ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กินแอสไพรินทุกวัน—ดีหรือไม่ดี?

กินแอสไพรินทุกวัน—ดีหรือไม่ดี?

กิน​แอสไพริน​ทุก​วัน—ดี​หรือ​ไม่​ดี?

เรื่อง​ต่อ​ไป​นี้​เป็น​เหตุ​การณ์​จริง​ที่​เล่า​โดย​นาย​แพทย์​คน​หนึ่ง ซึ่ง​สะท้อน​ถึง​ปัญหา​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย​มาก.

ทั้ง​ครอบครัว​รู้สึก​วิตก​กังวล. ตอน​นี้​แพทย์​เอง​ก็​วิตก​ไป​ด้วย. แพทย์​บอก​ว่า “ถ้า​เลือด​ของ​เขา​ยัง​ไหล​ไม่​หยุด อีก​สัก​พัก​เรา​อาจ​ต้อง​พิจารณา​การ​ให้​เลือด.”

ชาย​คน​นี้​ค่อย ๆ เสีย​เลือด​เป็น​เวลา​หลาย​สัปดาห์​โดย​ไหล​ออก​มา​กับ​อุจจาระ และ​มี​การ​วินิจฉัย​ว่า​ปัญหา​ดัง​กล่าว​เกิด​จาก​กระเพาะ​อักเสบ. แพทย์​ถาม​ด้วย​ความ​ข้องขัดใจ​ว่า “คุณ​แน่​ใจ​หรือ​ว่า​ไม่​ได้​กิน​ยา​อะไร​เข้า​ไป?”

“เปล่า​ครับ. นอก​จาก​ยา​ธรรมดา ๆ นี่​แหละ​ที่​ผม​ซื้อ​มา​จาก​ร้าน​ขาย​ยา​ทั่ว​ไป​เพื่อ​รักษา​โรค​ข้อ​อักเสบ” ชาย​คน​นั้น​พูด.

แพทย์​หู​ผึ่ง​ทันที. “ขอ​ผม​ดู​หน่อย.” เขา​อ่าน​สลาก​ยา​อย่าง​ละเอียด​เพื่อ​ดู​ส่วน​ผสม แล้ว​ก็​พบ​สิ่ง​ที่​กำลัง​มอง​หา. กรด​อะเซติลแซลิไซติก! ปัญหา​ได้​รับ​การ​แก้ไข. พอ​ผู้​ป่วย​หยุด​กิน​ยา​ที่​มี​ส่วน​ผสม​ของ​แอสไพริน และ​ได้​รับ​ธาตุ​เหล็ก​รวม​ทั้ง​ยา​บาง​ชนิด​ที่​ใช้​รักษา​โรค​กระเพาะ เลือด​ก็​หยุด​ไหล และ​ระดับ​เลือด​ของ​เขา​ค่อย ๆ กลับ​สู่​ปกติ.

ยา​ที่​ทำ​ให้​เลือด​ออก

อาการ​เลือด​ออก​ใน​กระเพาะ​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​กิน​ยา​เป็น​ปัญหา​ร้ายแรง​ทาง​เวชกรรม​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ปัจจุบัน​นี้. แม้​จะ​เกี่ยว​พัน​กับ​ยา​หลาย​ชนิด แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ปัญหา​นี้​เกิด​จาก​ยา​รักษา​โรค​ข้อ​อักเสบ​และ​ยา​แก้​ปวด. ยา​ดัง​กล่าว​รวม​ถึง​ยา​กลุ่ม​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า​ยา​แก้​อักเสบ​ที่​ไม่​มี​ส่วน​ผสม​ของ​สเตอรอยด์ หรือ​เรียก​สั้น ๆ ว่า เอ็นเอสเอไอดีเอส (nonsteroidal anti-inflammatory drugs) ชื่อ​ยา​อาจ​แตกต่าง​กัน​ไป​ใน​แต่​ละ​ประเทศ.

แอสไพริน​เป็น​ส่วน​ประกอบ​ของ​ยา​หลาย​ชนิด​ซึ่ง​หา​ซื้อ​ได้​ตาม​ร้าน​ขาย​ยา​ทั่ว​ไป และ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​คน​ที่​รับประทาน​แอสไพริน​ทุก​วัน​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​หลาย​ประเทศ. เพราะ​เหตุ​ใด?

ตื่น​แอสไพริน

จดหมาย​ข่าว​สุขภาพ​ฮาร์เวิร์ด (ภาษา​อังกฤษ) ได้​รายงาน​ไว้​ใน​ปี 1995 ว่า “การ​รับประทาน​แอสไพริน​เป็น​ประจำ​ช่วย​ชีวิต​ได้.” โดย​อ้าง​ถึง​การ​ศึกษา​วิจัย​หลาย​ราย​ทั่ว​โลก​ซึ่ง​มี​การ​วิจัย​ซ้ำ​หลาย​ครั้ง​นับ​แต่​นั้น​มา พวก​นัก​วิจัย​สรุป​ว่า “แทบ​ทุก​คน​ที่​เคย​มี​อาการ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน​หรือ​โรค​เส้น​เลือด​สมอง, อาการ​จุก​แน่น​ใน​ทรวง​อก (แองไจนา), หรือ​เคย​รับ​การ​ผ่าตัด​เชื่อม​ต่อ​หลอด​เลือด​หัวใจ ควร​รับประทาน​แอสไพริน​ครึ่ง​เม็ด​ถึง​หนึ่ง​เม็ด​ทุก​วัน​ยก​เว้น​ผู้​ที่​แพ้​ยา.” *

นัก​วิจัย​คน​อื่น ๆ อ้าง​ว่า​การ​รับประทาน​แอสไพริน​ทุก​วัน​มี​ประโยชน์​ต่อ​ผู้​ชาย​อายุ 50 ปี​ขึ้น​ไป​ที่​อยู่​ใน​ภาวะ​เสี่ยง​ต่อ​อาการ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน​รวม​ทั้ง​ผู้​หญิง​ที่​มี​ความ​เสี่ยง​ด้วย. นอก​จาก​นี้ การ​ศึกษา​วิจัย​หลาย​ราย​บ่ง​ชี้​ว่า​การ​รับประทาน​แอสไพริน​ทุก​วัน​อาจ​ช่วย​ลด​ความ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​มะเร็ง​ลำไส้​ใหญ่ และ​การ​รับประทาน​ติด​ต่อ​กัน​เป็น​เวลา​นาน​อาจ​ช่วย​ลด​ระดับ​น้ำตาล​ใน​เลือด​สำหรับ​ผู้​เป็น​เบา​หวาน.

แอสไพริน​ทำ​งาน​อย่าง​ไร​จึง​มี​ประโยชน์​ตาม​ที่​คิด​กัน​นี้? แม้​จะ​ไม่​ทราบ​ราย​ละเอียด​ทุก​อย่าง แต่​หลักฐาน​บ่ง​ชี้​ว่า​แอสไพริน​มี​ฤทธิ์​ทำ​ให้​เกล็ด​เลือด​ลด​ความ​ข้น​เหนียว ซึ่ง​เป็น​การ​ขัด​ขวาง​การ​ก่อ​ตัว​ของ​ลิ่ม​เลือด. สันนิษฐาน​กัน​ว่า​สิ่ง​นี้​ช่วย​ป้องกัน​หลอด​เลือด​เล็ก ๆ ที่​ไป​เลี้ยง​หัวใจ​และ​สมอง​อุดตัน โดย​วิธี​นี้​จึง​เป็น​การ​ป้องกัน​ไม่​ให้​อวัยวะ​สำคัญ ๆ เสียหาย.

ใน​เมื่อ​แอสไพริน​มี​ประโยชน์​ตาม​ที่​สันนิษฐาน​กัน แล้ว​ทำไม​ไม่​ใช่​ทุก​คน​รับประทาน​ได้? เหตุ​ผล​หนึ่ง​ก็​คือ ยัง​มี​อีก​มาก​ที่​เรา​ไม่​รู้. แม้​แต่​ขนาด​รับประทาน​ก็​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​กระจ่าง​ชัด​ว่า​ขนาด​ใด​เหมาะ​สม. ขนาด​รับประทาน​ที่​เสนอ​แนะ​มี​ตั้ง​แต่​ครั้ง​ละ​หนึ่ง​เม็ด​มาตรฐาน​ทุก​วัน วัน​ละ​สอง​ครั้ง จน​ถึง​ขนาด​น้อย​นิด​เท่า ๆ กับ​ที่​เด็ก​รับประทาน วัน​เว้น​วัน. ขนาด​รับประทาน​ของ​ผู้​หญิง​ควร​จะ​แตกต่าง​จาก​ผู้​ชาย​ไหม? แพทย์​ยัง​ไม่​แน่​ใจ. แม้​จะ​ถือ​กัน​ว่า​แอสไพริน​ซึ่ง​เคลือบ​ด้วย​สาร​ที่​ไม่​ละลาย​ใน​กระเพาะ​แต่​ละลาย​ใน​ลำไส้​อาจ​มี​ประโยชน์​อยู่​บ้าง แต่​ข้อ​ได้​เปรียบ​ของ​แอสไพริน​ที่​มี​กรด​น้อย​ลง​นี้​ยัง​เป็น​เรื่อง​โต้​แย้ง​กัน​อยู่.

เหตุ​ผล​ที่​ต้อง​ระวัง

แม้​ตาม​หลัก​วิชาการ​แล้ว แอสไพริน​เป็น​สาร​สกัด​จาก​ธรรมชาติ—ชาว​อินเดียน​แดง​ได้​ส่วน​ประกอบ​ของ​แอสไพริน​มา​จาก​เปลือก​ต้น​สนุ่น—แต่​ก็​มี​ผล​ข้าง​เคียง​หลาย​อย่าง. นอก​จาก​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​มัน​เป็น​สาเหตุ​ของ​ปัญหา​เลือด​ออก​ใน​บาง​คน​แล้ว ยัง​มี​อาการ​แทรก​ซ้อน​อื่น ๆ อีก​หลาย​อย่าง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้ รวม​ทั้ง​อาการ​แพ้​ยา​ใน​ผู้​ที่​ไว​ต่อ​แอสไพริน​ด้วย. ประจักษ์​ชัด​ว่า ไม่​ใช่​ทุก​คน​จะ​รับประทาน​แอสไพริน​เป็น​ประจำ​ทุก​วัน​ได้.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​ที่​มี​ความ​เสี่ยง​ต่อ​อาการ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน​หรือ​โรค​เส้น​เลือด​สมอง หรือ​ผู้​ที่​มี​ความ​เสี่ยง​อื่น ๆ ที่​น่า​เป็น​ห่วง อาจ​ต้อง​ถาม​แพทย์​ประจำ​ตัว​เกี่ยว​กับ​ความ​เสี่ยง​นั้น​และ​ประโยชน์​ของ​การ​รับประทาน​แอสไพริน​ทุก​วัน. แน่นอน ผู้​ป่วย​จะ​ต้อง​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เขา​ไม่​มี​ปัญหา​เลือด​ออก, ไม่​แพ้​แอสไพริน, และ​ไม่​มี​ปัญหา​เรื่อง​กระเพาะ​หรือ​ลำไส้. ควร​ถาม​แพทย์​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​หรือ​ปฏิกิริยา​กับ​ยา​อื่น ๆ ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​ก่อน​เริ่ม​รับประทาน​แอสไพริน​ทุก​วัน.

ดัง​ที่​กล่าว​ก่อน​หน้า​นี้ แอสไพริน​และ​ยา​อื่น ๆ ที่​คล้าย​แอสไพริน​ก่อ​ความ​เสี่ยง​สูง​ต่อ​อาการ​เลือด​ออก. และ​อาการ​เลือด​ออก​นั้น​อาจ​เบา​บาง ไม่​ปรากฏ​ให้​เห็น​ทันที​ทันใด และ​ค่อย ๆ มาก​ขึ้น​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป. ยา​อื่น​ก็​เช่น​กัน จำเป็น​ต้อง​พิจารณา​ให้​รอบคอบ โดย​เฉพาะ​ยา​แก้​อักเสบ​ชนิด​ต่าง ๆ. อย่า​ลืม​บอก​แพทย์​ถ้า​คุณ​กำลัง​ใช้​ยา​ใด ๆ ตาม​ที่​กล่าว​มา​นี้. ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่ นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​ที่​จะ​หยุด​กิน​ยา​เหล่า​นั้น​ก่อน​รับ​การ​ผ่าตัด. บาง​ที แม้​แต่​ก่อน​การ​ตรวจ​วัด​ระดับ​เลือด​เป็น​ประจำ​ก็​เป็น​ประโยชน์​ด้วย.

หาก​เรา​อยาก​ป้องกัน​ตัว​เอง​จาก​ปัญหา​ใน​อนาคต เรา​จะ​เชื่อ​ฟัง​สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ว่า “คน​ฉลาด​มอง​เห็น​ภัย​แล้ว​หนี​ไป​ซ่อน​ตัว; แต่​คน​โง่​เดิน​เซ่อ​ไป​และ​ก็​เป็น​อันตราย.” (สุภาษิต 22:3) เกี่ยว​ด้วย​เรื่อง​ทาง​เวชกรรม​นี้ ขอ​ให้​เรา​เป็น​หนึ่ง​ใน​คน​ฉลาด​เพื่อ​จะ​ไม่​ประสบ​อันตราย​ทาง​สุขภาพ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 ตื่นเถิด! ไม่​แนะ​นำ​วิธี​รักษา​แบบ​หนึ่ง​แบบ​ใด​โดย​เฉพาะ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 21]

ใคร​อาจ​อยู่​ใน​ข่าย​ที่​จะ​รับประทาน​แอสไพริน​ทุก​วัน

• ผู้​เป็น​โรค​หลอด​เลือด​หัวใจ​หรือ​หลอด​เลือด​ใหญ่​ที่​คอ​ตีบ.

• ผู้​เป็น​โรค​เส้น​เลือด​สมอง​อุดตัน (ชนิด​ที่​เกิด​จาก​ก้อน​เลือด) หรือ​ขาด​เลือด​ไป​เลี้ยง​ชั่ว​คราว​เพราะ​เส้น​เลือด​อุดตัน.

• ผู้​ชาย​อายุ 50 ปี​ขึ้น​ไป​ซึ่ง​มี​ปัจจัย​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​หัวใจ​หนึ่ง​อย่าง​หรือ​มาก​กว่า ดัง​ต่อ​ไป​นี้: สูบ​บุหรี่, ความ​ดัน​โลหิต​สูง, เบา​หวาน, ระดับ​คอเลสเทอรอล​ทั้ง​หมด​สูง​ขึ้น, คอเลสเทอรอล​ชนิด​เอชดีแอล​ต่ำ, ภาวะ​อ้วน​เกิน​ปกติ​อย่าง​มาก, การ​ดื่ม​แอลกอฮอล์​ไม่​บันยะบันยัง, มี​ประวัติ​ครอบครัว​เป็น​โรค​หลอด​เลือด​หัวใจ​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย (ประสบ​ภาวะ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน​ก่อน​อายุ 55 ปี) หรือ​เป็น​โรค​เส้น​เลือด​สมอง, และ​ผู้​ทำ​งาน​นั่ง​โต๊ะ.

• ผู้​หญิง​อายุ 50 ปี​ขึ้น​ไป​ที่​มี​ปัจจัย​เสี่ยง​เหล่า​นี้​สอง​อย่าง​หรือ​มาก​กว่า.

คุณ​อาจ​ต้องการ​ปรึกษา​แพทย์​ก่อน​ทำ​การ​ตัดสิน​ใจ​ใด ๆ เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

แหล่ง​ที่​มา: รายงาน​สุขภาพ​ผู้​บริโภค (ภาษา​อังกฤษ)