ความจริงถูกปิดบังเป็นเวลา 50 ปี—ทำไม?
ความจริงถูกปิดบังเป็นเวลา 50 ปี—ทำไม?
เกาะรัมเป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ในหมู่เกาะอินเนอร์ เฮบรีดีส นอกชาย-ฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์. ประมาณ 70 ปีก่อน เจ้าของเกาะนี้อนุญาตให้นักพฤกษศาสตร์ชื่อ จอห์น เฮสลอป แฮร์ริสัน อาจารย์มหาวิทยาลัยและสมาชิกราชสมาคมอันทรงเกียรติแห่งบริเตน ศึกษาพันธุ์พืชในเกาะนี้.
ตลอดหลายปีหลังจากนั้น แฮร์ริสันรายงานการค้นพบพันธุ์พืชที่หายากหลายชนิดที่นั่น รวมทั้งพืชที่พบเห็นเฉพาะทางใต้ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร. แฮร์ริสันได้รับการยกย่องอย่างมาก ความสำเร็จทำให้ชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไป. แต่ขณะที่บัญชีรายชื่อของเขายาวขึ้นเรื่อย ๆ ความสงสัยของนักพฤกษศาสตร์คนอื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน.
ในปี 1948 จอห์น เรเวน อาจารย์ด้านวรรณกรรมกรีซและโรมแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และนักพฤกษศาสตร์สมัครเล่นผู้กระตือรือร้น รับคำท้าให้ไปตรวจสอบ. แต่รายงานของเขาไม่เคยได้รับการเผยแพร่. ที่จริง มีการปิดซ่อนรายงานนั้นไว้ และจนกระทั่งปี 1999 รายงานนั้นถึงถูกเปิดเผยออกมา. ทำไม? เนื่องจากเรเวนได้พิสูจน์ว่าแฮร์ริสันเป็นคนฉ้อฉล. ดังที่วารสารนิว ไซเยนติสต์ รายงาน พืชถูกเพาะในที่อื่นและถูกย้ายมาที่เกาะรัมอย่างลับ ๆ.
เรเวนมีความรู้ดีเกี่ยวกับพืชในท้องถิ่นเดิมของมันและไม่นานก็พบวัชพืชที่มีทั่วไปในอังกฤษแต่แทบไม่มีบนเกาะรัมอยู่ในรากของพืชที่แฮร์ริสัน “ค้นพบ” หลายชนิด. พืชอื่น ๆ ก็มีร่องรอยการถูกรบกวนโดยริ้นที่มีรายงานการพบเห็นเพียงสองแห่งเท่านั้นในบริเตน—แห่งหนึ่งก็คือสวนของแฮร์ริสันในอังกฤษ. หลักฐานที่ชี้ชัดยิ่งขึ้นคือสิ่งที่อยู่ในรากของพืชเหล่านั้น ซึ่งมีเศษแร่ควอตซ์ติดอยู่—ทั้ง ๆ ที่อยู่ไกลมากจากแหล่งแร่ควอตซ์ธรรมชาติใด ๆ บนเกาะรัม.
แต่ยังมีมากกว่านี้อีก. คำแถลงของแฮร์ริสันเกี่ยวกับผีเสื้อและแมลงปีกแข็งบนเกาะนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นเรื่องหลอกลวง. วารสารเดอะ ซันเดย์ เทเลกราฟ ได้กล่าวว่า ผู้อาศัยบนเกาะรัมคนหนึ่งบอกความลับว่า “อาจารย์ซ่อนอะไรไว้เสมอ—ไม่ว่าจะเป็นผีเสื้อหรือพันธุ์พืช—เพื่อจะค้นพบทุก ๆ ปี.” แล้วเหตุใดแฮร์ริสันจึงไม่เคยถูกเปิดโปง?
นักวิจัย คาร์ล ซับบัก สรุปว่า การตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ เป็นความกรุณาที่จะปกป้องครอบครัวของแฮร์ริสัน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าแฮร์ริสันเป็นคนที่มีอำนาจมาก ซึ่งเป็นอันตรายที่จะต่อต้านนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย. ซับบักยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการเปิดโปง “อาจทำให้วงการพฤกษศาสตร์ทั้งสิ้นเสียชื่อเสียง.”