ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

การ​สูบ​บุหรี่​ทำ​ให้​ชีวิต​สั้น​ลง

จดหมาย​ข่าว​เวลล์เนส​ของ​มหาวิทยาลัย​แคลิฟอร์เนีย วิทยา​เขต​เบิร์กลีย์ รายงาน​ว่า “บุหรี่​ทุก​มวน​ที่​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​สูบ​ทำ​ให้​ชีวิต​ของ​เขา​สั้น​ลง 11 นาที.” ดัง​นั้น นัก​วิจัย​ที่​มหาวิทยาลัย​บริสตอล ประเทศ​อังกฤษ กล่าว​ว่า การ​สูบ​บุหรี่​หนึ่ง​กล่อง​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​ของ​เขา​สั้น​ลง​หนึ่ง​วัน​ครึ่ง และ​แต่​ละ​ปี​ที่​เขา​สูบ​วัน​ละ​ซอง ชีวิต​ของ​เขา​ก็​จะ​สั้น​ลง​เกือบ​สอง​เดือน. นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ตัว​เลข​กะ​ประมาณ​นี้​โดย​เทียบ​ช่วง​ชีวิต​ตาม​ที่​คาด​หวัง​ได้​ของ​ผู้​ชาย​ที่​สูบ​บุหรี่​และ​ไม่​สูบ. นัก​วิจัย​ให้​ความ​เห็น​ว่า “ตัว​เลข​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ความ​เสียหาย​อัน​ร้ายกาจ​ของ​การ​สูบ​บุหรี่​ใน​แบบ​ที่​ทุก​คน​เข้าใจ​ได้.”

ตั้ง​โปรแกรม​เกิด

หนังสือ​พิมพ์​โคร์รีเอเร เดลลา เซรา แห่ง​อิตาลี​กล่าว​ว่า “เด็ก​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​เกิด​ใน​เวลา​ที่​โรง​พยาบาล​ต้องการ.” ที่​การ​ประชุม​ว่า​ด้วย​เรื่อง​การ​เกิด​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ที่​เมือง​ฟลอเรนซ์ ประเทศ​อิตาลี เฟรด พาโคด นรีแพทย์​ชาว​สวิส กล่าว​ว่า “ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 19 ใน​โลก​ตะวัน​ตก มี​การ​เกิด​ใน​วัน​เสาร์​และ​วัน​อาทิตย์​ลด​ลง 95 เปอร์เซ็นต์. แต่​ไม่​ใช่​แค่​นั้น: เรา​กล่าว​ได้​ว่า การ​เกิด​ส่วน​ใหญ่​มี​ขึ้น​ระหว่าง​ชั่วโมง​ทำ​งาน​ตาม​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​สหภาพ​แรงงาน กล่าว​คือ​ระหว่าง​เวลา​เข้า​เวร​ที่​มี​แพทย์​และ​พยาบาล​ส่วน​ใหญ่​ทำ​งาน.” มี​การ​กระตุ้น​การ​เกิด​โดย​ใช้​ยา​หรือ​ไม่​ก็​ผ่าตัด​ทำ​คลอด. แอนเจโล สคูเดรี นรีแพทย์​ชาว​ฟลอเรนซ์ กล่าว​ว่า “เรา​พบ​ว่า​ตัว​เอง​เผชิญ​กับ​การ​ทำ​คลอด​แบบ​ที่​ควบคุม​โดย​การ​ใช้​ยา​และ​โดย​การ​ผ่าตัด. เรา​เห็น​ว่า​การ​ผ่าตัด​ทำ​คลอด​มี​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว ซึ่ง​ตอน​นี้​มี​มาก​กว่า 20 เปอร์เซ็นต์​ของ [การ​เกิด].” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ศาสตราจารย์​คาร์โล โรมานีนี นายก​สมาคม​สูติ-นรีเวชศาสตร์​แห่ง​อิตาลี กล่าว​ว่า “การ​เกิด ‘ที่​ตั้ง​โปรแกรม​ไว้’ ไม่​ใช่​ทาง​เลือก​เพื่อ​ความ​สะดวก” แต่​เป็น​การ​ป้องกัน​มารดา​และ​ทารก​จาก​ความ​ยุ่งยาก​ที่​ไม่​ได้​คาด​คิด​ไว้. เขา​กล่าว​ว่า “เป็น​เรื่อง​ดี​กว่า​มาก​ที่ [การ​เกิด] จะ​มี​ขึ้น​เมื่อ​โรง​พยาบาล​มี​บุคลากร​อยู่​พร้อม​และ​สามารถ​รับรอง​เรื่อง​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดี​ที่​สุด​ที่​สามารถ​ทำ​ได้.”

ฝ้าย​งอก​จาก​แกะ​หรือ?

ตาม​การ​สำรวจ​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​จาก​สภา​เกษตรกร​หนุ่ม​สาว​แห่ง​ยุโรป “50 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก ๆ ใน​อี​ยู [สหภาพ​ยุโรป] ไม่​รู้​ว่า​น้ำตาล​ทำ​มา​จาก​อะไร, สาม​ใน​สี่ . . . ไม่​รู้​ว่า​ฝ้าย​มา​จาก​ไหน, โดย​มี​มาก​กว่า​หนึ่ง​ใน​สี่​คิด​ว่า​ฝ้าย​งอก​จาก​แกะ.” ยิ่ง​กว่า​นั้น 25 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​อายุ​เก้า​และ​สิบ​ปี​ใน​บริเตน​และ​เนเธอร์แลนด์​คิด​ว่า​ส้ม​และ​มะกอก​เทศ​ปลูก​ใน​ประเทศ​ของ​ตน. ส่วน​มาก​เด็ก ๆ สัมผัส​กับ​ผลิตผล​ทาง​การ​เกษตร​ที่​ซูเปอร์​มาร์เกต ไม่​ใช่​ใน​ไร่​นา และ​ส่วน​ใหญ่​พวก​เขา​เรียน​รู้​เกี่ยว​กับ​การ​เกษตร​ที่​โรง​เรียน. ทั้ง​หมด​นี้​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​อาชีพ​เกษตรกร​ไม่​น่า​ดึงดูด​ใจ​สำหรับ​เด็ก​ชาว​ยุโรป​หลาย​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้. สภา​นี้​กล่าว​ว่า “โดย​เฉลี่ย เพียง 10 เปอร์เซ็นต์​ของ​เด็ก​ใน​อี​ยู ‘อยาก​จะ​เป็น​เกษตรกร​มาก’ เมื่อ​โต​ขึ้น.”

งีบ​หลับ​ที่​ทำ​ให้​สดชื่น

ตาม​รายงาน​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ นิสัย​การ​พึ่ง​กาเฟอีน​เพื่อ​จะ​ผ่าน​พ้น​ความ​ง่วง​ซึม​ใน​ช่วง​บ่าย ๆ อาจ​มี​ผล​ใน​ทาง​ตรง​ข้าม. ดร. เจมส์ มาส ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การ​นอน​หลับ​แห่ง​มหาวิทยาลัย​คอร์เนลล์ กล่าว​ว่า “การ​บริโภค​กาเฟอีน​จะ​ตาม​มา​ด้วย​ความ​รู้สึก​ง่วง​ซึม​ผิด​ปกติ. หนี้สิน​ใน​บัญชี​การ​นอน​หลับ​ของ​คุณ​ไม่​ได้​ลด​ลง​โดย​การ​ใช้​สาร​กระตุ้น​ที่​มนุษย์​ทำ​ขึ้น.” แทน​ที่​จะ​พัก​ดื่ม​กาแฟ มาส​แนะ​ให้​งีบ​หลับ ซึ่ง​เขา​กล่าว​ว่า “จะ​ทำ​ให้​ความ​สามารถ​ใน​การ​เอา​ใจ​จดจ่อ​ราย​ละเอียด​และ​ทำ​การ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​สำคัญ ๆ มี​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​มาก.” ไทมส์ ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า การ​งีบ​หลับ​ตอน​กลางวัน​สั้น ๆ ไม่​ถึง 30 นาที สามารถ​ทำ​ให้​คน​เรา​ฟื้น​คืน​กำลัง​ขึ้น​ใหม่​โดย​ไม่​ทำ​ให้​ตื่น​ยาก​และ​ไม่​รบกวน​การ​นอน​หลับ​สนิท​ตอน​กลางคืน. มาส​กล่าว​ว่า “การ​งีบ​หลับ​ไม่​ควร​ถูก​มอง​ข้าม แต่​ควร​ถือ​เป็น​เหมือน​การ​ออก​กำลัง​ใน​แต่​ละ​วัน.”

เด็ก​อ้วน

ดร. ฉวง เหล่-ฉี นายก​สมาคม​นัก​โภชนาการ​แห่ง​กรุง​ไทเป ไต้หวัน เตือน​ว่า “โรค​อ้วน​เป็น​ปัญหา​สุขภาพ​ที่​ร้ายแรง​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ซึ่ง​เยาวชน​ใน​เอเชีย​กำลัง​เผชิญ.” วารสาร​เอเชียวีก รายงาน​ว่า เด็ก​ที่​มี​น้ำหนัก​เกิน​ใน​หลาย​ส่วน​ของ​เอเชีย​นั้น​มี​อัตรา​สูง โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เด็ก​ผู้​ชาย​และ​เด็ก​ที่​อยู่​ใน​เมือง​ใหญ่. การ​ศึกษา​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ใน​กรุง​ปักกิ่ง​เผย​ว่า​นัก​เรียน​ชั้น​ประถม​และ​มัธยม​กว่า 20 เปอร์เซ็นต์​มี​น้ำหนัก​เกิน. รายงาน​ฉบับ​นั้น​กล่าว​ว่า ดู​เหมือน​เยาวชน​ชาว​เอเชีย​ใช้​เวลา​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ใน​การ​ดู​โทรทัศน์​และ​เล่น​วิดีโอ​เก​ม. จะ​แก้​อย่าง​ไร? ตาม​รายงาน​ใน​วารสาร​เอเชียวีก ทาง​แก้​ไม่​ได้​อยู่​ที่​การ​จำกัด​ปริมาณ​อาหาร​ที่​เด็ก​รับประทาน แต่​อยู่​ที่​การ​ออก​กำลัง​กาย​เป็น​ประจำ​ควบ​คู่​ไป​กับ​การ​รับประทาน​อาหาร​ที่​มี​คุณค่า—กล่าว​คือ​เน้น​ผัก​และ​ผลไม้​มาก​กว่า​ขนม​ขบ​เคี้ยว​ที่​มี​ไขมัน​สูง. ดร. ฉวง​ให้​ข้อ​สังเกต​ต่อ​ไป​ว่า การ​ทำ​ให้​กิจกรรม​ที่​ต้อง​ใช้​แรง​กาย​เป็น​เรื่อง​สนุก​คือ​เคล็ดลับ​สู่​ความ​สำเร็จ. รายงาน​กล่าว​ว่า ถ้า​ไม่​เปลี่ยน​นิสัย เด็ก​ที่​มี​น้ำหนัก​เกิน​อาจ​เผชิญ​กับ​โรค​ความ​ดัน​โลหิต​สูง, ปัญหา​เกี่ยว​กับ​ตับ, โรค​เบา​หวาน, และ​ปัญหา​ทาง​จิต.

คน​อังกฤษ​กับ​การ​หย่อนใจ

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า ใน​ปี 1999 เป็น​ครั้ง​แรก​ที่​คน​อังกฤษ​โดย​เฉลี่ย​ใช้​จ่าย​ไป​กับ​สินค้า​และ​การ​บริการ​เพื่อ​ความ​บันเทิง​และ​นันทนาการ​มาก​กว่า “อาหาร, ที่​อยู่​อาศัย​หรือ​สิ่ง​ของ​ชิ้น​เดียว​ใด ๆ ซึ่ง​อยู่​ใน​งบประมาณ​ราย​จ่าย​ประจำ​สัปดาห์​ของ​ครอบครัว.” ใน​ปี 1968 ค่า​ใช้​จ่าย​เกี่ยว​กับ​การ​หย่อนใจ​มี​เพียง 9 เปอร์เซ็นต์​ของ​ราย​จ่าย​ทั้ง​หมด​ใน​ครอบครัว เมื่อ​เทียบ​กับ 17 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปัจจุบัน. มาร์ติน เฮย์เวิร์ด ผู้​ให้​คำ​ปรึกษา​สำหรับ​ผู้​บริโภค กล่าว​ว่า “เนื่อง​จาก​ตอน​นี้​เรา​ทุก​คน​มี​ฐานะ​ดี​กว่า​เมื่อ​สัก 30 ปี​ที่​แล้ว​เป็น​อย่าง​มาก การ​ใช้​จ่าย​เพื่อ​การ​พักผ่อน​หย่อนใจ​หลาย​อย่าง​ที่​อาจ​เคย​คิด​กัน​ว่า​เป็น​ของ​ฟุ่มเฟือย​นั้น บัด​นี้​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​สิ่ง​จำเป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​คน​ส่วน​ใหญ่. ตอน​นี้​คน​ส่วน​ใหญ่​ถือ​ว่า​การ​มี​วัน​หยุด​งาน​เป็น ‘ความ​จำเป็น’ แทน​ที่​จะ​เป็น ‘ความ​ต้องการ.’ บาง​คน​ถึง​กับ​ถือ​ว่า​การ​มี​วัน​หยุด​งาน​สาม​ครั้ง​ต่อ​ปี​เป็น​ความ​จำเป็น​พื้น​ฐาน.” ปัจจุบัน​ครัว​เรือน​ต่าง ๆ ใช้​จ่าย​ไป​กับ​เครื่อง​ฉาย​หนัง​ฟัง​เพลง, โทรทัศน์, และ​คอมพิวเตอร์​มาก​กว่า​ที่​พวก​เขา​เคย​ใช้​เมื่อ​ปี 1968 ถึง​สี่​เท่า. ที่​จริง 1 ใน 10 ของ​ครัว​เรือน​เชื่อม​ต่อ​กับ​อินเทอร์เน็ต และ 1 ใน 3 มี​คอมพิวเตอร์.

“จิตรกร” ช้าง

ใน​ออตตาปาลาม ประเทศ​อินเดีย ลูก​ช้าง​ถูก​สอน​ให้​วาด​รูป​โดย​ใช้​งวง​จับ​แปรง​ระบาย​สี. หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินเดียน เอกซ์เพรส รายงาน​ว่า นัก​อนุรักษ์​ได้​ตั้ง​โครงการ​ศิลปะ​และ​การ​อนุรักษ์​ช้าง​เอเชีย​เพื่อ​รวบ​รวม​เงิน​ทุน​ใน​การ​ปก​ป้อง​ช้าง​โดย​ขาย​ภาพ​ที่​ช้าง​วาด. ช้าง​พลาย​วัย​หก​ปี​ตัว​หนึ่ง​ชื่อ​กาเนซาน​ดู​เหมือน​จะ​ชอบ​ความ​อุตสาหะ​พยายาม “ทาง​ศิลปะ” ของ​มัน​เป็น​พิเศษ. เมื่อ​มัน​มี​อารมณ์​จะ​วาด มัน​จะ​โบก​หู​และ​รับ​แปรง​ระบาย​สี​จาก​ควาญ​ช้าง. เมื่อ​กาเนซาน​กำลัง​วาด มัน​ไม่​ชอบ​ถูก​รบกวน แม้​แต่​นก​หรือ​กระรอก​ก็​อยู่​ใกล้ ๆ ไม่​ได้. หลัง​จาก​มัน​ป้าย​สี​ลง​ไป​บ้าง กาเนซาน​จะ​หยุด​และ​ทำ​ท่า​เหมือน​กับ​พิจารณา​ผล​งาน​ของ​มัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ใช่​ลูก​ช้าง​ทุก​ตัว​ยอม​ให้​ฝึก​เป็น “จิตรกร” สัตว์. ลูก​ช้าง​บาง​ตัว​แสดง​ความ​ไม่​พอ​ใจ​โดย​หัก​แปรง​ระบาย​สี.

มิตรภาพ​ตก​อยู่​ใน​อันตราย

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงาน​ว่า วัน​ทำ​งาน​ที่​ยาว​นาน​ขึ้น, การ​เดิน​ทาง​เพื่อ​ติด​ต่อ​ธุรกิจ​ที่​มาก​ขึ้น, และ​ความ​บันเทิง​ใน​รูป​แบบ​อิเล็กทรอนิก “ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​ติด​ต่อ​กับ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​ได้​ยก​เว้น​กับ​คน​อื่น ๆ” กำลัง​ส่ง​ผล​กระทบ​ที่​น่า​เศร้า​ต่อ​มิตรภาพ​ส่วน​ตัว. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​บอก​ว่า “การ​ใช้​เวลา​กับ​เพื่อน ๆ กำลัง​ถูก​มอง​ว่า​เป็น​การ​ทำ​ตาม​ใจ​ตัว​เอง​แบบ​ที่​เลือก​ได้​และ​เป็น​สิ่ง​ที่​ขโมย​เวลา​ซึ่ง​มี​อยู่​น้อย​นิด​ไป​จาก​ตาราง​เวลา​ที่​เต็ม​แน่น​อยู่​แล้ว.” เอียน เยเกอร์ นัก​สังคม​วิทยา กล่าว​ว่า กระนั้น​คน​ที่​ละเลย​มิตรภาพ​อาจ​พบ​ว่า​เมื่อ​เกิด​โศกนาฏกรรม​ขึ้น​ใน​ครอบครัว “ไม่​มี​ใคร​อยู่​ที่​นั่น​เพื่อ​คอย​ช่วยเหลือ​พวก​เขา.” ใน​ทาง​กลับ​กัน การ​ศึกษา​วิจัย​ดู​เหมือน​บ่ง​ชี้​ว่า​คน​ที่​มี​เพื่อน​ที่​ดี​มัก​จะ​ประสบ​ความ​เครียด​และ​ความ​เจ็บ​ป่วย​น้อย​กว่า​และ​อาจ​ถึง​กับ​มี​อายุ​ยืน​กว่า​ด้วย​ซ้ำ. หนังสือ​พิมพ์​เจอร์นัล ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เคล็ดลับ​คือ​การ​ตระหนัก​ว่า​การ​รักษา​มิตรภาพ​ไว้​ต้อง​ใช้​ความ​พยายาม​เป็น​พิเศษ เช่น​เดียว​กับ​การ​ทำ​ให้​งาน​และ​ครอบครัว​สมดุล​กัน.”

ภาพยนตร์​หรือ​โบสถ์

หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “สำหรับ​วัยรุ่น​แล้ว ภาพยนตร์​เช่น คน​เหล็ก​ภาค 2, ไททานิก, และ​สตาร์วอร์ส ให้​ประสบการณ์​ทาง​ศาสนา​ที่​ลึกซึ้ง​กว่า​คริสตจักร​โดย​ทั่ว​ไป.” ดร. ลินน์ คลาก แห่ง​ศูนย์​สื่อมวลชน​ของ​มหาวิทยาลัย​โคโลราโด ถาม​หนุ่ม​สาว 200 คน​ว่า​ภาพยนตร์​เรื่อง​ใด​ที่​ตรง​กับ​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​ตน​มาก​ที่​สุด. หลาย​คน​กล่าว​ถึง​คน​เหล็ก​ภาค 2 ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​การ​ต่อ​สู้​ระหว่าง​ความ​ดี​และ​ความ​ชั่ว โดย​มี​ตัวเอก​เดิน​ทาง​ย้อน​เวลา​กลับ​มา​ช่วย​เด็ก​ที่​เป็น​เหมือน​มาซีฮา. เมื่อ​บรรยาย​ที่​การ​ประชุม​แห่ง​หนึ่ง​ใน​เอดินบะระ สกอตแลนด์ ดร. คลาก​สรุป​ว่า “หนุ่ม​สาว​ใน​สมัย​นี้​หวัง​พึ่ง​ดาร์ท เวเดอร์ และ​ดิ เอกซ์ ไฟลส์ ฐานะ​เป็น​แหล่ง​ที่​จะ​ช่วย​ไข​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​ชีวิต. ดิ เอกซ์ ไฟลส์ น่า​ดึงดูด​ใจ​เพราะ​ภาพยนตร์​ชุด​นี้​พิจารณา​แนว​คิด​โดย​รวม​เกี่ยว​กับ​พลัง​ลึกลับ​ซึ่ง​ควบคุม​เอกภพ​อยู่. มี​การ​ตั้ง​ประเด็น​ว่า​มี​หลาย​สิ่ง​ซึ่ง​วิทยาศาสตร์​อธิบาย​ไม่​ได้. นั่น​เป็น​คำ​ถาม​ทาง​ศาสนา แต่​เป็น​คำ​ถาม​ที่​ศาสนา​ตอบ​ได้​ไม่​ดี.”