ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อ้อย—ยักษ์ใหญ่ในหมู่หญ้า

อ้อย—ยักษ์ใหญ่ในหมู่หญ้า

อ้อย—ยักษ์​ใหญ่​ใน​หมู่​หญ้า

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

จะ​เป็น​อย่าง​ไร​หาก​โลก​นี้​ไม่​มี​น้ำตาล? คง​เป็น​การ​กล่าว​เกิน​จริง​ที่​จะ​บอก​ว่า​โลก​จะ​หยุด​หมุน—แต่​ว่า​อาหาร​มาก​มาย​หลาย​อย่าง​คง​ต้อง​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​สิ้นเชิง​หาก​ไม่​มี​น้ำตาล. ถูก​แล้ว ใน​ที่​ต่าง ๆ ส่วน​ใหญ่​ของ​โลก​ทุก​วัน​นี้ การ​บริโภค​น้ำตาล​ได้​กลาย​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ชีวิต​ประจำ​วัน ทำ​ให้​การ​ผลิต​น้ำตาล​เป็น​อุตสาหกรรม​ที่​มี​อยู่​ทั่ว​โลก.

มี​หลาย​ล้าน​คน ตั้ง​แต่​คิวบา​จน​ถึง​อินเดีย​และ​ตั้ง​แต่​บราซิล​ไป​จน​ถึง​แอฟริกา ทำ​การ​เพาะ​ปลูก​และ​เก็บ​เกี่ยว​อ้อย. อัน​ที่​จริง มี​อยู่​สมัย​หนึ่ง​ที่​การ​ผลิต​อ้อย​ครอง​ความ​เป็น​หนึ่ง​ใน​ฐานะ​อุตสาหกรรม​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​และ​ทำ​กำไร​งาม​ที่​สุด​ใน​โลก. อาจ​กล่าว​ได้​ว่า อ้อย​ได้​ทำ​ให้​โลก​เปลี่ยน​ไป​อย่าง​ที่​มี​พืช​ไม่​กี่​ชนิด​ทำ​ได้​อย่าง​นั้น.

คุณ​อยาก​เรียน​รู้​มาก​ขึ้น​ไหม​เกี่ยว​กับ​พืช​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้? ถ้า​อย่าง​นั้น ก็​เชิญ​ไป​ด้วย​กัน​กับ​เรา​ใน​การ​เยี่ยม​ชม​ภูมิภาค​แห่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​การ​ปลูก​อ้อย​กัน​ใน​รัฐ​ควีนส์แลนด์ ประเทศ​ออสเตรเลีย. แม้​ว่า​พื้น​ที่​แห่ง​นี้​ผลิต​อ้อย​ใน​ปริมาณ​จำกัด แต่​วิธี​การ​ทำ​ไร่ และ​การ​แปรรูป​ที่​มี​ประสิทธิภาพ​ได้​ทำ​ให้​ภูมิภาค​แถบ​นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​ผู้​นำ​ที่​ส่ง​ออก​อ้อย​ดิบ​ใน​ระดับ​โลก.

เยี่ยม​ชม​ไร่​อ้อย

อากาศ​ร้อน​และ​ชื้น. แสง​อาทิตย์​เขต​ร้อน​แผด​ลง​บน​ไร่​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​อ้อย​ที่​โต​เต็ม​ที่​แล้ว. เครื่องจักร​กล​ขนาด​ใหญ่​คล้าย​เครื่อง​เกี่ยว​ข้าว​สาลี​กำลัง​เคลื่อน​ไป​ช้า ๆ ผ่าน​ดง​อ้อย​สูง ตัด​ลำ​ต้น​ใน​ขั้น​ตอน​การ​เก็บ​เกี่ยว แล้ว​ก็​นำ​อ้อย​ที่​ตัด​แล้ว​ไป​กอง​ไว้​ใน​รถ​พ่วง​ที่​ถูก​ลาก​ตาม​มา​ข้าง ๆ. ไม่​ช้า น้ำ​อ้อย​ก็​ไหล​ซึม​ออก​มา​จาก​อ้อย​ที่​ถูก​ตัด และ​กลิ่น​อับ ๆ ของ​น้ำ​หวาน​ก็​โชย​มา​ใน​อากาศ. น้ำ​อ้อย​อัน​มี​ค่า​จาก​ต้น​หญ้า​ที่​น่า​ทึ่ง​นี้​ได้​เริ่ม​ต้น​การ​เดิน​ทาง​ของ​มัน​แล้ว จาก​ไร่​ไป​สู่​โถ​ใส่​น้ำตาล​บน​โต๊ะ​ของ​คุณ.

ไม่​นาน​มา​นี้​เอง การ​ตัด​อ้อย​ใน​ออสเตรเลีย​ยัง​คง​เป็น​งาน​หนัก​ซึ่ง​ต้อง​ทำ​ด้วย​มือ​เหมือน​กับ​ที่​ยัง​ทำ​กัน​อยู่​ใน​หลาย​ประเทศ. ขอ​ให้​ลอง​นึก​ภาพ​ดู. คน​งาน​กำลัง​ตัด​อ้อย​ด้วย​มือ. แถว​ของ​คน​งาน​ตัด​อ้อย​ที่​อาบ​เหงื่อ​ต่าง​น้ำ​เคลื่อน​ไป​ข้าง​หน้า​ช้า ๆ ใน​ไร่​อ้อย. ด้วย​ความ​เฉียบขาด​ปาน​ทหาร คน​งาน​ใช้​แขน​ข้าง​หนึ่ง​โอบ​ต้น​อ้อย​ที่​ตั้ง​ตรง​เป็น​กลุ่ม ๆ แล้ว​เหนี่ยว​ไป​ทาง​หนึ่ง​อย่าง​มั่น​เหมาะ​เพื่อ​จะ​เห็น​กอ​ของ​ลำ​อ้อย​เหล่า​นั้น​ได้​ชัด. ฉับ! ฉับ! ฉับ! คน​งาน​เหวี่ยง​มีด​โต้​อย่าง​แรง​ตัด​อ้อย​ชิด​โคน​ต้น. เมื่อ​โยน​ลำ​อ้อย​ไป​กอง​เป็น​แถว​ไว้​อีก​ทาง​หนึ่ง​อย่าง​เป็น​ระเบียบ​แล้ว พวก​เขา​ก็​ย้าย​ไป​ที่​กอ​ถัด​ไป. ทั่ว​โลก สภาพ​ดัง​กล่าว​กำลัง​ค่อย ๆ เปลี่ยน​ไป ใน​ขณะ​ที่​ปัจจุบัน​มี​ประเทศ​ต่าง ๆ เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ได้​นำ​เครื่องจักร​กล​เข้า​มา​ใช้​ใน​การ​เกษตร​มาก​ขึ้น.

พื้น​ที่​ปลูก​อ้อย​ใน​ออสเตรเลีย​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ผืน​ดิน​แคบ ๆ ริม​ชายฝั่ง​ทะเล​ยาว​ประมาณ 2,100 กิโลเมตร ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​ขนาน​ไป​กับ​เกรต แบริเออร์ รีฟ ที่​มี​ชื่อเสียง. (โปรด​ดู​บทความ “การ​ไป​เยือน​เกรต แบริเออร์ รีฟ” ใน​ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มิถุนายน 1991) อากาศ​ที่​นี่​ซึ่ง​ร้อน​ชื้น​ตลอด​ทั้ง​ปี​ทำ​ให้​ต้น​อ้อย​เติบโต​ได้​ดี และ​ชาว​ไร่​ประมาณ 6,500 ราย​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​อยู่​ใน​ไร่​เล็ก ๆ ของ​ครอบครัว ซึ่ง​กระจาย​อยู่​ตาม​ชายฝั่ง​คล้าย​กับ​พวง​องุ่น​บน​เถา.

หลัง​จาก​ขับ​รถ​มา​ยาว​ไกล เรา​ก็​เห็น​เมือง​น้ำตาล บุนดาเบิร์ก ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ทะเล​บริเวณ​ตอน​กลาง​รัฐ​ควีนส์แลนด์ อยู่​แต่​ไกล. ขณะ​ที่​เรา​ลง​มา​ตาม​เนิน​เขา​เล็ก ๆ เรา​ก็​พบ​กับ​ทัศนียภาพ​อัน​กว้าง​ไกล​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ—มอง​ไป​จน​สุด​ลูก​หู​ลูก​ตา​เห็น​ต้น​อ้อย​พลิ้ว​ไหว​ใน​สาย​ลม​ราว​กับ​ระลอก​คลื่น! และ​สี​สัน​ก็​ช่าง​หลาก​หลาย​เหลือ​เกิน! ไร่​อ้อย​เหล่า​นี้​มี​อ้อย​ที่​อายุ​อยู่​ใน​ระยะ​ต่าง ๆ กัน ดัง​นั้น มัน​จึง​ดู​เหมือน​ผ้า​ผืน​ใหญ่​ที่​เอา​ผ้า​ผืน​เล็ก ๆ มา​เย็บ​ต่อ​กัน โดย​มี​สี​เขียว​และ​สี​ทอง​ตัด​กัน​ชัดเจน พร้อม​กับ​มี​หย่อม​เล็ก ๆ สี​น้ำตาล​เข้ม​ใน​บาง​บริเวณ​ที่​ปล่อย​ทิ้ง​ไว้​ไม่​ปลูก​อ้อย​ใน​ปี​นี้​หรือ​ที่​เพิ่ง​ตัด​อ้อย​ไป.

เดือน​กรกฎาคม​เป็น​เดือน​ที่​เย็น​ที่​สุด​ใน​รอบ​ปี และ​ฤดู​เก็บ​เกี่ยว​และ​หีบ​อ้อย​ก็​เพิ่ง​จะ​เริ่ม​ต้น. การ​ตัด​และ​หีบ​อ้อย​จะ​ดำเนิน​ไป​เรื่อย ๆ จน​ถึง​เดือน​ธันวาคม ใน​ช่วง​ดัง​กล่าว​นี้​อ้อย​ซึ่ง​อยู่​ใน​ระยะ​ต่าง ๆ จะ​ทยอย​กัน​โต​เต็ม​ที่. ตอน​นี้ เรา​อยาก​จะ​เยี่ยม​ชม​โรง​งาน​น้ำตาล​เพื่อ​จะ​ได้​ดู​กัน​ว่า​มี​อะไร​เกิด​ขึ้น​กับ​อ้อย​ที่​เก็บ​เกี่ยว​มา​แล้ว. แต่​มี​คน​แนะ​ว่า​ก่อน​ที่​เรา​จะ​ไป​ชม​กัน เรา​น่า​จะ​เรียน​รู้​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​อ้อย. ดัง​นั้น เรา​ตัดสิน​ใจ​แวะ​ที่​สถานี​ทดลอง​น้ำตาล​เป็น​แห่ง​แรก ซึ่ง​ตั้ง​ขึ้น​ใน​ท้อง​ที่​นั้น​เอง. ที่​นี่ นัก​วิชาการ​ได้​พัฒนา​อ้อย​พันธุ์​ใหม่​ขึ้น​หลาย​พันธุ์​และ​ทำ​การ​วิจัย​เพื่อ​ปรับ​ปรุง​การ​ปลูก​และ​ผลิต​อ้อย.

แหล่ง​กำเนิด​และ​การ​เพาะ​ปลูก

ณ สถานี​วิจัย​น้ำตาล นัก​วิชาการ​พืช​ไร่​คน​หนึ่ง​ยินดี​จะ​สอน​เรา​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​อ้อย​และ​อธิบาย​เกี่ยว​กับ​วิธี​ปลูก. แรก​เริ่ม​เดิม​ที พบ​อ้อย​ใน​ป่า​ดิบ​แถบ​เอเชีย​อาคเนย์​และ​นิวกินี. อ้อย​เป็น​พืช​ใน​ตระกูล​หญ้า​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​มาก ซึ่ง​มี​พืช​ใน​วงศ์​เดียว​กัน​นี้​หลาก​หลาย​ชนิด อาทิ​เช่น หญ้า​สนาม, ธัญพืช, และ​ไผ่​ซึ่ง​มี​ลำ​ต้น​เป็น​ไม้. พืช​ทั้ง​หมด​นี้​ผลิต​น้ำตาล​ใน​ใบ​โดย​กระบวนการ​สังเคราะห์​แสง. ถึง​กระนั้น อ้อย​แตกต่าง​จาก​พืช​ชนิด​อื่น​ตรง​ที่​มัน​ผลิต​น้ำตาล​เป็น​ปริมาณ​มาก แล้ว​เก็บ​ใน​รูป​ของ​น้ำ​หวาน​ไว้​ที่​ลำ​ต้น​ซึ่ง​เป็น​เส้นใย.

การ​ปลูก​อ้อย​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​โดย​ทั่ว​ไป​ใน​อินเดีย​สมัย​โบราณ. ที่​นั่น ใน​ปี 327 ก.ส.ศ. อาลักษณ์​ประจำ​กองทัพ​รุก​รบ​ของ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​ได้​บันทึก​ไว้​ว่า ประชากร​ประเทศ​นี้ “เคี้ยว​ต้น​กก​ที่​น่า​พิศวง​ซึ่ง​ผลิต​น้ำ​ผึ้ง​อย่าง​หนึ่ง​โดย​ไม่​ต้อง​อาศัย​ผึ้ง.” ขณะ​ที่​การ​สำรวจ​โลก​และ​การ​พัฒนา​ได้​เร่ง​รุด​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​ใน​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 15 การ​ปลูก​อ้อย​ก็​แพร่​ไป​ราว​กับ​ไฟ​ป่า. ใน​ทุก​วัน​นี้ มี​อ้อย​พันธุ์​ต่าง ๆ หลาย​พัน​ชนิด และ​มี​มาก​กว่า 80 ประเทศ​ที่​มี​ส่วน​ใน​ผล​ผลิต​ประมาณ​หนึ่ง​พัน​ล้าน​ตัน​ใน​แต่​ละ​ปี.

ใน​ที่​ต่าง ๆ ส่วน​ใหญ่​ของ​โลก การ​ปลูก​อ้อย​เป็น​งาน​ที่​ใช้​แรงงาน​อย่าง​มาก. ลำ​อ้อย​ที่​โต​เต็ม​ที่​จะ​ถูก​ตัด​เป็น​ท่อน ๆ ละ​ประมาณ 40 เซนติเมตร แล้ว​ปลูก​ใน​ร่อง​ซึ่ง​ห่าง​กัน​ประมาณ 1.5 เมตร. ต้น​ปัก​ชำ​แต่​ละ​ต้น​จะ​แตก​เป็น​กอ ๆ หนึ่ง​ประมาณ 8 ถึง 12 ลำ ซึ่ง​จะ​โต​เต็ม​ที่​ภาย​ใน​เวลา 12 ถึง 16 เดือน. การ​เดิน​ฝ่า​ดง​อ้อย​ที่​โต​เต็ม​ที่​นับ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​ขน​ลุก​ที​เดียว. ลำ​อ้อย​และ​ใบ​หนา​ของ​มัน​อาจ​สูง​ได้​ถึง 4 เมตร. เสียง​สวบ​สาบ​จาก​ทาง​โน้น​เป็น​แค่​เสียง​ลม​เท่า​นั้น​ไหม หรือ​ว่า​เป็น​เสียง​งู​หรือ​หนู? เพื่อ​ป้องกัน​เอา​ไว้​ก่อน เห็น​จะ​ได้​เวลา​อัน​ควร​แล้ว​ที่​จะ​ถอย​ไป​ยัง​ทุ่ง​โล่ง​ที่​ปลอด​ภัย!

ใน​เวลา​นี้​กำลัง​มี​การ​วิจัย​เพื่อ​หา​ทาง​ต่อ​สู้​กับ​แมลง​ที่​เป็น​ศัตรู​ของ​อ้อย​และ​โรค​อ้อย. ความ​พยายาม​เหล่า​นี้​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ไป​บาง​ส่วน แม้​จะ​ไม่​ทั้ง​หมด. ยก​ตัว​อย่าง ใน​ปี 1935 ด้วย​ความ​พยายาม​ที่​จะ​กำจัด​ด้วง​อ้อย​ที่​รบกวน ทาง​การ​ได้​นำ​คางคก​อ้อย​ฮาวาย​เข้า​มา​ใน​รัฐ​ควีนส์แลนด์​ทาง​เหนือ. แต่​น่า​เสียดาย คางคก​อ้อย​ชอบ​อาหาร​อื่น​ที่​มี​อยู่​อย่าง​อุดม​สมบูรณ์​มาก​กว่า​ด้วง​อ้อย แล้ว​ก็​แพร่​พันธุ์​อย่าง​รวด​เร็ว​และ​กลาย​เป็น​สัตว์​ที่​เป็น​ภัย​ตัว​สำคัญ​ทั่ว​ภาค​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​ออสเตรเลีย​เสีย​เอง.

คุณ​เผา​ก่อน เก็บ​เกี่ยว​หรือ?

ต่อ​มา พอ​ตก​ค่ำ เรา​เฝ้า​มอง​อย่าง​ประหลาด​ใจ​ที่​เห็น​ชาว​ไร่​ใน​ท้องถิ่น​จุด​ไฟ​เผา​อ้อย​อัน​เป็น​ผล​ผลิต​ของ​ตน​ซึ่ง​โต​เต็ม​ที่​แล้ว. ภาย​ใน​ไม่​กี่​วินาที ไร่​เล็ก ๆ ก็​กลาย​เป็น​กอง​เพลิง​ใหญ่ เปลว​ไฟ​ลุก​โพลง​ขึ้น​ไป​ใน​ท้องฟ้า​ยาม​ค่ำ​คืน. การ​เผา​อ้อย​ช่วย​กำจัด​ใบ​และ​สิ่ง​อื่น ๆ ที่​ไม่​พึง​ประสงค์​ซึ่ง​อาจ​เป็น​อุปสรรค​ต่อ​การ​เก็บ​เกี่ยว​และ​การ​หีบ​อ้อย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ระยะ​หลัง​มา​นี้​มี​แนว​โน้ม​มาก​ขึ้น​ที่​จะ​เก็บ​เกี่ยว​โดย​ไม่​ต้อง​เผา​ก่อน​อย่าง​น่า​ตื่นเต้น​เช่น​นั้น. วิธี​การ​เก็บ​เกี่ยว​ดัง​กล่าว​เรียก​กัน​ว่า​การ​ตัด​อ้อย​สด. วิธี​นี้​ไม่​เพียง​ช่วย​เพิ่ม​ผล​ผลิต​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ทิ้ง​ใบ​อ้อย​ไว้​เป็น​วัสดุ​คลุม​ดิน ซึ่ง​ให้​ประโยชน์​ใน​การ​ป้องกัน​การ​เซาะกร่อน​ของ​หน้า​ดิน​และ​ควบคุม​วัชพืช.

แม้​ว่า​ใน​หลาย​ประเทศ​ที่​ปลูก​อ้อย​ยัง​คง​เก็บ​เกี่ยว​ด้วย​มือ แต่​เวลา​นี้​มี​ประเทศ​ต่าง ๆ เพิ่ม​ขึ้น​ที่​หัน​มา​เก็บ​เกี่ยว​ด้วย​เครื่อง​ตัด​อ้อย​ขนาด​ใหญ่. เครื่องจักร​ที่​เหมือน​สัตว์​ขนาด​มหึมา​นี้​ตะลุย​ฝ่า​ดง​อ้อย​สูง, ตัด​ยอด, และ​ลิด​ใบ​จาก​ลำ​ต้น แล้ว​จาก​นั้น​เครื่อง​ก็​จะ​ตัด​อ้อย​เป็น​ท่อน​สั้น ๆ เพื่อ​ให้​พร้อม​สำหรับ​การ​แปรรูป​ที่​โรง​งาน. ใน​ขณะ​ที่​คน​งาน​ตัด​อ้อย​คน​หนึ่ง​อาจ​ตัด​ได้​เฉลี่ย​วัน​ละ 5 ตัน โดย​ใช้​วิธี​ตัด​ด้วย​มือ​ซึ่ง​ต้อง​ใช้​แรง​กาย​มาก แต่​เครื่อง​ตัด​อ้อย​สามารถ​ตัด​วัน​ละ 300 ตัน​ได้​อย่าง​สบาย ๆ. อ้อย​ที่​ปลูก​ไว้​ใน​ไร่​อาจ​ตัด​ได้​ปี​ละ​ครั้ง​เป็น​เวลา​หลาย​ปี​ก่อน​ที่​ผล​ผลิต​น้ำตาล​จะ​ลด​น้อย​ลง​ไป และ​จำเป็น​ต้อง​ปลูก​ใหม่.

เมื่อ​ตัด​อ้อย​แล้ว ความ​ฉับ​ไว​ใน​การ​จัด​การ​เป็น​เรื่อง​จำเป็น เพราะ​น้ำตาล​ใน​อ้อย​ที่​ตัด​แล้ว​จะ​บูด​เสีย​ใน​เวลา​อัน​รวด​เร็ว. เพื่อ​ให้​การ​ขน​ส่ง​ไป​ยัง​โรง​งาน​ทำ​ได้​สะดวก​และ​รวด​เร็ว จึง​มี​การ​จัด​ให้​มี​รถ​ราง​ระบบ​ราง​แคบ​เป็น​ระยะ​ทาง​ถึง 4,100 กิโลเมตร​เพื่อ​ให้​บริการ​ใน​พื้น​ที่​ปลูก​อ้อย​ของ​รัฐ​ควีนส์แลนด์. ภาพ​ของ​รถ​ราง​ขนาด​เล็ก​ซึ่ง​วิ่ง​อยู่​บน​เส้น​ทาง​เหล่า​นี้​มี​สี​สัน​สะดุด​ตา​ที​เดียว​ขณะ​ที่​มัน​วิ่ง​ตัด​ผ่าน​ภูมิ​ประเทศ​ใน​ชนบท ลาก​รถ​พ่วง​หลาย​สิบ​คัน​ที่​บรรทุก​อ้อย​มา​เต็ม​คัน.

ชม​โรง​งาน

การ​เยี่ยม​ชม​โรง​งาน​น้ำตาล​นับ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​สนใจ. สิ่ง​แรก​ที่​เรา​ได้​เห็น​ก็​คือ​ขบวน​รถ​บรรทุก​อ้อย​ที่​รอ​การ​ขน​ถ่าย​ลง. เครื่อง​สับ​และ​ลูก​กลิ้ง​ขนาด​ยักษ์​บด​อ้อย หีบ​เอา​น้ำ​อ้อย​ออก​จาก​เส้นใย. เส้นใย​ที่​หีบ​น้ำ​ออก​ไป​แล้ว หรือ​ชาน​อ้อย จะ​ถูก​นำ​มา​ทำ​ให้​แห้ง​แล้ว​ใช้​เป็น​เชื้อเพลิง​ป้อน​ให้​แก่​โรง​งาน​ทั้ง​หมด. ชาน​อ้อย​ที่​เหลือ​ใช้​ก็​จะ​ขาย​ให้​โรง​งาน​กระดาษ​และ​โรง​งาน​ทำ​วัสดุ​ก่อ​สร้าง​เพื่อ​ใช้​ใน​ผลิตภัณฑ์​ของ​ตน.

จาก​นั้น​ก็​จะ​แยก​สิ่ง​เจือ​ปน​ออก​จาก​น้ำ​อ้อย เหลือ​ไว้​แต่​ของ​เหลว​ใส ๆ. สิ่ง​เจือ​ปน​ที่​แยก​ออก​มา​นี้​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​เป็น​โคลน​เลน​จะ​ถูก​นำ​ไป​ใช้​ทำ​ปุ๋ย. สิ่ง​ที่​เป็น​ผล​พลอย​ได้​อีก​อย่าง​คือ​กาก​น้ำตาล​หรือ​โมลาส จะ​ถูก​นำ​ไป​ใช้​เป็น​อาหาร​สัตว์​หรือ​วัตถุ​ดิบ​ใน​การ​กลั่น​เหล้า​รัม และ​แอลกอฮอล์​อุตสาหกรรม. ประโยชน์​อัน​หลาก​หลาย​ของ​อ้อย​และ​ประสิทธิภาพ​ของ​กระบวนการ​แปรรูป​นั้น​น่า​ประทับใจ​จริง ๆ.

ต่อ​จาก​นั้น ของ​เหลว​ที่​ได้​ก็​จะ​ถูก​ทำ​ให้​เป็น​น้ำ​เชื่อม​ด้วย​การ​ต้ม​ไล่​น้ำ​ส่วน​เกิน​ออก​ไป​และ​ทำ​ให้​ตก​ผลึก​เป็น​ผลึก​น้ำตาล​ขนาด​จิ๋ว. ผลึก​เหล่า​นี้​จะ​ใหญ่​ขึ้น​เรื่อย ๆ จน​ได้​ขนาด​ที่​ต้องการ. จาก​นั้น​ก็​จะ​แยก​ผลึก​เหล่า​นี้​ออก​จาก​ส่วน​ผสม​และ​ทำ​ให้​แห้ง. ผล​ที่​ได้​คือ​น้ำตาล​ทราย​แดง​ดิบ. เมื่อ​ฟอก​สี​น้ำตาล​ดิบ​นี้​ต่อ​ไป​อีก​มัน​ก็​จะ​กลาย​เป็น​น้ำตาล​ทราย​ขาว​ฟอก​บริสุทธิ์​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​บน​โต๊ะ​อาหาร​ของ​หลาย ๆ คน.

บาง​ที ชา​หรือ​กาแฟ​ของ​คุณ​อาจ​หวาน​ขึ้น​เล็ก​น้อย​หลัง​จาก​การ​ไป​เยือน​ถิ่น​น้ำตาล​ใน​ครั้ง​นี้​ซึ่ง​ให้​ทั้ง​ความ​ประทับใจ​และ​ความ​เข้าใจ​ที่​แจ่ม​แจ้ง. แน่​ล่ะ หาก​คุณ​เป็น​โรค​เบา​หวาน คุณ​ก็​อาจ​จะ​ต้อง​งด​บริโภค​น้ำตาล​และ​อาจ​ใช้​สาร​แทน​น้ำตาล.

แน่​ที​เดียว เรา​ประทับใจ​ใน​พระ​ปรีชา​สามารถ​รอบ​ด้าน​และ​อัจฉริยภาพ​ของ​พระเจ้า​องค์​ยิ่ง​ใหญ่​ผู้​ออก​แบบ​และ​บันดาล​ให้​มี​พืช​ที่​น่า​ทึ่ง​อย่าง​อ้อย​ซึ่ง​มี​อยู่​มาก​มาย—และ​เป็น​ยักษ์​ใหญ่​ใน​หมู่​หญ้า​ทั้ง​หลาย​อย่าง​แท้​จริง!

[กรอบ​หน้า 22]

หัว​บีต​หรือ​อ้อย?

น้ำตาล​ผลิต​จาก​พืช​ที่​เป็น​ผล​ผลิต​หลัก​ของ​โลก​สอง​ชนิด. สำหรับ​อ้อย​นั้น​ส่วน​ใหญ่​ปลูก​ใน​เขต​ร้อน​และ​ใช้​ใน​การ​ผลิต​น้ำตาล​อย่าง​น้อย 65 เปอร์เซ็นต์​ของ​ปริมาณ​ที่​ทั้ง​โลก​ผลิต​ได้. อีก 35 เปอร์เซ็นต์​ที่​เหลือ​ได้​จาก​หัว​บีต ซึ่ง​ปลูก​ใน​ที่​ซึ่ง​มี​ภูมิ​อากาศ​เย็น​กว่า เช่น ใน​ยุโรป​ตะวัน​ออก, ยุโรป​ตะวัน​ตก, และ​อเมริกา​เหนือ. น้ำตาล​ที่​ได้​นั้น​มี​องค์​ประกอบ​ทาง​เคมี​เหมือน​กัน​ทุก​อย่าง.

[ภาพ​หน้า 23]

อ้อย​กำลัง​ถูก​เผา​ก่อน​ทำ​การ​เก็บ​เกี่ยว

[ภาพ​หน้า 23]

เครื่อง​ตัด​อ้อย. รถ​แทรกเตอร์​กำลัง​ลาก​รถ​พ่วง

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

All pictures on pages 21-4: Queensland Sugar Corporation