หลังพายุสงบ—งานบรรเทาทุกข์ในฝรั่งเศส
หลังพายุสงบ—งานบรรเทาทุกข์ในฝรั่งเศส
โดยผู้สื่อข่าว ตื่นเถิด! ในฝรั่งเศส
ฟรังซวาส์เปิดประตูเพื่อจะออกไปเก็บฟืนมาใส่เตาผิง. เธอเล่าว่า “ดิฉันไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองเลย. น้ำท่วมขึ้นมาถึงบันไดหน้าประตู และคลื่นลูกใหญ่กำลังทะลักเข้ามาทางประตูรั้ว.” เทียรี สามีของเธอ ลุยน้ำที่สูงถึงคอไปเอาบันไดมาจากโรงรถ. ครอบครัวนี้พากันปีนขึ้นไปบนห้องใต้หลังคา แล้วเขาก็เจาะช่องขึ้นหลังคา. ทั้งเปียกโชกและหวาดกลัว สามีภรรยาคู่นี้และลูกอีกสามคนรอนานถึงสี่ชั่วโมงเพื่อให้คนมาช่วย. ในที่สุด เฮลิคอปเตอร์ตำรวจฝรั่งเศสก็พบพวกเขาและใช้กว้านดึงพวกเขาขึ้นไปยังที่ปลอดภัย.
ฝนตกหนักมากจนทำให้แม่น้ำเอ่อล้นท่วมฝั่ง ทำให้เขื่อนแตกและสะพานต่าง ๆ พังเสียหาย. คลื่นน้ำโคลน ซึ่งบางครั้งสูงกว่า 10 เมตร กวาดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าไป. มีผู้เสียชีวิตตอนเกิดพายุกว่า 30 คน—โดยที่ติดอยู่ในรถหรือจมน้ำขณะกำลังนอนหลับ. ผู้ประสบภัยคนหนึ่งซึ่งได้รับการช่วยเหลือเปรียบคืนเดือนพฤศจิกายนอันเลวร้ายนั้นเหมือนกับ “จุดจบของเวลา.” ภาคตะวันตกเฉียงใต้ทั้งหมดของฝรั่งเศส ซึ่งมีเมืองและหมู่บ้าน 329 แห่ง ได้รับการประกาศว่าเป็นเขตภัยพิบัติ.
ช่วงที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง
ภาคตะวันตกเฉียงใต้ยังไม่ทันฟื้นจากความหายนะครั้งนี้ภัยพิบัติก็กระหน่ำเข้ามาอีก. ความกดอากาศต่ำที่ต่ำอย่างมากเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกทำให้เกิดลมซึ่งมีความแรงระดับพายุเฮอร์ริเคน. พายุเกลลูกแรกพัดผ่านภาคเหนือของฝรั่งเศสในวันที่ 26 ธันวาคม 1999 และลูกที่สองถล่มภาคใต้ในคืนถัดมา. ความเร็วลมที่บันทึกได้นั้นสูงกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. ตามบันทึก
อย่างเป็นทางการ ฝรั่งเศสไม่เคยประสบพายุร้ายแรงขนาดนี้อย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 17.เอเลนตั้งครรภ์ได้แปดเดือนตอนที่พายุเกลกระหน่ำ. เธอเล่าว่า “ดิฉันตกใจกลัวมาก. สามีของดิฉันกำลังขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาบ้าน และดิฉันเห็นกิ่งไม้ข้างนอกปลิวว่อนไปทั่ว. ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่าเขาอาจไม่มีวันได้เห็นหน้าลูก. สามีของดิฉันมาถึงบ้านพอดีตอนที่น้ำเริ่มทะลักเข้ามาในบ้าน. เราต้องกระโดดออกทางหน้าต่าง.”
ในฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน. ถ้าไม่จมน้ำก็ถูกกระเบื้องมุงหลังคา, ปล่องไฟ, หรือต้นไม้ล้มทับ. อีกหลายร้อยคนบาดเจ็บสาหัส รวมทั้งนักกู้ภัยที่เป็นพลเรือนและทหารหลายคน. พายุเกลนี้ยังมีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คนในบริเตน, เยอรมนี, สเปน, และสวิตเซอร์แลนด์.
ผลที่ตามมาภายหลัง
ในเขตการปกครองของฝรั่งเศสทั้งหมด 96 เขต มี 69 เขตที่ได้รับการประกาศว่าเป็น “เขตภัยพิบัติธรรมชาติ.” ความเสียหายประมาณว่ามีถึงเจ็ดหมื่นล้านฟรังก์ (385,000 ล้านบาท). ความเสียหายในเมือง, หมู่บ้าน, และท่าเรือบางแห่งทำให้นึกถึงเขตสงคราม. มีต้นไม้หักโค่นกีดขวางตามถนนและทางรถไฟหลายสาย. หลังคาอาคารต่าง ๆ ปลิวหาย, ปั้นจั่นสำหรับการก่อสร้างพังลงมา, และเรือก็ขึ้นมาเกยอยู่บนท่า. ชาวสวนหลายพันคนที่เพาะพันธุ์ไม้ขายต่างสูญเสียเครื่องมือหาเลี้ยงชีพของตน เนื่องจากเรือนกระจกและเรือกสวนถูกทำลาย.
ในไม่กี่ชั่วโมง พายุนั้นได้ทำลายป่าไม้และสวนสาธารณะต่าง ๆ จนย่อยยับ ผลาญพื้นที่ป่าหลายแสนไร่ราบเป็นหน้ากลอง. ตามรายงานของกรมป่าไม้ฝรั่งเศส ต้นไม้ราว ๆ 300 ล้านต้นถูกทำลาย. ต้นไม้ใหญ่ ๆ อายุหลายร้อยปีถูกถอนรากหรือหักโค่นเหมือนกับก้านไม้ขีด. ลมพายุทำลายป่าไม้ในเขตอะควีเตนและเขตลอร์เรนจนพังพินาศไปเป็นแถบ ๆ.
เบอร์นาร์ด พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวว่า “หลังจากวันที่เกิดพายุ ผมเข้าไปในป่า. เป็นเรื่องน่าตกตะลึงจริง ๆ. ใครก็ไม่อาจทำใจได้เมื่อเห็นภาพนั้น! ที่นี่ พี่น้องในประชาคมของผม 80 เปอร์เซ็นต์พึ่งอาศัยป่าไม้นั้นในการหาเลี้ยงชีพ. ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ หวาดกลัวอย่าง
มาก.” ในบริเวณพระราชวังแวร์ซาย ต้นไม้ 10,000 ต้นหักโค่น. หัวหน้าคนสวนคนหนึ่งคร่ำครวญว่า “จะต้องใช้เวลาถึงสองร้อยปีเพื่อสวนแห่งนี้จะกลับคืนสู่สภาพเดิม.”เมื่อสายไฟถูกตัดขาด ประชากรกว่าหนึ่งในหกของฝรั่งเศสต้องอยู่ในความมืด. แม้ว่าหน่วยงานที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภคจะใช้ความพยายามอย่างน่าชมเชย แต่หลายหมื่นคนก็ยังไม่มีไฟฟ้าหรือโทรศัพท์ใช้กว่าสองสัปดาห์หลังพายุสงบ. หมู่บ้านเล็ก ๆ บางแห่งถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง. หลายครอบครัวซึ่งจำต้องตักน้ำจากบ่อและใช้เทียนรู้สึกเหมือนกับว่าพวกเขากำลังมีชีวิตอยู่เมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้วมากกว่าจะอยู่ที่ธรณีประตูแห่งศตวรรษที่ 21.
พายุไม่ได้ละเว้นอาคารสาธารณะ, ปราสาท, หรือโบสถ์ต่าง ๆ. อาคารทางศาสนาหลายแห่ง รวมทั้งหอประชุมของพยานพระยะโฮวา 15 แห่งได้รับความเสียหาย. ในบางแห่ง การประชุมต้องจัดขึ้นภายใต้แสงเทียนหรือตะเกียงน้ำมันก๊าด.
พยานพระยะโฮวาประมาณ 2,000 ครอบครัวที่ได้รับความเสียหายจากพายุ ต้องสูญเสียทรัพย์สินของตน ซึ่งมีตั้งแต่ต้นไม้หักโค่นหรือกระเบื้องมุงหลังคาปลิวหายไปจนถึงบ้านทั้งหลังถูกทำลายโดยสิ้นเชิงเมื่อแม่น้ำเอ่อล้นท่วมฝั่ง. พยานฯ หลายคนได้รับบาดเจ็บ. น่าเศร้า ในเขตชารานต์ พยานฯ วัย 77 ปีคนหนึ่งจมน้ำเสียชีวิตขณะที่ภรรยาของเขามองดูโดยช่วยอะไรไม่ได้. คนอื่นก็รอดมาได้หวุดหวิด. ชิลแบร์ วัย 70 ปีเล่าว่า “เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ผมไม่ตาย. ประตูเปิดผัวะและน้ำก็ทะลักเข้ามาด้วยพลังมหาศาล. ทันใดนั้นผมอยู่ในน้ำลึกเมตรครึ่ง. ผมรอดมาได้เพราะเกาะตู้เสื้อผ้า.”
การให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น
พายุทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างน่าทึ่งในฝรั่งเศสและตลอดทั่วยุโรป. หนังสือพิมพ์เลอ มิดิ ลีเบรอ ให้ข้อสังเกตว่า “มีบางครั้งที่การกุศลแทบจะเหมือนกับพันธะหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ, โดยมิตรภาพ, หรือโดยมโนธรรม.”
ทันทีหลังจากพายุสงบ มีการตั้งคณะกรรมการบรรเทาทุกข์แห่งพยานพระยะโฮวาขึ้นเพื่อช่วยสมาชิกของประชาคมในท้องถิ่นรวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินี้. คณะกรรมการก่อสร้างประจำภูมิภาค ซึ่งปกติจะทำการก่อสร้างหอประชุมราชอาณาจักร ก็ได้จัดทีมงานอาสาสมัครขึ้น. หลังจากเกิดพายุทางภาคใต้ในเดือนพฤศจิกายน พยานฯ 3,000 คนเข้าร่วมในงานกู้ภัยและทำความสะอาด โดยช่วยผู้ประสบภัยตักโคลนกับน้ำที่ท่วมบ้านออก. พยานฯ เป็นอาสาสมัครกลุ่มแรก ๆ ที่ไปถึงในหมู่บ้านบางแห่ง. พยานฯ ได้ทำความสะอาดอาคารสาธารณะ เช่น โรงเรียน, ที่ทำการไปรษณีย์, ศาลาว่าการเมือง, บ้านพักคนชรา, และแม้แต่สุสาน. ในหลายกรณีพวกเขาทำงานร่วมกับหน่วยกู้ภัย.
มีการให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคน ไม่ว่าความเชื่อทางศาสนาของเขาจะเป็นเช่นไร. พยานฯ คนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “เราช่วย
บาทหลวงประจำหมู่บ้าน. เราทำความสะอาดห้องใต้ดินในบ้านของเขา.” เมื่อเล่าถึงคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากพยานฯ เขาเสริมว่า “ผู้คนมองเหมือนกับว่าเราหล่นมาจากฟ้าเพื่อมาช่วยพวกเขา.” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวว่า “คุณอาจถือว่านี่เป็นวิธีของพวกเขาในการอ่านกิตติคุณและช่วยเหลือเพื่อนบ้านของตน. ผมคิดว่าคนเหล่านี้ที่มาช่วยเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกิตติคุณและศาสนาของตน.” พยานฯ อาสาสมัครคนหนึ่งออกความเห็นว่า “หัวใจของคุณกระตุ้นให้คุณมาช่วย. นับเป็นความยินดีจริง ๆ ที่สามารถทำอะไรเพื่อเพื่อนบ้านของเรา.”หลังจากเกิดพายุเกลสองลูกในเดือนธันวาคม ครอบครัวพยานฯ หลายสิบครอบครัวถูกตัดขาดจากพี่น้องคริสเตียนของตนเป็นเวลาหลายวัน. ภายใต้การดูแลของผู้ดูแลเดินทางและผู้ปกครองในท้องถิ่น มีการจัดระเบียบเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์. เนื่องจากถนนขาดและสายโทรศัพท์เสีย บางครั้งจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะติดต่อเพื่อนซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร. เพื่อจะช่วยสมาชิกในประชาคมที่อยู่โดดเดี่ยว พยานฯ บางคนบุกป่าฝ่าดงโดยเดินเท้าหรือขี่จักรยาน แม้ว่าต้องเสี่ยงอันตรายอย่างมากจากต้นไม้ที่อาจจะล้มลงมา. อีกครั้งหนึ่ง อาสาสมัครทำงานอย่างหนักเพื่อทำความสะอาดโรงเรียน, ห้องสมุด, สถานที่ตั้งเต็นท์, และบ้านของเพื่อนบ้านรวมทั้งขจัดสิ่งกีดขวางทางในป่า.
การสร้าง “บรรยากาศแห่งความรัก”
ผู้ประสบภัยหลายคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ และคนสูงอายุ หวาดผวากับประสบการณ์นั้น. คนที่สูญเสียบ้านหรือผู้เป็นที่รักไปคงต้องการเวลาและการเกื้อหนุนอีกมากจากครอบครัวและมิตรสหายเพื่อสร้างชีวิตใหม่. หลังจากอุทกภัยในเขตโอด นายแพทย์กาเบรียล คอตเตง จากคณะกรรมาธิการเวชศาสตร์และจิตวิทยาฉุกเฉิน ให้ข้อสังเกตว่า “การเกื้อหนุนใด ๆ จากคนที่อยู่ในศาสนาเดียวกันกับผู้ประสบภัยก็ถือว่าเป็นประโยชน์ด้วย.”
พยานพระยะโฮวามองความช่วยเหลือเหล่านั้นว่าเป็นพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมและเป็นตามหลักพระคัมภีร์. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ไม่ให้มีการแก่งแย่งกันในกาย [ประชาคมคริสเตียนแท้], แต่ให้อวัยวะทั้งสิ้นมีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน. ถ้าอวัยวะอันหนึ่งเจ็บ, อวัยวะทั้งปวงก็พลอยเจ็บด้วยกัน.”—1 โกรินโธ 12:25, 26.
เอเลนที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งตอนนี้เป็นคุณแม่ของเด็กหญิงที่ร่าเริงแจ่มใส กล่าวว่า “ไม่กี่ชั่วโมงหลังพายุผ่านไป พี่น้องคริสเตียนชายหญิงหลายสิบคนมาที่บ้านของเราเพื่อช่วยทำความสะอาดทุกสิ่งทุกอย่าง. แม้แต่พยานฯ ซึ่งตัวเองก็ได้รับผลกระทบจากพายุก็มาช่วยเรา. เป็นการช่วยเหลือที่ยอดเยี่ยมมาก—คือเป็นไปตามธรรมชาติและออกมาจากหัวใจ!”
โอเดต ซึ่งบ้านของเธอถูกทำลายในอุทกภัย พูดถึงเพื่อนพยานฯ ว่า “พวกเขาปลอบโยนดิฉันอย่างมาก. คุณไม่อาจพรรณนาความรู้สึกของคุณออกมาได้. ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งจริง ๆ สำหรับทุกสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อดิฉัน.” อีกคนหนึ่งพูดถึงความรู้สึกของหลายคนโดยร้องออกมาด้วยความหยั่งรู้ค่าว่า “พวกเราอยู่ในบรรยากาศแห่งความรักจริง ๆ!”
[กรอบ/ภาพหน้า 18, 19]
“น้ำทะเลสีดำ”
กลางเดือนธันวาคม ไม่นานก่อนเกิดพายุ เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ชื่อเอริกา จมลงในทะเลที่ปั่นป่วนประมาณ 50 กิโลเมตรนอกชายฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศส ทำให้น้ำมัน 10,000 ตันรั่วไหลสู่ทะเล ทำให้ชายฝั่งที่ยาวประมาณ 400 กิโลเมตรตั้งแต่แคว้นบริตตานีจนถึงเวนเดปนเปื้อน. พายุทำให้ภัยพิบัติทางระบบนิเวศน์นี้ร้ายแรงยิ่งขึ้นโดยทำให้คราบน้ำมันกระจายตัว, แพร่มลพิษออกไป, และทำให้การขจัดน้ำมันเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น. อาสาสมัครหลายพันคน ทั้งหนุ่มและแก่ มาจากทั่วประเทศฝรั่งเศสเพื่อช่วยทำความสะอาดน้ำมันอันร้ายกาจนี้จากหินและทราย.
อุบัติเหตุครั้งนี้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนทางระบบนิเวศน์อย่างร้ายแรง. อุตสาหกรรมหอยนางรมและกุ้งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง. ตามคำกล่าวของนักปักษินวิทยา นกทะเลอย่างน้อย 400,000 ตัว—ได้แก่นกพัฟฟิน, นกกรีบ, นกแกนเนต, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกิลลิมอต—ตายไป. นี่สูงถึงสิบเท่าของจำนวนนกที่ตายเพราะเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ชื่ออะโมโค คาดิซ เกยตื้นนอกชายฝั่งบริตตานีในเดือนมีนาคม 1978. นกหลายตัวกำลังหนีหนาวมาอยู่ที่ชายฝั่งทะเลของฝรั่งเศสหลังจากอพยพมาจากอังกฤษ, ไอร์แลนด์, และสกอตแลนด์. ผู้อำนวยการสโมสรคุ้มครองนกโรชฟอร์ตให้ความเห็นว่า “มันเป็นการรั่วไหลของน้ำมันที่ก่อความหายนะ. มันเลวร้ายที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น. . . . เราเกรงว่านกพันธุ์ที่หายากจะลดจำนวนลงหรือถึงกับหมดสิ้นไปจากชายฝั่งฝรั่งเศส.”
[ที่มาของภาพ]
© La Marine Nationale, France
[ภาพหน้า 15]
หลายร้อยคนได้รับการช่วยเหลือโดยเฮลิคอปเตอร์ เช่นที่เห็นนี้ในคูชาก โดด
[ที่มาของภาพ]
B.I.M.
[ภาพหน้า 15]
ท่ามกลางสวนองุ่นที่พังพินาศ, ทางรถไฟที่ชำรุดจนไม่อาจใช้การได้อีกต่อไป
[ที่มาของภาพ]
B.I.M.
[ภาพหน้า 15]
รถยนต์ที่พังยับเยินหลายร้อยคันกระจัดกระจายไปทั่วเขต
[ภาพหน้า 16]
ในวิลเดน ชายคนนี้ติดอยู่เป็นเวลาเจ็ดชั่วโมง
[ที่มาของภาพ]
J.-M Colombier
[ภาพหน้า 16, 17]
ต้นสนหักเหมือนกับก้านไม้ขีดไฟในเขตเคริซ
[ที่มาของภาพ]
© Chareyton/La Montagne/MAXPPP
[ภาพหน้า 17]
เช้าวันถัดมาในแซง-ปีแยร์-ซูเออร์-ดีฟ นอร์มังดี
[ที่มาของภาพ]
© M. Daniau/AFP
[ภาพหน้า 17]
ในสวนพระราชวังแวร์ซายแห่งเดียว ต้นไม้ 10,000 ต้นหักโค่น
[ที่มาของภาพ]
© Charles Platiau/Reuters/MAXPPP
[ภาพหน้า 18]
ทีมงานของพยานพระยะโฮวาทำความสะอาดบ้านพักคนชราในลา เรดอร์ต (บน) และศาลาว่าการเมืองเรซาก โดด (ขวา)