การใช้เล่ห์เหลี่ยมบิดเบือนข้อมูล
การใช้เล่ห์เหลี่ยมบิดเบือนข้อมูล
“โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่ออย่างชาญฉลาดและไม่ละลด แม้แต่สวรรค์ก็อาจทำให้เป็นนรกสำหรับผู้คนได้ และในทางกลับกัน สภาพที่น่าสมเพชที่สุดก็อาจกลายเป็นแดนสุขาวดี.”—อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จากหนังสือการต่อสู้ของข้าพเจ้า (ภาษาเยอรมัน).
เนื่องด้วยวิธีสื่อสารได้พัฒนาขึ้น—จากการพิมพ์เป็นโทรศัพท์, วิทยุ, โทรทัศน์, และอินเทอร์เน็ต—ข่าวสารเชิงโน้มน้าวจูงใจที่หลั่งไหลออกมาจึงเพิ่มความรวดเร็วขึ้นมาก. การปฏิวัติด้านการสื่อสารนี้ส่งผลให้มีข้อมูลข่าวสารมากมายก่ายกอง ขณะที่ผู้คนถูกกระหน่ำด้วยข้อมูลนับไม่ถ้วนจากทั่วทุกสารทิศ. หลายคนตอบสนองความกดดันนี้โดยซึมซับข่าวสารรวดเร็วยิ่งขึ้นและเชื่อข่าวโดยไม่ตรวจสอบหรือวิเคราะห์ให้ถ้วนถี่.
พวกนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีเล่ห์เหลี่ยมชอบคนที่ใช้ทางลัดแบบนี้—โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ลัดวงจรการคิดหาเหตุผล. การโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนวิธีดังกล่าวโดยการปลุกเร้าอารมณ์, ฉวยโอกาสจากความไม่แน่ใจ, ใช้ประโยชน์จากคำพูดกำกวม, และโดยการบิดเบือนกฎแห่งตรรกวิทยา. ดังประวัติศาสตร์ยืนยัน กลยุทธ์เช่นนี้ได้ผลอย่างยิ่ง.
ประวัติแห่งการโฆษณาชวนเชื่อ
ปัจจุบัน คำว่า “การโฆษณาชวนเชื่อ” แฝงความหมายในแง่ลบ โดยส่อถึงกลยุทธ์ที่ไม่สุจริต แต่ความหมายแรกเดิมจริง ๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น. คำภาษาอังกฤษที่แปลว่า “การโฆษณาชวนเชื่อ” ดูเหมือนมาจากชื่อลาตินของคาร์ดินัลโรมันคาทอลิกกลุ่มหนึ่งคือ คอนกรีเกทิโอ เด โปรปากันดา ฟีเด (ประชาคมเพื่อเผยแพร่ความเชื่อ). คณะกรรมการนี้—ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่าโปรปากันดา—ตั้งขึ้นในปี 1622 โดยโปปเกรกอรีที่ 15 เพื่อดูแลพวกมิชชันนารี. ทีละเล็กทีละน้อย “โปรปากันดา” ได้กลายความหมายเป็นความพยายามใด ๆ ก็ตามเพื่อเผยแพร่ความเชื่อ.
แต่แนวคิดเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้ถือกำเนิดในศตวรรษที่ 17. ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว มนุษย์ได้ใช้สื่อที่มีอยู่ทุกอย่างเพื่อแพร่แนวความคิดหรือเสริมชื่อเสียงและอำนาจให้กับตัวเอง. ยกตัวอย่าง มีการใช้ความสามารถทางศิลปะเพื่อจุดมุ่งหมายเชิงโฆษณาชวนเชื่อตั้งแต่สมัยของฟาโรห์แห่งอียิปต์แล้ว. กษัตริย์เหล่านั้นได้ออกแบบพีระมิดของตนเพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์แห่งอำนาจและความยั่งยืนนาน. คล้ายคลึงกัน สถาปัตยกรรมของชาวโรมันก็ส่งเสริมจุดมุ่งหมายทางการเมือง—สง่าราศีแห่งรัฐ. สำนวน “การโฆษณาชวนเชื่อ” มีความหมายในแง่ลบอย่างกว้างขวางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อรัฐบาลต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทอย่างแข็งขันใน
การควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสงครามโดยสื่อต่าง ๆ. ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และโยเซฟ เกิบเบลส์ ได้แสดงให้เห็นว่าตนเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อที่เชี่ยวชาญ.หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การโฆษณาชวนเชื่อได้กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ในการส่งเสริมนโยบายประจำชาติ. ไม่ว่ากลุ่มประเทศทางตะวันตกหรือตะวันออกต่างก็ทำการรณรงค์ทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะใจผู้คนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ได้เข้ากับฝ่ายใดให้มาอยู่ฝ่ายตน. ทุกแง่มุมของชีวิตความเป็นอยู่และนโยบายประจำชาติถูกใช้เพื่อจุดมุ่งหมายเชิงโฆษณาชวนเชื่อ. ไม่กี่ปีมานี้ ชั้นเชิงที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อเห็นได้ชัดจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและการโฆษณาของบริษัทยาสูบ. มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญตามที่เรียกกันรวมทั้งพวกผู้นำอื่น ๆ ให้พรรณนาการสูบบุหรี่ว่ามีเสน่ห์และเป็นประโยชน์ ไม่ได้คุกคามสุขภาพของสาธารณชน ดังที่เป็นอยู่จริง ๆ.
โกหก โกหก!
แน่ละ กลยุทธ์ที่ใกล้มือที่สุดของนักโฆษณาชวนเชื่อคือการใช้คำโกหกอย่างหน้าด้าน ๆ. เพื่อเป็นตัวอย่าง
ขอพิจารณาคำโกหกที่มาร์ติน ลูเทอร์ เขียนในปี 1543 เกี่ยวกับชาวยิวในยุโรปดังนี้: “พวกเขาวางยาพิษในบ่อน้ำ, ทำการลอบสังหาร, ลักพาตัวเด็ก . . . พวกเขาชั่วร้าย, ผูกพยาบาท, อาฆาตแค้น, เป็นอสรพิษเจ้าเล่ห์, เป็นผู้ร้ายลอบสังหาร, และเป็นลูกพญามารที่ลอบกัดและก่อความเสียหาย.” เขาปลุกระดมให้พวกที่เรียกกันว่าคริสเตียนทำอะไร? “เผาธรรมศาลาและโรงเรียนของพวกยิว . . . บ้านของพวกยิว [สมควร] ถูกเผาให้สิ้นซากด้วย.”ศาสตราจารย์ด้านรัฐบาลและสังคมศึกษาคนหนึ่งซึ่งได้ศึกษาสมัยดังกล่าว บอกว่า “ลัทธิต่อต้านยิวโดยมูลฐานแล้วไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกระทำของพวกยิว ฉะนั้น จึงไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความรู้ของพวกนักลัทธิต่อต้านยิวในเรื่องลักษณะอันแท้จริงของชาวยิว.” เขายังให้ข้อสังเกตอีกว่า “พวกยิวเป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่ไม่ดี เพื่อว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายทางธรรมชาติหรือทางสังคม จะได้มองว่ามาจากพวกยิว.”
ทำให้เป็นสามัญการ
กลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อประสบผลสำเร็จอย่างมากก็คือ การทำให้เป็นสามัญการ (การสรุปว่าคนทั้งกลุ่มเป็นเหมือนคนส่วนน้อยในกลุ่มนั้น). สามัญการมักจะบดบังข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่แท้จริงของเรื่อง และมีการใช้วิธีนี้บ่อย ๆ เพื่อเหยียดหยามผู้คนทั้งกลุ่ม. ตัวอย่างเช่น วลีหนึ่งที่มักได้ยินบ่อย ๆ ในบางประเทศทางแถบยุโรปก็คือ “พวกยิปซี [หรือผู้ย้ายถิ่น] เป็นหัวขโมย.” แต่นั่นเป็นความจริงไหม?
รีคาร์ดอส ซอเมริทิส นักเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์บอกว่า ในประเทศหนึ่ง ความเข้าใจดังกล่าวก่อให้เกิดความ “เกลียดกลัวชาวต่างชาติและบ่อยทีเดียวนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติอย่างรุนแรง.” อย่างไรก็ตาม มีการแสดงให้เห็นว่าเมื่อพูดถึงการกระทำผิดกฎหมาย ความเป็นไปได้ที่ผู้กระทำผิดในประเทศนั้นจะเป็นชาวพื้นเมืองก็มีพอ ๆ กับชาวต่างชาติ. ยกตัวอย่าง ซอเมริทิสบอกว่าการสำรวจต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าในประเทศกรีซ “อาชญากรรม 96 รายจาก 100 รายกระทำโดย [ชาวกรีก].” เขาให้ข้อสังเกตว่า “สาเหตุของการกระทำผิดทางอาญาเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่ ‘เชื้อชาติ.’” เขาโทษสื่อต่าง ๆ “เรื่องการปลูกฝังอย่างเป็นระบบให้เกลียดกลัวชาวต่างชาติและก่อให้เกิดการนิยมเชื้อชาติ” โดยทำข่าวอาชญากรรมแบบบิดเบือน.
การขนานนาม
บางคนเหยียดหยามคนที่ไม่เห็นพ้องกับตนโดยตั้งข้อสงสัยเรื่องลักษณะเฉพาะหรือเหตุจูงใจแทนที่จะเพ่งเล็งไปยังข้อเท็จจริง. การขนานนามเป็นการให้ชื่อเรียกขานในเชิงลบซึ่งง่ายต่อการจดจำต่อบุคคล, กลุ่ม, หรือแนวความคิด. ผู้ขนานนามหวังว่าคำเรียกขานดังกล่าวจะติดตัวไปตลอด. ถ้าผู้คนปฏิเสธบุคคลนั้นหรือแนวคิดนั้นเนื่องด้วยชื่อเรียกขานในทางลบแทนที่จะชั่งดูหลักฐานต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ยุทธวิธีในการขนานนามก็ถือว่าได้ผล.
ยกตัวอย่าง ไม่กี่ปีมานี้ความรู้สึกที่รุนแรงเรื่องลัทธินิกายได้แผ่ลามไปหลายประเทศในยุโรปและที่อื่น ๆ. กระแสเช่นนี้ปลุกเร้าอารมณ์, สร้างภาพลักษณ์ของการเป็นศัตรู, และทำให้ความเดียดฉันท์ที่มีอยู่แล้วต่อกลุ่มศาสนาเล็ก ๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น. บ่อยครั้งคำว่า “ลัทธินิกาย” กลายเป็นคำที่พูดติดปาก. มาร์ติน ครีเล ศาสตราจารย์ชาวเยอรมันได้เขียนไว้ในปี 1993 ว่า “คำ ‘ลัทธินิกาย’ เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้แทน ‘คนนอกรีต’ และปัจจุบัน คนนอกรีตในเยอรมนีก็เช่นเดียวกับสมัยก่อนคือ [ถูกตัดสินลงโทษให้ตาย]—ถ้าไม่โดยไฟเผา . . . ,ก็โดยการทำลายชื่อเสียง, การโดดเดี่ยวจากสังคมและการทำลายทางเศรษฐกิจ.”
สถาบันเพื่อการวิเคราะห์การโฆษณาชวนเชื่อให้ข้อสังเกตว่า “การขนานนามเชิงเหยียดหยามได้แสดงบทบาทอันเต็มไปด้วยพลังน่ากลัวในประวัติศาสตร์ของมนุษย์และในพัฒนาการของเราแต่ละคน. มันได้ทำลายชื่อเสียง, . . . ส่ง [ผู้คน] เข้าคุก, และทำให้มนุษย์บ้าคลั่งพอที่จะเข้าสู่สงครามและสังหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.”
การใช้เล่ห์เหลี่ยมปลุกเร้าอารมณ์
แม้จะไม่ถูกเรื่องที่เอาความรู้สึกมาใช้ยืนยันความจริงหรือใช้หาเหตุผลตามหลักตรรกวิทยา แต่มันก็มีบทบาทสำคัญในการจูงใจ. นักประชาสัมพันธ์ที่มีประสบการณ์
จะคิดหาวิธีปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกอย่างช่ำชองพอ ๆ กับนักดนตรีที่ชำนาญในการบรรเลงเปียโน.ยกตัวอย่าง ความกลัว เป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้การพิจารณาตัดสินคลาดเคลื่อนได้. และความกลัวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเช่นเดียวกับความอิจฉา. หนังสือพิมพ์แคนาดาชื่อเดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1999 รายงานเหตุการณ์จากมอสโกดังนี้: “เมื่อเด็กสาวสามคนฆ่าตัวตายในมอสโกสัปดาห์ที่แล้ว สื่อมวลชนในรัสเซียเสนอข่าวเชิงชี้นำทันทีว่าพวกเขาเป็นสาวกผู้คลั่งไคล้ของพวกพยานพระยะโฮวา.” โปรดสังเกตคำว่า “คลั่งไคล้.” ตามปกติ ผู้คนจะกลัวองค์การศาสนาที่คลั่งไคล้ซึ่งดูเหมือนยุยงคนหนุ่มสาวให้ฆ่าตัวตาย. จริง ๆ แล้ว เด็กสาวผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพยานพระยะโฮวาในทางใดทางหนึ่งไหม?
หนังสือพิมพ์โกลบ บอกต่อไปว่า “ตำรวจยอมรับในเวลาต่อมาว่าเด็กสาวเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ [พยานพระยะโฮวา] เลย. แต่ถึงตอนนั้น โทรทัศน์ช่องหนึ่งในมอสโกก็ได้ออกข่าวโจมตีด้วยเรื่องใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยบอกผู้ชมว่า พยานพระยะโฮวาในเยอรมนีสมัยนาซีร่วมมือกับอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์—ทั้ง ๆ ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เผยให้เห็นว่าพยานพระยะโฮวาหลายพันคนเสียชีวิตในค่ายกักกันของนาซี.” สำหรับความคิดของสาธารณชนที่ได้รับข้อมูลผิด ๆ และอาจเต็มไปด้วยความหวาดกลัวแล้ว พยานพระยะโฮวาจึงเป็นลัทธิฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ร่วมมือกับนาซี!
ความเกลียดชัง เป็นความรู้สึกที่รุนแรงอย่างหนึ่งซึ่งนักโฆษณาชวนเชื่อนำมาใช้. คำพูดที่ส่อไปในทางลบได้ผลเป็นพิเศษในการกระตุ้นความรู้สึกนี้. ดูเหมือนจะมีคำพูดสกปรกแทบไม่สิ้นสุดซึ่งส่งเสริมและกระตุ้นให้เกลียดชังเชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, หรือกลุ่มศาสนากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง.
นักโฆษณาชวนเชื่อบางคนก็ใช้ความหยิ่งในศักดิ์ศรี เป็นเครื่องมือ. บ่อยครั้ง เราจะรู้สึกได้ถึงการปลุกเร้าให้หยิ่งในศักดิ์ศรีโดยสังเกตจากวลีสำคัญ ๆ อย่างเช่น “คนฉลาดย่อมรู้ว่า . . . ” หรือ “คนที่มีการศึกษาเช่นคุณจะต้องยอมรับว่า . . . ” มีการใช้ความกลัวว่าจะเป็นคนโง่เป็นเครื่องมือปลุกเร้าในเชิงกลับเพื่อให้หยิ่งในศักดิ์ศรี. ผู้เชี่ยวชาญในการจูงใจทราบเรื่องนี้ดี.
คำขวัญและสื่อต่าง ๆ
คำขวัญเป็นคำกล่าวที่กินความหมายกว้างซึ่งโดยทั่วไปแล้วใช้เพื่อแสดงถึงจุดยืนหรือเป้าหมาย. เนื่องจากมีความหมายกว้าง จึงง่ายต่อการเห็นพ้องด้วย.
ยกตัวอย่าง ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ พวกปลุกระดมอาจใช้คำขวัญ เช่น “ถูกหรือผิดก็ประเทศของเรา,” “ประเทศบ้านเกิด, ศาสนาประจำชาติ, ครอบครัว” หรือไม่ก็ “เสรีภาพหรือความตาย.” แต่ผู้คนส่วนใหญ่วิเคราะห์อย่างรอบคอบถึงประเด็นอันแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์หรือความขัดแย้งนั้นไหม? หรือพวกเขาเพียงแต่เชื่อสิ่งที่คนอื่นบอก?
ในการเขียนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 วินสตัน เชอร์ชิลล์ ให้ข้อสังเกตว่า “แค่สัญญาณเดียวก็พอเพียงที่จะเปลี่ยนฝูงชนชาวไร่ชาวนาและคนงานผู้รักสงบให้เป็นกองทัพที่ทรงอานุภาพซึ่งพร้อมจะทำลายกันและกันเป็นเสี่ยง ๆ.” เขาให้ข้อสังเกตอีกว่า เมื่อบอกให้ทำอะไร ผู้คนส่วนใหญ่จะตอบสนองโดยไม่ยั้งคิด.
นักโฆษณาชวนเชื่อยังมีสื่อสัญญาณอีกมากมายหลายหลากซึ่งช่วยถ่ายทอดข่าวสารของพวกเขา อย่างเช่น การยิงสลุต 21 นัด, การสวนสนาม, การใช้ธง. อาจมีการใช้ความรักต่อบิดามารดาเป็นเครื่องมืออีกด้วย. ฉะนั้น คำพูดอย่างเช่น ประเทศบ้านเกิด, มาตุภูมิ, หรือศาสนาประจำชาติ จึงเป็นเครื่องมือทรงคุณค่าที่นักจูงใจผู้ฉลาดนำมาใช้.
ดังนั้น ศิลปะแห่งการโฆษณาชวนเชื่อที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมอาจบดบังความคิด, ทำให้การคิดและการสังเกตเข้าใจผิดเพี้ยนไป, และโน้มน้าวแต่ละคนให้ทำอะไรตามกันทั้งกลุ่ม. คุณจะป้องกันตัวเองอย่างไร?
[คำโปรยหน้า 8]
ศิลปะแห่งการโฆษณาชวนเชื่อที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมอาจบดบังความคิดและทำให้ความคิดผิดเพี้ยนไป
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
งานของพยานพระยะโฮวาเป็นการโฆษณาชวนเชื่อไหม?
พวกผู้ต่อต้านบางคนกล่าวหาพยานพระยะโฮวาว่าแพร่คำโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิไซออน บางคนก็กล่าวหาว่าพวกเขาส่งเสริมลัทธิคอมมิวนิสต์. อีกทั้งมีคนอื่น ๆ อีกที่อ้างว่างานของพยานพระยะโฮวาส่งเสริมอุดมคติและผลประโยชน์ของ “จักรวรรดินิยมอเมริกัน.” และมีบางคนยืนยันว่าพยานฯ เป็นพวกอนาธิปไตย ก่อความวุ่นวายโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, หรือกฎระเบียบต่าง ๆ. ประจักษ์ชัดว่าคำกล่าวหาที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ไม่เป็นความจริงเลย.
ความจริงที่ไม่มีอะไรแอบแฝงก็คือ พยานพระยะโฮวาไม่ได้เป็นตามคำกล่าวหาข้างต้นสักข้อเดียว. งานของพยานพระยะโฮวาดำเนินไปภายใต้การเชื่อฟังด้วยความซื่อสัตย์ต่อคำสั่งของพระเยซูคริสต์ที่ให้แก่เหล่าสาวกของพระองค์ที่ว่า “เจ้าทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา . . . จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8, ล.ม.) งานของพวกเขามุ่งเฉพาะการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์—ซึ่งเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในการนำสันติสุขมาสู่ทั่วทั้งแผ่นดินโลก.—มัดธาย 6:10; 24:14.
ผู้เฝ้าสังเกตพยานพระยะโฮวาไม่เคยพบหลักฐานเลยว่าคริสเตียนกลุ่มนี้เป็นพวกที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนใดก็ตาม.
นักหนังสือพิมพ์, ผู้พิพากษา, และคนอื่นอีกหลายคนได้กล่าวขวัญถึงประโยชน์ต่าง ๆ ที่พยานพระยะโฮวาได้ให้แก่ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่. ขอพิจารณาบางตัวอย่าง. หลังจากเข้าร่วมการประชุมภาคของพยานพระยะโฮวา นักข่าวคนหนึ่งจากยุโรปตอนใต้ให้ความเห็นว่า “คนเหล่านี้เป็นกลุ่มชนที่มีสายสัมพันธ์ในครอบครัวเหนียวแน่น พวกเขาได้รับการสอนให้รักและปฏิบัติตามสติรู้สึกผิดชอบของตน เพื่อจะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่น.”
นักหนังสือพิมพ์อีกคนหนึ่งซึ่งแต่ก่อนมีทัศนะในแง่ลบต่อพยานฯ ได้กล่าวว่า “พวกเขาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต. พวกเขาไม่ละเมิดมาตรฐานด้านศีลธรรมและความถูกต้อง.” นักรัฐศาสตร์คนหนึ่งพูดคล้ายกันเกี่ยวกับพวกพยานฯ ดังนี้: “พวกเขาปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความกรุณา, ความรัก, และความสุภาพอ่อนโยนอย่างลึกซึ้ง.”
พยานพระยะโฮวาสอนว่า การยอมอยู่ใต้ผู้มีอำนาจเป็นสิ่งถูกต้อง. ในฐานะพลเมืองที่เคารพกฎหมาย พวกเขาติดตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิลเรื่องความสุจริต, ความสัตย์จริง, และความสะอาด. พวกเขาสร้างศีลธรรมที่ดีในครอบครัวของตนเอง และช่วยคนอื่นให้เรียนรู้วิธีที่พวกเขาสามารถทำได้เช่นกัน. พวกเขาอยู่อย่างสันติกับทุกคน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเดินขบวนหรือการปฏิวัติทางการเมืองที่สร้างความวุ่นวาย. พยานพระยะโฮวาพยายามจะเป็นแบบอย่างในการเชื่อฟังกฎหมายของผู้มีอำนาจสูงกว่าที่เป็นมนุษย์ ขณะที่พวกเขารอคอยด้วยความอดทนคราวเมื่อผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุด กล่าวคือ พระยะโฮวาองค์บรมมหิศร จะฟื้นฟูสันติสุขสมบูรณ์แบบและการปกครองอันชอบธรรมให้กับแผ่นดินโลกนี้.
ในเวลาเดียวกัน งานของพวกพยานฯ คือการให้การศึกษา. โดยอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก พวกเขาสอนผู้คนทั่วโลกให้หาเหตุผลเกี่ยวกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิล และโดยวิธีนี้จึงเป็นการพัฒนามาตรฐานที่ถูกต้องเรื่องความประพฤติและศีลธรรมอันดีงาม. พวกเขาส่งเสริมค่านิยมต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้นและช่วยเยาวชนให้รับมือกับข้อท้าทายที่แต่ละคนเผชิญ. พวกเขายังช่วยผู้คนให้มีความเข้มแข็งในการเอาชนะนิสัยที่ให้โทษและพัฒนาความสามารถในการเข้ากันได้ดีกับผู้อื่น. งานดังกล่าวคงไม่สมควรที่จะเรียกว่า “การโฆษณาชวนเชื่อ.” ดังสารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าว ในบรรยากาศที่มีการแสดงความคิดได้อย่างอิสระเสรี “การโฆษณาชวนเชื่อต่างจากการให้การศึกษา.”
[รูปภาพ]
สิ่งพิมพ์ของพยานพระยะโฮวาส่งเสริมค่านิยมของครอบครัวและมาตรฐานทางศีลธรรมอันสูงส่ง
[ภาพหน้า 5]
การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อส่งเสริมสงครามและการสูบบุหรี่มีส่วนทำให้หลายคนเสียชีวิต