อย่าตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ!
อย่าตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ!
“คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ.”—สุภาษิต 14:15.
มีความแตกต่าง—แตกต่างกันอย่างมาก—ระหว่างการให้การศึกษากับการโฆษณาชวนเชื่อ. การศึกษาแสดงให้คุณเห็นว่าควรคิดอย่างไร. ส่วนการโฆษณาชวนเชื่อบอกคุณว่าควรคิดอะไร. ผู้ให้การศึกษาที่ดีจะชี้ให้เห็นทุกแง่มุมของประเด็น และสนับสนุนให้พินิจพิจารณา. นักโฆษณาชวนเชื่อกรอกหูคุณซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยแง่คิดของพวกเขา และไม่สนับสนุนให้คุณพินิจพิจารณา. พวกเขามักจะไม่แสดงเจตนาที่แท้จริงออกมา. เขาจะเลือกใช้เฉพาะข้อเท็จจริงที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และปิดบังเรื่องอื่น ๆ. อีกทั้งบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยการโกหกและพูดจริงครึ่งไม่จริงครึ่งอย่างชำนิชำนาญ. เป้าหมายของพวกเขาคือ อารมณ์ความรู้สึกของคุณ ไม่ใช่ความสามารถในการคิดหาเหตุผลของคุณ.
นักโฆษณาชวนเชื่อพยายามทำให้แน่ใจว่าข่าวสารของเขาดูเหมือนถูกต้องตามทำนองคลองธรรม อีกทั้งให้ความรู้สึกว่าคุณเป็นคนสำคัญและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดถ้าคุณปฏิบัติตาม. คุณเป็นคนฉลาดหลักแหลม, คุณจะไม่โดดเดี่ยวเดียวดาย, คุณจะสุขสบายและปลอดภัย—เขาบอกอย่างนั้น.
คุณจะปกป้องตัวเองจากผู้คนชนิดที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกว่า “คนพูดไร้สาระ” และ “คนล่อลวงจิตใจ” ได้อย่างไร? (ติโต 1:10, ล.ม.) ถ้าคุณรู้จักกลเม็ดบางอย่างของพวกเขา คุณจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่าในการประเมินข่าวสารหรือข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่คุณได้รับ. ต่อไปนี้เป็นวิธีการบางอย่างที่ช่วยได้.
จงเลือกเฟ้น: จิตใจที่เปิดรับเต็มที่อาจเปรียบได้กับท่อน้ำที่ยอมให้ทุกสิ่งไหลผ่าน—กระทั่งสิ่งปฏิกูล. ไม่มีใครอยากให้จิตใจปนเปื้อนด้วยสิ่งมีพิษ. ซะโลโม ซึ่งเป็นกษัตริย์และผู้ทรงความรู้ในสมัยโบราณ เตือนว่า “คนใดที่ขาดประสบการณ์เชื่อคำพูดทุกคำ แต่คนฉลาดพิจารณาก้าวเท้าของตน.” (สุภาษิต 14:15, ล.ม.) ดังนั้น เราจำเป็นต้องเลือกเฟ้น. เราจำต้องพินิจพิเคราะห์ทุกสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง และตัดสินใจว่าอะไรควรเชื่อและอะไรควรปฏิเสธ.
อย่างไรก็ตาม เราไม่อยากเป็นคนใจแคบเสียจนไม่รับพิจารณาข้อเท็จจริงที่อาจช่วยให้เรามีวิจารณญาณดีขึ้น. เราจะมีความสมดุลอย่างถูกต้องได้อย่างไร? ก็โดยนำเอาหลักเกณฑ์บางอย่างมาวัดข้อมูลใหม่ ๆ. ณ ที่นี้ คริสเตียนมีแหล่งแห่งสติปัญญาอันสูงส่ง. เขามีคัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องนำทางที่วางใจได้สำหรับการคิดหาเหตุผล. ในด้านหนึ่ง จิตใจของเขาเปิด กล่าวคือ รับเอาข้อมูลใหม่ ๆ. เขาจะชั่งดูข้อมูลใหม่นั้นอย่างเหมาะสมโดยอาศัยหลักเกณฑ์จากคัมภีร์ไบเบิล และเลือกเฉพาะสิ่งที่เป็นความจริงใส่ไว้ในแบบแผนการคิดของเขา. ส่วน
อีกด้านหนึ่ง จิตใจของเขาจะเห็นอันตรายของข้อมูลที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับค่านิยมตามหลักคัมภีร์ไบเบิล.ใช้ความสังเกตเข้าใจ: ความสังเกตเข้าใจคือ “ความเฉียบแหลมในการพิจารณาตัดสิน” กล่าวคือ “พลังความสามารถของจิตใจที่ใช้แยกแยะสิ่งหนึ่งออกจากสิ่งหนึ่ง.” คนที่มีความสังเกตเข้าใจจะสำเหนียกได้ถึงนัยแอบแฝงของความคิดหรือสิ่งต่าง ๆ และมีวิจารณญาณที่ดี.
โดยอาศัยความสังเกตเข้าใจ เราจะดูออกว่าใครเพียงแค่ใช้ “คำดีคำอ่อนหวาน” เพื่อจะ “ล่อลวงคนซื่อให้หลง.” (โรม 16:18) ความสังเกตเข้าใจทำให้คุณสามารถทิ้งข้อมูลที่ไม่เข้ากับเรื่องหรือข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด และแยกแยะแก่นแท้ของเรื่องออกมา. แต่คุณจะสังเกตได้อย่างไรว่าบางสิ่งทำให้เข้าใจผิด?
ตรวจสอบข้อมูล: โยฮัน ครูคริสเตียนในศตวรรษแรกกล่าวว่า “ท่านที่รักทั้งหลาย อย่าเชื่อทุกถ้อยคำที่กล่าวโดยการดลใจ แต่จงตรวจดู . . . ถ้อยคำเหล่านั้น.” (1 โยฮัน 4:1, ล.ม.) บางคนในทุกวันนี้เป็นเหมือนฟองน้ำ คือดูดซับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา. เป็นสิ่งง่ายเหลือเกินที่จะดูดซับอะไรก็ตามที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา.
แต่จะดีกว่ามากนักถ้าแต่ละคนเลือกสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจเขา. มีภาษิตกล่าวว่า เรากินอะไรเราก็เป็นอย่างนั้น และเรื่องนี้ใช้ได้กับอาหารทางกายและทางใจ. ไม่ว่าคุณจะอ่านอะไร ดูอะไร หรือฟังอะไร จงตรวจสอบดูว่าสิ่งนั้นส่อไปในทางโฆษณาชวนเชื่อหรือเป็นความจริง.
นอกจากนี้ ถ้าเราอยากมีใจเป็นกลาง เราต้องเต็มใจที่จะตรวจสอบความเห็นของเราตลอดเวลาเมื่อได้รับข้อมูลใหม่. จริง ๆ แล้ว เราต้องตระหนักว่านั่นเป็นเพียงความเห็น. ความน่าไว้วางใจของความเห็นนั้นขึ้นอยู่กับความมีเหตุผลแห่งข้อเท็จจริงของเรา, คุณภาพการหาเหตุผลของเรา, และหลักเกณฑ์หรือค่านิยมที่เราเลือกใช้.
ตั้งคำถาม: ดังที่เราได้เห็นแล้ว ปัจจุบันมีหลายคนต้องการ ‘ล่อลวงเราด้วยการชักเหตุผลโน้มน้าวใจต่าง ๆ.’ (โกโลซาย 2:4, ล.ม.) เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้ฟังการชักเหตุผลโน้มน้าวใจต่าง ๆ เราควรจะตั้งคำถาม.
ก่อนอื่น ให้ตรวจสอบดูว่ามีการลำเอียงหรือไม่. อะไรคือเจตนาเบื้องหลังข่าวสารนั้น? ถ้าข่าวดังกล่าวเต็มไปด้วยการขนานนามและถ้อยคำที่ส่อไปในทางลบ ให้ถามว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? นอกจากคำพูดที่ส่อไปในทางลบแล้ว อะไรคือส่วนดีของข่าวนั้น? อนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามตรวจสอบประวัติความน่าเชื่อถือของคนที่ให้ข่าว. เขาเป็นคนที่รู้จักกันว่าพูดความจริงไหม? ถ้ามีการอ้างถึง “เจ้าหน้าที่” พวกเขาเป็นใครหรือมีตำแหน่งหน้า
ที่อะไร? ทำไมคุณถือว่าบุคคล—หรือองค์การหรือสิ่งพิมพ์—นี้มีความรู้พิเศษหรือมีข้อมูลที่น่าไว้วางใจเกี่ยวด้วยเรื่องที่ยังไม่มีการตรวจสอบ? ถ้าคุณรู้สึกว่าบางคนพยายามปลุกเร้าอารมณ์ ให้ถามตัวเองว่า ‘เมื่อพิจารณาอย่างปราศจากอคติแล้ว ส่วนดีของข่าวนั้นมีอะไรบ้าง?’อย่าเอาแต่ติดตามฝูงชน: ถ้าคุณตระหนักว่าสิ่งที่ทุกคน คิดไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป คุณอาจมีความกล้าที่จะคิดต่างออกไป. แม้จะดูเหมือนว่าทุกคนคิดไปในทางเดียวกัน แต่นี่หมายความว่าคุณ ควรคิดอย่างนั้นด้วยไหม? ความคิดที่ผู้คนทั่วไปนิยม ใช่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความจริงที่วางใจได้. ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา ผู้คนมากมายให้การยอมรับความคิดสารพัดรูปแบบ แต่ภายหลังก็มีการพิสูจน์ว่าผิด. กระนั้น แนวโน้มที่จะทำตามฝูงชนยังมีอยู่. พระบัญชาที่ให้ไว้ในเอ็กโซโด 23:2 ให้หลักการที่ดีไว้ดังนี้: “เจ้าอย่าได้กระทำการชั่วตามอย่างคนส่วนมากที่เขากระทำกันนั้นเลย.”
ข้อมูลที่เป็นความจริง ปะทะการโฆษณาชวนเชื่อ
ก่อนหน้านี้ได้กล่าวไปแล้วว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องนำทางที่วางใจได้เพื่อการมีความคิดที่ถูกต้อง. พยานพระยะโฮวาเห็นด้วยเต็มที่กับคำพูดที่พระเยซูทูลต่อพระเจ้าว่า “คำของพระองค์เป็นความจริง.” (โยฮัน 17:17) ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระเจ้าผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิลเป็น “พระเจ้าแห่งความสัตย์จริง.”—บทเพลงสรรเสริญ 31:5.
ถูกแล้ว ในยุคแห่งการโฆษณาชวนเชื่อที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมนี้ เราสามารถพึ่งหวังในพระคำของพระยะโฮวาได้ด้วยความมั่นใจในฐานะแหล่งแห่งความจริง. ในที่สุด สิ่งนี้จะป้องกันเราไว้จากผู้ที่ต้องการ ‘หาประโยชน์จากเราด้วยคำหลอกลวง.’—2 เปโตร 2:3, ล.ม.
[ภาพหน้า 9]
ความสังเกตเข้าใจทำให้คุณสามารถทิ้งข้อมูลที่ไม่เข้ากับเรื่องหรือข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด
[ภาพหน้า 10]
ไม่ว่าคุณจะอ่านอะไรหรือดูอะไร จงตรวจสอบว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงหรือไม่
[ภาพหน้า 11]
ความเห็นที่ผู้คนทั่วไปนิยม ใช่ว่าจะวางใจได้เสมอไป
[ภาพหน้า 11]
เราสามารถพึ่งหวังพระคำของพระเจ้าได้ด้วยความมั่นใจในฐานะแหล่งแห่งความจริง