ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อันตรายของการท่องเที่ยวโดยวิธีโบกรถ

อันตรายของการท่องเที่ยวโดยวิธีโบกรถ

อันตราย​ของ​การ​ท่อง​เที่ยว​โดย​วิธี​โบก​รถ

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

วัน​หนึ่ง​ที่​ร้อน​ระอุ​ใน​ฤดู​ร้อน​ปี 1990 พอล อันยันส์ นัก​ท่อง​เที่ยว​สะพาย​เป้​ชาว​อังกฤษ วัย 24 ปี โบก​รถ​คัน​หนึ่ง​บน​ถนน​ฮิวม์ ทาง​ใต้​ของ​ซิดนีย์ ออสเตรเลีย. พอล​รู้สึก​ซาบซึ้ง​ใจ​ที่​คน​แปลก​หน้า​หยุด​รถ​รับ. เขา​ไม่​รู้​เลย​ว่า​การ​ไป​กับ​รถ​คัน​นี้​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เอง​เกือบ​เอา​ชีวิต​ไม่​รอด. *

โดย​ไม่​ล่วง​รู้​ถึง​อันตราย พอล​นั่ง​ที่​เบาะ​หน้า​และ​คุย​กับ​คน​ขับ. ใน​ไม่​กี่​นาที​คน​ขับ​ที่​ดู​เหมือน​โอบอ้อม​อารี​ก็​เริ่ม​ก้าวร้าว​ระราน. ครั้น​แล้ว​เขา​ก็​หัก​พวงมาลัย​เข้า​ข้าง​ทาง​ทันที บอก​ว่า​อยาก​จะ​เอา​เทป​เพลง​ที่​อยู่​ใต้​เบาะ. เขา​ดึง​ออก​มา ไม่​ใช่​เทป แต่​เป็น​ปืน และ​หัน​ปาก​กระบอก​ไป​ที่​หน้า​อก​ของ​พอล.

พอล​ไม่​สนใจ​คำ​สั่ง​ของ​คน​ขับ​รถ​ที่​บอก​ให้​นั่ง​อยู่​กับ​ที่ เขา​รีบ​ปลด​เข็มขัด​นิรภัย กระโดด​ออก​จาก​รถ และ​วิ่ง​สุด​แรง​เกิด​ไป​ตาม​ถนน. คน​ขับ​รถ​ไล่​กวด​เขา ขณะ​ที่​คน​ขับ​รถยนต์​คัน​อื่น ๆ เห็น​เหตุ​การณ์​โดย​ตลอด. ใน​ที่​สุด เขา​ก็​ไล่​ทัน คว้า​เสื้อ​ยืด​ของ​พอล​ไว้ และ​เหวี่ยง​เขา​ลง​กับ​พื้น. พอล​ดิ้น​หลุด​มา​ได้ และ​วิ่ง​ไป​ขวาง​หน้า​รถ​แวน​ที่​กำลัง​แล่น​มา​เพื่อ​บีบ​ให้​คน​ขับ​ที่​อก​สั่น​ขวัญ​แขวน​หยุด​รถ ซึ่ง​คน​ขับ​เป็น​ผู้​หญิง​มี​ลูก ๆ นั่ง​มา​ด้วย. เมื่อ​พอล​อ้อน​วอน ผู้​หญิง​คน​นั้น​ก็​ยอม​ให้​เขา​ขึ้น​รถ แล้ว​วก​รถ​กลับ​และ​เร่ง​ความ​เร็ว​หนี​ไป. ใน​เวลา​ต่อ​มา​จึง​มี​การ​ระบุ​ตัว​ผู้​ที่​จู่​โจม​พอล​ว่า​เป็น​ฆาตกร​ต่อ​เนื่อง ซึ่ง​สังหาร​นัก​ท่อง​เที่ยว​สะพาย​เป้​ไป​แล้ว​ถึง​เจ็ด​คน บาง​คน​โบก​รถ​ไป​ด้วย​กัน​เป็น​คู่.

อะไร​ทำ​ให้​เหยื่อ​เหล่า​นี้​เป็น​เป้าหมาย​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ​สำหรับ​ฆาตกร? ณ การ​พิจารณา​คดี​ฆาตกร​ราย​นี้ ผู้​พิพากษา​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เหยื่อ​แต่​ละ​ราย​เป็น​คน​หนุ่ม​สาว. พวก​เขา​มี​อายุ​ระหว่าง 19 ถึง 22 ปี. แต่​ละ​คน​เดิน​ทาง​จาก​บ้าน​มา​ไกล ทำ​ให้​ฆาตกร​คิด​ว่า ถ้า​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​กับ​พวก​เขา​ก็​คง​จะ​ใช้​เวลา​นาน​กว่า​ทาง​บ้าน​จะ​รู้​ว่า​พวก​เขา​หาย​ไป.”

อิสรภาพ​แห่ง​การ​ท่อง​เที่ยว

ปัจจุบัน การ​เดิน​ทาง​ระหว่าง​ประเทศ​อยู่​ใน​วิสัย​ที่​ผู้​คน​ทำ​ได้​มาก​ขึ้น​เมื่อ​เทียบ​กับ​ไม่​กี่​ปี​ที่​แล้ว. ยก​ตัว​อย่าง ใน​ช่วง​เวลา​ห้า​ปี​จำนวน​ชาว​ออสเตรเลีย​ที่​มา​ท่อง​เที่ยว​ใน​เอเชีย​เพิ่ม​ขึ้น​มาก​กว่า​สอง​เท่า. บรรดา​วัยรุ่น​และ​หนุ่ม​สาว​ต่าง​ก็​หลั่งไหล​ขึ้น​เครื่องบิน​ไป​ยัง​จุด​หมาย​ปลาย​ทาง​ไกล​โพ้น เพื่อ​แสวง​หา​ประสบการณ์​หรือ​ไม่​ก็​เพื่อ​ผจญ​ภัย. หลาย​คน​ใน​หมู่​นัก​ท่อง​เที่ยว​เหล่า​นี้​วาง​แผน​จะ​โบก​รถ​เพื่อ​ประหยัด​ค่า​ใช้​จ่าย. น่า​เสียดาย ใน​ส่วน​ใหญ่​ของ​โลก การ​โบก​รถ​ไม่​ใช่​วิธี​ที่​น่า​สนใจ​อีก​ต่อ​ไป​แถม​ยัง​ไม่​ค่อย​ปลอด​ภัย​อีก​ด้วย​เมื่อ​เทียบ​กับ​สมัย​ก่อน—ทั้ง​สำหรับ​ผู้​โบก​เอง​และ​ผู้​ที่​รับ​พวก​เขา​ขึ้น​รถ.

การ​มี​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​และ​ความ​กระหาย​จะ​เดิน​ทาง​ยัง​ไม่​พอ ต้อง​มี​สติ​ปัญญา​ที่​สุขุม​รอบคอบ​และ​ใช้​การ​ได้​ด้วย. จุลสาร​เล่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​เขียน​ขึ้น​เพื่อ​ครอบครัว​ที่​สืบ​หา​ลูก​ที่​หาย​ไป ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ความ​กระหาย​ที่​จะ​เดิน​ทาง​บ่อย​ครั้ง​ทำ​ให้​คน​หนุ่ม​สาว​ไป​โดย​ไม่​มี​การ​เตรียม​ตัว​ที่​ดี​พอ​สำหรับ​การ​เดิน​ทาง​นั้น และ​ไม่​หยั่ง​รู้​เข้าใจ​เต็ม​ที่​ถึง​อันตราย​หรือ​ความ​รับผิดชอบ​ของ​ตน.”

จุลสาร​นั้น​เสริม​ว่า “ผู้​ที่​เดิน​ทาง​ไป​กับ​กรุ๊ป​ทัวร์​ที่​มี​ระบบ​ระเบียบ, ผู้​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ทำ​ธุรกิจ, หรือ​ผู้​ที่​ติด​ตาม​แผนการ​เดิน​ทาง​ที่​กำหนด​อย่าง​ดี​จะ​ไม่​ค่อย​หาย​สาบสูญ. ไม่​ว่า​ใน​ออสเตรเลีย​หรือ​ใน​ประเทศ​อื่น ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​ซึ่ง​ใน​ที่​สุด​ได้​รับ​การ​ขึ้น​บัญชี​ว่า​สูญ​หาย ดู​เหมือน​เป็น​นัก​ท่อง​เที่ยว​สะพาย​เป้​และ​ใช้​วิธี​เดิน​ทาง​แบบ​ประหยัด.”

ไม่​ว่า​เรา​จะ​ใช้​วิธี​โบก​รถ​หรือ​ไม่ การ​เดิน​ทาง​โดย​ปราศจาก​แผนการ​ที่​กำหนด​แน่นอน—แม้​จะ​น่า​ดึงดูด​ใจ​สำหรับ​บาง​คน​ที่​ไม่​ชอบ​มี​อะไร​ผูก​มัด—อาจ​ทำ​ให้​คน​นั้น​เปราะ​บาง​มาก​ขึ้น​ต่อ​อันตราย. เมื่อ​ญาติ​และ​เพื่อน ๆ ไม่​ทราบ​ว่า​นัก​ท่อง​เที่ยว​อยู่​ที่​ไหน พวก​เขา​ก็​ไม่​อยู่​ใน​ฐานะ​ที่​จะ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​ได้​มาก​นัก​เมื่อ​เกิด​เหตุ​การณ์​ฉุกเฉิน. ยก​ตัว​อย่าง จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​นัก​ท่อง​เที่ยว​คน​หนึ่ง​นอน​หมด​สติ​อยู่​ใน​โรง​พยาบาล​และ​ไม่​มี​คน​ทาง​บ้าน​รู้​ว่า​เขา​อยู่​ที่​ไหน?

รักษา​การ​ติด​ต่อ

ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​ถนน​ที่​ไม่​มี​จุด​หมาย (ภาษา​อังกฤษ) ริชาร์ด เชียร์ นัก​หนังสือ​พิมพ์​ชาว​อังกฤษ​ได้​เขียน​เกี่ยว​กับ​นัก​ท่อง​เที่ยว​โบก​รถ​เจ็ด​คน​ที่​หาย​ไป​ซึ่ง “ขาด​การ​ติด​ต่อ​กับ​ครอบครัว​และ​เพื่อน ๆ อย่าง​กะทันหัน.” แน่​ละ ตอน​แรก ๆ ครอบครัว​ของ​เขา​อาจ​ไม่​แน่​ใจ​ว่า​ญาติ​ของ​ตน​หาย​ไป​หรือ​เพียง​แค่​ไม่​ได้​ติด​ต่อ​มา. สิ่ง​นี้​อาจ​ทำ​ให้​พวก​เขา​ลังเล​ใจ​ที่​จะ​แจ้ง​เจ้าหน้าที่​เมื่อ​ไม่​ได้​ข่าว​จาก​นัก​ท่อง​เที่ยว​เหล่า​นั้น.

หนึ่ง​ใน​นัก​ท่อง​เที่ยว​โบก​รถ​เหล่า​นี้​มัก​จะ​พูด​โทรศัพท์​กับ​บิดา​มารดา​แล้ว​สาย​ตัด​บ่อย ๆ เพราะ​เหรียญ​หมด. โดย​คำนึง​ถึง​สิ่ง​นี้​ภาย​หลัง​เหตุ​การณ์​ร้าย​ได้​เกิด​ขึ้น บิดา​มารดา​ของ​เธอ​จึง​สนับสนุน​ครอบครัว​ต่าง ๆ ให้​ซื้อ​หา​บัตร​โทรศัพท์​ให้​ลูก ๆ ใช้ หรือ​ให้​พวก​เขา​ใช้​วิธี​อื่น​เพื่อ​โทรศัพท์​กลับ​บ้าน. แม้​วิธี​ดัง​กล่าว​อาจ​จะ​ไม่​รักษา​ชีวิต​ของ​หญิง​สาว​คน​นี้​ไว้ แต่​การ​ติด​ต่อ​เป็น​ประจำ​ก็​มัก​จะ​ช่วย​ให้​นัก​ท่อง​เที่ยว​หลีก​เลี่ยง​ความ​ยุ่งยาก​หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​ทำ​ให้​ความ​ยุ่งยาก​นั้น​ลด​ลง​ได้.

นัก​ท่อง​เที่ยว​สะพาย​เป้​เจ็ด​คน​ที่​เสีย​ชีวิต​อาจ​เคย​อ่าน​คู่มือ​เดิน​ทาง​ที่​เรียก​ออสเตรเลีย​ว่า​เป็น​หนึ่ง​ใน​ประเทศ​ที่​ปลอด​ภัย​ที่​สุด​ใน​โลก​สำหรับ​นัก​ท่อง​เที่ยว​ที่​ชอบ​โบก​รถ. กระนั้น อีก​ครั้ง​หนึ่ง การ​โบก​รถ​ปรากฏ​ว่า​เป็น​วิธี​ที่​ไม่​ฉลาด—แม้​จะ​ไป​เป็น​คู่​และ​อยู่​ใน​ประเทศ​ที่ “ปลอด​ภัย​ที่​สุด.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 พึง​สังเกต​ว่า ใน​บาง​แห่ง​การ​โบก​รถ​เพื่อ​ขอ​โดยสาร​ไป​ด้วย เป็น​การ​ผิด​กฎหมาย.

[ภาพ​หน้า 27]

บิดา​มารดา​อาจ​เลี่ยง​ความ​วิตก​กังวล ที่​ไม่​จำเป็น​ได้​โดย​ให้​ลูก ๆ ใช้​บัตร​โทรศัพท์​หรือ​วิธี​อื่น ๆ เพื่อ​ติด​ต่อ​กับ​ทาง​บ้าน