บทเรียนอันยิ่งใหญ่จากเกาะเล็กกระจิริด
บทเรียนอันยิ่งใหญ่จากเกาะเล็กกระจิริด
ราปานุย อันเป็นส่วนของภูเขาไฟซึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำโดยมีพื้นที่ 170 ตารางกิโลเมตร ซึ่งโล่งเตียนแทบจะปราศจากต้นไม้ นับเป็นผืนแผ่นดินที่มีคนอยู่อาศัยซึ่งโดดเดี่ยวห่างไกลที่สุดในโลก. * ปัจจุบัน เกาะทั้งเกาะได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากรูปสลักหินบนเกาะแห่งนี้ซึ่งเรียกกันว่าโมไอ. รูปสลักหินเหล่านี้เป็นผลงานที่เกิดจากอารยธรรมซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักมีชีวิตชีวา.
โมไอ บางรูปซึ่งสลักขึ้นโดยใช้หินภูเขาไฟถูกฝังลึกมากจนมองเห็นแต่ศีรษะขนาดยักษ์. แต่บางรูป ก็มีลำตัวโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน และโมไอ บางรูปก็ยังมีจุกบนยอดศีรษะซึ่งสลักด้วยหินที่เรียกว่า พูเคา. รูปสลักส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเหมืองหินหรือไม่ก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามถนนโบราณสายต่าง ๆ ในสภาพที่ยังสลักไม่เสร็จ ราวกับว่าพวกช่างได้โยนเครื่องมือและทิ้งงานไปเสียเฉย ๆ. ตำแหน่งที่รูปสลักหินเหล่านั้นตั้งอยู่ก็แตกต่างกันไป มีตั้งแต่รูปที่อยู่โดด ๆ ไปจนถึงรูปที่ตั้งเรียงกันเป็นแถว ซึ่งก็อาจจะมากถึง 15 รูป แต่ละรูปหันหลังให้ทะเล. เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมโมไอ จึงทำให้ผู้มาเยือนพิศวงงงงวยมาช้านาน.
ในช่วงหลัง ๆ มานี้ วิทยาศาสตร์ได้เริ่มเข้าใจไม่เพียงแต่ความลึกลับของโมไอ เท่านั้น แต่รวมไปถึงปริศนาที่ว่าทำไมอารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองซึ่งสร้างมันขึ้นมาจึงได้ล่มสลาย. ที่สำคัญ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้รับการเปิดเผยนี้มีค่ายิ่งกว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์. ตามที่กล่าวในสารานุกรมบริแทนนิกา ข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้ “บทเรียนสำคัญสำหรับโลกสมัยปัจจุบัน.”
บทเรียนนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดการแผ่นดินโลก โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติของโลก. แน่ละ แผ่นดินโลกนั้นซับซ้อนและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าเกาะเล็ก ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรเพิกเฉยต่อบทเรียนจากราปานุย. ดังนั้น ให้เราใช้เวลากันสักเล็กน้อยเพื่อทบทวนเหตุการณ์เด่น ๆ ในประวัติศาสตร์ของราปานุย. เรื่องราวของเราเริ่มต้นเมื่อประมาณปี ส.ศ. 400 เมื่อครอบครัวแรก ๆ ที่มาตั้งรกรากบนเกาะนี้ได้ใช้เรือแคนูแล่นข้ามมหาสมุทรมาถึงที่นี่. สายตาที่เฝ้ามองพวกเขาในตอนนั้นมีเพียงสายตาของนกทะเลหลายร้อยตัวที่บินวนเวียนอยู่เบื้องบน.
อุทยานบนเกาะ
เกาะนี้มีพืชไม่หลากชนิดนัก แต่ก็อุดมไปด้วยป่าปาล์ม, เฮาเฮา, และต้นโทโรมิโร ตลอดจนไม้พุ่ม, สมุนไพร, เฟิร์น, และหญ้าชนิดต่าง ๆ. มีนกบกอย่างน้อยหกชนิด เช่น นกฮูก, นกยาง, นกกวัก, และนกแก้ว ซึ่งเติบโตได้ดีในพื้นที่อันห่างไกลแห่งนี้. นอกจากนี้แล้ว ตามที่วารสารดิสคัฟเวอร์ ได้กล่าวไว้ ราปานุยยังเป็น “แหล่งผสมพันธุ์ของนกทะเลซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแถบโพลีนีเซียและอาจจะอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเลยก็เป็นได้.”
ผู้อพยพมาอยู่ที่อาณานิคมแห่งนี้อาจได้นำเอาไก่และหนูชนิดที่คนรับประทานได้ ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นอาหารชั้นเยี่ยม มาแพร่พันธุ์บนเกาะนี้. นอกจากนี้ พวกเขายังได้นำเอาพืชผลจำพวกเผือก, มัน, มันเทศ, กล้วย, และอ้อยมาด้วย. ดินที่นี่อุดมดี พวกเขาจึงเริ่มถางป่าและปลูกพืชกันทันที และก็ทำกันเรื่อยมาขณะที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น. แต่ราปานุยมีเนื้อที่จำกัด ซึ่งแม้ว่ามีป่าไม้สมบูรณ์ดี แต่ก็มีต้นไม้จำนวนจำกัด.
ประวัติศาสตร์ของราปานุย
สิ่งที่เราทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของราปานุยนั้นอาศัยการสืบค้นในสาขาวิชาหลัก ๆ สามสาขา: การวิเคราะห์ละอองเกสร, โบราณคดีวิทยา, และบรรพชีวินวิทยา. การวิเคราะห์ละอองเกสรนั้นรวมไปถึงการเก็บตัวอย่างละอองเกสรจากตะกอนก้นหนองน้ำและปลักตม. ตัวอย่างเหล่านี้เผยให้ทราบว่ามีพืชหลากหลายและมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปี. ตัวอย่างละอองเกสรยิ่งอยู่
ลึกลงไปในชั้นตะกอนมากเท่าใด มันก็ยิ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่ย้อนอดีตไปมากเท่านั้น.โบราณคดีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาเน้นหนักในเรื่องอย่างเช่นที่อยู่อาศัย, ภาชนะ, โมไอ, และซากของสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอาหาร. เนื่องจากบันทึกต่าง ๆ ของชาวราปานุยเป็นอักษรภาพและยากจะแปลความหมาย ตัวเลขปีในช่วงก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามาติดต่อด้วยจึงเป็นเพียงตัวเลขโดยประมาณ และสมมุติฐานหลายข้อไม่อาจพิสูจน์ได้. นอกจากนั้น เหตุการณ์บางอย่างดังที่ได้ลงไว้ข้างล่างนี้ อาจคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่อยู่ติดกัน. ตัวเลขทั้งหมดซึ่งแสดงไว้ด้วยตัวหนา คือปีสากลศักราช.
400 ผู้ตั้งรกรากชาวโพลีนีเซียประมาณ 20 ถึง 50 คนได้มาถึง อาจจะใช้เรือแคนูคู่ซึ่งยาว 15 เมตรหรือยาวกว่านั้น แต่ละลำบรรทุกได้หนักกว่า 8,000 กิโลกรัม.
800 ปริมาณละอองเกสรของต้นไม้ในตะกอนลดน้อยลง แสดงว่ามีการตัดไม้ทำลายป่า. ละอองเกสรของหญ้ามีมากขึ้นเพราะหญ้าแผ่ขยายเข้าไปในบางพื้นที่ที่โล่งเตียน.
900-1300 กระดูกของสัตว์ที่ถูกจับเป็นอาหารในช่วงเวลานี้ประมาณหนึ่งในสามเป็นกระดูกปลาโลมา. เพื่อจะนำปลาโลมาขึ้นมาจากทะเลลึก ชาวเกาะใช้เรือแคนูขนาดใหญ่ซึ่งทำจากลำต้นของปาล์มใหญ่. นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้ต้นไม้เป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างอุปกรณ์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายและยกโมไอ ตั้งขึ้น ซึ่งในตอนนั้นการก่อสร้างกำลังดำเนินไปด้วยดี. การขยายตัวทางการเกษตรและความต้องการไม้เพื่อใช้ทำฟืนทำให้ป่าค่อย ๆ ร่อยหรอไปเรื่อย ๆ.
1200-1500 การทำรูปสลักมาถึงจุดสูงสุด. ชาวราปานุยทุ่มเททรัพยากร, พลังงาน, และความเชี่ยวชาญให้กับการทำโมไอ รวมทั้งฐานหินที่รูปนั้นตั้งอยู่ซึ่งใช้ในพิธีการ. นักโบราณคดี โจ แอนน์ แวน ทิลเบิร์ก เขียนว่า “โครงสร้างทางสังคมของชาวราปานุยส่งเสริมอย่างยิ่งต่อการทำรูปสลักจำนวนมากขึ้นและขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น.” เธอเสริมอีกว่า “มีรูปสลักประมาณ 1,000 รูปที่ได้ทำขึ้นในช่วงประมาณ 800 ถึง 1,300 ปี . . . คิดเป็นอัตราส่วนรูปสลักหนึ่งรูปต่อประชากรทุก ๆ เจ็ดถึงเก้าคน ทั้งนี้โดยใช้ค่าประมาณของจำนวนประชากรสูงสุด.”
ดูเหมือนว่า โมไอ ไม่ได้มีไว้เพื่อการนมัสการ แม้ว่ารูปสลักเหล่านี้มีบทบาทในพิธีฝังศพและพิธีกรรมทางการเกษตร. อาจถือกันว่าโมไอ เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณ. และดูเหมือนว่าโมไอ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจ, ฐานะ, และวงศ์ตระกูลของผู้ทำด้วย.
1400-1600 จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดประมาณ 7,000 ถึง 9,000 คน. ป่าผืนสุดท้ายอันตรธานไป ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะการสูญพันธุ์ของนกในท้องถิ่น ซึ่งช่วยถ่ายละอองเกสรและกระจายเมล็ดให้ต้นไม้. วารสารดิสคัฟเวอร์ กล่าวว่า “นกบกในท้องถิ่นทุกชนิดสูญพันธุ์ไม่เหลือสักชนิด.” หนูก็มีส่วนด้วยในการทำลายป่า;
มีหลักฐานแสดงว่าพวกมันกินลูกปาล์ม.ไม่ช้า ก็เกิดการเซาะกร่อนผุพังรุนแรง, สายน้ำเริ่มแห้งขอด, และน้ำเริ่มหาได้ยาก. ภายหลังปี 1500 กระดูกของโลมาไม่ปรากฏอยู่ในชั้นตะกอนอีกเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะขาดต้นไม้ที่ใหญ่พอจะทำเรือแคนูซึ่งใช้แล่นในทะเลลึก. ถึงตอนนี้ โอกาสที่จะหนีไปจากเกาะนี้ก็ถูกตัดขาด. นกทะเลถูกฆ่ากินจนไม่เหลือหลอ เพราะเริ่มมีความต้องการอาหารอย่างมากในหมู่ประชาชน. มีการกินไก่กันมากขึ้น.
1600-1722 การขาดต้นไม้, การใช้ที่ดินในการเพาะปลูกแบบเพิ่มผลผลิตในเนื้อที่จำกัด, และการทำลายหน้าดินมีส่วนทำให้การเพาะปลูกล้มเหลวมากยิ่งขึ้น. ความอดอยากในวงกว้างเข้าครอบงำ. ชาวราปานุยแตกเป็นสองฝักสองฝ่าย. สัญญาณของความโกลาหลวุ่นวายในสังคมเริ่มส่อเค้า อาจถึงกับเกิดการกินมนุษย์เสียด้วยซ้ำ. ช่วงนี้เป็นเวลาที่พวกนักรบรุ่งเรืองที่สุด. ประชาชนเริ่มไปอาศัยอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ เพื่อหาที่ปกป้อง. ประมาณปี 1700 ประชากรลดฮวบเหลือประมาณ 2,000 คน.
1722 นักสำรวจชาวดัตช์ ยาโกบ โรกคะเวน เป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบเกาะนี้. การค้นพบนี้ตรงกับวันอีสเตอร์ เขาจึงตั้งชื่อเกาะนี้ว่าเกาะอีสเตอร์. เขาบันทึกความรู้สึกเมื่อแรกเห็นไว้ว่า “โฉมหน้าอันรกร้าง [ของเกาะอีสเตอร์] ไม่อาจสร้างความประทับใจอย่างอื่นได้เลยนอกจากความยากจนข้นแค้นและความแห้งแล้งอันผิดธรรมดา.”
1770 ประมาณในปีนี้เอง ชาวราปานุยเผ่าต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ซึ่งเป็นศัตรูกันเริ่มโค่นล้มรูปสลักของกันและกัน. เมื่อกัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวบริเตนมาเยือนในปี 1774 เขาได้พบเห็นรูปสลักมากมายที่ถูกโค่นล้มลง.
1804-1863 มีการติดต่อกับอารยธรรมอื่นมากขึ้น. ในตอนนี้ การค้าทาสกลายเป็นเรื่องธรรมดาในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และโรคร้ายทำให้มีคนล้มเจ็บและเสียชีวิตเป็นอันมาก. อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของราปานุยได้มาถึงกาลอวสาน.
1864 ถึงตอนนี้ โมไอ ทั้งหมดถูกโค่นล้มลง รูปสลักหลายรูปถูกตัดหัว.
1872 มีคนพื้นเมืองเพียง 111 คนที่ยังเหลืออยู่บนเกาะนี้.
ราปานุยกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของชิลีในปี 1888. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ราปานุยมีประชากรซึ่งมีเชื้อชาติต่าง ๆ กันประมาณ 2,100 คน. ชิลีได้ประกาศให้เกาะนี้ทั้งเกาะเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์. เพื่อรักษาเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนใครของราปานุย ได้มีการยกรูปสลักหลายรูปตั้งขึ้นให้เหมือนสภาพเดิม.
บทเรียนสำหรับทุกวันนี้
เหตุใดชาวราปานุยไม่ตระหนักว่าตนกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนและพยายามหลีกหนีจากความหายนะ? ขอให้สังเกตความเห็นของนักวิจัยบางคนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่นั่น.
“ป่า . . . ไม่ได้สูญไปในวันเดียว—มันหายไปอย่างช้า ๆ ในช่วงหลายทศวรรษ. . . . ชาวเกาะคนใดที่พยายามเตือนถึงอันตรายของการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งทำกันอยู่ตลอดก็คงถูกข่มโดยช่างแกะสลัก, เจ้าขุนมูลนาย, และหัวหน้าเผ่าทั้งหลายซึ่งต้องการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง.”—วารสารดิสคัฟเวอร์.
“ค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับวิถีที่พวกเขาเลือกในการแสดงออกซึ่งแนวคิดในด้านการนมัสการและการเมืองก็คือ สังคมเกาะซึ่งในหลาย ๆ ทางได้กลายมาเป็นเพียงเงาราง ๆ ของธรรมชาติดั้งเดิมของเกาะแห่งนี้.”—เกาะอีสเตอร์—โบราณคดี, นิเวศวิทยา, และวัฒนธรรม (ภาษาอังกฤษ).
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับราปานุยแนะว่า การเติบโตอย่างไม่มีการควบคุมและแรงกระตุ้นในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของตนจนเลยจุดแตกหักนั้นไม่ได้เป็นเพียงแง่มุมที่เกิดกับโลกอุตสาหกรรม; หากแต่เป็นลักษณะอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา.”—แนชันแนล จีโอกราฟิก.
จะเป็นอย่างไรในปัจจุบันนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรียกกันว่าลักษณะอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา? จะว่าอย่างไรหากมนุษยชาติยังคงรั้นที่จะดำเนินวิถีชีวิตแบบไม่รักษาสภาพนิเวศน์ของโลก ซึ่งเปรียบเหมือนกับเกาะที่ลอยอยู่ในห้วงอวกาศ? ตามที่นักเขียนคนหนึ่งกล่าว เราได้เปรียบกว่าชาวราปานุยอย่างมากอยู่ข้อหนึ่ง. เรามี “ประวัติศาสตร์ของสังคมอื่นที่ประสบความหายนะ” อันเป็นตัวอย่างที่ช่วยเตือนสติเรา.
กระนั้น อาจถามว่า มนุษย์เราในเวลานี้เอาใจใส่ประวัติศาสตร์เหล่านี้ไหม? การตัดไม้ทำลายป่าอย่างมากมายและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนแผ่นดินโลกซึ่งเกิดขึ้นอยู่
เรื่อย ๆ ในอัตราที่น่าตกใจแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้. ในหนังสือสวนสัตว์ (ภาษาอังกฤษ) ลินดา เกิบเนอร์ เขียนไว้ว่า “การทำลายชีวิตชนิดหนึ่งหรือสองชนิดหรือห้าสิบชนิดจะก่อผลที่เราไม่อาจพยากรณ์ได้เลย. การสูญพันธุ์กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงแม้แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจถึงผลที่จะเกิดขึ้นในที่สุดด้วยซ้ำ.”ผู้ที่ชอบทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งได้ขโมยหมุดโลหะของเครื่องบินครั้งละหนึ่งตัวไม่ทราบว่าหมุดตัวไหนจะทำให้เครื่องบินตก; แต่เมื่อหมุดตัวสำคัญถูกขโมยไปแล้ว ผลบั้นปลายของเครื่องบินลำนั้นก็เป็นอันถูกกำหนดไว้แน่นอนแล้ว แม้ว่าอาจจะไม่ตกในเที่ยวถัดไป. ในทำนองเดียวกัน มนุษย์เรากำลังทำลาย “หมุด” ที่มีชีวิตของโลกนี้ในอัตรามากกว่า 20,000 ชนิดต่อปี โดยไม่มีทีท่าว่าจะเพลามือลงแม้แต่น้อย! ใครล่ะจะทราบว่าจุดไหนเป็นจุดที่จะก่อความเสียหายจนไม่อาจแก้ไขได้? และการรู้ล่วงหน้าเช่นนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ไหม?
หนังสือที่ชื่อ เกาะอีสเตอร์—เกาะแห่งลูกโลก (ภาษาอังกฤษ) ให้ความเห็นที่สำคัญดังนี้: “คนที่โค่นต้นไม้ต้นสุดท้าย [ที่เกาะราปานุย] ย่อมเห็นได้ว่ามันเป็นต้นสุดท้ายแล้ว. แต่เขาก็ยังโค่นมันลงมา.”
“เราต้องเปลี่ยนศาสนาของเรา”
หนังสือ เกาะอีสเตอร์—เกาะแห่งลูกโลก กล่าวต่อไปอีกว่า “หากว่ายังมีความหวังอยู่บ้าง ก็ต้องอยู่ในแนวคิดที่ว่าเราต้องเปลี่ยนศาสนาของเรา. ความเจริญทางเศรษฐกิจ, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ, และความเห็นดีเห็นงามกับการแข่งขันชิงดีชิงเด่นในสมัยปัจจุบัน—ซึ่งเป็นเสมือนพระเจ้าที่เราถือว่ามีอำนาจสิทธิ์ขาด—ไม่ผิดอะไรกับอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์บนฐานหินที่เกาะอีสเตอร์. แต่ละหมู่บ้านแข่งขันกับหมู่บ้านอื่นในการตั้งอนุสาวรีย์ที่ใหญ่ที่สุด. . . . ได้มีการพยายามกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะแกะสลัก, เคลื่อนย้าย, และตั้งรูปสลักซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ . . . ทว่า เป็นความพยายามที่ไร้สาระ.”
บุรุษที่สุขุมผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า “ทางที่มนุษย์จะไปนั้นไม่ได้อยู่ในตัวของตัว, ไม่ใช่ที่มนุษย์ซึ่งดำเนินนั้นจะได้กำหนดก้าวของตัวได้.” (ยิระมะยา 10:23) พระผู้สร้างของเราเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถชี้ให้เราเห็นถึงวิธีที่จะ ‘กำหนดก้าวของเรา.’ พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่สามารถช่วยเราให้หลุดพ้นสภาพอันน่าเศร้าที่เราประสบอยู่. พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทำเช่นนั้นในพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล—หนังสือที่บันทึกตัวอย่างมากมายของอารยธรรมในอดีตทั้งที่ดีและไม่ดีด้วย. แท้จริง หนังสือนี้ยังจะเป็น ‘แสงสว่างแก่ทางของเรา’ ในสมัยอันมืดมนนี้ได้ด้วย.—บทเพลงสรรเสริญ 119:105.
ในที่สุด ทางดังกล่าวจะนำมนุษย์ที่เชื่อฟังไปสู่อุทยานที่เปี่ยมสันติสุขและอุดมสมบูรณ์—โลกใหม่ซึ่งจะรวมผืนแผ่นดินเล็กกระจิริดในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่ชื่อ ราปานุย เข้าไว้ด้วย.—2 เปโตร 3:13.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 แม้ว่าประชากรของที่นี่เรียกเกาะและตัวพวกเขาเองว่า ราปานุย แต่เกาะนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อเกาะอีสเตอร์ และเรียกประชากรของเกาะนี้ว่าชาวเกาะอีสเตอร์.
[แผนที่หน้า 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เกาะอีสเตอร์
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 23]
“มีการทำรูปสลักขึ้นประมาณ 1,000 รูป”
[ภาพหน้า 25]
แผ่นดินโลกทั้งสิ้นรวมทั้งหมู่เกาะอันห่างไกลจะกลายเป็นอุทยาน