถวเข้ามา กระตือรือร้นที่จะถ่มน้ำลายรดหน้าของ “เจ้ายิวทุเรศ.”
เด็กคนนี้อยู่รอดมาได้เพื่อเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา. แต่ชาวยิวหกล้านคนที่อยู่ในเยอรมนีและประเทศใกล้เคียงเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้วไม่เป็นอย่างนั้น. การโฆษณาชวนเชื่ออันชั่วร้ายเป็นเครื่องมือที่คร่าชีวิตพวกยิวในห้องแก๊สพิษและในค่ายกักกันของนาซี. การต่อต้านเชื้อสายยิวอย่างแพร่หลาย, สุดฤทธิ์, ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง, และอย่างชั่วร้าย ทำให้หลายคนมองพวกยิวเป็นศัตรู ซึ่งไม่เพียงต้องกำจัดให้สิ้นซากเท่านั้น แต่ยังถือว่าการกำจัดนั้นเป็นเรื่องถูกต้องอีกด้วย. ในกรณีดังกล่าว การโฆษณาชวนเชื่อกลายเป็นอาวุธสังหารผู้คนจำนวนมาก.
ถูกแล้ว การโฆษณาชวนเชื่ออาจแสดงออกอย่างเปิดเผยโดยการใช้เครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความชิงชัง อย่างเช่น สวัสติกะ หรือเป็นแบบแฝงเร้นโดยใช้คำตลกล้อเลียนที่ไม่สุภาพ. เทคนิคแห่งการจูงใจมักนำไปใช้โดยผู้เผด็จการ, นักการเมือง, นักเทศน์นักบวช, นักโฆษณา, พ่อค้าแม่ค้า, นักหนังสือพิมพ์, นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์, นักประชาสัมพันธ์, และคนอื่น ๆ ที่สนใจในการโน้มน้าวความคิดและพฤติกรรม.
แน่ละ การโฆษณาชวนเชื่ออาจถูกใช้เพื่อทำให้เป้าหมายทางสังคมที่เสริมสร้างบรรลุผลสำเร็จ เช่น ในการรณรงค์เพื่อลดการขับรถขณะเมาสุรา. แต่การโฆษณาชวนเชื่อก็อาจถูกใช้เช่นกันเพื่อส่งเสริมความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์หรือศาสนาของชนกลุ่มน้อย หรือเพื่อล่อใจผู้คนให้ซื้อบุหรี่. นักวิจัยแอนโทนี แพรตกานิส และ เอลเลียต อารอนสัน ชี้ว่า “ทุกวันเราถูกกระหน่ำด้วยการโฆษณาจูงใจครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ขาดสาย. การโฆษณาจูงใจเหล่านี้ไม่ได้ทำโดยวิธีอ้างเหตุผลและการอภิปรายแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แต่ทำโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมบิดเบือนสื่อต่าง ๆ รวมทั้งอารมณ์พื้นฐานที่สุดของมนุษย์เรา. พวกเรากำลังอยู่ในยุคแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นในแบบที่ก่อประโยชน์หรือให้โทษก็ตาม.”
มีการใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปลุกเร้าความคิดและการกระทำของมนุษย์ตลอดหลายศตวรรษอย่างไร? คุณอาจทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องตัวเองจากการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นอันตราย? มีแหล่งข้อมูลที่ไว้วางใจได้ไหม? จะมีการพิจารณาคำถามเหล่านี้และคำถามอื่น ๆ ในบทความถัดไป.
[ภาพหน้า 3]
การโฆษณาชวนเชื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ชาวยิวตกเป็นเหยื่อระหว่างการสังหารหมู่พลเรือนโดยพวกนาซี